หน้าผากสาวอินเดีย


จุดแดงที่แต้มกลางหน้าผากเรียกว่า "ติกะ" (Tika) แต่ในบางครั้งอาจเรียกว่า "บินดิ" (Bindi) ซึ่งหมายถึงจุดที่เจิมบริเวณแสกผม โดยใช้นิ้วป้ายขึ้นไปตามรอยแสกผม ปัจจุบันจุดบนหน้าผากสตรีอินเดีย อาจเรียกปนกันทั้ง ติกะ และ บินดี
สตรีในศาสนาพราหมณ์ฮินดูแต่โบราณนานมา เมื่อแต่งงานแล้วจะแต้มจุดแดงที่กลางหน้าผาก เป็นสัญลักษณ์ของการมีพันธะด้านการครองเรือน ในฐานะผู้เป็นภรรยา ผู้เป็นแม่ สตรีอินเดียถือสามีเสมือนเทพ จะให้ความรักความเคารพอย่างสูง การเจิมหน้าผากจะทำในวันแต่งงาน เมื่อคู่บ่าวสาวเดินรอบกองไฟแล้ว พราหมณ์ผู้ประกอบพิธีวิวาห์ หรือผู้เป็นเจ้าบ่าวจะเจิมหน้าผากให้เจ้าสาว เป็นการประกาศว่าหญิงผู้นั้นเป็นภรรยาอย่างถูกต้องตามประเพณี
สตรีชาวอินเดียจะต้องมีจุดนี้อยู่ตราบที่สามียังมีชีวิตอยู่ และจะต้องลบออกเมื่อสามีเสียชีวิต

ในกรณีที่เลิกร้างกัน สตรีผู้นั้นจะลบจุดออกได้ต่อเมื่อเป็นการเลิกร้างโดยคำสั่งของศาล
หากสตรีผู้นั้นลบจุดติกะออกโดยที่สามียังมีชีวิตอยู่ หรือไม่ได้เลิกกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
จะถือว่าเป็นการกระทำสิ่งที่สังคมไม่ยอมรับ
โดยทั่วไปจุดสีแดงนี้จะทำจากมูลวัวที่นำมาเผาและบดจนละเอียด
แล้วผสมกับสีแดงชาดที่ได้จากรากไม้ มูลวัวไม่ถือว่าเป็นของสกปรก
เพราะวัวเป็นพาหนะของพระเจ้า และกินพืชเป็นอาหาร
ผงสีนี้เรียกว่า "ผงวิภูติ" มีจำหน่ายตามร้านค้า ผงนี้อาจมีการนำไปทำพิธีก่อนนำมาใช้ก็ได้

ลักษณะของจุดติกะมีหลายแบบ เดิมนิยมจุดกลม คนที่ยังสาวจะนิยมจุดเล็กเพราะสวยงามกว่า
แต่พออายุมากขึ้นอาจแต้มจุดให้ใหญ่ขึ้น ปัจจุบันมีรูปแบบจุดอื่น ๆ เช่น รูปคล้ายหยดน้ำ
หรือเป็นวงกลมและมีรัศมีโดยรอบเหมือนดวงอาทิตย์
ปัจจุบันติกะพัฒนารูปแบบไปมากทั้งรูปทรงและสีสัน บางทีก็ทำเป็นสติกเกอร์เพื่อสะดวกใช้
มีข้อสังเกตว่า ในบางครั้งจุดติกะอาจไม่ใช่สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานเพียงอย่างเดียว
ติกะถือว่าเป็นสิ่งมงคล ชาวอินเดียบางกลุ่มจะใช้ในโอกาสอื่น ๆ เช่นเวลาไหว้พระ
พราหมณ์จะให้ผงวิภูติ ผู้รับจะนำมาเจิมเพื่อเป็นสิริมงคล แต่ก็เป็นการเจิมเพียงชั่วคราวเท่านั้น
คนที่ไม่เข้าใจวัฒนธรรมอินเดียมักเข้าใจว่า
จุดแดงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นชาวอินเดีย
จึงมักแต้มจุดแดงเวลาที่แต่งกายเป็นชาวอินเดีย เช่นนางเอกในละคร
แม้ยังเป็นสาวเป็นแส้ ก็แต้มจุดแดงกับเขาด้วย
นี่เป็นเรื่องของการนำมาใช้โดยไม่ศึกษาให้ถ่องแท้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจุดแดงจะเป็นวัฒนธรรมของพวกพราหมณ์ฮินดู
แต่สตรีชาวอินเดียที่แต่งงานแล้ว และไม่ใช่ชาวฮินดูแท้ ๆ อาจรับวัฒนธรรมนี้ไปใช้
ในชาวอินเดียบางกลุ่ม สัญลักษณ์ของสตรีที่แต่งงานแล้ว
อาจเป็นการห้อยสายสร้อยสังวาลมงคล ซึ่งสามีมอบให้
ที่มา 108 ซองคำถาม
//klongthum.blogspot.com/2011_05_01_archive.html
-----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------




Create Date : 13 มิถุนายน 2556
Last Update : 13 มิถุนายน 2556 19:23:53 น.
Counter : 4722 Pageviews.

2 comment
คำสอนและการแบ่งยุคสมัยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

การแบ่งยุคสมัยของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู แบ่งตามวิวัฒนาการตามลำดับเหตุการณ์ ได้ดังนี้คือ

(1) สมัยอริยกะ ระยะเวลาประมาณ 950 ปีก่อนพุทธกาล
(2) สมัยพระเวท ระยะเวลาประมาณ 957-475 ปีก่อนพุทธกาล
(3) สมัยพราหมณ์ ระยะเวลาประมาณ 257 ปีก่อนพุทธกาล-พ.ศ. 43
(4) สมัยฮินดูเก่า (ฮินดูแท้) และ สมัยอุปนิษัท ประมาณ 57 ปีก่อนพุทธกาล-ต้นพุทธกาล
(5) สมัยสูตร ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.60-พ.ศ.360
(6) สมัยอวตาร ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.220-พ.ศ.660
(7) สมัยเสื่อม ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.861-พ.ศ.1190
(8) สมัยฟื้นฟู ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.1200-พ.ศ.1740
(9) สมัยภักติ ระยะเวลาประมาณ พ.ศ.1740-พ.ศ.2300

คำว่า ฮินดู แปลว่า ธรรมที่สอนลัทธิอหิงสา ตรงกับคำว่า หินทู ที่มีความหมายว่า ผู้ละเว้นหิงสากรรม

