A m i l i c i o u s
 
 

•.♥.•การหาที่อยู่ในดูไบ•.♥.•

การหาบ้านเช่า / อพาร์ทเม้นท์เช่า / ห้องเช่า ในดูไบไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับผู้ที่เพิ่งมาอยู่ใหม่ๆ

และบริษัทไม่ได้มีการจัดที่อยู่ไว้ให้กับพนักงาน ทำให้พนักงานส่วนใหญ่ต้องหาที่พักเอาเอง

ด้วยความที่ใครๆก็อยากมาทำงาน / มาอยู่ดูไบ ทำให้ที่พักไม่พอเพียงต่อความต้องการ

คือดีมานด์มากกว่าซัพพลาย ทำให้การหาที่พักเป็นเรื่องยาก ปวดหัว ใช้เวลา ใช้เงินมากเรื่องหนึ่ง

คนที่จะย้ายมาอยู่หรือทำงานที่นี่ควรเตรียมตัวเตรียมใจไว้นะคะหากว่าคุณต้องหาที่พักเอง

ดิฉันก็ได้ทำไกด์ไลน์คร่าวๆไว้ให้ท่านได้อ่านข้างล่างนี้ และหวังว่าคงจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยค่ะ

อพาร์ทเม้นท์ราคาระดับกลางจนถึงระดับ ไฮ-เอนด์ หรือระดับสูง (ก็คือค่าเช่าแพงน่ะแหล่ะ)

ในดูไบโดยทั่วไปแล้วจะมีสระว่ายน้ำและโรงยิมเล็กๆให้ หรือมีแม้แต่คอร์ทตีสควอช ห้องก็จะใหญ่พอสมควร

เจ้าของตึกอาจจะมีที่จอดรถในร่มให้อพาร์ทเม้นท์ละ ๑ คัน

แต่ในความเป็นจริงนั้น หนึ่งอพาร์ทเม้นท์หรือ ๑ ครอบครัวอาจมีรถมากกว่า ๑ คัน

ทำให้ที่จอดรถไม่ค่อยเพียงพอต่อผู้อาศัยโดยเฉพาะในย่านที่อยู่กันอย่างแออัด
เช่น Bur Dubai หรือ Karama เป็นต้น
การจอดรถข้างถนนก็อาจจะทำได้หากคุณโชคดีและตาดี
หาที่จอดได้ ยิ่งแถวๆ เบอ ดูไบ ด้วยแล้วยิ่งหายากมากๆ แถมมีมิเตอร์ให้เสียค่าจอดรถด้วย

(มิเตอร์ค่าจอดรถติดตั้งโดยเทศบาลเมืองดูไบ) แต่อย่าคิดว่าฉันจ่ายค่าที่จอดรถแล้วจะ
ทำให้หาที่ว่างเพื่อที่จะจอดรถได้ง่ายขึ้นนะคะ

ไม่ใช่เลย ก็ยังหาที่ว่างยากอยู่ดี แค่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นเท่านั้น

หากคุณคิดที่จะไปหาห้องเช่า หรือ อพาร์ทเม้นท์ที่ถูกกว่านี้ พวกสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
ก็จะมีให้น้อยหรือไม่มีให้เลย

เช่นไม่มีที่จอดรถให้ (ถึงมีก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมต่างหาก นอกเหนือจากค่าเช่า ปีละเท่าไหร่ก็ว่ากันไป
แล้วแต่เจ้าของตึกเขาจะเรียก)

หรือหากที่เช่าถูกมากๆ ตึกก็จะดูเก่าๆ ไม่มีการบำรุงรักษา ลิฟท์เก่าคร่ำครึ แถมอพาร์ทเม้นท์ก็เล็กๆแคบๆ

แต่ว่าโดยทั่วไปแล้ว อพาร์เม้นท์ในดูไบไม่ว่าจะถูกหรือแพงก็จะมี “คนเฝ้า” หรือ “ยาม” หรือ “Watchman”

อย่างน้อยก็ ๑ คน หรือหากเป็นอพาร์ทเม้นท์แบบไฮ-เอนด์จริงๆ ก็จะมียามอยู่ในเครื่องแบบเป็น

เรื่องเป็นราวตลอด ๒๔ ชั่วโมง และมีเคาท์เตอร์รีเซฟชั่นด้วย เวลาใครไปใครมาต้องผ่านรีเซฟชั่นหรือยามก่อนนั่นเอง


การเช่าอพาร์เม้นท์ในดูไบ – ระยะยาว ( ๑ ปี )


ช่วงปี ๒๐๐๖ และ ๒๐๐๗ เป็นช่วงที่หาบ้านเช่า / ห้องเช่ายากมากๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
อพาร์เม้นท์แบบ ๑ ห้องนอน

