KAIWAN'S MUSIC WEBLOG

"ดนตรีคือสะพานสู่จิตวิญญาณ"

Copyright © 2009 by Kaiwan Kulavadhanothai

สงวนลิขสิทธิ์ บทความใน Weblog นี้ ต้องการคัดลอกไปใช้กรุณาติดต่อก่อนครับ

Group Blog
 
All Blogs
 

เบื้องหลังเพลงในละคร Dreambox's แม่นาค The Musical (ตอนที่ 2)

เพลงในละคร


ความจำเป็นที่จะต้องกระจายงานการแต่งเพลงออกไปนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือแน่นอนที่งานจะเสร็จได้เร็วขึ้น สามารถจบงานได้ตามตาราง ทำให้ความเครียดของทุกฝ่ายลดลง แต่ข้อเสียที่เห็นๆ คือ การควบคุมให้โทน และสำเนียงของดนตรีให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ยาก เพราะนักแต่งเพลงแต่ละคนก็ย่อมมีความถนัดในสไตล์ที่แตกต่างกัน เรียกว่าแต่ละคนย่อมมีลายเซ็นเป็นของตนเอง เราจึงเริ่มต้นด้วยการประชุมทีมงานเก่าที่เคยทำกันมาตั้งแต่ "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" และลองแบ่งงานโดยพิจารณาจากบทที่มีในมือว่า ช่วงในไหนในเรื่องที่ใครจะแต่งได้ถนัดที่สุด ยกตัวอย่างเช่นเพลงลักษณะเสียดสีแบบขบขัน อย่าง "เพลง หมา หมา" พี่หมึก (พลรักษ์ โอชกะ) น่าจะถนัดที่สุด รวมถึงเพลงที่ออกไปทางสำเนียงแบบไทยลูกกรุงที่มีอยู่ในเรื่องด้วย ส่วนเพลงที่เป็นคาแรคเตอร์ของ ป้าแก่ นั้น ส่วนใหญ่ คุณไก่ สุธี (สุธี แสงเสรีชนจะเป็นคนแต่ง) ส่วนพวกเพลงหนักๆ ที่เหลือก็ตกเป็นภาระรับผิดชอบของผู้เขียน โดยเฉพาะซีนช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง ในการประชุมเราตกลงกันว่า เราจะใช้สำเนียงใดบ้างที่เป็นหลักของเรื่อง และพยายามที่จะทำให้มันคงเส้นคงวาไว้ ไม่ฉีกออกไปเป็น pop มากจนเกินไป โดยเฉพาะจังหวะกลองต่างๆ ต้องระวังไม่ให้มัน โป๊ะชึ่ง เกินไป


เครดิตผู้แต่งเพลงมีดังนี้ครับ


- ไกวัล กุลวัฒโนทัย (ก)


- พลรักษ์ โอชกะ  (พ)


- สุธี แสงเสรีชน (ส)


ประสานงานร่วมประพันธ์เพลง -ดำริห์ บรรณวิทยกิจ (ด), ระพีเดช กุลบุศย์ (ร)


ลำดับเพลงในเรื่องมีดังนี้ ชื่อผู้ประพันธ์ของแต่ละเพลงใส่ตัวย่อไว้ท้ายเพลงครับ 


องก์หนึ่ง


1. หวาด  (ก)


2. หามันให้เจอ (ก)


3. โอ้แม่จ๋า /โอ้ลูกจ๋า (ก)


4. ฟ้าเป็นพยาน (ก)


5. ผู้ดีตีนแดง (พ)


6. หมา หมา (พ)


7. ลูกน้อยในอุทร (พ)


8. หน้านาข้ารอ (พ)


9. ลูกสะใภ้ทำอะไรไม่เป็น (ก)


10. หมอตำแยกับสัปเหร่อ (ส)


11. ผีย้ำ (ส)


12. เมียหรือแม่ (ก)


องก์สอง


13. บ้านริมคลองพระโขนงดงตะเคียน (ร)


14. จดหมายถึงแม่ (พ)


15. เวลาจงหยุด (พ)


16. เกณฑ์ไพร่ไปทำศึก (ก)


17. โอ้อนิจจา (ก)


18. มาก นาค และสาย (พ)


19. จดหมายที่ไม่ได้เปิด (ด) (ก)


20. แม่ฉันตายเพราะฉันนั้นทำ (พ)


21. อยากให้พี่อยู่ดูหน้าลูก (พ)


22. ลูกหมาลูกควายคลอดได้เอง (ก)


23. ฮิห่ะๆ  (ส)


24-25. ลูกหมาลูกควายคลอดได้เอง/ เลือด (ก)


26-27. เรือแห่งมรณา/ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย (ก)


องก์สาม


28. แม่นาคตาย (ร)


29. สามบ่วง (พ)


30. หมอตำแยกับสัปเหร่อ (reprise) (ส)


31. ผีตายโหงกลางดงตะเคียน  (ส)


32. ความจริงหรือความฝัน/ฟ้าเป็นพยาน (ส) (ก)


33. เลือด (reprise) (ก)


34. จงออกไป! นังผีตายทั้งกลม (ก)


35. โลกของนาค (พ)


36. นางนาคตายเพราะใครทำ (ส)


37-38. แม่นาคจ๋าข้าขออภัย/วัดโบสถ์/ บทสวดคำขอบวช (ส)


องก์สี่


39. ลูกจ๋าพ่อเจ้าจะกลับมาในคืนนี้ (พ)


