สวัสดีคะ ยินดีต้อนรับเพื่อนๆทุกท่านคะ
ขอบคุณสำหรับการเยี่ยมชมบล็อก ขอให้ทุกท่านเพลิดเพลินในบล็อกนี้และหวังว่าคุณจะมีรอยยิ้มหลังออกจากบล็อกนี้นะคะ
Mirror Neurons + Parental Skill...นวัตกรรมแห่งการเลี้ยงลูกให้ได้ดี

เรื่องการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ โดยเฉพาะเรื่องสมองมาอย่างต่อเนื่อง เพราะเชื่อว่ามนุษย์สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ตลอดชีวิต หากมีพื้นฐานและสิ่งแวดล้อมที่ดีตั้งแต่วัยเด็ก โดยเฉพาะช่วง 6 ปีแรกของชีวิต
เมื่อนักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่ง ได้ค้นพบและเรียนรู้เกี่ยวกับ เซลล์กระจกเงา (Mirror Neurons) ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งในความมหัศจรรย์ของสมอง รักลูกก็ได้นำเสนอเรื่องดังกล่าวต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตามศักยภาพสมองจะพัฒนาอย่างเต็มที่ไม่ได้เลย หากไม่มี ทักษะพ่อแม่ (Parental Skill) ซึ่งเป็นสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ตัวและมีอิทธิพลต่อลูกมากที่สุดประกอบด้วย
รักลูกจึงขอทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมความรู้ทั้ง 2 เรื่องเข้าด้วยกัน ซึ่งเป็นนวัตกรรมแห่งการเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี คิดเป็น คิดสร้างสรรค์ ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยสังคมได้ง่ายๆ โดยมีผู้เชี่ยวชาญจากทั้งสองด้านมาร่วมพูดคุย และขอเชิญชวนคุณพ่อคุณแม่ชาวรักลูกร่วมสร้างนวัตกรรมนี้ไปพร้อมกันเลยนะคะ
นพ.อุดม เพชรสังหาร เป็นคนแรกๆ ที่นำเสนอเรื่องเซลล์กระจกเงาในบ้านเรามากว่า 2 ปี คุณหมอเป็นจิตแพทย์ ปัจจุบันเป็นกรรมการผู้จัดการ บริษัท รักลูก ฮิวแมน แอนด์ โซเชียลอินโนเวชั่น จำกัด ในเครือรักลูกกรุ๊ป, อดีตกรรมการบริหารอุทยานการเรียนรู้ (TK Park) ,อดีตผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัยและการศึกษาพิเศษ และยังทำงานด้านการใช้หนังสือเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กให้กับอีกหลายองค์กร เช่น สมาคมไทสร้างสรรค์, มูลนิธิซิเมนต์ไทย, มูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีผลงานเขียน เช่น หนังสือเรื่อง DLP สูตร D สร้างลูกเก่ง การอ่านและพัฒนาการของสมองเด็ก และคู่มือพัฒนาเด็กปฐมวัยด้วยหนังสืออีกด้วย
นพ.สุริยเดว ทริปาตี กุมารแพทย์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ปัจจุบันคุณหมอร่วมเป็นคณะทำงานในโครงการเพื่อเด็กและเยาวชนหลายโครงการ เช่น ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน รองผู้จัดการและโฆษกเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.), โครงการภาวะโภชนาการเกินในเด็ก มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ, เลขาธิการคณะอนุกรรมการดูแลสุขภาพวัยรุ่นของราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และหัวหน้าคลินิกเพื่อนวัยทีน สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น ฅ

รักลูก : ก่อนอื่นอยากจะให้คุณหมออุดมช่วยอธิบายคำว่า 'เซลล์กระจกเงา' หน่อยค่ะ

คุณหมออุดม :: เซลล์กระจกเงา หรือ Mirror Neurons คือเซลล์สมองที่อยู่ตรงบริเวณด้านล่างของสมองส่วนหน้า (Inferior Frontal Cortex) ซึ่งค้นพบโดยกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ คือ Dr.Vittorio Galese, Dr.Leonardo Fogassi, Dr.Giacomo Rizzolatti แห่งมหาวิทยาลัยพาร์มา อิตาลี และ Dr. Marco Iacoboni แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา โดยตอนแรกเขาต้องการศึกษาการทำงานของสมองส่วนที่ทำหน้าที่วางแผนการเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ Premotor Cortex (ส่วนหนึ่งของสมองส่วนหน้าหรือ Frontal Cortex) ของลิงว่ามันทำงานอย่างไรในการวางแผนเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวร่างกาย เพื่อจะเอาความรู้ที่ได้จากการศึกษาในลิงมาเปรียบเทียบและอธิบายการทำงานของสมองมนุษย์อีกทีเพื่อให้เราเข้าใจในการทำงานของสมองมนุษย์ได้กระจ่างขึ้น

ที่ต้องทำการศึกษาในลิงแทนมนุษย์ก็เนื่องจากว่าการศึกษาแบบนี้ไม่สามารถทำในมนุษย์ได้ เริ่มแรกเขาฝึกให้ลิงเคลื่อนไหวเลียนแบบท่าทางต่างๆ ของมนุษย์จนคล่องแคล่ว จากนั้นก็ทำการฝังสายไฟฟ้าเล็กๆ ไว้ในสมองของลิงบริเวณที่จะทำการศึกษาซึ่งก็คือบริเวณที่ทำหน้าที่วางแผนการเคลื่อนไหวร่างกายหรือ Premotor Cortex นั่นเอง เมื่อลิงเคลื่อนไหวเลียนแบบท่าทางต่างๆ ตามที่ฝึกไว้ เขาก็ทำการวัดกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นในเซลล์สมองที่อยู่บริเวณนี้ เพื่อดูว่าเซลล์ตัวไหนบ้างที่ทำงานหรือมีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้น ซึ่งก็จะทำให้รู้ว่าเซลล์ตัวไหน บริเวณไหนเกี่ยวข้องกับการวางแผนการเคลื่อนไหวของร่างกายส่วนใด
การทดลองของเขาก็ดำเนินไปด้วยดี แต่เรื่องมันมาเกิดขึ้นก็ตอนที่เขาจะเลิกทำการทดลอง นักวิจัยในทีมผู้หนึ่งได้เดินเข้าไปหยิบเครื่องมือในห้องทดลองต่อหน้าลิงที่ยังมีสายไฟต่อจากสมองของมันไปยังเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าอยู่ ปรากฎว่าเครื่องวัดกระแสไฟฟ้าได้โชว์ว่ามีกระแสไฟฟ้าเกิดขึ้นในเซลล์สมองของลิงบริเวณด้านล่างของสมองส่วนหน้าหรือ Ventral Premotor Cortex (Area F5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายของลิง ในลักษณะที่เหมือนกับท่าทางการเคลื่อนไหวของนักวิจัยที่เดินเข้าไปหยิบเครื่องมือในห้องทดลอง ทั้งๆ ที่ลิงมันนั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกายแต่อย่างใด
การมองเห็นการเคลื่อนไหวของนักวิจัยผู้นี้ของลิงได้กระตุ้นให้เซลล์สมองส่วนนี้ของลิงทำงานขึ้นมาโดยที่ไม่ได้มีการเคลื่อนไหวเกิดขึ้นจริง คล้ายกับว่าเซลล์เหล่านี้มันกำลัง "สะท้อนภาพ" หรือ "เลียนแบบ" การเคลื่อนไหวของนักวิจัยผู้นี้ แต่เป็นการสะท้อนภาพหรือเลียนแบบที่เกิดขึ้นภายในสมอง ไม่มีพฤติกรรมใดๆ แสดงออกมาให้เห็น เขาเลยตั้งชื่อเซลล์กลุ่มนี้ว่า "เซลล์กระจกเงา" หรือ "Mirror Neuron" เพราะมันสะท้อนภาพที่มันเห็นเหมือนกับการสะท้อนภาพของกระจกเงาที่นั่นเอง

