ผู้เข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติ


ผู้เข้าถึงฌาน มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติ


พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้น จันทิมสเทวบุตร เมื่อปฐมยามสิ้นไปแล้ว มีวรรณงามยิ่งนัก ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วก็ถวายบังคมพระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒๕๒] จันทิมสเทวบุตร ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กล่าวคาถานี้ ในสำนักพระผู้มีพระภาคว่า

ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน
มีจิตเป็นสมาธิ มีปัญญา มีสติ
ชนเหล่านั้น จักถึงความสวัสดี
ประดุจเนื้อในชวากเขา ไร้ริ้นยุง ฉะนั้น ฯ

[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ก็ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน
ไม่ประมาท ละกิเลสได้
ชนเหล่านั้น จักถึงฝั่ง
ประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น ฯ

(จันทิมสสูตรที่ ๑)


^
^
พระพุทธพจน์ชัดเจนจนไม่ต้องตีความใดๆ ทั้งสิ้นเลย บุคคลเหล่าใดเข้าถึงฌาน จิตที่เป็นสมาธิ ย่อมมีสติ และมีปัญญา สติและปัญญา ย่อมเกิดขึ้นกับจิตที่ได้รับการอบรมการปฏิบัติสมาธิดีแล้ว (เข้าถึงฌาน)

ชนเหล่าใด เข้าถึงฌาน ไม่ประมาท ละกิเลสได้ ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง ชนเหล่านั้น จักถึงฝั่ง ประดุจปลา ทำลายข่ายได้แล้ว ฉะนั้น ฯ

ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌานเช่นกัน ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพาน (พระพุทธโฆษาจารย์)

แม้พระอรรถกถาจารย์ระดับพระพุทธโฆษาจารย์ ท่านยังไม่ล่วงเกินพระพุทธพจน์ เพราะท่าน ตรวจสอบ สอบสวน เทียบเคียงกับพระสูตร(ธรรม) ลงกันได้กับพระวินัย แต่สาธุชนคนรุ่นใหม่ที่มักง่าย เอาแต่สบายเข้าว่า กลับปฏิเสธ "การเพ่งฌาน" ว่าไม่สำคัญซะงั้น


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 01 เมษายน 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:23:08 น.
Counter : 1808 Pageviews.

พวกเธอจงเพียรเพ่งฌาน


พวกเธอจงเพียรเพ่งฌาน


พ.ดูกรอานนท์ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ ฯลฯ
ซึ่งอมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น

ดูกรอานนท์ ด้วยประการนี้แล ฯลฯ
อาศัยเหตุนี้ เป็นอันเราแสดงปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะ
คือวิโมกข์ของพระอริยะแล้ว

ดูกรอานนท์ กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล
ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์ พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย
กิจนั้นเราได้ทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่าง
เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท
อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง
นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ

(อาเนญชสัปปายสูตร)


^
^
จากพระสูตรพระพุทธองค์ทรงแสดงแบบชัดๆ เป็นลำดับ เป็นอันเราแสดงปฏิปทาเครื่องข้ามพ้นโอฆะ (แก่พวกข้าพระองค์) คือวิโมกข์ของพระอริยะแล้ว ผลคืออมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น

แล้วปฏิปทาอะไรเล่าเป็นเครื่องข้ามพ้นโอฆะเพื่อเป็นอมตะ พระพุทธองค์ทรงเน้นว่า "เธอ(ภิกษุ)ทั้งหลาย" หมายความว่า ภิกษุทุกรูปไม่มีการยกเว้นให้ภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง จงเพ่งฌาน อย่าได้ประมาท คือไม่เกียจคร้านในการเพียรเพ่ง อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง บุคคลที่จะไม่เดือดร้อนในภายหลังได้นั้น ต้องเป็นบุคคลที่มีสติ มีปัญญาเท่านั้น ที่จะไม่เดือดร้อนในภายหลัง

