การดูจิตให้รู้เห็นตามความเป็นจริงนั้น เป็นอย่างไร?
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เรื่องการรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้การศึกษาพระพุทธศาสนาผิดตามไปด้วยตลอดแนวนั้น ก็เป็นที่เด่นชัดแล้วว่า คนส่วนใหญ่ที่ศึกษาพระพุทธศาสนาอยู่นั้น ยังรู้จักจิตผิดไปจากความเป็นจริง

เป็นการรู้จักจิตแบบจำจากตำรับตำราและอัตโนมัติอาจ่รย์ ที่มีผู้เขียนขึ้นมาอย่างมากมายหลายเวอร์ชั่น เพื่อให้ศึกษา โดยที่ผู้เขียนเองก็ไม่เคยเข้าถึงสภาวะจิตที่แท้จริงมาก่อนเลยเช่นกัน หรืออาจได้ยินได้ฟังมาจากอัตโนมัติอาจารย์ ที่มีท่าทางดี พูดจาไพเราะ มีบุคลิกภาพน่าเชื่อถือ จึงเชื่อไปโดยไม่เคยนำกลับมาพิจารณาว่าเป็นไปได้แค่ไหน

อัตโนมัติอาจารย์บางท่าน ตัวท่านเอง ก็ยังไม่เข้าใจเรื่องสภาวะจิตที่แท้จริงดีพอ ท่านเองก็รู้จักจิตมาจากการจดจำตำรับตำรา หรือปฏิบัติมาเองบ้างเพียงเล็กๆน้อยๆ แล้วนำมาขบคิดพิจารณาต่อจนตกผลึกทางความคิดที่ตนเองเห็นว่าอย่างนั้น จึงนำเอามาสอนโดยแอบอ้างว่า ความรู้ที่นำมาสอนเหล่านั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากผลแห่งการปฏิบัติของตนเอง โดยไม่เคยสนใจ ที่จะนำมาตรวจสอบ เปรียบเทียบ เทียบเคียงกับพระพุทธพจน์ หรือพ่อแม่ครูบาอาจารย์สายปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา “พุทโธ”ก่อนเลย

และที่มีการสอนอยู่ในปัจจุบันนั้น เป็นการสอนแบบนำเอาความรู้สึกนึกคิดในทางโลก มาเป็นแนวทางในการสอน เพื่อชี้นำให้คล้อยตาม เมื่อผู้ฟังมีความเชื่อถือในผู้สอนอยู่ก่อนแล้ว ย่อมคล้อยตามไปได้ง่ายๆ โดยที่ไม่เคยนำกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังว่า คำสอนเหล่านั้นมีเหตุมีผลน่าเชื่อถือหรือไม่ ในส่วนที่ตนเองฟังไม่เข้าใจ หรือ รู้สึกกำกวม ก็พาลคิดเองเออเองไปว่า เพราะภูมิธรรมของตนยังมีไม่ถึง

ซึ่งความจริงแล้ว ผู้พูดเองก็พูดวกไปเวียนมาเหมือนน้ำในอ่าง มีข้อให้สงสัยเกิดขึ้นมาตลอดเวลาในคำสอนเหล่านั้นเช่นกัน เมื่อฟังๆไปเราจะรู้สึกได้ว่า คำสอนเหล่านั้นมีการขัดแย้งกันเองในตัว ประเดี๋ยวมี ประเดี๋ยวไม่มี ประเดี๋ยวใช่ ประเดี๋ยวไม่ใช่ ที่ใช่ก็ไม่มี ที่มีก็ไม่ใช่

เมื่อถูกซักถามด้วยความสงสัย ก็จะได้รับคำตอบว่าสงสัยก็ให้รู้ว่าสงสัย คือเป็นการบอกเป็นนัยๆว่าหยุดถามได้แล้ว เอาเวลาไปดูกายดูใจตนเองเถอะ เพื่อจะได้รู้สภาวะตามที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในทางโลก ซึ่งเป็นเรื่องของโลกล้วนๆ

การรู้เห็นสภาวะที่เป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้นๆ เกิดจากความรู้สึกนึกคิดของตนเองเป็นเครื่องตัดสินความถูกผิด เป็นความคิดเห็นส่วนตัวที่รู้สึกอย่างนั้น ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในหลักธรรมอริยสัจ ๔ เลย

แถมยังมีการย้ำนักย้ำหนาว่า อย่าไปดัดแปลงจิต มันจะเป็นอะไรก็ให้เป็นไป เพียงแต่ให้ตามรู้ไปเรื่อยๆก็พอ ซึ่งสิ่งที่พูดมานั้น เป็นความคิดเห็นของผู้สอนที่เข้าใจผิดไปเองว่า จิตเป็นตัวทุกข์ จึงไม่ให้เข้าไปดัดแปลงจิตที่เป็นตัวทุกข์ ไม่ใช่เป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงจากการปฏิบัติกรรมฐานภาวนาเลย

เป็นการปล่อยให้จิตไหลไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย นั่นเป็นการดัดแปลงจิตหรือปล่อยให้จิตเสียคุณภาพไป เป็นทุกข์ อึดอัด ขัดข้องไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น

ตัวอย่างเช่น คนที่มีนิสัย มักโลภ มักโกรธ มักหลง ฯลฯ เราควรต้องมีการพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตของตนให้รู้จักวิธีขจัดขัดเกลา สละ สำรอกปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นออกไปจากจิตใช่มั้ย?