หรือมีความหมายอีก 2 นัยคือ

(1) เป็นคำที่ชาวอารยันที่อพยพเข้าไปอยู่ในดินแดนที่เรียกว่าเปอร์เซียสมัยโบราณ
เรียกพวกอารยันที่อพยพเข้าไปตั้งถิ่นฐานอยู่ในบริเวณ ลุ่มแม่น้ำสินธุของอินเดีย

(2) เป็นคำที่ใช้เรียกลูกผสมระหว่างชาวอารยันกับพวกพื้นเมืองเดิมของชมพูทวีป



สมัยอริยกะ

เป็นสมัยที่พวก อารยัน (อริยกะ) เริ่มอพยพเข้าสู่อินเดียทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ (ตอนเหนือของลุ่มแม่น้ำสินธุ) เข้าปะปนกับคนพื้นเมืองเจ้าของถิ่นเดิมของอินเดีย คือพวก มิลักขะ หรือ ทราวิท

ทั้งพวก อริยกะ และพวก มิลักขะ ต่างมีศาสนาเดิมของตนอยู่ก่อนแล้ว กล่าวคือ พวกมิลักขะนับถือธรรมชาติ คือ ดิน น้ำ ลม ไฟ เชื่อว่าธรรมชาติทั้ง 4 เป็นเทพเจ้า ประทับอยู่บนสวรรค์บน ภูเขาพระสุเมรุ มีพิธีบวงสรวงเทพเจ้าด้วยไฟ เพราะเชื่อว่าควันไฟที่ลอยขึ้นสู่เบื้องบนนั้น เป็นสื่อนำความประสงค์ของผู้สังเวยไปให้เทพเจ้าทราบ

ศาสนาเดิมที่พวกอริยกะนับถืออยู่ก่อนอพยพเข้าอินเดีย ได้แก่การนับถือธรรมชาติและวิญญาณบรรพบุรุษ ธรรมชาติที่พวกอริยกะนับถือว่าเป็นเทพเจ้า ได้แก่ เทพผู้บันดาลสิ่งทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้นในโลก คือ "อินทร์" เทพผู้ให้ความร้อนและแสงสว่าง คือ "สาวิตรี" เทพผู้ให้ ความเย็นความชุ่มชื้น คือ "วรุณ" และเทพผู้ทำลายชีวิตมนุษย์และสัตว์ คือ "ยม" หรือ "มฤตยู"

ต่อมาพวกอริยกะทำสงครามชนะพวกพื้นเมืองและขณะมีอำนาจในการปกครอง ได้ปรับเทพเจ้าที่ตนนับถือเข้ากับเทพเจ้าของพวกมิลักขะ โดยสร้างเทพเจ้าอัคนีขึ้นมาใหม่แต่ให้อยู่ในฐานะบริวารของสาวิตรี เพื่อให้พวกพื้นเมืองเดิมสำนึกตนอยู่เสมอว่า อยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของพวกอริยกะ



สมัยพระเวท

ในสมัยนี้พวกอริยกะได้สร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่อีกหลายองค์ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มด้วยกัน คือ เทพเจ้าแห่งสวรรค์ เทพเจ้าแห่งท้องฟ้า และเทพเจ้าแห่งพื้นพิภพ และพิธีบูชาเทพเจ้าก็เปลี่ยนไปจาก "พลี" เป็น "บูชายัญ" ด้วยชีวิตสัตว์ มีการถวายเครื่องดื่มเรียกว่า "น้ำโสม" พร้อมนมเนยและมีบทสวดขับสำหรับพิธีบูชาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

ต่อมาสังคมของพวกอารยันเริ่มมั่นคงและขยายตัวกว้างขวางใหญ่ขึ้น มีการแบ่งชนชั้นเป็น 3 สถานภาพ คือ นักบวช นักรบ และ เกษตรกร ในชนชั้นทั้ง 3 สถานภาพนี้ นักบวช ได้รับความเคารพนับถือมากที่สุด เพราะเป็นผู้มีหน้าที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา

นักบวชนี้แบ่งออกเป็น 3 พวกทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน คือ

- พวกที่หนึ่งทำหน้าที่บูชาเทพเจ้า
- พวกที่สองทำหน้าที่ สวดขับกล่อม และ
- พวกที่สามทำหน้าที่จัดพิธีกรรมตามลัทธิ

นอกจากนี้ยังมีพราหมณ์อีกพวกหนึ่งเรียกว่า "พรหมา" เป็นผู้เชี่ยวชาญในการประกอบพิธีกรรม ทำหน้าที่ควบคุมการบูชายัญให้ถูกต้องตามคัมภีร์พระเวทอีกด้วย

ยุคนี้ได้ชื่อว่า "สมัยพระเวท" เพราะปลายยุคนี้พวกพราหมณ์ได้ประมวลบทสวดขับต่างๆขึ้นเป็นหมวดหมู่ ทำให้เกิดตำรา(คัมภีร์)ทางศาสนาฉบับแรกขึ้น คัมภีร์ดังกล่าวมีชื่อเรียกว่า "ฤคเวท" ประกอบด้วยคำฉันท์ สำหรับอ้อนวอนและสรรเสริญพระเจ้า คำสวดขับกล่อม สำหรับพิธีถวายน้ำโสม และโศลกผสมร้อยแก้ว อธิบายวิธีประกอบพิธีกรรมบวงสรวงพระเจ้า คัมภีร์ฤคเวทนี้พราหมณ์อธิบายว่า ได้มาจากเสียงทิพย์(ศรุติ) จากโอษฐ์ของเทพเจ้าองค์ใหม่ที่พวกพราหมณ์สร้างขึ้นและให้ชื่อว่า "พรหม" พระพรหมที่พราหมณ์กำหนดขึ้นใหม่นี้ พราหมณ์อธิบายว่าทรงเป็นเทพเจ้าผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์และเป็นบรรพบุรุษของพราหมณ์



สมัยพราหมณ์

เป็นสมัยที่พวกอารยันแผ่อำนาจครอบครองอินเดียภาคเหนือได้ทั้งหมด กำเนิดแคว้นต่างๆแต่ละแคว้น มีพระราชาปกครองเป็นอิสระไม่ขึ้นแก่กัน ส่วนพวกคนพื้นเมืองเดิมที่ต้องตกอยู่ในอำนาจปกครองของพวกอารยันนั้นถูกเรียกว่า "ทัสยุ" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของคำว่า "ทาส" ในเวลาต่อมา

พวกอารยันสมัยนี้เชื่อในเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าและการทำพลีบูชาเทพเจ้าว่า

