|
เป็นเกย์เลือกได้หรือไม่ มุมมองทางชีววิทยา (ตอนที่ ๒)
เมื่อตอนที่แล้ว คุยกันไปถึงแนวคิดต่างๆ ที่พยายามอธิบายว่า ทำไมบางคนถึงรักเพศเดียวกันและบางคนรักต่างเพศ ทฤษฎีในยุคแรกๆ ก็มักให้ความสำคัญกับพัฒนาการของเด็ก หรือปัจจัยทางสังคม
แต่ไปๆมาๆ ก็ไม่สามารถอธิบายเรื่องความโน้มเอียงทางเพศได้ทั้งหมด เพราะมีปัจจัยทางชีววิทยาเข้ามาเอี่ยวด้วย เช่น พันธุกรรม และฮอร์โมน
นักวิทยาศาสตร์สังเกตเห็นว่าบางครอบครัว มีโอกาสมีสมาชิกเกย์ได้สูงกว่าครอบครัวอื่น แต่ก็ยังสรุปไม่ได้ว่าเป็นเพราะพันธุกรรม หรือเพราะการเลี้ยงดู เลยต้องเอาการศึกษาอีกแบบมาเปรียบเทียบกัน
คือ การศึกษาฝาแฝดนั่นเอง
ใครๆก็รู้ว่าฝาแฝดแท้นั้น มีพันธุกรรมร่วมกัน ในขณะที่พี่น้องที่ไม่ใช่ฝาแฝดนั้น ถึงแม้จะมีพ่อแม่เดียวกัน แต่ก็ไม่ได้รับพันธุกรรมมาเหมือนกันเป๊ะ พี่น้องจึงแตกต่างเป็นเอกลักษณ์ไปตามตัวบุคคล
เพราะฉะนั้นถ้าจะเดากันง่ายๆ ก็ต้องว่า ตราบใดที่พันธุกรรมที่กำหนดให้คนเป็นเกย์มีอยู่จริง คู่ฝาแฝดแท้ก็น่าจะเป็นเกย์หรือไม่เป็นเกย์เหมือนกัน คิดว่าจริงไหมครับ
คำตอบคือ จริงเป็นส่วนใหญ่ครับ
ผลการศึกษาส่วนใหญ่ พบว่าหากแฝดแท้คนนึงเป็นเกย์ อีกคนก็มักเป็นเกย์ด้วย โดยมีโอกาสอยู่ระหว่าง 30% ถึง 70% ซึ่งสูงกว่าคู่แฝดไม่แท้ และคู่พี่น้องผู้ชายธรรมดา ในผลการศึกษารายงานนึง ก็พบว่าคู่แฝดแท้ที่ถูกแยกกันเลี้ยง ก็ยังโตมาเป็นเกย์ได้เหมือนกันด้วย
ถ้าถามง่ายๆ ว่าทำไมผลไม่ออกมา 100% ก็ต้องตอบง่ายๆว่า การเป็นเกย์ไม่ได้เป็นผลจากพันธุกรรมอย่างเดียว แต่เป็นผลรวมจากปัจจัยอื่นๆอีกหลายด้านครับ เปรียบเทียบกับการสอบเอ็นทรานซ์ การสอบติดไม่ติด ไม่ได้ขึ้นกับคะแนนวิชาใดวิชาหนึ่งอย่างเดียว แต่ขึ้นกับวิชาอื่นๆด้วย
คำถามต่อไป ก็คือ ถ้าการโน้มเอียงทางเพศถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรม แล้ว "ยีนเกย์" อยู่ที่ไหน
จากที่เล่าไปตอนที่แล้วว่า มีการสังเกตกันว่าการโน้มเอียงทางเพศในผู้ชาย น่าจะมาจากพันธุกรรมจากสายแม่ นักวิทยาศาสตร์กลุ่มนึงก็เลยมุ่งวิเคราะห์โครโมโซม X ของกลุ่มตัวอย่างชายรักเพศเดียว และพบตำแหน่งที่คาดว่าเป็นตำแหน่งของ "ยีนเกย์" คือตำแหน่ง Xq28 ในโครโมโซม X
