|
1 | 2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 |
8 | 9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 |
15 | 16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 |
22 | 23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 |
29 | 30 | |
|
|
|
|
|
|
|
ประสบการณ์ปฏิบัติธรรมที่วัดยานนาวา(หลักสูตรพัฒนาจิตเพื่อชีวิตและการทำงานที่เป็นสุข))
สวัสดีค่ะ ผู้สนใจปฏิบัติธรรมทุกท่าน ใครคลิกมาอ่านเราถือว่าท่านสนใจปฏิบัติธรรมหมดทุกคน :)
ที่เขียนบล็อกนี้ เพราะอยากให้คนที่สนใจปฏิบัติธรรม ไม่ว่าจะที่วัดยานนาวาหรือวัดไหนๆ ลอง search internet แล้วได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ไปประกอบการตัดสินใจ เพราะตัวเราเองก็เป็นมนุษย์ google คนหนึ่ง ก่อนจะตัดสินใจมาที่วัดยานนาวานี้ ก็หาข้อมูลหลายที่อยู่เหมือนกัน โดยมีเป้าหมายคือ 1) อยากไปปฏิบัติธรรมเพื่อพัฒนาจิตตนเอง 2) ขอเป็นในกทม.ที่เดินทางสะดวก มีรถไฟฟ้ายิ่งดี 3) ถ้าเป็นไปได้อยากให้ไม่ต้องทำงานต่างๆ เช่น กวาดวัด ล้างห้องน้ำ เตรียมอาหารถวายพระ จริงๆก็เข้าใจว่ากิจกรรมเหล่านั้นล้วนได้บุญกุศล และถือเป็นการฝึกตนเอง แต่ว่าในเบื้องต้น คนอ่อนหัดอย่างเราอยากฝึกปฏิบัติอย่างจริงจังมากๆก่อน 4) แม้จะอยากฝึกจริงจัง แต่ขอระยะสั้นแค่ 2-3 วัน เพราะมีภาระหน้าที่ซึ่งทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติเป็นสัปดาห์ได้ (และใจยังไม่แกร่งพอด้วย กลัวจะไม่ไหว)
ใครที่มีเงื่อนไขคล้ายๆเรา ที่นี่แหละใช่เลย วัดยานนาวา..
วัดยานนาวามีหลายหลักสูตรให้เลือก เช็คที่เว็บก็จะเห็น (ใครอยากไปหลักสูตรยาว 7 วันก็มีเหมือนกัน)
การลงทะเบียนที่วัดยานนาวา ต้องลงทางเว็บ ลองเข้าไปเยี่ยมชมได้ที่นี่ค่ะ //bhavanatoday.org/Default.aspx
เมื่อลงทะเบียนเสร็จจะมีอีเมลแจ้งให้เรา confirm ทางโทรศัพท์ เมื่อ confirm แล้ว ก่อนปฏิบัติ 1 วันยังมีข้อความมาเตือนด้วย
สิ่งที่ต้องเตรียมไป และห้ามนำไป มีบอกในเว็บไซต์หมดเลย ความจริงผ้าห่มนั้น ทางวัดมีให้ แต่เอาไปเผื่อซักนิดก็ดี ใครได้นอนใกล้แอร์จะหนาวมาก
อ้อ.. ในเว็บไม่ได้บอก แต่จริงๆควรเอาถุงเท้าไปด้วยนะคะ จะได้ไม่ต้องเดินเท้าเปล่าแบบเรา
การเดินทางนั้น ใช้รถไฟฟ้าดีที่สุด ลงสถานีตากสิน เดินไปไม่ไกล (หากขับรถจะติดมากมาย)