พระพุทธองค์ทรงเน้นย้ำเพราะเป็นห่วงพวกชอบมักง่าย เกียจคร้าน เอาสบายเข้าว่า มักอ้าง สมาธิไม่สำคัญ เอาแค่สงบบ้างก็พอ ขอให้จิตมีคุณภาพก็ใช้ได้แล้ว แบบนี้เรียกว่า พูดเอาแต่ได้เป็นการคลายความเพียร เวียนไปสู่ความมักง่าย ห่างไกลจากมรรคผล คืออมตะ คือความหลุดพ้นแห่งจิตเพราะไม่ถือมั่น

ลองพิจารณาด้วยใจเป็นธรรม จะเห็น เพียงแค่จิตสงบ ยังไม่ตั้งมั่น(ฌาน) จิตย่อมมีโอกาสกลับไปวุ่นวายซัดส่ายได้ทุกเวลา เมื่อผัสสะกับอารมณ์ที่ชอบ ที่ชัง จิตแบบนี้หรือจะมีคุณภาพได้ เป็นการหลอกตนเองไปวันๆ เท่านั้น

แม้บุคคลที่เพียรเพ่งฌาน ต้องไม่ประมาท จะได้ไม่เดือดร้อนในภายหลัง เมื่อภาวนาจนจิตสงบ ตั่งมั่นแล้ว ยังต้องเพียรเพ่งต่อ เพื่อให้จิตตั้งมั่นไม่หวั่นไหว นี้เป็นคำพร่ำสอนของเรา(พระพุทธเจ้า) แก่พวกเธอ(ภิกษุทั้งหลาย) ฯ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 31 มีนาคม 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:22:28 น.
Counter : 1135 Pageviews.

พระพุทธองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ


พระพุทธองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ


ว.ฯลฯ พระคุณเจ้าทั้งหลายทั้งเพ่งฌานและมีฌานเป็นปรกติทีเดียว ข้าแต่พระอานนท์ผู้เจริญ กระผมขอเล่าถวาย สมัยหนึ่ง พระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้น ประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลา ในป่ามหาวัน เขตพระนครเวสาลี ครั้งนั้นแล กระผมเข้าไปเฝ้าพระโคดมผู้เจริญพระองค์นั้นยังที่ประทับ ณกูฏาคารศาลา ป่ามหาวัน ณ ที่นั้นแล พระองค์ได้ตรัสฌานกถาโดยอเนกปริยาย พระองค์ทั้งเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ แต่ก็ทรงสรรเสริญฌานทั้งปวง ฯ

อ.ดูกรพราหมณ์ ก็พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นไรเล่า

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
เข้าปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
เข้าทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งใจภายใน
มีความเป็นธรรมเอกผุดขึ้น เพราะสงบวิตกและวิจาร
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
เป็นผู้วางเฉยเพราะหน่ายปีติ มีสติสัมปชัญญะอยู่
และเสวยสุขด้วยนามกาย เข้าตติยฌาน
ที่พระอริยะเรียกเธอได้ว่าผู้วางเฉย มีสติอยู่เป็นสุขอยู่
เข้าจตุตถฌาน อันไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีสติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาอยู่

ดูกรพราหมณ์ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นทรงสรรเสริญฌานเช่นนี้แล ฯ

(โคปกโมคคัลลานสูตร)


^
^
การศึกษาพระสูตรที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้วนั้น ต้องพิจารณาด้วยจิตใจที่เปิดกว้างเป็นธรรม ตริตรองตามความเป็นจริงได้ อย่าเอาอคตินำ เอนเอียงไปตามความเชื่อของตนเอง ที่รู้จดจำมาจากตำรา เพราะนั่นเป็นเพียง "สัญญาอารมณ์" ไม่ใช่ปัญญาที่เกิดจาก "ภาวนามยปัญญา"