หากคุณกำลังมองหาที่พัก ส่วนตัวแล้วก็อยากจะแนะนำว่าไม่ควรเสียเวลากับพวกเอย่นต์เลยนะคะ

อย่าหวังว่าเขาจะโทรกลับมาหาคุณ ดิฉันไม่ทราบว่าพวกนี้เขาทำงานกันอย่างไร

แต่เชื่อขนมกินเหอะว่าโอกาสที่เขาจะโทรกลับมาน่ะช่างน้อยมากๆ อาจจะเป็นเพราะว่าเหล่าเอเย่นต์

เอาเวลาไปทุ่มเทให้กับพวกฝรั่งที่มองหาบ้านเช่า (ที่ประเทศนี้เรียกบ้านเป็นหลังๆ ว่า “วิลล่า”)

หรือ ออฟฟิศ มากกว่าเพราะได้ค่านายหน้าเยอะกว่าจะมาหาห้องเช่าให้ลูกค้าแล้วได้ค่าคอมฯน้อยๆ (จริงม่ะ)

หรือหากว่าคุณโชคดีได้ห้องที่ถูกใจแล้ว ราคารับได้ ก็ไม่อยากจะให้คุณรอโน่นรอนี่มากนะคะ

คว้าเอาไว้เลย อย่าตัดสินใจช้า ไม่อย่างนั้นอาจจะเสียโอกาสเพราะมีคนมาแย่งเช่าไปแล้ว

สมมติว่าคุณไปดูห้องตอนเช้า หากไม่รีบว่าวางมัดจำเอาไว้ ตอนเย็นห้องนั้นอาจจะอันตรธานหายไปให้ผู้เช่ารายอื่นก็ได้ค่ะ

แต่ก็มี Guru ทางด้านอสังหาริมทรัพย์หลายท่านเคยให้ข่าวทำนองว่า สถาณการณ์แบบนี้

อาจจะดีขึ้นในช่วงปี ๒๐๐๙ เพราะอพาร์ทเม้นท์ต่างๆ เริ่มสร้างเสร็จ ดีมานด์ สัมพันธ์กับซัพพลายนั่นเอง

คุณสามารถเช่าอพาร์ทเม้นท์ได้ทุกสไตล์ ทุกขนาด และทุกราคา จากห้องกระจอกๆ แคบๆ จนถึงเพ้นท์เฮ้าส์แพงๆ

ไม่ว่าจะเช่าแบบไหน การเช่าบ้าน / อพาร์ทเม้นท์ในประเทศนี้ ผู้เช่าจะต้องจ่ายค่าเช่าเป็นเงินสกุล “ดีแร่ห์ม”

และจ่ายล่วงหน้า ๑๒ เดือน หรือหากตกลงกับ "“แลนด์ลอร์ด” (Landloard – เจ้าของห้อง / บ้าน) ได้

เขาก็อาจจะอลุ้มอล่วยให้คุณแบ่งจ่ายเป็นเช็คได้ ๓ งวด

หากคุณกำลังมองหาห้องแบบสตูดิโอ หรือ อพาร์ทเม้นท์แบบ ๑ ห้องนอน

คนโสด หรือ คู่สามี-ภรรยาก็อาจจะหาอพาร์ทเม้นท์แบบแชร์กันเช่าเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายได้

หมายความว่า อพาร์ทเม้นท์นั้นอาจะมี ๓ ห้องนอน และคุณได้ไป ๑ ห้องนอนนั่นเอง

ห้องอื่นๆ ก็เป็นของผู้เช่าคนอื่นไป ราคาห้องที่มีห้องน้ำในตัวก็น่าจะแพงกว่า

ห้องที่ต้องออกมาใช้ห้องน้ำข้างนอกหรือแชร์ห้องน้ำกับเจ้าของห้องอื่น (งงไหมคะ)

*********************************************



แต่จำไว้อย่างหนึ่งว่า คนที่ไม่ได้แต่งงาน (unmarried couples) ไม่สามารถแชร์ที่อยู่ได้นะคะ

ผิดกฏหมายค่ะ โดยเฉพาะในเอมิเรสต์อื่นๆ เช่น ชาร์จาห์ (Sharjah) ยิ่งเข้มงวดมากกว่าที่เอมิเรสต์ดูไบอีกค่ะ

ทางที่ดีคนที่ทำแบบนี้ ไม่ควรไปมีเรื่องบาดหมางกับเพื่อนบ้านนะคะ เพราะเขาอาจจะแจ้งตำรวจมาจับได้

อพาร์มเม้นท์ที่ดีๆ หน่อย ปรกติเขาก็จะมีเฟอร์นิเจอร์ให้อยู่แล้วค่ะ เช่น เตาแก๊ส หรือ ตู้เย็น / เครื่องล้างจาน /
เครื่องซักผ้า แม้ว่าเขาตอนที่โฆษณาตามสื่ออาจจะบอกว่า “unfurnished” (ไม่มีเฟอร์นิเจอร์) ก็ตาม...