นักวิทยาศาสตร์อีกกลุ่มนึง ก็ค้นพบว่าชายรักเพศเดียวกัน จะมีลักษณะเหมือนกันในตำแหน่งต่างๆ สามแห่ง ในโครโมโซมที่ 7 โครโมโซมที่ 8 และ โครโมโซมที่ 10
ในส่วนหญิงรักเพศเดียวกัน ยังไม่มีผลการศึกษาทางพันธุกรรมที่ชัดเจนเท่าไรครับ นักวิชาการบางคนก็เห็นว่า พันธุกรรมมีบทบาทต่อความโน้มเอียงทางเพศของผู้หญิง น้อยกว่าในผู้ชาย
สังเกตกันง่ายๆว่าถ้าไปสัมภาษณ์ชายรักเพศเดียวกัน ว่าชอบเพศเดียวกันได้ยังไง ส่วนใหญ่มักจะตอบว่า ก็เป็นมายังนี้อยู่แล้ว หรือ born to be ในขณะที่หญิงรักเพศเดียวกันจะไม่ค่อยตอบแบบ born to be เท่าไร แต่จะใช้เหตุผลอื่นๆมากกว่า
คุยกันเรื่องพันธุกรรมแล้ว ตอนหน้ามาต่อกันกับปัจจัยตัวต่อไปครับ คือ ฮอร์โมนของทารกในครรภ์
(เล่าต่อในตอนที่ ๓ ครับ)
Create Date : 02 ตุลาคม 2549 | | |
Last Update : 3 ตุลาคม 2549 3:25:57 น. |
Counter : 2291 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
เป็นเกย์เลือกได้หรือไม่ มุมมองทางชีววิทยา (ตอนที่ ๑)
วันนี้ผมไปฟังบรรยายจากนักชีววิทยาชื่อดังท่านหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้ชำนาญด้านสาขาประสาทวิทยา แกมาเล่าให้ฟังว่า นักวิทยาศาสตร์สมัยนี้ศึกษาเรื่องการโน้มเอียงทางเพศ (sexual orientation) กันไปถึงไหน แล้วค้นพบอะไรกันบ้าง ที่สำคัญคือ ที่คนชอบพูดๆกัน ว่าเป็นเกย์ ไม่เป็นเกย์ เลือกกันได้หรือไม่ หรือเป็นมาแต่กำเนิด ทางชีววิทยาเขามีมุมมองอย่างไร
ขอเก็บประเด็นมาเล่ากันให้ฟังครับ
ก่อนอื่น ก็ต้องเกริ่นว่าการศึกษาเรื่องการรักเพศเดียวกัน ไม่ใช่ของใหม่เลยนะครับ นักจิตวิทยา นักชีววิทยา และนักวิชาการสาขาอื่นๆ ก็ได้ถกเถียงกันมาจะเป็นร้อยปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ซิกมันด์ ฟรอยด์ ที่ตั้งทฤษฎีมาอธิบายว่า การรักเพศเดียวกันเป็นขั้นตอนการพัฒนาขั้นหนึ่งของเด็กอยู่แล้ว แต่เด็กชายบางคนไม่สามารถข้ามขั้นตอนนี้ไปได้ เพราะใกล้ชิดแม่เกิดไป หรือเกลียดกลัวพ่อมากเกิดไป
ซิกมันด์ ฟรอยด์ ใครหนอจะไม่เคยได้ยินชื่อตาลุงคนนี้
ทฤษฎีแบบซิกมันด์ ฟรอยด์ เคยเป็นทฤษฎียอดฮิตมาเป็นสิบๆปี ยกกันมาอธิบายเกย์เป็นตุเป็นตะ แต่ไปๆมาๆ ก็ปรากฎว่า พิสูจน์กันได้ยาก และฟังดูเป็นเรื่องเพ้อฝันของตาซิกมันด์ มากกว่าจะเป็นทฤษฎีแบบวิทยาศาสตร์ (ใครเคยอ่านทฤษฎีแก คงจำกันได้ เรื่องเด็กชายจะอยากฆ่าพ่อเพื่อแย่งแม่ หรือเด็กหญิงจะน้อยใจ อยากมีจู๋เหมือนเด็กชาย)
