การดูจิตในสัมมาสมาธิ(อธิจิตสิกขา)นั้น ต้องเพียรเพ่งพิจารณาจิตอย่างต่อเนื่อง
ดังที่ได้กล่าวเน้นย้ำมาตลอดเวลาเมื่อมีโอกาสว่า จิตนั้นเป็นหลักใหญ่ใจความสำคัญในทางพระพุทธศาสนา ซึ่งมีพระพุทธพจน์รับรองไว้ดังนี้คือ "อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอตํ พุทฺธานสาสนํ การทำให้จิตมีธรรมอันยิ่ง เป็นคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์"

พระบาลีอันเป็นพระพุทธพจน์ได้กล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้วว่า พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ล้วนสอนเรื่องการทำจิต หรือการฝึกฝนอบรมจิต ให้มีธรรมอันยิ่ง

คงมีผู้สงสัยว่า อะไรหละ คือ ธรรมอันยิ่ง
ธรรมอันยิ่ง คือธรรมที่เหนือธรรมดา เป็นธรรมที่ไม่ตาย หรือที่เรียกว่า อมตธรรม หรือ โลกุตตรธรรม นั่นเอง เป็นธรรมที่พ้นโลก เป็นธรรมที่เหนือโลก เป็นธรรมที่เป็นที่พึ่งที่อาศัยได้ เป็นธรรมที่ไม่เกิดไม่ตายอีกแล้ว

ทำไม ต้องทำจิต หรือฝึกฝนอบรมจิตให้มีธรรมอันยิ่งหละ
เพราะจิตที่ยังติดข้องอยู่ในโลก(โลกียจิต) หรือ ที่เรียกว่าสัตว์โลก แบบที่เป็นอยู่อย่างทุกวันนี้นั้น เป็นจิตที่ยังหลงไป เผลอไป หลงเกิด หลงตาย ตามรูป และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เข้ามาครอบงำจิตของตนให้เศร้าหมองเสียคุณภาพไปในขณะนั้นๆ

ดังที่มีพระพุทธพจน์รับรองไว้ว่า "ปภสฺสรมิทํ ภิกฺขเว จิตตํ ตญฺจโข อาคนฺตุเกหิ อุปกิเลเสหิ อุปกิลิฏฺฐํ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แต่ที่เศร้าหมองไปนั้น เพราะมีกิเลสเป็นแขกจรเข้ามาในภายหลัง"

จากพระบาลีที่เป็นพระพุทธพจน์กล่าวว่า จิตนี้มีสภาพประภัสสรผ่องใส แสดงให้เห็นว่า โดยปรกติแล้วจิตมีสภาพประภัสสรผ่องใสอยู่ก่อน แต่เพราะมีอวิชชาครอบงำจิตอยู่ จิตจึงตกอยู่ในอำนาจของอวิชชา ซึ่งกดดันทำให้เกิด กิเลส กรรม วิบากขึ้นที่จิต

ในขณะที่อวิชชายังไม่แสดงอำนาจออกมา จิตก็ยังมีสภาพประภัสสรผ่องใส ต่อเมื่อขาดสติหลงไป เผลอไป จิตที่มีอวิชชาครอบงำอยู่นั้น ย่อมชอบที่จะแส่ส่ายออกไปเชื้อเชิญกิเลส (รูปและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดทั้งหลาย) เข้ามาเป็น "แขก" ของตนเอง และที่จิตเศร้าหมองไป ก็เพราะมีกิเลสทั้งหลายที่เป็นแขกจรเข้ามา

เราต้องมารู้จักคำว่า "แขก"
เราจะเรียกอะไรก็ตามว่าเป็นแขกของเราได้นั้น เราต้องมีการเชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้นด้วยตัวเราเองมาก่อนแล้ว สิ่งเหล่านั้นจึงจะได้ชื่อว่าเป็นแขกของเราได้ ถ้าเราไม่ได้เชื้อเชิญมาก่อน สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ใช่แขกของเราสิ แต่อาจจะเป็นแขกของใครก็ได้ที่เชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้น

แสดงว่าเราต้องเคยเชื้อเชิญสิ่งเหล่านั้นไว้ให้เป็นแขกตั้งแต่แรกแล้ว สิ่งเหล่านั้นที่เป็นแขกอยู่ก่อน จึงได้จรเข้ามา ทำให้จิตเราเศร้าหมองเสียคุณภาพไปในภายหลัง ทำให้จิตที่เคยประภัสสรอยู่ก่อน เศร้าหมองและเสียคุณภาพไป หลงไป เผลอไป ตามกิเลสที่จรเข้ามาเหล่านั้น