แต่ก็อีกนั่นแหล่ะ อพาร์ทเม้นท์ที่โฆษณาตามสื่อไม่ว่าจะอินเตอร์เนทหรือหนังสือพิมพ์ว่า “มีเฟอร์นิเจอร์ครบ” (furnished)

อาจจะมีเฟอร์นิเจอร์ไม่กี่อย่าง เช่นอาจจะมีแค่เครื่องซักผ้า กับ ตู้เย็นให้ แค่นั้น

เพราะฉะนั้นผู้เช่าต้องทำความเข้าใจ สอบถามให้ถ่องแท้ก่อนที่จะจ่ายเงินค่ามัดจำไปนะคะ

แต่หากว่าคุณไปดูอพาร์ทเม้นท์ในตึกเก่าๆ โทรมๆ หน่อย มันก็เป็นไปได้ว่าเขาไม่มีเครื่องครัวหรือ

เฟอร์นิเจอร์ให้เลย หรือถึงแม้ว่าเขาจะมีให้ ก็อาจจะเป็นแค่เครื่องซักผ้าเก่าๆ ที่มีอายุใช้งานไม่ต่ำ

กว่า ๑๐ ปีนั่นเอง ไม่ต้องตกใจนะคะ หากว่าปีแรกทางเอเย่นต์จะขอให้คุณจ่ายค่านายหน้า

(คอมมิชชั่น) ๕ เปอร์เซ็นต์ หากคุณใช้เอเย่นต์ อีก ๕ เปอร์เซ็นต์เป็นค่ามัดจำ(refudable bond / security deposit)

และอีก ๕ เปอร์เซ็นต์สุดท้าย เป็นค่า “ภาษี” หรือ ภาษาอังกฤษเรียกว่า Council tax นั่นเอง

(คำนวณจาก ค่าเช่าของคุณ สมมติว่า คุณจ่ายค่าเช่า ปีละ ๕๐๐๐๐ ดีแร่ห์ม
คุณก็ต้องจ่ายเจ้า Council tax นี้เป็นงิน ๒,๕๐๐ ดีแร่ห์ม)

(ใครว่าอยู่ดูไบไม่มีภาษี ก็ Council tax นี่ไง!!!!!)

DEWA (Dubai Electricity and Water Authority) หรือ ไฟฟ้า-ประปาของดูไบ
จะเป็นผู้เก็บ ๕ เปอร์เซ็นต์ในส่วนของ Council tax นี้ หากคุณไม่จ่ายทาง
ไฟฟ้า-ประปาดูไบก็มีสิทธิที่จะตัดน้ำ-ไฟคุณได้ค่ะ



************************************************


พื้นที่ที่มีอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าเยอะๆ ก็มีจะดังนี้ค่ะ

๑. Al Ghusais – อ่านว่า อัล คุเสส แถวๆนี้ถูกเกือบๆ ราคาที่พักในเอมิเรสต์ ชาร์จาห์ (Sharjah)
หรือจริงๆก็อาจจะเกือบถึง ชาร์จาห์ นั่นแหล่ะ โลเคชั่นนี้ไม่ได้อยู่ในตัวเมืองดูไบนะคะ

๒. Bur Dubai – โลเคชั่นดีค่ะ อยู่ใจกลางเมือง แต่รถติดสุดๆ

๓. Deira – ไม่แพงมากเมื่อเทียบกับแถว Bur Dubai แต่ว่าอพาร์ทเม้นท์ราคากลางๆ ไม่ค่อยมี
ไม่แพงเว่อร์ ก็ราคาถูกแต่ห้องเก่ามาก โทรมๆ

๔. Dubai Marina – แถวนี้แพงค่ะ แต่ว่ามีข้อดีอย่างตรงที่มันใกล้ “ฟรีโซน”

๕. The Greens – เหมือน ข้อ ๔

๖. Karama – อยู่ติดๆ กับ Bur Dubai แต่พื้นที่แถวนี้ดูทรุดโทรมกว่าเยอะ

๗. Lamcy Plaza – โลเคชั่นค่อนข้างดี แล้วราคาก็สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับแถบอื่นๆในดูไบค่ะ

๘. Jumeirah (จูเมร่าห์), Umm Suqeim (อุม ซุควิม), และ Mirdif (เมอดิฟ)
ส่วนมากพื้นที่แถวนี้จะเป็น “วิลล่า” เสียส่วนมากค่ะ และราคาก็แพงพอสมควร
แต่ในเมอดิฟนั้น มีอพาร์ทเม้นท์ให้เช่าด้วย ชื่อว่า Uptown Mirdif ราคาก็แพงค่ะ
ปีละประมาณ Dhs ๑๒๐,๐๐๐ สำหรับอพาร์ทเม้นท์แบบ ๒ ห้องนอน

