เบื้องหลังเพลงในละคร Dreambox's แม่นาค The Musical (ตอนที่ 2)
เพลงในละคร ความจำเป็นที่จะต้องกระจายงานการแต่งเพลงออกไปนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือแน่นอนที่งานจะเสร็จได้เร็วขึ้น สามารถจบงานได้ตามตาราง ทำให้ความเครียดของทุกฝ่ายลดลง แต่ข้อเสียที่เห็นๆ คือ การควบคุมให้โทน และสำเนียงของดนตรีให้ไปในทิศทางเดียวกันนั้น เป็นสิ่งที่ยาก เพราะนักแต่งเพลงแต่ละคนก็ย่อมมีความถนัดในสไตล์ที่แตกต่างกัน เรียกว่าแต่ละคนย่อมมีลายเซ็นเป็นของตนเอง เราจึงเริ่มต้นด้วยการประชุมทีมงานเก่าที่เคยทำกันมาตั้งแต่ "คู่กรรม เดอะมิวสิคัล" และลองแบ่งงานโดยพิจารณาจากบทที่มีในมือว่า ช่วงในไหนในเรื่องที่ใครจะแต่งได้ถนัดที่สุด ยกตัวอย่างเช่นเพลงลักษณะเสียดสีแบบขบขัน อย่าง "เพลง หมา หมา" พี่หมึก (พลรักษ์ โอชกะ) น่าจะถนัดที่สุด รวมถึงเพลงที่ออกไปทางสำเนียงแบบไทยลูกกรุงที่มีอยู่ในเรื่องด้วย ส่วนเพลงที่เป็นคาแรคเตอร์ของ ป้าแก่ นั้น ส่วนใหญ่ คุณไก่ สุธี (สุธี แสงเสรีชนจะเป็นคนแต่ง) ส่วนพวกเพลงหนักๆ ที่เหลือก็ตกเป็นภาระรับผิดชอบของผู้เขียน โดยเฉพาะซีนช่วงไคลแมกซ์ของเรื่อง ในการประชุมเราตกลงกันว่า เราจะใช้สำเนียงใดบ้างที่เป็นหลักของเรื่อง และพยายามที่จะทำให้มันคงเส้นคงวาไว้ ไม่ฉีกออกไปเป็น pop มากจนเกินไป โดยเฉพาะจังหวะกลองต่างๆ ต้องระวังไม่ให้มัน โป๊ะชึ่ง เกินไป เครดิตผู้แต่งเพลงมีดังนี้ครับ - ไกวัล กุลวัฒโนทัย (ก) - พลรักษ์ โอชกะ (พ) - สุธี แสงเสรีชน (ส) ประสานงานร่วมประพันธ์เพลง -ดำริห์ บรรณวิทยกิจ (ด), ระพีเดช กุลบุศย์ (ร) ลำดับเพลงในเรื่องมีดังนี้ ชื่อผู้ประพันธ์ของแต่ละเพลงใส่ตัวย่อไว้ท้ายเพลงครับ องก์หนึ่ง 1. หวาด (ก) 2. หามันให้เจอ (ก) 3. โอ้แม่จ๋า /โอ้ลูกจ๋า (ก) 4. ฟ้าเป็นพยาน (ก) 5. ผู้ดีตีนแดง (พ) 6. หมา หมา (พ) 7. ลูกน้อยในอุทร (พ) 8. หน้านาข้ารอ (พ) 9. ลูกสะใภ้ทำอะไรไม่เป็น (ก) 10. หมอตำแยกับสัปเหร่อ (ส) 11. ผีย้ำ (ส) 12. เมียหรือแม่ (ก) องก์สอง 13. บ้านริมคลองพระโขนงดงตะเคียน (ร) 14. จดหมายถึงแม่ (พ) 15. เวลาจงหยุด (พ) 16. เกณฑ์ไพร่ไปทำศึก (ก) 17. โอ้อนิจจา (ก) 18. มาก นาค และสาย (พ) 19. จดหมายที่ไม่ได้เปิด (ด) (ก) 20. แม่ฉันตายเพราะฉันนั้นทำ (พ) 21. อยากให้พี่อยู่ดูหน้าลูก (พ) 22. ลูกหมาลูกควายคลอดได้เอง (ก) 23. ฮิห่ะๆ (ส) 24-25. ลูกหมาลูกควายคลอดได้เอง/ เลือด (ก) 26-27. เรือแห่งมรณา/ข้ายังไม่พร้อมจะยอมตาย (ก) องก์สาม 28. แม่นาคตาย (ร) 29. สามบ่วง (พ) 30. หมอตำแยกับสัปเหร่อ (reprise) (ส) 31. ผีตายโหงกลางดงตะเคียน (ส) 32. ความจริงหรือความฝัน/ฟ้าเป็นพยาน (ส) (ก) 33. เลือด (reprise) (ก) 34. จงออกไป! นังผีตายทั้งกลม (ก) 35. โลกของนาค (พ) 36. นางนาคตายเพราะใครทำ (ส) 37-38. แม่นาคจ๋าข้าขออภัย/วัดโบสถ์/ บทสวดคำขอบวช (ส) องก์สี่ 39. ลูกจ๋าพ่อเจ้าจะกลับมาในคืนนี้ (พ) 40.