|
| 1 |
2 | 3 | 4 | 5 | 6 | 7 | 8 |
9 | 10 | 11 | 12 | 13 | 14 | 15 |
16 | 17 | 18 | 19 | 20 | 21 | 22 |
23 | 24 | 25 | 26 | 27 | 28 | 29 |
30 | 31 | |
|
|
|
|
|
|
|
SSEA : ชั้นเรียน (สยอง) ของคุณครูมายะฉบับกางตำราวิพากษ์ (spoiled)
เกริ่นนำ
ละครเรื่องนี้อยู่ในใจนานแล้วว่าจะเขียนถึง ในฐานที่ทางบ้านของคิมุประกอบอาชีพแบบเดียวกับคุณ อาคุสึ มายะ เจ้าของชั้นเรียนสยองที่ตั้งใจจะกางตำราเพื่อวิพากษ์ในวันนี้กันแบบยกครัวทั้งคุณพ่อ คุณแม่ และ ตัวของคิมุเองถึงแม้ว่าจะมิใช่การศึกษาที่เรียกกันว่า การศึกษาขั้นพื้นฐานระดับปฐมวัยอย่างคุณครูมายะก็ตามทีเถิด
การเขียนในครั้งนี้ขอออกตัวก่อนว่าออกกึ่งวิชาการ และ เป็นการเขียนบรรยายออกมาในลักษณะของผู้อ่านตำรา และ ผู้ชมละคร หาใช่เป็นงานเขียนของผู้เชี่ยวชาญไม่ ดังนั้นอาจมีหลายจุดที่มีความบกพร่องนะคะ โปรดใช้วิจารณญาณในการอ่านประกอบซักนิดนึง
เท้าความต่อมาว่าตัวคิมุเองวนเวียนอยู่ในวงการศึกษาอย่างใกล้ชิดมาเป็นเวลานานซึ่งไม่นับถึงเรื่องการเล่าเรียนเขียนอ่านอันทุกคนต้องผ่านนะคะ อย่างที่บอกเพราะครอบครัวนั้นมีอาชีพครูกันหมด จึงมีประสบการณ์โดยอ้อมผ่านทางคุณพ่อ และ คุณแม่ซึ่งสอนหนังสือมาตลอดชีวิตของท่าน อาจจะเรียกว่าคิมุใกล้ชิดครุศาสตร์ตัวพ่อตัวแม่เลยก็คงได้(ฮา) บรรยากาศในห้องเรียน วิธีการจัดการเรียนการสอน การควบคุมชั้นเรียน สิ่งแวดล้อมในชั้นเรียนในแบบต่าง ๆ ตกเย็นระหว่างคุณพ่อขับรถกลับบ้าน หรือ ตอนเช้าที่ต้องขับรถไปทำงานก็เป็นอันว่าได้ฟังทั้งคุณแม่ และ คุณพ่อ เล่า(บ่น)ให้ฟังถึงชั้นเรียนด้วยลักษณะที่แตกต่างกันไป และ ระหว่างนั้นก็จะสลับด้วยวิธีการแก้ไขปัญหา รวมทั้งแนวคิดทฤษฎีต่าง ๆ ที่นำมาใช้ให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปโดยราบรื่นและมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผลสูงสุด ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็ยังวนเวียนอยู่ภายในรถคันเดิมจวบจนปัจจุบัน
แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ณ เวลานี้ คิมุก็เกิดจะมีประสบการณ์ตรงกับเค้าบ้างค่ะถึงแม้จะไม่นานก็เถอะ ก่อนเข้ามาอยู่ ณ จุดนี้ยอมรับว่าคิดเกี่ยวกับอาชีพนี้ไว้แบบหนึ่ง แต่เมื่อได้เข้ามาทำจริง ๆ ก็ตระหนักได้ว่าการประกอบอาชีพนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายดาย หลายคนมักคิดว่าวัน ๆ หนึ่งสอนซัก 3 คาบ(หนึ่งคาบเรียนเท่ากับ 50 นาทีค่ะ)จะกระไรนักหนาแต่สำหรับมือใหม่ .... 3 คาบเท่านั้นประหนึ่งออกศึกทีเดียวค่ะ(ฮา) เอาล่ะ ... เพื่อน ๆ คงสงสัยกันว่าเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น นั่นก็เพราะ ชั้นเรียนมีลักษณะเฉพาะค่ะ
