การดูจิตต้องผ่านธรรมข้อหนึ่งคือกายคตาสติมาได้ก่อน จึงจะรู้จักจิตที่แท้จริง
ในปัจจุบันนี้ มีการสอนที่ไม่อิงหลักคำสอนของพระบรมครูจอมศาสดา ซึ่งพระองค์ได้ทรงวางหลักธรรมหรือหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติไว้อย่างดีแล้ว ในเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา เพื่อเพียรเพ่งเผากิเลสให้เร่าร้อน (มีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลก) เสียได้

มีกล่าวไว้อย่างชัดเจนในมหาสติปัฏฐานสูตร ทรงวางหลักการเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมว่า

อานาปานสติ (หรือที่เรียกว่ากายในกาย) เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำสติปัฏฐาน ๔ ให้บริบูรณ์
สติปัฏฐาน ๔ นี้ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่าทำโพชฌงค์เจ็ด ให้บริบูรณ์
โพชฌงค์เจ็ดนี้ เจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมได้ชื่อว่า ทำวิชชาจิตหลุดพ้นทุกข์ให้บริบูรณ์


ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นกายในกายอยู่อย่างไรเล่า?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนไม้ก็ดี ไปสู่เรือนว่างก็ดี
นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า
เธอมีสติหายใจออก มีสติหายใจเข้า
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้ายาว
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่า เราหายใจเข้าสั้น


หรือก็คือทรงให้ปฏิบัติกายคตาสติ (ระลึกรู้เข้าไปที่กาย) หรือพิจารณากายในกายนั่นเอง ลมหายใจนั้นก็เป็นกายสังขาร การระลึกเข้าไปในกายนั้น เป็นการปฏิบัติสัมมาสมาธิในองค์มรรค เพื่อฝึกอบรมกาย ฝึกอบรมจิต ให้จิตสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหว จิตไม่กวัดแกว่ง จิตไม่แล่นไปตามอตีตารมณ์ และจิตไม่แล่นไปในอนาคตารมณ์ด้วย จิตรู้อยู่ที่กายคตาสติหรือกายในกาย ซึ่งเป็นปัจจุบันขณะ จิตย่อมรู้อยู่เห็นอยู่ ถึงความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของตน

การเห็นกายสังขารที่ปรากฏพระไตรลักษณ์ขึ้นเฉพาะหน้านั้น ทำให้จิตเกิดความเบื่อหน่าย เมื่อเบื่อหน่ายก็คลายกำหนัด ปล่อยวางกามารมณ์ และอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าสู่ปฐมฌาน เมื่อละวิตก วิจารณ์ได้แล้ว นามกายหรือจิตก็ปรากฏ ซึ่งเป็นธรรมอันเอกนั่นเอง เมื่อจิตรู้จักกายในกายได้ดี ย่อมต้องสัมผัสได้ถึงเวทนาในเวทนาด้วยเช่นกัน และเข้าใจเรื่องจิตในจิตได้ถูกต้อง และย่อมรู้ย่อมเห็นธรรมในธรรม ซึ่งเป็นอมตะธรรมผุดขึ้นที่จิต

เมื่อมีใครมาสอนว่า ในการปฏิบัติธรรมนั้น ให้เริ่มลงมือปฏิบัติธรรมในหมวดจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานได้เลยนั้น เป็นการสอนที่เกินไปกว่าที่พระบรมครูได้ทรงกล่าวไว้ดีแล้ว

พระองค์ทรงสอนการปฏิบัติธรรมเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อความพอดี เพื่อการเข้าถึงธรรมอันลึกซึ้งของพระพระองค์ได้ ด้วยการเริ่มต้นที่อานาปานสติหรือที่เรียกว่ากายในกาย กายคตาสติ หรือสัมมาสมาธินั่นเอง จึงจะยังสติปัฏฐาน๔ให้บริบูรณ์ได้ ไม่มีทางอื่นนอกไปจากนี้อีกแล้ว ทางนี้ทางเดียวเท่านั้นที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์หมดจดของสัตว์ทั้งหลาย(จิตผู้ติดข้องในอารมณ์)

การสอนให้ดูจิตหรือที่เรียกว่าจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยไม่มีพื้นฐานในการปฏิบัติกายในกายมาก่อนแล้ว ย่อมทำให้เกิดความสับสนขึ้นมาได้โดยง่าย เนื่องจากผู้ปฏิบัติใหม่ยังไม่เคยรู้จักกายในกายหรือกายคตาสติหรือสัมมาสมาธิมาก่อนเลย และยังไม่เคยสัมผัสถึงเวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมที่ถูกต้องแท้จริง ย่อมรู้เห็นไปตามตำรา(หรืออัตโนมัติอาจารย์)ที่สอนมา หรือจากความคิดที่ตกผลึกแล้วของตนเองเท่านั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้การปฏิบัติจิตตานุปัสสนาที่สอนกันอยู่นั้น ก็เป็นเพียงการสอนให้รู้จักอาการของจิตที่เกิดขึ้นมา จากการที่จิตผัสสะกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาทางอายตนะ แต่กลับเข้าใจผิดไปเองว่านั่นแหละคือจิตที่แท้จริง ทำให้หลงเข้าใจผิดไปต่างๆ นานาว่า จิตบังคับไม่ให้คิดไม่ได้บ้างหละ สติตัวจริงต้องเกิดขึ้นมาเองจึงจะใช่บ้างหละ