๙. Sheikh Zayed Road – ถนนเชค ซาเหย็ด ระหว่าง Trade Centre
และ วงเวียน Defense หรือ Defense roundabouts โลเคชั่นดีมากค่ะ วิวสวย
แต่ราคาก็แพงเอาการ


ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า คนโสด ไม่สามารถแชร์บ้านเช่า (วิลล่า) ได้นะคะ
บ้านเช่าเป็นหลังๆ เขาจะเก็บไว้ในสำหรับ ผู้เช่าที่เป็นครอบครัวเท่านั้นค่ะ


หากคุณได้อพาร์ทเม้นท์แบบแชร์รวมกัน ราคาคร่าวๆ ก็จะอยู่ที่ประมาณ ๓,๕๐๐ – ๖,๐๐๐ ดีแร่ห์ม ต่อ เดือนค่ะ

ค่าน้ำไฟก็ประมาณ ๕๐๐ ดีแร่ห์มต่อเดือน



@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@@


จ่ายค่านายหน้าเท่าไหร่ / จ่ายค่ามัดจำเท่าไหร่ ?

• หากว่าคุณได้ที่พักผ่านนายหน้า (เอเย่นต์) โดยปรกติค่านายหน้าหรือคอมมิชชั่นจะอยู่ที่
๕ เปอร์เซ็นต์ของราคาเช่าทั้งปี และต้องจ่ายตอนที่คุณเซ็นต์สัญญาเช่า
อย่างไรก็ตามผู้เช่าไม่ควรจ่ายค่านายหน้าอีกหากมีการต่อสัญญาปีต่อไป (อพาร์ทเม้นท์เดิม)
หากว่าพวกเอเย่นต์บอกว่าต้องจ่ายล่ะก็ เขาตุกติกแล้วล่ะค่ะ คุณสามารถร้องเรียนได้ที่
“คณะกรรมการการเช่าอสังหาริมทรัพย์” (Dubai Rent Committee) ได้ค่ะ

• ค่ามัดจำโดยทั่วไปจะอยู่ที่ ๕ เปอร์เซ็นต์ และผู้เช่าต้องจ่ายตอนที่ทำสัญญาเช่า

• น้ำ-ไฟ คุณต้องไปติดต่อที่ DEWA (Dubai Electricity and Water Authority)
เพื่อยื่นเรื่องขอใช้น้ำ-ไฟ และเตรียมเงินไปด้วยประมาณ ๑,๐๐๐ ดีแร่ห์ม เป็นเงินค่ามัดจำค่ะ


ภาษีที่เสียให้กับเทศบาลดูไบ หรือ Dubai Municipality Tax

เป็นภาษีประจำปีที่ผู้เช่าต้องเสียให้กับทางเทศบาลดูไบค่ะ (๕ เปอร์เซ็นต์)
แม้ว่าบางคนอาจจะพยายามหลีกเลี่ยงที่จะจ่ายตรงส่วนนี้มาหลายปี
บางคนยังไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่าต้องเสียด้วยหรือ ปัจจุบันนี้ผู้เช่าต้องเสียค่ะ
ค่าภาษีตรงส่วนนี้จะถูกแสดงในใบแจ้งหนี้จาก DEWA นั่นเอง


แหล่งหาห้องเช่า / บ้านเช่า / อพาร์ทเม้นท์ – สตูดิโอ

มีบริษัทในดูไบมากมายที่รับหาบ้านเช่า / อพาร์ทเม้นท์เช่า แต่มีอยู่ไม่กี่สิบบริษัทที่มีชื่อเสียง
และเป็นที่ยอมรับในดูไบ จะยกตัวอย่างมาดังนี้ค่ะ

• Asteco อ่านออกเสียงว่า “แอสตีโก้” (website //www.asteco.com)
• Better Homes (website //www.bhomes.com)
• Emaar - for Emaar properties website //www.hamptonsuae.com).
• Landmark Properties (website //www.landmark-properties.com)


นอกจากคุณจะติดต่อไปยังบริษัทที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว อีกทางเลือกหนึ่งก็คือการซื้อหนังสือพิมพ์

แล้วเปิดไปที่หน้า classified. หนังสือพิมพ์ที่มีเซคชั่น อพาร์ทเม้นท์ให้เช่า / ขาย / ซื้อ

