Group Blog
 
All Blogs
 

จงเฆี่ยนตีนาง???

ขอความสันติสุขจงมีแด่ทุกท่านครับ


เป็นที่พูดถึงกันมากในเรื่องสิทธิสตรีในอิสลาม สมาชิกท่านหนึ่งได้ขอให้ผมอธิบายโองการหนึ่งของอัล-กุรอ่าน ในซูเราะฮฺ อัล-นิซาอฺ โองการที่ได้ขอให้ผมอธิบายโองการหนึ่งของอัล-กุรอ่าน ในซูเราะฮฺ อัล-นิซาอฺ โองการที่34 ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจอนู่หลายประเด็นครับ ... เรื่องสำคัญกว่านั้นคือ “คุณสมบัติของผู้ที่สามารถทำการอธิบายกุรอ่านได้” ขอนำมาเสนอในคราวหน้าครับ เรื่องราวที่น่าสนใจในวันนี้ เริ่มต้นด้วย ...



“ด้วยพระนามของอัลลอฮฺ ผู้ทรงกรุณา เมตตาปราณีเสมอ”



الرجال قوامون على النساء بما فضل الله بعضهم على بعض وبما أنفقوا من أموالهم فالصالحات قانتات حافظات للغيب بما حفظ الله واللاتي تخافون نشوزهن فعظوهن واهجروهن في المضاجع واضربوهن فإن أطعنكم فلا تبغوا عليهن سبيلا إن الله كان عليا كبيرا


สำหรับบรรดาผู้ชายนั้นคือ ผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาผู้หญิง เนื่องด้วยการที่อัลลอฮฺได้ทรงให้บางคนของพวกเขาเหนือกว่าอีกบางคนและด้วยการที่พวกเขาได้จ่ายไปจากทรัพย์ของพวกเขา(แก่ผู้หญิง) บรรดากุลสตรีนั้นคือผู้จงรักภักดี ผู้รักษาในทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ลับหลังสามี เนื่องด้วยสิ่งที่อัลลอฮฺทรงรักษาไว้ และสำหรับบรรดาหญิงที่พวกเจ้าหวั่นเกรงในความดื้อดึงของนางนั้น ก็จงกล่าวตักเตือนนาง และ(หากนางยังดื้อดึง ก็จง) ทอดทิ้งนางไว้แต่ลำพังในที่นอน และ(หากนางยังดื้อดึงดีก ในขั้นสุดท้ายก็)จงเฆี่ยนนาง แต่ถ้านางเชื่อฟังพวกเจ้าแล้ว ก็จงอย่าหาทางเอาเรื่องแก่นาง(ในสิ่งที่ผ่านไปแล้ว) แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงเกรียงไกร


“لرجال قوامون على النساء” สำหรับบรรดาผู้ชายนั้น คือผู้ที่ทำหน้าที่ปกครองเลี้ยงดูบรรดาหญิงที่อยู่ในความปกครองของเขา อิมามบัยฎอวีย์ได้อธิบายเพิ่มเติมในส่วนนี้ว่า “เป็นหน้าที่ของผู้ชายที่ต้องเป็นธุระจัดการเรื่องต่างๆให้แก่ผู้หญิงที่อยู่ใต้การปกครองของเขาเอง” อั้ลลามาอฺกุรฎุบีย์ในหนังสืออรรถาธิบายของท่านได้กล่าวถึงความเหลื่อมล้ำตรงนี้ว่า “เพราะหน้าที่การเลี้ยงดูหาปัจจัยยังชีพ การอบรมสั่งสอนซึ่งกันและกัน เป็นหน้าที่จำเป็นเหนือฝ่ายชาย ซึ่งฝ่ายหญิงไม่ได้อยู่ภายใต้เงื่อนไขให้ต้องเลี้ยงดูฝ่ายชาย” (يقومون بالنفقة عليهم والذب عنهن وليس ذلك في النساء)