ควรหรือที่จะปล่อยให้จิตมักโลภ มักโกรธ มักหลง ฯลฯ เป็นอยู่อย่างนั้น โดยไม่ต้องไปดัดแปลงจิต ตามที่ผู้สอนท่านนั้นสอนไว้ โดยไม่ต้องมีการพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตของตนให้มีภูมิธรรมสูงขึ้น แต่กลับปล่อยให้จิตเป็นไปของมันเอง ซึ่งไม่ใช่เป็นเรื่องดีเลย

สิ่งที่ไม่ควรเข้าไปดัดแปลงเป็นอย่างยิ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นคือ ตัวทุกข์ต่างหาก เป็นสิ่งที่เราไม่ควรเสียเวลาเข้าไปดัดแปลงทุกข์ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่ดัดแปลงไม่ได้เลย ทุกข์เป็นของคู่โลกแต่ก่อนนานมาแล้ว

เราต้องปฏิบัติพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักวิธีละเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ได้ จิตก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิตของตน จิตก็อยู่ส่วนจิต ทุกข์ก็อยู่ส่วนทุกข์ ดัดแปลงไม่ได้

จิตที่ได้รับการปฏิบัติฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ย่อมไม่เป็นทุกข์ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายที่เกิดขึ้น นี้จึงจะเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในหลักธรรมอริยสัจ ๔


ทุกข์ควรกำหนดรู้
สมุทัยควรละ
นิโรธควรกระทำให้แจ้ง
มรรคควรเจริญให้เข้าถึงพร้อม


ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตหรือเป็นทางเดินของจิตทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้หลุดพ้นจากอวิชชาสวะที่เข้ามาครอบงำจิตอยู่

ดังที่ได้เคยบอกไปแล้วในตอนก่อนหน้านี้ เรื่องการดูจิตให้เข้าถึง "อธิจิตสิกขา" ว่า การดูกายดูใจตนเองในเวลาปรกตินั้น เป็นการฝึกฝนอบรมจิตของตนให้รู้จักสำรวมระมัดระวัง กาย วาจา ใจ หรือที่เรียกว่าอินทรีย์สังวร ยังอยู่ในขั้นตอนปฏิบัติ "อธิศีลสิกขา" เท่านั้น ยังไม่ถึงกับเป็นการรู้เห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงในขั้นของ "อธิจิตสิกขา" เลย

เป็นการฝึกสร้างสัญญาเจตนา หรือที่เรียกว่าให้คอยระมัดระวัง กาย วาจา ใจ ให้อยู่ในกรอบของศีลธรรมอันดีงามเท่านั้น เป็นการรู้เห็นเหตุการณ์ต่างๆที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วกับตนเองตามที่เป็นจริง

แม้บางครั้งสิ่งที่เกิดขึ้นกับตนเอง ตนเองก็ยังไม่ยอมรับกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามสภาวธรรมที่เป็นจริงเหล่านั้นเลย จิตก็ยังมีความสับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปกับสภาวธรรมที่เกิดขึ้นเหล่านั้น โดยที่ตนเองไม่รู้สึกตัวด้วยซ้ำไป เพียงแต่มาระลึกรู้ได้ในภายหลังจากที่จิตเสวยอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดเหล่านั้นเข้าไปแล้ว

แบบอย่างที่มีสอนกันมาดังกล่าวนี้ เราไม่เรียกว่าเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริง ตามหลักธรรมอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้หรอก

การรู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดตามที่เป็นจริงนั้น จิตยังไม่รู้เห็นตามความเป็นจริงด้วยเลย เพราะขณะที่เรารู้เห็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตามที่เป็นจริงอยู่นั้น จิตใจของตนเองยัง สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น โดยที่ตนเองก็รู้ทันบ้างไม่ทันบ้างตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญาของตน

หรือในบางครั้งถึงกับไม่รู้สึกตัวเอาเสียเลยด้วยซ้ำไป ได้มีการสนองตอบตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นจริงในขณะนั้น นี่หรือ ที่สอนกันว่า รู้เห็นสภาวะตามความเป็นจริง ทั้งๆที่ไม่สามารถที่จะควบคุมจิตและอาการของจิตให้สงบระงับลงได้ เมื่อกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด ยินดี ยินร้าย เมื่อยังไม่สามารถควบคุมจิตและอาการของจิตที่ สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้ายได้ เราไม่เรียกว่า รู้เห็นตามความเป็นจริง หรอกนะ


การที่จะ "รู้เห็นตามความเป็นจริง" ได้นั้น ต้องสามารถควบคุมจิตและอาการของจิต ไม่ให้สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย ทำจิตให้สงบราบคาบลงได้ในทันที ที่จิตกระทบกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย

หรืออย่างน้อยๆต้องเห็นอาการของจิต ที่สับสน วุ่นวาย ซัดส่าย หวั่นไหวได้อย่างชัดเจนทุกครั้ง ที่จิตกระทบอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดยินดียินร้าย และทำจิตให้สงบราบคาบลงได้ ในเวลาต่อมาอย่างรวดเร็ว จิตสงบตั้งมั่นขึ้นไปเป็นลำดับ ตามกำลังสติ สมาธิ ปัญญาที่ได้ปฏิบัติฝึกฝนอบรมมาแล้ว



พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้ทรงมุ่งสั่งสอนสังคม และพระสาวกให้ปฏิบัติสมาธิตลอดเวลา ดังพุทธพจน์ที่มีมาว่า "สมาธึ ภิกฺขเว ภาเวถ สมาหิโต ยถาภูตํ ปชานาติ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จงยังสมาธิให้เกิดขึ้นเถิด ผู้มีจิตตั้งมั่นแล้ว ย่อมรู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้"

ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติสมาธิจนบรรลุฌาน ๔ แล้ว จิตย่อมสงบ ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหว อ่อน ควรแก่การงาน ย่อมรู้เห็นชัดด้วยตนเองว่า

อารมณ์และนิมิตหมายของอารมณ์ต่างๆ ที่เข้ามาปรุงแต่งจิตให้ซัดส่ายวุ่นวาย กระสับกระส่าย รวมทั้งรูปร่างกายและลมหายใจนั้น ได้ถูกละ วาง สำรอก ออกจากความยึดถือหมดแล้ว คงเหลือแต่ "ธาตุรู้" ทรงตัวรู้อย่างแจ่มใสอยู่เท่านั้น ไม่มีความรู้สึกเสียดแทงจิตใจใดๆ หลงเหลืออยู่

สภาวะดังกล่าวนี้ จะยังคงดำรงตัวอยู่ตลอดไป ตราบที่ผู้ปฏิบัติยังมีเจตนาปฏิบัติสมาธิอยู่ และย่อมเกิด สัมมาทิฐิ รู้เห็นตามความเป็นจริง ดังนี้

๑.เห็นสภาพกระสับกระส่ายวุ่นวายของจิต เมื่อมีอารมณ์เข้ามากระทบแต่ละครั้ง ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า เป็นทุกข์

๒.เห็นสภาพเดิมอันสงบประณีตที่เกิดขึ้นที่จิตของตนเอง เมื่อได้สลัดปล่อยวางอารมณ์และอาการของจิตต่างๆออกไปได้อย่างสิ้นเชิงแล้วว่า ไม่ทุกข์ คือไม่ใช่ตัวทุกข์

๓.ถ้าปล่อยให้จิตแลบออกไปจากฐานที่ตั้งสติเมื่อใด สภาพวุ่นวายกระสับกระส่าย หรือทุกข์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที จิตเมื่อแลบออกไปจากฐานนี้แล้ว ที่จะไม่ทุกข์นั้น,ไม่มีเลย ดังนั้น การแลบของจิต จึงเป็นสมุทัย ควรละเหตุแห่งทุกข์เสีย

๔.ถ้าพรากจิตออกจากอารมณ์หรือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายให้กลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติอย่างคล่องแคล่ว และแนบแน่นได้สำเร็จเมื่อใด ความวุ่นวายกระสับกระส่ายหรือทุกข์ย่อมดับไปเมื่อนั้นทันที ดังนั้น การพรากจิตให้ออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดกลับมาตั้งอยู่ที่ฐานที่ตั้งสติ จึงเป็นทางปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์

ผู้ปฏิบัติย่อมเห็นชัดด้วยตนเองว่า การพรากจิต หรือการดึงจิตออกจากอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดให้กลับมาตั้งไว้ ณ ฐานที่ตั้งสติเพียงประการเดียวเท่านั้น จิตก็จะสงบราบเรียบ และทุกข์ก็จะดับไปหมดสิ้น นี้จึงจะเรียกว่ารู้เห็นตามความเป็นจริงในพระพุทธศาสนา


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต






Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:16:15 น.
Counter : 834 Pageviews.