เมื่อเข้าวัดไป จะเจออาคารเจษฎาบดินทร์เลย เดินขึ้นไปชั้นสอง ลงทะเบียนเสร็จจะไม่ได้ลงมาข้างล่างอีกเลยค่ะ รองเท้าถอดใส่ตู้ไว้ตั้งแต่หน้าประตู
ห้องนอนจะเป็นห้องใหญ่ๆ เตียงสองชั้น ติดแอร์แต่มีพัดลมด้วย ทางวัดจะเปิดแอร์ให้เฉพาะตอนกลางคืน
ห้องน้ำ และห้องอาบน้ำ มีจำนวนเพียงพอและสะอาด (ตรงนี้สำคัญสำหรับเรามากค่ะ)
เมื่อจองเตียงเรียบร้อยแล้ว ก็รอเสียงตีฆ้อง เรียกเข้าห้องปฏิบัติ(ห้องแอร์) วันแรกรับศีลแปดจากพระอาจารย์ และตลอดทั้งวันก็จะมีการเข้าห้องปฏิบัติ ประมาณ 5-6 ครั้ง (จำไม่ได้แน่ชัด) และจะมีการพักประมาณครึ่งชั่วโมงทุกครั้ง
การปฏิบัติจะเริ่มด้วยการฟังเทศน์จากพระอาจารย์ เดินจงกรม และต่อด้วยนั่งสมาธิ บางครั้งจะมีการฉายวีดีโอให้ดูบ้าง เช่นวันแรกเป็นข้อปฏิบัติและห้ามปฏิบัติ วันต่อมาเป็นวีดีโอจากช่องทีวีออนไลน์ของทางวัด ช่วงที่เราไป 6-8 กันยายน 56 จะเป็นวีดีโอเกี่ยวกับการสร้างศูนย์ปฏิบัติธรรมวัดธรรมทัสสี จ.บุรีรัมย์
วันที่สองจะมีการสอบอารมณ์ด้วย ใครสงสัยอะไรเรื่องการปฏิบัติ เขียนถามพระอาจารย์ได้เลย
อ้อ.. วันที่สองและวันที่สามจะมีบางช่วง บันทึกวีดีโอการเทศน์ และมีถ่ายรูปผู้ปฏิบัติธรรมด้วยค่ะ แต่ก็ไม่เป็นการรบกวนสมาธิจนเกินไป
สำหรับเรื่องอาหารการกิน มื้อเช้าจะเป็นอาหารจานเดียว ตอนเราไปมีกระเพาะปลา และอีกวันเป็นโจ๊กมังสวิรัติ ส่วนมือกลางวันจะเป็นข้าวและกับสามอย่าง ทุกมื้อจะมีขนมให้ทานด้วย เช่น ขนมปังลูกเกด ขนมฟ้กทอง
น้ำปานะมีให้ทานได้ตลอดจนถึงค่ำๆค่ะ ได้แก่ โอวัลติน น้ำเต้าหู้ กาแฟ
พูดเรื่องทั่วไปเยอะแล้ว มาดูผลการปฏิบัติบ้าง
สำหรับเรา แม้ว่าหลักสูตรจะดีแค่ไหน แต่ผลที่ได้เป็นอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับแต่ละคนจริงๆ และจากประสบการณ์ตัวเองครั้งนี้ ทำให้เราเข้าใจแล้วว่า การปฏิบัติเพียงไม่กี่ครั้ง ไม่สามารถเปลี่ยนนิสัยคนได้ (มิน่าล่ะ ตอนเรายังไม่ไป ได้ยินว่าคนนู้น คนนี้ไปปฏิบัติธรรม พอเค้ากลับมา บางคนเรายังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงของเค้าเลย)
และสำหรับตัวเราเอง เปลี่ยนไหม คงไม่มาก เพียงแค่ได้รู้หลักการดึงสติไว้กับตัวเอง ซึ่งทำได้ยากเพราะใจมันวิ่งไปเรื่อย คงต้องพยายามต่อไป ไม่อย่างนั้นที่เรียนมาก็จะไม่ได้ผลอะไรเลยหากปฏิบัติเฉพาะในห้องเรียน