ก็มีหนังสือพิมพ์ “กัลฟ์ นิวส์” Gulf News

Gulf News เป็นหนังสือพิมพ์ที่ได้รีบความนิยมมากที่สุดค่ะ

ตามซุปเปอร์มาร์เก็ตเองก็จะมีบอร์ดประกาศเช่นกัน บอร์ดประกาศมักจะอยู่หน้าทางเข้าซุปเปอร์ฯ

บอร์ดเหล่านี้นอกจากมีประกาศหาคนแชร์ห้อง / บ้าน แล้วยังมีประกาศขายของมือสองอื่นๆ ด้วย

ไม่ว่าจะเป็น เฟอร์นิเจอร์ รถ ของเล่นเด็ก ไปจนถึงรับสอนภาษาอาราบิค สอนเทนนิส ฯลฯ

แน่นอนการหาที่อยู่ไม่ว่าจะซื้อหรือจะเช่า ทางที่ดีที่สุดก็คือการใช้อินเตอร์เนท

ลองดูที่ยกตัวอย่างมาให้ดังนี้นะคะ

• dubizzle.com

• //www.dubaiclassified.com/subAds.asp?cat_id=10&sub_id=32

• //www.justlanded.com/english/Dubai/Tools/Classifieds/Flat-share/(offset)/10

• //dubaicity.olx.ae/houses-apartments-for-rent-cat-363

• //www.emirates-ads.ae/properties.aspx (ดิฉันชอบเวปนี้มากที่สุด)


กฏหมาย / กฏระเบียบที่ดูไบเปลี่ยนค่อนข้างบ่อย ผู้อ่านเองก็ควรจะติดตามข่าวสารจากทางการดูไบเป็นระยะๆ นะคะ

ดิฉันเองก็จะพยายามที่จะอัพเดทข้อมูลให้ใหม่ ทันสมัยอยู่เสมอ อาจจะไม่อัพเดทชนิดที่ว่า
กฏเปลี่ยนปุ๊บ บล็อกถูกอัพเดทปั๊บ แต่ก็จะพยายามให้เป็นอย่างนั้นค่ะ จะได้เป็นประโยชน์แก่คนที่หาข้อมูลด้วย

ขอบพระคุณที่แวะเข้ามาค่ะ




 

Create Date : 06 กันยายน 2551   
Last Update : 7 กันยายน 2551 0:13:12 น.   
Counter : 6543 Pageviews.  


+++ อยู่ Dubai ไม่อดอยาก (อาหารไทย) นะเออ +++

อยู่ดูไบใครว่าอด ไม่จริงค่า หากรู้จักขยันไปร้านขายของชำเหล่านี้

ทุกวันพุธ สินค้าจากประเทศไทยและฟิลิปินส์จะถูกนำเข้ามาและแจกจ่ายให้กับ

ร้านค้าปลีกที่ดูไบ เอมี่ก็เลยไปร้านขายของชำเหล่านี้แทบทุกวันพุธค่ะ

สินค้าไทยที่เข้ามาก็จะมีผักมากมาย ผลไม้ เครื่องแกงต่างๆ ปลาส้ม ปลาร้า

หอยดอง หมูยอ แหนม ฯลฯ ในราคาที่คุณหยวนๆ เพราะทำไงล่ะ คนมันอยากกินอ่ะ

แต่ละร้านก็มีสินค้าไม่เหมือนกัน (เล็กน้อย) เช่น ร้านนี้มีแหนม หมูยอขาย ร้านโน้นไม่มี

ทำให้ไปแต่ละที อาจะทำให้ต้องแวะหมดทั้ง ๓ ร้าน โชคดีหน่อยนึงที่ว่ามันอยู่ไม่ห่างกันมาก

ก็คืออยู่ในละแวก "คาราม่า" Karama นั่นเอง

-----------------------------------------

ร้านค้าที่ผักไทย ของชำไทยเท่าที่ทราบและไปซื้อประจำมีอยู่ ๓ ร้าน ก็มีดังนี้จ๊ะ
(ให้เบอร์โทรไว้ด้วยเผื่อใครอยากจะโทรถามเส้นทาง)


๑. ร้าน "ซันฟลาวเวอร์" Sunflower อยู่ใกล้ๆกับ Crystal Music Centre
โทร.๐๔-๓๙๖-๔๖๑๑ (วันศุกร์เปิด ๔ โมงเย็น)


๒. ร้าน "C.M.Supermarket" โทร.๐๔-๓๙๗-๘๗๕๘-๕๙


๓. ร้าน Thailand Food Store (หรือร้านคุณบอย) โทร.๐๔-๓๓๔-๒๑๓๓
ร้านนี้จะปิดช่วงบ่ายคือประมาณ บ่ายโมงครึ่ง จนถึงสี่โมงเย็นค่ะ