“ما فضل الله بعضهم على بعض” ภายใต้โองการนี้ เป็นสาเหตุของการที่อัลลอฮฺ(ซ.บ)ได้มอบหมายหน้าที่หลายๆอย่างให้แก่ผู้ชาย อิมามบัยฎอวีย์กล่าวว่า “ومزيد القوة في الأعمال والطاعات” “ความเหนือกว่าคือ การที่ฝ่ายชายต้องรับภาระรับผิดชอบในการปฎิบัติศาสนกิจต่างๆที่เพิ่มาจากฝ่ายหญิง เช่น การละหมาดวันศุกร์ และหน้าที่การทำญิฮาด อิมามฎ็อบรีย์ได้ขยายความเพิ่มเติมว่า “من سوقهم إليهن مهورهن وإنفاقهم عليهن أموالهم وكفايتهم إياهن مؤنهن” เพื่อว่าพวกเขา(ฝ่ายชาย)จะต้องหาปัจจัยยังชีพให้แก่ฝ่ายหญิง การจ่ายค่าสินสอด การเลี้ยงดู และการเสียค่าปรับต่างๆตามหลักศาสนา (ที่หากฝ่ายหญิงละเมิด เช่น การลักขโมย เป็นหน้าที่ของฝ่ายชายที่ต้องเสียค่าปรับแทนนาง หากนางไม่สามารถ แต่ฝ่ายหญิงไม่จำเป็นต้องจ่ายแทนฝ่ายชายหากเกิดกรณีเดียวกันในทางตรงกันข้าม)


“نشوزهن” อิมามบะฆอวียกล่าวว่า หมายถึง “التكبر والارتفاع ومنه” การเย่อหยิ่งอวดดี และการยกตนข่มท่าน ในหนังสืออรรถาธิบาย “الفتح القدير” กล่าวว่า “تلك المرأة تنشز وتستخف بحق زوجها ولا تطيع أمره” ความหมายของผู้หญิงที่ไม่เชื่อฟัง คือ บรรดาหญิงที่ไม่พึงรักษาสิทธิของนางต่อสามี และไม่เชื่อคำกล่าวของเขา(ที่ไม่จัดต่อหลักศาสนา) คำว่า “ไม่เชื่อฟัง” (نشوز) นับเป็นคำที่รุ่นแรงมาก บางท่านได้ให้ความหมายว่า “การเป็นชู้”

“فعظوهن واهجروهن في المضاجع واضربوهن” ในส่วนนี้ อิมามบัยฎอวีย์ให้ความหมายอักษร “و” ไว้ว่า มาในความหมายของ “ترتيب” ท่านกล่าวว่า “والأمور الثلاثة مرتبة ينبغي التدرج فيها” คำสั่งทั้งสามอย่างนั้น เป็นไปตามลำดับ จำเป็นอย่างยิ่งต้องทำตามลำดับที่วางเอาไว้ (หมายถึง หากนางไม่เชื่อฟังในครั้งแรก ให้.... หากยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้......หากยังอีก เป็นวิธีการสุดท้ายคือให้.....)

เรื่องการที่สามีตบตีภรรยานั้น อิสลามห้ามอย่างชัดเจน และหากมีร่องรอย หรือได้รับบาดเจ็บ ท่านนบี(ซ.ล) ได้เคยสั่งใช้ให้มีการเสียสินไหมเพื่อร่องรอยนั้นๆด้วย ... คำว่า “واضربو” มาจากรากศัพท์คือ “ضرب” หมายถึง “การกระทบ สัมผัสกันระหว่างสองสิ่ง” เราใช้คำนี้ในความหมายของการมีเพศสัมพันธ์ (การกระทบกันระหว่างสองอวัยวะเพศ) เราใช้คำนี้ในความหมายของการเขียน (การกระทบของปากกาและกระดาษ) มีผู้รู้บางท่านได้ให้ความหมายว่าเป็น “การบ่งใบ้” โดยอ้างอิงการใช้จากคำนี้ในประโยค“فضرب بايديه في الهواء” แปลว่า และเขาก็ทำสัญญานมือขึ้นบนอากาศ

