13 วันในชิบะ ตอน 3 "ราเมง VS อุด้ง"
อาหารมื้อแรกที่ผมได้กินที่ญี่ปุ่นคืออุด้งเทมปุระ เสิรฟพร้อมกับผักชุปแป้งทอด และซุปมิโสะ

ใฝ่ฝันมานานแล้ว ว่าอยากจะมากินอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ ที่ดินแดนต้นกำเนิดสักที จะได้ทราบซึ้งว่ารสชาติแบบออริจินอล มันเป็นยังไง

พอได้หัวข้อของ entry มาแล้ว ผมก็เริ่มต้นค้นหาข้อมูล โดยได้สอบถามกับท่านเทพเจ้าแห่งการ research นามว่า Google และ Wikipedia และทำตอบที่ได้ทำให้ผมต้องสลดไปพักใหญ่ เพราะว่าราเมง และอุด้งนั้นไม่ใช่อาหารญี่ปุ่นโดยแท้ ...แต่เป็นอาหารจีน

เอาเถอะ... ถึงจะเป็นอาหารที่รับมาจากประเทศจีน แต่ก็อยู่คู่กับคนญี่ปุ่นมานาน และได้รับการปรับปรุงสูตรรสชาติให้ถูกปากคนญี่ปุ่นแล้ว จึงพอกล้อมแกล้มได้ว่าอาหารเส้นเหล่านี้ก็เป็นอาหารพื้นเมืองของญี่ปุ่นนะเอ้อ...


อันคำว่า ラーメン นั้นจะอ่านว่า ราเมน หรือ ราเมง ก็ไม่ผิดเนื่องจาก ตัว ン นั้น ออกได้ทั้งเสียง น และ ง (ซึ่งถ้าคนไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นแล้วอ่านจากคำอ่านภาษาอังกฤษว่า Ramen ก็คงไม่เข้าใจว่ามันจะไปออกเสียง "เมง" ไปได้จะใด)ซึ่งพ้องเสียงกับคำว่า la mian(拉麺) ในภาษาจีน แปลว่าเส้นก๋วยเตี๋ยวที่ใช้มือดึง

ไม่มีหลักฐานชี้ชัดว่าการทำอาหารเส้นได้ข้ามฝั่งจากจีนมาสู่ญี่ปุ่นเมื่อไร แต่เชื่อว่าเริ่มรับประทานกันในย่านคนจีน คือเมืองโกเบ และโยโกฮาม่า (ปัจจุบันมีการตั้งพิพิธภัณฑ์ราเมงที่โยโกฮาม่าตั้งแต่ปี 1994) และได้แพร่หลายไปทั่วประเทศญี่ปุ่นในช่วงศตวรรธที่ 19

ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ประเทศญี่ปุ่นประสบภาวะอาหารขาดแคลนอย่างหนัก แต่ในขณะเดียวกันก็มีการนำเข้าแป้งราคาถูกจำนวนมากจากประเทศอเมริกา จึงส่งผลให้คนญี่ปุ่นหันมากินราเมง แทนข้าวซึ่งมีราคาแพงและหาซื้อได้ยาก (เคยอ่านตามนิยายอิงประวัติศาสตร์ ว่าข้าวสารนั้น ต้องลักลอบขายกันในตลาดมืด เพราะเป็นสินค้าที่ถูกควบคุมจากรัฐบาลทหารในสมัยนั้น) จนกระทั่งปี 1958 นายโมโมฟูกุ อันโด ผู้ก่อตั้งบริษัทนิสชิน ได้คิดค้นการผลิตราเมงกึ่งสำเร็จรูปที่สามารถเก็บไว้ได้นาน และรับประทานได้ง่ายเพียงใส่น้ำร้อนเข้าไป จึงเป็นจุดพลิกประวัติศาสตร์ของราเมง ให้กลายเป็นอาหารที่ผู้คนนิยมไปทั่วโลก

ส่วน "อุด้ง" ลักษณะของน้ำซุปและเครื่องปรุง ก็ดูจะไม่ต่างจากราเมงมากนัก จะต่างกันก็แค่เส้นอุด้ง จะเป็นเส้นสี่เหลี่ยมหนาๆ ใหญ่ๆ ประมาณ 4-8mm ทำจากแป้งสาลีผสมเกลือ (เส้นราเมงทำจากแป้งผสมไข่) ในประเทศไทยยังมีร้านอุด้งไม่มากนัก แต่ที่ญี่ปุ่นเป็นอาหารที่ป๊อปปูล่าร์มากทีเดียว อีกทั้งยังเป็นอาหารที่ใช้ในพิธีกรรมอีกด้วย อย่างเช่น ประเพณีการกินอุด้งปีใหม่ ซึ่งเวลาทานจะพยายามไม่กัดเส้นอุด้งให้ขาด เชื่อกันว่าใครสูดเส้นอุด้งเข้าไปได้ยาวมากเท่าไร ก็จะยิ่งอายุยืนยาวเหมือนเส้นอุด้งนั่นเอง

ประวัติศาสตร์ของอุด้งนั้นฟังแล้วรู้สึกขลังอยู่ไม่น้อย ว่ากันว่าเริ่มตั้งแต่ศตวรรธที่ 9 โน่นเลย ได้มีพระสงฆ์ในศาสนาพุทธชาวญี่ปุ่นรูปหนึ่งนามว่า คูไค ได้ออกเดินทางไปประเทศจีนเพื่อศึกษาธรรม และจึงได้นำวิธีการทำเส้นอุด้งกลับมาบอกแก่เพื่อนผู้เป็นชาวนาในจังหวัดซานูกิ (ปัจจุบันซานูกิอุด้ง ถือเป็นอาหารขึ้นชื่ออย่างหนึ่งของเกาะชิโกกุ)

อ้อ ขอเสริมนิดนึงว่า การกินอาหารตระกูลเส้นแบบญี่ปุ่นให้ถูกวิธีนั้น จะต้องกินให้มีเสียง "ซู้ดดดด" ด้วย เนื่องจากจะกินอาหารประเภทนี้ให้อร่อยเต็มสูตร จะต้องได้ทั้งเส้น ซุป และได้กลิ่นด้วย ดังนั้นการซู้ดดด เข้าไปจึงเป็นวิธีที่จะทำให้เราได้รับทั้ง 3 สิ่งนี้พร้อมๆ กัน

ว่าแล้วก็มา "ซู้ดดด" ราเมงกันดีกว่า แต่เหลียวมองโต๊ะข้างๆ ก่อนนะว่าเป็นคนญี่ปุ่นหรือเปล่า ถ้าเกิดเป็นคนไทยด้วยกันคงอายเค้าแย่เลย



Create Date : 27 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 27 กุมภาพันธ์ 2554 12:57:34 น.
Counter : 661 Pageviews.

0 comments
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ลัคกี้เหมียว
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]