ลูกหมาลูกควาย/ เฮี้ยน (ก) (ส) 41. เคียงข้างเหมือนดังเงา (ส) 42. ไม่ใช่คน (ส) 43. สะกดวิญญาณ (ก) 44. ไม่ใช่คน (reprise) (ส) 45. มื้อสุดท้าย (ก) 46. ไม่ ไม่ ไม่ (ก) 47. รักป้าเหมือนรักพี่มากมากกว่าใคร (ก) 48. ไม่เห็นอะไรในดวงตา (พ) 49. ความโศกย่อมเกิดแต่ความรัก (สะพานหัก) (ก) 50. เรือแห่งมรณา (reprise) (ก) 51. นางนาคผีร้ายตายทั้งกลม (ก) - เรียบเรียงเสียงประสานโดย -คานธี อนันตกาญจน์ -ธีรยุทธ ถนอมศิลป์ -(ก) -(ส) นอกจากนั้นยังมีแผนกเรียบเรียงดนตรี ที่รับเพลงที่แต่งเสร็จแล้วเหล่านี้ ไปแยกชิ้นทำ score เอาไว้ให้วงดนตรีได้เล่นสด ซึ่งโน้ตเพลงของละครเรื่องนี้มันเยอะ และหนามากๆ รวมๆ กันแล้วหนาประมาณสมุดโทรศัพท์สัก 2 เล่ม เห็นจะได้ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้เกินความจริงแต่อย่างใด แผนกเรียบเรียงดนตรีกินไม่ได้นอนไม่หลับอยู่เป็นเดือนๆ กว่าจะทำเสร็จ ขอพูดถึงวงดนตรีที่เล่นอยู่สักหน่อย เพราะเป็นการทำงานที่หนักหนาสาหัสเอาการอยู่ ต้องเล่นเพลง 51 เพลงโดยไม่มีหยุดพักตลอด 3 ชั่วโมงกว่า ซึ่งทีแรกผู้เขียนก็กังวลเล็กน้อยกับระยะเวลาการซ้อมของวงซึ่งมีไม่มากนัก (เนื่องจากงบประมาณด้วย) แล้วต้องเล่นเพลงที่ต่อใหม่ทั้งหมด คุณดำริห์ที่เป็นผู้ควบคุมวงจึงพยายามติดต่อนักดนตรีที่มีฝีมือดีมาเล่น ซึ่งจะทำให้การซ้อมง่ายขึ้น อย่างไรก็ดี บทหนักตอนแสดงมันไปอยู่ที่คอนดักเตอร์ เพราะถ้าจำแนวเพลงเร็ว-ช้า ของแต่ละเพลงไม่แม่น แล้วขึ้นเพลงในจังหวะไม่เหมาะสม นักแสดงก็จะร้องลำบาก การแสดงก็จะผิดคิวได้ง่าย ในขณะที่ผู้ชมกำลังดื่มด่ำกับตัวละครที่ร้องเพลงอย่างไพเราะนั้น อาจจะไม่มีใครนึกถึงเลยว่า คอนดักเตอร์นี่แหละที่เป็นคนชักใยอยู่เบื้องหลังเพลงไพเราะ ที่ทำให้เรา อิน ไปกับความหมายของดนตรี ด้วยจังหวะจะโคนที่แม่นยำของแต่ละเพลงที่ต้องฝึกซ้อมมาอย่างดี
รูปแบบการประพันธ์ เวลาที่เราไปดูละครพูดธรรมดา เวลาที่เห็นตัวละครตัวใดตัวหนึ่งเล่นดี เรามักจะพูดว่า คนนี้เล่นละครจังหวะดีมาก นั่นหมายถึงจังหวะในการพูด และโต้ตอบระหว่างแสดง แต่ในละครร้องแบบ sung-through จังหวะของการแสดงทั้งหมดอยู่ในเพลง ไม่ว่าจังหวะในการคิด หรือ re-act ของตัวละคร เพลงมันจะกำกับไปหมด นักแสดงจะดิ้นไม่ได้ ไม่เหมือนละครพูด เพลงจึงต้องแต่งไปโดยคิดถึงจังหวะของการแสดงไว้ในใจเสมอว่าเมื่อไหร่มันเร็วหรือช้า เช่นตรงนี้ต้องเว้นให้ตัวละครคิดนิดหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น รูปแบบหรือ Form ของเพลงในมิวสิคัล แบบนี้จึงไม่เหมือนเพลง