วันนี้ซื้ออะไรมาได้บ้าง มาดูกันดีกว่า


๑. ถั่วฝักยาว (Yard Long Beans) กำละ ๑๔ ดีแร่ห์ม ก็ประมาณ ๑๔๐ บาท



๒. ผักกระเฉด ถุงละ ๖ ดีแร่ห์ม ก็ประมาณ ๖๐ บาท ปริมาณก็ขนาดผัดใส่หมูกรอบกินได้ ๑ คน ประมาณนั้น



๓. สะตอ ๑ ห่อเล็ก ห่อละ ๑๐ ดีแร่ห์ม ก็ประมาณ ๑๐๐ บาท ซื้อห่อเดียวน้อยไป ไม่พอยาไส้
ต้องซื้อ ๒ ห่อผัดใส่กุ้ง ถึงจะพอดี ๑ จานกินกัน ๒ คนนะ




๔. ผักดอกไม้กวาด ไม่ทราบราคาเท่าไหร่ ซื้อจากร้านคุณบอย ซึ่งไม่มีราคาติดและไม่มีใบเสร็จ




๕. กระชาย ไม่ทราบราคาอีกเช่นกัน เขามีขายแบบบรรจุขวดกับแบบสดแพ็คแบบในรูป



๖. ใบแมงเลัก (Hairy Basil Leaf) กำละ ๓.๕๐ ดีแร่ห์ม ก็ประมาณ ๔๐ บาท
(ซื้อไปเอาไปแกล้มกับขนมจีนน้ำยาป่า อยากกินไม๊จ๊ะ)



๗. ก๋วยเตี๋ยวเส้นใหญ่ ห่อละ ๑๖.๕๐ ดีแร่ห์ม ประมาณ ๑๗๐ บาท



๘. ลูกชิ้นปลา ห่อละ ๗ ดีแร่ห์ม ประมาณ ๘๐ บาท (เอาไปใส่น้ำยาป่าไง)
ไม่อร่อย ไม่แนะนำอย่างแรง ซื้อของไทยดีกว่า รสชาดอุบาทว์มาก




๙. ลูกชิ้นปลาหมึก ห่อละ ๖.๕๐ ดีแร่ห์ม ประมาณ ๗๐ บาท จริงๆก็ไม่รู้เอามาทำไม
ไม่ใช่อะไรหรอก หยิบผิด ตาไม่ดีนึกว่าลูกชิ้นปลาอ่ะแหล่ะ กินแล้วอยากอ้วก ไม่มีความอร่อยเลย กัดไปมีแต่แป้ง คาวก็คาว โหยยยย สู้ของไทยไม่ได้เลย



๑๐. มะขามเปรี้ยว (ซื้อมากินกับกะปิ) ห่อละ ๖ ดีแร่ห์ม ประมาณ ๖๐ บาท
กินซะเสียวฟันเลยล่ะ แบบว่าอยากมานาน



๑๑. ลูกชิ้นหมู นายฮั้งเพ้ง ๑ แพ็ค ไม่ทราบราคา ซื้อได้ที่ร้านคุณบอย เพราะ ๒ ร้านนั้นไม่มีจ๊ะ




๑๒. ทุเรียนกวน ห่อเล็กๆ ห่อละ ๕ ดีแร่ห์ม ประมาณ ๕๐ บาท (กินแล้วอร่อยมาก)



๑๓. ขนมชั้น ทำสดๆ จากคนไทยในดูไบ (ใครก็ไม่รู้) เอามาวางขายไว้ที่ร้านคุณบอย
๑๕ ดีแร่ห์ม ( ๑๕๐ บาท) ก็เอาวะ ไม่ได้กินนานแล้วด้วย นานๆกินทีให้หายคิดถึง



๑๔. หมูกรอบ (แบบเกือบสำเร็จรูป) นำเข้าจากฟิลิปินส์ ทำง่ายมากเหมาะสำหรับแม่บ้านขี้เกียจ
ทำกับข้าวอย่างเราเป็นที่ซู๊ดดดดด. . .
ก็แค่เอาไป de-frost หรือละลายน้ำแข็งในไมโครเวฟสัก ๑๐ นาที แล้วก็เอาไปทอดในน้ำมัน
ร้อนๆ แค่นั้นเองก็จะได้หมูกรอบๆ กรุบๆ เอาไปผัดกับคะน้าหรือผักกระเฉดก็ตามใจท่าน
หมูกรอบนี้หาซื้อได้ที่ร้าน "ซันฟลาวเวอร์" จ๊ะ (อยู่ด้านหลังร้านนะ)



๑๕. มะขามหวาน (Sweet Tamarind) กล่องละ ๑๐๐ บาท (๙.๕๐ ดีแร่ห์ม)