นอกจากนี้ สิ่งที่ได้คือ การฝึกความอดทน
ตอนนั่งสมาธิ เราทนไม่ไหวเลย เพราะทั้งวันก็นั่งพับเพียบกับพื้น จนขาเราปวดเมื่อย พอต้องนั่งสมาธิวันละหลายรอบ รอบละไม่ต่ำกว่า 15-25 นาที ความเจ็บ ความปวดมันทรมานจนเราต้องเปลี่ยนท่านั่งและไม่สามารถนั่งจนถึงเวลาที่พระอาจารย์ให้ออกจากสมาธิได้ จนกระทั่งได้ฟังพระอาจารย์ตอบคำถามตอนสอบอารมรณ์ว่า "อย่าเปลี่ยนท่านั่ง ให้ทน กำหนดไปว่าเจ็บหนอ ปวดหนอ ทนให้ถึงที่สุด น้ำตาจะไหล จะเป็นลมในกรรมฐานก็เป็นไปเลย ดีแล้วที่เราได้พิจารณาเวทนา และเมื่อทนได้แล้ว ต่อไปอะไรจะเกิดขึ้นก็ทนได้ทั้งนั้น"
หลังจากนั้น เรานั่งสำเร็จตามเวลาที่พระอาจารย์บอกได้ 3 ใน 4 ครั้ง (ครั้งที่ล้มเหลวนั่นคือ ครึ่งชั่วโมง เราไม่ไหวจริงๆ) และที่นั่งได้นั้น กำหนดว่า เจ็บหนอ ปวดหนอ ทนหนอ แต่ไม่ตายหรอกหนอ สู้หนอ ไม่ยอมหนอ ชาหนอ รอหนอ เมื่อไหร่จะจบหนอ ฯ ตลอด และกำหนดรู้ความเจ็บว่ามันวิ่งจากที่ไหนไปที่ไหน (ตอนหลังชาถึงหัว ถึงใบหน้าเลย แถมมึนหัวข้างเดียวตุบๆ ซึ่งพระอาจารย์บอกว่าปกติ รวมถึงอาการคลื่นไส้ อยากอาเจียนด้วย ซึ่งเราไม่เป็น แต่มีผู้ปฏิบ้ติท่านอื่นเป็น)
แบบนี้เรียกว่าสำเร็จไหม ไม่รู้ แต่ก็รู้สึกดีใจที่ทนได้ และรู้ว่าเป็นขั้นอนุบาลสุดๆ หวังว่าซักวันจะทนเจ็บได้จนเห็นความเจ็บหายไปได้อย่างผู้ปฏิบัติเก่งๆบ้าง (บางคนนั่งนิ่งมาก เฉยมาก เก่งจริงๆ)
ว่าจะไม่ยาวแต่ก็เล่าซะยาว ขอสรุปปิดท้ายว่า หากคิดจะไปปฏิบัติ อยากให้เต็มที่ค่ะ ถ้ากฎบอกห้ามใช้มือถือ ก็อย่าใช้ ไม่ให้คุย จงอย่าคุย เราเห็นคนอื่นที่ทำสิ่งเหล่านี้แล้วก็ไม่เข้าใจว่า เขามาทำไม คือ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้ ไม่ต้องมาดีกว่า รอให้พร้อมจริงๆค่อยมา จะได้สำเร็จสมดังความตั้งใจ จะเป็นแค่สำเร็จก้าวเล็กมากๆอย่างเรา หรือสำเร็จก้าวใหญ่ๆ ก็สุดแท้แต่บุญแต่กรรม และของเก่าที่แต่ละคน มีมา แต่เราไม่เชื่อว่า การมาปฏิบัติโดยไม่เคารพกฎตั้งแต่แรกนั้น จะทำให้เจริญทางธรรมได้ค่ะ เพราะนั่นแปลว่าคุณไม่มีใจที่มุ่งมั่นมากพอ
ขออนุโมทนาให้ทุกคนที่ได้ไปปฏิบัติธรรมนะคะ ขอบคุณที่อ่านจนจบค่ะ
Create Date : 08 กันยายน 2556 |
|
0 comments |
Last Update : 8 กันยายน 2556 22:39:13 น. |
Counter : 17631 Pageviews. |
|
|
|
|
|
|
|
|