นักวิชาการรุ่นถัดมาบางคน ก็พยายามอธิบายว่า การเป็นเกย์หรือไม่เป็นเกย์ ขึ้นกับการที่เด็กได้เลียนแบบบทบาทของพ่อและแม่หรือไม่ นักวิชาการบางคนก็ว่า ประสบการณ์ทางเพศในวัยเด็ก จะส่งผลต่อความโน้มเอียงทางเพศเมื่อเด็กโตเป็นผู้ใหญ่ บางคนก็เห็นว่า ความโน้มเอียงทางเพศเกิดจากปัจจัยระดับสังคมมากกว่าจะเป็นระดับครอบครัว เช่น ถ้าสังคมยอมรับการรักเพศเดียวกัน ก็จะมีคนรักเพศเดียวกันมากกว่า สังคมที่ไม่ยอมรับ
แนวคิดต่างๆที่เล่ามานี้ ในปัจจุบันก็ยังเชื่อกันอยู่ครับ แต่นักวิชาการก็ยอมรับกันว่า ไม่สามารถอธิบายเรื่องการโน้มเอียงทางเพศได้ทั้งหมด เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่นอกเหนือไปจากปัจจัยทางจิตวิทยาหรือทางสังคม
ปัจจัยที่ว่านั้น คือปัจจัยทางชีววิทยาครับ ซึ่งก็สามารถแบ่งย่อยไปได้เป็นเรื่องพันธุกรรม และเรื่องฮอร์โมน
ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์เริ่มศึกษาพันธุกรรมมนุษย์ ก็มีการสังเกตกันแล้วว่า ครอบครัวบางครอบครัวมีความโน้มเอียงที่สมาชิกจะรักเพศเดียวกัน ได้มากกว่าครอบครัวอื่นๆ
ที่เห็นกันชัดคือ พี่น้องผู้ชายในครอบครัวเดียวกัน วัดกันตามสถิติ ถ้าพี่ชายหรือน้องชายคนนึงเป็นเกย์ พี่ชายน้องชายคนอื่นก็มีโอกาสเป็นเกย์ด้วยถึง 22% ในขณะพี่สาวกับน้องสาวก็พบสหสัมพันธ์ในลักษณะเดียวกัน
พี่ชายน้องชาย ถ้าคนนึงเป็นเกย์ อีกคนก็มีโอกาสเป็นได้ 22%
อีกคู่ที่น่าสนใจ คือ แม่กับลูกชายครับ ถ้าแม่คนไหนมีลูกชายคนนึงเป็นเกย์ แล้วก็สามารถพยากรณ์ได้ว่า ถ้าแม่คนนั้นมีลูกชายอีก ลูกชายก็จะมีโอกาสเป็นเกย์ได้มากกว่าแม่คนอื่น
ที่น่าสังเกตคือ คู่อื่นๆคือ แม่กับลูกสาว หรือพ่อกับลูกชาย หรือพ่อกับลูกสาวนั้น ไม่แสดงความแตกต่างทางสถิติ นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มสามารถเดาได้แล้วว่า "ยีนเกย์" หรือพันธุกรรมในผู้ชายที่สามารถกำหนดว่าจะชอบเพศไหน น่าจะถ่ายทอดกันมาในสายแม่ครับ ไม่เกี่ยวกับพันธุกรรมสายพ่อ (ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็เชื่อว่ายีนที่ว่าน่าจะอยู่ในโครโมโซม X ในสายแม่นั้นเอง)
"ยีนเกย์" อยู่หน่ายยยย......