ลักษณะเฉพาะของห้องเรียน
ประการแรก ชั้นเรียนมีหลายมิติค่ะ เป็นต้นว่า มิติของวิชาการ คือ เรื่องของการเรียนการสอนซึ่งในมิตินี้ก็จะมีกิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้น นักเรียนฟังคุณครูพูด จดเลคเชอร์ ทำงานกลุ่ม และ ยังมีมิติของจิตสังคม คือ การถกเถียง ประเมินกันและกัน สร้างมิตรภาพระหว่างกันเอง ส่วนคุณครูก็อาจต้องให้คำปรึกษาสำหรับผู้เรียนที่มีปัญหาต่าง ๆ จึงเป็นหน้าที่ของคุณครูที่ต้องทำให้บรรยากาศในชั้นเรียนเอื้อต่อเหตุการณ์เหล่านี้
ประการที่สอง ชั้นเรียนมีกิจกรรมหลายอย่างเกิดขึ้นพร้อม ๆ กันซึ่งอาจะเป็นพฤติกรรมที่พึงประสงค์ หรือ ไม่พึงประสงค์ก็ได้ ผู้เรียนอาจทำกิจกรรมที่บ่งถึงความตั้งใจเรียนรู้ บ้างอาจจะดำเนินพฤติกรรมที่ไม่สมควร เช่น คุย ทะเลาะเบาะแว้ง หลับ ก็เป็นหน้าที่ของคุณครูอีกเช่นกันที่ต้องควบคุมดูแลกิจกรรมต่าง ๆ ในห้องเรียนให้ถูกต้องเหมาะสม
ประการที่สาม เหตุการณ์ที่เกิดในชั้นเรียนมีความฉับพลัน ว่ากันง่าย ๆ คือ เหตุการณ์หลายอย่างในชั้นเรียนมักเกิดขึ้นโดยกะทันหันนั่นเองค่ะ ดังนั้นคุณครูอีกนั่นแหละที่จะต้องรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นโดยฉับพลันนั้นให้ถูกวิธี ตรงจุดนี้การวางแผนล่วงหน้าอย่างรอบคอบจึงมีความจำเป็นอย่างมากสำหรับคนเป็นครู
ประการที่สี่ ชั้นเรียนพยากรณ์ไม่ได้ แม้จะวางแผนหนึ่งสองสามมาอย่างดีแล้วก็ตามทีแต่มักมีเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงเกิดขึ้นเสมอค่ะ เพราะฉะนั้นคุณครูจึงต้องสามารถแก้ไขเหตุการณ์เฉพาะหน้าให้ได้
ประการที่ห้า ชั้นเรียนไม่มีความเป็นส่วนตัว เนื่องจากห้องเรียนเป็นพื้นที่สาธารณะและเป็นพื้นที่เปิด ดังนั้นคุณครูทำอะไรนักเรียนเห็น นักเรียนทำอะไรคุณครูก็เห็น เพื่อนนักเรียนด้วยกันก็เห็น ซึ่งบีบให้นักเรียนหาพื้นที่เพื่อแสดงพฤติกรรมส่วนตัว เช่น เขียนข้อความหากัน แอบคุย นำงานอื่นขึ้นมาทำ หลับ
ประการสุดท้าย ชั้นเรียนมีลักษณะความเป็นประวัติศาสตร์ คือ เมื่อชั้นเรียนสิ้นสุดลงในปีการศึกษา หรือ ภาคเรียนก็ตาม ความทรงจำเชิงบวก และ ลบจะเกิดขึ้นและเก็บกักเอาไว้ในชั้นเรียน โดยความทรงจำเหล่านั้นจะมีอิทธิพลต่อสิ่งที่จะเกิดขึ้นรวมทั้งพฤติกรรมในชั้นเรียนในโอกาสต่อไป
ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีปัจจัยหลายประการที่คุณครูต้องควบคุมไม่ให้เกิด และ ก็มีปัจจัยอีกหลายประการที่คุณครูควบคุมไม่ได้แต่ต้องใช้วิธีการรับมือ และ แก้ไข ไม่เก๋าจริงบอกตามตรงจากประสบการณ์ว่ารับมือได้เพียงบางปัจจัยเท่านั้นค่ะ ทำให้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ของการเรียนการสอนมีไม่เต็มที่ และ ไม่สัมฤทธิ์ผลเท่าที่ควรจะเป็น
เข้าเรื่อง
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับชั้นเรียนของคุณครู อาคุสึ มายะ เล่า .... ค่ะ การลงมือเข้าควบคุม และ รับมือกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เป็นผลมาจากลักษณะเฉพาะของชั้นเรียนเพื่อให้การจัดการเรียนการสอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และ เกิดความสำเร็จนั้นเป็นศาสตร์ค่ะ ศาสตร์ที่เราเรียกว่า การจัดการชั้นเรียน นั่นเอง
สำหรับตัวคิมุเองหลังจากรับชมละครเรื่อง Queens classroom แล้ว และได้มีโอกาสมาสอนหนังสือรวมทั้งต้องศึกษาศาสตร์ในการจัดการชั้นเรียนเพื่อประโยชน์ทางอาชีพจึงมีความสนใจเป็นพิเศษสำหรับกลวิธีการจัดการชั้นเรียนของคุณครู อาคุสึ มายะ แน่ละว่าละครนะ ละครเรากำลังพูดถึงละคร ซึ่งประกอบด้วยจินตนาการของผู้เขียนบท และ การอ้างอิงข้อเท็จจริง (บางส่วน) อาจจะฟังดูแปร่ง ๆ ที่วันนี้คิมุจะเอาหลักทฤษฎีจากความเป็นจริงมาจับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งดูเหมือนว่าผู้เขียนบทโทรทัศน์นำเอากลวิธีการเขียนบทแบบเหนือจริงมาใช้ซึ่งค่อนข้างพิถีพิถันในการเสริมแรงทัศนคติเชิงลบในวิธีการจัดการชั้นเรียน แต่ลดทอนสิ่งเหล่าจากใจคนดูด้วยผลที่เกิดขึ้นในละครรวมทั้งภูมิหลังของคุณครูเอง
อย่างไรก็ตามด้วยความสงสัยจึงอยากจะลองเปิดตำราศึกษาดูว่าโดยรวมแล้ววิธีการจัดการชั้นเรียนของคุณครูอาคุสึ มายะ หากเอากันจริง ๆ เปรียบเทียบกับทฤษฎีและผลงานวิจัยแล้วผลลัพธ์น่าจะออกมาในรูปแบบใด นอกจากนั้นยังต้องการค้นหาแนวคิดด้วยว่าผู้เขียนบทนั้นต้องการสื่อสิ่งใดให้ผู้ชมละครได้รับทราบ ดังนั้นขอเรียนไว้ตรงนี้ว่าการวิพากษ์ครั้งนี้จะขอกล่าวถึงแต่เพียงวิธีการที่คุณครูใช้ในการจัดการเรียนเป็นหลักนะคะ ฉะนั้นคิมุจึงใคร่ขอกางตำราวิพากษ์ห้องเรียน(สยอง)ของคุณครูมายะ ณ บัดนี้ ค่ะ ^ ^
เป้าหมาย และ ความสำคัญของการจัดการชั้นเรียน: ชั้นเรียนตามหลักทฤษฎี และ ชั้นเรียนของคุณครูมายะ