40.ลูกหมาลูกควาย/ เฮี้ยน (ก) (ส)


41. เคียงข้างเหมือนดังเงา (ส)


42. ไม่ใช่คน (ส)


43. สะกดวิญญาณ (ก)


44. ไม่ใช่คน (reprise) (ส)


45. มื้อสุดท้าย (ก) 


46. ไม่ ไม่ ไม่  (ก)


47. รักป้าเหมือนรักพี่มากมากกว่าใคร (ก)


48. ไม่เห็นอะไรในดวงตา (พ)


49. ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก (สะพานหัก) (ก)


50. เรือแห่งมรณา (reprise) (ก)


51. นางนาคผีร้ายตายทั้งกลม (ก) 


- เรียบเรียงเสียงประสานโดย -คานธี อนันตกาญจน์ -ธีรยุทธ ถนอมศิลป์ -(ก) -(ส)


นอกจากนั้นยังมีแผนกเรียบเรียงดนตรี ที่รับเพลงที่แต่งเสร็จแล้วเหล่านี้ ไปแยกชิ้นทำ score  เอาไว้ให้วงดนตรีได้เล่นสด ซึ่งโน้ตเพลงของละครเรื่องนี้มันเยอะ และหนามากๆ รวมๆ กันแล้วหนาประมาณสมุดโทรศัพท์สัก 2 เล่ม เห็นจะได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้เกินความจริงแต่อย่างใด แผนกเรียบเรียงดนตรีกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะทำเสร็จ 


ขอพูดถึงวงดนตรีที่เล่นอยู่สักหน่อย เพราะเป็นการทำงานที่หนักหนาสาหัสเอาการอยู่ ต้องเล่นเพลง 51 เพลงโดยไม่มีหยุดพักตลอด 3 ชั่วโมงกว่า ซึ่งทีแรกผู้เขียนก็กังวลเล็กน้อยกับระยะเวลาการซ้อมของวงซึ่งมีไม่มากนัก (เนื่องจากงบประมาณด้วย) แล้วต้องเล่นเพลงที่ต่อใหม่ทั้งหมด คุณดำริห์ที่เป็นผู้ควบคุมวงจึงพยายามติดต่อนักดนตรีที่มีฝีมือดีมาเล่น ซึ่งจะทำให้การซ้อมง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี บทหนักตอนแสดงมันไปอยู่ที่คอนดักเตอร์ เพราะถ้าจำแนวเพลงเร็ว-ช้า ของแต่ละเพลงไม่แม่น แล้วขึ้นเพลงในจังหวะไม่เหมาะสม นักแสดงก็จะร้องลำบาก การแสดงก็จะผิดคิวได้ง่าย  ในขณะที่ผู้ชมกำลังดื่มด่ำกับตัวละครที่ร้องเพลงอย่างไพเราะนั้น อาจจะไม่มีใครนึกถึงเลยว่า คอนดักเตอร์นี่แหละที่เป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลังเพลงไพเราะ ที่ทำให้เรา อิน ไปกับความหมายของดนตรี ด้วยจังหวะจะโคนที่แม่นยำของแต่ละเพลงที่ต้องฝึกซ้อมมาอย่างดี




รูปแบบการประพันธ์


เวลาที่เราไปดูละครพูดธรรมดา เวลาที่เห็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเล่นดี เรามักจะพูดว่า คนนี้เล่นละครจังหวะดีมาก นั่นหมายถึงจังหวะในการพูด และโต้ตอบระหว่างแสดง แต่ในละครร้องแบบ sung-through จังหวะของการแสดงทั้งหมดอยู่ในเพลง ไม่ว่าจังหวะในการคิด หรือ re-act ของตัวละคร เพลงมันจะกำกับไปหมด นักแสดงจะดิ้นไม่ได้ ไม่เหมือนละครพูด เพลงจึงต้องแต่งไปโดยคิดถึงจังหวะของการแสดงไว้ในใจเสมอว่าเมื่อไหร่มันเร็วหรือช้า เช่นตรงนี้ต้องเว้นให้ตัวละครคิดนิดหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น รูปแบบหรือ Form ของเพลงในมิวสิคัล แบบนี้จึงไม่เหมือนเพลง pop ที่ มีท่อน A B แล้วก็ hook แล้วก็ย้อน A ใหม่ แต่เป็น Form ไหลรื่นไปตามบทสนทนา ในที่นี้จะขอแยกรูปแบบประเภทเพลงต่างๆ ในละคร 5 ลักษณะดังนี้


1. ร่าย Recitative การร้องกึ่งพูด นี่คือบทสนทนาของตัวละครที่พูดออกมาเป็นทำนองเพลง จุดเป้าหมายของ Recitative คือ ให้ตัวละครสนทนากัน หรือพูดความคิดของตนเองออกมา เพื่อให้การเดินเรื่องกระชับยิ่งขึ้นกว่าการร้องเป็นเพลงแบบเต็ม Form การร้องแบบ Recitative มีอยู่ในวัฒนธรรมละครร้องมายาวนาน มีทั้งของไทยและตะวันตกแบบ Opera ของไทยจะเรียกว่าการร้องร่าย ในละครเพลงมิวสิคัล ทั่วๆ ไป มักจะตัดร่ายทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นบทสนทนาโดยตรง ซึ่งทำให้แสดงได้ง่ายกว่า ดูทันสมัยกว่า และแอคติ้งได้แรงกว่า เพราะไม่มีจังหวะดนตรีมาบังคับ การเขียนร่ายไม่ได้กำหนดจังหวะสัมผัสของคำเคร่งครัด ซึ่งทำให้มันมีความยืดหยุ่นสูง สามารถใส่อารมณ์ในการแสดงได้เต็มที่ สำหรับผู้เขียน การเขียนร่ายมี 4 แบบ คือ 