แต่แล้ว นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้น ก็ยังไม่เชื่อสนิทใจ ยังสงสัยกันว่าแนวโน้มแบบนี้เป็นเรื่องสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดูในครอบครัวหรือเปล่า คือแม่แบบนึงอาจจะเลี้ยงลูกชายให้ออกมาเป็นเกย์ได้ง่ายกว่าแม่คนอื่น
จะพิสจน์กันได้อย่างไรว่า การเป็นเกย์ เป็นเรื่องพันธุกรรม หรือเป็นแต่เรื่องการสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู นักวิทยาศาสตร์สมัยนั้น ก็เอาวิธีศึกษาอีกแบบ มาเปรียบเทียบกัน
นั่นคือ การศึกษาฝาแฝดครับ
(เล่าต่อในตอนที่ ๒ ครับ)
Create Date : 30 กันยายน 2549 | | |
Last Update : 2 ตุลาคม 2549 7:46:47 น. |
Counter : 1234 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
ว่าด้วยสาขาวิชาเกย์ศึกษา เลสเบี้ยนศึกษา
และแล้วมหาวิทยาลัยที่ผมกำลังเรียนอยู่ ก็ได้ฤกษ์ประกาศเปิดตัวสาขาวิชาใหม่อย่างเป็นทางการ สาขาวิชาที่ว่านี้ คือ Lesbian, Gay, Bisexual, and Transgender Studies หรือที่นิยมเรียกกันย่อๆว่า LGBT Studies
แปลเป็นภาษาไทยออกจะลำบากหน่อย แปลตามตัวคงได้ประมาณว่า สาขาวิชา "เลสเบี้ยน เกย์ รักสองเพศ และแปลงเพศ ศึกษา" ฟังดูแปล่งๆชอบกล เอาเป็นว่าเรียกย่อๆว่า เกย์ศึกษา แล้วกันครับ
LGBT Studies สาขาวิชาเปิดใหม่ที่มหาวิทยาลัยผม
เราคนไทยอาจจะไม่ค่อยคุ้นกับเกย์ศึกษา ออกจะเห็นว่าประหลาดไปนิดที่มีการเรียนการสอนด้านนี้กันด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่าจะมีอะไรมาให้เรียนกัน
ตัวอย่างวิชา เอามาให้ดูครับ
Queer Histories, Communities, and Politics ประวัติศาสตร์ กลุ่มชน และการเมืองของเพศที่สาม
Sexualities, Genders, Bodies เพศ เพศวิถี และร่างกาย
LGBT Studies in Sociology สังคมวิทยาเกย์ศึกษา
Theories of Gender and Sexuality ทฤษฎีทางเพศและเพศวิถี
โดยรวมแล้ว เกย์ศึกษามีลักษณะเป็นสหวิชา คือเน้นการประยุกต์ใช้ทฤษฎีและแนวคิดจากหลายๆศาสตร์ อาจารย์ผู้สอนส่วนใหญ่ก็เป็นตัวแทนมาจากแผนกวิชาต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สังคมวิทยา ประวัติศาสตร์ ศึกษาศาสตร์ นิเทศศาสตร์ สตรีศึกษา และวรรณคดี
ที่มหาวิทยาลัยของผม เกย์ศึกษาเปิดสอนในระดับปริญญาตรีเป็นวิชาโทครับ คือใครจะมาเรียนได้ ไม่จำกัดว่ามาจากคณะไหนวิชาเอกอะไร แต่ถ้าลงเรียนครบอย่างน้อย 6 วิชาตามหลักสูตร ก็ถือว่าสำเร็จวิชาโทเกย์ศึกษาไป
