นานๆเขียน

ปราสาทพระวิหาร เข้าใจยาก อะไรกันนักกันหนา

ก่อนคำตัดสินศาลโลก ออกมาเมื่อวันที่ 11 พ.ย. และหลังคำตัดสินออกมาแล้ว สังคมออนไลน์ ขุดข้อมูล ถกเถียงกันมากเรื่อง ปราสาทเขาพระวิหาร ฟังนักวิชาการ อาจารย์ทางกฏหมายระหว่างประเทศที่พยายาม อธิบายที่มาที่ไป และความหมายของคำตัดสินแล้ว ก็ชัดเจนพอสมควร แต่ทำไมยังมีคนไม่เข้าใจ?????

   จะเรียกการพิจารณา ครั้งนี้ว่าคำตัดสิน ก็คงจะไม่ถูกนัก เพราะคำตัดสินในเรื่องนี้ มันมีมาตั้งแต่ปี 2505 แล้ว การขอให้ศาลพิจารณาครั้งนี้ เป็นเรื่องของการขอให้ศาล ชี้ขาดขยายความในคำตัดสินเดิมมากกว่า

   หนึ่งในข้อถกเถียงกันในโลกออนไลน์ตอนนี้คือ

เราถอนตัวไม่รับรอง ธรรมนูญศาลระหว่างประเทศแล้ว ทำไมต้องไปสู้คดีในศาลอีก?? อาจารย์ทางกฏหมายได้อธิบายไว้ว่า คดีนี้เป็นคดีเดิมตั้งแต่ปี 2505 ที่ขณะนั้นไทยได้ลงนามรับรองอำนาจของศาลระหว่างประเทศ แม้ภายหลังไทยได้ถอนตัว ไม่รับรองอำนาจศาลแล้วก็ตาม แต่คดีที่เกิดขึ้นก่อน การถอนตัวย่อมมีผลผูกพัน ให้ไทยต้องปฏิบัติตาม
แต่การฟ้องร้องคดีใหม่ ไทยไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลระหว่างประเทศก็ได้

   แล้วไทยจำเป็นต้องปฏิบัติ ตามคำสั่งศาลระหว่างประเทศไหม ??  ไม่จำเป็น แต่ปฏิบัติตามดีกว่า เพราะคดีที่เข้าสู่การพิจารณา คือเกิดกรณีพิพาทขึ้นแล้ว ศาลจึงทำหน้าที่ตัดสินหรือไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การปฏิบัติตามช่วยให้ข้อพิพาทนั้นระงับไป หรือ หมดไป แต่ประเทศคู่ขัดแย้งอาจจะใช้แนวทางตามคำสั่งศาล หรือใช้แนวทางอื่นเพื่อระงับข้อพิพาทก็ได้ แต่การดื้อแพ่งไม่ปฏิบัติตาม และไม่พยานยามหาทางระงับข้อพิพาทดังกล่าว ทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่เสียหายในเวทีโลก ในฐานะประเทศที่ไม่เคารพกติกาสากล และขาดความน่าเชื่อถือในเวทีเจรจาระดับประเทศ

   ไทยเราสงวนสิทธิการเรียกร้อง เขาพระวิหารคืน กัมพูชาไม่มีสิทธิ นำเขาพระวิหารไปขึ้นเป็นมรดกโลกฝ่ายเดียว จริงหรือ ?? ไทยสงวนสิทธิไว้ก็จริง แต่คำสงวนสิทธินั้น ต้องยื่นหลักฐานเพื่อขอรื้อคดีมาพิจารณาใหม่ภายใน 10 ปีหลังคำพิพากษา การสงวนสิทธิของฝ่ายไทย จึงสิ้นสุดลงในปี 2515 ปราสาทพระวิหารจึงเป็นของกัมพูชาโดยสมบูรณ์แล้ว และการชี้ขาดในครั้งนี้(2556) เป็นการตัดสินบนพื้นฐานคำตัดสินเดิมในปี 2505 ไม่ได้สามารถ ตัดสินเกินไปกว่าคำตัดสินในคดีเดิมได้ เป็นเพียงอธิบายชี้ขาด ในคำตัดสินเดิม จึงไม่สามารถสงวนสิทธิได้อีก