ก. กำหนดทั้งจังหวะและทำนอง นักแสดงต้องร้องตามโน้ตอย่างที่กำหนดไว้เหมือนเพลงทั่วไป  แต่คอร์ดจะไม่เปลี่ยนมากนัก ต.ย.ในละครเรื่องนี้คือ ตอนต้นเรื่องที่ขุนประจันออกตามหานาค และมีท่อนที่ร้องถามพวกบ่าวไพร่ว่า  มากเป็นใครมาจากไหน (ดูประมาณนาทีที่ 4.00)


ข. กำหนดแต่จังหวะ แต่ทำนองอิสระ จะคล้ายร้องเพลงแร๊บ คือจะร้องกึ่งพูด ก็ได้ให้ลงจังหวะดนตรีเป็นใช้ได้  (ดูประมาณนาทีที่ 2.14)


ค. กำหนดแต่ทำนอง ไม่กำหนดจังหวะ จะบังคับโน้ตสูงต่ำไว้ตามคำร้อง แต่จังหวะยืดหยุ่นได้ ดนตรีอาจลากคอร์ดไว้คอร์ดเดียว แล้วก็ร้องไปในจังหวะตามใจฉัน แต่อย่าให้ออกนอกโน้ตก็แล้วกัน (ดูประมาณนาทีที่ 6.35)


ง. ไม่กำหนดทั้งทำนองและจังหวะ คล้ายกับการพูดโดยมีดนตรีประกอบ แต่อาจจะแบ่งวรรคพูดให้ลงห้องดนตรีแบบคร่าวๆ นักแสดงจะมีอิสระมากที่สุด แต่ก็อันตรายที่สุดเหมือนกัน เพราะถ้าทำไม่ดีจะเสียความไพเราะไป (ไม่มีตัวอย่างใน youtube แต่เทคนิคนี้ใช้ในฉากแม่ทองคำตาย และฉากแม่นาคคลอดลูกตาย)


จะเห็นว่าช่วงที่เป็นการร้อง Recitative มันไม่ได้เน้นที่ทำนองสวยหรู แต่เน้นที่การพูดโต้ตอบกัน คนที่ไม่เคยดูละครร้องแบบนี้อาจจะไม่ชิน และชอบบ่นว่าเพลงไม่ติดหู (ฮา) ก็หน้าที่ของเพลงในตอนนี้มันทำหน้าที่แทนการพูดนี่ครับ


2. เพลงเดี่ยว Aria อาเรียเป็นรูปแบบเพลงร้องจาก Opera ที่เป็นการร้องแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เป็นการขยายความรู้สึกในช่วงนั้นๆ ร้องพรรณาไปต่างๆ นาๆ เรียกว่าเป็นเพลง "โชว์" ของตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งตัวละครอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง และเพลงช่วงที่พูดความคิดออกมาเป็นเพลงแบบเต็ม Form นี้จะเรียกว่า Aria สมัยนี้เราชอบให้ Aria มันออกแบบเพลง pop ก็ได้ ซึ่งผู้ฟังจะชื่นชอบ ในละครเรื่องแม่นาค ก็มีเพลงที่เป็น Aria ของนางเอกหลายตอน แต่ที่เด่นมากๆ ก็เช่นเพลง "โลกของนาค"


3. เพลงร้องโต้ตอบกลุ่มย่อย คือเพลง Duet (2คน) Trio (3คน) Quartette (4คน) หรือมากกว่านั้น นี่เป็นเพลงประเภทที่น่าสนใจมากในมิวสิคัล เพราะเราสามารถดัดแปลงให้มันมีมุขในการร้องสลับกัน สวนกัน ร้องคนละที่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในละครแม่นาค อุดมไปด้วยเพลงในกลุ่มนี้มากที่สุด เป็นเพลงที่ทำให้ละครมีสีสันมากที่สุด เกิดความหมายมากที่สุด โดยเฉพาะเทคนิคการร้องเพลงเดียวกัน หรือทำนองเดียวกันแต่ให้ความหมาย 2 อย่างหรือมากกว่า
>


4. เพลงร้องหมู่มวล Chorus ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนใหญ่ใช้ในการจบฉาก หรือบอกเรื่องราวที่เป็นระดับมวลชน


5. เพลงเต้นรำ (Ballet) Musical สมัยใหม่ที่ไม่ใช่สไตล์ Realistic มักจะมีเพลงเต้นรำหรือเพลงที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ โดยไม่ต้องร้องด้วยเสมอ ผู้เขียนมองดูในบทแม่นาคแล้วไม่มีที่จะใส่ ยกเว้นแค่ฉากเดียวที่พ่อมากนอนฝันเห็นชาวบ้านเป็นผี