เมื่อพิจารณาจากพระสูตรจะเห็นคำว่า "พระคุณเจ้าทั้งหลาย" หมายถึงภิกษุทุกรูปไม่มีการยกเว้นให้กับภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลยว่า เพ่งฌานและมีฌานเป็นปรกติทีเดียว เน้นว่าต้องมีฌานเป็นปรกติ แม้พระพุทธองค์เองก็เป็นทั้งผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติ

ดังพระพุทธพจน์ที่ตรัสไว้ว่า
"ปัญญาเกิดขึ้น เพราะความประกอบ (ประกอบภาวนานุโยค)
ไม่ประกอบ ปัญญาก็หมดสิ้นไป"
หรือที่เรารู้จักกันว่า "ภาวนามยปัญญา"


อย่ามโนกันไปเองว่า "ไม่จำเป็นต้องมีฌาน ปํญญาก็เกิดขึ้นได้จากสัญญา" เป็นการขัดแย้งกับแนวทางที่พระพุทธองค์ได้ทรงสั่งสอนไว้ดีแล้ว

ใครที่ชอบเอา "พระอรหันต์สุขวิปัสสโก" มาอ้างนั้น ลองพิจารณาให้รอบคอบสักครั้ง พระพุทธองค์ได้ชื่อว่าทรงภูมิปัญญาอย่างมาก แค่ฟังสาธยายธรรมจากอาจารย์ทั้งสอง ซึ่งกล่าวถึงการเข้าอรูปฌานที่ ๗ อรูปฌานที่ ๘ เพียงแค่อาจารย์ทั้งสองกล่าวจบ พระพุทธองค์ทรงเข้าถึงธรรมนั้นได้โดยไม่ยากเลย จนอาจารย์ต้องเอ่ยปากชม

เมื่อเป็นแบบนี้ พระพุทธองค์ก็ต้องเป็นพระอรหันต์สุขวิปัสสโกองค์แรกสิ แต่ทำไมยังต้องเป็นผู้เพ่งฌานและเป็นผู้มีฌานเป็นปรกติล่ะ


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 29 มีนาคม 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:22:20 น.
Counter : 1011 Pageviews.

การเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเข้าใกล้พระนิพพาน


การเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเข้าใกล้พระนิพพาน


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ อย่างไร
ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน?

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
เป็นธรรมเอกผุดขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร
เพราะวิตกวิจารสงบลงไป มีปีติและสุขเกิดแต่สมาธิอยู่
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย
เพราะปีติสิ้นไป บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเจริญ กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ อย่างนี้แล
ย่อมเป็นผู้น้อมไปสู่นิพพาน โน้มไปสู่นิพพาน โอนไปสู่นิพพาน


^
^
เมื่อพิจารณาจากพระพุทธพจน์ จะเห็นได้ว่า การเจริญให้มาก กระทำให้มากซึ่งฌาน ๔ ในสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นบุคคลผู้เข้าถึงนิพพานได้ แสดงว่า การปฏิบัติ "สัมมาสมาธิ" จนสามารถเข้า-ออกฌานได้ความคล่องแคล่วชำนิชำนาญเป็น "วสี" ต้องอาศัยความเพียรเพ่งกระทำให้มาก เจริญให้มาก ทำให้มี "สติ สมาธิ ปัญญา" เท่านั้น จึงจะอยู่ใกล้พระนิพพานได้

^
^
มีพระบาลีซึ่งพระพุทธโฆษาจารย์รจนารับรองไว้ว่า
"นตฺถิ ฌานํ อปญฺญสฺส นตฺถิ ปญฺญา อฌายิโน
ยมฺหิ ฌานญฺจ ปญฺญาจ เสว นิพฺพาน สนฺติเก
ฌานย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีปัญญา
ปัญญาย่อมไม่มีในผู้ที่ไม่มีฌาน
ผู้ที่มีทั้งฌานและปัญญา จึงจะอยู่ใกล้นิพพาน"


ถ้ามัวแต่คิดเองเออเองว่า การปฏิบัติทางจิตโดยไม่ต้องถึงระดับฌาน แล้วเกิดปัญญาขึ้นมาเองได้ เป็นความเข้าใจแบบผิดๆ นั่นเป็นเพียงแค่ "สัญญา"จากตำรา อ่านข้างบนช้าๆ พิจารณาดีๆ เพราะพระพุทธองค์ทรงตรัสเรื่อง "ฌาน" ไว้ในหลายแห่งจ้า


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 27 มีนาคม 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:22:37 น.
Counter : 1143 Pageviews.