ไปร้าน "ใบตอง" มาด้วย ก็เลยซื้อกับข้าวติดไม้ติดมือมาฝากคนที่บ้าน

ไข่พะโล้ ก็มีไข่ ๑ ฟอง ผ่าครึ่ง แล้วก็เนื้อไก่ ไม่มีเต้าหู้ รสชาดโอเค ราคา ๒๘ ดีแร่ห์ม

หรือ ๓๐๐ บาท (ให้มาพร้อมกับข้าวสวย)



อันนี้เป็น "เนื้อแดดเดียวทอด" ให้มากับน้ำจิ้มและข้าวสวย ๓๐ ดีแร่ห์มจ๊ะ ประมาณ ๓๒๐ บาท




ราคาสินค้าอื่นๆ ที่ไม่ได้ถ่ายรูปมาก็มีอีกเล็กน้อยค่ะ เช่น

น้ำปลาตราหอยนางรม ขวดเล็ก ๒ ดีแร่ห์ม (๒๐ บาท)

น้ำมันหอย ตราแม่ครัว ขวดเล็ก ๕ ดีแร่ห์ม (๕๐ บาท)

ซอสถั่วเหลือง ขวดเล็ก ๔ ดีแร่ห์ม (๔๐ บาท)

ข้าวหอมมะลิ ๒ กิโลกรัม ๑๗ ดีแร่ห์ม (๑๗๐ บาท)



คราวหน้าจะมารายงานราคาพืชผัก ขนม และสินค้าไทยให้รับทราบอีกนะคะ

จะได้ทราบราคาข้าวของ เผื่อคนที่จะย้ายมาอยู่หรือมาทำงานที่นี่มีไอเดียว่าค่ากับข้าวแต่ละมื้อน่ะ

มันอยู่ที่ประมาณเท่าไหร่ เป็นข้อมูลบอกต่อๆ กันค่ะ

------------------------------------------

อ้าว มีมาต่ออีกนึดนึง พอดีลืมเอารูปมาลง


หน่อไม้รวก Bamboo Shoot Tip น้ำหนัก ๔๐๐ กรัม ราคา ๕.๕๐ ดีแร่ห์ม (คูณ ๙ บาท)





กะปิตราชู ตราชั่ง ๙ ดีแร่ห์ม ก็ประมาณ ๑๐๐ บาท (ของสำคัญประจำบ้านห้ามขาด)



๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑๑

แผนที่ร้านคุณบอยค่ะ ลงไว้เผื่อใครอยากไปแล้วไปไม่เป็น




ส่วนข้างล่างนี้เป็นแผนที่ทางไปร้าน "ซันฟลาวเวอร์" ค่ะ




 

Create Date : 28 สิงหาคม 2551   
Last Update : 7 กันยายน 2551 0:18:27 น.   
Counter : 6838 Pageviews.  


When expats tie the knot

มาดูกันว่าถ้าคนต่างด้าวจะแต่งงานในประเทศต้องทำยังไงบ้าง


การแต่งงานระหว่างบุคคลต่างเชื้อชาติและศาสนาถือเป็นเรื่องปกติในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ที่ซึ่งพลเมืองมาจากประเทศที่แตกต่างกันกว่า ๒๐๐ ประเทศ

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เองได้อำนวยความสะดวกเรื่องการสมรสอย่างเต็มที่
คนต่างด้าวผู้ประสงค์จะสมรสกันในประเทศอาหรับเอมิเรตส์ต้องปฏิบัติตามระเบียบดังต่อไปนี้
โดยพิจารณาจากศาสนาและเชื้อชาติของตน

การสมรสต่อหน้าศาลศาสนาอิสลาม (Sharia Court)

คู่สมรสฝ่ายชายต้องนับถือศาสนาอิสลาม โดยที่คู่สมรสฝ่ายหญิงสามารถนับถือศาสนาคริสต์
อิสลาม ยิวหรือศาสนาอื่นๆได้


หญิงชาวมุสลิมไม่สามารถแต่งงานกับชายที่นับถือศาสนาอื่นในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้


ในกรณีที่ต่างด้าว (ทั้งชายและหญิง) ที่ประสงค์จะสมรสนั้นไม่ใช่ชาวมุสลิมและเป็นบุคคลเชื้อชาติอื่นๆ พวกเขาต้องติดต่อไปยังสถานกงสุลหรือสถานทูตของตน ขึ้นอยู่กับว่าพวกเขาต้องการจดทะเบียนสมรสกันที่ใด

อย่างไรก็ตาม คู่สมรสที่ทำการสมรสในศาลอิสลาม ในโบสถ์หรือในวัด
คู่สมรสต้องมีการจดทะเบียนสมรสกันในประเทศของพวกตนด้วย

คู่สมรสสามารถกรอกแบบฟอร์มได้ที่สถานกงศุลหรือสถานทูตของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตามต้องการ และต้องไปปรากฎตัว ณ สถานกงสุลหรือสถานทูตนั้นด้วย