นี่คือรูปแบบทั้งหมดของเพลงที่ใช้ในละครเพลงเรื่องนี้ จริงๆ ก็เป็นรูปแบบมาตรฐานที่ใช้กันมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ sung-through musicalไม่เหมือน ละคร musical ทั่วไปก็คือ ระดับความเข้มข้นของการใช้ Recitative หรือร่ายนั่นเอง เพราะมันเอามาใช้เป็นบทสนทนาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว และการแต่งภาษาพูด ให้เป็นเพลงร้องภาษาไทยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นักแต่งเพลงและคอนดักเตอร์นี่แหละที่ชักใยบงการชีวิตตัวละคร ให้เขาแสดงอารมณ์ออกมาอย่างที่ผู้ชมได้เห็นได้ยิน และได้ฟัง ถ้าจะเขียนให้ชัดว่าโครงสร้างในมิวสิคัลคืออะไรก็อาจจะเขียนได้ดังนี้ (เฉพาะในด้านดนตรีกับนักแสดงนะครับ)


คนเขียนบท - บงการชีวิต ลิขิตชะตาตัวละคร 


คนเขียนเพลง - บงการอารมณ์ความรู้สึก และการโต้ตอบของตัวละคร 


คอนดักเตอร์ - บงการจังหวะชีวิต และ Dynamic ของตัวละคร ขณะกำลังแสดง


ผู้กำกับการแสดง - บงการการแสดงทุกอย่างที่อยู่บนเวทีให้คนดู ดูแล้วเชื่อ (ทำทุกอย่างได้เฉพาะตอนซ้อม ตอนแสดงได้แต่ลุ้น)


นักแสดง - ถ่ายทอดชะตาชีวิตในเพลงของตน ให้คนได้เห็น ได้เชื่อว่าจริง




สรุปทั้งหมดว่า ละครมิวสิคัล นักแสดงไม่ได้มีอิสระในการแสดงมากเท่าละครพูด และเล่นยากกว่าละครพูด เพราะต้องทำตาม Order หลายอย่างครับ ไหนจะต้องร้องเพลงให้ถูก ไหนจะต้องแสดงให้เหมาะ สารพัด การเล่นมิวสิคัลรับประกันได้ว่ายากจริงๆ


(มีต่อตอน3 เกือบจบแล้วครับ)








Free TextEditor




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 12:26:25 น.
Counter : 1152 Pageviews.  

เบื้องหลังเพลงในละคร Dreambox's แม่นาค The Musical (ตอนที่ 1)

แม่นาค เดอะมิวสิคัล ละครเพลงเรื่องยิ่งใหญ่ของค่าย Dreambox ที่รวมเอาที่สุดของหลายๆ อย่างเข้าไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นตัวบทละครที่ตีความแม่นาค ในมุมมองมิติใหม่ ที่ผู้ชมนึกไม่ถึง ที่ทั้งยาวและละเอียดลุ่มลึก ของคุณดารกา วงศ์ศิริ รวมมิตรเหล่านักแสดงและนักร้องชั้นนำของเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็น "น้ำมนต์" ธีระนัย ณ หนองคาย วรฤทธิ์ เฟื่องอารมย์ มณีนุช เสมรสุต นรินทร ณ บางช้าง อรวรรณ เย็นพูนสุข รัดเกล้า อามระดิษ เด๋อ ดอกสะเดา ญาณี ตราโมท และ ณัฏฐพัชร วิพัธครตระกูล (ปุยฝ้าย AF4) และทีมทำดนตรีทีมใหญ่ที่เคยทำให้กับ "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" มาแล้ว


มาว่ากันในเรื่องเบื้องหลังของการทำดนตรีให้ละครเรื่องนี้กันดีกว่า ผู้เขียนอยากจะเขียนบันทึกไว้เล็กน้อย ถึงประสบการณ์ที่ได้ร่วมทำดนตรีกับดรีมบอกซ์ในเรื่องนี้ (รวมทั้งเรื่อง "คู่กรรม" ที่ผ่านมาด้วย) ไม่อยากให้ความทรงจำมันหายไปตามกาลเวลา และหวังว่าเกร็ดความรู้ในเรื่องดนตรีในเรื่อง "แม่นาค เดอะมิวสิคัล" น่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่สนใจในด้านละครเพลง และคนรุ่นใหม่ที่อยากจะทำละครเพลงต่อไปในอนาคต เนื่องจากตอนเริ่มทำโปรดักชั่นของละครเพลงเรื่องนี้ มีหลายคนพยายามติดต่อขอสัมภาษณ์ฝ่ายทำดนตรี รวมถึงแผนก PR ของบริษัทด้วย แต่แผนกแต่งเพลงกำลังทำงานกันหามรุ่งหามค่ำ หน้าดำคร่ำเครียดจนไม่มีเวลาจะออกไปพบหน้าประชาชานได้ ได้แต่ฝากข้อมูลให้ผู้กำกับ (คุณสุวรรณดี จักราวรวุธ) ไปพบกับสื่อแทน ตอนนี้หลังจากงานเสร็จ พวกเราก็เพิ่งจะมีเวลาได้ดูงานที่ทำ และอยากจะฝากบางสิ่งบางอย่างไปถึงผู้ชมที่รักของละครเรื่องนี้


อย่างที่ทราบกันแล้วว่า "แม่นาค เดอะมิวสิคัล" ของดรีมบอกซ์ เป็นละครร้องล้วนๆ ไม่มีบทพูดเปล่าๆ เลย ที่เรียกกันว่า Sung-Through Musical ลักษณะละครแบบนี้ ในวัฒนธรรมไทยก็มีมาช้านาน ตั้งแต่ละครร้อง ละครรำแต่โบราณ เพียงแต่ละครแบบไทย จะผนวกนาฏศิลป์เข้าไปจนกลมกลืนกับละคร ถ้าเป็นละครโบราณเช่น ละครใน ตัวเอกก็ต้องรำ แต่ไม่ร้องเอง จะมีวงดนตรีและนักร้องอยู่ต่างหาก เรายังเห็นรูปแบบนี้ในโขนด้วยซึ่งก็เป็นละครในประเภทหนึ่ง ละครไทยที่ร้องเองเล่นเอง รำเอง แบบ Opera ฝรั่ง เพิ่งจะมีเมื่อตอน สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัติวงศ์ ท่านได้ทรงปรับปรุงละครในยุคนั้นให้มีรูปแบบคล้าย Opera ของตะวันตก และเรียกชื่อละครร้องแบบนี้ว่า "ละครดึกดำบรรพ์" //th.wikipedia.org/wiki/ละคร


โดยส่วนตัวของผู้เขียนที่ผูกพันกับละครมาตั้งแต่เด็ก แต่ก็ยังไม่เคยได้มีโอกาสได้ดูละครดึกดำบรรพ์ แบบเต็มๆ สักครั้ง เคยได้ชมแต่การนำเพลงจากละครดึกดำบรรพ์มาเล่นเป็น คอนเสิร์ต และเล่นเป็นฉากๆ ไปไม่จบเรื่อง คิดว่าการจะเล่นละครดึกดำบรรพ์ได้ก็ต้องมีทั้งตัวแสดงที่ทั้ง ร้องเก่ง เล่นเก่ง รำเก่ง นับว่าไม่ใช่เรื่องง่ายเลย น่าเสียดายที่ศิลปะการละครไทยเหล่านี้กำลังสูญหายไป ทั้งๆที่ครูบาอาจารย์ในสมัยก่อนท่านก็คิดได้ลึกล้ำไม่แพ้ตะวันตก ที่เหลืออยู่ในสมัยนี้ที่ร้องเองเล่นเองแบบไทยๆ ก็มีแต่ลิเก เท่านั้น จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้นสามารถพูดได้เลยว่า ละครดึกดำบรรพ์เป็นรูปแบบละครร้องที่สวยงามอย่างไทยแบบสุดท้าย ก่อนที่ละครไทยจะกลายร่างเป็นละครแบบตะวันตก ในยุคต่อมาคือละครร้อง ยุคสงครามโลก ในยุคนี้มีนักแต่งเพลงไทยหลายท่าน ที่ล้วนแต่มี ฝีไม้ลายมือในการแต่งเพลงระดับสุดยอดทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นละครในแบบของหลวงวิจิตรวาทการ พรานบูรพ์ (//th.wikipedia.org/wiki/พรานบูรพ์) จนถึงหม่อมหลวง พวงร้อย (ผู้ประพันธ์เพลงอมตะ บัวขาว) แต่รูปแบบของละครไทย ก็ได้ถูกเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคของ "เพลงไทยสากล" ไปแล้ว เอาไว้มีเวลาคราวหน้าจะร่ายยาวเรื่องนี้ให้ฟัง


ที่ผู้เขียนเกริ่นมาเสียไกล ไม่ยอมเข้าเรื่อง แม่นาค เสียที ก็เพราะอยากให้ท่านผู้อ่านได้เห็นภูมิหลังในแนวคิดของผู้เขียนเสียก่อนว่า เพลงเรื่องแม่นาค มันมีที่มาจากแรงบันดาลใจในละครร้องของไทยนี่แหละ บวกเข้ากับความถนัดของผู้เขียน ที่ร่ำเรียนดนตรี คลาสสิค แบบตะวันตกมายาวนาน และชื่นชอบทั้ง Opera แบบ Classic และ Musical แบบร่วมสมัย (ที่จริงมันก็คล้ายกัน แต่มันเกิดขึ้นต่างกรรม ต่างวาระกันเท่านั้น)


การเริ่มต้น 


ในช่วงเริ่มต้นของการทำเพลงให้ละคร แม่นาคนั้น เมื่อผู้เขียนได้พบปะพูดคุยกับพี่โจ้ (ดารกา วงศ์ศิริ) และเห็นบทร่างแรกนั้น ผู้เขียนเอาบทมานั่งอ่านอยู่หลายวัน พร้อมเอามือก่ายหน้าผากอยู่หลายอาทิตย์ ก่อนที่จะตัดสินใจเรื่องแนวทางของเพลงในละครเรื่องนี้ ถ้าจะพูดถึงความซับซ้อนของบทและตัวละครแล้ว น่าจะซับซ้อนกว่าคู่กรรม ประมาณ 3 เท่า แต่ถ้าจะพูดถึงความยุ่งยากทางดนตรีแล้ว ถึงจะมีดนตรีอยู่ 50 คิว (พอๆ กับคู่กรรม) แต่ยากกว่าสัก 5 เท่าเห็นจะได้ เพราะตัวละครรองมีบทที่ซับซ้อน ไม่น้อยกว่าตัวเอก การจะพัฒนาไอเดียทางดนตรีให้แต่ละตัว ต้องคิดให้ดี เพราะถ้ามันมากไป มันจะไปกลบตัวเอกของเรื่อง แต่อย่างไรก็ดี ทั้งที่ๆ พยายามจะหั่นทิ้งสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไปบ้างแล้ว ละครก็ยังยาวเกือบ 3 ช.ม. ครึ่ง เพราะบทสนทนาพอกลายเป็นเพลง ก็จะยาวออกไปอีก แถมด้วยฉากแอคชั่นบรรยากาศผีซึ่งก็สร้างความปวดหัวให้กับการแต่งไม่ใช่น้อย ฉากที่เข้มข้นมากๆ ในช่วงครึ่งหลังของเรื่องนั้น ทีมแต่งเพลงบอกได้เลยว่า แทบกระอักทุกเพลง ยิ่งฉากไคลแมกซ์ที่สะพานหักนั้นเป็นคิวเพลงที่ยาวที่สุดของเรื่อง ยาวเกือบ 12 นาที โดยไม่มีหยุดเลยจนจบซีน


หลังจากจมอยู่กับบทร่างแรกอยู่เกือบเดือน ผู้เขียนก็ตัดสินใจที่จะให้เพลงและดนตรีในเรื่องนี้ออกกลิ่นอายแบบไทยผสม Opera แบบ คลาสิค มากกว่าที่จะให้มันมีโทนแบบ pop ร่วมสมัย เนื่องด้วยตัวบทมันมีความเป็น Drama มากๆ จะแต่งเพลงให้มันมีจังหวะโยกแบบ Dance ก็คงไม่เหมาะ (ถึงแม้ว่าอยากจะใส่เข้าไปก็ตาม) คำถามในใจที่เกิดขึ้นก็คือ จะเป็นไปได้มั๊ยว่าในฉากที่ใหญ่ๆ อย่างเรือมรณา ที่จะให้มันฟังดูแบบ Opera แต่ยังเป็นไทยอยู่ ไม่หลุดไปฝรั่งจ๋าจนเกินไป แล้วผู้ชมที่เป็นชาวบ้านทั่วไป เขาจะฟังได้มั๊ย ละครไทยใส่ สำเนียง Opera มันจะโดดออกมาขนาดไหน ขณะที่กำลังลังเลอยู่นั้น ผู้เขียนก็เผอิญไปได้ยินเพลงจาก Opera เรื่อง Carmina Burana ของ Carl Off (ใครอยากทราบ ไปเสิร์ชเอานะครับ) ลอยมาจาก website แห่งหนึ่งปะทะกับ ทำนองเพลงเห่เรือที่วนเวียนอยู่หัวของผู้เขียน ก็เลยปิ๊งขึ้นมา อะฮ้า ยูเรก้าาา


นี่แหละ บรรยากาศที่ขลัง เข้ม ทะมึน และน่าขนลุกแบบไทยๆ ที่ผู้เขียนกำลังตามหา


เพลงเรือมรณา และข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย เป็นเพลงแรกที่แต่งขึ้นของละครเรื่องนี้ ผู้เขียนชอบที่ให้ 2 เพลงนี้เป็นเพลงเดียวกันที่มี 2 ท่อน มากกว่าจะเป็นเพลง 2 เพลงต่อกัน เพราะเวลาแต่ง ก็แต่งต่อเนื่องกันไป จนหมดเนื้อความของบท สิ่งที่เด่นที่สุดในเพลงนี้ตามความรู้สึกของผู้เขียนคือคำว่า "ไม่" ในช่วง"ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย" ซึ่งเป็น Theme หลักของเรื่องเลยที่เดียว ในบทต้นฉบับมีเนื้อความอยู่ดังนี้ (ขออนุญาติพี่โจ้ เอาบทมาใส่ตรงนี้นะครับ เพื่อเป็นความรู้สำหรับคนรุ่นต่อไป)


นาค


ไม่ละ ข้ายังไปไม่ได้


ข้ายังไม่พร้อมที่จะไป


ภพใดใดทั้งนั้น


ไม่ละ ข้ายังห่วงโหยหา


เลื้อดเนื้อและวิญญาณ์


บอกข้าว่าอย่าเพิ่งไป


เนื้อตามบทที่เป็นไกด์มาให้มีเท่านี้ ทำยังไงมันถึงจะเป็นเพลงที่สละสลวยที่คือคำถาม อยากจะบอกท่านผู้อ่านว่า จริงๆ แล้วนักแต่งเพลงมีหน้าที่แก้ปัญหาให้ ไอเดียต่างๆที่มีกลายเป็นดนตรีที่ไพเราะให้ได้ครับ ซึ่งการแก้ปัญหาก็ต้องใช้ทักษะทางดนตรี ทั้งหมดเพื่อหาคำตอบของทำนองและคำร้องที่ดีที่สุด ที่จะสามารถถ่ายทอดความคิดหลักของบทให้ได้


จะเห็นว่าคำว่า "ไม่" ในบทมีอยู่ที่เดียว มันยังมีน้ำหนักไม่พอที่จะเป็นเพลงได้ มันต้องซ้ำ สัก 2 ครั้ง แล้วเอา Chorus มาย้ำเป็นเสียงสะท้อนด้วย ถึงจะมีน้ำหนักขึ้น อ่านดูแล้วจุดที่สะดุดเด่นคือ เนื้อหาว่า "เลื้อดเนื้อและวิญญาณ์ บอกข้าว่าอย่าเพิ่งไป" แต่ต้องปรับนิดหน่อยเพื่อให้สัมผัสดีขึ้น หลังจากปลุกปล้ำทั้งเนื้อทั้งทำนองสักพัก ก็ต้องใส่คำขยายความเข้าไปอีก เนื่องจาก เนื้อหาในกลอนที่ให้มาไม่พอ จนออกมาเป็นดังนี้ (ที่อยู่ในวงเล็บคือ คอรัส)


นาค


ไม่ ! (ไม่!) ไม่! (ไม่!)