หลายปีที่ผ่านนักวิชาการทางการศึกษาให้ความสนใจที่จะพัฒนาวิธีการที่จะดึงเอาศักยภาพทางสติปัญญารวมทั้งความฉลาดทางอารมณ์ผ่านเครื่องมือที่เรียกว่าห้องเรียนอยู่ตลอด โดยอาศัยศาสตร์ที่เรียกว่า การจัดการชั้นเรียน ซึ่งแต่เดิมมานั้นการจัดการชั้นเรียนมีความสัมพันธ์กับกฎ และ ระเบียบวินัยเป็นอย่างมาก โดยสิ่งเหล่านี้เชื่อมโยงกับอำนาจของครู ทำให้ห้องเรียนที่เงียบเชียบ เรียบร้อย ไม่โต้เถียง ว่านอนสอนง่ายถือเป็นบรรทัดฐานอันหนึ่งของการจัดการเรียนการสอน และ ภาพลักษณ์ของครูคือบุคคลเข้มงวดถือไม้เรียว เสียงดัง ทำให้เด็กกลัวตัวแข็งทื่อ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นภาพรวมการเรียนการสอนในยุคสมัยหนึ่ง
เมื่อการเวลาเปลี่ยนไปการจัดการเรียนรู้ยึดหลักที่เรียกว่า ยึดผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง และ บทบาทของคุณครูก็เปลี่ยนจากผู้บรรยาย เป็นผู้ให้ความสะดวกในกระบวนการเรียนรู้ สร้างบรรยากาศเชิงบวก รวมทั้งลดพฤติกรรมที่รบกวนการเรียนรู้ในชั้นเรียน กล่าวคือ ชั้นเรียนตามหลักสมัยใหม่ที่ว่านี้ควรเป็นไปตามจุดประสงค์ดังต่อไปนี้ ได้แก่ ต้องตอบสนองต่อพัฒนาการของผู้เรียนอย่างเหมาะสมตามวัย เช่น วัยเด็กจะต้องมีการแนะนำกฎระเบียบภายในชั้นเรียน เมื่อเป็นวัยรุ่นที่หันเหความสนใจจากคุณครูไปสู่เพื่อน หรือ อย่างอื่น ควรเน้นเรื่องการทำตามข้อตกลงและปรับพฤติกรรมให้เป็นไปตามระเบียบ ยิ่งกว่านั้นต้องเพิ่มเวลาการเรียนรู้ของผู้เรียนทั้งในด้านปริมาณ และ คุณภาพ เสริมด้วยข้อตกลงของชั้นเรียนซึ่งสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างอิสระไม่ขวางกั้นระบบความคิดของผู้เรียน สุดท้ายชั้นเรียนควรช่วยให้ผู้เรียนตื่นตัวที่จะพัฒนาตนเองให้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปในทางที่พึงประสงค์
ซึ่งจากการสังเกตดูเห็นว่าชั้นเรียนของคุณครูมายะเป็นส่วนผสมของชั้นเรียนสมัยเก่าและสมัยใหม่ ร่วมด้วยบางสิ่งที่คิมุหาไม่เจอในตำรา(ฮา) จะเรียกว่าเป็นชั้นเรียนแบบร่วมสมัย (ได้ไหมนะ)บทบาทของคุณครูมายะมีภาพลักษณ์ของดุร้ายน่ากลัว(เด็ก ๆ เรียกเธอว่า โอนิ แปลว่า ยักษ์ ใช่ไหมคะ) เป็นสัญลักษณ์ของความเป็นระเบียบ และ เข้มงวด ทั้งยังสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างชัดเจนกับอำนาจของครูที่เป็นดังศูนย์กลางจักรวาลของห้อง ป.6/3 ซึ่งขัดกับการจัดการชั้นเรียนแบบสร้างสรรค์ในแง่ของการสร้างบรรยากาศเชิงบวก ส่วนวัตถุประสงค์อื่น ๆ มีความเห็นว่าชั้นเรียนของคุณครูมายะมีพร้อมค่ะ หากจะว่าไปการกระทำของคุณครูมายะต่อชั้น ป.6/3 เป็นไปเพื่อเป้าหมายของศาสตร์แห่งการจัดการชั้นเรียนให้มีประสิทธิภาพ เพียงแต่แทนที่จะใช้ทัศนคติเชิงบวกกลับเลือกจะกดดันผู้เรียนด้วยทัศนคติเชิงลบแทน ซึ่งโดยความคิดของคิมุเองเปรียบเด็ก ๆ ห้อง ป.6/3 เหมือนแก้วที่ถูกทุบ ความรู้สึกตอนดูคัดง้างกันมาก แต่ละครั้งที่มีเรื่องมีความรู้สึกเหมือนเห็นแก้วใบสวยถูกฟาดแตกกระจายลงต่อหน้าครั้งแล้วครั้งเล่า บีบให้แตกแล้วปล่อยให้เศษแก้วกระเสือกกระสนมารวมตัวกันใหม่ ตามท้องเรื่องเด็ก ๆ หรือ เศษแก้วที่กระจัดกระจายตามความเห็นของคิมุมารวมตัวกันใหม่ และ ไฉไลกว่าเดิม
แต่จากงานวิจัยที่ศึกษามาพบว่าคุณครูที่รับรู้บทบาทของตนโดยเชื่อมโยงกับการใช้อำนาจเป็นหลักใหญ่และรับรู้ว่าตัวเองมีบทบาทการป้องกันเขตแดน มักใช้วิธีขู่ และ ออกคำสั่งกับผู้เรียนเพื่อให้อยู่ในระเบียบเป็นสำคัญพอเชื่อเช่นนั้นบางคาบบางคราก็ขัดขวางระบบการเรียนรู้ได้ เช่น เมื่อสั่งให้ทำงานกลุ่มแล้วเด็กเดินไปเดินมาหาเพื่อนที่อยากทำงานด้วยทำให้เกิดความวุ่นวายไปในห้อง คุณครูที่มีความเชื่อเช่นที่ว่ามักมีทีท่าไม่สบายใจและให้เด็กทำงานเดี่ยวแทน ซึ่งเป็นการละเลยจุดประสงค์ของการเรียนรู้ด้วยการทำงานเป็นกลุ่มตามความตั้งใจเดิม เป็นต้น ผลที่ตามมาคือการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในห้องเรียนผลผลิตที่ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย และจากที่กล่าวไปข้างต้นว่าชั้นเรียนมีลักษณะเป็นประวัติศาสตร์คือเก็บความทรงจำเชิงบวก และ ลบไว้เป็นข้อมูล ในกรณีนี้จึงมีโอกาสอย่างสูงที่ผู้เรียนจะเก็บเอาข้อมูลด้านลบไว้ และ บางทีอาจมีการตีความหมายของข้อมูลที่ได้รับผิดพลาดไปหากผู้เรียนยังไม่มีระบบความคิดที่สมบูรณ์ถี่ถ้วนพอซึ่งสิ่งเหล่านี้มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ในส่วนนี้หมายรวมถึงพฤติกรรมที่ผู้เรียนเลือกจะปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยนะคะ
ยุทธศาสตร์การบริหารชั้นเรียน: คุมห้องให้อยู่แบบคุณครูมายะ
ในหัวข้อนี้ว่ากันง่าย ๆ คือ วิธีการจัดชั้นเรียนให้เป็นไปตามเป้าหมายโดยอ้างอิงในหัวข้อที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้นจะต้องทำอย่างไร ซึ่งเริ่มต้นด้วยการสร้างชุมชนชั้นเรียนค่ะเป็นการทำความเข้าใจระหว่างคุณครูและนักเรียน สร้างความสัมพันธ์ระหว่างกันกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมที่ชั้นเรียนต้องการ รับผิดชอบและแก้ไขเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนา เมื่อสร้างขึ้นมาได้แล้วต่อไปคือการกำหนดข้อตกลง