"สัมมาสมาธิฌาน" เป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็น "อริยะ"


"สัมมาสมาธิฌาน" เป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็น "อริยะ"


ดูกรมหานาม อย่างไร อริยสาวกจึงจะชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔
อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา
เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิตในภายใน
มีอุเบกขา มีสติสัมปชัญญะ
และเสวยสุขด้วยนามกาย เพราะปีติสิ้นไป
บรรลุตติยฌานที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า
ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข
เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่

ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔
อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง
เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา
เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ฯลฯ

*
ดูกรมหานาม อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว
ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้
เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ฯลฯ


^
^
พระพุทธพจน์จากพระสูตรชัดเจนเป็นอย่างยิ่ง
"อริยสาวกนั้นอาศัยจตุตถฌาน มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้..."

สัมมาสมาธิฌาน (ฌานทั้ง ๔) ในอริยมรรคมีองค์ ๘ นั้น มีเฉพาะในพระพุทธศาสนานี้เท่านั้น ไม่มีในศาสนาอื่น ซึ่งก็ชัดเจนว่า สัมมาสมาธิฌานเป็นทางเดินของจิตไปสู่ความเป็น "อริยะ" ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งไปกว่านี้ เมื่อไม่มีอะไรยิ่งไปกว่านี้ ก็แสดงชัดแล้วว่า "อย่างเดียว" ย่อมทำให้ผู้ปฏิบัติในหมวดสมาธิ อันมี "สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ" จิตรวมลงเป็นสมาธิ บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์ และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่ ไม่มีสิ่งอื่นยิ่งกว่านี้อย่างเดียว

"ดูกรมหานาม อย่างนี้แล อริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ได้ฌานทั้ง ๔ อันเป็นธรรมอาศัยซึ่งจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในทิฏฐธรรมตามความปรารถนา เป็นผู้ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก" ฯลฯ "ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติอันหาอาสวะมิได้ฯ"

ถ้าพระอริยสาวก ขาดซึ่ง "ฌาน" ใน "สัมมาสมาธิ" เสียแล้ว อริยมรรคมีองค์ ๘ จะ "สมังคี" ได้อย่างไร? มักมีบุคคลบางพวกชอบอ้างว่า ไม่จำเป็นต้องได้ "ฌาน" ก็เป็น "อริยะ" ได้ น่าจะขัดแย้งกับพระพุทธพจน์นะครับ

แม้พระอริยสาวกในครั้งพุทธกาลที่ได้ชื่อว่าสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว ท่านเองก็มีพื้นเดิมที่เชี่ยวชาญชำนาญจนเป็นวสีในรูปฌานและอรูปฌาน ที่มีมาก่อนพระพุทธเจ้าจะอุบัติขึ้นมา คิดว่าทุกท่านคงพอจำกันได้ว่า ตอนพระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ใหม่ๆ นั้น พระองค์ทรงระลึกถึงท่านอาจารย์ทั้ง ๒ ด้วยคำกล่าวว่า ท่านอาจารย์ทั้งสองเป็นผู้มีธุลีในจักษุน้อย เพียงฟังธรรมของเราก็จะบรรลุธรรมได้


เจริญในธรรมทุกๆ ท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 25 มีนาคม 2560
Last Update : 6 เมษายน 2560 13:21:41 น.
Counter : 1316 Pageviews.

1  2  3  4  

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์
All Blog