   ไทยได้เปรียบกัมพูชา เพราะเรายึดทางขึ้นเขาพระวิหารไว้แล้ว ?? กัมพูชาทำถนนคอนกรีต ขึ้นไปถึงตัวปราสาทแล้วในฝั่งกัมพูชา การเดินทางขึ้นไปชมสะดวกกว่าฝั่งไทย แม้จะไม่ได้อารมณ์เท่ากับการเดินขึ้นผ่านบันไดโบราณ แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรค จนทำให้กัมพูชาต้องมาง้อขอขึ้นทางฝั่งไทย

   กัมพูชา ขอขึ้นทะเบียนมรดกโลก และทำแผนบริหารจัดการพื้นที่ฝ่ายเดียวได้หรือไม่ ?? ทำได้และทำไปแล้ว แต่การที่ทำร่วมกับทางการไทย น่าจะทำได้ดีกว่า เพราะพื้นที่ทับซ้อนรอบบริเวณปราสาท ถ้าพัฒนาร่วมกันจะทำให้ได้พื้นที่ในการพัฒนา มรดกโลกได้สมบูรณ์ยิ่งขี้น

  คำตัดสินในครั้งนี้ ไทย หรือ กัมพูชาได้ประโยชน์กว่ากัน ?? กัมพูชาได้ประโยชน์กว่าไทย เล็กน้อย อย่างน้อย ครั้งนี้ก็ยกตัวอย่างการแบ่งเขตแดนในทางทิศเหนือของปราสาท ว่าควรเป็นของกัมพูชา ตามลักษณะภูิมิประเทศ ทำให้กัมพูชาได้พื้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งทำให้กัมพูชาจัดทำแผนบริหารจัดการพื้นที่รอบปราสาทได้ง่ายขึ้น แต่การยุติกรณีพิพาทระหว่าง 2 ประเทศถือว่าเป็นผลดีกับทั้ง 2 ประเทศ

   ประเด็นทั้งหมด ได้จากการฟังอาจารย์ทางกฏหมายอธิบายให้ฟัง ระหว่างนั่งฟังคำตัดสิน ทางโทรทัศน์ ซึ่งเข้าใจง่าย และตอบปัญหาข้อสงสัยทุกประเด็นที่กำลังถกเถียงกันตอนนี้ ซึ่งโทรทัศน์หลายๆช่อง ก็มีการเชิญอาจารย์ทางกฏหมายมาให้ความรู้ หรือสัมภาษณ์ สอบถามข้อสงสัยเกือบทุกช่อง ก็ให้สงสัยว่า คนไทยนอกจากอ่านหนังสืือน้อยแล้ว ความเข้าใจจากการฟังข่าวยังบกพร่องด้วยหรือเปล่า

  พื้นที่่ทับซ้อนที่ศาล ให้ทั้ง 2 ประเทศไปตกลงจัดการกันเอง จึงเป็นภาระที่ทั้ง 2 ประเทศจะต้องสร้างความชัดเจน เพื่อให้เกิดสันติภาพ ระหว่างกัน แนวโน้มที่ทั้ง ไทยและกัมพูชา จะยุติความขัดแย้งแนวชายแดนมีมากขึ้น แต่ความขัดแย้งกรณีเขาพระวิหาร กำลังทำให้ไทยกับไทยเริ่มจะรบกันเอง เพราะความคลั่งชาติ



Create Date : 12 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 12 พฤศจิกายน 2556 15:33:46 น. 0 comments
Counter : 424 Pageviews.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

คนชอบเขียน
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add คนชอบเขียน's blog to your web]