ข้ายังไม่พร้อมจะไป


ไม่ ! (ไม่!) ไม่! (ไม่!)


ข้ายังไม่พร้อมจะไป


ไม่ว่าสวรรค์บัญชา


ไม่ว่านรกจะสั่ง


ไม่อาจจะรั้งข้าได้


เพราะไฟในหัวใจยังโหยหา


เลือดเนื้อและวิญญาณ์


กระซิบว่า...อย่าไป


เมื่อรวมเข้ากับทำนองที่มืดทะมึนผลก็ออกมาน่าพอใจ เนื้อเพลงเข้มข้นกว่าเดิม บวกกับเสียงเห่แบบไทย ที่มีออร์เคสตร้าเล่นในลีลาที่กระชั้น ทำให้เพลงมีน้ำหนักกว่าเดิมมาก


เทคนิคการประพันธ์ 


วิธีการประพันธ์เพลงอย่างนี้ จะช่วยให้เราได้เพลงที่มีเนื้อหาตรงตามที่เราจะสื่อ พร้อมๆกับได้ทำนองที่ถูกใจเราไปด้วย โดยการแต่งเนื้อเพลงที่เป็นเหมือน Dummy ขึ้นมาก่อน แล้วค่อยๆ ขัดเกลาทีหลัง แต่สิ่งที่ยากคือ บางครั้งเนื้อเพลงต้องถูกบิดไปจากเดิมค่อนข้างเยอะ เพื่อให้มันเข้ากับทำนองที่แต่งตามมาทีหลัง บางครั้งอาจจะต้องตามมาแก้เนื้อเพลงซ้ำ เพราะบิดไปมากเกินไป และที่ยากกว่าคือการค้นหาทำนองจากเนื้อเพลงที่มีอยู่แบบคร่าวๆ นั้น บางครั้งก็เล่นเอาหัวตื้อไปเลย งานมันไปตกหนักที่ตอนแต่งทำนอง ที่ต้องแต่งเนื้อร้องขึ้นมาเพิ่มด้วยเพื่อให้เพลงสมบูรณ์ โดยเฉพาะการสัมผัสคำต่างๆ เป็นสิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ อาจเป็นเพราะผู้เขียนเริ่มต้นการเขียนเพลงไปพร้อมกับการเรียนแต่ง โคลง ฉันท์ กาพย์ กลอน สารพัดมาก่อน จึงเคร่งครัดเรื่องนี้ และพยายามจะใช้สัมผัสผิดเสียงให้น้อยที่สุด (คือการส่งสัมผัสที่ไม่ตรงตัวสะกดแท้ๆ เช่น เอาแม่กก ไปเจอกับ แม่กด เช่น "ใครขวางมันฆ่าไม่เลือก เอาเลือดล้างตีนหักคอ" แต่บางครั้งมันหาไม่ได้จริงๆ เพราะทุกอย่างมันจำกัดมากๆ ก็ต้องยอม อย่างน้อยก็ซ่อนไว้ในสัมผัสใน ไม่ใช่สัมผัสนอก) และระวังไม่ให้ครุ-ลหุ ของคำไปขวางกับจังหวะ เพราะมันจะทำให้ร้องยาก และไม่สละสลวย ผิดธรรมชาติภาษาไทย


พูดถึงเรื่อง ครุ-ลหุ ในภาษาการแต่งเพลงนี่ อดที่จะบ่นไม่ได้ เพราะเพลง Pop สมัยใหม่ที่ฟังตามวิทยุ หลายเพลงมีทำนองที่ไพเราะ แต่กลับไม่สามารถเอาเนื้อภาษาไทยลงไปใส่ให้มันคล้องจองและมีครุ-ลหุ ที่ถูกต้องได้ เรื่องครุ-ลหุ เป็นเรื่องใหญ่พอๆ กับการรับผิดชอบเสียงวรรณยุกต์ ในบทเพลง ถ้าท่านผู้อ่านยังงงอยู่ว่า ครุ-ลหุ ในเนื้อเพลงมันคืออะไร ผู้เขียนก็จะขอขยายความเท่าที่จะทำได้ด้วยตัวหนังสือดังนี้