เดิมที เรารู้เพียงว่าเซลล์สมองบริเวณนี้ทำหน้าที่วางแผนการเคลื่อนไหวร่างกายในการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ แต่คราวนี้เราได้รู้เพิ่มขึ้นว่ามันทำหน้าที่ "ทำความเข้าใจ" กับพฤติกรรมต่างๆ ที่ผ่านเข้ามาทางประสาทสัมผัสทั้ง 5 ด้วย และนำ “ความเข้าใจ” ที่ว่านี้มากำหนดพฤติกรรมตอบสนองของตัวเองอีกที เขาเชื่อว่า "การสะท้อนภาพพฤติกรรมที่มองเห็น" หรือ "การเลียนแบบภายในสมอง" ของเซลล์สมองกลุ่มนี้แหละคือสาเหตุที่ทำให้เรา "เข้าใจเจตนาที่ซ่อนอยู่ภายใต้พฤติกรรมนั้นๆ" ของผู้อื่น และความเข้าใจนี่เองคือตัวกำหนดให้เรามีพฤติกรรมต่างๆ เพื่อตอบสนองอย่างเหมาะสมกับพฤติกรรมนั้นๆ มันคือต้นตอของการเกิดสัมพันธภาพทางสังคม มันคือสาเหตุที่ทำให้มนุษย์มีบุคลิกหรือนิสัยใจคอเหมือนหรือสอดคล้องกับคนอื่นๆ ในสังคม โดยมีผู้คนและสิ่งแวดล้อมรอบตัวเป็นตัวกำหนด นอกจากนี้เขายังพบว่าการทำงานของเซลล์กระจกเงายังเป็นกลไกสำคัญในการเรียนรู้ภาษาพูด ภาษาอ่าน การเรียนรู้เกี่ยวกับทักษะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำอาหาร การใช้ชีวิตประจำวัน คุณธรรมจริยธรรม รวมทั้งความเข้าใจในภาษาของดนตรีศิลปะ และวัฒนธรรมของคนเราอีกด้วย

รักลูก : จากงานวิจัยที่ว่านี้ บอกอะไรกับเราบ้างคะ

หมออุดม :: มันบอกว่า "ต้นแบบ" คือสิ่งจำเป็นในการเรียนรู้ของมนุษย์ เพราะเซลล์กระจกเงามันเรียนรู้และทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ ผ่านแบบอย่างที่มันเห็นและสัมผัส หลายอย่างมันเลียนแบบ หลายอย่างมันทำความเข้าใจแล้วปรับใช้อีกที มันทำให้เรารู้ว่ามนุษย์เรียนรู้โดยการ "ก็อปปี้" จาก “ต้นแบบ” ด้วยไม่ใช่เพียงแค่เรียนรู้จากการถูก “สั่งและสอน” เท่านั้น โดยเฉพาะในเด็กเล็กๆ ที่พัฒนาการของภาษายังไม่ดีพอที่จะรับ “การสั่งและสอน” ได้อย่างเข้าใจเต็มที่ ดังนั้น “ต้นแบบ” จึงสำคัญที่สุด และต้นแบบที่สำคัญก็คือพ่อแม่และคนรอบข้างนั่นเอง
ในตอนแรก การค้นพบเซลล์กระจกเงาเป็นการค้นพบในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการมองเห็นเท่านั้น คือพอตามองเห็นปุ๊บ สมองส่วน Primary Visual Cortex ก็จะแปลสัญญาณส่งไปให้สมองส่วน Premotor Cortex เพื่อควบคุมการทำงานเลย คือเห็นการเคลื่อนไหวแบบไหนก็ส่งสัญญาณไปแบบนั้นเลยครับ เขาจึงเชื่อว่า...เมื่อไหร่ก็ตามที่มนุษย์มองเห็น...เซลล์กระจกเงาก็จะทำงาน
ล่าสุดนักวิจัยยังพบอีกว่าภายใน 18 ชั่วโมงหลังคลอด เด็กสามารถเลียนแบบพฤติกรรมบางอย่างจากผู้ใหญ่ที่อยู่รอบข้างได้ นั่นแสดงว่าเซลล์กระจกเงาเริ่มทำงานแล้วนะครับ แต่ถ้าถามว่าเมื่อไหร่ล่ะ...ที่เซลล์กระจกเงาจะหยุดทำงาน ผมคิดว่าจริงๆ มนุษย์เลียนแบบการกระทำของคนอื่นจนวินาทีสุดท้ายของชีวิต เซลล์กระจกเงาก็เช่นกันครับ
และจากทฤษฏี Neurons Plasticity หรือความยืดหยุ่นของเซลล์สมองมนุษย์ เราเชื่อว่าสมองมีอัตราเจริญได้สูงที่สุดในช่วง 7 ปีแรก นั่นแปลว่าเซลล์กระจกเงาจะถูกวางวงจรเชื่อมต่อกับวงจรต่างๆ ได้ดีที่สุดในช่วง 7 ปีแรกเช่นกันครับ

รักลูก : แล้วในต่างประเทศหรือแวดวงวิชาการ เขาตื่นตัวกับการค้นพบเรื่องนี้มากแค่ไหนคะ

หมออุดม :: โอ้โห! ถ้าในแวดวงนักวิชาการ เขามองว่านี่คือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดในวงการประสาทวิทยา (Neurology) และประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) เลยนะครับ เรียกว่า สำคัญพอๆ กับการค้นพบ DNA หรือยีนพันธุกรรมเลยทีเดียว เพราะมันเป็นการค้นพบที่พลิกความเชื่อและองค์ความรู้ที่เกี่ยวกับการเรียนรู้และพฤติกรรมของมนุษย์ให้เปลี่ยนไปจากเดิม จากเมื่อก่อน เราเชื่อว่าการเรียนรู้ของเด็กเกิดจากผู้ใหญ่เอาข้อมูลไปป้อนให้ เด็กจำข้อมูลเหล่านั้นและสังเคราะห์เป็นความรู้ขึ้น
แต่หลังจากค้นพบเซลล์กระจกเงาแล้ว เราพบว่าการเรียนรู้เกิดขึ้นทุกวินาทีโดยอัตโนมัติ โดยเฉพาะการเรียนรู้เรื่องสังคม เพราะเรารับข้อมูลเข้ามาหมดทุกทาง ตราบใดที่มนุษย์ยังเปิดประสาทสัมผัสทั้ง 5 คือ การมองเห็น ได้ยิน สัมผัส ได้กลิ่นและรับรส ส่งผลให้เรื่องการเรียนรู้เป็นมากกว่าที่เราคิด จึงทำให้มีการเคลื่อนไหวในวงวิชาการที่ค่อนข้างแรงมากในตอนนี้
เมื่อต้นปี 2549 ทฤษฎีนี้ได้รับรางวัลกรอวีเมเยอร์ (Grawemeyer International Psychology Award) ซึ่งเป็นรางวัลเดียวกับที่ Howard Gardner เคยได้รับจากทฤษฎีพหุปัญญา(Multiple Intelligence) และ Aron T. Beck จากทฤษฎีจิตบำบัดแบบพุทธิปัญญา (Cognitive Psychotherapy) มาแล้ว ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นทฤษฎีที่นำมาพัฒนาเด็กและเยาวชนได้