pop ที่ มีท่อน A B แล้วก็ hook แล้วก็ย้อน A ใหม่ แต่เป็น Form ไหลรื่นไปตามบทสนทนา ในที่นี้จะขอแยกรูปแบบประเภทเพลงต่างๆ ในละคร 5 ลักษณะดังนี้ 1. ร่าย Recitative การร้องกึ่งพูด นี่คือบทสนทนาของตัวละครที่พูดออกมาเป็นทำนองเพลง จุดเป้าหมายของ Recitative คือ ให้ตัวละครสนทนากัน หรือพูดความคิดของตนเองออกมา เพื่อให้การเดินเรื่องกระชับยิ่งขึ้นกว่าการร้องเป็นเพลงแบบเต็ม Form การร้องแบบ Recitative มีอยู่ในวัฒนธรรมละครร้องมายาวนาน มีทั้งของไทยและตะวันตกแบบ Opera ของไทยจะเรียกว่าการร้องร่าย ในละครเพลงมิวสิคัล ทั่วๆ ไป มักจะตัดร่ายทิ้ง แล้วเปลี่ยนเป็นบทสนทนาโดยตรง ซึ่งทำให้แสดงได้ง่ายกว่า ดูทันสมัยกว่า และแอคติ้งได้แรงกว่า เพราะไม่มีจังหวะดนตรีมาบังคับ การเขียนร่ายไม่ได้กำหนดจังหวะสัมผัสของคำเคร่งครัด ซึ่งทำให้มันมีความยืดหยุ่นสูง สามารถใส่อารมณ์ในการแสดงได้เต็มที่ สำหรับผู้เขียน การเขียนร่ายมี 4 แบบ คือ ⁃ ก. กำหนดทั้งจังหวะและทำนอง นักแสดงต้องร้องตามโน้ตอย่างที่กำหนดไว้เหมือนเพลงทั่วไป แต่คอร์ดจะไม่เปลี่ยนมากนัก ต.ย.ในละครเรื่องนี้คือ ตอนต้นเรื่องที่ขุนประจันออกตามหานาค และมีท่อนที่ร้องถามพวกบ่าวไพร่ว่า มากเป็นใครมาจากไหน (ดูประมาณนาทีที่ 4.00)
⁃ ข. กำหนดแต่จังหวะ แต่ทำนองอิสระ จะคล้ายร้องเพลงแร๊บ คือจะร้องกึ่งพูด ก็ได้ให้ลงจังหวะดนตรีเป็นใช้ได้ (ดูประมาณนาทีที่ 2.14)
⁃ ค. กำหนดแต่ทำนอง ไม่กำหนดจังหวะ จะบังคับโน้ตสูงต่ำไว้ตามคำร้อง แต่จังหวะยืดหยุ่นได้ ดนตรีอาจลากคอร์ดไว้คอร์ดเดียว แล้วก็ร้องไปในจังหวะตามใจฉัน แต่อย่าให้ออกนอกโน้ตก็แล้วกัน (ดูประมาณนาทีที่ 6.35)
⁃ ง. ไม่กำหนดทั้งทำนองและจังหวะ คล้ายกับการพูดโดยมีดนตรีประกอบ แต่อาจจะแบ่งวรรคพูดให้ลงห้องดนตรีแบบคร่าวๆ นักแสดงจะมีอิสระมากที่สุด แต่ก็อันตรายที่สุดเหมือนกัน เพราะถ้าทำไม่ดีจะเสียความไพเราะไป (ไม่มีตัวอย่างใน youtube แต่เทคนิคนี้ใช้ในฉากแม่ทองคำตาย และฉากแม่นาคคลอดลูกตาย) จะเห็นว่าช่วงที่เป็นการร้อง Recitative มันไม่ได้เน้นที่ทำนองสวยหรู แต่เน้นที่การพูดโต้ตอบกัน คนที่ไม่เคยดูละครร้องแบบนี้อาจจะไม่ชิน และชอบบ่นว่าเพลงไม่ติดหู (ฮา) ก็หน้าที่ของเพลงในตอนนี้มันทำหน้าที่แทนการพูดนี่ครับ 2. เพลงเดี่ยว Aria อาเรียเป็นรูปแบบเพลงร้องจาก Opera ที่เป็นการร้องแสดงอารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร เป็นการขยายความรู้สึกในช่วงนั้นๆ ร้องพรรณาไปต่างๆ นาๆ เรียกว่าเป็นเพลง "โชว์" ของตัวละครเอกในเรื่อง ซึ่งตัวละครอาจจะตกอยู่ในสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง และเพลงช่วงที่พูดความคิดออกมาเป็นเพลงแบบเต็ม Form นี้จะเรียกว่า