5 comments
  
อนุโมทนาค่ะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 28 พฤษภาคม 2553 เวลา:10:57:31 น.
  
เขียนได้ดีครับ อนุโมทนา

จิตไม่เคยเป็นทุกข์
แต่สิ่งที่เป็นทุกข์ คือ ขันธ์ 5 อันไม่ใช่จิต แต่เป็นเงวของจิต

จิตไม่ต้องการอะไรเลย มันสงบนิ่งเฉยแบบทองไม่รู้ร้อน
ความต้องการคือตัณหา ไม่ใช่จิตที่ต้องการ
จิตแทรกแซงไม่ได้ด้วย แต่ที่แทรกแซงได้ คือ ขันธ์ 5 อันเป็นทุกข์

จิตไม่เคยเศร้าหมอง แต่สิ่งที่มาจรมาทำให้จิตมัวลงไป อุปมาเหมือนน้ำไม่่เคยสกปรก แต่ที่เห็นน้ำสกปรก เพราะมีสิ่งเจือปนอยู่ในน้ำนั้นเอง
โดย: นมสิการ วันที่: 28 พฤษภาคม 2553 เวลา:18:24:14 น.
  
ความจริงแล้วเมื่อจิตสงบไม่ได้หมายความว่าปลดเอาทุกข์ออกไปได้ จิตที่ฝึกมาดีแล้วจะวางอารมณ์ลงได้ก่อนจะพิจารณาความเป็นจริงค่ะ
โดย: จุฬาภินันท์ IP: 125.25.82.92 วันที่: 29 พฤษภาคม 2553 เวลา:1:37:12 น.
  
สิ่งที่ไม่ควรเข้าไปดัดแปลงเป็นอย่างยิ่ง ตามหลักพระพุทธศาสนา นั้นคือ ตัวทุกข์ต่างหาก เป็นสิ่งที่เราไม่ควรเสียเวลาเข้าไปดัดแปลงทุกข์ เพราะทุกข์เป็นสิ่งที่ดัดแปลงไม่ได้เลย ทุกข์เป็นของคู่โลกแต่ก่อนนานมาแล้ว

เราต้องปฏิบัติพัฒนาฝึกฝนอบรมจิตให้รู้จักวิธีละเหตุแห่งทุกข์ให้ได้ต่างหาก เมื่อละเหตุแห่งทุกข์ได้ จิตก็จะไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้น ทุกข์ก็ไม่เกิดขึ้นที่จิต จิตก็อยู่ส่วนจิต ทุกข์ก็อยู่ส่วนทุกข์ ดัดแปลงไม่ได้

แต่จิตที่ปฏิบัติฝึกฝนอบรมมาดีแล้ว ย่อมไม่เป็นทุกข์ไปกับอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายเหล่านั้นที่เกิดขึ้น นี้จึงจะเป็นการรู้เห็นตามความเป็นจริงในหลักธรรมอริยสัจ ๔

ทุกข์ควรกำหนดรู้
สมุทัยควรละ
นิโรธควรกระทำให้แจ้ง
มรรคควรเจริญให้เข้าถึงพร้อม

ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นเรื่องการปฏิบัติทางจิตหรือเป็นทางเดินของจิตทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการปฏิบัติเพื่อฝึกฝนอบรมจิตให้หลุดพ้นจากอวิชชาที่เข้ามาครอบงำจิตไว้นั่นเอง

ธรรมภูต

^

อนุโมทนาค่ะ คุณธรรมภูต

จิตไม่ใช่ตัวทุกข์ จิตไม่ใช่กองทุกข์ ขันธ์ ๕ คือ กองทุกข์

ที่ทุกข์เพราะจิตชอบแส่สายออกไปหาอารมณ์
และปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ทำให้เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์ขึ้น
หรือก็คือเกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิต ตลอดวัน ตลอดคืน นั่นเอง

เราจึงต้องอบรมจิตโดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา
เพื่อให้จิตเกิดปัญญารู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง

จิตเมื่อไม่แส่ส่ายออกไปหาอารมณ์
ไม่ปรุงแต่งไปตามอารมณ์ ก็ไม่เกิดอาการของจิตที่เนื่องด้วยอารมณ์
หรือก็คือไม่เกิดขันธ์ ๕ ขึ้นที่จิตตลอดวัน ตลอดคืน นั่นเอง

จิตก็อยู่ส่วนจิต ขันธ์ก็อยู่ส่วนขันธ์
อยู่ร่วมกันไป เหมือนน้ำกลิ้งบนใบบัว โดยใบบัวไม่เปียก ฉะนั้น
โดย: ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจ IP: 58.9.97.63 วันที่: 29 พฤษภาคม 2553 เวลา:7:31:21 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์