รักลูก : ปัจจุบันมีการนำทฤษฎีนี้ไปใช้ต่อยังไงบ้างคะ หรือยังเป็นแค่การค้นพบขั้นต้น

หมออุดม :: ที่ชัดเจนตอนนี้มี 4 เรื่องใหญ่ๆ
เรื่องแรก คือนำไปใช้เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้และพัฒนาพฤติกรรมของมนุษย์ ทฤษฎีนี้ช่วยให้เรามั่นใจว่า “การเห็นคือการเรียนรู้ : Seeing is learning” ดังนั้นการสร้าง “ต้นแบบที่ดี” จึงมีความจำเป็นหากเราต้องการพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ และพฤติกรรมของมนุษย์
เรื่องต่อมาเราใช้ความรู้นี้ไปอธิบายทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalysis Theory) และทฤษฎีการอ่านใจคน (Theory of Mind) ซึ่งเป็นทฤษฏีทางจิตวิทยาที่เราใช้เป็นพื้นฐานในการทำความเข้าใจจิตใจของมนุษย์ แต่ทั้งสองทฤษฎีมีพื้นฐานมาจากการสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์แล้วมาสรุปเป็นหลักการ เป็นทฤษฎี แต่ทฤษฎีเซลล์กระจกเงามันบอกเราว่าพฤติกรรมที่เราเคยสังเกตเห็นแล้วสรุปเป็นทฤษฎีไว้ในเบื้องต้นนั้น มันเกิดจากการทำงานของสมองส่วนไหนบ้าง มันบอกว่าการทำงานของจิตใจเป็นผลจากการทำงานของเซลล์สมองครับ นี่คืออีกขั้นของการอธิบายเรื่องความรู้สึกนึกคิดมนุษย์เลยนะ
เรื่องที่สาม มันใช้อธิบายการเกิดโรคออทิสติกที่เรายังพยายามทำความเข้าใจกันอยู่ ในเด็กออทิสติกเขาพบว่าเซลล์กระจกเงามันไม่ทำงาน ส่งผลให้เขาไม่สามารถเลียนแบบพฤติกรรมของผู้อื่น ไม่สามารถเข้าใจความคิดคนอื่น มีสัมพันธภาพกับคนอื่นหรือเข้าร่วมสังคมกับคนอื่นไม่ได้ ทำให้เขามีมีพฤติกรรมไม่เหมือนกับเด็กปกติทั่วไป
เรื่องสุดท้าย เราใช้ความรู้นี้ในการรักษาผู้ป่วยโรคอัมพาตที่เกิดจากภาวะสมองขาดเลือด (Ischemic Stroke) ด้วยการสร้างโปรแกรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยตามแนวคิดของเซลล์กระจกเงา โดยสร้างพฤติกรรมต่างๆ ให้ผู้ป่วยได้ลอกเลียนแบบ จากการศึกษาประสิทธิผลของโปรแกรม ปรากฏว่าการฟื้นฟูร่างกายแบบนี้สามารถฟื้นฟูร่างกายผู้ป่วยได้เร็วขึ้น เมื่อเทียบกับวิธีการที่ฟื้นฟูร่างกายในแบบเดิม ที่น่าภูมิใจคือ งานนี้นักวิจัยไทยเป็นคนทำด้วยนะครับ รักลูก : คุณหมอสุริยเดวคะ ในฐานะที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชนมานาน จนได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนมีจุดเริ่มต้นจากการขาดทักษะพ่อแม่ จริงๆ แล้วทักษะพ่อแม่คืออะไรคะ
หมอสุริยเดว ทักษะพ่อแม่ (Parental Skill) คือทักษะในการเลี้ยงดูลูกเพื่อให้เขาสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมปัจจุบันได้อย่างมีความสุข และไปตลอดรอดฝั่งได้ครับ


รักลูก : ฟังดูกว้างมากเลยค่ะ พ่อแม่จะปฏิบัติได้จริงหรือคะ

หมอสุริยเดว :: (หัวเราะ) เอ่อ...คือสร้างได้จริงๆ นะครับ ไม่ยากเลย
ถ้าเป็นลูกเล็กขวบปีแรกสิ่งที่ต้องทำคือการมอบความรัก ความอบอุ่น และเสริมด้วยทักษะด้านบวกให้ลูก เช่น การฝึกวินัยเชิงบวกให้ลูกเล็ก สมมุติว่าลูกคลานอยู่ แล้วกำลังจะเอานิ้วแหย่ปลั๊กไฟ สิ่งที่พ่อแม่ต้องทำคือ จัดระบบสิ่งแวดล้อมให้ถูกต้องเสียก่อน ด้วยการยกปลั๊กไฟออกหรือหาอุปกรณ์เซฟตี้มาครอบไว้ แทนที่จะเอาแต่พูด “อย่านะ” เพราะมันไม่เกิดประโยชน์ ท้ายที่สุดวันใดวันหนึ่งก็อาจพลาดพลั้งได้
ลูกวัย 1-3 ปี พ่อแม่ต้องเน้นหนักในส่วนของการให้กำลังใจและสนับสนุนลูกทั้งในด้านของร่างกาย จิตใจ สังคม อารมณ์ และสติปัญญา ผมขอยกตัวอย่างที่เจอบ่อยๆ เช่น การฝึกให้ลูกผิดหวังให้เป็น ด้วยการให้ลูกเลิกขวดนม เปลี่ยนจากนมหวานมาเป็นนมจืด หรือเปลี่ยนจากขวดให้เป็นแก้วแทน
อันนี้ถือว่าเป็นการฝึกลูกให้รู้จักผิดหวังเล็กๆ โดยเริ่มจากสิ่งง่ายๆ ก่อน หรือบางเวลาที่แม่กำลังง่วนทำอะไรสักอย่าง แล้วลูกร้องไห้หิวขึ้นมา ก็ไม่ใช่ว่าหิวปุ๊บแล้วลูกจะได้กินนมในทันที แต่ต้องมีขั้นตอน อาจจะพูดคุยขั้นตอนที่เราเตรียมนม แม้ว่าลูกจะไม่เข้าใจความหมาย แต่ก็สามารถรับรู้ได้ว่า ให้ลูกรู้ว่าต้องมีการรอสักเดี๋ยวก็จะได้กินนม นี่แหละคือจังหวะที่จะทำให้ลูกรู้จักการรอคอย เมื่อลูกทำได้ก็ต้องมีแรงเสริมบวกให้ลูกด้วยการสัมผัส โอบกอด หรือคำชื่นชม แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของความเหมาะสมด้วยนะครับ
พอโตขึ้นมาหน่อย... เราต้องมีกรอบกติกาให้ลูกรู้ เช่น ลูกจะดูโทรทัศน์ได้ไม่เกิน วันละ 1 ชั่วโมง นี่คือพื้นฐานการฝึกวินัยที่พ่อแม่ต้องสร้างให้ลูก
เมื่อเริ่มจะเข้าสู่วัยรุ่น พ่อแม่ต้องให้ลูกมีส่วนร่วมในการคิดหรือตัดสินใจ เช่น ลูกลองคิดดูซิว่า ถ้าทำอย่างนี้แล้วจะมีข้อดีข้อเสียอย่างไรบ้าง แล้วเราค่อยช่วยเสริมหรือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน เพื่อให้ลูกซึมซับวิธีคิด อีกทั้งเรียนรู้ว่าวิธีคิดไม่ได้มีเพียงด้านลบหรือบวกเพียงด้านเดียว แต่ต้องมีทั้งสองอย่างควบคู่กันไป ซึ่งพ่อแม่ต้องมีวิธีคิดด้านบวกให้ลูกมากกว่าด้านลบนะครับ ที่สำคัญ คือ ต้องมีความชัดเจน มีแรงเสริมบวก และมีความสม่ำเสมอจนเกิดเป็นพฤตินิสัย

