Group Blog
 
All blogs
 
ตอนที่ 2 ประเภทของฌาน

สวัสดีทุกท่านครับ

ชาวพุทธเป็นจำนวนมากมีนิสัยชอบเจริญสมาธิ อันเป็นขั้นตอนหนึ่งในจะแสวงหาความสุขยิ่งขึ้น สมาธิมีความหมายกว้างกว่าฌาน ความสงบมั่นคงของใจตั้งแต่ชั้นต่ำๆชั่วขณะหนึ่ง จนถึงความสงบขั้นสูงสุด ส่วนฌานมีความหมายจำกัดอยู่ในวง คือ มีองค์หรืออารมณ์ เป็นเครื่องกำหนดโดยเฉพาะเป็นอย่างๆไป

ฌาน ซีรี่ย์ธรรมะ ตอนที่สองนี้จะกล่าวถึงในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ และประเภทของฌาน ครับ



ในอดีตชาติของพระโพธิสัตว์ซึ่งออกบวชเป็นดาบสบำเพ็ญพรตจนได้บรรลุฌาน มีในชาดกหลายเรื่อง เป็นต้นว่า ในสังกัปปราคชาดก พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อบิดามารดาของท่านเสียชีวิต วันหนึ่งได้มองดูทรัพย์สมบัติแล้วนึกถึงบิดามารดาแล้ว

เกิดความสลดใจจึงได้บริจาคทรัพย์ทั้งหมดให้เป็นทานแล้วเข้าไปอยู่ป่าหิมพานต์บวชเป็นฤาษี บำเพ็ญพรตจนได้บรรลุฌานสมาบัติ ในเวลาสิ้นอายุขัยได้บังเกิดในพรหมโลก

ในยุธัญชัยชาดก พระโพธิสัตว์ทรงประสูติในพระนครรัมมะ วันหนึ่งทรงเสด็จไปในพระอุทยานทรงทอดพระเนตรหยาดน้ำค้างติดกันเหมือนตาข่ายที่ทำด้วยด้ายในที่ต่าง ๆ ทรงสลดพระทัยดำริว่า แม้ชีวิตและสังขารแห่งสัตว์เหล่านี้ ก็เป็นเสมือนหยาดน้ำค้างบนยอดหญ้า เราไม่ถูกชรา พยาธิ และมรณะเบียดเบียนเลยทีเดียว ควรจะอำลาพระราชบิดาพระราชมารดาไปบวชดังนี้แล้ว พระองค์จึงได้เสด็จออกบวชเป็นฤาษีอยู่ในป่าหิมพานต์บำเพ็ญพรตจนได้บรรลุฌานอภิญญา เลี้ยงชีพด้วยผลไม้และเผือกมันอยู่ในป่านั้นจนตลอดพระชนมายุ ในเวลาสิ้นพระชนม์ได้เกิดในพรหมโลก

ในสมัยก่อนพุทธกาล สมัยนั้น พวกโยคี ฤาษี และพวกดาบสเป็นจำนวนมากได้เข้าไปอาศัยอยู่ในป่าเพื่อบำเพ็ญพรต จนสามารถบรรลุฌานสมาบัติขั้นต่าง ๆ ก่อนที่พระพุทธองค์จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ได้ทรงเข้าไปศึกษากับคณาจารย์ใหญ่ ๒ ท่านคือ อาฬารดาบส กาลามโคตร และอุทกดาบส รามบุตร ซึ่งเป็นเจ้าของลัทธิสางขยะและโยคะ พระองค์ได้เสด็จไปศึกษากับอาฬารดาบส กาลามโคตร ศึกษาจนบรรลุรูปฌาน ๔ และอรูปฌาน ๓ (ดูประเภทของฌานด้านล่าง) มีอากิญจัญญายตนสมาบัติเป็น ขั้นสูงสุด พระองค์ทรงเห็นว่าอากิญจัญญายตนสมาบัติ ไม่เป็นหนทางเพื่อโพธิญาณ เป็นแต่เพียงผลสัมฤทธิ์ทางจิตชั้นสูงเท่านั้น และจะนำผู้บรรลุเกิดในพรหมโลกชั้นอากิญจัญยาตนภูมิเท่านั้น หาใช่วิถีทางแห่งการบรรลุโพธิญาณที่พึงประสงค์แต่อย่างใดไม่ พระองค์จึงเสด็จออกจากสำนักอาฬารดาบส กาลามโคตร เพื่อไปศึกษากับอุทกดาบส รามบุตร จนสำเร็จเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ต่อมาทรงเห็นว่าเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ไม่เป็นหนทางเพื่อโพธิญาณ เป็นแต่เพียงผลสัมฤทธิ์ทางจิตชั้นสูงเท่านั้นและจะนำผู้บรรลุเกิดในพรหมโลกชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนภูมิเท่านั้น หาเป็นมรรคาเพื่อปัญญาตรัสรู้ไม่ พระองค์จึงเสด็จออกจากสำนักของอุทกดาบส รามบุตร เสด็จจาริกถึงอุรุเวลาเสนานิคม ทรงเห็นสถานที่น่าอภิรมย์สงบ ร่มเย็นจึงประทับบำเพ็ญเพียรอยู่ณ สถานที่นั้น

