สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง


🌷 สมาธิ ธรรมอันงามในท่ามกลาง


สมาธิ หรือ สมถะภาวนา นั้น คือ ความสงบตั้งมั่นแห่งจิตของตน เมื่อกล่าวถึงความสงบของจิต ย่อมมีปรากฏให้เห็นได้ในบุคคลทั่วๆ ไป เพียงมีความรู้สึกว่าตนเองสบายกาย สบายใจ หรือสักๆ แต่ว่ารู้เรื่องราวในขณะนั้น เราก็จัดได้ว่าจิตมีความสงบสบายในระดับที่รับได้ แต่ยังไม่สามารถจัดเป็นสมาธิหรือสมถะภาวนาได้ เนื่องจากจิตของตนยังไม่ตั้งมั่นลงในความสงบนั้น

ขณะที่จิตมีความรู้สึกสงบสบายอยู่นั้น จิตก็ยังหวั่นไหวเปลี่ยนแปลงไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เข้ามากระทบได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน ไม่สามารถถอดถอนจิตของตนออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดนั้นได้อย่างรวดเร็ว และไม่สามารถดึงจิตให้กลับเข้ามาสู่ความสงบดังเดิม

ส่วนบุคคลที่มีจิตเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นได้นั้น ย่อมเป็นบุคคลที่ควรเคารพนับถือ และน่าเชื่อถือของบุคคลทั่วๆไป เนื่องจากเป็นบุคคลที่จิตมีกำลังสติตั้งมั่นในระดับหนึ่งที่จะวิรัติ ข้อห้ามคือ "ศีล" อันเป็นธรรมที่งามในเบื้องต้น อันเป็นปรกติของมนุษย์ได้ ศีลของท่านไม่เป็นเพียงแค่ข้อห้ามเหมือนคนทั่วไป เพราะท่านวิรัติ-งดเว้นได้แล้ว

"สมาธิ" จึงถูกจัดให้เป็นธรรมอันมีความงดงามในท่ามกลาง มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า

"สมาธิที่มีศีลอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ปัญญาที่มีสมาธิอบรมแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
จิตที่มีปัญญาอบรมแล้ว ย่อมหลุดพ้นจากเครื่องเศร้าหมองเสียได้ ดังนี้"


เพราะเมื่อจิตของตนเป็นสมาธิสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว มีกำลังสติสามารถ "วิรัติ" ข้อห้าม ยังศีลให้ "บริสุทธิ์"ได้ ย่อมสามารถยับยั้งจิตของตนไม่ให้เข้าไปเกาะเกี่ยวอยู่กับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เปรียบเสมือนแขกจรได้

"สมาธิ" เป็นองค์ธรรมที่เชื่อมต่อให้ ศีล สติ กับ ปัญญา เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะ ในหมวดสมาธิ (สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ) แห่งองค์อริยมรรค ๘ ซึ่ง "สัมมาสมาธิ" ของพระอริยะมีองค์ธรรมที่แวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

"ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ
อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล
เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น สัมมาทิฐิ(ปัญญา)ย่อมเป็นประธาน"

(พุทธพจน์)

🌷 "สัมมาสมาธิ" นั่นแหละจึงเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา

เมื่อผู้ปฏิบัติมีความเพียรเพ่งภาวนา (ภาวนามยปัญญา)ไปจนกระทั่งจิตของตนมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวได้ ย่อมเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง ที่สามารถตริตรองตามได้ กับสิ่งที่รู้เห็นที่เกิดขึ้นตามมาเป็นลำดับ รู้ว่าสิ่งไหนเป็น "สัมมา" สิ่งไหนเป็น "มิจฉา" จึงขอนำพระพุทธพจน์ที่ทรงกล่าวรับรองไว้มากำกับ เพื่อให้ผูัศึกษาธรรมเกิดความเข้าใจในหลักธรรมที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น

"สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด
ผู้ที่มีจิตตั้งมั่นดีแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"


จากพระบาลี ในสมาธิสูตรได้ขยายความ
คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง"
คือ การรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง
ทุกข์ ควรกำหนดรู้
สมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์ที่กำหนดรู้นั้น
นิโรธ ความดับทุกข์นั้น
มรรค ทางปฏิบัติเพื่อไปสู่หนทางแห่งการดับทุกข์


สภาวะธรรมของสัมมาสมาธิฌานที่ ๔ ในอริยมรรค ๘ นั้น จิตของตนมีสติสงบตั่งมั่นไม่หวั่นไหว ได้ด้วยลำพังตนเอง ไม่ต้องอิงอาศัยองค์ภาวนาที่เรียกว่า "อามีสสัญญา" อีกแล้ว เป็นจิตที่อ่อนควรแก่การงานทางจิต พร้อมที่จะลด ละ เลิก และโน้มน้อมนำไปสู่สัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติ (วิปัสสนา) เป็นเบื้องต้น