การแปลว่า “จงเฆี่ยนนาง” ไม่สมเหตุสมผล คำว่า “เฆี่ยน” ในภาษาไทย ใช้ใความหมายที่สื่อออกมาเหนือกว่าการ “ตี” พูดง่ายๆก็คือ “การตีที่หนักหน่วง รุนแรง” ในรูปแบบนี้ ภาษาอาหรับจะใช้คำกิริยาประเภทกว่า (مبالغة) จากคำกิริยานี้คือ “ضر"ب” อ่านว่า “ฎ็อรร่อบะ” กิริยาคำสั่งจะเป็น “ليضرب” ไม่ใช่ “اضرب” อย่างในโองการนี้ครับ

สรุปตรงนี้คือ การตีภรรยาในอิสลาม ไม่ได้อยู่บนากฐานของความโกรธ หากแต่เป็นการ "แสดงความไม่พึงพอใจอย่างยิ่ง" ออกมาระดับหนึ่ง หากเป้าหมายของการตีคือ การให้มีบาดแผล สามีจะต้องไไดรับโทษที่เท่าเทียมกัน หากการตีเป็นการระบายอารมณ์ ฝ่ายหญิงสามารถฟ้องหย่าได้ตามหลักอิสลาม (อัลฮิดายะฮฺ)


และพระเจ้าเท่านั้นรู้ดียิ่ง




 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2550    
Last Update : 10 กรกฎาคม 2550 5:17:41 น.
Counter : 1683 Pageviews.  

ผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ทำความดีจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลเลาะห์หรือไม่ ?

ผู้ปฏิเสธศรัทธาที่ทำความดีจะได้รับผลตอบแทนที่ดีจากอัลเลาะห์หรือไม่ ?


รายงานจากท่านอนัส บิน มาลิก กล่าวว่า ท่านนบี(ซ.ล) กล่าวว่า "แท้จริง อัลลอฮฺมิได้ทรงอยุติธรรมแก่การงานของผู้ศรัทธา แท้จริงพระองค์จะทรงตอบแทนความดีแก่เขาในโลกนี้ และโลกหน้า สำหรับผู้ปฎิเสธศรัทธา การงานพวกเขาจะถูกตอบแทนเสียตั้งแต่ในโลกนี้ และเมื่อมาถึงโลกหน้า พวกเขาจะไม่พบความดีอะไรหลงเหลือแก่เขาอีก" บันทึกโดย มุสลิม ฮะดิษหมายเลข 1305


มีการบันทึกถึงภาคผลการกระทำความตีหลายๆอย่าง ที่ไม่จำกัดวงอยู่ในเงื่อนไขของการศรัทธา เช่น การติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ รายงานจากท่านอบูฮุรอยเราะฮ์ กล่าวว่า ท่านนบีมุฮัมมัด (ซ.ล) กล่าวว่า "ใครก็ตามที่อยากให้มีความเป็นอยู่ทีกว้างขวาง และมีอายุยืน ท่านจงมีความสัมพันธ์ที่ดี ต่อเครือญาติ" (บันทึกโดย ติรมีซีย์)อีกรายงานหนึ่ง กล่าวถึงพวกกุเรชมักกะฮ์ ซึ่งขณะนั้นยังไม่ได้เป็นมุสลิม ท่านนบีกล่าวว่า "พวกกุเรชจะยังอยู่ในความดีของเขา (ได้รับการยกย่อง และมีหน้ามีตาในหมู่ชาวอาหรับ) ตราบเท่าที่เขาติดต่อสัมพันธ์กับเครือญาติ" (มิชกาตุ้ลมะซอบิฮ์)


ในครั้งหนึ่ง ท่านกล่าว "การบริจาคทาน จะช่วยเพิ่มศิริมงคลให้แก่ชีวิต" (บันทึกโดย ติรมีซีย์)ศิริมงคล หมายถึง ความดีที่มากมาย ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอายุยืน แต่หมายถึง "สามารถได้ทำ ในสิ่งที่คนมีอายุเท่าๆกัน ไม่สามรถทำได้"


