Dumplings - Hong Kong Beauty

มีคนบอกว่า ยุคนี้เป็นยุคบริโภคนิยม
ผู้คนให้ความสนใจกับทุกวิถีทางที่จะทำให้ตัวเองดูดีขึ้นได้ ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม
โดยเฉพาะรูปลักษณ์ภายนอก ที่เห็นได้ง่ายที่สุด
จึงไม่น่าแปลกใจที่เรามีการประกวดมิสนั่น มิสนี่ (Miss or Miss?) นางสาว และนางงามต่าง ๆ มากมาย และในทุก ๆ ครั้งก็มีคนให้ความสนใจกันอย่างล้นหลามเสมอ
อาจเป็นเพราะขาอ่อนเห็นง่ายกว่าสมองกระมัง

ถ้า American Beauty เป็นภาพยนตร์ที่ปอกเปลือกภาพลักษณ์สังคมอเมริกันว่ามีความเน่าเฟะอยู่ภายใน
ตัวละครอย่างคนในบ้านของ เลสเตอร์ เบอร์นแฮม ก็เป็นภาพแทนของชนชาวอเมริกันได้ดีที่สุด
และมันก็เป็นภาพแทนของคนเกือบจะทั่วทั้งโลกได้ด้วย
โดยเฉพาะคนเมืองใหญ่
เมืองใหญ่ของโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นลอนดอน ปารีส นิวยอร์ค โตเกียว หรือกรุงเทพในวันนี้ จึงแทบไม่มีความแตกต่างกัน

Dumplings ก็เป็นหนังฮ่องกงที่พูดถึงเรื่องของสังคมบริโภคนิยมได้อย่างน่าดูเช่นเดียวกัน
มาดามหลี่ อดีตดาวจรัสแสงแห่งวงการบันเทิง แต่งงานอยู่กินกับ มิสเตอร์หลี่ เศรษฐีจอมเจ้าชู้ แต่เมื่อสังขารร่วงโรยลง มิสเตอร์หลี่จึงเริ่มหันไปหาเด็กที่สาวและสดกว่า มาดามหลี่อยากให้มิสเตอร์หลี่หันกลับมาสนใจในตัวเธออีกครั้ง
แต่จะมีวิธีใดที่จะทำให้เธอกลับไปมีรูปลักษณ์ที่อ่อนเยาว์เช่นเดิมได้
จนวันหนึ่ง เธอได้พบกับ ป้าเหมย ผู้ที่มีฮะเก๋าสูตรเด็ดที่บอกว่า มันจะคืนเนื้อหนังของวันแรกแย้มกลับมาให้เธออีกครั้ง

มาดามหลี่ และ มิสเตอร์หลี่ ก็เป็นดังคนในครอบครัวเบอร์นแฮมใน American Beauty ที่ยึดติดและลุ่มหลงกับรูปลักษณ์ภายนอก
แม้ว่าจิตใจจะเน่าเฟะเพียงใดก็ไม่สนใจ
จนในที่สุด ก็ “ติด” กับรูปลักษณ์จนยากที่จะถอนตัว

เดิมที่ Dumplings เป็นหนึ่งในสามตอนของ อารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต 2 (Three … Extremes หรือ Three, Monsters)
แต่หลังจากอารมณ์ อาถรรพ์ อาฆาต 2 ฉายในฮ่องกงไม่นาน ฟรุต ชาน ผู้กำกับของเรื่องนี้ จึงตัดสินใจนำ Dumplings ฉบับเต็มความยาว 90 นาที ออกฉายอีกครั้งหนึ่ง
แม้ใจความของฉบับหนังยาวกับหนังสั้นอาจดูไม่แตกต่างกัน แต่ฉบับหนังยาวก็มีรายละเอียดส่วนอื่นที่เพิ่มขึ้นมามาก เพราะมันยาวกว่าฉบับหนังสั้นถึงเท่าตัว (ฉบับหนังสั้นความยาวเพียงแค่ไม่ถึง 40 นาที)