รักลูก : ตรงนี้ทฤษฎีเซลล์กระจกเงาเข้ามาเกี่ยวข้อกับคุณพ่อคุณแม่และเด็กๆ ทั่วไปอย่างไรคะ

คุณหมออุดม :: คือการเลียนแบบจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อต้นแบบกับผู้ที่จะเลียนแบบมีความผูกพันกัน ผมมองว่าการสัมผัสด้วยความผูกพัน (bonding) สามารถถ่ายทอดทั้งความรู้สึกชอบ ไม่ชอบออกมาได้ เด็กเล็กๆ จึงเลียนแบบพ่อแม่มากกว่าดาราเพราะผูกพันใกล้ชิดมากกว่า โดยเขาจะรับผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ทำให้เซลล์กระจกเงาในสมองทำงาน จนสามารถอ่านสิ่งที่อยู่ภายในใจของคนอื่นได้
เพราะฉะนั้นถ้าเราเห็นลูกทำอะไรดีๆ แล้วเราสัมผัสโอบกอดก็คือรางวัลที่จะไปทำเกิดแรงจูงใจที่จะทำอีกจนเกิดการซึมซับจนเป็นนิสัย

รักลูก : แสดงว่าเซลล์กระจกเงากับทักษะพ่อแม่เกี่ยวข้องกันอย่างแยกไม่ออกเลยทีเดียว

หมออุดม :: ใช่ครับ เพราะการสร้างสัมพันธ์และความผูกพันคือตัวสำคัญที่จะส่งผลต่อการทำงานของเซลล์กระจกเงาด้วย และทำให้เกิดการเลียนแบบภาษา ความคิดและพฤติกรรมอื่นๆ ตามมา
ถามว่า...ทำไมเด็กจึงลอกเลียนแบบไปหมดทุกอย่าง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะว่าการลอกเลียนแบบของเด็กจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ ถ้าเด็กให้ความสนใจ ซึ่งอาจจะไม่ใช่พ่อแม่ และถ้าพ่อแม่ไม่ได้มีความสัมพันธ์ที่ดีกับลูกการลอกเลียนแบบก็ไม่เกิด ตรงนี้คือสิ่งที่ผมพยายามย้ำอยู่เสมอว่าต้นแบบที่ดีนั้นมีความสำคัญสำหรับเด็กมาก

รักลูก : เด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีศักยภาพสูงมาก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นวัยที่มีปัญหามากมายเช่นกัน เราจะใช้ทักษะพ่อแม่แก้ปัญหาได้อย่างไรคะ

หมอสุริยเดว :: เอาง่ายๆ นะครับ อย่างตอนนี้แผนงานสุขภาวะเด็กและเยาวชน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดทำแผนงาน ‘เด็กplus’ ขึ้น โดยมีแนวคิดว่า เรื่องอะไรก็ตามที่เป็นสิ่งบวกทั้งในมิติของการคิดและการกระทำของผู้ใหญ่ จะนำเราไปสู่พฤติกรรมของเด็ก นี่คือการใช้ทักษะพ่อแม่ไปสู่กระบวนการแก้ปัญหาและสร้างเสริมสุขภาวะให้เด็กและเยาวชน คือ
1. การมองปัญหาในแง่บวกและมองอย่างเข้าใจ ที่ผ่านมา คนส่วนใหญ่มองว่าวัยเด็กและเยาวชน เป็นวัยที่มีปัญหาเยอะแยะไปหมด
2. การมองเรื่องคุณค่าในชิงบวก เพราะการสร้างเสริมสุขภาพหรือสุขภาวะ ประกอบด้วยกาย ใจ สังคมและจิตวิญญาณ ซึ่งล้วนต้องใช้แนวคิดเชิงบวกทั้งสิ้น
ผมมองว่าเด็กและเยาวชนเป็นวัยที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีศักยภาพสูงที่สุด ขณะที่วัยอื่นอาจมีภาวะซับซ้อนรวมทั้งความไม่ฟรีสไตล์ของวัยผู้ใหญ่ทำให้ความคิดสร้างสรรค์หรือศักยภาพสู้วัยเด็กๆ ไม่ได้ครับ แถมบางครั้งก็เอากรอบความคิดนี้ไปมองเด็ก เลยทำให้รู้สึกว่าเด็กและเยาวชนช่างมีปัญหาเยอะแยะจริงๆ จนไม่รู้จะแก้ตรงไหนก่อน สุดท้ายก็ไปแก้ปลายเหตุด้วยการออกกฎห้ามอย่างเดียว ไม่ได้มองทั้งกระบวนตั้งแต่ต้นจนจบ