ยังคงเหลือแต่การตอบแทนในโลกหน้า ที่มีเฉพาะผู้ศรัทธาเท่านั้น


… ส่วนการเข้าสวรรค์ หรือลงนรกนั้น เป็นสิทธิของพระองค์ แต่เพียงผู้เดียว …

(กุรอ่าน1:4) "ผู้ทรงสิทธิขาด ในวันตอบแทน"


ทั้งนี้และทั้งนั้น พระองค์จะไม่ทรงผิดคำสัญญาของพระองค์เอง


สัญญาของพระองค์แก่ผู้ศรัทธาคือ

(กุรอ่าน4:126) "บรรดาผู้ศรัทธาต่ออัลลอฮฺ และวันปรโลกชนเหล่านี้แหละเราจะให้แก่พวกเขาซึ่งรางวัลอันใหญ่หลวง"


ส่วนสัญญาของพระองค์ต่อผู้ปฎิเสธคือ

(กุรอ่าน2:90) "และสำหรับผู้ปฏิเสธการศรัทธานั้นคือการลงโทษอันต่ำช้า"


แต่พระองค์อยู่เหนือคำสัญญาของพระองค์ กล่าวได้ว่า พระองค์ จะทำอะไรก็ได้ ที่พระองค์ ทรงประสงค์ โดยไม่ถูกถามถึงสาเหตุ

(กุรอ่าน21:23) "พระองค์จะไม่ทรงถูกสอบถามในสิ่งที่พระองค์ทรงปฏิบัติ และพวกเขาต่างหากที่จะถูกสอบถาม"

… สรุปเรื่องการเข้าสวรรค์-ลงนรก ในทัศนะของมุสลิม คือ ไม่มีมุสลิมคนไหนบอกว่า "ฉันไม่ลงนรกแน่นอน" และ เช่นเดียวกัน ไม่มีมุสลิมคนไหนบอกแก่คนที่ไม่ใช่มุสลิมได้ว่า "คุณต้องลงนรกแน่นอน"



ถามว่า ทำไมคนทำความดีถึงไม่ได้เข้าสวรรค์?

เงื่อนไขการเข้าสวรรค์คือ การศรัทธา


(กุรอ่าน 67: 12) แท้จริงบรรดาผู้ยำเกรงต่อพระเจ้าของพวกเขาโดยที่เขาไม่เห็นพระองค์ สำหรับพวกเขาจะได้รับการอภัยโทษและรางวัลอันใหญ่หลวง


สวรรค์เป็นสถานที่ที่เครียมไว้สำหรับบรรดาคนเหล่านี้

(กุรอ่าน 3:133) และพวกเจ้าจงรีบเร่งกันไปสู่การอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเจ้า และไปสู่สวรรค์ซึ่งความกว้างของมันนั้น คือบรรดาชั้นฟ้าและแผ่นดิน โดยที่มันถูกเตรียมไว้สำหรับบรรดาผู้ที่ยำเกร

134. คือบรรดาผู้ที่บริจาคทั้งในยามสุขสบาย และในยามเดือดร้อน และบรรดาผู้ข่มโทษและบรรดาผู้ให้อภัยแก่เพื่อนมนุษย์และอัลลอฮ์นั้นทรงรักผู้กระทำดีทั้งหลาย

135. บรรดาผู้ที่เมื่อพวกเขากระทำสิ่งชั่วใด ๆ หรือ อยุติธรรมแก่ตัวเองแล้ว พวกเขาก็รำลึกถึงอัลลอฮ์ แล้วขออภัยโทษในบรรดาความผิดของพวกเขา และใครเล่าที่จะอภัยโทษบรรดาความผิดทั้งหลายให้ได้ นอกจากอัลลอฮ์แล้ว และพวกเขามิได้ดื้อรั้นปฏิบัติในสิ่ง ที่เขาเคยปฏิบัติมาโดยที่พวกเขารู้กันอยู่

