“ครูอาชีพกับอาชีพครู”
“ครูอาชีพกับอาชีพครู”ปัญหาที่ต้องการแก้ไข
การประกอบอาชีพของคนในสังคมไทยปัจจุบัน ล้วนล้วแต่มีอาชีพต่างๆ หลากหลายตามแต่ตนเองถนัดหรือเลือกที่จะร่ำเรียนในสาขาวิชาชีพที่ตนได้คัดสรรตั้งไว้เป็นเป้าหมายของการดำเนินชีวิต ทำให้มีการประกอบอาชีพที่แตกต่างกันออกไปเป็นจำนวนมาก อาทิ อาชีพแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร ทหาร ตำรวจ นักธุรกิจ
นักการเมือง นักปกครอง นักบริหาร เป็นต้น รวมทั้งอีกอาชีพหนึ่งซึ่งเป็นอาชีพที่ได้รับการยกย่องนับถือของประชาคมอย่างสูงเสมอบรรพชน ด้วยเป็นผู้รังสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางสติปัญญาและเป็นฐานหลักในการเติมเต็มความเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อม ทั้งทางกาย วาจา ใจ แก่คนในชาติ กระทั่ง มีความสามรถเพียงพอที่จะนำความรู้ที่ได้ไปบำรุงรักษาและเลี้ยงตนเองกับครอบครัวไอย่างสถาวร จึงเป็นที่แน่นอนว่าอาชีพดังกล่าวนั้นคงไม่อาจคาดเดาเป็นอาชีพอื่นใดได้ นอกจากสัมมาชีพ “ครู” ของเราทั้งหลายนั่นเอง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ครู” ได้อย่างชัดเจนว่าครูหรือคุรุในภาษาสันสกฤต(ซึ่งมาเป็นที่มาของคำว่า “กูรู” ในปัจจุบัน) หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ หรือผู้ถ่ายทอดความรู้ให้ก่ศิษย์ สอดคล้องกับคำอธิบายของท่านพุทธทาสที่กล่าวว่า ครูคือผู้ยกวิญญาณของโลกให้สูงขึ้น เป็นปูชนียบุคคลของโลกมิใช่เรือจ้างที่รับจ้างหรือสอนวิชาบางวิชา เพราะในหัวใจของครูมีแต่ปัญญากับเมตตาเคียงคู่กันอยู่ ปัญญาคือความรู้ความสามารถที่จะยกจิตวิญญาณให้สูงขึ้น เมตตาคือความรักความเสียสละเพื่อทำหน้าที่ของตนโดยไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยเอือมระอา ครูจึงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษาเรียนรู้ ทั้งด้านวิชาการ ประสบการณ์ ตลอดจนเสียสละดูแลเอาใจใส่ สั่งสอนอบรมให้เด็กพบกับแสงสว่างแห่งปัญญา อันจะเป็นหนทางประกอบอาชีพเลี้ยงดูตนเองและนำพาสังคมและประเทศชาติให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยความเจริญรุ่งเรืองอย่างที่สุด
ด้วยเหตุนี้ ครูจึงเป็นปูชนียบุคคลผู้ได้รับการยกย่องเทิดทูนสูงสุดอยู่เสมอ ทว่าความผันผวนของสังคมยุคโลกาภิวัฒน์ที่บังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ได้ทำให้สถานะของครูกระทบกระเทือน เนื่องจากมีการจำแนกแยกแยะครูออกเป็น 2 ฝ่าย ได้แก่ “ครูอาชีพ” กับ “อาชีพครู” อันกลายเป็นความเปลี่ยนแปลงที่มีความหมายจากการปฎิบัติตนของครูเป็นตัวแปรสำคัญ กล่าวคือ “ครูอาชีพ” หมายถึง ครูที่เป็นครูด้วยใจรัก ตั้งใจและพร้อมที่จะเป็นครูในทุก ๆ ด้าน ทั้งด้านความรู้ ความประพฤติ การวางตน การเอาใจใส่ดูแลศิษย์ ปฎิบัติหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณของความเป็นครู อุทิศตนให้แก่การเรียนการสอนอย่างเต็มที่และเต็มเวลา มิได้คำนึงถึงรายได้กับความก้าวหน้าของตนเท่ากับบทบาทความเป็นครู ไม่มีขอบเขตของงานที่ตายตัว บางขณะทำหน้าที่เป็นพ่อ แม่ เพื่อน หรือเจ้าหนี้กับยลูกหนี้ของศิษย์ไปพร้อม ๆ กัน และมีเวลาทำงานแบบเดียวกับ Seven Eleven ที่เปิดบริการอยู่ทั่วหัวระแหงของถนนทุกสายอีกด้วย
ส่วน “อาชีพครู” คือครูผู้ประกอบอาชีพสอนหนังสือ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งหารายได้กับความก้าวหน้าในอาชีพ มุ่งมั่นที่จะเสริมสร้างความมั่นคงในชีวิตด้วยการดิ้นรนขวนขวาย ยกระดับขยับปรับวุฒิตนเองให้สูงยิ่งขึ้น เพื่อมุ่งสู่การเป็นครูชำนาญการพิเศษและครูผู้เชี่ยวชาญระดับ 8-9 ตามลำดับ สำหรับรองรับฐานเงินเดือนให้เพิ่มมากขึ้น ทำให้มีขอบเขตของงานด้านการเรียนการสอนและการใช้เวลาในการเรียนการสอนจำกัดเฉพาะกำหนดเวลาราชการเท่านั้น ไม่มีเวลาพอที่จะช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาให้แก่นักเรียน เนื่องจากต้องทุ่มเทเวลาทำผลงานของครูเอง จึงจัดได้ว่ามิได้เป็นครูด้วยใจรักหรือสมัครใจ มุ่งสอนหนังสือให้จบไปแต่ละวัน ไม่สนใจว่าศิษย์จะเข้าใจหรือไม่เข้าใจแต่อย่างใด ขอเพียงให้มีเงินเดือนครบตามวิทยฐานะในแต่ละเดือนเป็นพอ นอกจากนั้นยังส่งเสริมให้ศิษย์ใช้เวลาหลังจากเลิกเรียนตามปกติเรียนพิเศษเพิ่มเติมให้มีความรู้พอกพูนแน่นขึ้นไปอีก โดยอาจสอนพิเศษนอกเวลาด้วยตนเอง หรือแนะนำสถานกวดวิชาต่าง ๆ ให้เสมือนมีหุ้นส่วนกับสถานเสริมศึกษาทั้งหลายเสียอีก
อนึ่งเมื่อผู้เป็นครูมีเจตนารมณ์ประสมปณิธานตามนัยข้างต้น ก็ย่อมจักส่งผลต่อคุณภาพของการศึกษาและคุณภาพของศิษย์ไม่มากก็น้อย ทั้งยังแสดงให้ประจักษ์ถึงคุณภาพครูอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตรงกับนัยที่กล่าวกันว่า “คุณภาพของศิษย์คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของครูอย่างไม่ผิดเพี้ยน” และยิ่งผนวกกับความผันแปรในสภาวะวิกฤตอันขาดแคลนศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม เฉกเช่นสังคมปัจจุบันแล้ว ทำให้เป็นแรงกระตุ้น ยั่วยุ และท้าทายเยาวชนผู้เป็นทรัพยากรมนุษย์ของชาติในอนาคต ให้บังเกิดความสงสัย สนใจ ใคร่จักทดลองปัจจัยแปลกใหม่ที่รุมล้อมอยู่รอบด้าน กระทั่งพลัดเข้าสู่กับดักแห่งอบายภูมิอย่างไม่รู้ตัวและรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ปล่อยกายใจให้โลดแล่นไปตามแรงคึกคะนองของตน จนสุดกู่เกินที่จะเยียวยาแก้ไขให้กลับคืนได้จุดเดิม ด้วยขาดการชักนำและชี้ชวนใหดำเนินชีวิตตามครรลองของมรรคผลที่ถูกต้อง ไม่ต้องลองถูกลองผิดให้เสียเวลาและเสียใจ เพียงแต่ผู้เป็นครูจะช่วยกันประคับประคองให้ความสนใจและใส่ใจ สละเวลายอมเป็นทางคู่ขนานเคียงคู่ไปกับศิษย์บ้างในบางขณะ ก็ย่อมจักช่วยให้ศิษย์สามารถฝ่าด่านมฤตยูของชีวิตบรรลุสู่เป้าหมายได้อย่างสัมฤทธิผลเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนมิไดมีเจตนาจะตำหนิติเตียนหรือลบหลู่ครูให้เสื่อมเสียแต่อย่างใด