มหาวิทยาลัยอื่นๆ ทั่วสหรัฐอเมริกา ก็มีการสอนเกย์ศึกษามากน้อยต่างไป บางที่เปิดสอนเป็นวิชาเอก บางที่เป็นวิชาโทหรือประกาศนียบัตร บางที่ก็เปิดสอนแค่สองสามวิชา หรือไปรวมอยู่กับสาขาวิชาอื่นไป
แต่มหาวิทยาลัยใหญ่ๆดังๆแทบทุกแห่ง จะมีการเปิดวิชาด้านนี้ให้ลงเรียนกัน โดยเฉพาะในสองสามปีที่ผ่านมา มีการเปิดสอนกันเป็นดอกเห็ด
ไหนๆก็ไหนแล้ว ขอยกตัวอย่างมหาวิทยาลัยอเมริกัน ที่มีการสอนเกย์ศึกษาเป็นสาขาวิชาอย่างจริงๆจังๆ
มหาวิทยาลัยในอเมริกาที่เปิดสอน เกย์ศึกษา เลสเบี้ยนศึกษา เป็นสาขาวิชา
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเป็นวิชาเอก
University of Chicago Brown University Wesleyan University Hobart and William Smith Colleges
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเป็นวิชาโท
Ohio State University San Francisco State University Stanford University UC Berkeley UCLA UC Riverside Cornell University SUNY, Purchase Syracuse University Western Washington University Humboldt State University University of Minnesota Kent State University University of North Carolin-Chapel Hill
ตัวอย่างมหาวิทยาลัยที่เปิดสอนเป็นประกาศนียบัตร หรือเป็นรายวิชาเลือก
Arizona State University University of Iowa Yale University Brandeis University Duke University University of Wisconsin-Madison University of Wisconsin-Milwaukee University of Maryland University of Colorado at Boulder
ข้อมูลเพิ่มเติมดูได้ตามลิ้งก์นี้ครับ //www.people.ku.edu/%7Ejyounger/lgbtqprogs.html //www.humnet.ucla.edu/humnet/lgbts/resources.html#studies
Create Date : 01 กุมภาพันธ์ 2549 | | |
Last Update : 1 กุมภาพันธ์ 2549 9:50:22 น. |
Counter : 990 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
การเมืองฝรั่ง คนแปลงเพศ และห้องน้ำรวม
แหะ แหะ โดนจิกมา ว่าขี้เกียจ ไม่ค่อยมาอัพบล็อกเลย ขอแก้ตัวว่าไม่จริงนะครับ ยังอัพบล็อกอยู่เรื่อยๆ แต่ไปเป็นส่วนไดอารี่มากกว่า
เอาเถอะ ไหนๆก็ไหนๆแล้ว วันนี้ผมขอคุยกันเรื่องปัญหาของคนแปลงเพศ เพราะวันก่อนผมได้ไปการประชุมของกลุ่มการเมืองระดับท้องถิ่น ซึ่งพยายามเสนอให้เมืองออกกฎหมายคุ้มครองคนแปลงเพศ หรือคนที่กำลังอยู่ในกระบวนการแปลงเพศ ซึ่งประเด็นของเขาคือ ในขณะนี้ทั้งรัฐและเมืองที่ผมอยู่ ได้มีกฎหมายห้ามเลือกปฏิบัติโดยเอาความชอบทางเพศเป็นเกณฑ์ (Sexual Orientation) แต่กฎหมายที่ว่านี้ไม่ได้ห้ามการเลือกปฎิบัติโดยใช้การแสดงออกทางเพศเป็นเกณฑ์ (Sexual Expression)