หมออุดม :: เรารู้ว่าสมองช่วงก่อนวัยเรียนเจริญเติบโตได้สูงสุด และวงจรสมองเกิดจากการเชื่อมต่อกันของเซลล์สมอง ก็แสดงว่าเราต้องสร้างวงจรเบื้องต้นให้สมบูรณ์ที่สุดในช่วงนี้ โดยเฉพาะช่วงเด็กเล็กซึ่งถือเป็นโอกาสทอง ความรู้จากทฤษฎีดั้งเดิมอย่างเช่นทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของ ซิกมัน ฟรอยด์ และ อีริก อีริกสัน ก็บอกเราว่า ช่วงแรกเกิดถึงช่วงอนุบาลคือช่วงเวลาหล่อหลอมบุคลิกภาพที่สำคัญที่สุด ซึ่งก็ตรงกับทฤษฎีทางประสาทวิทยาศาสตร์ที่บอกว่า ถ้าจะหล่อหลอมเด็กให้เป็นคนสมบูรณ์แบบที่สุดต้องสร้างในช่วงแรกเกิด - 8 ปี เพราะถ้าเลยไปแล้วจะทำอะไรไม่ได้มาก
โดยเฉพาะในเรื่องของ Creativity หรือความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งความหมายของมันก็คือความคิดใหม่ที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ เป็นความคิดที่ไม่เหมือนเดิม ไม่อยู่ในกรอบเดิม แต่ถ้าเมื่อไหร่ก็ตามที่คุณมีกรอบ คือ 1+1=2 มันก็ยังไม่ใช่ความคิดใหม่
เด็กๆ ยังไม่มีกรอบของความคิด จึงสามารถคิดอะไรต่างๆ ได้มากมาย เพราะฉะนั้นถ้าความคิดที่เป็นธรรมชาติของพวกเขาถูกส่งเสริมให้เข้มแข็งขึ้น มันก็จะกลายเป็นบุคลิกภาพของเด็กคนนั้นนั่นเอง ซึ่งจริงๆ มันก็คือวงจรในสมองของเด็กนั่นเอง

รักลูก : บุคลิกภาพและคุณลักษณะแบบไหนที่เด็กไทยควรจะมีคะ

หมอสุริยเดว :: ทักษะสำหรับเด็กเล็กและคุณลักษณะที่ดีด้วยก็คือ
1. ทักษะที่ดีจากพ่อแม่อย่างที่เราคุยกันมาตั้งแต่ต้น ว่าการที่พ่อแม่ปฏิบัติอย่างไร ลูกๆ ก็คงไม่ได้หนีแถวไปเท่าไร ถ้าพ่อแม่รุนแรงโต้ตอบใส่ลูกหรือขี้บ่นใส่ลูกมากๆ ไม่เคยมีคำชื่นชมให้ลูกเลย ลูกก็จะซึมซับสิ่งเหล่านี้ ต่อไปเขาก็จะแสดงออกมา แม้ว่าไม่ได้แสดงต่อหน้าพ่อแม่ก็อาจจะไปแสดงกับผู้อื่นได้
2. ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นการเปิดพื้นที่ให้เด็กได้แสดงคุณค่าในตัวเองขึ้นมา ยิ่งถ้าเป็นเด็กเล็ก ครอบครัวจะมีความหมายมาก เพราะมีส่วนทำให้เด็กเห็นคุณค่าของตัวเอง สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างภาคภูมิใจและมีทักษะชีวิตต่างๆ เกิดขึ้น เช่น ทักษะในการตัดสินใจ เช่น พาลูกวัยเตาะแตะไปเดินซื้อของที่ห้างสรรพสินค้า ก็ทำให้ลูกเห็นได้มากกว่าภาพแม่หยิบของใส่ตะกร้าอย่างเดียว เวลาจะหยิบอะไรขึ้นมา แม่ก็อาจทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็นว่าอันนี้ไม่ปลอดภัย ไม่ซื้อดีกว่า หรือเลือกชิ้นนี้เพราะอะไร การคิดหรือว่าทำให้ลูกเห็น ลูกจะซึมซับวิธีคิดไปด้วย
สิ่งเหล่านี้จะเป็นภูมิคุ้มกันให้เด็ก และจากประสบการณ์การทำงาน ผมพบว่าถ้าเด็กที่มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่แข็งแกร่ง มีโอกาสเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้น้อยมาก แม้จะเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยวก็ตาม

รักลูก : แล้วเราสร้างคุณลักษณะที่ดีให้ลูกได้อย่างไรบ้าง

หมอสุริยเดว :: ถ้าเป็นเด็กทารก เราพบว่าพลังครอบครัวจะมีอิทธิพลที่โดดเด่นมาก ไม่ว่าจะเป็นความรัก ความผูกพัน หรือการสนับสนุนต่างๆ สิ่งเหล่านี้จะสร้างให้เด็กเกิดพลังแห่งตนขึ้นมา
แต่เมื่อเด็กเติบโตขึ้น ปัจจัยอื่นจะเข้ามาแชร์มากขึ้น เช่น เมื่อเข้าสู่วัยรุ่น ที่ไม่ได้มีแต่พ่อแม่ ครอบครัว แต่เขามีสังคม มีเพื่อน มีกิจกรรมอื่นๆ จึงส่งผลให้พลังครอบครัวและพลังแห่งตนในเด็กถูกแบ่งปันส่วนไปสู่พลังอื่นๆ ด้วย
ถ้าครอบครัวสร้างทักษะการอยู่ร่วมกันและสร้างต้นทุนมาดี ถึงแม้ว่าเด็กจะเติบโตขึ้นมาเป็นวัยรุ่น และอยู่ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยปัจจัยเสี่ยง แต่ถ้าต้นทุนดีจริงก็จะเป็นเกราะกำบังให้เขาได้ระดับหนึ่ง แม้ว่าจะหลุดวงโคจรไปบ้าง แต่ก็ดึงกลับได้ไม่ยาก แต่ถ้าพลังภูมิคุ้มกันรวนตั้งแต่ต้น เวลาจะสร้างพลังภูมิคุ้มกันในกลุ่มเยาวชนก็จะยากขึ้นด้วย

รักลูก : จากงานวิจัยของคุณหมอ ตอนนี้ทักษะเรื่องไหนที่พ่อแม่ขาดไม่ได้คะ

หมอสุริยเดว :: ถ้าเป็นเรื่องผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ผมคิดว่าพ่อแม่ไทยผ่ายฉลุยนะครับ เพราะช่วยเหลือดูแลเรื่องการเรียนของลูกเป็นอย่างดี แต่จากการวิจัยที่ผมทำเมื่อปีที่แล้ว พบว่าพ่อแม่ไทยให้คำนิยามไว้ว่า ถ้าลูกฉันเป็นลูกที่เรียนเก่ง ถือว่ามีภูมิคุ้มกันที่แข็งแกร่ง นี่คือนิยามง่ายๆ ของพ่อแม่ไทยเอง
เราพบว่าพ่อแม่ไทยมีจุดอ่อนเกี่ยวกับทักษะพ่อแม่ 5 เรื่อง คือ 1) จิตสาธารณะ 2) ห่างเหินกิจกรรม 3) ขาดความซื่อสัตย์ และอีก 2 ข้อที่พ่อแม่ไทยสอบตกแน่นอน คือ ทักษะในการตัดสินใจโดยคำนึงถึงข้อดี ข้อเสีย และปิยวาจาในครอบครัว
ที่ผมให้ตกเพราะว่าทุกวันนี้พ่อแม่กำลังใช้คำพูดในลักษณะที่จับผิดมากกว่าจับถูก เช่น กลับมาถึงบ้านปุ๊บ “การบ้านเสร็จหรือยังลูก ส่งงานครบหรือเปล่า” แทนที่จะพูดว่า...”วันนี้แม่ดีใจมากเลยที่ลูกมีอะไรดีๆ มาเล่าให้แม่ฟัง” ซึ่ง 2 ข้อท้ายนี้แทบจะขาดหายไปจากสังคมไทยเลยทีเดียว