136. ชนเหล่านี้แหละการตอบแทนแก่พวกเขาคือการอภัยโทษจากพระเจ้าของพวกเขาและบรรดาสวนสวรรค์ ซึ่งมีแม่น้ำหลายสายไหลอยู่ภายในสวนเหล่านั้น โดยที่พวกเขาจะพำนักอยู่ในสวนเหล่านั้นตลอดกาล และรางวัลของผู้ทำงาน นั้นช่างเลิศจริงๆ


วัลลอฮุอะอฺลัม




 

Create Date : 15 มิถุนายน 2550    
Last Update : 15 มิถุนายน 2550 14:23:22 น.
Counter : 683 Pageviews.  

คำสอนของลุกมาน อัล-ฮากีม

ด้วยพระนามของอัลลอฮ์ ผู้ทรงกรุณา เมตตาปราณีเสมอ

ขอเริ่มกลุ่มบล็อกนี้ ด้วยคำสอนของท่าน "ลุกมาน อัล-ฮากีม" ครับ

กล่าวกันว่า ท่านเป็นชาว"อบิสซีเนีย"(เอธิโอเปีย) มีชีวิตอยู่ในระหว่างสมัยท่านนบีอีซา(พระคริสต์) กับท่านนบีมุฮัมมัด อัลลอฮ์ ได้ทรงประทาน "ฮิกมัต" (วิทยาปัญญา)ให้แก่ท่าน

(กุรอ่าน31:12) "โดยแน่นอน เราได้ให้ฮิกมะฮฺ(วิทยปัญญา) แก่ลุกมาน" (คำอธิบายเกี่ยวกับวิทยปัญญาว่า มันคืออะไร? มีหลายทัศนะครับ ทัศนะที่ยอมรับมากที่สุดคือ "การที่ผู้มีความรู้ รู้ว่า เมื่อใดจะใช้ความรู้ที่มี กล่าวสั่งสอนคน หรือนำมาปฎิบัติ และในสถานการร์ใด ควรนำความรู้อันใดออกมาใช้")

ท่านจะมีภาชนะใบหนึ่งใส่เมล็ดข้าวสารไว้ เมื่อใดก็ตามที่ท่านสั่งสอน หรือให้โอวาทแก่ลูกของท่าน ท่านนำเมล็ดข้าวสารออก หนึ่งเมล็ด จนกระทั่งภาชนะนั้นว่างเปล่า ท่านจึงบอกแก่ลูกของท่านว่า "ฉันได้ทำหน้าที่ของฉันแก่เจ้าแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นหน้าที่ของเจ้าเอง"

คำสอนของท่านที่ปรากฎในกุรอ่าน ที่อัลลอฮ์ ทรงยกมาเป็นอุทาหรน์แก่เราท่านทั้งหลาย

(กุรอ่าน31:12) "จงขอบพระคุณต่ออัลลอฮฺ” และผู้ใดขอบคุณ แท้จริงเขาก็ขอบคุณตัวของเขาเอง และผู้ใดปฏิเสธ แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงพอเพียงและทรงได้รับการสรรเสริญ"

(กุรอ่าน31:13) "โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าอย่าได้ตั้งภาคีใด ๆ ต่ออัลลอฮฺ เพราะแท้จริงการตั้งภาคีนั้นเป็นความผิดอย่างมหันต์ โดยแน่นอน“

(กุรอ่าน31:16) "โอ้ลูกเอ๋ย แท้จริง (หากว่าความผิดนั้น) มันจะหนักเท่าเมล็ดผักสักเมล็ดหนึ่ง มันจะซ่อนอยู่ในหิน หรืออยู่ในชั้นฟ้าทั้งหลาย หรืออยู่ในแผ่นดิน อัลลอฮฺก็จะทรงนำมันออกมา แท้จริง อัลลอฮฺเป็นผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง”