การแบ่งประเภทของฌาน

ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา แบ่งฌานเป็น ๒ ประเภทบ้าง ๔ ประเภทบ้าง ส่วนในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรมแบ่งฌานเป็น ๕ ประเภท ฯ ฌานหรือสมาธิมีหลายประเภทดังที่นำมากล่าวส่วนหนึ่ง แต่โดยสรุปคือ การบำเพ็ญฌานมีหลักใหญ่ ๆ อยู่ ๒ แบบด้วยกัน คือแบบการเพ่งรูปธรรมและการเพ่งอรูปธรรม เพื่อให้จิตเกิดสมาธิการเพ่งรูปธรรมได้แก่สมถกัมมัฏฐานเพ่งอรูปธรรมได้แก่วิปัสสนากัมมัฏฐาน หรือเรียกอีกอย่างว่ารูปนาม ผู้บำเพ็ญสมถกัมมัฏฐานจนได้บรรลุฌานถ้าไม่หยุดอยู่ตรงนั้นก็ต้องบำเพ็ญวิปัสสนากัมมัฏฐานต่อไป เพื่อบรรลุจุดมุ่งหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา

ตัวอย่าง ในอรรถกถา สมันตปาสาทิกา พระพุทธโฆษาจารย์ แบ่งฌานออกเป็น ๒ ประเภท คือ ๑. การเพ่งอารมณ์ตามแบบสมถะ (อารัมมณูปนิชฌาน) ๒. การเพ่งพิจารณาให้เห็นไตรลักษณ์ตามแบบวิปัสสนา (ลักขณูปนิชฌาน)

แบ่งประเภทของฌานเป็นรูปฌาน ๔ (ภาวะที่จิตเพ่งอารมณ์จนแน่วแน่ โดยการเพ่งรูปธรรมหรือรูปาวจร) คือปฐมฌาน จัดเป็นฌานที่ ๑ ทุติยฌาน จัดเป็นฌานที่ ๒ ตติยฌาน จัดเป็นฌานที่ ๓ จตุตถฌาน จัดเป็นฌานที่ ๔
และอรูปฌาน ๔ ได้แก่ ภาวะที่จิตเพ่งในอรูปธรรมเป็นอารมณ์ คือ ๑. อากาสานัญจายตนะ ๒. วิญญาณัญจายตนะ ๓. อากิญจัญญายตนะ ๔. เนวสัญญานาสัญญายตนะ

ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม เฉพาะอย่างยิ่งยุคหลังรุ่นอรรถกถาฎีกา นิยมแบ่งรูปฌาน เป็น ๕ ขั้น เรียกว่าฌานปัญจนัย ที่เป็นฌาน ๕ เพราะซอยละเอียดออกไปจาก (รูป) ฌาน ๔ นั่นเอง คือแทรกเพิ่มฌานที่ ๒ เข้ามาอีกข้อหนึ่ง ระหว่างปฐมฌานกับทุติยฌานเป็นต้น