1. ถ้าประกอบพิธีกรรมอย่างถูกต้องจนเป็นที่พอพระทัยของเทพเจ้าแล้ว เทพเจ้าจะเมตตาประทานพรให้สมปรารถนาที่ขอ
2. ผู้ประกอบพิธีกรรมด้วยความมานะพากเพียรยิ่งจนถึงที่สุด อาจเปลี่ยนสถานภาพจากมนุษย์ธรรมดาเป็นเทพเจ้าได้

ความเชื่อประการแรก ทำให้นักบวชพราหมณ์กลายเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในจิตใจประชาชน สมัยนี้จึงได้ชื่อว่าเป็นสมัยพราหมณ์ เพราะเป็นสมัยที่พราหมณ์ได้รับความยกย่องอยู่ในฐานะ สูงสุดยิ่งกว่าพระราชา

ความเชื่อประการที่สอง ทำให้เกิดค่านิยมว่าผู้ประพฤติพรหมจรรย์ย่อมมีโอกาสยกฐานะของตนเทียบเท่าพระราชาหรือยิ่งกว่าได้ เป็นเหตุให้มีผู้สละทรัพย์สมบัติและครัวเรือนออกบวช ทำให้เกิดเจ้าลัทธิใหม่เพิ่มขึ้น

งานสำคัญที่พราหมณาจารย์สมัยนี้สร้างขึ้น ได้แก่

1. กำหนดพิธีกรรมต่างๆทางศาสนาทั้งของพระราชาและประชาชนที่มีระเบียบแบบแผน อันยุ่งยากและซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น พิธีราชสยะ (ราชาภิเษก) พิธีอัศวเมธ (ปล่อยม้าอุปการ) และ พิธีบุรุษเมธ (บูชายัญมนุษย์) เป็นต้น

2. ปรับปรุงเรื่องราวเกี่ยวกับเทพเจ้าใหม่ คือ กำหนดให้พระพรหมเป็นเทพเจ้าสูงสุด และอธิบายสภาวะของเทวดาว่า เดิมต้องตายเช่นเดียวกับพวกมนุษย์ แต่ภายหลังพวกเทวดาได้กระทำพิธีบำเพ็ญตบะและพิธีพลีบูชาพระพรหม พระพรหมจึงประทานความเป็น อมตะ (อมร) ให้

3. สร้างเทพเจ้าขึ้นใหม่อีก 2 องค์ คือ พระศิวะ (เทพแห่งภูเขา) และ พระวิษณุ (เทพแห่งทะเลและมหาสมุทร)

4. สร้างคัมภีร์ใหม่ 2 คัมภีร์ คือ คัมภีร์อรัณยกะ เป็นคู่มือสำหรับผู้สละบ้านเรือนออกบวชเป็นฤาษี และ คัมภีร์อาถรรพเวท ประกอบด้วยคาถาอาคมต่างๆสำหรับเสกเป่าเพื่อทำลาย สิ่งอัปมงคล สร้างสวัสดิมงคล และนำความชั่วร้ายไปสู่ศัตรู คัมภีร์นี้สร้างขึ้นเพื่อปลูกฝัง ความเลื่อมใสในศาสนาพราหมณ์ให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เพราะปลายยุคนี้ศาสนาพราหมณ์ต้องเผชิญหน้ากับพุทธศาสนา ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ

5. เกิด โรงเรียน สำหรับนักบวชพราหมณ์นิกายต่างๆ ผลของการศึกษาที่ขยายตัวออกไปในสมัยนี้ ทำให้เกิดลัทธิพราหมณ์นิกายต่างๆเพิ่มขึ้นอีกมากมาย และแต่ละนิกายต่างก็แข่งขันกันสร้างคัมภีร์ของตนเองขึ้นโดยเฉพาะ

6. เกิดการ แบ่งชั้นวรรณะ ของบุคคลในสังคมออกเป็น 4 วรรณะใหญ่ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ และ ศูตร วรรณะสุดท้ายนี้ได้แก่พวกมิลักขะซึ่งเป็นคนพื้นเมืองดั้งเดิมทั้งหมด พราหมณ์อธิบายไว้ในคัมภีร์พระเวทว่า พระพรหมผู้ทรงสร้างมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นเพื่อสันติในการอยู่ร่วมกันของมนุษย์
ทรงสร้างบุคคลวรรณะ พราหมณ์ (นักบวช) จาก พระโอษฐ์
สร้างวรรณะ กษัตริย์ (นักปกครอง) จาก พระพาหา
สร้างวรรณะ แพศย์ (พ่อค้าประชาชนทั่วไป) จาก พระโสณี (ตะโพก)
และสร้างวรรณะ ศูตร (กรรมกร แรงงาน) จาก พระบาท



สมัยฮินดูเก่า (สมัยฮินดูแท้)

สมัยนี้เป็นสมัยแรกที่กำเนิด ปรัชญา ซึ่งถือได้ว่าเป็นแก่นแท้ของศาสนาพราหมณ์ ซึ่ง พราหมณาจารย์ทั้งหลายเป็นผู้คิดขึ้น และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้เองที่ลัทธิศาสนาซึ่งมีชื่อเดิมว่าศาสนาพราหมณ์ได้กลายมาเป็นศาสนาฮินดู

ความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดจากผลงานของบรรดาพราหมณาจารย์สมัยนี้มีดังนี้

1. มีการกำหนดความสำคัญของเทพเจ้าต่างๆกันใหม่ตามความนิยมของสังคม

2. พราหมณาจารย์ทั้งหลายร่วมมือกันปรับปรุงลัทธิศาสนาของตนให้ได้รับความนิยมจากประชาชน
และช่วยกันเผยแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง

3. สถานศึกษาของนักบวชพราหมณ์ได้รับการพัฒนาให้เจริญมากขึ้น ศูนย์กลางสำคัญอยู่ที่ตักศิลา
ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของบรรดาคณาจารย์ทั้งหลายที่เรียกว่า "ทิศาปาฏิโมกข์"

4. มีการปรับปรุงปรัชญาและแนวคิด คือ
4.1 มีการเพิ่มเติมคำอธิบายเกี่ยวกับลักษณะของ พรหม ให้ชัดเจนยิ่งขึ้น คืออธิบายว่า พระเจ้าที่แท้จริงมีแต่พรหมองค์เดียวเท่านั้น พรหมเป็นสิ่งที่มีอยู่ เป็นสิ่งเที่ยงแท้ แต่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตา

4.2 มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสภาพต่างๆกันเพราะ กรรมเก่า (ซึ่งหมายถึงการกระทำทั้งดีและชั่ว) พรหมเป็นศูนย์รวมและเป็นต้นกำเนิดแห่งวิญญาณทั้งปวง สิ่งมีชีวิต ทั้งหลายล้วนถือกำเนิดมาจากพรหม จึงมีวิญญาณซึ่งแบ่งแยกมาจากพรหมสิงสถิตอยู่ วิญญาณทุกดวงที่แยกออกมาจากพรหม อาจเข้าสิงสถิตในร่างของเทวดา มนุษย์ สัตว์ หรือพืชก็ได้ ทุกครั้งที่ร่างเดิมแตกดับจากสภาพใดสภาพหนึ่งไปอุบัติในร่างใหม่ เรียกว่า "ภพหรือชาติหนึ่ง" ตราบใดที่ยังต้องเวียนว่ายตายเกิดไม่ว่าจะเกิดเป็นอะไรก็ตาม คงต้องผจญกับความทุกข์เรื่อยไป เมื่อไรวิญญาณหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด (เรียกว่าโมกษะ) วิญญาณดวงนั้นจะกลับไปรวมกับพรหมเช่นเดิม

4.3 ผู้ใดยุติการกระทำกรรมทั้งกรรมดีและกรรมชั่ว ผู้นั้นย่อมหลุดพ้นจากการเกิด

4.4 โลกที่พรหมสร้างมีกำหนดอายุขัย เมื่อครบกำหนดอายุขัยจะมีการล้างโลกแล้วสร้างโลกขึ้นใหม่ ระยะเวลานับแต่สร้างโลกจนถึงล้างโลก เรียกว่า "กัลป์" หนึ่ง 1 กัลป์แบ่งเป็น 4 ยุค คือ กฤตยุค เตรตายุค ทวาปรยุค และ กลียุค ยุคทั้ง 4 รวมกันเรียกว่า "มหายุค" แต่ละยุคเวลาจะสั้นลงตามลำดับ พร้อมกันนั้นความดีงามของโลกก็ลดลงตามลำดับเช่นกัน

5. กำหนดการศึกษาภาคบังคับ
ก่อนเริ่มการศึกษานักบวชพราหมณ์จะทำพิธีเสกเป่ามนตร์และคล้องเส้นด้ายมงคลอันศักดิ์สิทธิ์ เรียกว่า "สายธุรำ" เฉวียงบ่า
พิธีนี้เรียกว่า "ยัชโญปวีต" ผู้ผ่านการทำพิธีดังกล่าวแล้วถือว่าเป็นผู้เกิดใหม่อีกครั้ง เรียกว่า "ทวิช"



สมัยอุปนิษัท

เป็นสมัยแห่งความพยายามคิดค้นเพื่อแสวงหาทางหลุดพ้นจากภาวะเวียนว่ายตายเกิด
มีเจ้าลัทธิที่มีความเชื่อแตกต่างกันเกิดขึ้น 4 พวก คือ

(1) พวกที่เชื่อผลแห่งญาณคือความรู้แจ้ง
(2) พวกที่เชื่อผลของการทำพิธีพลี บูชายัญ
(3) พวกที่เชื่อผลของการบำเพ็ญตบะทรมานกายและจิต, และ
(4) พวกที่เชื่อว่าสิ่งที่เป็นรูปธรรมทั้งปวงคืออุปสรรคสกัดกั้นมิให้จิตเข้าถึงจุดหมายซึ่งเป็นนามธรรม และเชื่อว่าการที่จะหลุดพ้นจากภาวะการเวียนว่ายตายเกิดนั้น ต้องปฏิบัติด้วยตนเอง

สมัยนี้พราหมณ์ได้สร้างคัมภีร์อุปนิษัทว่าด้วย ลัทธิปรมาตมัน และ หลักโมกษะ ขึ้น คัมภีร์อุปนิษัทที่เกิดขึ้นในสมัยนี้
ได้ใช้เป็นตำราเรียนภาคสุดท้ายสำหรับนักบวชพราหมณ์ต่อจากพระเวท
คัมภีร์ "อุปนิษัท" จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "เวทานตะ" (แปลว่า-ที่สุดแห่งพระเวท)

สำหรับปรัชญาธรรมคำสอนในคัมภีร์อุปนิษัทนี้มีว่า : ความจริงแท้หรือความจริงอันสูงสุดที่เรียกว่า อันติมสัจจะของโลกและจักรวาลนั้นมีสิ่งเดียวคือ พรหมัน หรือ ปรมาตมัน ซึ่ง ปรมาตมันนั้นคือ วิญญาณสากล อันเป็นศูนย์รวมของวิญญาณย่อยทั้งหลายที่เรียกว่า อาตมัน หรือ ชีวาตมัน ในโลกนี้ วิญญาณสากลคือปรมาตมันนี้เป็นความจริงแท้ เป็นความจริงอันสูงสุด ไม่มีเพศ ไม่มีตัวตน มีอยู่ในทุกสิ่งทุกอย่าง มีอยู่ในทุกหนทุกแห่ง เป็นอมตภาพ วิญญาณที่ไม่มีวันดับสลาย ไม่มีเบื้องต้นและไม่มีเบื้องปลาย จึงไม่มีที่สิ้นสุดเป็นอยู่ชั่วนิรันดร เป็นที่เกิด เป็นที่รักษาและเป็นที่กลับมารวมอยู่ของสรรพวิญญาณทั้งหลายในสากลโลกนี้

ดังนั้น ปรัชญาธรรมในคัมภีร์อุปนิษัทนี้จึงเน้นหนักอยู่ที่การศึกษาและการปฏิบัติต่อตนเองให้รู้จักและเข้าใจ ให้เห็นตัวเอง หรืออาตมันนั้นอย่างถ่องแท้ ให้รู้เห็นอย่างชัดเจนว่า อาตมันคือตัวตน และนั้นก็คือพรหมัน เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพรหมัน แล้วต้องพาวิญญาณคืออาตมันนั้นเข้าภาวะแห่งพรหมันหรือโมกษะนั้นให้ได้ในที่สุด

ปลายยุคนี้พราหมณ์ชื่อ "ฤาษีวาลมิกิ" ได้ร้อยกรองวรรณกรรมเรื่อง รามายณะ ขึ้น
และพราหมณ์ชื่อ "ฤาษีกฤษณะไทวปายนะ" ก็ได้ร้อยกรองวรรณกรรมเรื่อง ภารตะ ขึ้น
ซึ่งภายหลัง พระราม และ พระกฤษณะ ตัวเอกของวรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ได้เข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำคัญในลัทธิศาสนานี้ด้วย