รักลูก : มีคำกล่าวว่ารักลูกของเพื่อนบ้านให้เหมือนลูกของเรา...คุณหมอมองประเด็นนี้อย่างไรคะ

คุณหมอสุริยเดว :: แม้ว่าลูกจะเป็นเด็กดี มีทักษะชีวิตแล้วก็ตาม แต่ถ้าสิ่งแวดล้อมรอบกายเด็กเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง ก็น่ากลัวว่าสิ่งเหล่านั้นจะดึงให้เขาเขวตามไปได้ ตอนนี้มีนโยบายของรัฐ 2 ข้อ เพื่อจัดการกับเรื่องนี้ คือ ขจัดร้าย ส่งผลให้มีการออกพระราชบัญญัติ กฎกติกา ต่างๆ เพื่อปราบปรามสิ่งที่ไม่ดีเหล่านี้ให้หมดไป รวมทั้งการจัดเรตติ้งรายการทีวีด้วย และขยายดีเมื่อขจัดร้ายได้แล้ว ต้องเพิ่มพื้นที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งทุกฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทำให้ภาพเริ่มปรากฏชัดเจนขึ้น

คุณหมออุดม :: จริงๆ สังคมกับมนุษย์มันมีอิทธิพลต่อกันนะครับ คล้ายกับว่าสังคมก็มีผลกระทบกับมนุษย์ ขณะเดียวกันมนุษย์ก็มีผลกระทบกับสังคม
ตอนนี้คุณหมอสุริยเดวเอาเด็กเป็นตัวตั้ง ในขณะที่สังคมของเด็กจะมีชุมชน มีครอบครัว มีโรงเรียน มีเพื่อน ซึ่งล้วนมีอิทธิพลกับเด็ก แล้วเด็กก็มีอิทธิพลกับสังคม เพราะฉะนั้นถ้าเราจะสร้างคนให้เป็นคนดี มีคุณค่าต่อสังคม เราต้องขจัดสิ่งร้ายแล้วเลือกรับแต่สิ่งที่ดีๆ เข้ามา และสร้างเกราะป้องกันให้กับเด็ก เพื่อให้เขาสามารถปกป้องตัวเองจากบางสิ่งบางอย่างที่อาจเกิดได้ ผมมองว่าที่ผ่านมาเราไปแก้ปัญหากันที่ปลายเหตุ แต่ลืมคิดไปว่าทุกอย่างมันเชื่อมต่อถึงกันหมด

หมอสุริยเดว :: ผมเห็นด้วยกับเรื่องนี้ เพราะสิ่งสำคัญที่จะแก้ปัญหาได้คือพลังในการสร้างภูมิคุ้มกันที่จะทำให้การขยายดีแข็งแกร่งขึ้น พลังที่ว่าคือ
1. พลังแห่งตัวตน คือการมีคุณค่าต่อตัวเอง มีเป้าหมายในชีวิต เด็กย่อมจะมีความภาคภูมิใจ มีจุดยืนที่ชัดเจนต่อทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ถ้าใครหยิบยื่นสิ่งที่ไม่ดีมาก็กล้าที่จะปฏิเสธ กล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ดี มีความซื่อสัตย์ มีวินัยในตนเอง และมีความรับผิดชอบ
2. พลังของเยาวชนและกิจกรรม คือการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามทั้งในและนอกหลักสูตร โดยมีเพื่อนเป็นผู้นำหรือเป็นแบบอย่างที่ดี ชักชวนกันทำในสิ่งที่ดีงาม ก็จะทำให้พลังของเยาวชนเข้มแข็งขึ้น เช่น การออกกำลังกาย การบำเพ็ญประโยชน์เพื่อส่วนรวม เป็นต้น
3. พลังของครอบครัว มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะทั้งความรักความอบอุ่นภายในครอบครัว ตลอดจนการสนับสนุนกิจกรรมทั้งภายในและภายนอก ก็ส่งผลให้เด็กมีพลังสร้างสรรค์และมีความเชื่อมั่นในตนเองขึ้นมาได้
4. พลังของโรงเรียน คือพลังสร้างปัญญาที่เกิดจากความมุ่งมั่นของตัวเด็กและเยาวชนเอง รวมถึงทักษะต่างๆ ซึ่งไม่ใช่แค่ในรั้วโรงเรียน แต่รวมถึงกิจกรรมต่างๆ ที่จะเสริมทักษะปัญญาให้กับตัวเอง เช่น การอ่านหนังสือด้วยตัวเองโดยไม่ได้มาจากภาคบังคับ ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออะไรล้วนมีประโยชน์ได้ทั้งสิ้น รวมไปถึงการมีกิจกรรมอื่นๆ ในการที่จะสร้างสรรค์ปัญญา
5. พลังของชุมชน ซึ่งเป็นพลังที่มีความสำคัญไม่ต่างจากพลังอื่นๆ เพราะเด็กและเยาวชนหรือครอบครัวก็อยู่ในชุมชน เราจึงต้องมองว่าชุมชนมีระเบียบวินัย มีแบบอย่างที่ดีให้เด็กเห็นหรือเปล่า มีการบำเพ็ญประโยชน์ร่วมกันในชุมชน รวมถึงความปลอดภัยในชุมชนด้วย
พลังเหล่านี้สำคัญมากครับ โดยเฉพาะเรื่องคุณค่าของตนเองและการสร้างภาพลักษณ์เชิงบวก เช่น เด็กคนหนึ่งมีโอกาสเข้าไปช่วยเหลือคนอื่น นี่คือการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับตัวเอง เด็กย่อมจะมีความภาคภูมิใจ มีจุดยืนที่ชัดเจนทั้งสิ่งที่ดีและไม่ดี ถ้าใครหยิบยื่นสิ่งที่ไม่ดีมาก็กล้าที่จะปฏิเสธ กล้าที่จะยืนหยัดในสิ่งที่ดี มีความซื่อสัตย์ เพราะตราบใดที่เด็กมองคุณค่าของตัวเองต่ำ สุดท้ายก็จะนำมาสู่พฤติกรรมเสี่ยงได้หลากหลายรูปแบบ

รักลูก : แสดงว่าคนในสังคมก็ต้องมีทักษะความเป็นพ่อแม่ด้วย เพราะถึงจุดหนึ่งเด็กก็ต้องออกไปเจอสิ่งแวดล้อมข้างนอกมากขึ้น และเซลล์กระจกเงาก็ยังคงทำงานอยู่