(กุรอ่าน31:17) "โอ้ลูกเอ๋ย เจ้าจงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด จงใช้กันให้กระทำความดี และจงห้ามปรามกันให้ละเว้นการทำความชั่ว จงอดทนต่อสิ่งที่ประสบกับเจ้า แท้จริง นั่นคือส่วนหนึ่งจากกิจการที่หนักแน่น มั่นคง"

(กุรอ่าน31:18) "และเจ้าอย่าหันแก้ม (ใบหน้า) ของเจ้าให้แก่ผู้คนอย่างยะโส อย่าเดินไปตามแผ่นดินอย่างไร้มรรยาทแท้จริง อัลลอฮฺ มิทรงชอบทุกผู้หยิ่งจองหอง และผู้คุยโวโอ้อวด"

(กุรอ่าน31:19) "เจ้าจงก้าวเท้าของเจ้าพอประมาณ และจงลดเสียงของเจ้าลง แท้จริง เสียงที่น่าเกลียดยิ่งคือเสียง(ร้อง) ของลา"


เรามาสรุปเป็นข้อๆกันน่ะครับ

1. "จงเป็นบ่าวที่ขอบคุณ" เป็นคำสอนแรก ที่อัลลอฮ์ ทรงสอนแก่ ลุกมาน

แน่นอนทีเดียว การขอบคุณ แสดงถึงความนอบน้อมต่อผู้ให้ หากไม่มีการแสดงถึงความขอบคุณแล้ว เป็นธรรมดาอยู่เอง ที่ผู้ให้ จะทดสอบผู้รับโดยการลดปริมาณการให้ลง หรือตัดไปเลย ทั้งนี้เพื่อที่ผู้รับ จะได้สำนึกในบุญคุณของผู้ให้นั่นเอง

โองการกุรอ่านบทหนึ่ง ใจความว่า
(กุรอ่าน 14:17) "หากพวกเจ้าขอบคุณ ข้าก็จะเพิ่มพูนให้แก่พวกเจ้า และหากพวกเจ้าเนรคุณ แท้จริงการลงโทษของข้านั้นสาหัสยิ่ง”

แท้ที่จริงแล้ว นี่คือการบอกข่าวดีของอัลลอฮ์ถึงบรรดาบ่าวที่ขอบคุณ ถึงการเพิ่มพูนให้แก่พวกเขา ซ้ำยังเป็นการเตือนสำทับแก่ปวงบ่าวที่เนรคุณ ถึงโทษทันฑ์ที่รออยู่

การขอบคุณต่ออัลลอฮ์นั้นทำได้หลายทาง วจนะบทหนึ่งได้แนะนำเราไว้ ใจความโดยสรุปดังนี้
"เขาใช้ทุกๆความโปรดปราณที่อัลลอฮ์มอบให้แกเขา ไม่ว่าจะเป็น การมองเห็น การได้ยิน มือที่ใช้จับต้อง หรือเท้าที่ใช้ก้าวเดิน ไปในหนทางที่ชอบด้วยศาสนา และเมื่อความดีใดๆประสบแก่เขา เขากล่าวว่า "มวลการสรรเสริญทั้งมวล เป็นสิทธิของอัลลอฮ์(อัลฮัมดุลิ้ลลาฮ์)"


ส่วนบ่าวที่เนรณคุณนั้นเล่า กุรอ่านได้กล่าวถึงบุคคลประเภทนี้ พร้อมทั้งการลงโทษอันเจ็บแสบ

(กุรอ่าน40:51) "และเมื่อเราได้ให้ความโปรดปรานแก่มนุษย์ เขาก็เหินห่างและปลีกตัวออกไปข้าง ๆ และเมื่อความทุกข์ประสบแก่เขา เขาก็เป็นผู้วิงวอนขออย่างยืดเยื้อ"

(กุรอ่าน22:11) "หากความดีประสบแก่เขา เขาก็พออกพอใจต่อสิ่งนั้น หากความทุกข์ยากประสบแก่เขา เขาก็จะผินหน้าของเขากลับสู่การปฏิเสธ เขาขาดทุนทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า นั่นคือการขาดทุนอย่างชัดแจ้ง"

