εїз ต้นธรรม εїз เติบโตงดงามด้วยคุณธรรม
แหงนหน้ามองขึ้นใปจากโคนต้น เห็นรูปทรงแผ่ระย้ากิ่งสาขา จากร่มเงาแต่ละใบที่ได้มา เกิดจากว่าผู้มีใจไฝ่ในบุญ
Group Blog
 
All blogs
 
ความดีที่เป็นสากล และทำลายวัตถุเพื่ออะไร สร้างความเข้าใจดีกว่า 510727

ธรรมะOn M. เรื่อง ความดีที่เป็นสากล และทำลายวัตถุเพื่ออะไร สร้างความเข้าใจดีกว่า (วันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๑)

ตัดต่อและเรียบเรียงโดย พระปิยะลักษณ์ ปัญฺญาวโร


เป้ says:
เชิญพี่กลม .. น้องแพน .. คุณจอย .. คุณก้อย .. พี่ปานค่ะ
นิมนต์พระอาจารย์ปิยะลักษณ์ค่ะ

พระปิยะลักษณ์ ปญฺญาวโร says:
เจริญพรญาติโยมทุกคน

วันนี้ใครมีคำถามอยากถามบ้างคะ
ปาน says:
ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้นต่อหน้าเรา ควรทำอย่างไรครับ
๑.วิ่งหนี  ๒.ยอมให้ถูกทำร้าย (เพื่อคนที่ทำจะสำนึก)
๓.ตอบโต้ด้วยความรุนแรง (ตามสมควร) ....กรณีที่การพูดคุยไม่สามารถทำได้ (เข้ากับสถานการณ์หน่อยนะครับ)
ที่อุดรเหรอคะพี่ปาน
ครับ...อาจจะมีที่อื่นด้วยตามมาแน่ๆ
ถ้าความรุนแรงเกิดขึ้น เช่น การทำร้ายกันเป็นต้น เราควรพิจารณาก่อนว่า สถานการณ์นั้นมีลักษณะเป็นอย่างไร เกิดขึ้นจากอะไร มีความถูกต้องหรือไม่ สมควรหรือไม่อย่างไรที่เราจะเข้าไปช่วยเหลือ และเราควรจะช่วยเหลืออย่างไร รวมถึงเรามีความสามารถหรือไม่ที่จะเข้าไปช่วยเหลือ
ถ้าเป็นสิ่งที่เราสมควรเข้าไปช่วยเหลือ และเราก็อยู่ในสถานะที่สามารถช่วยเหลือได้ ก็ควรทำ

งั้นเข้าไปยุ่งก็ต่อเมื่อต้องการที่จะช่วยเหลือ แต่การตอบโต้ล่ะ หรือการป้องกันตนเอง.. สู้กลับ
คงจำกัดอยู่แค่การป้องกันตัวและช่วยเหลือผู้อื่นเท่านั้นครับ


………………………………………


duangrutai says:
คำถามค่ะ คำว่าการทำบุญ คือ การทำบุญกับพระ หรือคนที่มีศีลบริสุทธิ์ กับการเจริญวิปัสสนา(เท่านั้น)หรือค่ะ ถ้าคนที่ไม่ได้นับถือศาสนาพุทธ เขาก็จะไม่รู้จักศีลและการเจริญวิปัสสนาเท่าคนที่นับถือศาสนาพุทธ แล้วเขาจะได้บุญหรือเปล่าค่ะ

ได้สิ ไม่แตกต่างกัน ขึ้นต่อเจตนาและความตั้งใจ รวมถึงศรัทธาที่มีในระหว่างการกระทำบุญว่ามีมาก-น้อยเพียงใด ซึ่งการทำบุญมี ๑๐ วิธีด้วยกัน
บุญ ๑๐ วิธีที่ทางกรมศาสนาให้คำจำกัดความไว้ ใช่หรือไม่ค่ะ
วิธีการทำบุญหรือที่ตั้งแห่งบุญที่เรียกว่าบุญกิริยาวัตถุนั้นมี ๑๐ ประการ คือ
๑   ทานมัย  ทำบุญด้วยการให้ปันสิ่งของ
๒   สีลมัย  ทำบุญด้วยการรักษาศีลหรือประพฤติดี
๓   ภาวนามัย  ทำบุญด้วยการเจริญภาวนา คือ ฝึกอบรมจิตใจเจริญปัญญา
๔   อปจายนมัย  ทำบุญด้วยการประพฤติอ่อนน้อม
๕   เวยยาวัจจมัย  ทำบุญด้วยการช่วยขวนขวายรับใช้
๖   ปัตติทานมัย  ทำบุญด้วยการเฉลี่ยส่วนแห่งความดีให้แก่ผู้อื่น
๗   ปัตตานุโมทนามัย  ทำบุญด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น
๘   ธัมมัสสวนมัย  ทำบุญด้วยการฟังธรรมศึกษาหาความรู้
๙   ธัมมเทสนามัย  ทำบุญด้วยการสั่งสอนธรรมให้ความรู้ 
๑๐ ทิฏฐุชุกัมม์  ทำบุญด้วยการทำความเห็นให้ตรง

อย่างข้อที่ ๑๐ การทำความเห็นให้ถูกต้อง คนเราจะทำความเห็นออกไปในทำนองใดนั้น ขึ้นกับศรัทธาและความเชื่อ ถ้าเขาเชื่ออะไรสักอย่าง แต่มันอาจจะขัดแย้งกับศาสนาพุทธ แล้วเขาจะได้บุญหรือเปล่าค่ะ
บุญ คงไม่แบ่งศาสนามั้งคะ
ความเชื่อที่ถูกต้องนั้น มิได้มีความหมายของการบัญญัติในศาสนาใดศาสนาหนึ่ง มิใช่หมายความว่าจะต้องตรงตามหลักการของศาสนาใด หรือจะต้องอ้างอิงบทบัญญัติในศาสนาใด
แต่การมีความเห็นที่ถูกต้อง หรือการกระทำความเห็นให้ตรงนั้น ขึ้นต่อความเข้าใจในเหตุผลและกระบวนการอันนำไปสู่การปฏิบัติ อันเป็นสาระสำคัญที่จะนำผู้ปฏิบัติไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ
การมีความเห็นที่ถูกต้อง คำว่า ถูกต้อง นั้น หมายถึง สิ่งนั้นจะต้องมีเหตุมีผลในตัวเอง มีความประสานสอดคล้องกับเหตุปัจจัยในธรรมชาติ เข้าถึงความจริงของธรรมชาติ และเป็นสิ่งที่มีความเสมอภาคกันไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดหรือลัทธินิกายใดก็ตาม หากประพฤติปฏิบัติเช่นนั้นก็ย่อมให้ผลเป็นอย่างเดียวกัน ไม่ว่าจะประพฤติเช่นนั้นกับใครหรือกับสิ่งใดก็ตาม
ยกตัวอย่างเช่น การฆ่าสัตว์ เราอาจเข้าใจในเหตุผลได้ว่าไม่ดี ด้วยเหตุว่า เมื่อเราก็รักชีวิต ผู้อื่นก็ย่อมรักและหวงแหนในชีวิตเช่นกัน เมื่อเราปรารถนาความสุขและเกลียดกลัวความทุกข์ ผู้อื่นก็ย่อมจะปรารถนาความสุขเช่นเดียวกัน ฉะนั้น เราจึงไม่ควรทำร้ายใครหรือบุคคลใดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือสัตว์เดรัจฉานก็ตาม อย่างนี้เป็นต้น