จะอีกกี่ปี ผมเชื่อว่าคนในเมืองใหญ่ก็ยังคงจะมีวัฒนธรรมการใช้ชีวิตที่คล้ายกันเช่นเดิม
และสังคมก็จะไม่มีวันขาดคนอย่างมาดามหลี่ มิสเตอร์หลี่ กับ ป้าเหมย เช่นกัน

Dumplings (2004) Hong Kong, Directed By Fruit Chan




 

Create Date : 15 สิงหาคม 2548   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:24:17 น.   
Counter : 695 Pageviews.  

Twilight Samurai - เกียรติของคนต้องสู้เอง

เวลาที่ได้เห็นสื่อต่าง ๆ ที่นำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2
ทุกครั้ง เราจะเห็นถึงความมุ่งมั่น ความอดทน ความเสียสละ ของคนญี่ปุ่น ไม่เว้นว่าจะเป็นพลทหารหรือพลเรือน
เรื่องแบบนี้ยังรวมไปถึงอย่างอื่นด้วยเช่น การแข่งขันกีฬา การทำงาน การใช้ชีวิต ทุกอย่างแทรกซึมอยู่ในวิถีชีวิตแบบญี่ปุ่น
มันเป็นการแสดงออกให้เห็นถึงคำ ๆ หนึ่ง
คำนั้นคือว่า สปิริตของคนญี่ปุ่น

ในวงการหนัง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มีหนังที่บอกเล่าเรื่องราวของซามูไรเป็นจำนวนมาก
แน่นอน ว่าในจำนวนนั้น ต้องมีทั้งดีและเลวปะปนกันไป
หนึ่งในหนังที่แสดงถึงความเป็นซามูไรได้ที่สุดอีกเรื่องหนึ่ง คงหนีไม่พ้นงานของผู้กำกับประสบการณ์สูงโยจิ ยามาดะ
มันคือเรื่อง Twilight Samurai

Twilight Samurai เป็นเรื่องของเซเบ ซามูไรที่มีฐานะไม่สู้ดีนักคนหนึ่ง ซึ่งหลังจากการเสียชีวิตของภรรยา ทำให้เขาต้องดูแลลูกสาวทั้งสองซึ่งยังเล็ก และแม่ที่แก่ชราของเขาด้วยตัวคนเดียว
ทุก ๆ วันหลังเลิกงาน เพื่อนร่วมงานมักจะไปเที่ยวกันต่อที่อื่น แต่เซเบจะต้องรีบกลับบ้านไป เพื่อไปดูแลคนในบ้านอยู่ทุกวัน
เขาจึงถูกขนานนามว่า นายสายัณห์
มีอยู่วันหนึ่ง เมื่อทางการได้ยินกิตติศัพท์ทางเพลงดาบที่ยอดเยี่ยมของเซเบ จึงว่าจ้างให้เขาฆ่าซามูไรทรยศคนหนึ่ง ด้วยเงินที่จะทำให้เขาหลุดพ้นปัญหาทางการเงินไปได้
แต่หลายต่อหลายคนที่ทางการเรียกมา ก็โดนซามูไรทรยศฆ่าเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก
งานนี้จึงเป็นงานที่เสียงต่อชีวิตอย่างยิ่ง หากเขาเป็นอะไรไป ลูกที่ยังอยู่ในวัยเรียน และแม่ที่แก่ชราของเขาจะเป็นอย่างไร
แต่หากเขาปฏิเสธไม่รับงานนี้ เขาจะมีความผิดฐานขัดคำสั่ง

Twilight Samurai ไม่มีฉากการดวลดาบแบบเลือดสาด ไม่มีฉากแสดงความสามารถอันล้นปรี่ของตัวเองเหมือนหนังซามูไรเรื่องอื่น ๆ
แต่ภาพการดวลดาบของ Twilight Samurai เป็นภาพของความสมจริง
เราจึงได้เห็นสีหน้าความหวาดกลัว ด้านอ่อนแอของเซเบ
เพราะอย่างไรซามูไรก็ยังเป็นคนธรรมดา
คนธรรมดาที่มีเกียรติของซามูไร