สมัยสูตร

ในสมัยนี้วรรณกรรมเรื่อง "ภารตะ" ได้รับการแต่งต่อเพิ่มเติมจนกลายเป็น "มหาภารตะ"
และพราหมณ์ได้จัดทำตำราเรียนสำหรับกุลบุตรพราหมณ์ใช้ศึกษาในโรงเรียนขึ้น ตำราดังกล่าวเป็นบทสรุป (สุตตะหรือสูตร) ของพระเวททั้งหมด เรียกว่า "เวทางค์" แปลว่าองค์แห่งพระเวท จำแนกออกเป็น 6 สาขาวิชา คือ ศึกษาศาสตร์ (ว่าด้วยการออกเสียง) กัลปศาสตร์ (ว่าด้วยพิธีกรรมและขนบธรรมเนียมประเพณี) ไวยากรณศาสตร์ (ว่าด้วยหลักภาษา การแปลและตีความ) นิรุกติศาสตร์ (ว่าด้วยที่มาและความหมายของศัพท์ที่ใช้ในพระเวท) ฉันทศาสตร์ (ว่าด้วยการประพันธ์บทร้อยกรอง โศลกและฉันท์) และ โชยติสศาสตร์ (ว่าด้วยดาราศาสตร์และโหราศาสตร์)



สมัยอวตาร

เป็นสมัยที่เกิดเหตุการณ์จลาจลในอินเดียต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน สาเหตุเนื่องมาจากการชิงอำนาจกันเองภายในประเทศ และถูกศัตรูจากภายนอกประเทศรุกรานผลัดเปลี่ยนกันเข้าครองอินเดีย หากพวกใดได้เป็นใหญ่ก็จะฟื้นฟูศาสนาที่ตนนับถือขึ้นมาในสมัยของตน ศาสนาฮินดูเองก็แตกแยกออกเป็นนิกายต่างๆมากมาย สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้ศาสนาฮินดูเสื่อมโทรมลงมาก พราหมณาจารย์จึงปรับปรุงลัทธิศาสนาของตนเสียใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น

สิ่งที่ปรับปรุงในสมัยนี้ที่นับว่าสำคัญ ได้แก่

1. เกี่ยวกับเทพเจ้า พราหมณ์ได้สร้างเรื่องอวตาร ซึ่งหมายถึงการแบ่งภาคมาเกิดของ เทพเจ้าสูงสุดแห่งลัทธิศาสนาฮินดู เพื่อรวมเทพเจ้าที่เกิดขึ้นใหม่หลายองค์มาขึ้นกับพรหมซึ่งเป็นเทพสูงสุดของพราหมณ์

2. เกี่ยวกับปรัชญาชีวิต สมัยนี้มีนักคิดเจ้าลัทธิให้กำเนิดปรัชญาสำคัญๆ 6 ลัทธิ พราหมณ์ได้รับปรัชญาทั้งหกนี้เข้ามาไว้ในศาสนาของตนเรียกว่า "ษัททรรศนะ" "ศาสตร์ทั้งหก" "ทรรศนะหก" หรือ "ปรัชญาหก"

3. มีการเพิ่มเติม ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงและรวบรวมกฎวินัย (เรียกว่า "ธรรม") สำหรับบุคคลแต่ละวรรณะประพฤติปฏิบัติลงเป็นลายลักษณ์อักษร ทำให้เกิดคัมภีร์ซึ่งต่อมาถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดของกฎหมายโลก เรียกว่า "มนูธรรมศาสตร์"

4. มีการร้อยกรองวรรณกรรมเรื่อง "รามายณะ" และ "มหาภารตะ" เพิ่มเติม โดยเฉพาะส่วนที่เพิ่มเติมในเรื่องมหาภารตะ สมัยนี้เป็นต้นกำเนิดของคัมภีร์สำคัญอีกฉบับหนึ่งคือ "คัมภีร์ภควัทคีตา" แปลว่าบทเพลงของพระเจ้าผู้ควรบูชา (คือพระกฤษณะ) สาระสำคัญของ ภควัทคีตา ได้แก่ ธรรมปฏิบัติที่จะช่วยให้ผู้ครองเรือนสามารถบรรลุความดีสูงสุดได้โดยมิต้องออกบวช (สอนให้ประกอบแต่ความดีและละทิ้งความปรารถนาอันเป็นต้นเหตุให้เกิดกรรม) อย่างไรก็ตาม วรรณกรรมทั้งสองเรื่องนี้ในที่สุดก็ได้กลายเป็นคัมภีร์ทั้งคู่ รวมเรียกว่า "คัมภีร์อิติหาส" หมายถึง เรื่องราวของวีรบุรุษ



สมัยเสื่อม

สมัยนี้ได้ชื่อว่าเป็นยุคเสื่อมของศาสนาฮินดูเพราะเป็นสมัยที่ลัทธิศาสนาฮินดูแตกแยกเป็นนิกายต่างๆมากมาย
แต่ละนิกายมีข้อปฏิบัติเสื่อมทรามลงกว่าเดิมมาก โดยเฉพาะนิกายใหญ่ที่สำคัญ 2 นิกาย คือ นิกายที่นับถือ พระศิวะ เป็นใหญ่เรียกว่า "ไศวะนิกาย" กับนิกายที่นับถือ พระวิษณุ เป็นใหญ่เรียกว่า "ไวษณพนิกาย" ต่างสร้างประวัติยกย่องเทพเจ้าฝ่ายตนเลิศเลอและดูหมิ่นเหยียดหยามเทพเจ้าของอีกฝ่ายหนึ่ง และนับเป็นสมัยเสื่อมแห่งพระพรหม

แต่ท่ามกลางความเสื่อมเหล่านั้น ได้มีสิ่งสำคัญเกิดขึ้น นั่นคือ กำเนิดเครื่องหมายอันเป็นสัญลักษณ์ของศาสนานี้ ซึ่งมีที่มาจากกำเนิดของ ตรีมูรติ คือ เทพสูงสุดทั้งสาม เครื่องหมายดังกล่าวได้แก่อักษรเทวนาครีซึ่งมีคำอ่านว่า "โอม" และมีวรรณกรรมที่เกี่ยวกับศาสนาฮินดูเล่มหนึ่งซึ่งนับว่ามีความสำคัญมากได้แก่วรรณกรรมชื่อ "ปุราณะ"



