|
 |
| 1 | 2 | 3 | 4 | 5 |
6 | 7 | 8 | 9 | 10 | 11 | 12 |
13 | 14 | 15 | 16 | 17 | 18 | 19 |
20 | 21 | 22 | 23 | 24 | 25 | 26 |
27 | 28 | 29 | 30 | 31 | |
|
|
 |
31 มกราคม 2551
|
|
|
|
Enchanted
หลังจากเห็นรัฐบาลหุ่นของจริงได้ถูกจัดตั้งขึ้น คล้ายๆหุ่นชักของพิน็อคคิโอ พาลเกิดอาการลมจะตี เบื่อหน่ายการเมืองอย่างกระทันหัน ว่าแล้วก็หมายใจ ว่าจะหาหนังตลกเบาสมองดูซะเรื่อง โชคดีหรือโชคร้ายยังไม่กล้าสรุป ที่ Enchanted กลายมาเป็นตัวเลือก สงสัยว่าภาวะที่ถูกตรึงดังต้องมนตรา ดูท่าจะดีกว่าถูกตรึงจากต่างประเทศแถวๆนี้เป็นแน่ เลยก้าวเข้าโรงภาพยนตร์ไป พร้อมๆกับหลานชายและแฟนเก่าของหลานชายค่ะ
และเมื่อก้าวออกมาจากโรงฯ มีอารมณ์หลากหลายเหลือเกิน ที่ยังกรุ่นๆอยู่ในใจ มีเรื่องมากมายที่อยากจะเขียนให้ผู้อ่านฟังค่ะ
บอกไว้ก่อนเลยนะคะ ว่าผู้เขียนเป็นคนที่ชอบความจริงค่ะ ชอบสิ่งที่เป็นอยู่และเป็นจริง ไม่ชอบสมมติมากเท่าไร
Enchanted เปิดเรื่องมาเหมือนเทพนิยายทั่วไปค่ะ พลิกภาพจากหนังสือนิทาน Pop-up เล่าเรื่องผ่านตัวการ์ตูน แล้วจึงค่อยผสมตัวละครที่เป็นคนแสดงเข้าไปภายหลัง
หนังเล่าถึงจีเซลฉบับ 2 มิติ ณ อาณาจักรแอนดาเลเซีย จีเซลมีแบบฉบับมาจากเจ้าหญิงหรือตัวเอกเก่าแก่ของดิสนีย์หลายตัวเหลือเกิน เธอเฝ้ารอเจ้าชายในฝัน เฝ้ารอจูบแรก จูบแห่งรักแท้น่ะค่ะ จนขณะที่เจ้าชายเอ็ดเวิร์ดกำลังกลับจากภารกิจของเจ้าชาย(เท่านั้น) เกิดได้ยินเสียงเพลงของสาวเจ้าเข้า จึงตามเสียงไปพบและช่วยเธอไว้ ด้วยมาดเจ้าชายดั้งเดิมเช่นกัน พร้อมๆกับหมายมั่นว่าวันพรุ่ง จะแต่งงานซะให้รู้แล้วรู้รอดไป
ทว่าแม่เลี้ยงนาริสซ่า ก็ใช่ย่อยตามสไตล์นางร้ายคลาสสิคเช่นกันค่ะ ไม่ได้ด้วยเล่ห์ ก็ใช้เวทมนตร์นี่แหละค่ะ หาทางขัดขวาง ด้วยกลัวว่าจะถูกแย่งและผลักให้ตกจากบัลลังก์ที่นั่งอยู่ จนนางเอกของเราต้องจากโลก 2 มิติ มาสู่โลกของเราๆ มาสู่นครนิวยอร์คค่ะ และนั่นทำให้เธอได้พบกับคู่พ่อลูก
รอเบิร์ตเป็นทนายหม้ายเมียทิ้งค่ะ และดันเป็นทนายคดีหย่าร้างอีกต่างหาก เป็นคนที่ผ่านความช้ำจากการถูกทิ้ง และพยายามจะมีรักครั้งใหม่ โดยไม่ให้ลูกสาวตัวเองนั้นเกิดปัญหาแม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยง(เหมือนในเทพนิยาย ?) หนังพาโลกแห่งความฝันมาบรรจบกับความจริงตรงนี้ล่ะค่ะ