อันนี้เข้าใจค่ะ
จะเห็นได้ว่า สัจธรรมเป็นสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล เข้าใจได้ และเป็นสากล คือมีความเสมอภาคกัน ไม่ว่ากับบุคคลใดหรือแม้แต่สัตว์ประเภทใด โดยไม่ยกเว้นว่า บุคคลนั้นเป็นศาสนิกของตนหรือไม่ เป็นคนในชนชาติของตนหรือไม่ เป็นสัตว์ที่มีโครงสร้างทางพันธุกรรมอย่างเดียวกัน หรือแม้แต่มีความคิดความเห็นที่แตกต่างกันกับตนหรือไม่ นั่นย่อมไม่ใช่สาเหตุที่จะยกขึ้นอ้างเพื่อเบียดเบียนบุคคลอื่นเพียงเพราะความแตกต่างทางด้านความคิด ความเชื่อ หรือวิถีการดำเนินชีวิต
ฉะนั้น จะเห็นได้ว่าการกระทำที่ดีไม่ว่าจะกระทำต่อบุคคลใด ก็ล้วนแต่เป็นความดี เช่นเดียวกับความชั่วซึ่งไม่ว่าจะกระทำต่อบุคคลใด ก็ล้วนแต่เป็นความชั่ว ส่วนความรู้ความเข้าใจและการยึดถือที่แตกต่างกัน ก็ย่อมจะมีผลโดยธรรมชาติ ต่อสภาพของจิตใจของบุคคลนั้น ความเป็นอิสระ ความเชื่อมั่นในสิ่งที่ตนกระทำอันประกอบไปด้วยเหตุผลและปัญญา ย่อมให้ความสงบแก่จิตใจที่ไม่เหมือนกัน
ฉะนั้น องค์ประกอบที่สำคัญอันบูรณาการที่จะนำชีวิตไปสู่ทางดำเนินที่ถูกต้อง จึงอาศัยองค์ประกอบทั้ง ๓ ผสานสอดคล้องไปด้วยกัน คือ ความประพฤติที่ดีงาม ภาวะจิตที่มีความเบิกบานผ่องใส และปัญญาความรู้อย่างถูกต้องในสิ่งที่ตนกระทำ ที่เรียกรวมว่า สิกขา ๓ คือการฝึกหัดพัฒนาไปพร้อมกันทั้ง ๓ ด้าน คือ ศีล สมาธิ และปัญญา
นั่นเอง
อย่างเช่น คนเราสมัยปัจจุบันสอนให้ระมัดระวังตนเอง เวลาเกิดเหตุอะไรขึ้น เช่น มีคนร้ายเข้าทำร้ายร่างกายคนอื่น แต่ทุกคนก็ต้องระวังความปลอดภัยของตนเองก่อน คือวิ่งหนีไป แล้วอย่างนี้เขาทำความเห็นไม่ถูกต้องหรือเปล่า เพราะถ้าเขาช่วยเขาอาจได้รับอันตราย ทำให้คนข้างหลังเดือดร้อน  แต่ถ้าไม่ช่วยก็จะไม่มีน้ำใจ
เช่น เวลายุงมากัดเรา ยุงทำร้ายร่างกายเรา เราป้องกันตัว คือ ตบมัน เผอิญมันตาย แปลว่า ยุงถึงคาดเองหรือเปล่าค่ะ

ตบมัน แล้วเผอิญมันตาย ?
การตบยุง ขึ้นต่อเจตนา ถ้าเรามีเจตนาทำร้ายสัตว์ก็เป็นบาป ถ้าเรามีเจตนาจะฆ่ามัน ก็เป็นบาปที่เกิดจากเจตนาในการฆ่า
คำว่า “เผอิญมันตาย” นั้น ต้องมาดูว่า เรามีเจตนาตั้งแต่ต้นอย่างไร เราหวังผลจากการกระทำนั้นอย่างไร เช่น ต้องการให้มันบินหนีไป หรือต้องการให้มันตาย เป็นต้น

เราปัดป้อง แปลว่า ต้องการไล่ แต่เรามือใหญ่ ตัวใหญ่ แรงเลยเยอะ ทำให้ยุงตายค่ะ
เชิญคุณพิ้งค์ .. คุณซุง .. เชิญคุณนอร์ธค่ะ
พิ้ง-P*^~ I +N~^*K :กินอาหารหลากหลายมีผักผลไม้ ๕ ชนิดต่อวัน says:
นมัสการพระคุณเจ้าค่ะ ขออ่านนะคะ

ฑิตซุง says:
นมัสการพระคุณเจ้าครับ
นอร์ทthe-wealth-societyความมั่งคั่งไม่ใช่เงินตรา says:
นมัสการพระคุณเจ้า และธรรมะสวัสดีพี่ๆ ทุกท่านครับ

กำลังคุยกันถึงเรื่อง บาปเกิดขึ้นที่ใด ขึ้นต่อความคิด และแบ่งแยกศาสนาหรือไม่
การพิจารณาถึงสิ่งที่ควรกระทำและไม่ควรกระทำนั้น เราพึงพิจารณาถึงสภาพความเป็นกุศลหรืออกุศลประกอบไปด้วย
สิ่งที่เรียกว่ากุศลกรรมหรือการกระทำความดีนั้น หมายถึง การกระทำที่ไม่มีโทษ และสิ่งนั้นเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลประกอบกันนั่นล่ะ จึงจะเรียกว่าเป็นความดี หรือเป็นกุศลกรรม

แต่การเจตนาฆ่า คือเราตั้งใจตบให้ตาย แต่เมื่อป้องกันตัว คือ การปัดป้อง แต่เผอิญยุ่งโชคร้ายเลยตาย นั้นเป็นเพราะเรารักชีวิต ยุงก็ต้องการเลือดเราไปเลี้ยงชีวิต ถ้าเราเสียสละเลือดให้ยุง แล้วเราเป็นไข้เลือดออกเสียชีวิต เราสร้างความลำบากให้กับคนข้างหลัง เราก็ไม่ได้บุญจากการสละเลือดให้ยุงอยู่ดี อย่างนี้ เส้นแบ่งระหว่างกุศลกับอกุศล พิจารณาลำบากใช่หรือไม่ค่ะ
ในกรณีนี้เช่นว่า เราคิดว่าจะตบยุงให้ตาย เพื่อไม่ให้กัดเรา เพราะถ้ากัดเราๆ จะต้องเป็นไปต่างๆ มากมาย และอาจเกิดผลร้ายต่างๆ ตามมาอย่างที่โยมยกตัวอย่างนั่นล่ะ ตรงนี้เราอาจสงสัยว่า ควรกระทำหรือไม่ควรกระทำ
ข้อนี้พิจารณาไม่ยาก คือ เราลองพิจารณากลับกัน ว่าถ้าเราไปทำร้ายบุคคลอื่น (มิใช่หมายถึงว่าเราต้องเป็นยุงเท่านั้นนะ) เช่น เราไปกัดใครสักคนหนึ่ง หรือเราไปตีใครสักคน แล้วคนนั้นก็คิดว่า ต้องตีเราให้ตาย เขาจะได้ไม่เดือดร้อนหรือปลอดภัย อย่างนี้เราย่อมเห็นว่าไม่สมควรแก่เราฉันใด
กรณีนี้ก็ฉันนั้น เราพอจะเข้าใจได้ว่า การกระทำของเรานี้สมควรหรือไม่ หรือเราพอใจหรือไม่ต่อเหตุผลที่เขามีให้แก่เราเช่นนั้น วิธีการหนึ่ง คือ เอาใจเขามาใส่ใจเรา หรือคิดกลับกันว่าเราเป็นเขา หรือเขาเป็นเรา แล้วเขาทำเช่นนั้นกับเราบ้าง หรือใครสักคนทำเช่นนั้นกับเราบ้าง เราจะคิดอย่างไร เราจะพอใจหรือไม่ จะยินดีหรือไม่ ถ้าเรายินดีพอใจ เห็นว่าสมควรแล้วดีแล้ว อย่างนี้ก็อาจพิจารณาได้ว่า สิ่งนั้นน่าจะกระทำได้
ที่กล่าวว่า "น่าจะ" เท่านั้น เพราะเหตุว่า จะต้องพิจารณาองค์ประกอบอื่นประกอบไปด้วยเช่นกัน อย่างที่ได้กล่าวเบื้องต้นว่า การกระทำนั้นไม่มีโทษต่อบุคคลใดใช่หรือไม่ และการกระทำนั้นก่อให้เกิดประโยชน์โดยส่วนเดียวใช่หรือไม่ และรวมถึงการกระทำนั้นเป็นธรรมแล้วใช่หรือไม่ คือ ยุติธรรมแล้วใช่หรือไม่ ดังนี้ ก็พอสรุปได้ว่าเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือเป็นกุศลกรรมอย่างแน่นอนนั่นเอง

แล้วการฆ่า เพื่อกำจัดพาหะของโรคล่ะเจ้าคะ
ก็ใช้เกณฑ์ข้างต้นนั่นล่ะพิจารณา
๑ เอาใจเขามาใส่ใจเรา
๒ ไม่มีโทษใช่หรือไม่
๓ มีประโยชน์ใช่หรือไม่
เมื่อครบองค์ประกอบทั้ง ๓ ก็มั่นใจได้ว่าสมควรกระทำได้

มีประโยชน์มากกว่าโทษ อย่างนี้ก็ฆ่าได้สิ ไม่บาป สามข้อข้างต้น ไม่น่าเป็นเกณฑ์ตัดสินว่าบาปหรือไม่นะ
คำว่า "มีประโยชน์มากกว่าโทษ" ก็หมายความว่า ยังเป็นโทษอยู่นั่นเอง เช่นนี้ก็เรียกว่ามีทั้งส่วนที่เป็นกุศลและอกุศลปะปนกันไป
ขอขอบพระคุณค่ะ สำหรับหลักในการพิจารณาการกระทำค่ะ
duangrutai has left the conversation.

ไปซะแล้ว พี่กลมอยู่ญี่ปุ่นค่ะ เวลาตอนนี้ก็คงสี่ทุ่มครึ่งที่โน่น ไปศึกษาต่อ ต้องออนที่ทำงาน ที่หอไม่มีเน็ท
เชิญพี่ชุค่ะ

หนูนิด says:
กราบนมัสการเจ้าค่ะ  สวัสดีทุกๆ ท่านค่ะ


………………………………………


มีใครเคยได้เห็นข่าว ที่เจ้าอาวาสรูปหนึ่งเอากระดาษไปปิดหน้าพระพุทธรูป ว่าไม่ไห้กราบบ้างคะ
อย่า::อยู่::อย่าง::อยาก says:
ไม่เคยค่ะพี่เป้

ไม่เคยค่ะ
ไม่เคยครับ ปิดทำไมเหรอ?
เขาเขียนว่า "ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พระพุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน"
เวร-กรรม
ข่าวเพิ่งวันสองวันนี้ค่ะ
แล้วท่านเจ้าอาวาสทำเพื่อจุดประสงค์อะไรคะ
ท่านว่าเจตนาไม่ให้เคารพรูปเหมือน ให้เคารพแต่พระพุทธที่ไม่ใช่รูปเหมือน
อ้าว
อย่างไรคะ ต้องกระทำยังไง อ่านแล้วสับสน
แปลกดี อาจจะต้องการให้คนเลิกเคารพวัตถุ แล้วหันมองพระธรรมคำสอนแทน?
เหมือนว่า ท่านพยายามรณรงค์ไม่ให้คนนับถือเครื่องราง วัตถุมงคลต่างๆ
หืม.. อย่างนี้ก็เจตนาดีสิ เป็นกรรมดีหรอคะ
แต่ก็รวมไปถึงพระพุทธรูปด้วย ทำไมเป็นอย่างนั้น อย่างนี้หรือเปล่าที่เรียกว่าตึงเกินไป
ความจริงแล้ว พระพุทธรูปทั้งหลายก็เป็นสิ่งสมมติให้เราระลึกถึงสิ่งที่ดีงาม เช่น พระพุทธเจ้า เป็นต้น จริงอยู่ พระพุทธรูปนั้นไม่ใช่พระพุทธเจ้า ก็เช่นเดียวกับธงชาติไม่ใช่ประเทศชาติ เครื่องแบบทหารตำรวจหรือเหรียญตราเชิดชูเกียรติ์ ก็มิใช่บุคคลๆ นั้น สถานที่นั้น หรือตำแหน่งหน้าที่นั้น ภาพถ่ายของคนที่เราเคารพรัก ก็ไม่ใช่บุคคลๆ นั้น แม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ หรือห้องหับบ้านช่อง เช่น สถานที่ๆ พ่อแม่หรือปู่ย่าตายายเคยอยู่อาศัย หรือของใช้ส่วนตัวบางอย่าง ก็ย่อมไม่ใช่บุคคลๆ นั้นเช่นเดียวกัน อย่างนี้เป็นต้น
เชิญน้องส้มค่ะ
ส้ม says:
สวัสดีค่ะ

แต่เมื่อเราเห็นสิ่งเหล่านี้ ย่อมเตือนใจให้ระลึกถึงสิ่งที่ดีงามต่างๆ ความทรงจำที่ดีงาม รวมถึงความหมายและคุณค่าของการมีสิ่งเหล่านั้น ช่วยให้เราระลึกถึงบุคคลๆ นั้น เรื่องราวต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะเตือนใจเราให้ระลึกถึงความดีงามที่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์แก่ชีวิตเรา ว่าสิ่งเหล่านั้นมีความหมายอย่างไร ช่วยให้เกิดกำลังใจ ความเข้มแข็ง และแรงผลักดันในการกระทำความดีเพียงใด นี่ล่ะคือประโยชน์ของการมีสิ่งเตือนใจให้ระลึกถึงสิ่งต่างๆ ที่มีคุณค่า ควรแก่การระลึกถึง ดังเช่น พระพุทธรูป เป็นต้น
ในเวปไทยรัฐ ยังมีอยู่หรือเปล่านะ
//www.thairath.co.th/chksearch.php?newspage=offline.php@section= = hotnews--content ๙๘๓๑๑
ข่าวเขาบอกว่า เจ้าอาวาสองค์นี้ เคยทุบทำลายพระพุทธรูปที่ชาวบ้านนำมาถวาย ทิ้ง ขุดหลุม ราดน้ำกรดกลบทับ คนที่แขวนพระเครื่องก็เข้าวัดไม่ได้
เจ้าอาวาสบอกว่า คนที่พึ่งสิ่งเหล่านี้ ถือเป็นชาวพุทธสกปรก การศึกษาธรรมะถึงแก่นแท้ต้องไม่ติดยึดกับวัตถุใดๆ
ต้องทำถึงขนาดนั้นเหรอ ห้ามกราบไหว้พระพุทธรูป

ความจริงพระพุทธรูป หรือพระพุทธปฎิมา ก็เป็นหนึ่งในเจดีย์ ที่เรียกว่า อุเทสิกเจดีย์ อันเป็นที่ควรแก่การเคารพเช่นเดียวกัน
เอ.. ตกลงบุญหรือบาปนะที่ทำแบบนี้ เราถูกสอนมาว่าไม่สมควรค่ะ
สิ่งที่ควรแก่การสักการบูชา เป็นที่ตั้งแห่งการระลึกถึง ซึ่งในที่นี้หมายถึง สถานที่หรือสิ่งที่ควรแก่การสักการบูชาอันเนื่องด้วยพระพุทธเจ้า หรือพระพุทธศาสนา เรียกว่า “เจติยะ” หรือเรียกเต็มๆ ว่า สัมมาสัมพุทธเจดีย์ หรือ พุทธเจดีย์ มี ๔ ประเภท คือ
๑. ธาตุเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ
๒. บริโภคเจดีย์ ได้แก่ สิ่งของหรือสถานที่ๆ พระพุทธเจ้าได้เคยใช้สอย อย่างแคบหมายถึงต้นโพธิ์ อย่างกว้างหมายถึงสังเวชนียสถาน ๔ ตลอดจนสิ่งทั้งปวงที่พระพุทธเจ้าเคยทรงบริโภค เช่น บาตร จีวร และบริขารอื่นๆ เป็นต้น
๓. ธรรมเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์บรรจุพระธรรม หรือเจดีย์ที่จารึกพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เช่น บรรจุใบลานจารึกพุทธพจน์แสดงหลักปฏิจจสมุปบาท หรือแม้แต่หอพระไตรปิฎก หรือส่วนที่เป็นพระไตรปิฎกเอง ไม่ว่าจะจารึกในรูปแบบใด
๔. อุทเทสิกเจดีย์ ได้แก่ เจดีย์สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า หรือเจดีย์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธบูชา เช่น พระพุทธรูป พุทธบัลลังก์ พระแท่นพระพุทธเจ้า พระพุทธฉาย ซึ่งพระพุทธรูปก็เป็นหนึ่งในพุทธเจดีย์ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้นั่นเอง

ค่ะ
แสดงว่า เราก็สามารถบูชาในสิ่งที่แทนตัวพระพุทธเจ้าได้ ไม่ได้ห้ามไว้ แสดงว่าพระรูปนี้ทำเกินไป
@ดูกรอานนท์ สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเหล่านี้ เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา สังเวชนียสถาน ๔ แห่งเป็นไฉน คือ
๑. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ ฯ
๒. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ ฯ
๓. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่าพระตถาคตทรงยังอนุตตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ ฯ
๔. สังเวชนียสถานอันเป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธาด้วยมาตามระลึกว่า พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้
สังเวชนียสถาน ๔ แห่งนี้แล เป็นที่ควรเห็นของกุลบุตรผู้มีศรัทธา ฯ ดูกรอานนท์ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จักมาด้วยความเชื่อว่า พระตถาคตประสูติในที่นี้ก็ดี พระตถาคตตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในที่นี้ก็ดี พระตถาคตทรงยังอนุตรธรรมจักรให้เป็นไปในที่นี้ก็ดี พระตถาคตเสด็จปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุในที่นี้ก็ดี ก็ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่ง เที่ยวจาริกไปยังเจดีย์ มีจิตเลื่อมใสแล้ว จักทำกาละลง ชนเหล่านั้นทั้งหมดเบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ฯ

ข้อ ๓  สมัยพุทธกาล มีบันทึกไว้แล้วเหรอเจ้าคะ
ธรรมเจดีย์ เจดีย์บรรจุพระธรรม เช่น คำบันทึกพระพุทธพจน์แม้เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง หรือเพียงประโยคใดประโยคหนึ่ง ก็เป็นธรรมเจดีย์ได้แล้ว
ในที่นี้ บางท่านเข้าใจว่า ในสมัยพุทธกาลยังไม่มีการบันทึก หรือไม่มีลายลักษณ์อักษร แต่ความจริงแล้ว การบันทึกเรื่องราวหรือข้อความเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นมีมาแต่สมัยพุทธกาลแล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้ใช้เป็นหลักในการทรงจำสืบต่อพระพุทธพจน์เท่านั้น

แบบนี้จะเรียกว่า พระรูปนี้หลง หรือว่าโทสะเจ้าคะ?
โทสะน่ะ มีโทสะแน่ แต่ทว่า ท่านหลงหรือไม่ ก็ต้องฟังเหตุฟังผลของท่านก่อน และดูที่ความเข้าใจของท่าน ว่าท่านเข้าใจสมมติหรือไม่ ว่าพระพุทธรูปนั้นมีไว้เพื่ออะไร มีประโยชน์หรือมีโทษอย่างไร
โยมว่า ทั้ง ๒ อย่างเลยนะค่ะ
หรือองค์พระพุทธรูปนั้นก็มิได้มีผลเสียกับใคร เพียงแต่ผู้คนส่วนใหญ่หลงไหลกันไปเองถึงความขลังความศักดิ์สิทธิ์ เป็นต้น
ถ้าเป็นเช่นว่านี้ ก็ต้องไปแก้ที่ความเข้าใจผิดของคน หรือของพุทธบริษัทเหล่านั้น จะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการไปทำลายวัตถุซึ่งเป็นสิ่งชักจูงจิตใจไปสู่คุณธรรมความดีงามที่ภายใน
เพราะแม้จะทำลายวัตถุไปแล้ว ก็ใช่ว่าจะเปลี่ยนแปลงความเข้าใจหรือจิตใจของคนได้ หากเขาไม่เกิดปัญญาเข้าใจความหมายและประโยชน์อันจะเกิดขึ้นจากการมีพระพุทธรูปหรือวัตถุใดก็ตามอันจะสื่อไปถึงธรรม

หรือว่าท่านคิดว่า ทำอย่างนี้ง่ายดี ปฏิเสธ(ทั้งหมด) ให้ดูเป็นตัวอย่าง มีอีกอันที่เจ้าอาวาสรูปนี้ทำ คือ โอนบุญให้เชื้อโรค
เพราะหากเราใช้วิธีการทำลายรูปวัตถุที่คนหลงไหลเข้าใจผิดยึดถือผิดอย่างนี้ ถ้ามีคนเขาไปวัดแล้วเขาไปไหว้ใบสีมา โบสถ์วิหาร ไหว้ศาลาการเปรียญ หรือสถูปเจดีย์ใดโดยเข้าใจไปว่าขลังศักดิ์สิทธิ์
เช่นว่า โบสถ์นี้ศักดิ์สิทธิ์ ต้นไม้นี้ศักดิ์สิทธิ์มีเทวดาอารักษ์อาศัยอยู่ อย่างนี้ท่านเจ้าอาวาสมิต้องไปทุบโบสถ์ หรือตัดต้นไม้ให้หมดอย่างนั้นหรือ?

พระพุทธองค์แม้จะเห็นความเชื่อหรือยึดถือวัตถุเทพเจ้าของลัทธิอื่น ก็ไม่เคยทำลายสิ่งเหล่านั้นด้วยการประทุษร้าย หรือทำรุนแรงกับวัตถุ แต่จะค่อยๆ ให้ธรรมะ
ท่านทำลายอย่างนี้ คนส่วนมากที่เห็นท่านทำ ก็คงจะเกิดโทสะหรือไม่ก็โมหะ เพราะไม่ได้ให้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ว่าไปแล้วจะบูชาพระพุทธเจ้าได้อย่างไรที่วัดนี้ แม้แต่ตัวท่านเอง กราบที่ไหน คงพระไตรปิฎกมั้ง
เรียกว่า คนติดอะไรก็ไปทุบอันนั้น อย่างนี้ก็เหนื่อยตายและสิ้นเปลืองเปล่าๆ ฉะนั้น แทนที่เราจะไปทำลายวัตถุซึ่งเป็นได้ทั้งคุณและโทษ ขึ้นต่อบุคคลว่าจะยึดถือถูกหรือยึดถือผิด อย่างนี้เรากลับมาแก้ที่ความเห็นผิดของคนด้วยการให้ปัญญาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องไม่ดีกว่าหรือ?
พระไตรปิฎกก็เป็นวัตถุก็ไม่ต่างกันหรอกค่ะ นั้นเป็นความคิดของพระรูปนี้ (ถ้าคิดอยางนั้นนะ) แบบนี้.. การปฏิบัติการประพฤติธรรมยังต้องอาศัยรูป อาศัยนิมิตก่อนเลย แล้วจึงพิจารณาไตรลักษณ์จึงละ แต่นี่ไปทำลายนิมิตเครื่องหมาย รูปที่ศรัทธา นี้ก็หลงในความคิดตัวเองแล้ว.. ทำลายข้าวของ ก็ประกอบด้วยโทสะแล้ว

………………………………………


ขออนุญาตดึงคุณจ๋ามาร่วมด้วยนะครับ
ค่ะคุณนอร์ธ สวัสดีค่ะคุณจ๋า
jaja says:
สวัสดีทุกท่านค่า กราบนมัสการหลวงพี่ค่ะ

เจริญพรจ๊ะ
คงจำคุณจ๋าได้นะครับ ไม่ได้เข้าวงสนทนาธรรมนานแล้ว
อยากสอบถามเกี่ยวกับเรื่องของการดำเนินธุรกิจนะเจ้าค่ะ คือว่าภาวะเศรฐกิจช่วงนี้ค่อนข้างลง มีบริษัทนึงอาสาช่วยในการไปกู้แบงค์ โดยมีการสร้าง Book Bank สวยๆ กำลังชั่งใจว่า ระหว่างความรับผิดชอบต่อบริษัท ที่ต้องนำพาไปให้รอด กับการไปกู้เงินด้วยวิธีนี้ มันรู้สึกผิดๆ ยังไงๆ อยู่นะเจ้าค่ะ ไม่ทราบว่าหลวงพี่มีความเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้บ้างเจ้าค่ะ
ยังไม่ค่อยเข้าใจวิธีการดำเนินงานนะ ว่าทำอย่างไรให้ Book Bank สวย
ขอถามแบบในทางโลกนะครับ -> ทำไมไม่ยื่นกู้เองครับ?
คือคนทำเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารค่ะ หลักเกณในการปล่อยสินเชื่อตอนนี้ปล่อยยากค่ะ
คือการปรับข้อมูลเพื่อ...  
เป็นการโกหกล่ะสิ

ขอตั้งข้อสังเกตนะคะ น่าจะเป็นการหลอกลวง ไม่น่าไว้ใจค่ะ
เข้าใจว่าอย่างนั้น คือ เค้าเป็นพนักงานธนาคาร ที่โกงธนาคารนะค่ะ
ขอให้ความเห็นในทางโลกนะครับ -> การปล่อยสินเชื่อของธนาคาร ธนาคารจะดูศักยภาพของบริษัท ความน่าเชื่อถือของบริษัท และหลักทรัพย์ค้ำประกันของบริษัท การที่เราไม่ผ่านแสดงว่าคุณค่าของบริษัทเรายังมีไม่มากพอ หากปล่อยสินเชื่อไป อาจเกิดปัญหาในภายหลัง ก่อให้เกิด NPL ในระบบได้
ช่ายค่ะ ถูกต้องที่คุณนอร์ทว่า บริษัที่อายุไม่เกิน ๒ ปี หลักฐานทางบัญชี การเงินไม่สวย กู้ไม่ได้แน่นอน
ดังนั้น ถึงแม้เราสามารถโกงการปล่อยสินเชื่อได้ แต่เราไม่มีศักยภาพในการผ่อนชำระ ก็จะเกิดปัญหาต่อทั้งบริษัทของเรา ธนาคาร และสังคมส่วนรวมได้ครับ ไม่ควรทำอย่างยิ่งครับ -> ขอฟังในทางธรรมจากหลวงพี่ปิต่อครับ
ในทางหลักธรรม ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราเสนอออกไปว่าเป็นความจริงหรือไม่ ถ้าเป็นความจริงตรงตามนั้นก็เรียกว่าถือสัจจะ คือ มิได้มุสาวาท
เค้าบอกว่าคือการที่เค้าเอาเงินของเค้าโอนมาใส่ใน Book bank ของเรา สักระยะเพื่อทำให้น่าเชื่อถือขึ้น ซึ่งก็ตีความแล้วคือสร้างข้อมูลอันเป็นเท็จนะค่ะ
พนักงานคนนี้ มีพฤติกรรมน่าสงสัยมากนะคะ 
เค้าเป็นบริษํทนะค่ะ มาเปิดอยู่ข้างๆ กัน และมาจ้างทำเว็บ เลยได้รับทราบข้อมูลนะคะ
ในกรณีนี้ต้องพิจารณาว่า เรามีทรัพย์เช่นนั้นจริงหรือไม่ในการถ่ายโอนสินทรัพย์ หรือเรามีปกติกระทำเช่นนั้นหรือไม่ หรือเป็นเพียงการตบตา
ที่ธนาคารต้องการทราบ Book Bank เพราะต้องการดูความเคลื่อนไหวของ Cashflow ของบริษัทครับ หากทำเช่นนี้ในทางปฏิบัติสามารถทำได้ แต่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง แล้วยิ่ง Cashflow ของเรายังติดลบด้วยเนี่ย ยิ่งแย่ใหญ่ครับ
มีใครสงสัยอะไรอีกบ้างคะ
.....
สี่ทุ่มแล้วค่ะ

อาตมาจะขอตัวแล้วล่ะนะ ได้เวลาพักแล้ว สำหรับในวันนี้ขอฝากพุทธศาสนสุภาษิตไว้ว่า
ยํ กุทฺโธ อุปโรเธติ สุกรํ วิย ทุกฺกรํ

คนโกรธจะทำลายสิ่งใด สิ่งนั้นแม้จะทำยาก ก็ดูทำง่ายไปหมด

กราบนมัสการเจ้าค่ะ  สวัสดีทุกท่านค่ะ
เจ้าค่ะ กราบนมัสการเจ้าค่ะ ขอบพระคุณมากเจ้าค่ะ
กราบขอบพระคุณพระอาจารย์มากครับ
กราบพระกันด่วน
ขออนุโมทนาทุกคนที่ร่วมสนทนากันในค่ำคืนนี้ แล้วพบกันใหม่วันอาทิตย์หน้าเวลา ๒ ทุ่มเช่นเดิม เจริญพรทุกคนจ๊ะ
กราบนมัสการค่ะ
Daystar says:
กราบนมัสการครับ







๑    ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๑๗๐(ปุญญกิริยาวัตถุ ๓), ที.ปา.อ.๑๖ หน้า ๓๑๒-๔ (ปุญญกิริยาวัตถุ ๑๐)
๒    ที.ปา.๑๑/๒๒๘/๑๗๒ ขยาย ที.ปา.อ.๑๖ หน้า ๓๑๘, องฺ.ติก.๒๐/๕๒๑/๒๑๘ (สิกขา ๓)
๓    องฺ.ปญฺจ.๒๒/๓๓๔/๓๖๘ นิพเพธิกสูตร
“ดูกรภิกษุทั้งหลายเรากล่าวเจตนาว่าเป็นกรรม บุคคลคิดแล้วจึงกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ”
๔    อภิ.สํ.๓๔/๑/๑; อภิ.สํ.อ.๗๕ หน้า ๑๕๒-๓
[กุศลศัพท์ใช้ในอรรถว่า ความไม่มีโรค ความไม่มีโทษ ความฉลาด และมีสุขเป็นวิบาก ....
(ข้าแต่ท่านพระอานนท์ กายสมาจารที่เป็นกุศลเป็นไฉน ดูก่อนมหาบพิตร กายสมาจารที่ไม่มีโทษแล ข้าแต่ท่านผู้เจริญยังมีอีกข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อธรรมที่เยี่ยม คือพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงธรรมในธรรมทั้งหลายอันไม่มีโทษ).... (ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เพราะสมาทานธรรมทั้งหลายที่เป็นสุขวิบาก และคำว่า เพราะทำกรรมที่เป็นสุขวิบาก)
น   หิ  ธมฺโม  อธมฺโม  จ  อุโภ  สมวิปากิโน
อธมฺโม   นิรยํ  เนติ          ธมฺโม  ปาเปติ  สุคตึ.
ธรรมและอธรรม ทั้งสองมีวิบากเสมอกันหามิได้
อธรรมย่อมนำไปสู่นรก ธรรมย่อมให้ถึงสุคติ .



      “พบวัดพิลึก ห้ามไหว้พุทธรูป (๒๖ ก.ค. ๕๑) อ้างเป็นแค่วัตถุ เขียนป้ายโชว์หรา “ทองเหลืองหล่อนี้ไม่ใช่ พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน” เคยทุบทำลายพระพุทธรูปที่ชาวบ้านมาถวาย แถมห้ามคนแขวนพระเครื่องเข้าวัด...”
เมื่อวันที่ ๒๕ ก.ค. ภายหลัง นสพ.ไทยรัฐ ได้รับการร้องเรียนจากประชาชนที่ไปทำบุญที่วัดสามแยก บ้านห้วยยางทอง ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ ว่า ทางวัดห้ามชาวบ้านกราบไหว้ พระพุทธรูปแถมยังติดป้ายข้อความไว้หน้าองค์พระอย่างไม่เหมาะสม กลายเป็นที่ฮือฮาของชาวบ้านทั้งในและพื้นที่ใกล้เคียง จ.เพชรบูรณ์
ต่อมาผู้สื่อข่าวได้ไปตรวจสอบข้อเท็จจริง ... หน้าศาลาการเปรียญมีป้ายข้อความเขียนอย่างเด่นชัดว่า “ตามที่ข้าฯ สอนคำพุทธองค์ ยังพึ่งมนต์ การปลุกเสกเครื่องรางฯ รูปเคารพ ถ้าอยากฟังสิ่งที่ข้าฯ พูดให้ได้ประโยชน์ ควรนำสิ่งเหล่านั้นออกให้พ้นจากความคิด แล้วมาฟังถามปัญหากับข้าฯ ใครทำไม่ได้อย่ามา เสียเวลาเหนื่อยเปล่าๆ ทั้งคนพูดและคนฟัง ขอยืนยันคำพุทธแท้ท่านไม่ให้พึ่งสิ่งเหล่านั้น ใครพึ่งถือว่าเป็นชาวพุทธสกปรก” ลงชื่อ พระเกษม อาจิณณสีโล
อีกป้าย มีข้อความว่า “เมื่อข้าฯ เทศน์ให้ผู้พึ่งมนต์ เครื่องรางของขลังฟัง ข้าฯเหนื่อย หงุดหงิด ไม่สบายใจ รู้สึกไม่ดี เมื่อไม่พึ่งพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างแท้จริง ไม่ต้องมาฟังข้าฯเทศน์ ข้าฯเหนื่อยโดยเปล่าประโยชน์ เพราะผู้มีเครื่องรางของขลัง ของอย่างนี้ฟังไม่เข้าใจ”
นอกจากนี้ ในศาลาการเปรียญยังมีข้อความคำสอนที่อ้างอิงจากพระไตรปิฎกติดไว้ตามเสาศาลา การเปรียญจำนวนมาก และพบพระพุทธรูปทองเหลืองคล้ายพระพุทธชินราช สูงประมาณ ๑๕๐ ซม. หน้าตักกว้าง ๙๐ ซม.ตั้งอยู่บนแท่นมีป้ายข้อความ ๒ แผ่นวางไว้หน้าองค์พระ ป้ายแรกวางระบุว่า “ห้ามนำดอกไม้และเครื่องบูชามาวางไว้บริเวณนี้” ส่วนอีกป้ายวางไว้ตรงฐานพระเขียนว่า “ ทองเหลืองหล่อนี้ ไม่ใช่พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน ”
สอบถามทราบว่า เจ้าอาวาสวัดนี้ชื่อ พระเกษม อาจิณณสีโล อายุ ๔๘ ปี ถึงเหตุผลที่ต้องปิดป้ายห้ามกราบไหว้พระพุทธรูปจนกลายเป็นเรื่องฮือฮาในหมู่ชาวพุทธ ได้รับการชี้แจงว่า หากใครไม่ยินดีที่จะรับฟังคำสอนก็ไม่จำเป็นต้องเดินทางมา เพราะวัดนี้ได้ยึดตามแนวพระไตรปิฎกทั้งสิ้น โดยไม่ยึดถือตำราใดๆ และการมีวัตถุมงคลนั้นถือเป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแก่นของพระพุทธศาสนา หากผู้ใดไม่นำสิ่งของวัตถุมงคลทั้งพระพุทธรูป ตะกรุด พระห้อยคอต่างๆ ออกจากตัวและบ้านพักเคหสถาน แล้วก็ไม่ต้องเข้ามาที่วัดแห่งนี้ เพราะที่วัดสอนอย่างมีหลักการและเหตุผลสำหรับคนที่เปิดประตูรับเท่านั้น และจะต้องไม่ติดยึดกับวัตถุมงคลเพราะเป็นพุทธพาณิชย์
พระเกษมยังกล่าวอีกด้วยว่า การสอนธรรมะก็เช่นกัน ในพระไตรปิฎกได้บัญญัติไว้ว่าให้สอนธรรมะด้วยภาษาท้องถิ่น การสวดเป็นภาษาบาลีให้คนไทยฟังโดยไม่มีความเข้าใจในความหมายนั้นจะไม่ก่อให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ก่อนหน้านั้นผู้ที่มีความรู้หรือการศึกษาระดับสูงเคยเข้ามาที่วัดครั้งแรกก็ไม่เข้าใจในแนวทางนี้ แต่เมื่อได้รับหนังสือของวัดไปศึกษาก็บังเกิดความเข้าใจและกลับไปนำพระพุทธรูปออกจากบ้าน นำพระเครื่องออกจากคอและหันกลับมาศึกษาในพระไตรปิฎกซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนาอย่างแท้จริง “อาตมาไม่ได้มุ่งหวังจะให้ทุกคนต้องเข้ามาตามแนวทางนี้ หากมา ๑๐ คนสามารถเข้าถึง ๑ คน หรือหากมา ๑๐๐ เข้าถึง ๕ คน ก็ไม่เป็นไร ได้เท่าไรก็เท่านั้นเพราะขึ้นอยู่กับการเปิดรับของแต่ละบุคคล แม้มีเพียง ๕ คนที่เข้าใจก็จะสอนให้ เท่านั้น” พระเกษมกล่าว
๖       จากการสอบถามลูกศิษย์คนหนึ่งของพระเกษม กล่าวว่า คำสอนของพระเกษมไม่ให้ติดยึดกับเครื่องรางของขลัง ก่อนหน้านั้นที่บ้านของตนมีพระพุทธรูปและพระเครื่องที่ได้มาจากบรรพบุรุษ แต่พอได้ฟังธรรมจากพระเกษมที่สอนว่าในพระไตรปิฎก ไม่ได้กล่าวถึงการสร้างวัตถุมงคลหรือพระพุทธรูป ถือเป็นสิ่งงมงายกับวัตถุที่อุปโลกน์กันขึ้นมา แถมยังทำให้จิตใจผูกติดอยู่กับสิ่งนั้น ไม่เข้าใจถึงแก่นของพระธรรมคำสอนของพุทธเจ้าได้
พระอาจารย์สอนว่า ที่ผ่านมาเราเชื่อและกราบไหว้พระพุทธรูป ก่อนตายให้นึกถึงคุณพระเอาไว้ ทำให้จิตของคนที่กำลังจะตายติดอยู่ในพระพุทธรูปองค์แล้วเราก็นำมากราบไหว้โดยที่ไม่รู้ว่ากำลังไหว้วิญญาณของคนที่ตายไป ที่ถูกควรระลึกถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ไม่ใช่มายึดถือกราบไหว้พระพุทธรูป
ลูกศิษย์พระเกษมกล่าวอีกว่า วัดสามแยกเคยได้รับบริจาคพระพุทธรูป วัตถุมงคลจำนวนมาก หลังรับมาแล้วพระอาจารย์จะขุดหลุมนำพระพุทธรูปและวัตถุมงคลต่างๆ วางในหลุมแล้วราดด้วยน้ำกรดผสมเกลือเพื่อให้ผุพังและฝังกลบทิ้งทันที เหลือแต่พระพุทธรูปทองเหลืองเพียงองค์เดียวที่ทางวัดเก็บไว้ให้เป็นการเตือนสติ ไม่ให้ยึดถือโดยเขียนป้ายห้ามกราบไหว้ไว้ให้ดูเป็นตัวอย่าง ซึ่งคำสอนไม่ให้ติดยึดกับวัตถุมงคลอาจจะแตกต่างจากวิถีชีวิตของพุทธศาสนิกชนทั่วไป แต่ที่จริงแล้วก็เหมือนกัน เพราะดำเนินการไปตามแนวทางของพระไตรปิฎกอย่างเคร่งครัด

ออกหมายจับพระ ห้ามกราบพุทธรูป [๕ ส.ค. ๕๑ - ๑๐:๕๓]
กรณีมีผู้ร้องเรียนเข้ามายัง “ไทยรัฐ” ว่าภายในที่พักสงฆ์สามแยก บ้านห้วยยางทอง หมู่ ๙ ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ มีการเขียนป้ายติดไว้ด้านหน้าองค์พระพุทธชินราช (จำลอง) ว่า “ทองเหลืองหล่อนี้ไม่ใช่พุทธเจ้าแน่ ไม่ต้องกราบมัน” และ “ห้ามนำดอกไม้และเครื่องบูชามาวางไว้บริเวณนี้” รวมทั้งการใช้เท้าเหยียบพระพุทธรูป โดยพระเกษม อาจิณณสีโล ผู้ดูแลที่พักสงฆ์สามแยก ชี้แจงว่าเป็นกุศโลบายในการสั่งสอนไม่ให้ชาวพุทธยึดติดกับวัตถุที่เป็นพุทธพาณิชย์ แต่เน้นให้ยึดถือคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าตามพระไตรปิฎก...

สมภารห้ามไหว้ 'พระพุทธรูป' เข้ามอบตัวกับตำรวจ [๗ ส.ค. ๕๑ - ๐๑:๕๖]
ผู้สื่อข่าวรายงานวานนี้ (๖ ส.ค.) ว่า พระเกษม อาจิณณสีโล สมภารแห่งที่พักสงฆ์ สามแยก ต.วังกวาง อ.น้ำหนาว จ.เพชรบูรณ์ พร้อมทนายความ เข้ามอบตัวกับตำรวจ สภ.น้ำหนาว ตามหมายจับข้อหาเหยียดหยามดูหมิ่นศาสนวัตถุ โดยมีพระลูกวัด และญาติโยม จำนวนหนึ่ง ติดตามไปให้กำลังใจ
          ทั้งนี้ พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหากับพระเกษม พร้อมกับพิมพ์ลายนิ้วมือ ก่อนที่จะนำตัวไปสอบปากคำนาน ๔ ชั่วโมง พระเกษมให้การปฏิเสธ ไม่ได้ดูหมิ่นเหยียดหยามศาสนวัตถุ แต่ยอมรับว่า การใช้เท้าเหยียบฐานพระพุทธรูป และใช้มือตบเศียรพระพุทธรูป เป็นความตั้งใจ ที่ต้องการสอนประชาชนไม่ให้ลุ่มหลงในวัตถุ ตามหลักคำสอนของพระไตรปิฏก
จากนั้นพระเกษม ได้ใช้หลักทรัพย์โฉนดที่ดินมูลค่า ๒๑๐,๐๐๐ บาท ประกันตัวไป โดยพระเกษม และพระลูกวัด ยืนยันว่า จะไม่ออกจากวัดอย่างเด็ดขาด ตามที่คณะสงฆ์จังหวัดเพชรบูรณ์ขีดเส้นตายให้ออกจากวัดในวันนี้ (๗ ส.ค.)

๗    ขุ.ขุ.อ. เล่ม ๓๙ หน้า ๓๑๓ (อรรถกถานิธิกัณฑสูตร)

[ในคาถานั้น ชื่อว่า เจติยะ เพราะควรก่อ ท่านอธิบายว่า ควรบูชา ชื่อว่า เจจิยะ เพราะวิจิตรแล้ว. เจดีย์นั้นมี ๓ อย่าง คือ บริโภคเจดีย์ อุทิสสกเจดีย์ ธาตุกเจดีย์.
บรรดาเจดีย์ทั้ง ๓ นั้น โพธิพฤกษ์ ชื่อว่า บริโภคเจดีย์ พระพุทธปฎิมา ชื่อว่า อุทิสสกเจดีย์ พระสถูปที่มีห้องบรรลุพระธาตุ ชื่อว่า ธาตุกเจดีย์.์]

๘    ขุ.ชา.อ. เล่ม ๖๐ หน้า ๒๖๗ (อรรถกถากาลิงคชาดก)

       ความพิสดารว่า พระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไปตามชนบท เพื่อประโยชน์จะทรงสงเคราะห์เวไนยสัตว์ ชาวกรุงสาวัตถีต่างถือของหอมและดอกไม้เป็นต้นไปยังพระเชตวัน ไม่ได้ปูชนียสถานอย่างอื่นไปวางไว้ที่ประตูพระคันธกุฎี ด้วยเหตุนั้น เขาก็มีความปราโมทย์กันอย่างยิ่ง.
ท่านอนาถปิณฑิกมหาเศรษฐีทราบเหตุนั้นแล้ว จึงไปยังสำนักพระอานนท์เถระ ในเวลาที่พระตถาคตเสด็จมาพระเชตวัน กล่าวว่า  ข้าแต่ท่านผู้เจริญ เมื่อพระตถาคตเสด็จหลีกจาริกไป พระวิหารนี้ไม่มีปัจจัย มนุษย์ทั้งหลายไม่มีสถานที่บูชาด้วยของหอมและดอกไม้เป็นต้น   ขอโอกาสเถิดท่านเจ้าข้า ขอท่านจงกราบทูลความเรื่องนี้แด่พระตถาคต แล้วจงรู้ที่ที่ควรบูชาสักแห่งหนึ่ง.                
พระอานนทเถระรับว่า ดีละ แล้วทูลถามพระตถาคตว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เจดีย์มีกี่อย่าง . พระศาสดาตรัสตอบว่า มีสามอย่างอานนท์. พระอานนทเถระทูลถามว่า สามอย่างอะไรบ้างพระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ธาตุเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ อุทเทสิกเจดีย์ ๑ .
พระอานนทเถระทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จจาริกไป ข้าพระองค์อาจกระทำเจดีย์ได้หรือ. พระศาสดาตรัสว่า  อานนท์ สำหรับธาตุเจดีย์ไม่อาจทำได้ เพราะธาตุเจดีย์นั้น จะมีได้ในกาลที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว สำหรับอุทเทสิกเจดีย์ก็ไม่มีวัตถุปรากฏ เป็นเพียงเนื่องด้วยตถาคตเท่านั้น ต้นมหาโพธิ์ที่พระพุทธเจ้าอาศัยเป็นที่ตรัสรู้ ถึงพระพุทธเจ้าจะยังทรงพระชนม์อยู่ก็ตาม ปรินิพพานแล้วก็ตาม เป็นเจดีย์ได้เหมือนกัน. พระอานนท์ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อพระองค์เสด็จหลีกไป พระมหาวิหารเชตวันหมดที่พึ่งอาศัย มนุษย์ทั้งหลายไม่ได้สถานที่เป็นที่บูชา ข้าพระองค์จักนำพืชจากต้นมหาโพธิมาปลูกที่ประตูพระเชตวัน พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสว่า ดีแล้วอานนท์ เธอจงปลูกเถิด เมื่อเป็นเช่นนั้น ในพระเชตวันก็จักเป็นดังตถาคตอยู่เป็นนิตย์.
พระอานนท์เถระบอกแก่พระเจ้าโกศล อนาถปิณฑิกมหาเศรษฐี และนางวิสาขามหาอุบาสิกาเป็นต้น ให้ขุดหลุม ณ ที่เป็นที่ปลูกต้นโพธิที่ประตูพระเชตวัน แล้วกล่าวกะพระมหาโมคคัลลานเถระว่า ท่านขอรับ กระผมจักปลูกต้นโพธิที่ประตูพระเชตวัน ท่านช่วยนำเอาลูกโพธิสุกจากต้นมหาโพธิให้กระผมทีเถิด.             

ขุ.ธ.อ.เล่ม ๔๒ หน้า ๓๕๕ (เรื่องพระจดีย์ทองของพระกัสสปทสพล [๑๕๖]), วินย.ฎีกา.๑/๒๖๓

[ลำดับนั้น พระตถาคตเจ้า เพื่อทรงปลดเปลื้องความสงสัยของภิกษุเหล่านั้น จึงตรัสเทศนา ฆฏิการสูตร ในมัชฌิมนิกาย แล้วทรงนิรมิตพระเจดีย์ทองของพระกัสสปทศพล สูงหนึ่งโยชน์ และพระเจดีย์ทองอีกหนึ่งองค์ไว้ในอากาศ ทรงแสดงให้มหาชนเห็นแล้วตรัสว่า ตรัสว่า "ดูก่อนพราหมณ์ การบูชาซึ่งบุคคลควรบูชาชนิดเช่นนี้ ย่อมสมควรกว่าแท้" ดังนี้แล้ว จึงทรงประกาศปูชารหบุคคล ๔ จำพวก มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โดยนัยดังที่ตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรนั้นเอง แล้วทรงแสดงโดยพิเศษถึง พระเจดีย์ ๓ ประเภทคือ สรีรเจดีย์ ๑ อุททิสเจดีย์ ๑ ปริโภคเจดีย์ ๑ (ครั้นแล้ว) ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า.
ปูชารเห ปูชยโต พุทฺเธ ยทิ จ สาวเก
ปปญฺจสมติกฺกนฺเต ติณฺณโสกปริทฺทเว
เต ตาทิเส ปูชยโต นิพฺพุเต อกุโตภเย
น สกฺกา ปุญฺญํ สงฺขาตุํ อิเมตฺตมปิ เกนจิ.
"ใครๆ ไม่อาจเพื่อจะนับบุญของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควรบูชา คือพระพุทธเจ้า หรือว่าพระสาวกทั้งหลายด้วย ผู้ก้าวล่วงปปัญจธรรมเครื่องเนิ่นช้าได้แล้ว ผู้มีความเศร้าโศก และความคร่ำครวญ อันข้ามพ้นแล้ว (หรือว่า) ของบุคคลผู้บูชาอยู่ ซึ่งท่านผู้ควร
บูชาเช่นนั้นเหล่านั้น ผู้นิพพานแล้ว ไม่มีภัยเเต่ที่ไหนๆ ด้วยการนับแม้วิธีไรๆ ก็ตาม ว่าบุญนี้มีประมาณเท่านี้ " ดังนี้.     
แก้อรรถ

บุคคลผู้ควรเพื่อบูชา อธิบายว่า ผู้ควรแล้วเพื่อบูชา ชื่อว่าปูชารหบุคคลในพระคาถานั้น. คำว่าของบุคคลผู้บูชาอยู่ซึ่งท่านผู้ควรบูชา  ความว่า ผู้บูชาอยู่ด้วยการนอบน้อมมีกราบไหว้เป็นต้นและด้วยปัจจัย ๔. .. ผลทานของผู้บูชาในสถานะทั้งสอง เป็นอย่างไรกัน ? บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้น ผู้ยังทรงพระชนม์อยู่ ใครๆ ไม่อาจนับได้ก็พอทำเนา. บุญของผู้บูชาพระพุทธเจ้าเป็นต้นผู้เช่นนั้นแม้นิพพานแล้วด้วยขันธปรินิพพาน อันมีกิเลสปรินิพพานเป็นนิมิต ใครๆ ก็ไม่อาจนับได้อีกเล่า เพราะฉะนั้น ควรจะแตกต่างกันบ้าง. เพราะเหตุ (ที่จะมีข้อสงสัย) นั้นแหละ ท้าวสักกะจึงกล่าวไว้ในวิมานวัตถุว่า
"เมื่อพระสัมพุทธเจ้าเป็นต้น ยังทรงพระชนม์อยู่ก็ดี นิพพานแล้วก็ดี เมื่อจิตเสมอกัน ผลก็ย่อมเท่ากัน ในเพราะเหตุคือความเลื่อมใสแห่งใจ สัตว์ทั้งหลายย่อมไปสู่สุคติ" ดังนี้.

๙    อง.สตฺต.๒๓/๖๑/๘๑





Create Date : 27 กันยายน 2551
Last Update : 28 กันยายน 2551 19:32:56 น. 0 comments
Counter : 457 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

กลุ่มต้นธรรม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




* * * * * * * * * * * * * * * * * * *

อันเวลาอันนับไม่ได้ที่เราหมักหมมมานานแสนนานแล้วนั้นถ้าเราไม่เริ่มรู้เราก็ไม่เริ่มตัด ถ้าไม่ตัดก็ไม่เห็นปลาย และเวลาอันนับไม่ได้นั้นก็เป็นปลายที่ยังอยู่
web site hit counter
We keep fighting fires because we keep adding fuel.
We truly putout fires only when we remove their fuel.

ถึงโลกกว้างไกล ใครๆ รู้
โลกภายในลึกซึ้งอยู่ รู้บ้างไหม
มองโลกภายนอก มองออกไป
มองโลกภายใน คือใจเรา

Friends' blogs
[Add กลุ่มต้นธรรม's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.