ครุ คือเสียงหนัก ลหุ คือเสียงเบา ในภาษาไทยจะมีครุ-ลหุ อยู่ทุกที่ หลักง่ายๆ คือ ถ้าสระเสียงสั้น ไม่มีตัวสะกด จะเป็นเสียงเบา ถ้าสระเสียงสั้นที่มีตัวสะกดมักจะกลายเป็นครุ ยิ่งสระเสียงยาวที่มีตัวสะกด ยิ่งเป็นครุโดยไม่ต้องสงสัย นอกจากนั้น บางครั้งคำที่มีตัวสะกดบางคำอาจจะกลายเป็นลหุ หรือเสียงเบาก็ได้ถ้ามันแวดล้อมไปด้วยครุที่หนักกว่า หลักครุ-ลหุ ที่ใช้ในเพลง จะไม่ได้เคร่งตามรูปเหมือนอย่างฉันท์ และสามารถใช้ Common Sense ได้ด้วยเช่น "ข้ายังไม่พร้อมจะไป" ถ้าดูตามรูปคำจะเห็นว่ามี ลหุ แค่ที่เดียวคือ "จะ" แต่เวลาแต่งเพลง เราจะดูว่า คำไหนมันจะตรงกับจังหวะตก ซึ่งมันจะเป็นครุ ถ้ามันอยู่ตรงจังหวะยกมันก็จะกลายเป็นลหุ วลี "ข้ายังไม่พร้อมจะไป" ถ้าจะให้เป็นธรรมชาติ จะมีจังหวะตกและยกอยู่ดังนี้ (คำที่ขีดเส้นใต้คือจุดที่จังหวะตก) "ข้ายังไม่พร้อมจะไป" เวลาแต่งทำนองลงไป ต้องขยับให้คำเหล่านี้อยู่ในจังหวะที่ถูกต้อง ท่านผู้อ่าน ลองทดลองอ่านวลีข้างบน โดยการปรบมือเป็นจังหวะช้าๆ แล้วลองอ่านวลีข้างบนให้คำที่ขีดเส้นใต้อยู่ตรงกับจังหวะปรบมือ ก็จะเข้าใจว่ามันเข้ากับจังหวะอย่างเป็นธรรมชาติดีหรือไม่ ลองเปรียบเทียบกับ "ข้ายังไม่พร้อมจะไป" ก็จะเห็นความแตกต่างในเรื่องการลงครุ-ลหุ ผิดที่ในเพลง ว่ามันทำให้เพลงที่ง่ายๆ กลายเป็นร้องยากขึ้นมาทันที เพราะมันฝืนธรรมชาติของภาษา


ส่วนเรื่องวรรณยุกต์นี่ คิดว่าไม่ต้องยกตัวอย่างก็คงจะเดากันได้ว่าเวลาทิศทางของโน้ตมันขวางวรรณยุกต์แล้วมันจะเกิดอะไรขึ้นกับเนื้อเพลง ถ้าแต่งไม่ระวังมันอาจจะกลายเป็น "ขาหยั่งไม้พรอมจะไป๋" ก็เป็นได้ สรุปว่าจะเขียนเพลงไทยให้ไพเราะก็ต้องเคร่งกับสิ่งเหล่านี้คือ สัมผัส ครุลหุ และวรรณยุกต์ ถ้าคิดถึง 3 สิ่งนี้ไว้ตอนแต่งเพลงก็น่าจะได้เพลงที่ดีเพลงหนึ่ง เขียนมาถึงเรื่องวรรณยุกต์ ก็นึกขึ้นมาได้ว่าละครเพลง แม่นาค เดอะมิวสิคัล นี่ช่างอุดมไปด้วย เนื้อเพลงที่เต็มไปด้วยเสียงโทจริงๆ นับตั้งแต่ชื่อตัวเอกทั้งสองตัวที่ปรากฏในเนื้อเพลงบ่อยๆ คือ แม่นาค พ่อมาก จนถึงคำหลักๆที่ใช้ในเนื้อเพลงสำคัญๆ เช่น ไม่ ไม่ ข้ายังไม่พร้อมจะไป, เลือด เลือด คำพวกนี้เวลาแต่งออกมาเป็นทำนองแล้วมักจะต้องถูกบังคับให้ร้องเอื้อนลงมาเพราะเสียงโทมันบังคับ ซึ่งร้องบ่อยๆ นี่มันก็เหนื่อยจริงๆ


เขียนไปเขียนมา เกือบจะกลายเป็นตำราแต่งเพลงไปแล้ว แต่ไม่เป็นไร เพราะมักจะมีคนถามผู้เขียนอยู่บ่อยๆ ว่า แต่งเพลงสำหรับ Musical ควรทำอย่างไร ถ้าอ่านบทความนี้จบหวังว่าคงจะได้คำตอบไปบ้าง และผู้เขียนเองก็อยากจะเห็นเพลงไทยใหม่ๆ ที่มีความสละสลวยไพเราะออกมามากๆ กรุณาอย่าได้ตามแฟชั่นแต่งเพลงที่เอาแต่เท่อย่างเดียว แต่ไม่เคยนึกถึงหลักการอะไรกันเลย เพราะถ้าคนทำไม่พิถีพิถันในการแต่ง คนฟังก็ไม่แคร์ที่จะฟังเหมือนกันครับ


วกมาเข้าเรื่องแม่นาคกันต่อ หลังจากที่เขียนเพลงแรกเสร็จผู้เขียนก็รู้ทันที ว่างานนี้ไม่จบง่ายๆ แน่นอน ขืนแต่งคนเดียวคงจบหลัง date line 12 เดือนแน่ๆ การที่จะแกะบททั้งหมดให้ออกมาเป็นเนื้อร้องและทำนองที่หลากหลายตามตัวละครทั้ง 50 เพลง เป็นงานที่ต้องใช้เวลาและพลังสมองอย่างมาก ซึ่งถึงเวลาที่ต้องจัดสรรและแบ่งงานออกไปเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานมากกว่านี้



(ต่อตอน 2)








Free TextEditor




 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2552    
Last Update : 22 กรกฎาคม 2552 9:59:46 น.
Counter : 1301 Pageviews.  


kkaiwan
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Music Composer, Choir Conductor: Suanplu Chorus
Friends' blogs
[Add kkaiwan's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.