สมัยฟื้นฟู

ที่เรียกสมัยนี้ว่าสมัยฟื้นฟูเพราะเป็นสมัยที่ พุทธศาสนา ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ ศาสนาฮินดู เริ่มเสื่อมสูญจากอินเดีย แต่ศาสนาฮินดูกลับได้รับการอุปถัมภ์ บรรดาเจ้าลัทธิทั้งหลายในศาสนาฮินดูพยายามทุกวิถีทางที่จะสร้างความมั่นคงถาวรและเผยแผ่ลัทธิศาสนาของตนออกไปให้ แพร่หลายมากที่สุด โดยเฉพาะในหมู่คนพื้นเมืองเดิม พร้อมกับพยายามกีดกันศาสนาพุทธและศาสนาเชนไม่ให้มีโอกาสกลับมาเป็นคู่แข่งได้อีก

การปรับปรุงและความเปลี่ยนแปลงสำคัญของศาสนาฮินดูที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ คือ

- มีการปรับปรุงแก้ไขคัมภีร์เก่าให้ชัดเจนเหมาะสมทันสมัยและสมเหตุสมผลยิ่งขึ้น

- มีการแต่งกวีบทสวดอ้อนวอนด้วยคำประพันธ์
(ฉันท์หรือกาพย์) อันไพเราะเป็นภาษาทมิฬ (ภาษาของคนพื้นเมืองเดิม) ออกทำการเผยแผ่ลัทธิของตนแก่มหาชนอย่างกว้างขวาง

- มีการกำเนิดลัทธิความเชื่อใหม่ 2 ลัทธิ ได้แก่
ลัทธิศักติ คือ การบูชาเทพเจ้า ฝ่ายหญิงที่เป็นชายาของเทพเจ้าที่นับถือสูงสุด เช่น
พระอุมาเทวี ชายาพระศิวะ
พระลักษมี เทวีชายาพระวิษณุ
พระสุรัสวดี ชายาพระพรหม
และ ลัทธิภักติ หรือการบูชาพระภควานหรือพระผู้ควรบูชา ความภักดีนี้จะแสดงต่อเทพเจ้าองค์ใดที่ตนนับถือก็ได้

- มีการก่อสร้างเทวสถานใหญ่โต
ประดับประดาอย่างวิจิตร เกิดขึ้นตามนครใหญ่ๆทั่วไป
มีการนำเทวรูปออกแห่แหนด้วยกระบวนการแห่ซึ่งเริ่มนิยมกระทำกันในสมัยนี้

- เกิดลัทธิค่านิยมยกย่องหญิงหม้ายที่ยอมเผาตัวตายพร้อมศพสามีว่าเป็นผู้กล้าหาญ
และเป็นหญิงที่ประเสริฐเกิดขึ้นอีกด้วย
หญิงที่ยอมเผาตัวตายพร้อมพิธีศพสามีนี้เรียกว่า "สตี" (แปลว่าดี) มาจากพระนามของ พระนางสตี ผู้เผาตัวอุทิศแด่พระศิวะ
ค่านิยมดังกล่าวเป็นต้นกำเนิดของประเพณีเผาตัวตายตามสามีที่เรียกว่า "พิธีสตี"



สมัยภักติ

ลัทธิภักติได้เจริญขึ้นในอินเดียภาคเหนือ อันมีพระวิษณุเป็นมหาเทพสูงสุด

และแบ่งนิกายที่สำคัญออกได้เป็น 3 นิกายตามความแตกต่างของเทพเจ้าสูงสุดที่นิยมนับถือกัน คือ

นิกายที่ 1 นับถือ พระราม

นิกายที่ 2
นับถือ พระกฤษณะ

นิกายที่ 3
นับถือ พระราม
(แต่ปฏิเสธเรื่องพระรามคืออวตารของพระวิษณุ)

ลัทธิภักติ เผยแผ่ลัทธิด้วยภาษาพื้นเมือง และยกย่องอาจารย์ผู้สอนลัทธิว่าเป็นผู้ควรแก่ การเคารพอย่างสูงเรียกว่า "คุรุ" พิธีกรรมในลัทธิมีการสวดมนต์ภาวนา เสกเป่าและกินข้าวเสก มีนักบวชและคฤหัสถ์ประจำลัทธิ อย่างไรก็ตาม แม้ทั้ง 3 นิกายจะนับถือพระเจ้าต่างองค์กัน แต่ก็มีหลักการที่ตรงกัน คือ มีพระเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียวนั่นคือพระวิษณุมหาเทพ พระเจ้าทรงประทานความเมตตากรุณาแก่ ผู้ภักดีและบูชาพระองค์ เชื่อว่าวิญญาณมนุษย์เป็นส่วนที่แยกมาจากพระเจ้า เป็นสิ่งอมตะ ผู้ภักดีต่อพระเจ้าไม่ว่าจะอยู่ในวรรณะใด ย่อมได้รับความหลุดพ้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อกาลเวลาผ่านไป จำนวนของผู้ที่ปฏิเสธคำสอนในคัมภีร์พระเวทได้มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเกิดขึ้นของศาสนาเชนและศาสนาพุทธ ขณะเดียวกัน หลักปรัชญาของอินเดียยังได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงจากจุดกำเนิด จนเกิดแนวความคิดหรือลัทธิที่แตกต่างกันออกไปอีกหลายลัทธิ ประกอบด้วย นยายะ, ไวเศษิกะ, สางขยะ, โยคะ, มีมางสา และ เวทานตะ ลัทธิครูทั้งหกนี้ล้วนเป็นส่วนหนึ่งในการก่อรูปความคิดและจิตใจ ซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมการสื่อสารของชาวอินเดีย ลัทธิครูทั้งหกนี้ต่างเป็นลัทธิปรัชญาฝ่ายอาสติกะ คือ กลุ่มที่เชื่อในความศักดิ์สิทธิ์ในคัมภีร์พระเวท

ลักษณะแนวคิดคำสอนของลัทธิเหล่านี้จึงยึดคัมภีร์พระเวทเป็นหลัก รายละเอียดดังนี้คือ

- ลัทธินยายะ -
"นยายะ" แปลว่า การโต้แย้ง ความหมายดังกล่าวบ่งชี้ว่า ลัทธินี้เป็นระบบปรัชญาที่ เน้นหนักไปในทางส่งเสริมสติปัญญา และเนื่องจากลัทธินี้เน้นหนักในเรื่องการใช้สติปัญญา วิเคราะห์ และการโต้แย้งเชิงตรรกะ จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "ตรรกศาสตร์" โดยปรมาจารย์ ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "โคตมะ" มีตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนชื่อว่า "นยายะสูตร"