คุณหมออุดม :: แน่นอนครับ เด็กได้รับอิทธิพลมาจากครอบครัว ขณะเดียวกันครอบครัวก็ได้รับอิทธิพลจากสังคม จากสิ่งแวดล้อม ซึ่งถ้าเราเชื่อว่าการพัฒนาตัวตนของมนุษย์คือการได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม และถ้าเราอยู่ในสังคมที่มีสิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีตลอดเวลา ต่อให้ครอบครัวมีทักษะที่ดีมากขนาดไหน ปัจจัยตรงนี้ก็อาจทำให้เด็กเขวได้เหมือนกัน
จริงๆ ในบ้านเรามีรากเหง้าของจิตสาธารณะอยู่แล้ว เพราะมีโมเดลอันหนึ่งที่เด็กผู้ใหญ่หรือคนในสังคมไทยได้ซึมซับอยู่ตลอดเวลาก็คือ การที่พระเจ้าอยู่หัวทำอะไรต่างๆ มากมายเพื่อคนไทย
แต่จิตสาธารณะอย่างอื่นที่เราเห็นกันอยู่ทุกวันนี้มันตื้น เช่น ถ้าได้บริจาคเงินก็จบ แปลว่ามีจิตสาธารณะแล้ว ซึ่งจริงๆ แล้วจิตสาธารณะมันมีตั้งแต่เสียสละเล็กๆ น้อยๆ จนกระทั่งถึงการสละชีวิตเพื่อสังคม รากฐานมันมาคล้ายๆ กัน แต่เราจะทำอย่างไรให้มันซับซ้อนและลึกซึ้งขึ้น น่าคิดมาก...ครับ แต่เราจะเน้นตัวใดตัวหนึ่งคงไม่ได้ มันต้องทำทั้งหมด ต้องเคลื่อนไปพร้อมกัน

คุณหมอสุริยเดว :: ตรงนี้มันทำให้ผมอดเป็นห่วงอนาคตของเด็กไทยไม่ได้ เพราะประเทศไทยอยากเห็นเด็กเก่งที่ได้เกรดเฉลี่ย 4.00 แต่ไม่เคยคิดจะทำอะไรให้กับสังคม ต่างกับเด็กอีกคนนึง ที่เกรดไม่ได้ดีเด่น แต่พ่อแม่ให้ทักษะการอยู่ร่วมกันในสังคมมาดี เขาจึงมีจิตสาธารณะ รู้จักช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์...ถามว่าเราอยากได้เด็กในแบบไหน?
ผมอยากล้มระบบเอนทรานซ์ เพราะโลกทุกวันนี้มีแต่การแข่งขัน พ่อแม่ฝากลูกเข้าโรงเรียนอนุบาลปุ๊บ ลูกกลับมาถึงบ้านปั๊บก็เริ่มวัดกันแล้วว่าลูกฉันท่อง 1-20 ได้หรือยัง ท่อง ก ไก่ ได้หรือยัง จึงกลายเป็นตัวกัดกร่อน ความรู้รักสามัคคี สมานฉันท์ของประเทศไทย
ลองนึกดู เมื่อเด็กเข้ามาอยู่ในสังคมที่เปรียบเหมือนการวิ่งมาราธอน พอวิ่งหลายรอบเข้าก็จะเหลือเด็กเพียงกลุ่มเดียวที่มีสมรรถนะ เพราะมีน้ำหล่อเลี้ยงดี แต่ยังมีอีกกลุ่มใหญ่ที่วิ่งไม่ได้ วิธีที่จะเรียกความสนใจจากทีวีและคนดูได้ก็คือการสิ่งสวนทาง หรือการพาตัวเองเข้าสู่พฤติกรรมเสี่ยงเพื่อให้สังคมเห็นว่านี่คือพลังของเขา


รักลูก : แปลว่าทางออกคือทำให้มีเส้นชัยที่หลากหลายมากขึ้น

คุณหมอสุริยเดว :: ทำได้อย่างนี้ก็ดีซิครับ เพราะจะทำให้เด็กวิ่งเข้าเส้นชัยหรือไปถึงเป้าหมายได้หลากหลายขึ้น...ถ้าเด็กเป็นอนาคตของชาติ แล้วทำไมต้องแข่งขันทุกเรื่อง สมมุติเราตั้งความต้องการไว้ เช่น ถ้าเด็กต้องการเข้าเรียนคณะแพทยศาสตร์จะต้องมีทักษะด้านนี้ๆ เมื่อเด็กทำได้ ก็ต้องเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องหาที่เรียนให้กับเด็กเหล่านี้ แต่ไม่ใช่วิธีลดที่นั่งให้น้อยลง สุดท้าย ก็ส่งลูกเข้าสู่กระบวนการการกวดวิชา จนไม่ได้เปิดโลกทัศน์ด้านอื่นเลย พ่อแม่จะหลงไปกับการแข่งขันและสร้างกำแพงระหว่างครอบครัวหรือเกทับกัน

คุณหมออุดม :: ทำอย่างไรจึงจะให้พ่อแม่ไทยมองว่าเป้าหมายชีวิตของเด็กคืออะไร เพราะทักษะทุกอย่างที่เด็กได้รับจะแปลงไปได้หมดว่าต้องเรียนเก่ง ต้องเป็นหมอ ต้องเป็นวิศวกร ต้องเป็นอะไรต่างๆ ถ้าเราปรับเป้าหมายชีวิตให้เหมาะสมที่เขาควรจะเป็น ไม่ใช่เป้าหมายเพื่อการแข่งขัน มันน่าจะเป็นตัวหนึ่งที่ทำให้ชีวิตเขาเดินต่อไปได้ เพราะเด็กที่ไม่ได้เข้าเรียนแพทย์ เขาก็รู้ว่ายังมีอย่างอื่นที่เขาจะเลือกเรียนได้

รักลูก: คุณพ่อคุณแม่หลายท่านเชื่อว่าการให้รางวัล จะเป็นแรงจูงใจให้ลูกทำดี จริงมั้ยคะ

คุณหมออุดม :: เรามักคิดว่าการตัดสินใจ การใช้ความคิด ปิยวาจา หรือจิตสาธารณะ เรามักจะคิดว่ามันเป็นเรื่องนามธรรม ต้องสอนด้วยตัวหนังสือ เพราะพ่อแม่เองก็ไม่ค่อยจะมีทักษะ ทั้งที่สามารถทำเป็นแบบอย่างให้ลูกเห็นได้โดยไม่ต้องสอน ไม่ต้องพูดมาก แค่แม่เห็นขยะแล้วหยิบทิ้งลงในถัง พร้อมกับพูดว่า “ใครนะทิ้งขยะไว้เกลื่อนกลาดแถวนี้” เด็กเขามองเห็น เขารู้ และเขาอ่านเจตนาออก เมื่อเด็กเห็นขยะเขาก็จะทำตามตัวอย่างที่เคยเห็นแม่ทำ
แต่พ่อแม่ต้องมีแรงเสริมบวก หรือการให้รางวัลกับเด็กด้วย มีหมอไต้หวันคนหนึ่ง เขาค้นพบว่า แรงเสริมทางบวกหรือแรงจูงใจ ทำให้เซลล์กระจกเงาทำงานแรงขึ้น เพราะฉะนั้นการทำอะไรบางอย่าง แล้วมีสิ่งตอบแทนกลับมาที่ความรู้สึก จะทำให้สมองส่วน Limbic ซึ่งทำหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์และความรู้สึกของคน ทำงานมากขึ้น และจะส่งผลให้เด็กทำเรื่องนั้นซ้ำอีก