ดิฉันชอบที่หนังเรียกโลกในเทพนิยายของจีเซล ว่าเป็นโลกแห่งความสุขตลอดไป และเรียกโลกที่รอเบิร์ตและเราๆท่านๆอยู่ว่า โลกที่ปราศจากความสุขตลอดกาล ฟังแล้วต้องหยุดคิดเลยนะคะ ว่าน้ำหนักของความจริงระหว่างบรรทัดนั้น นั่นไม่น้อยเลยทีเดียว ไม่ใช่ว่าโลกสีเทาๆของเราจะปราศจากความทุกข์หรือมีความสุขแต่ถ่ายเดียวหรอกนะคะ หากทว่าแนวโน้มที่สีเทาจะเข้มขึ้น และสีขาวจะจางไป นับวันยิ่งเป็นจริงไปทุกวัน
รอเบิร์ตผู้อยู่ในโลกแห่งความจริง โลกแห่งผู้ใหญ่ที่ผ่านวัยจะมาฝันเฟื่องเรื่องเทพนิยาย โลกของผู้ใหญ่ที่ต้องมีความรับผิดชอบเกินกว่าจะมานั่งทำโรแมนติกใส่คนในครอบครัว หรือคนที่เขารัก จนได้พบกับคนที่หลุดออกมาจากโลกของเทพนิยายอย่างจีเซล ทำให้เขาได้เรียนรู้ชีวิต และเรียนรู้ตัวเองมากขึ้น จะบอกว่าตัวหนังนั้นเพ้ออย่างพอเหมาะพอควรค่ะ ดัดจริตได้ที่ทีเดียว เป็นการตัดกันที่ชัดเจน ทำให้เราเห็นชัดๆ กะจะตา ได้อารมณ์ตรงประเด็นดีเหลือเกิน
แม้ตัวหนังจะพยายามให้เป็นหนังเบาสมองนะคะ ทว่าหนังมีรายละเอียดเยอะเชียวค่ะ ตั้งใจให้เราดู แล้วได้ฉุกคิด แม้ว่าเราจะโตแล้ว หากเพียงเปิดตาเปิดใจ หากว่ายัง Young at Heart แล้วละก็ ไม่มีอะไรสายเกินไปที่จะเริ่มใหม่ ไม่มีอะไรพลาดเกินที่จะแก้ไข จิตใจของเด็กๆนั้นต่างจากผู้ใหญ่ตรงนี้แหละนะคะ ทำอะไรผิดอะไรพัง ไม่นานก็ลืม เริ่มใหม่ พร้อมทำใหม่ ไม่ถืออะไรไว้นาน ไม่เก็บอะไรไว้เป็นสาระมากมายให้หนักหัว
ทว่าหนังก็แอบแทรกใส่รายละเอียดที่เครียดและหนักลงไปด้วยเช่นกันนะคะ อย่างหนังสือที่รอเบิร์ตซื้อให้ลูกสาวอ่านไงคะ ในนั้นมีชื่อของคุณโรซ่า พาร์คสค่ะ คุณพาร์คสเปรียบเสมือนแม่ของผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพให้กับคนผิวสี เธอโดนจับกุมเนื่องจากปฏิเสธที่จะลุกจากที่นั่งบนรถประจำทาง เพื่อให้คนขาวที่ขึ้นทีหลังนั่ง คนขับเลยจอดรถและเรียกตำรวจมาจับเธอค่ะ นั่นกลายมาเป็นตัวจุดชนวนของการรณรงค์ให้ชาวผิวสี หันมาใช้จักรยานและเดินเท้า เพื่อคว่ำบาตรการขึ้นรถประจำทางของคนผิวขาวสมัยนั้น เธอเกิดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี่ล่ะค่ะ
ที่ขัดเคืองใจผู้เขียนไปหน่อย คงเป็นคู่ของพระรอง-นางรอง เข้าใจดีค่ะว่า เป็นหนังรักที่พยายามจะเบาสมอง หากทว่าการยัดเยียดตอนจบที่แสนหวานให้ถ้วนทั่วนั้นออกจะเลี่ยนจนเกินไป มันไม่จำเป็นต้องมากขนาดนั้นหรอกค่ะ ยกเว้นแต่ว่าหนังตั้งใจใส่เพื่อเปรียบเทียบ ให้เราได้เอียนจนใกล้ๆอาเจียนอย่างชัดเจนเลยทีเดียว