ทุกวันนี้ประเทศญี่ปุ่น เป็นหนึ่งในประเทศที่เจริญที่สุดในโลก
แต่เราก็ยังเห็น สปิริตของลูกหลานซามูไรกันอยู่ทุกวัน ทั้งจากในเกมโชว์, กีฬา, ฯลฯ
สิ่งเหล่านั้น มันคงเป็นอะไรสักอย่าง
ที่คงหาได้ยากยิ่งในชนชาติอื่น

Twilight Samurai (2003) Japan, Directed by Yoji Yamada




 

Create Date : 05 สิงหาคม 2548   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:24:48 น.   
Counter : 422 Pageviews.  

Doggy Poo - ขี้หมาเกิดมาทำไม

ชีวิตผมมีแต่คำถาม
หนึ่งในคำถามที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ตอนผมยังเด็กก็คือ
“คนเราเกิดมาทำไม”
เกิดมาเพื่อเรียนหนังสือให้จบ
แล้วมาทำงาน มีครอบครัว
พอแก่ตัวก็เกษียณ
ใช้ชีวิตบั้นปลายอย่างสงบ
และสุดท้ายก็แก่ตายไป
หรืออาจจะป่วยแล้วตายไปตรงช่วงไหนสักแห่ง

แค่นี้เองหรือ?
???

คิดไปก็พาลจะปวดกบาลจนนอนไม่หลับ (หรือบ่อยครั้งที่คิดจนหลับไป)
แค่คำถามเดียวผมยังตอบไม่ได้เลย
หลาย ๆ ครั้ง พอตอบคำถามไปก็จะมีคำถามแยกย่อยตามขึ้นมาอีกไม่หวาดไม่ไหว
ชีวิตผมหนีคำว่า “คำถาม” ไปไม่พ้นเสียที

บางครั้งพอได้มองออกไปรอบตัวเพื่อจะสงบจิตสงบใจ แต่พอไปเห็นสิ่งมีชีวิตและไม่ชีวิตอื่น ๆ อย่าง หมา แมว ต้นไม้ ฯลฯ ก็ยังอดคิดแทนมันไม่ได้ ว่า “พวกมันเกิดมาทำไม?”
ทั้งที่ยังตอบคำถามนี้ของตัวเองไม่ได้ แต่ยังเสนอหน้าไปคิดสงสัยแทนพวกมันเสียอีก

“คนเราเกิดมาทำไม”
คำถามนี้เป็นคำถามที่หนักเอาเรื่อง เรียกว่าเอามาถกเถียงกัน คงไม่มีวันจบลงง่าย ๆ
แต่ Doggy Poo ตอบคำถามนี้ให้ผมคลายสงสัยไปเกือบทั้งหมด

Doggy Poo เป็นอนิเมชั่นขนาดสั้นของเกาหลี ที่สร้างมาจากนิยายภาพผลงานของ Kwon Jung-Saeng ส่วนในฉบับภาพยนตร์กำกับโดย Kwon Oh-Sung
ตัวเอกของเรื่องคือ ขี้หมาก้อนน้อย!
มันเป็นขี้หมาที่อยู่กลางทุ่งกว้าง ในตอนแรก เมื่อมันเข้าใกล้ใครก็ไม่มีใครคบ
ขี้หมาที่น่ารังเกียจ เพราะทั้งเหม็น สกปรก และเต็มไปด้วยเชื้อโรค
เจ้าขี้หมาน้อยได้แต่นึกน้อยใจว่า ในเมื่อมันไม่มีค่าอะไร แล้วทำไมมันถึงต้องเกิดมาด้วย?
แต่เจ้าดอกไม้ดอกหนึ่งก็ทำให้ขี้หมาน้อยได้รู้ว่า มันเกิดขึ้นมาทำไม
แม้แต่ขี้หมาอย่างมันก็มีความหมาย
สิ่งที่ดูไร้ค่าที่สุด ก็ยังมีค่าเกินจะนับได้เช่นกัน