เมื่อพูดถึงเรื่อง "จิต" แล้ว ล้วนเป็นเรื่องของการปฏิบัติ หรือ การพัฒนาจิตให้มีคุณภาพที่ดีขึ้น อ่อน ควรแก่การงานทั้งสิ้น ถ้าเราไม่พูดถึงเรื่องจิตเสียแล้ว ก็แสดงว่าเราไม่สนใจที่จะอบรม พัฒนาจิตของตนให้ดียิ่งๆขึ้น

การปล่อยให้จิตเป็นไป ไหลไป ตามยถากรรม หรือ เป็นไปตาม กิเลส กรรม วิบาก ที่กดดันอยู่ ที่เรียกว่า ปล่อยให้เป็นไป ไหลไป ตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ของจิต ที่มักรัก ชอบ ชัง และเฉยๆที่เรียกว่าเฉยโง่ ฯลฯ และมีการหมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไปตามรูป และอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดของตนไปเรื่อยๆ ตลอดเวลา โดยไม่มีการควบคุม และวางกรอบความคิด ให้อยู่ในศีลธรรมอันดีงามเลย จิตก็จะมีแต่ไหลลงไปสู่ความตกต่ำลงไปเรื่อยๆ เป็นธรรมดาของโลก

ฉะนั้น เราต้องมีการตั้งจิตเจตนา หรือ ตั้งใจ จงใจ ลงไปว่า จะต้องควบคุมฝึกฝนอบรมบังคับจิตของตน หรือที่เราเรียก "ดูจิต" นั้น ให้จิตมีสติตั้งตนอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงามให้ได้

ผู้ที่ปฏิบัติใหม่ๆนั้น ก็จะกระทำได้ยากสักหน่อย เพราะจิตที่อยู่ในโลกนั้น มักมีสภาพธรรมที่กลอกกลิ้ง เจ้าเล่ห์ ดิ้นรนกวัดแกว่ง ห้ามยาก รักษายาก ฯลฯ

ดังนั้นผู้ปฏิบัติใหม่ทุกคน จึงต้องมีความตั้งใจ มีความจงใจ (ตามรู้อย่างต่อเนื่อง) มีความแน่วแน่ มีสติ และมีความเพียรเพ่ง (เพ่งคือการรู้อย่างต่อเนือง) ในการเริ่มต้นปฏิบัติการดูจิตให้ได้ผลที่ดีขึ้น

ยิ่งเวลาที่เราทำการงานตามปกติในโลกแล้ว ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ เพราะอะไร เพราะจิตไม่มีรูปร่าง และที่อาศัยอย่างชัดเจน ให้เราจับต้องได้ หรือระลึกรู้ได้นี่เอง เมื่อเราเริ่มดูจิต ก็จะพบเห็นแต่อาการของจิตให้รู้เท่านั้น เป็นสิ่งที่จิตแสดงออกไปตามอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่จิตในขณะนั้นๆ

ผู้ปฏิบัติใหม่ มักเข้าใจว่าสิ่งที่รู้ ที่เห็นอยู่นั้น คือสภาพธรรมของจิตที่แท้จริง แต่ในความเป็นจริงแล้ว กลับไม่ใช่เลย เป็นเพียงสภาพธรรมของจิตที่ได้เกาะเกี่ยวเอาอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้นที่จิตของตนเข้าไปแล้ว เรียกว่า "อาการของจิต" หรือ "เงาของจิต" นั่นเอง

เมื่อรู้สึกตัวหรือสัญเจตนาที่เคยตั้งใจไว้เกิดขึ้น (ยังไม่ใช่สติที่แท้จริง) ก็พยายามควบคุมจิต ดึงจิตที่หลงไป เผลอไป ให้กลับเข้ามาคิดอยู่ในกรอบแห่งศีลธรรมอันดีงามที่ตั้งใจเอาไว้เท่านั้น ยังไม่สามารถ สละ สำรอก หรือ ปล่อยวางอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดที่เกิดขึ้น ออกจากจิตของตนได้อย่างเด็ดขาด

เพราะยังไม่เคยรับการฝึกฝนอบรมจิตโดยการปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา ให้จิตมีสติสงบตั้งมั่นไม่หวั่นไหวเป็นสมาธิ มีสติระลึกรู้อยู่ที่ฐานที่ตั้ง มีสติสงบตั้งมั่นระลึกรู้อย่างต่อเนื่องเนืองๆอยู่ ก็คือ การฝึกฝนอบรมสัมมาสมาธิให้เกิดขึ้นที่จิตของตน หรือก็คือ การฝึกฝนอบรมจิตให้เข้าถึงอธิจิต (จิตที่มีธรรมอันยิ่ง) อย่างแท้จริงนั่นเอง