รักลูก : คุณหมอบอกอย่างนี้ ไม่กลัวพ่อแม่จะพากันไปหารางวัลให้ลูกกันยกใหญ่หรือคะ

คุณหมอสุริยเดว :: จากประสบการณ์เลี้ยงลูกเอง บอกตรงๆ ว่าเรื่องให้ดาวเป็นรางวัล ผมไม่เคยใช้เลย แต่หลักหนึ่งที่ใช้แน่ๆ คือการโอบกอดเขา ให้คำชื่นชม แต่ต้องย้ำนะครับ ว่าต้องทำด้วยความเต็มใจ และด้วยความรัก ไม่เว่อร์ จึงจะสร้างความภูมิใจให้ลูกได้ เพียงแค่นี้ก็ทำให้เด็กรู้สึกมีกำลังใจแล้วครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นวัตถุเสมอไป ที่สำคัญเราต้องทำอย่างสม่ำเสมอด้วยการใส่หัวใจและความผูกพันลงไป เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่ามันยากต่อการปฏิบัติ

คุณหมออุดม :: รางวัลที่ว่าก็คือความผูกพันเอาใจใส่จากพ่อแม่นั่นแหละครับ หรือแม้แต่การพาไปสัมผัสความดีงามทางใจ เช่น ดนตรี ศิลปะ ธรรมชาติ เพราะถ้าเราใช้วัตถุเป็นกำลังใจ สุดท้ายจะกลายเป็นวัตถุนิยมเหมือนอย่างตอนนี้ได้ เช่น วันเสาร์-อาทิตย์ครอบครัวพากันไปเดินห้าง และบอกว่านี่คือการพักผ่อนหย่อนใจของวิถีชีวิตคนเมือง เด็กเกิดการเรียนรู้จากการเห็นและสัมผัส เมื่อไหร่ก็ตามที่มีเวลาว่างสิ่งที่เขาจะทำคือ ไปเดินห้าง จับจ่ายใช้สอย นี่คือการปลูกฝังค่านิยมผิดๆ โดยไม่ตั้งใจ เช่น มีนัดทานข้าวกับเพื่อน ทุกคนก็จะมองไปที่ห้างสรรพสินค้า ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มที่ใช้วัตถุเป็นเครื่องปลอบใจ แต่หาคุณค่าทางใจไม่ได้

รักลูก : หัวใจของ Mirror Neurons และ Parental Skill คืออะไรคะ

คุณหมออุดม :: สิ่งที่ผมและคุณหมอสุริยเดวพยายามทำในวันนี้คือคำตอบของการเลี้ยงลูกและสร้างอนาคตให้เด็กไทยนะครับ มันอาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด เพราะในอนาคตอาจมีคำตอบใหม่ก็ได้
แต่ในวันนี้ผมคิดว่าการเป็นแบบอย่างที่ดีและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กๆ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องทำและเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมด้วย เพราะถ้าเราอยากมีชีวิตอยู่ในบั้นปลายและแก่อย่างมีคุณภาพ เราต้องช่วยกันหล่อหลอมลูกหลานรุ่นใหม่ให้เติบโตขึ้นมามีคุณลักษณะที่ดีรอบด้าน อย่าคิดว่าเป็นหน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ต้องช่วยกันทำ

คุณหมอสุริยเดว :: ไม่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะมีลูกวัยไหนก็ตาม ลูกคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องทุ่มเทสร้างไม่ใช่ทุ่มทุนสร้าง ผมหมายถึงว่า บางครั้งบางคราวพ่อแม่ต้องยอมเสียสละเวลาและความสุขของตัวเองบ้าง เพื่อเอาเวลาให้กับลูก เพราะทุกวันนี้ที่เด็กติดทีวี ติดเกม เพราะพ่อแม่คิดว่าตัวเองทำงานเหนื่อยและเครียดมาทั้งวัน จึงขอพักผ่อนก่อนแล้วค่อยเล่นกับลูก และบางส่วนก็ทุ่มทุนซื้อของมากมายให้ลูก เพื่อแลกกับเวลา เด็กจำนวนมากต้องอยู่กับทีวีและเกม
ผมไม่อยากให้พ่อแม่หรือใครก็ตามมองเหรียญเพียงด้านเดียว แต่ควรจะมองที่คุณค่าของเด็กบ้าง ถึงแม้เขาจะเป็นเด็กมีปัญหาแต่เขาก็มีส่วนดีเช่นกัน อีกทั้งแรงเสริมบวกมีความจำเป็นที่จะต้องทำให้เด็กและเยาวชนมีกำลังใจในการที่จะลุกขึ้นมาทำสิ่งที่ดีงามครับ
บทสนทนาและคำแนะนำต่างๆ ของคุณหมอจบลงแล้ว แต่ Mirror Neuron และ Parental Skill ที่ถูกเชื่อมโยงให้เห็นภาพชัดในวันนี้ จะยังไม่เกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ จนกว่าคุณพ่อคุณแม่จะนำไปใช้ในการเลี้ยงดูเจ้าตัวน้อยที่บ้าน และเราทุกคนจะร่วมกันทำให้สิ่งแวดล้อมรอบตัวเราน่าอยู่ขึ้น
ถ้าคุณอยากเห็นเจ้าตัวน้อยเป็นแบบไหน...อย่าปล่อยให้เวลาผ่านเลยไปและฝากความหวังไว้ที่คนอื่นเลยนะคะ เพราะนั่นหมายถึงเสี้ยววินาทีที่มีคุณค่าสำคัญของชีวิตลูก ที่กำลังซึมซับ หล่อหลอมบุคลิกและพฤติกรรมของตัวเองอยู่
เพราะเซลล์กระจกเงาของลูกทำงานตลอดเวลา คุณจึงต้องแน่ใจว่ามีทักษะพ่อแม่เพียงพอที่จะเป็นต้นแบบให้ลูกซึมซับสิ่งดีงามนั้นค่ะ


ข้อมูลจากนิตยสาร : ฉบับที่ 301 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551



Create Date : 18 มกราคม 2552
Last Update : 18 มกราคม 2552 23:55:34 น. 0 comments
Counter : 1216 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

zakana7884
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เพื่อนสำคัญเสมอ ฉันจะรักษามิตรภาพระหว่าง
เพื่อนให้ดีที่สุด และคุณคือเพื่อนของฉันในตอนนี้

เกี่ยวกับฉัน..ฉันชอบอ่านหนังสือ ท่องเที่ยว
ท่องโลกอินเตอร์เน็ต แลกเปลี่ยนความคิดเห็น
เพื่อเปิดโลกทรรศในมุมมอง 360 องศา
เมื่อใดที่ฉันว่างเว้นสิ่งอื่นใด ก็จะเข้าสู่สภากาแฟฯ
แห่งนี้ บ้างอ่าน บ้างแสดงความคิดเห็น แล้วแต่
โอกาสจะอำนวยคะ

ขอบคุณโลกออนไลน์ที่ทำให้เราเป็นเพื่อนกันได้

lozocat
free counters
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add zakana7884's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.