ซึ่งเป็นการรู้การเห็นเพียงด้านเดียว เป็นเพียงปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายเกิดเท่านั้น ส่วนปฏิจจสมุปบาทธรรมฝ่ายดับนั้น จะรู้เห็นได้ด้วยการลงมือปฏิบัติกายในกายหรือกายคตาสติหรือสัมมาสมาธิเท่านั้น จึงจะรู้ยิ่งเห็นจริงได้ ดังมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เมื่อธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ
ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ


เมื่อเรามาพิจารณาพระพุทธพจน์แต่ละพระสูตรโดยโยนิโสนมสิการแล้ว ย่อมจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทรงตรัสสอนเชื่อมโยงกันหมด

โดยในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ทรงให้ลงมือปฏิบัติ กายในกาย(กายคตาสติ)เป็นอย่างไร? ก็เริ่มโดยให้นั่งคู้บัลลังก์ตั้งกายตรง ดำรงสติไว้เฉพาะหน้า มีสติพิจารณาลมหายใจ(ภาวนา)

ต่อมาก็ทรงชี้ชัดลงไปให้เห็นว่า การปฏิบัติภาวนา(อานาปานสติ)นั้น จะยังให้สติปัฏฐานสี่ โพชฌงค์เจ็ด ทำวิชชาจิตวิมุตติหลุดพ้น ให้บริบูรณ์

และเพื่อเป็นการย้ำเตือนเรื่องการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนาว่ามีความสำคัญอย่างมากในพระพุทธศาสนา ทรงตรัสสอนว่า

ธรรมข้อหนึ่งนี้แล บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว
แม้กายก็สงบ แม้จิตก็สงบ แม้วิตกวิจารก็สงบ

(วิตกวิจารณ์จะสงบลงได้นั้น เมื่อจิตเข้าทุดิยฌานเท่านั้น)
ธรรมที่เป็นไปในส่วนแห่งวิชชาแม้ทั้งสิ้นก็ถึงความเจริญบริบูรณ์
ย่อมเป็นไปเพื่อความแตกฉานแห่งปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่ออนุปาทาปรินิพพาน
ธรรมข้อหนึ่ง คืออะไร คือ กายคตาสติ


พระพุทธองค์ทรงสอนธรรมที่งามในเบื้องต้น คือศีล ธรรมที่งามในท่ามกลาง คือสมาธิ ธรรมที่งามในที่สุด คือปัญญา พระองค์ไม่เคยทรงสอนอะไรโดยข้ามขั้นตอนตามลำดับเหล่านั้นมาก่อนเลย

ทรงให้สำรวม กาย วาจา ใจ โดยการสำรวมสังวรอินทรีย์อยู่ในกรอบแห่งความดีงาม คือศีล การปฏิบัติสัมมาสมาธิ เพื่อพิจารณากายคตาสติ หรือกายในกาย(อานาปานสติ) เพื่อให้จิตเกิดพละ๕(ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา) คือ สมาธิ เมื่อจิตมีกำลัง(พละ๕) จิตย่อมมีกำลังที่จะสลัดออกแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ ตามความเป็นจริง ได้ด้วยปัญญาอันยิ่งนั้น

ส่วนที่มีการสอนว่า มีธรรมที่ปฏิบัติได้โดยง่ายๆ สบายๆ ลัดสั้น ไม่ต้อง ไม่ตั้งนั้น ไม่ต้องทำอะไรทั้งสิ้น ปลงให้เป็นอย่างเดียวก็พอ เป็นการสอนที่เกินกว่าพุทธปัญญาเสียแล้วครับ ย่อมเป็นการกล่าวตู่พระพุทธพจน์ ดังที่กล่าวไว้ว่า "บุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว"

ในเสขปฏิปทาสูตร ได้กล่าวถึงความเพียร(เดินจงกรมและนั่งสมาธิ)

อริยสาวกในพระธรรมวินัยนี้
เวลากลางวัน...ในปฐมยามชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดินการนั่ง
ในมัชฌิมยาม สำเร็จสีหไสยาสน์โดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า
มีสติสัมปชัญญะ มนสิการสัญญาในอันที่จะลุกขึ้น เวลากลางคืน
ในปัจฉิมยาม ลุกขึ้นแล้วชำระจิตให้บริสุทธิ์จากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการเดิน การนั่ง
ดูกรมหานาม อย่างนี้แลอริยสาวกชื่อว่าเป็นผู้ประกอบความเพียรเครื่องตื่น



เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 31 สิงหาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:23 น.
Counter : 825 Pageviews.

7 comments
  
goodmorning
โดย: nuyect วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:6:19:08 น.
  
โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:6:56:36 น.
  
คลิกที่รูป เพื่อเอาโค้ดรูปนี้ไปแปะ
[ของตกแต่งโดนๆคลิกเลย]

ขอบคุณมากค่ะที่แบ่งปันค่ะ
ชอบมากเลยค่ะ
โดย: แม่ออมบุญ วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:9:58:15 น.
  
อย่ารู้ก่อนปฎิบัติ
อ่านมาก รู้มาก ฟุ้งมาก
โดย: คนโต IP: 111.84.105.237 วันที่: 31 สิงหาคม 2553 เวลา:18:54:52 น.
  
โดย: นนนี่มาแล้ว วันที่: 1 กันยายน 2553 เวลา:7:21:53 น.
  
อนุโมทนาค่ะ คุณธรรมภูต
โดย: พ่อระนาด วันที่: 4 กันยายน 2553 เวลา:9:52:21 น.
  
สาธุ อนุโมทนาด้วยคนครับ
โดย: wingang (wingang ) วันที่: 4 กันยายน 2553 เวลา:15:04:45 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์