For Everything There is a Reason For Being

เพียงประโยคเดียว บอกใจความของหนังทั้งเรื่องได้อย่างชัดเจน ไม่เพียงแค่ทำเรื่องหนักให้เป็นเรื่องเบา แต่ Doggy Poo ยังทำให้ของเรื่องหนักเป็นเรื่องราวน่ารักได้ทันที

ทุกวันนี้ชีวิตผม ก็ยังมี่แต่คำถาม
มันไม่เคยลดลงไป กลับมีแต่จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ตลอดเวลา
แต่กับคำถามที่ว่า
“เราเกิดมาทำไม”
ผมอาจจะได้คำตอบที่ไม่ชัดเจนนัก แต่การให้ความสำคัญของคำถามนี้ก็ถูกลดลงไปมาก
เพราะทุกสิ่ง มีเหตุผลในการดำรงอยู่ทั้งนั้น
และพวกเรา
ก็ไม่ได้เป็นข้อยกเว้น


Doggy Poo (2003) Korea, Directed By Kwon Oh-Sung




 

Create Date : 04 สิงหาคม 2548   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:24:57 น.   
Counter : 1361 Pageviews.  

Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring - ฤดูกาลของชีวิต

คนเราเมื่อเกิดมา ต้องเคยทำอะไรผิดพลาด อย่างน้อยก็คนละหนึ่งอย่าง
แต่ส่วนใหญ่ มักจะเคยทำผิดพลาดกันเกินหนึ่งอย่าง
บทเรียนของความผิดพลาด สอนให้เรารู้จักแก้ไข ระมัดระวัง ไม่ให้มันเกิดซ้ำขึ้นอีก
แต่ความผิดพลาดนั้น ก็ไม่เคยหมดไปจากโลกนี้เช่นกัน

---

Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring เป็นหนังเกาหลีฝีมือผู้กำกับคิม คี-ดอค ที่เรียกได้ว่าเป็นงานระดับท็อปฟอร์มของเขา เพราะ Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring มีศักดิ์ศรีเป็นถึงตัวแทนจากประเทศเกาหลีใต้ เพื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมประจำปี 2003
เป็นปีเดียวกับที่ไทยส่ง เรื่องรัก น้อยนิด มหาศาล (Last Life in The Universe) เข้าร่วมชิงชัยในเวทีเดียวกัน
หนังทั้งสองเรื่องนี้ มีชะตากรรมที่คล้ายกันอย่างน่าตกใจ
สาเหตุแรก ทั้งสองเรื่องเป็นหนังจากผู้กำกับที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันอย่างดีในระดับนานาชาติ
ข้อต่อมา มันเป็นหนังที่มีคนคาดหมายว่าน่าจะเป็นคราวที่ได้เงินกับเขา (เสียที) หลังจากเจ๊งจากหนังทุกเรื่องมาตลอด
แต่มันกลับกลายเป็นว่า ทั้งสองเรื่องเป็นหนังเจ๊งอย่างมโหฬารเช่นกัน
ทั้งสองเรื่องได้รับคำวิจารณ์ที่ดีมากจากทั้งในและนอกประเทศ รวมถึงประสบความสำเร็จอย่างมากในระดับวงการภาพยนตร์หนังโลก
และสุดท้าย มันได้เป็นตัวแทนประเทศเข้าชิงรางวัลออสการ์ในปีเดียวกัน-แต่ลงท้ายคือแห้วเหมือนกัน