วจนะบทหนึ่ง ความหมายโดยสรุปคือ
"ความโปรดปราณใดๆก็ตาม จะถูกรำลึกถึง เมื่อมันได้จากเราไปแล้ว"

อีกบทหนึ่งได้กล่าวไว้ว่า
"ความดีสองประการ ที่คุณค่าของมันมากมาย แต่น้อยคนนักที่ตระหนักถึงมัน
1. สุขภาพที่ดี 2.เวลาที่ว่างจากการงาน"

ไม่จำเป็นต้องมีใครมายืนยันเลย ทุกคนสามารถเห็น และสัมผัสได้ด้วยตัวเอง ถามคนสุขภาพไม่ดีว่า "เขาอยากได้อะไร?" ถามคนที่ทำงานอย่างหนักว่า "เขาอยากได้อะไร?" แต่เมื่อเขาได้มาแล้ว เขาใช้มันอย่างไร?



2. "จงอย่าตั้งภาคีเทียบเทียมพระองค์" เป็นคำสอนแรก ที่ลุกมานสอนลูกของเขา

เอกภาพของพระเจ้า เป็นสารที่ถูส่งลงมาแก่ทุกๆศาสนทูตในทุกยุค ทุกสมัย

อัลลอฮ์ทรงตรัสแก่ นบีมูซา(โมเสส)ว่า
(กุรอ่าน20:14) "แท้จริงข้าคืออัลลอฮฺ ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากข้า"

เช่นกันกับนบีท่านอื่นๆ

โองการกุรอ่าน ได้กล่าวถึงความหนักหน่วงของการตั้งภาคีไว้
(กุรอ่าน4:48) "แท้จริงอัลลอฮฺ จะไม่ทรงอภัยโทษให้แก่การที่สิ่งหนึ่งจะถูกให้มีภาคี ขึ้นแก่พระองค์ แต่พระองค์ทรงอภัยให้แก่สิ่งอื่นจากนั้น สำหรับผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และผู้ใดให้มีภาคีขึ้นแก่อัลลอฮฺแล้ว แน่นอนเขาก็ได้อุปโลกน์บาปกรรมอันใหญ่หลวงขึ้น"

ไม่มีบาปใดในทัศนะของอัลลอฮ์ ที่จะไม่ทรงอภัยให้ เนื่องจากคุณลักษณะ "ผู้ทรงเมตตา(อัรรอฮ์มาน)"ของพระองค์ นอกจากการตั้งภาคี

วจนะบทหนึ่งกล่าวว่า
"ฉันไม่กลัวการที่พวกท่านจะกลับไปตั้งภาคีต่ออัลลอฮ์ดอก(เพราะพวกท่านไม่ทำแน่ๆ) แต่ที่ฉันกลัว ภายหลังจากฉันคือ การที่ท่านละหมาดเพื่อให้คนอื่นมอง การที่ท่านถือศีลอดเพื่อให้คนอื่นมอง หรือการที่ท่านจ่ายทานเพื่อให้คนอื่นมอง เพราะแท้จริงแล้ว นั่นคือการตั้งภาคีเช่นกัน"

การที่เรากระทำการใดๆเพื่อหวังผลตอบแทนอื่นนอกจากอัลลอฮ์ นั่นหมายความว่า เราเชื่อว่า คนๆนั้น สามารถให้คุณ-โทษแก่เราได้ ซึ่งแน่นอนว่า นั่นเป็นการตั้งภาค๊เทีบยเคียงกับอัลลอฮ์นั่นเอง



3. เมื่อทำการใดๆจงนึกเสมอว่า "อัลลอฮ์ เห็นเราอยู่"
นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "อิฮ์ซาน" นั่นเอง