หรือ กฎที่ต้องปฏิบัติในชั้นเรียน แล้วให้โอกาสผู้เรียนได้ฝึกปฏิบัติ ควบคุม และ พัฒนาด้วยตนเอง หากมีการขัดแย้งเกิดขึ้นคุณครูควรจัดให้มีการอภิปรายในชั้นเรียน แต่ถ้าทำไม่ได้ให้พูดเป็นรายบุคคล ซึ่งคุณครูจะมีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางประสานงานให้การแก้ไขข้อขัดแย้งเป็นไปตามความเหมาะสม สงบ และ สันติ ซึ่ง สัดส่วนของแต่ละหัวข้อที่กล่าวต้องสมดุลย์กัน
เมื่อหันกลับไปดูห้องเรียนของคุณครูมายะ สัดส่วนของข้อตกลง หรือ หากใช้ศัพท์หรูหราไฮโซ เราเรียกว่า ปทัสถาน และ กฎ ดูจะมาเป็นอันดับหนึ่งประมาณ 90 % ได้กระมัง เป็นอันว่าห้องเรียนนี้มีแนวความคิดว่า ผู้เรียน ณ ที่นี้ มีพฤติการณ์ละเมิดวินัย เป็นหลัก นอกจากนั้นปทัสถานที่ตั้งขึ้นก็มิได้เป็นข้อตกลงร่วมกันของผู้เรียนกับผู้สอน ดังนั้นแนวคิดเรื่องการมีส่วนร่วม และ ความเป็นเจ้าของจึงตกไป ผู้เรียนในที่นี้จึงตกเป็นผู้ตามซึ่งอาจทำให้พฤติกรรมในชั้นเรียนทวีความรุนแรงขึ้นเพราะ การอยากแก้แค้น ลองดี หรือ เอาชนะ ในทางกลับกันผู้เรียนอาจมีลักษณะที่เรียกว่า ยอมจำนน คือ ตอบรับปทัสถานด้วยอาการไม่ใส่ใจ เหม่อลอย หรือ ฝันกลางวัน ซึ่งขัดขวางการเรียนรู้ของตัวผู้เรียนเอง เมื่อเหตุการเหล่านี้เกิดขึ้นคุณครูก็จะต้องรับมือกับพฤติกรรมเหล่านี้ซึ่งครูส่วนใหญ่(รวมทั้งมายะ)มักเลือกการลงโทษ ซึ่งการลงโทษอาจเป็นการกระทำที่ทำให้เจ็บกาย หรือ ทำให้ไม่พอใจ หรือ ทั้งสองอย่างรวมกัน(นำคะแนนสอบติดบอร์ดประจาน ให้ตัวแทนห้องทำเวรและหน้าที่อื่น ๆ แทนทุกคน ไม่ยอมให้นักเรียนออกจากห้องสอบไปเข้าห้องน้ำ หาตัวคนผิดไม่ได้ลงโทษทั้งห้อง ผู้ที่ขัดขืนจะได้รับความกดดันทางจิตใจอย่างหนัก)โดยความมุ่งหมายของการทำโทษคือทำให้หลาบจำ ไม่ทำพฤติกรรมที่ว่านั้นอีก และ ให้ปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น อย่างไรก็ตามในทางจิตวิทยาแล้วแนวคิดเรื่องการลงโทษค่อนข้างเป็นอันตรายต่อการรักษาวินัยในชั้นเรียน เพราะ ผลของการลงโทษเป็นสิ่งที่พยากรณ์ไม่ได้ไม่แน่ชัดว่าการลงโทษจะยับยั้งพฤติกรรมที่ไม่ต้องการได้หรือไม่ นอกจากนั้นการลงโทษทำให้เกิดความวิตกกังวลนอกเหนือจากความเจ็บปวด และ อาจทำให้เกิดความคิดมุ่งร้ายต่อผู้ลงโทษเองเนื่องจากความรู้สึกที่คิดว่าผู้ลงโทษไม่มีความเป็นธรรม และหากการลงโทษไม่ได้กำหนดพฤติกรรมที่ต้องการมาทดแทนแล้วก็มีโอกาสที่พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนาจะเกิดขึ้นอีก