---

ในสังคมไทย มีเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมายที่เกิดขึ้นซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า
เมื่อเกิดขึ้นก็จะมีการเอาจริงเอาจังในการแก้ไขปัญหาเป็นวูบ ๆ แล้วความตื่นตัวก็เงียบหายเข้ากลีบเมฆไป
นักเรียนตีกัน ปัญหาการรับน้อง รถเมล์ตีนผี ปัญหาส่วย จนถึงเรื่องระดับชาติอย่างการคอร์รัปชั่น
พอเวลาผ่านไป ก็เกิดเหตุการณ์เดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีก

---

Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring ใช้ฤดูต่าง ๆ แทนช่วงชีวิตของคนตั้งแต่ เด็กเล็ก เด็กโต วัยรุ่น จนถึงผู้ใหญ่
ผู้กำกับเลือกที่จะถ่ายเรียงตามลำดับเวลา นั่นหมายความว่า Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring ใช้เวลาการถ่ายทำเกินหนึ่งปี
ผลลัพธ์ที่ได้เป็นงานชิ้นมาสเตอร์พีซของคิม คี-ดอค
ผลงานชิ้นนี้ถูกยกให้เป็นภาพยนต์ของโลก (World Cinema) ไม่ใช่เป็นแค่ภาพยนตณ์เกาหลี (Korean Cinema)
การเล่าเรื่องอย่างเรียบง่าย องค์ประกอบที่ถูกจัดอย่างประณีต ทำให้ระยะเวลากว่า 100 นาทีของหนัง กลายเป็นช่วงเวลาต้องมนตร์

---

Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring เปรียบช่วงเวลาของวัยที่ยิ่งผ่านกาลเวลามานานเท่าใด คนเราก็จะยิ่งเติบโตและได้เรียนรู้อะไรต่าง ๆ เพิ่มขึ้น
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า สิ่งที่เราเคยผิดพลาด ลูกหลานของเราจะไม่ผิดพลาดซ้ำ
ผมเคยได้ยินคำกล่าวของใครสักคนกล่าวไว้ว่า
“ประวัติศาสตร์สอนให้เราเรียนรู้ว่า
เราไม่เคยเรียนรู้อะไรจากประวัติศาสตร์เลย”


Spring, Summer, Autumn, Winter... and Spring (2003) Korea, Directed by Kim Ki-Duk





 

Create Date : 03 สิงหาคม 2548   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:25:04 น.   
Counter : 536 Pageviews.  

All About Our House - บ้านแห่งความฝัน

ตอนเด็ก ๆ ผมเคยได้ยินเพลงจากโฆษณาบ้านแห่งหนึ่งที่แต่งโดย ศุ บุญเลี้ยง
เพลงนั้นร้องว่า
“บ้านแห่งความหลัง
นกน้อยมีรังอุ่น
ฝันเอยช่างหอมกรุ่น
ฝันที่คุณช่วยเติม”

เป็นเพลงสั้น ๆ ที่ยังจำได้อยู่จนถึงทุกวันนี้

เวลาได้ยินเพลงอะไรที่เกี่ยวกับบ้าน หลายครั้งผมจินตนาการไปถึงบ้านในอนาคตที่จะเป็น “บ้านแห่งความฝัน” ของเรา
เพราะชีวิตหนึ่งคนเราจะมีบ้านสักกี่หลัง?
(อาจยกเว้นพวกนักการเมืองไว้พวกหนึ่ง เพราะคนกลุ่มนี้นิยมมีบ้านเล็กบ้านน้อย)

ถ้าถึงเวลาที่เราจะต้องปลูกบ้านของเรา มันจะออกมาในรูปแบบไหน? ห้องนอนของเราจะสีอะไร? วอลเปเปอร์ในห้องนั่งเล่นจะเอาลายอะไร? ทำเลสะดวกในการเดินทางหรือไม่?
คงเป็นเรื่องที่เราต้องขบคิดกันอย่างจริงจัง ถ้ามันถึงเวลานั้น

นาโอซุเกะ กับ ทามิโกะ ก็คงเหมือนกับคู่รักคู่อื่น ๆ
เมื่อทั้งสองตกลงใจที่จะสร้างบ้านที่มันจะเป็นบ้านแห่งความฝันของพวกเขา ปัญหาที่ทั้งสองต้องเจอ นอกจากเรื่องเล็กใหญ่นับร้อยแปดพันเก้าแล้ว เรื่องวุ่น ๆ อีกอย่างก็คือ ผู้ออกแบบบ้านกับผู้รับเหมา
โดยเฉพาะถ้าผู้ออกแบบบ้านเป็นเพื่อนสนิทที่เราไว้ใจ
กับผู้รับเหมาที่เป็นพ่อตาของตัวเอง!

ถ้าโหมโรงและทวิภพเป็นหนังไทยที่พูดถึงการปะทะทางวัฒนธรรมของไทยกับตะวันตก – โดยโหมโรงพูดในท่าที่อ่อนโยนกว่า โดยนำเอาทั้งสองมาประยุกต์เข้าด้วยกัน แต่ทวิภพพูดในแง่ของการแข็งกร้าวต่อตะวันตก

All About Our House ของ โคกิ มิทานิ ก็พูดถึงการปะทะกันทางวัฒนธรรมของญี่ปุ่นกับตะวันตก ระหว่าง ยานางิซาวะ นักตกแต่งภายในหัวทันสมัย กับ อิวาตะ พ่อตาผู้รับเหมาก่อสร้างที่ยังยึดติดกับแบบแผนญี่ปุ่น
ซึ่งทั้งสองต่างมีความคิดเห็นที่แตกต่างกันไปเกือบทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นสีของหลอดไฟ วิธีการเปิดประตู วัสดุที่ใช้ ฯลฯ
แต่สิ่งที่ทั้งสองเหมือนกันเพียงอย่างเดียวนั่นก็คือนิสัยเอาแต่ใจเหมือนศิลปิน!

เมื่อเวลาผ่านไป ในที่สุดพวกเขาก็ได้เรียนรู้ว่า ไม่มีสิ่งใดที่ไร้ข้อตำหนิและไม่มีสิ่งใดที่ไม่มีดีเลย
แม้แต่เหรียญก็ยังมีสองด้านเสมอ
สุดท้ายพวกเขาก็เลือกที่จะอยู่ด้วยกัน คือ นำเอาทั้งสองอย่างมาประยุกต์เข้าด้วยกัน


คงเป็นดังคำเปรียบเทียบของนาโอสุเกะที่ว่า
“ศิลปิน ถ้าขายงานไม่ออกก็เป็นแค่คนเพี้ยน ๆ
และช่างไม้ ถ้าเอาแต่ทำงานตามที่สั่ง ก็ไม่ผิดอะไรกับหุ่นยนต์”


อย่างไรก็ตาม หากเราย่อมโอนอ่อนกันได้ในบางเรื่องหรือหลายเรื่อง ก็เป็นสิ่งดีมิใช่หรือ?
และวิธีนี้ก็คงไม่ได้ใช้เพียงแค่เฉพาะกับการสร้างบ้านเท่านั้น
ไม่ว่าจะเป็นเรื่องดนตรี วัฒนธรรม การเมือง หรือแม้เรื่องการใช้ชีวิตคู่ ก็คงไม่ต่างกัน
เพราะต่อให้บ้านจะสวยแค่ไหน จะแพงเท่าไร สะดวกสบายเพียงไร
สิ่งสำคัญที่สุดของบ้าน
ก็คือ
ความรักและความเอาใจใส่กันและกันของคนนั่นเอง

All About Our House (Minna no ie) (2001) Japan, Directed by Koki Mitani





 

Create Date : 02 สิงหาคม 2548   
Last Update : 8 เมษายน 2549 21:25:11 น.   
Counter : 824 Pageviews.  

1  2  3  4  

นายจิวสี่
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add นายจิวสี่'s blog to your web]