หนุ่มที่อยากเป็นสาว สาวที่อยากเป็นหนุ่ม เรซี่ ลูคัส ทีเจ และ แกบบี้ จากรายการทีวี Transgeneration
ฟังดูออกจะงงๆ หลายคนคงจะไม่เห็นว่าความชอบทางเพศ กับการแสดงออกทางเพศ ต่างกันยังไง
ลองยกตัวอย่างเอา อาจจะเห็นภาพง่ายขึ้นนะครับ
ชายเกย์ทั่วไป (นึกภาพ Brokeback Mountain) เพศโดยกำเนิด - ชาย ความชอบทางเพศ - ชอบชาย การแสดงออกทางเพศ - แสดงเป็นชาย
สาวประเภทสอง (นึกภาพน้องตุ้ม ปริญญา) เพศโดยกำเนิด - ชาย ความชอบทางเพศ - ชอบชาย การแสดงออกทางเพศ - แสดงเป็นหญิง
สาวเลสเบี้ยนสุดเซ็กซี่ เพศโดยกำเนิด - หญิง ความชอบทางเพศ - ชอบหญิง การแสดงออกทางเพศ - แสดงเป็นหญิง
ทอมแบบแมนสุดๆ เพศโดยกำเนิด - หญิง ความชอบทางเพศ - ชอบหญิง การแสดงออกทางเพศ - แสดงเป็นชาย
สิ่งหลักที่ต่างกันระหว่างชายเกย์ทั่วไปกับสาวประเภทสอง หรือสาวเลสกับทอมหล่อ คือ การแสดงออกทางเพศ ครับ ซึ่งกฎหมายที่นี่ในปัจจุบันยังไม่คุ้มครองตรงนี้
บริษัทห้างร้าน หรือแม้แต่หน่วยงานราขการที่นี่ ไม่สามารถไล่คนออกเพียงเพราะว่าเขาชอบเพศเดียวกัน ชายเกย์และสาวเลสทั่วไปจึงมีกฎหมายคุ้มหัว แต่องค์กรสามารถไล่คนออกได้ ถ้าแสดงออกผิดเพศกำเนิด เพราะฉะนั้นบรรดาสาวประเภทสองและหนุ่มประเภทสอง (ทั้งแปลงเพศแล้วหรือยังไม่แปลง) จึงคับแค้นใจเอามากๆ เพราะต้องเก็บกดแต่งตัวทำท่าทางเป็นเพศที่เขาไม่อยากเป็น เพื่อไม่ให้โดนไล่ออก
อีกประเด็นที่ไม่น่าจะมาเป็นประเด็นได้ แต่ก็เป็นปัญหาไปแล้ว คือเรื่องห้องน้ำครับ ห้องน้ำที่แบ่งชายแบ่งหญิงนี่แหละ เป็นที่กระอักกระอ่วนใจของคนกลุ่มนี้เอาไม่น้อย ถ้าเป็นเมืองไทย สาวประเภทสองก็เข้าไปใช้ห้องน้ำหญิงกันได้ไม่ค่อยมีปัญหาอะไร แต่ที่นี่ทำไม่ได้ครับ เพราะบางที่ดันมีกฎหมายห้ามเข้าไปใช้ห้องน้ำรวมหรือห้องอาบน้ำรวมของอีกเพศนึงโดยเด็ดขาด
แต่บางตึกบางองค์กรก็พยายามแก้ปัญหากันเท่าที่ทำได้ บางหน่วยงานถึงกับสร้างห้องน้ำเดี่ยวห้องเล็กๆ มีโถส้วมเดี่ยว (แทนที่จะเป็นห้องน้ำรวม หลายโถส้วม) และกำหนดให้เป็นห้อง Unisex คือใครจะใช้ก็ได้ ไม่จำกัดเพศ
ซึ่งก็สมเหตุสมผลดีครับ ห้องน้ำเดี่ยว เข้าไปใช้ทีละคน จะไปแบ่งเพศทำไมให้วุ่นวาย
Create Date : 17 มกราคม 2549 | | |
Last Update : 18 มกราคม 2549 3:11:48 น. |
Counter : 885 Pageviews. |
| |
|
|
|
|
| |
|
|