สำหรับหลักคำสอนที่สำคัญของลัทธินี้ คือ
"ชีวิตในโลกนี้เต็มไปด้วยความทุกข์ การเวียนว่ายตายเกิดเป็นการติดข้อง การหลุดพ้นจากทุกข์และการเวียนว่ายตายเกิดเป็นโมกษะ"

การติดข้องหรือการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นเพราะ อวิทยา
ดังนั้นวิธีการทำลายการเวียนว่ายตายเกิดหรือการติดข้องจะต้องใช้ วิทยา
อันได้แก่ ความรู้แจ้งเกี่ยวกับความจริง เป็นเครื่องทำลายอวิทยา อันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์นั้นเสีย
ชีวิตจึงจะ หลุดพ้นจากทุกข์ และ บรรลุภาวะโมกษะ ได้

----------------------------------------------------------------------------------

- ลัทธิไวเศษิกะ -

ไวเศษิกะมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตว่า "วิเศษะ" ที่แผลงมาเป็นไทยว่า "พิเศษ" ผู้ก่อตั้งสำนักนี้มีชื่อว่า "กนาทะ" มีตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนและปรัชญาของลัทธินี้คือ "ไวเศษิกะสูตร"

หลักคำสอนที่สำคัญของลัทธินี้มีความคล้ายคลึงกับลัทธินยายะที่ถือว่า

การเกิดขึ้นหรือการเคลื่อนไหวเป็นไปของชีวิตนี้เป็นทุกข์ การติดข้องหรือการเวียนว่ายตายเกิดนั้นเป็นทุกข์ร่ำไป
เป้าหมายสูงสุดของชีวิตจึงอยู่ที่การหลุดพ้นจากทุกข์
วิธีการปฏิบัติเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์นั้น จะต้องหยุดทำกรรม หยุดสร้างบุญบาป วิญญาณก็จะหมดพันธะ
เมื่อวิญญาณหมดพันธะก็จะบริสุทธิ์ได้เอง และถึงโมกษะได้

----------------------------------------------------------------------------------

- ลัทธิสางขยะ -

คำว่า "สางขยะ" ในภาษาสันสกฤตแปลว่า "การนับหรือจำนวน"
ในภาษาบาลีตรงกับ คำว่า "สังขยา" มีความหมายเช่นเดียวกัน คือ การนับ จำนวน ผู้ก่อตั้งลัทธิคือ "กปิลดาบส"

หลักปรัชญาธรรมคำสอนของลัทธินี้ ได้แก่

1. สางขยะสอนว่า ชีวิตประกอบด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ ปุรุษะ ได้แก่ ตัวตนที่แท้จริง คือ จิต
หรือวิญญาณบริสุทธิ์เทียบเท่าได้กับชีวาตมันของปรัชญาอินเดีย
อีกส่วนหนึ่งคือ ประกฤติ ได้แก่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ
บางตำราเรียกว่า "ธรรมชาติ" ธรรมชาตินั้นคือต้นกำเนิดสรรพสิ่งของตัวมันเอง มิได้เกิดจากสิ่งใด เป็นสิ่งที่เกิดเองและมีอยู่เอง
สิ่งต่างๆทั้งหลายในโลกเรานั้นล้วนแต่มีประกฤติอยู่ก่อนแล้ว จึงทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า "การเกิด" ขึ้น
ส่วน "การดับ" นั้นเป็นภาวะที่สิ่งทั้งหลาย ทั้งปวงกลับไปสู่ประกฤติตามเดิม

2. สางขยะถือว่า ทั้งสองอย่างเป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกัน ทั้งสองสิ่งนั้นเป็น ความจริงอันติมะ คือ เป็นความจริงอันสูงสุด เป็นสิ่งแท้จริง ดำรงอยู่ได้โดยลำพังตนเอง ดำรงอยู่เหนือความ เปลี่ยนแปลงทุกอย่าง และเป็นนิรันดร

3. จุดมุ่งหมายสูงสุดของลัทธินี้คือ การหลุดพ้นจากทุกข์โดยการสร้างปัญญาให้เกิดขึ้น
เพื่อใช้เป็นเครื่องทำลาย "อวิชชา" หรือ "อวิทยา" อันเป็นสาเหตุแห่งความทุกข์
และปุรุษะก็จะหลุดพ้นจากเครื่องผูกพันคือ "ทุกข์" และเข้าสู่ "โมกษะ" ได้

----------------------------------------------------------------------------------

- ลัทธิโยคะ -

ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "ปตัญชลี"
คัมภีร์
หรือตำราทางวิชาการที่บรรจุคำสอนของลัทธินี้มีชื่อว่า "โยคะสูตร"

ความหมายของคำว่า "โยคะ" ตามทัศนะของผู้ก่อตั้งลัทธินี้หมายถึง
"วิธีการบำเพ็ญเพียรโดยควบคุมอินทรีย์ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ)...
...ปลดเปลื้องร่างกายและจิตจาก ความเศร้าหมองทั้งมวล"

ลัทธิโยคะ สอนว่า เป้าหมายทางสุดท้ายของชีวิต คือ ภาวะแห่งการบรรลุโมกษะ
หรือการที่ชีวาตมันไปรวมเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับ ปรมาตมัน
และบุคคลจะบรรลุโมกษะได้ด้วยการปฏิบัติตาม หลักแห่งโยคะ โดยเน้นที่การปฏิบัติ อันได้แก่ การกระทำ, ทำ และ ความภักดี

----------------------------------------------------------------------------------

- ลัทธิมีมางสา -

ปรมาจารย์ของลัทธินี้มีชื่อว่า "ไชมินิ"
ตำราหรือคัมภีร์ที่บรรจุคำสอนของลัทธินี้มีชื่อว่า "มีมางสาสูตร"

คำว่า "มีมางสา" นี้หมายถึง การพิจารณาสอบสวนพระเวทในตอนต้น อันได้แก่ พระเวท ตอนมันตระ และ พราหมณะ

หลักธรรมคำสอน ที่เป็นปรัชญาสำคัญของลัทธิมีมางสา คือ
การถือว่าการทำหน้าที่ที่ถูกต้องเรียกว่า "ธรรม"
ถ้าปราศจากการทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ปัญญา ความสุข และ ความสำเร็จ แห่งชีวิตจะไม่เกิดขึ้นได้เลย