มีพระพุทธพจน์กล่าวไว้ดังนี้ว่า
อธิจิตตสิกขาเป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม
บรรลุปฐมฌาน มีวิตก มีวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกอยู่
บรรลุทุติยฌาน มีความผ่องใสแห่งจิต ณ ภายใน เป็นธรรมเอกผุดขึ้น
ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร เพราะวิตกและวิจารสงบไป
มีปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิอยู่ เพราะปีติสิ้นไป จึงมีอุเบกขา
มีสติสัมปชัญญะ เสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุตติยฌาน
ที่พระอริยะทั้งหลายสรรเสริญว่า ผู้ได้ฌานนี้ เป็นผู้มีอุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข
บรรลุจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์
และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้ มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
นี้ชื่อว่า อธิจิตตสิกขา


เมื่อเรามาพิจารณาพระพุทธพจน์นี้ให้ดีๆแล้ว เราจะเห็นได้ว่า การศึกษาอธิจิตตสิกขา ก็คือการปฏิบัติสัมมาสมาธิดีๆ นี่เอง แสดงว่าจิตที่ได้รับการอบรมปฏิบัติสัมมาสมาธินั้น เป็นการอบรมจิตให้มีธรรมอันยิ่ง (อธิจิต)

เมื่อจิตมีธรรมอันยิ่ง จิตย่อมเป็นสัมมาทิฐิ คือจิตก็จะรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า ที่จิตเป็นทุกข์ เหตุเพราะจิตชอบแส่ส่ายดิ้นรนส่งออกไป (สมุทัย) รับอุปกิเลสที่เป็น "แขก" จรเข้ามา แล้วยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นของๆตน ผลจึงเป็นทุกข์

เมื่อรู้เห็นตามความเป็นจริงอย่างนั้นแล้ว ย่อมต้องละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย คือ สละ สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นออกไปจากจิต อาการแส่ส่ายที่ชอบส่งออกไปของจิตก็จะดับลงไป (นิโรธ) ด้วยเช่นกัน

ซึ่งมีทางนี้ทางเดียวเท่านั้น คือ ต้องปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา (มรรค) จิตจึงจะมีสติกำลังมากพอในการสละ สำรอก ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นใน รูปและอารมณ์ความรู้สึกนึกคิด (รูป-นาม) ทั้งหลายลงได้ตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ)


เจริญในธรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต





Create Date : 29 กรกฎาคม 2553
Last Update : 19 มกราคม 2558 16:15:41 น.
Counter : 1467 Pageviews.

7 comments
  
Thank you very much.
โดย: tangtam IP: 124.120.89.116 วันที่: 29 กรกฎาคม 2553 เวลา:9:45:45 น.
  
very difficult to done. but I'm so try.
โดย: cssarin@hotmail.com IP: 172.16.0.172, 222.127.226.251 วันที่: 29 กรกฎาคม 2553 เวลา:11:57:18 น.
  
อนุโมทนาค่ะ
โดย: พ่อระนาด IP: 125.25.139.244 วันที่: 30 กรกฎาคม 2553 เวลา:7:28:48 น.
  
มาทักทายค่ะ

วันหยุดยาว ไปทำบุญที่ไหนรึเปล่าคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 11 สิงหาคม 2553 เวลา:19:01:34 น.
  
สวัสดีค่ะ คุณธรรมภูต

มาชวนไปปฏิบัติธรรมค่ะ
วันอาทิตย์ที่ 22 นี้ ถ้าว่างก็เชิญนะคะ

อนุโมทนา ล่วงหน้านะคะ
โดย: พ่อระนาด วันที่: 18 สิงหาคม 2553 เวลา:15:00:15 น.
  


เอาบุญมาฝากค่ะ คุณธรรมภูต
โดย: พ่อระนาด วันที่: 23 สิงหาคม 2553 เวลา:14:59:25 น.
  
แวะมาอนุโมทนาบุญด้วยครับ
โดย: wingang (wingang ) วันที่: 30 สิงหาคม 2553 เวลา:14:00:01 น.

ในความฝันของใครสักคน
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]



สารบัญ Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์



หน้าแรก Blog ธรรมภูต - พระภัทรสิทธิ์