หากมีลูกจางคนหนึ่งทำงานอยู่ โดยที่นายจ้างของเขาเฝ้าดูเขาอยู่ตลอดเวลา จริงทีเดียวที่เขาจะทำงานนั้นอย่างใจจดใจจ่อ ตั้งใจทำเพื่อหวังรางวัลตอบแทนจากนายของเขา แต่ทันทีที่นายของเขาคล้อยหลังไป เขาก็ไม่เอาใจใส่ต่องานของเขา นั่นไม่ใช่คุณลัษณะของผู้ศรัทธาที่ควรมีแด่พระผู้สร้างเขามา

อิฮ์ซานหมายถึง "ถึงแม้เขาไม่เห็นอัลลอฮ์ แต่นึกอยู่เสมอว่า อัลลอฮ์เห็นเขาอยู่" เป็นการทดสอบการศรัทธาเบื้องต้นของปวงบ่าว กล่าวคือ ถึงแม้เขาอยู่คนเดียว สามารถทำอะไรๆที่ขัด่อบัญญัติได้โดยที่ไม่มีผู้อื่นรู้ แต่เขาไม่ทำ เพราะคิดว่า "พระเจ้าเห็นเราอยู่"

มีเรื่องเล่าของครูสอนศาสนาผู้หนึ่ง เขาต้องการทดสอบ "อิฮ์ซาน" ในลูกศิษย์ของเขา เขาจึงสั่งให้บรรดาลูกศิษย์ไปปอกผลไม้คนละลูกมา ข้อแม้คือ ห้ามมิให้ใครเห็น
ลูกศิษย์ต่างแยกย้ายกันไป แล้วไม่นานก็ทยอยกันกลับมาพร้อมกับผลไม้ที่ปอกแล้ว ยังคงเหลือนักเรียนคนหนึ่ง ที่ไม่มาพร้อมกับผลไม้ที่ปอกแล้ว เมื่อถามถึง เขาตอบว่า "ท่านสั่งให้ฉันทำในที่ๆไม่มีคนเห็น ฉันทำไม่ได้ เพราะอัลลอฮ์ของฉัน มองเห็นฉันตลอดเวลา"

การศรัทธาระดับ"อิฮ์ซาน" เป็นผลพวงของ "อิคลาส"(ความบริสุทธ์ใจ) การงานใดก็แล้วแต่ เมื่อมี"อิคลาส" ย่อมไม่เกิดผลใดๆ



4. "จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด"
สอดคล้องกับโองการอื่นๆอีก เช่น
(กุรอ่าน73:20) "จงดำรงไว้ซึ่งการละหมาด"

(กุรอ่าน70:34) "และบรรดาผู้ที่ดำรงรักษาในการละหมาดของพวกเขา ชนเหล่านั้นจะอยู่ในสวนสวรรค์อันหลากหลายเป็นผู้ได้รับเกียรติ

(กุรอ่าน70:19-21) "แท้จริงมนุษย์นั้นถูกบังเกิดมาเป็นคนหวั่นไหว เมื่อความทุกข์ยากประสบแก่เขา ก็ตีโพยตีพายกลัดกลุ้ม และเมื่อคุณความดีประสบแก่เขา ก็หวงแหน นอกจากบรรดาผู้กระทำละหมาด"



3. "จงใช้กันในการทำความดี จงตักเตือนกันให้ห่างจากความชั่ว"



4. "จงอดทน"



5. "จงอย่าหยิ่งยะโส"




6. "จงมีมารยาท"



7. "จงใช้ชีวิตสายกลาง"




8. "จงอย่าสร้างความรำคาญแก่ผู้อื่น"


ไว้มาอัพเดตอรรถาธิบาย และวจนะบางตอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ครับครับ วันนี้ง่วงแล้ว ^-^




 

Create Date : 07 มิถุนายน 2549    
Last Update : 3 กรกฎาคม 2549 2:24:47 น.
Counter : 2459 Pageviews.  


SA Student
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




ปกติเขาเขียนไรกันน่ะ ก็นั่นแหละ อย่างที่เขียนๆกัน
Friends' blogs
[Add SA Student's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.