ในอนุปุพพวิหารสมาปัตติสูตร ว่าด้วยอนุปุพพวิหารสมาบัติ ๙ ประการ คือรูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ คือ ทรงแสดงธรรมเป็นที่ดับที่ดับไปในอนุปุพพวิหารสมาบัติแต่ละอย่าง และทรงยกย่องผู้ดับธรรมแต่ละอย่างด้วยฌานนั้น ๆ ว่า “เป็นผู้ควรนมัสการ ควรไหว้ และควรเข้าไปนั่งใกล้”

ในฌานสูตร๔ พระองค์ทรงแสดงว่าอาสวะทั้งหลายสิ้นไปได้เพราะอาศัยปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน ฯลฯ เพราะอาศัยสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วทรงนำมาติกาแต่ละบทมาตั้งเป็นคำถามว่า เพราะเหตุไรจึงทรงกล่าวอย่างนั้น จากนั้นทรงอธิบายขยายความแต่ละมาติกาอย่างละเอียด

ในสัมพาธสูตร ว่าด้วยวิธีหาทางออก (ช่อง) ในที่แคบ ที่แคบสำหรับผู้บำเพ็ญฌาน ได้แก่นิวรณ์ ๕ วิธีออกทางช่องว่าง หมายถึงความหลุดพ้น กล่าวคือภาวะที่ทำให้เกิดช่องว่างหรือที่ปลอดจากกิเลสต่าง ๆ เปรียบเสมือน “ที่แคบ” หมายเอา รูปฌาน ๔ อรูปฌาน ๔ และสัญญาเวทยิตนิโรธ ๑ (นิโรธสมาบัติ)

เรียบเรียงจาก พระมหากฤช ญาณาวุโธ พระอริยคุณาธาร พระไตรปิฎก ภาพประกอบอินเตอร์เน็ต

ฌานนี่เองเป็นที่ตั้งแห่งอำนาจพิเศษ เป็นต้นว่า บุพเพนิวาสานุสสติญาณ (ฉลาดในการระลึกชาติก่อนได้) ทิพพจักขุญาณ (ฉลาดในทางตาทิพย์) จุตูปปาตญาณ (ฉลาดรู้จุติ และอุปบัติ ตลอดถึงการได้ดีตกยากของสัตว์ ตามกำลังกรรม) คืออำนาจพิเศษจะเกิดขึ้นแก่บุคคล ย่อมต้องอาศัยฌานทั้ง 4 เป็นบาทฐาน ข้อนี้เป็นอานิสงส์ของสมาธิขั้นอัปปนาสำหรับผู้ได้ สมาบัติ 8 แล้ว เมื่อต้องการอภิญญา ก็อาจทำให้เกิดขึ้นได้ ดังตัวอย่างที่ตรัสว่า

“เมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ผุดผ่องไม่มีกิเลสเพียงดังเนิน ปราศจากความเศร้าหมอง อ่อนเหมาะแก่การงาน ตั้งมั่นไม่หวั่นไหวอย่างนี้ ภิกษุนั้นน้อมจิตเพื่อปุพเพนิวาสานุสสติญาณ ระลึกชาติก่อนได้หลายชาติ"

ตอนต่อไปจะกล่าวถึงธรรมปฎิบัติ เป็นขั้นตอนเพื่อให้ได้ฌาน อภิญญา โปรดติดตามครับ


Create Date : 03 พฤศจิกายน 2551
Last Update : 3 พฤศจิกายน 2551 16:09:25 น. 0 comments
Counter : 1538 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ebusiness
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]







พระพุทธเจ้าทรงมอบสิ่งที่ดีที่สุดไว้ให้แก่มวลมนุษยชาติ สิ่งนั้นคือพระธรรมที่ใช้เป็นกรอบในการดำเนินชีวิตไปสู่สิ่งที่ดีงาม สู่ความเจริญสูงสุดของชีวิต ในฐานะชาวพุทธ ทุกคนมีหน้าที่ที่จะต้องดูแลรักษาสิ่งที่ดีเหล่านี้เอาไว้ให้ได้นานที่สุด อย่างน้อยก็ในช่วงชีวิตเราแต่ละคน
Friends' blogs
[Add ebusiness's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.