Aria สมัยนี้เราชอบให้ Aria มันออกแบบเพลง pop ก็ได้ ซึ่งผู้ฟังจะชื่นชอบ ในละครเรื่องแม่นาค ก็มีเพลงที่เป็น Aria ของนางเอกหลายตอน แต่ที่เด่นมากๆ ก็เช่นเพลง "โลกของนาค" 3. เพลงร้องโต้ตอบกลุ่มย่อย คือเพลง Duet (2คน) Trio (3คน) Quartette (4คน) หรือมากกว่านั้น นี่เป็นเพลงประเภทที่น่าสนใจมากในมิวสิคัล เพราะเราสามารถดัดแปลงให้มันมีมุขในการร้องสลับกัน สวนกัน ร้องคนละที่ หรืออะไรก็แล้วแต่ ในละครแม่นาค อุดมไปด้วยเพลงในกลุ่มนี้มากที่สุด เป็นเพลงที่ทำให้ละครมีสีสันมากที่สุด เกิดความหมายมากที่สุด โดยเฉพาะเทคนิคการร้องเพลงเดียวกัน หรือทำนองเดียวกันแต่ให้ความหมาย 2 อย่างหรือมากกว่า >
4. เพลงร้องหมู่มวล Chorus ชื่อก็บอกอยู่แล้ว ไม่ต้องอธิบายมาก ส่วนใหญ่ใช้ในการจบฉาก หรือบอกเรื่องราวที่เป็นระดับมวลชน 5. เพลงเต้นรำ (Ballet) Musical สมัยใหม่ที่ไม่ใช่สไตล์ Realistic มักจะมีเพลงเต้นรำหรือเพลงที่มีการเคลื่อนไหวมากๆ โดยไม่ต้องร้องด้วยเสมอ ผู้เขียนมองดูในบทแม่นาคแล้วไม่มีที่จะใส่ ยกเว้นแค่ฉากเดียวที่พ่อมากนอนฝันเห็นชาวบ้านเป็นผี
นี่คือรูปแบบทั้งหมดของเพลงที่ใช้ในละครเพลงเรื่องนี้ จริงๆ ก็เป็นรูปแบบมาตรฐานที่ใช้กันมานานแล้ว แต่สิ่งที่ทำให้ sung-through musicalไม่เหมือน ละคร musical ทั่วไปก็คือ ระดับความเข้มข้นของการใช้ Recitative หรือร่ายนั่นเอง เพราะมันเอามาใช้เป็นบทสนทนาอย่างที่ได้กล่าวไปแล้ว และการแต่งภาษาพูด ให้เป็นเพลงร้องภาษาไทยนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย นักแต่งเพลงและคอนดักเตอร์นี่แหละที่ชักใยบงการชีวิตตัวละคร ให้เขาแสดงอารมณ์ออกมาอย่างที่ผู้ชมได้เห็นได้ยิน และได้ฟัง ถ้าจะเขียนให้ชัดว่าโครงสร้างในมิวสิคัลคืออะไรก็อาจจะเขียนได้ดังนี้ (เฉพาะในด้านดนตรีกับนักแสดงนะครับ) ▪ คนเขียนบท - บงการชีวิต ลิขิตชะตาตัวละคร ▪ คนเขียนเพลง - บงการอารมณ์ความรู้สึก และการโต้ตอบของตัวละคร ▪ คอนดักเตอร์ - บงการจังหวะชีวิต และ Dynamic ของตัวละคร ขณะกำลังแสดง ▪ ผู้กำกับการแสดง - บงการการแสดงทุกอย่างที่อยู่บนเวทีให้คนดู ดูแล้วเชื่อ (ทำทุกอย่างได้เฉพาะตอนซ้อม ตอนแสดงได้แต่ลุ้น) ▪ นักแสดง - ถ่ายทอดชะตาชีวิตในเพลงของตน ให้คนได้เห็น ได้เชื่อว่าจริง
สรุปทั้งหมดว่า ละครมิวสิคัล นักแสดงไม่ได้มีอิสระในการแสดงมากเท่าละครพูด และเล่นยากกว่าละครพูด เพราะต้องทำตาม Order หลายอย่างครับ ไหนจะต้องร้องเพลงให้ถูก ไหนจะต้องแสดงให้เหมาะ สารพัด การเล่นมิวสิคัลรับประกันได้ว่ายากจริงๆ (มีต่อตอน3 เกือบจบแล้วครับ)
Free TextEditor
Create Date : 22 กรกฎาคม 2552 |
Last Update : 23 กรกฎาคม 2552 12:26:25 น. |
|
8 comments
|
Counter : 1152 Pageviews. |
|
|