มีเรื่องแปลกแต่จริงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน กลับมีการสอนให้เชื่อโดยขาดเหตุผลในการตริตรองตามเพื่อให้เกิดความรอบคอบ สืบเนื่องจากมีการสอนให้ปฏิบัติโดยเดินเข้าไปสู่ปรมัตถธรรมเอา "วิปัสสนา" (รู้เห็นตามความเป็นจริง) โดยตรงกันไปเลยทีเดียว ไม่ต้องไปใส่ใจและเสียเวลากับการสร้างฐานที่ตั้งแห่งการงานทางจิตที่เรียกว่า "กรรมฐาน" คือเพียรเพ่งภาวนามยปัญญา ทำสมาธิ หรือที่เรียกว่า "สมถะ" ให้หลังขดหลังแข็ง หรือเพียรเดินจงกรมจนส้นเท้าแตก

โดยสอนแค่ให้มารู้จักวิปัสสนาตามตำราที่เคยศึกษาเล่าเรียนมาก็พอ คือให้สักๆ แต่รู้สึกว่า แล้วนำเอาสิ่งที่ถูกสักๆ แต่รู้สึกว่านั้น มาพิจารณาจนจดจำความรู้ที่รู้มานั้นได้ตกผลึกเป็นปัญญา (ถิรสัญญา) เดี๋ยวจิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้เอง เป็นความเข้าใจไปแบบง่ายๆ ว่า "สมาธิ" เกิดขึ้นได้เอง เป็นความเข้าใจแบบผิดฝาผิดตัวที่ไม่นำไปสู่การรู้เห็นตามความเป็นจริง (ปัญญา) ได้เลย

การสอนแบบนี้ย่อมขัดแย้งกับพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสไว้ดีแล้ว อย่างไม่น่าให้อภัยเลยจริงๆ เป็นการทำให้พระสัทธรรมปฏิรูปไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ดั่งใน "สัทธัมมัปปฏิรูปกสูตร" ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้อย่างชัดเจนว่า "ข้อที่ ๕ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในธรรมวินัยนี้ ไม่เคารพยำเกรงในสมาธิ"

องค์ธรรมของ "สัมมาสมาธิ" ใน "สติปัฏฐาน ๔" รับรองไว้ชัดเจนดังนี้

สมาธิฌานที่ ๔
"เธอบรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข
เพราะละสุข ละทุกข์ และ ดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้มีสติบริสุทธิ์อยู่"


สภาวะจิตของตนในฌานที่ ๔ นี้ จิตย่อมมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว บุคคลที่จิตมีสภาวะธรรมเช่นนี้ ย่อมมีปัญญารู้เห็นเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนตามความเป็นจริง ส่วนบุคลที่ยังมีจิตอันอารมณ์เจือติดอยู่เป็นนิจนั้น ย่อมสับสนวุ่นวายไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ เฉกเช่นมีอุปกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาจนเอาอะไรแน่นอนไม่ได้ เมื่อสุดขอบของอารมณ์จึงจะสงบลงได้สักที พอเผลอไผลอีกก็วนลูปกลับไปเป็นเช่นเดิม เป็นวัฏฏะวนจนไม่มีที่สิ้นสุด

ถ้า "สมาธิ" ไม่มีความสำคัญอย่างยิ่งในพระพุทธศาสนาเสียแล้ว ในอริยมรรคมีองค์ ๘ คงไม่จำเป็นต้องมีการระบุลงไปอย่างชัดเจน พร้อมทั้งยังมีอีกหลายๆ พระสูตร ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนรับรองและเน้นย้ำถึงความสำคัญของ "สมาธิ" โดยตรงเฉพาะ "สัมมาสมาธิ" ที่มีองค์ประกอบมีปัจจัยแวดล้อมไปด้วยมรรคอีก ๗ องค์ อันมีศีล และ ปัญญารวมประกอบอยู่ด้วย

ในวันอาสาฬหบูชา เป็นวันที่พระรัตนตรัยครบองค์ ๓ อันมีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ พระพุทธองค์ทรงตรัสสั่งสอนเรื่อง "มัชฌิมาปฏิปทา" หรือทางสายกลางอันเป็นทางอันเอก เป็นทางที่ไม่เข้าใกล้ทางสุดโต่งสองฝั่ง อันมี "ติดสุข" ๑ "ปรารถนาทุกข์" ๑ คำว่า "ไม่เข้าใกล้" ความหมายน่าจะชัดเจนในตัวเองอยู่แล้วว่า เข้าไปได้ แต่ต้องไม่ใกล้จนเกินไป ดังนี้


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 09 กรกฎาคม 2560
Last Update : 9 กรกฎาคม 2560 17:48:19 น.
Counter : 1314 Pageviews.

0 comments

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog