คนเราเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แล้วทำยังไง?? ให้รู้..ในสิ่งที่ควรรู้...
 
 

หาข้อมูลหลักสูตรและมหาวิทยาลัย

สวีเดนอยู่ในยุโรปทางตอนเหนือ อยู่ในกลุ่มสแกนดิเนเวีย เป็นสมาชิกสภาพยุโรป (EU) และอยู่ในกลุ่ม Shengen countries ด้วย ถ้ามาเรียนที่นี่ก็สามารถไปเที่ยวในกลุ่มเช้งเก้น 15 ประเทศได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า

สวีเดนอยู่ในยุโรป


สวีเดนอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป



หากสนใจที่จะมาศึกษาต่อในสวีเดน เวปแรกที่ควรเข้าไปหาข้อมูลก็คือ

Study in Sweden

ซึ่งจะมีรายละเอียดทุกอย่างที่คุณควรรู้เมื่อสนใจจะมาศึกษาต่อในสวีเดน ตั่งแต่รายชื่อมหาวิทยาลัย หลักสูตร การขอวีซ่า ทุน ข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ ระเบียบข้อบังคบ ขนบธรรมเนียมประเพณีของสวีเดน และอื่นๆ อีกมากมาย

ค้นหาหลักสูตรที่เปิดสอน คลิ๊กนี่เลย

พอรู้ว่ามหาวิทยาลัยไหนมีหลักสูตรที่เราสนใจก็ควรเข้าไปดูในเวปของมหาวิทยาลัยอีกที เพื่อข้อมูลที่ Update กว่าและจะได้รู้ว่าต้องส่งใบสมัครเมื่อไหร่ ใช้หลักฐานอะไรในการสมัครบ้าง

ในแต่ละมหาวิทยาลัยจะมีข้อกำหนดแตกต่างกันไป ทั้งเรื่องคะแนนภาษาอังกฤษ ใบทรานสคริป ประสบการณ์การทำงาน และ deadline วันรับสมัคร เพราะฉะนั้นจึงต้องเข้าไปดูรายละเอียดในเวปมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่สนใจจะดีที่สุด

ดูรายชื่อมหาวิทยาลัยในสวีเดน คลิ๊กนี่เลย

ระบบการเรียนการสอนของที่นี่จะเรียนทีละวิชาประมาณ 5 สัปดาห์ วิชาละ 5 หน่วยกิต (5p) ในหนึ่งเทอมถ้าเรียนเต็มเวลาจะเรียน 4 วิชา 20 หน่วยกิต (20p)

ระบบการตัดเกรดของ Umea University จะมี 3 ระดับ ซึ่งเท่าที่ทราบมหาวิทยาลัยอื่นๆ ก็มีระบบการตัดเกรดที่คล้ายๆ กัน คือ
50< = U = Fail
50 - 74 = G = Pass
>75 = VG = Pass with Distinction

การสอบของที่นี่จะมีแต่ Final exam ไม่มี midterm exam เพราะแต่ละวิชาจะเรียนแค่ 5 สัปดาห์ หากสอบ Final exam แล้ว "ตก" จะมีการเปิดโอกาสให้ re-exam ได้ในอีกประมาณ 2 อาทิตย์ ควรทำข้อสอบครั้งแรกให้ผ่าน มิฉะนั้นจะต้องอ่านหนังสือเพื่อ re-exam พร้อมๆ กับเรียนวิชาใหม่ไปด้วย

อย่างไรก็ตามหน่วยกิตของสวีเดนสามารถเทียบเป็นหน่วยกิตแบบ ECTS (European Credit Transfer System) ซึ่งเป็นหน่วยกิตกลางของยุโรปได้ คือ 1 swedish credit เท่ากัน 1.5 ECTS ฉะนั้น 1 วิชา 5p จะเท่ากับ 7.5 ECTS และการตัดเกรดสามารถแปลงเป็น A B C D E F ได้หากต้องการ แต่ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบว่าต้องการใบทรานสคริปในระบบใด

ส่วนรายวิชาในระดับ PhD นั้นจะมีแค่ Pass กับ Fail ไม่มีการตัดเกรดปลีกย่อยเหมือนปริญญาตรีและปริญญาโท

ขอให้โชคดีครับ




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549   
Last Update : 16 ตุลาคม 2550 1:07:11 น.   
Counter : 2899 Pageviews.  


วีซ่า วีซ่านักเรียน

หน่วยงานที่รับผิดชอบในการพิจารณาวีซ่าให้กับนักเรียนคือ Migrationsverket หรือ Migration Office นั่นเอง ซึ่งสำนักงานส่วนกลางอยู่ที่เมือง Norrkoping จะเป็นผู้พิจารณาให้วีซ่าทั้งหมด ไม่ว่าจะสมัครมาจากที่ไหน มาจากทางใด ใบสมัครทั้งหมดจะถูกส่งมาพิจารณาที่นี่หมด รายละเอียดทุกอย่าง รวมทั้งการสมัครวีซ่า Online ทาง Internet สามารถเ้ข้าไปดูได้ที่เวปไซต์ของหน่่วยงาน

Migrationsverket

ลองดูในหัวข้อ Studies ทางด้านซ้ายมือ

หากมาเรียนที่สวีเดนโดยมีระยะเวลาน้อยกว่า 3 เดือนไม่จำเป็นต้องขอวีซ่านักเรียน แต่ให้ขอเป็นวีซ่านักท่องเที่ยวแทน

หากระยะเวลาเรียนมากกว่า 3 เดือนขึ้นไป จะต้องขอวีซ่านักเรียน ซึ่งหมายถึงการขอ Residence Permit นั่นเอง

ปัจจุบันนี้ทาง Migrationsverket เปิดโอกาสให้สมัครวีซ่านักเรียนทาง Internet ได้เลย เป็นการสะดวกสบายและรวดเร็วกว่าการไปสมัครที่สถานฑูต เพราะหากไปสมัครที่สถานฑูต ทางสถานฑูตก็ต้องส่งใบสมัครมาที่เมือง Norrkoping อยู่ดีซึ่งจะใช้เวลานานกว่า ฉะนั้นจึงควรสมัครทาง Internet จะสะดวกสุด

คำแนะนำของ สถานฑูตสวีเดนในไทย ก็แนะนำให้สมัครทาง Internet

นักเรียนสามารถสมัครวีซ่าทาง Internet ได้จากเวปของ Migrationsverket ในหัวข้อ studies ทางซ้ายมือนั้น เมื่อคลิ๊กเข้าแล้วจะมีลิงค์ Electronic Application Forms อยู่ทางขวามือ

เอกสารที่ต้องใช้ในการสมัครวีซ่า

-ใบตอบรับให้เข้าเรียนของมหาวิทยาลัยระบุว่าตอบรับเข้าเรียนแบบ Full time study

-เอกสารรับรองทางการเงิน หรือสปอนเซอร์ โดยจะต้องสามารถโชว์ได้ว่ามีเงินเพียงพอต่อการมาเรียนและใช้ชีวิตอยู่ ปัจจุบัน Migration Board ได้กำหนดไว้ที่ 7,300 sek ต่อเดือน โดยต้องโชว์ทั้งหมด 10 เดือน คือ 73,000 sek หากมีผู้ติดตาม (สามี-ภรรยา) เพิ่มอีก 3,000 sek ต่อเดือน หากผู้ติดตามเป็นเด็ก เพิ่มอีก 1,800 sek ต่อเดือน ตามระเบียบแล้วผู้ติดตามไม่สามารถหางานทำได้ ยอดอันนี้เป็นยอดขั้นต่ำที่เค้าระบุไว้ ฉะนั้นยิ่งมีมากกว่านี้ยิ่งดีครับ

-Passport สแกนหน้าที่มีข้อมูลต่างๆ ของเจ้าของ Passport เอกสารทุกชนิดให้สแกนเป็นภาพ หรือ ไฟล์ Pdf ขนาดแต่ละเอกสารไม่เกิน 1 MB สำหรับ attach ไปพร้อมกับการสมัครทาง Internet

-รูปถ่าย 2 นิ้ว 2 รูป เตรียมไว้เวลาไปรับวีซ่า เพราะทางสถานฑูตจะสแกนรูปติดลงไปในวีซ่าด้วย รายละเอียดการถ่ายรูปให้ถูกต้องตามที่ Migration Office กำหนดดูได้ที่ ตัวอย่างรูปถ่ายที่ถูกต้อง

-ค่าสมัครวีซ่า 1,000 sek non-refundable จ่ายผ่านบัตรเครดิตทาง Internet เลย

-ประกันสุขภาพ ถ้าขอเป็นวีซ่านักท่องเที่ยวต้องใช้ แต่ขอเป็น Residence Permit ทาง Migration Board ไม่ได้ระบุไว้ จึงจะ attach file ไปด้วยหรือไม่ก็ได้ ไม่ได้บังคับ เวลาเดินทางเข้าประเทศอาจมีการสุ่มตรวจว่ามีประกันสุขภาพหรือไม่ หากมาเรียนเกิน 1 ปี จะสามารถมาขอ Personal Number ได้ ซึ่งจะได้รับสิทธิ์การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องซื้อก็ได้ แต่ถ้าเรียนน้อยกว่า 1 ปี แล้วไม่มี Personal Number เวลาเจ็บป่วย ก็ต้องเสียค่ารักษาพยาบาลซึ่งค่อนข้างแพง หากซื้อมาได้ก็ควรซื้อมา

ระยะเวลา

การพิจารณานั้นทาง Migration Office ระบุว่าอยู่ในช่วง 6-8 สัปดาห์ (ตั้งแต่ยังไม่เปิดให้สมัครทาง Internet) แต่ปัจจุบันน่าจะเร็วขึ้นเพราะใช้การสมัคร online โดยตรง แต่อย่างไรก็ตาม ควรสมัครให้เร็วที่สุด เมื่อมีเอกสารพร้อม

ระยะเวลาของ Residence Permit นั้นจะขึ้นอยู่กับระยะเวลาเรียนของแต่ละหลักสูตร หากระยะเวลาเรียนประมาณ 1 ปี หรือน้อยกว่า จะได้รับวีซ่าเท่ากับระยะเวลาเรียนของหลักสูตรนั้นๆ และโดยปกติจะให้เกินมาประมาณ 1 เดือน

หากระยะเวลาเรียนเกิน 1 ปีขึ้นไป จะได้รับวีซ่าครั้งละ 1 ปี แล้วต้องมาต่อวีซ่าอีกที่สวีเดนเป็นประจำทุกปีจนกว่าจะเรียนจบหลักสูตร

####หมายเหตุ####
กรุณาเช็คข้อมูลจากเวบไซต์ของสถานทูตสวีเดนในไทย และหน่วยงาน Migrationsverket อย่างละเอียดอีกครั้ง คำแนะนำในบล็อคนี้ไม่ได้อัพเดทบ่อยตามข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาและกฎระเบียบ เพื่อความถูกต้องควรเช็คอีกที คำแนะนำนี้เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นและให้ได้ไอเดียว่าอะไรเป็นอะไร ควรทำอะไรบ้าง จะพยายามอัพเดทข้อมูลเมื่อมีเวลานะครับ




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549   
Last Update : 16 พฤษภาคม 2550 20:05:01 น.   
Counter : 537 Pageviews.  


ทุน มีทุนการศึกษาบ้างไหม

ประเทศสวีเดนเปิดโอกาสให้กับประชาชนได้เรียนอย่างเต็มที่โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน เพราะรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนหลักทางการเงินให้กับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ

จนถึงปัจจุบันนี้ (ปี 2006) นักเรียนต่างชาติก็ยังคงสามารถเข้ามาเรียนได้โดยไม่เสียค่าเล่าเรียน แต่ในอนาคตคาดว่าจะเริ่มมีการเก็บค่าเล่าเรียนสำหรับนักศึกษาต่างชาติซึ่งเป็นที่คาดกันว่าจะเริ่มเก็บในปีการศึกษา 2008 เป็นต้นไป แต่ก็ยังไม่มีการสรุปที่แน่นอนว่าจะเก็บจริงไหม และจะเก็บเท่าไหร่

เพราะฉะนั้นการได้เรียนฟรี! ก็เปรียบเสมือนได้ทุนไปในตัว แต่ก็ยังมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อยู่บ้างเมื่อมาเรียนที่สวีเดน ในที่นี้จะกล่าวถึงการศึกษาเล่าเรียนในมหาวิทยาลัยเป็นหลัก ค่าใช้จ่ายที่ต้องเสียก็คือ

-ค่าบำรุงสโมสรนักศึกษา เทอมละประมาณ 300-350 sek

-ค่าหนังสือตำรับตำรา ไม่แน่นอนขึ้นอยู่กับหลักสูตร แต่ส่วนใหญ่ที่ใช้หนังสือภาษาอังกฤษ ราคาจะแพงมากตกเล่มนึงประมาณ 500 sek ได้ ถ้าเรียนหลายวิชาแล้วต้องซื้อทุกวิชาก็เป็นค่าใช้จ่ายที่เยอะพอสมควร หนังสือเรียนสามารถยืมจากห้องสมุดได้ แต่ต้องรอคิวนาน เพราะจำนวนหนังสือจะมีน้อยกว่าจำนวนผู้ยืมเสมอ

-ค่าที่พัก ถ้าเป็น Student corridor ตกประมาณ 1800-2300 sek ต่อเดือน (ดูรายละเอียดในหัวข้อ หาที่พักใน Umea เป็นตัวอย่าง)คลิ๊ก

-ค่าใช้จ่ายรายเดือน ค่ากินอยู่ ช้อปปิ้ง เสื้อผ้า ค่าเดินทางฯลฯ อยู่ที่ว่าอยู่เมืองเล็กเมืองใหญ่ และแล้วแต่พฤติกรรมการใช้ชีวิต อาจจะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 4000 sek ถ้าอยู่เมืองใหญ่ๆ ถ้าเมืองเล็กๆ ก็อาจจะน้อยกว่านี้

ทุนในที่นี้จึงหมายถึงทุนสำหรับเป็นค่าใช้จ่าย ไม่ใช่ทุนสำหรับค่าเล่าเรียน ในสวีเดนมีการให้ทุนกับนักศึกษาต่างชาติอยู่บ้าง แต่โอกาสที่จะได้นั้นค่อนข้างยาก เพราะมีการแข่งขันที่สูงมากๆ หน่วยงานที่รับผิดชอบในการให้ทุนก็คือ Swedish Institute (SI) นักเรียนไทยสามารถสมัครได้บางทุนเท่านั้น ไม่ใช่สมัครได้ทุกทุน ข้อมูลรายละเอียดทุนประเภทต่างๆ และเงื่อนไขต่างๆ สามารถดูได้ที่

ทุนประเภทต่างของ SI

ระดับปริญญาโท
การขอทุนในระดับนี้ ทาง SI จะไม่รับใบสมัครโดยตรง โดยปกติเวลาส่งใบสมัครเรียนไปที่มหาวิทยาลัยที่เราสนใจ จะมีช่องเล็กๆ ให้กาว่าเราจะสมัครขอทุนของ SI ด้วยหรือไม่ ถ้าเราไม่กา ทางมหาวิทยาลัยเค้าก็จะไม่ส่งไปให้ SI พิจารณา แต่ถ้าเรากาว่าต้องการสมัครทุนด้วย กระบวนการพิจารณาจะเริ่มจากมหาวิทยาลัยก่อนคือ

-International Office หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะพิจารณาใบสมัครทั้งหมดที่มีว่ามีจำนวนคนขอทุนเท่าไหร่ แล้วทางมหาวิทยาลัยจะส่งให้ทาง SI เท่าไหร่ ไม่ใช่ว่าทางมหาวิทยาลัยจะส่งไปทั้งหมด นี่คือการกรองขั้นที่ 1 หลังจากนั้นจึงส่งไปให้ SI พิจารณาเฉพาะคนที่ทางมหาวิทยาลัยเห็นแล้วว่าสมควรส่งไปขอทุน

-SI จะเป็นผู้พิจารณาให้ทุนในขั้นสุดท้าย โดยพิจารณาภาพรวมทั้งประเทศว่าแต่ละมหาวิทยาลัยส่งใบสมัครมาเท่าไหร่ และทาง SI มีงบประมาณให้เท่าไหร่ในแต่ละปี ซึ่งเป็นการพิจารณาให้ทุนในขั้นสุดท้าย และทาง SI โดยปกติจะประกาศผลทุนประมาณต้นเดือนมิถุนายน

ระดับปริญญาเอกและทุนนักวิจัย
การขอทุนในระดับนี้ ทาง SI จะเป็นผู้พิจารณาโดยตรง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นต้องมีใบตอบรับจากมหาวิทยาลัยแล้วว่ารับเข้าเรียนปริญญาเอก หรือรับเข้าไปทำวิจัยตามแต่ระยะเวลาที่กำหนด แล้วจึงมาสมัครขอทุนจากทาง SI ปกติจะเปิดรับใบสมัครตั้งแต่ 1 ก.ย. – 15 ม.ค. ทุกปี แล้วจะประกาศผลช่วงต้นเดือนมิถุนายน การขอทุนอันนี้นักเรียนต้องติดต่อโดยตรงไปที่ Professor ในคณะที่สนใจและติดต่อให้เค้ารับเข้าเรียนก่อนจึงจะมาสมัครขอทุนจาก SI ได้

นอกจากนี้แล้วการเข้าเรียนในระดับปริญญาเอกที่สวีเดนยังมีวิธีการอื่นๆ อีก ซึ่งค่อนข้างมีขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน เพราะกฎระเบียบในกฏหมายระบุว่าการที่จะรับนักเรียนเข้าเรียนในระดับปริญญาเอกนั้นต้องมีการรับรองว่ามีเงินทุนสนับสนุนตลอดระยะเวลาที่ศึกษา

ในสวีเดนมีปริญญาอีกอันนึงที่ยังไม่เป็นที่รู้จักในระดับนานาชาติเท่าใดนัก แต่เป็นที่รู้จักในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันเอง คือ Licentiate degree เป็นช่วงตรงกลางระหว่างปริญญาโท กับปริญญาเอก

-Licentiate degree ใช้เวลาประมาณ 2 ปี Full time study

-PhD degree ใช้เวลาต่ออีก 2 ปี Full time study ต่อจาก Licentiate แต่ว่านักศึกษาสามารถมุ่งไปที่ PhD โดยตรงเลยได้โดยใช้เวลา 4 ปี Full time study

ฉะนั้นทางมหาวิทยาลัยและนักศึกษาสามารถหาแหล่งทุนจากหน่วยงานอื่นๆ เพื่อมาสนับสนุนในการรับนักเรียนปริญญาเอกได้ ซึ่งลักษณะแบบนี้ นักเรียนปริญญาเอกจะได้รับเงินเดือน เสียภาษีแบบเดียวกับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัย และต้องมีหน้าที่สอนหรืองานธุรการต่างๆในมหาวิทยาลัย 20% ของเวลาที่มีอยู่

แหล่งทุนที่มหาวิทยาลัยหรือคณะหาได้นั้น มักจะได้แค่ช่วงเวลาประมาณ 2-3 ปี ไม่ค่อยมีแหล่งทุนที่จะให้ทุนยาวทีเดียว 4 ป เพราะฉะนั้น นักเรียนปริญญาเอกส่วนใหญ่ของที่นี่จึงต้องเอา Licentiate degree ก่อน แล้วค่อยหาทุนมาเพิ่มต่อเพื่อให้ได้ PhD degree

ในกรณีที่มหาวิทยาลัยมีทุนเหล่านี้ก็จะประกาศรับสมัครนักเรียนปริญญาเอก ซึ่งก็ต้องคอยติดตามดูเอาในเวปของมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพราะไม่มีกำหนดการที่แน่นอน ว่าจะรับเมื่อไหร่ รับกี่คน นานแค่ไหน ไม่มีความแน่นอนต้องคอยติดตาม หาข่าวคราวเอาเอง ซึ่งแน่นอนว่าคนในพื้นที่ (Swedish student) ย่อมได้เปรียบเพราะทราบข้อมูลก่อน จึงไม่ค่อยเห็น PhD student ต่างชาติมากนักในการรับทุนแบบนี้

นอกจากนี้บางคนก็มาเรียนด้วยทุน Scholarship จากต่างประเทศ บางคนก็มาเรียนแบบเป็นข้อตกลงระหว่างมหาวิทยาลัยในแอฟริกากับมหาวิทยาลัยในสวีเดน บางคนก็เรียน PhD แบบ Part time สอน 50% ทำวิจัย 50% บางคนก็เรียน PhD ไปเรื่อยๆ เป็นสิบปีไม่มีกำหนดเวลาแน่นอน แต่มีงานประจำเป็นเจ้าหน้าที่ในคณะอยู่แล้ว ได้เงินเดือนในฐานะพนักงาน แต่ก็เรียน PhD ไปด้วย บางคนก็เป็น อาจารย์อยู่แล้วและก็เรียน PhD ไปด้วยโดยไม่มีกำหนดเวลาจบที่แน่นอนเช่นกัน เพราะฉะนั้น PhD student ที่นี่จึงมีความหลากหลายมากในการเข้ามาเรียนและในการจบ

แต่เมื่อทุกคนเข้ามาสู่ระบบและเป็น PhD student แล้ว ทุกคนจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกันกับเจ้าหน้าที่และอาจารย์ท่านอื่นๆ มีสิทธิพื้นฐานคล้ายๆ กันหมดไม่ว่าจะเป็นระดับ Full Professor หรือ พนักงานธุรการ หรือ PhD student ทุกคนจะมีความเสมอภาคกันหมด PhD student จะมีห้องทำงานให้ ซึ่งโดยปกติจะแชร์ห้องทำงานกับ PhD student คนอื่นๆ PhD student จะต้องเข้าร่วมประชุมกับคณะบ้างเป็นบ้างครั้งเพราะถือว่าเป็นบุคลากรคนนึงในคณะเช่นกัน และบางคนที่ทำหน้าที่สอนด้วยก็มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบภาระงานสอนต่างๆ ด้วย

รายละเอียดปลีกย่อยเกี่ยวกับการเรียนระดับปริญญาเอกนั้นสามารถเข้าไปดูได้ที่

Official Handbook for Postgraduate Students
ซึ่งจัดทำโดย Swedish National Agency for Higher Education





 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549   
Last Update : 9 มิถุนายน 2549 16:53:02 น.   
Counter : 531 Pageviews.  


โอกาสในการหางานทำ

รัฐบาลสวีเดนนั้นให้สิทธิ์นักเรียนนักศึกษาต่างชาติสามารถทำงานได้ โดยไม่ได้มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่ากี่ชั่วโมงต่อสัปดาห์ และในช่วงปิดเทอมนักเรียนสามารถทำงานเต็มเวลา Full time ได้

แต่สิ่งที่จำเป็นต้องมีในการหางานทำในสวีเดนก็คือ

1. Swedish Personal Number
2. ความรู้และทักษะในการพูดภาษาสวีดิช

สำหรับ Swedish Personal Number ก็คือเลขรหัสประจำตัว 10 หลักของชาวสวีเดน เปรียบเสมือนเลข 13 หลักบนบัตรประชาชนของคนไทย Swedish Personal Number จะประกอบได้ด้วยเลขวันเดือนปีเกิด 6 หลัก บวกกับหมายเลขอีก 4 หลักที่ทางราชการออกให้

ตามปกติหากมาเีรียนเกิน 1 ปี สามารถไปขอ Personal number ได้ที่ Local Tax Office เมืองที่อยู่ ซึ่งเมื่อได้หมายเลขมาแล้วจะทำชีวิตที่สวีเดนสะดวกสบายมากขึ้น เพราะคุณสามารถไปเปิดบัญชีธนาคาร สมัครสมาชิกต่างๆ หางานทำได้ง่ายขึ้น และได้สิทธิ์การรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานเช่นเดียวกันคนสวีเดน

หากมาเรียนหลักสูตรระยะสั้นกว่า 1 ปี ไม่สามารถขอ Personal Number ได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นบางทีมันก็ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับเมืองที่คุณอยู่ และความใจดีของเจ้าหน้าที่ บางทีเค้าก็ออกให้ หากคุณมีเหตุผลดี เพียงพอที่เค้าจะตัดสินใจให้

เมื่อไปหางานทำ นายจ้างจะถามหาเลข Personal Number ก่อนเลย เพราะว่านายจ้างต้องแจ้งเสียภาษี หากคุณไม่มี โอกาสในการหางานทำก็ยาก คุณต้องไปหางานทำแบบอื่นๆ ที่หลบเลี่ยงภาษี เช่นงานหลังร้าน ร้านอาหาร ล้างจานชาม งานในครัว ซึ่งก็เสี่ยงต่อการถูกจับทั้งนายจ้างและคนทำงาน

ส่วนประเด็นที่ 2 ในเรื่องความรู้และทักษะภาษาสวีดิช ก็ง่ายๆ Common sense ถ้าคุณพูดภาษาเค้าได้ โอกาสก็มากขึ้น แม้ว่าคนสวีเดนจะพูดภาษาอังกฤษได้ดี แต่ก็คงไม่ดีเท่ากับพูดภาษาของเค้าเอง คุณสามารถลงเรียนภาษาสวีดิชได้จากทั้งในมหาวิทยาลัยและศูนย์การศึกษาสำหรับ Immigrant

สรุปว่าถ้าจะหางานทำแบบถูกกฎหมาย การมี Personal Number คือสิ่งที่จำเป็น และการพูดภาษาสวีดิชได้ จะเพิ่มโอกาสในการหางานทำมากยิ่งขึ้น ซึ่งทำให้การหางานทำในสวีเดนไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะผู้ที่จะมาเรียนระยะสั้นๆ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีโอกาสเอาซะเลย งานที่ไม่จำเป็นต้องพูดสวีดิชมาก ก็พอหาได้อยู่เช่น งานทำความสะอาด ส่งหนังสือพิมพ์ ส่งใบปลิวโฆษณา งานเก็บขวดขาย

ขอแนะนำงานที่ได้ทำมาให้ดูเป็นตัวอย่าง งานแรกคือส่งใบปลิวโฆษณา ต้องใช้ Personal number แต่ไม่ต้องใช้ภาษาสวีดิชมากนัก งานนี้โอกาสได้ค่อนข้างสูง เพราะคนเข้าคนออกบ่อย งานหนัก เงินน้อยคนจึงไม่ค่อยอยากทำกัน


บริษัทจะส่งเอกสารใบปลิวมาให้เป็นกองๆ แล้วแต่พื้นที่ที่คุณรับผิดชอบ ตัวอย่างนี้ขนาดนิดเดียว บางสัปดาห์อาจจะมีเป็น 10 กอง บางสัปดาห์อาจจะมีแค่ 5-6 กอง ค่าจ้างคิดตามน้ำหนัก หนักมากจ่ายเยอะ


หน้าที่เราต้องเอามาเรียงเป็นชุดๆ พร้อมส่งในตู้จดหมายได้ทันที 400 mailboxs 2 พื้นที่ สำหรับพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบ


เรียงเสร็จก็ขนเอาไปส่ง ฝ่าพายุหิมะออกไป โห! ชีวิตต้องสู้


ส่งจดหมายหน้าหนาวนี่สุดยอด โดยเฉพาะในวันที่หิมะตกแรงๆ


นี่! ดูความหนาของหิมะซะก่อน


เจอพื้นที่ ที่มี mailbox ทุกชั้นทุกตึก ก็แย่หน่อย ขึ้นลงจนเมื่อย


เจอพื้นที่แบบ mailbox รวมก็สบายหน่อย ส่งแค่จุดเดียว


แล้วเราก็ส่งให้ครบในพื้นที่ ตามที่ได้รับมอบหมายมา แล้วรอรับเงิน หุ หุ เงินเยอะมากกก...กก อาทิตย์ละประมาณ 100 sek โดยเฉลี่ย


งานอันที่ 2 นี่งานสบายเงินดีกว่า ไม่ต้องใช้ Personal number และภาษาสวีดิช แต่! ต้องใจกล้าหน้าด้านซักหน่อย นั่นก็คืองานเก็บขวดเก็บขยะไปขาย

นี่ครับ ขวดหรือกระป๋องมีค่า อย่าทิ้งนะ!! กระป๋องก็ 0.5 sek ขวดเล็กก็ 1 sek ขวดใหญ่ก็ 2 sek โห! ขยันเก็บหน่อย ได้เยอะเลยนา


ดูใกล้ๆ อย่าไปเก็บมาหมดเลยล่ะ บางอันแลกเงินไม่ได้นะครับ เดี๋ยวจะเก็บมาเสียเวลาฟรี


ซื้อมากินเองก็อย่าทิ้ง หรือไปเก็บมาก็รวบรวมไว้


แล้วก็เอาไปใส่ในเครื่องแบบนี้หน้าซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ได้คูปองแทนเงินสดเอาไปใช้ซื้อของหรือแลกเป็นเงินสดได้เลย




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549   
Last Update : 11 มิถุนายน 2549 14:37:30 น.   
Counter : 1010 Pageviews.  



Bluefriday
 
Location :
Umea Sweden

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]




ปี 2522 ผมยังเด็กอยู่เลย ตอนนี้อายุเท่าไหร่แล้วหว่า!!
[Add Bluefriday's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com