----------------------------------------------------------------------------------

- ลัทธิเวทานตะ -

"เวทานตะ" แปลว่า ที่สุดของพระเวทหรือสุดท้ายของพระเวท
คำว่า "เวทานตะ" มาจากคำสองคำรวมกัน คือคำว่า เวทะ + อันตะ

เวทะ
แปลว่า ความรู้ ความฉลาด
อันตะ แปลว่า ที่สุด, สุดท้าย
เมื่อรวมกันเป็น เวทานตะ จึงมีความหมายตามรูปศัพท์ว่า
"ความรู้อันสูงสุด หรือความรู้อันสุดท้าย" หรือ คัมภีร์อุปนิษัท นั่นเอง

ผู้ก่อตั้งลัทธินี้มีชื่อว่า "เวทานตะ" หรือ "พาทรายณ์" โดยมีหลักปรัชญาธรรมที่สำคัญ คือ

1. ความจริงแท้ของโลกและจักรวาลคือ พรหมัน
2. สรรพสิ่งทั้งหลายมาจาก พรหมัน เมื่อดับก็จะกลับไปสู่ พรหมัน
3. ความรู้ที่ถูกต้องแท้จริงต้องเป็นความรู้เกี่ยวกับ พรหมัน และ อาตมัน
4. การเข้าถึง พรหมัน นั้นเรียกว่า การบรรลุโมกษะ
5. การที่จะเข้าถึง ภาวะแห่งโมกษะ ได้นั้น จะต้องปฏิบัติตามหลักแห่ง โยคะ อันประกอบด้วย อัษฎางคโยคะ


หนังสืออ้างอิง
Dissanayake, Wimal. 1987. in Kincaid, D. Lawrence. (ed). Communication theory: Eastern and western perspective. NY: Academic Press, INC., pp. 151-160
มนต์ ทองชัย. 2530. 4 ศาสนาสำคัญของโลกปัจจุบัน พราหมณ์-ฮินดู พุทธ คริสต์และ อิสลาม. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.
วนิดา ขำเขียว. 2541. ศาสนาเปรียบเทียบ. กรุงเทพฯ: เจนเดอร์เพรส.
อารี วิชาชัย. 2543. ปรัชญาธรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัย ศรีนคริน

ขอขอบคุณ : //www.midnightuniv.org
และ //my.dek-d.com/social_sw/story/view.php?id=321940

//www.siamganesh.com/hindutime.html





Create Date : 12 มิถุนายน 2556
Last Update : 12 มิถุนายน 2556 1:03:27 น.
Counter : 936 Pageviews.

0 comment
1  2  

Faraday
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]



ความสงบเรียบง่าย สอดคล้องกับธรรมชาติ
ความสดชื่นงดงาม สรรพเสียงที่ไพเราะเสนาะหู
คือสิ่งที่ควรรักษาให้ดำรงค์อยู่ ในช่วงชีวิตของเรา

ทำความเข้าใจสังคม สิ่งแวดล้อม ที่เราอาศัยอยู่
และดำเนินชีวิตอย่างสอดคล้องเหมาะสม
คือสิ่งดีที่สุดของการดำรงค์ชีวิต

ถ้าแม้ไม่สมที่หวัง ไม่เป็นไร ลืมมันเสีย
แล้วทำเหตุไหม่เพื่อให้มันเกิดอย่างที่ตั้งใจไว้

--------------------------------------------

สถิติ

จำนวน Blog รวม 448 Blog
จำนวนผู้ชม 200003 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 670 ครั้ง
๒๓ พฤศจิกายน ๒๕๕๖ (๑๓.๐๗ น.)


จำนวน Blog รวม 445 Blog
จำนวนผู้ชม 197298 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 658 ครั้ง
๒๙ ตุลาคม ๒๕๕๖ (๒๒.๑๗ น.)

จำนวน Blog รวม 423 Blog
จำนวนผู้ชม 140566 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 349 ครั้ง
๑๓ มีนาคม ๒๕๕๖ (๐๙.๔๑ น.)


จำนวน Blog รวม 407 Blog
จำนวนผู้ชม 122229 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 212 ครั้ง
๒๙ มกราคม ๒๕๕๖ (๐๘.๐๘ น.)

จำนวน Blog รวม 407 Blog
จำนวนผู้ชม 122024 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 212 ครั้ง
๒๘ มกราคม ๒๕๕๖ (๑๘.๕๒ น.)

จำนวน Blog รวม 405 Blog
จำนวนผู้ชม 120971 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 208 ครั้ง
๒๖ มกราคม ๒๕๕๖ (๙.๓๙ น.)

จำนวน Blog รวม 398 Blog
จำนวนผู้ชม 111449 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 167 ครั้ง
๒ มกราคม ๒๕๕๖

จำนวน Blog รวม 391 Blog
จำนวนผู้ชม 102211 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 140 ครั้ง
๒ ธันวาคม ๒๕๕๕



จำนวน Blog รวม 390 Blog
จำนวนผู้ชม 92241 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 128 ครั้ง
๒ พฤศจิกายน ๒๕๕๕

จำนวน Blog รวม 375 Blog
จำนวนผู้ชม 81537 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 107 ครั้ง
๖ ตุลาคม ๒๕๕๕ ( ๒๑.๓๙ )

จำนวน Blog รวม 374 Blog
จำนวนผู้ชม 80228 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 107 ครั้ง
๔ ตุลาคม ๒๕๕๕ ( ๐๙.๒๔ )

จำนวน Blog รวม 361 Blog
จำนวนผู้ชม 78077 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 101 ครั้ง
๓๐ กันยายน ๒๕๕๕ ( ๑๕.๑๔ )

จำนวน Blog รวม 361 Blog
จำนวนผู้ชม 77503 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 101 ครั้ง
๒๙ กันยายน ๒๕๕๕ ( ๑๑.๑๘ )

จำนวน Blog รวม 269 Blog
จำนวนผู้ชม 38102 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 69 ครั้ง
๓๐ กรกฎาคม ๒๕๕๕ (๑๑.๒๕ น.)

จำนวน Blog รวม 210 Blog
จำนวนผู้ชม 18,049 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 65 ครั้ง
6 กรกฎาคม ๒๕๕๕ (๑๖.๓๙ น.)

จำนวน Blog รวม 62 Blog
จำนวนผู้ชม 5,278 ครั้ง
จำนวนผู้ชม Profile 65 ครั้ง
๑๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ (๑๐.๑๙ น.)
New Comments
Group Blog