ในข้อนี้เห็นว่าคุณครูมายะใช้แนวคิดที่ว่าห้องเรียน หรือ ชั้นเรียนนี้ละเมิดวินัย ทั้ง ๆ ที่ว่าไปแล้วลักษณะห้องเรียนมันเป็นปกติด้วยซ้ำ แต่คุณครูมายะเธอตีห้องให้แตกเป็นเสี่ยง ๆ แล้วนำปทัสถานแบบสุดโต่งมาใช้ เข้าใจว่าเป็นการจำลองโลกอันโหดร้าย และ ตีแผ่ธาตุแท้ของแต่ละคนให้ได้เห็น โดยมีเธอเป็นผู้ควบคุมสถานการณ์โดยคงความรุนแรง และ ตึงเครียดไว้ แต่ก็ดูแลไม่ให้มีใครได้รับอันตราย (ในที่นี้ คือ ไม่ให้ถึงขั้นตาย หรือ เข้าโรงพยาบาล) ดังนั้นการคุมห้องให้อยู่อย่างคุณครูมายะจึงให้ความสำคัญกับอำนาจ และ กฎเกณฑ์ โดยผู้เรียนจะถูกปั่นหัว ทุบตีจนน่วมด้วยกติกากดดันตามเกมส์ ซึ่งคุณครูก็คาดหวังให้ผู้เรียนเข้มแข็งและก้าวผ่านไปให้ได้ด้วยพลังมิตรภาพ หรือ แรงผลักดันสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดก็แล้วแต่ ซึ่งก็มีคำถามอยู่ว่าแล้วหากเกมส์นี้มีผู้แพ้ ผู้แพ้ในเกมส์นี้จะไปยืนอยู่ไหน (ละครไม่ได้บอกไว้ซะด้วย) ซึ่งตรงจุดนี้ก็อาจจะพอสะท้อนแนวคิดของสังคม(การศึกษา และ อื่น ๆ)ของญี่ปุ่นได้ว่าที่ทางสำหรับผู้แพ้นั้นคงไม่มี(หรือจะเป็นทางออกแนวเดียวกับเทปเปใน Karei naru ichizoku ???)
ในปัจจุบันการเน้นวิธีการลงโทษให้หลาบจำโดยการกระทำต่อเนื้อตัวร่างกาย หรือ อารมณ์เป็นหลักจึงเปลี่ยนไปเป็นการแก้ไขพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ในเชิงสร้างสรรค์โดยยึดเอาความรุนแรงของพฤติกรรมการละเมิดวินัยเป็นเกณฑ์(ระดับความมากน้อยของการลงโทษ)
ประสบความสำเร็จ ? แบบห้องเรียนคุณครูมายะ
ห้องเรียนของคุณครูมายะนั้นหากตัดเอาความรุนแรงออกไปแล้วพิจารณาเพียงวิธีการอาจจะเรียกได้ว่ามีส่วนประกอบของการจัดการชั้นเรียนแบบสร้างสรรค์อยู่บ้างค่ะ คือ คุณครูให้ผู้เรียนได้มีโอกาสพัฒนากฎเกณฑ์และข้อตกลงภายในห้อง รวมทั้งฝึกปฏิบัติด้วยตัวเอง ที่จะแตกต่างกันอยู่บ้างคือ กฎเกณฑ์ที่ว่าไม่ใช่การตกลงร่วมกันระหว่างผู้เรียนและผู้สอน หากเป็นการบังคับจากตัวคุณครู นอกจากนั้นห้องเรียนของคุณครูมายะนี้มีภาพลักษณ์เดิมของครูอยู่ ได้แก่ ความเข้มงวด และ บรรยากาศที่ไม่เป็นมิตร และ มีคุณครูเป็นศูนย์กลางอำนาจ โดยทั่วไปแล้วการจัดการเรียนการสอนไม่น่าจะประสบความสำเร็จ แต่ว่าเหตุจากภูมิหลังรวมทั้งข้อมูลภายนอกห้องเรียนที่ผู้เรียนได้รับทราบมาทำให้ปัจจัยด้านลบที่เกิดขึ้นในห้องเปลี่ยนไปเป็นความเข้าใจในตัวคุณครูมากขึ้นว่าการกระทำทุกอย่างที่ทำไปนั้นมีผลอย่างไรต่อตัวผู้เรียนเอง ซึ่งข้อมูลด้านบวกเหล่านี้ (ความใส่ใจที่คุณครูมีต่อนักเรียน