สรุปบทความ
“ครูอาชีพกับอาชีพครู”
ปัญหาที่ต้องการแก้ไข
อาชีพที่ได้รับการยกย่องนับถือของประชาคมอย่างสูงเสมอบรรพชน ด้วยเป็นผู้รังสรรค์ความเจริญรุ่งเรืองทางสติปัญญาและเป็นฐานหลักในการเติมเต็มความเป็นคนที่สมบูรณ์พร้อมแก่คนในชาติจนสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ส่วนรวมและยังเลี้ยงตนเองได้อย่างดีไปตลอดชีวิต แล้วยังสามารถดูแลเลี้ยงดูผู้มีพระคุณได้อีกด้วย นั่นคือ “อาชีพครู” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ได้บัญญัติความหมายของคำว่า “ครู” ไว้อย่างชัดแจ้งว่าครูหรือคุรุในภาษาสันสฤต (ซึ่งเป็นที่มาของคำว่า “กูรู” ในปัจจุบัน) หมายถึง ผู้สั่งสอนหรือผู้ถ่ายทอดความรู้แก่ศิษย์ ครูจึงเป็นปูชนียบุคคลที่มีความสำคัญในการให้การศึกษา ตลอดจนเสียสละดูแลเอาใจใส่ให้เด็กพบกับแสงสว่างทางปัญญาทำให้ประเทศชาติก้าวหน้า ครูได้รับการยกย่องเทิดทูนอยู่เสมอ แต่ในโลกปัจจุบันมีการจำแนกครูออกเป็น 2 ฝ่าย คือ “ครูอาชีพ” กับ “อาชีพครู” สำหรับคำว่าอาชีพครู หมายถึง ครูที่ทำหน้าที่ด้วยจิตวิญญาณแห่งความเป็นครูโดยแท้จริง เป็นครูด้วยใจรัก อุทิศตนให้แก่การเรียนการสอนโดยไม่คำนึงถึงรายได้กับความก้าวหน้าในอาชีพตนเท่ากับบทบาทความเป็นครู เป็นทุกอย่างให้แก่ศิษย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ เป็นแม่ หรือเป็นเพื่อนได้ในเวลาเดียวกัน มีเวลาทำงานแบบร้านสะดวกซื้อ (เซ่เว่น อีเลเว่น) อยู่ในทุกๆที่ ที่ศิษย์ต้องการ ส่วน “อาชีพครู” นั้น หมายถึง ผู้ที่ประกอบอาชีพสอนหนังสือ มีวัตถุประสงค์เพื่อหารายได้และความก้าวหน้าของตนเองโดยเฉพาะไม่เห็นแก่ผู้อื่น ดิ้นรนเพื่อยกระดับปรับวุฒิตนเองให้สูงขึ้น เพื่อเพิ่มตำแหน่ง เงินเดือน มีเวลาแก่ศิษย์ตามเวลาราชการเท่านั้น จะใช้เวลาส่วนใหญ่เร่งทำผลงานของตนเอง จึงมิได้เป็นครูด้วยใจรัก ขอแค่ให้ได้รับเงินเดือนครบ บางคนยังใช้เวลาหลังเลิกเรียนตามปกติมาส่งเสริมให้เด็กเรียนพิเศษเพื่อจะทำให้ตนเองมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ผลที่ตามมาคือ “คุณภาพของศิษย์คือกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของครูอย่างไม่ผิดเพี้ยน” ถ้าครูไม่มีคุณภาพจะทำให้สังคมเสื่อมโทรม คือ เด็กซึ่งเป็นอนาคตของชาติจะขาดผู้ชักนำไปในทางที่ดี และเมื่อเป็นเช่นนั้นสังคมก็จะยิ่งดูแย่ลง ขอให้ครูทุกท่านช่วยเป็นผู้ประคับประคองให้ศิษย์ฝ่าด่านมฤตยูของชีวิตไปได้ และบรรลุเป้าหมายที่ดี มีอนาคตที่สดใสต่อไป