และท่าทางหนังของดิสนีย์เรื่องนี้ คงกะจะกลับมาทวงบัลลังก์ สาขาเพลงประกอบภาพยนตร์ยอดเยี่ยมซะกระมัง เพราะเล่นเข้าชิงรางวัลออสการ์ทีเดียวถึง 3 เพลง Thats How You Know, So Close และ Happy Working Song พูดถึงเพลงหลังสุดนี่ ดิสนีย์ยุคปฏิวัตินะคะ กล้าจิกกัดตัวเอง กล้าล้อเลียนฉากการทำความสะอาดบ้านของซินเดอเรลลา ที่มีนกพิราบ แมลงวัน ฝูงหนูบ้าน และกองทัพแมลงสาบ มาร่วมด้วยช่วยกันทำความสะอาดบ้าน แทนสัตว์ป่าที่น่ารักเหมือนเคยๆ
ตัวละครที่โดดเด่นและมีเสน่ห์ที่สุด คงต้องยกนิ้วให้เอมี่ อาดัสม์ค่ะ เธอหลุดออกมาจากโลกแห่งเทพนิยายชัดๆ อย่างไม่มีใครปฏิเสธได้เลย เล่นได้ดี เป็นเสาหลักของหนังเลยทีเดียว ทำให้เราเชื่อได้หมดใจเลยค่ะว่า เธอเป็นหญิงสาวคิดบวกจากในนิทานที่พลัดหลงมานิวยอร์ค แพทริค เดมซี่เจ้าของรางวัลดาราทีวียอดนิยมจากบทคุณหมอหนุ่มชวนฝัน ผู้เป็นเสมือนกับเจ้าชายของสาวๆในศตวรรษที่ 20 ได้บทที่เหมาะสมกับตัวเองดีนะคะ น่ารักจนแทบไม่น่าเชื่อว่าจะถูกสาวไหนทิ้งได้ลงคอ มาร์สเด็นนั้นก็เล่นและร้องได้ไม่เลวเลยค่ะ ที่ดูจะด้อยกว่ามาตรฐานที่สุด คงเป็นซาเรนดอนในบทแม่เลี้ยงน่ะค่ะ ยังคิดอยู่ว่าถ้าได้แองเจลิกา ฮุสตันมาแทนที่คงดีไม่น้อยเชียวค่ะ
แนะนำหนังเรื่องนี้ให้ไปดูเป็นคู่กับคนที่เรารักนะคะ ไม่ใช่แค่คู่กิ๊ก เพราะหนังบอกเราว่า เวลาและการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นสิ่งสำคัญ หาใช่ความรักที่วูบวาบและรวดเร็ว ดั่งต้องมนตร์เหมือนในเทพนิยาย นั้นอย่าหมาย ขนาดเทพนิยายซ้อนในนิยายยังไม่ ได้อยู่อย่างมีความสุข ตลอดไป เลยค่ะ และให้ได้บังเอิญเหลือเกิน ที่หลานชายพาแฟนเก่าไปดูด้วยกัน ในฐานะเพื่อนด้วยแล้ว ทำให้โลกทัศน์และคำจำกัดความของคำว่า ความรัก สำหรับคนแก่อย่างดิฉัน ได้เปิดออกพร้อมๆกับเรียนรู้ความสัมพันธ์ยุคดิจิตอลมากขึ้นควบคู่ไปด้วย รักแท้หรือไม่แท้ เวลาบอกได้เสมอจริงๆค่ะ และความรักก็มีได้หลากหลายรูปแบบเช่นกัน
แนะนำสำหรับทุกคนนะคะ สำหรับทุกขั้วของรัฐบาลด้วยค่ะ เบื่อๆหน่ายๆ ก็เมินๆกันไปบ้าง ปล่อยวางกันไป
ขอแสดงความนับถือ ปล.ลืมบอกไปว่าหนังใช้เสียงเล่าของจูลี่ แอนดรูนะคะ
Create Date : 31 มกราคม 2551 |
Last Update : 31 มกราคม 2551 1:19:46 น. |
|
2 comments
|
Counter : 834 Pageviews. |
|
 |
|
|
โดย: haro_haro IP: 203.153.163.34 วันที่: 31 มกราคม 2551 เวลา:9:08:54 น. |
|
|
|
โดย: haro_haro วันที่: 4 กุมภาพันธ์ 2551 เวลา:14:40:21 น. |
|
|
|
| |
|
 |
Gloomy Sunday |
|
 |
|
|
ชอบๆ อะ ดูแล้วผ่อนคลาย ฮา อีกตะหากนะฮะ
ดูมาแล้วครับ สนุกดีนะ ..