ภาพห้องของคุณครูมายะที่เต็มไปด้วยแฟ้มประวัติเด็กนักเรียน ภูมิหลังและปัญหา ลักษณะสังคมมิติของห้องเรียน คอยช่วยเหลือนักเรียนเวลาเกิดวิกฤต ... อย่างลับ ๆ) ลดทอนความรุนแรงที่ผู้เรียนเคยได้รับ ความทรงจำด้านบวกเกี่ยวกับชั้นเรียนจึงเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสนใจว่าความทรงจำด้านบวกนี้จะส่งผลให้ผู้เรียนตีความหรือไม่ว่าการกระทำรุนแรงที่นำด้วยกฎ และ การลงโทษในห้องป.6/3 ซึ่งเป็นกลวิธีการจัดการชั้นเรียนที่ถูกต้องและได้ผล
ก็ไม่อาจจะบอกได้เหมือนกันค่ะว่า ... การดำเนินตามรอยห้อง ป.6/3 จะประสบความสำเร็จหรือไม่
ป.ล. ที่เขียนออกมานี่เป็นเพียงแนวคิดนะคะ และ ย้ำอีกทีว่าไม่ได้เขียนในฐานะผู้เชี่ยวชาญ เขียนในฐานะคนเริ่มต้นอ่านตำราและบ้าซีรีย์ค่ะ ^ ^ อ่านเอาพอขำนะคะ อย่าเพ่อจริงจังกับมันมาก
Create Date : 29 สิงหาคม 2552 |
|
28 comments |
Last Update : 29 สิงหาคม 2552 18:49:13 น. |
Counter : 4849 Pageviews. |
|
|
|
|
| |
โดย: veerar 30 สิงหาคม 2552 0:17:33 น. |
|
|
|
| |
โดย: I_sabai 30 สิงหาคม 2552 8:55:27 น. |
|
|
|
| |
โดย: หน่อยอิง 30 สิงหาคม 2552 10:07:37 น. |
|
|
|
| |
โดย: ซอมพอแสด 30 สิงหาคม 2552 10:47:28 น. |
|
|
|
| |
โดย: tanjira 30 สิงหาคม 2552 11:34:11 น. |
|
|
|
| |
โดย: ป้าหู้เองจ่ะ (fifty-four ) 30 สิงหาคม 2552 11:56:10 น. |
|
|
|
| |
โดย: sosopa 30 สิงหาคม 2552 12:50:32 น. |
|
|
|
| |
โดย: prinjaa 30 สิงหาคม 2552 15:18:02 น. |
|
|
|
| |
โดย: ป้าตุ้ย (amornsri ) 30 สิงหาคม 2552 16:35:19 น. |
|
|
|
| |
โดย: ดรสา 30 สิงหาคม 2552 16:56:34 น. |
|
|
|
| |
โดย: โสมรัศมี 30 สิงหาคม 2552 17:00:15 น. |
|
|
|
| |
โดย: Mariomab IP: 190.2.133.230 12 มิถุนายน 2564 4:05:53 น. |
|
|
|
| |
โดย: BennieRar IP: 190.2.130.167 11 พฤศจิกายน 2564 6:00:19 น. |
|
|
|
| |
โดย: Louisunalo IP: 89.38.97.125 10 ธันวาคม 2564 8:54:27 น. |
|
|
|
| |
โดย: DJCharlesSyday IP: 46.166.182.65 7 กุมภาพันธ์ 2565 2:20:26 น. |
|
|
|
| |
โดย: Derrickelido IP: 89.39.106.222 18 มกราคม 2566 8:59:18 น. |
|
|
|
| |
โดย: EdwardLeape IP: 37.46.113.250 29 พฤศจิกายน 2566 20:07:49 น. |
|
|
|
|
|
|
|
สวัสดีครับ
สุขสันต์วันเกิดนะครับ ขอให้ให้มีความสุขมากๆ น๊า
อย่าเจ็บ อย่าจน คิดหวังสิ่งใด ขอให้สมความปรารถนานะครับ
ยิ๊นนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนนน.....ดีจั๊ดนักครับ