วิเคราะห์บทความ
“ครูอาชีพกับอาชีพครู”
ปัญญหาที่ต้องการแก้ไข
บทความนี้มีความเกี่ยวข้องกับอาชีพครูโดยตรง ซึ่งมีการเปรียบเทียบกันระหว่างอาชีพนี้ในสองแง่มุมหรือสองมุมมองนั่นเอง เพียงแค่ วลีเดียว สลับคำกันทำให้ความหมายเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง โดยความหมายหนึ่งเป็นไปในทางบวก แต่อีกความหมายหนึ่งเป็นไปในทางลบ ซึ่งปัจจุบันนี้ทำให้เกิดความเสื่อมเสียในวิชาชีพที่มีความเป็นปูชนียบุคคลของโลก ทำให้บุคคลทั่วไปมองอาชีพครูผิดแปลกไปจากในอดีต ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจึงควรเร่งแก้ไขให้ภาพลักษณ์ของอาชีพครูกลับมาเหมือนเดิม ซึ่งพวกเราทุกคนก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหานี้ได้ เนื่องจากเราเป็นนิสิตครู ในอนาคตก็ต้องไปประกอบอาชีพเป็นครู เราจะต้องมีความรักและศรัทธาในอาชีพ เราสามารถที่จะเลือกได้ว่า จะเป็นครูมืออาชีพ หรือแค่จะประกอบอาชีพเป็นครู เราทุกคนต้องเร่งสร้างอาชีพนี้ให้ผู้อื่นมองในแง่มุมที่ดีเพียงแง่มุมเดียว เพื่อพัฒนาให้ดีที่สุด ให้ทุกคนมีความมั่นใจว่าประเทศชาติจะเจริญก้าวหน้าได้จากอาชีพครู ครูมืออาชีพจะต้อง มีวินัย มีคุณธรรม-จริยธรรม มีคุณภาพในการปฏิบัติงาน ทำงานตามหน้าที่ มีจรรยาบรรณวิชาชีพ มีอาชีพที่เหมาะสม มีความประพฤติเป็นแบบอย่างที่ดี รักและศรัทธาในอาชีพมีความรับผิดชอบ มีค่านิยมและอุดมการณ์ที่แน่วแน่ รักษาระเบียบวินัย มีปัญญาเสียสละ เรียนรู้ตลอดเวลา ไม่ทำความชั่ว มีความละอายใจต่อการทำความชั่ว มีความเชื่อมั่นในสิ่งดีงาม อย่างไรก็ตามอาชีพครูก็คงจะช่วยเติมเต็มให้แก่ศิษย์ เพราะเมื่อเราท้อแท้อย่างน้อยก็ยังมีแรงบันดาลใจจากอาชีพแระที่เด็กหลายคนใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นนั่นก็คือ อาชีพครู เพราะครูคือผู้ที่ถ่ายทอดความรู้ให้เราทุกคนตั้งแต่เริ่มเข้าโรงเรียน มีครูคอยดูแลอยู่ตลอด และจะเป็นครูของทุกคนตลอดไป ไม่เคยหยุดเพราะครูอยากให้ลูกศิษย์ประสบผลสำเร็จในชีวิต โดยไม่ต้องการสิ่งตอบแทนนี่คือ “ครูมืออาชีพ”



Create Date : 24 ธันวาคม 2554
Last Update : 24 ธันวาคม 2554 22:13:01 น.
Counter : 4514 Pageviews.

1 comment
1  2  3  4  

evezangz
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]





Free Clock
★Rangsit University ★
Engineering วิศวกรรมสิ่งแวดล้อม
หลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต
สาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม#1 Rsu Ł° ชิล ชิล งง่ายๆแต่ไม่ได้ใจง่ายนะ สบายๆ ถ่ายรูปคือสิ่งที่ชอบ


MY VIP Friend