คู่สมรสฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจำเป็นต้องส่งสำเนาหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่าที่ยังไม่หมดอายุและแบบฟอร์ม ไปยังสถานกงสุลหรือสถานทูต

สำหรับผู้ที่ถือวีซ่าประเภทเยี่ยมเยียน (Visit Visa) นั้นไม่สามารถสมรสกันในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้

ขอให้ตระหนักว่าในแต่ละประเทศย่อมมีระเบียบข้อบังคับในการสมรสที่แตกต่างกัน

ทั้งนี้ คู่สมรสทั้งสองฝ่ายต้องแสดงสูติบัตร ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า (หากเคยจดทะเบียนหย่ามาก่อน)
หากคู่สมรสฝ่ายใดเคยจดทะเบียนหย่าในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
คู่สมรสฝ่ายนั้นต้องมีการแสดงหลักฐานการหย่าที่มีการระบุวันที่หย่าโดยศาลอิสลามในประเทศให้เรียบร้อย

ในกรณีที่เป็นหม้าย ต้องมีการแสดงหลักฐานใบมรณบัตรของอดีตคู่สมรสด้วย
หรือ ในกรณีที่เหตุที่ทำให้เป็นหม้ายนั้นเกิดขึ้นในประเทศบ้านเกิดของตน
บุคคลนั้นสามารถขอใบมรณบัตรของอดีตคู่สมรสนั้นได้จากประเทศของตน
โดยเอกสารดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศหรือ
สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ในประเทศของตน


เอกสารที่จำเป็นในการสมรส


- ในกรณีที่คู่สมรสเป็นคนต่างเชื้อชาติ และศาสนาของพวกเขาเห็นชอบที่จะให้สมรสกัน
ในศาลอิสลาม คู่สมรสจำเป็นต้องยื่นแบบขอสมรสต่อพนักงานการสมรสประจำศาลอิสลาม
พร้อมเอกสารที่จำเป็นอื่นๆ อาทิ สำเนาหนังสือเดินทาง รูปถ่าย ค่าธรรมเนียม
คำยินยอมของคู่สมรสฝ่ายหญิงและเอกสารอื่นๆ

- อนึ่ง ระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการสมรสในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ระหว่างต่างด้าว
ผู้ต่างสัญชาติ สามารถเปลี่ยนแปลงไปได้ ขึ้นอยู่กับระเบียบข้อบังคับการสมรสในประเทศดังกล่าวของต่างด้าว

- สำหรับการสมรส คู่สมรสแต่ละฝ่ายควรปรึกษาสถานทูตประจำประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ของตนให้เรียบร้อยเพื่อรับทราบรายละเอียดเกี่ยวกับข้อบังคับการสมรสอื่นๆ

- ในกรณีที่คู่สมรสเป็นชาวคริสต์ ที่มีเชื้อชาติที่แตกต่างกัน คู่สมรสนี้สามารถสมรสกันได้ในโบสถ์

- คู่สมรสชาวฮินดูสามารถสมรสกันได้ในวัดประจำศาสนา ณ เมืองดูไบ
คู่สมรสชาวฮินดูจะไม่ได้รับการรับรองโดยศาลอิสลาม

- ในกรณีที่คู่สมรสไม่ได้นับถือศาสนาใด ให้คู่สมรสดังกล่าวสมรสกันที่สถานเอกอัครราชทูต
หรือสถานกงสุลของประเทศของตน แล้วแต่ต้องการ

- คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องจดทะเบียนสมรสของตน ณ สถานกงสุล และคู่สมรส
ต้องนำเอกสารหลักฐานฉบับจริงของตนมาพร้อมกับตนด้วย





 

Create Date : 10 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2551 0:45:14 น.   
Counter : 1522 Pageviews.  


การขอวีซ่าต่างๆ เพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

อาจจะยาวนิดนึงนะคะ แต่มีประโยชน์มากทีเดียว


ระเบียบว่าด้วยเรื่องการขอวีซ่าเพื่อเดินทางเข้ามาในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) นั้น
มีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น
ขอให้ทุกท่านตรวจสอบข้อมูลกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย
หรือตัวแทนบริษัทท่องเที่ยวของท่านให้เรียบร้อยก่อนการเดินทาง

ในการเดินทางเข้ามายังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ท่านจะพบว่ามีวีซ่า
การตรวจลงตราเข้าประเทศ) หลากหลายรูปแบบ ซึ่งวีซ่าที่เป็นที่นิยมกันอย่างมาก
ได้แก่ วีซ่าเยี่ยมเยียน (Visit Visa) วีซ่าท่องเที่ยว (Tourist Visa) และวีซ่าเพื่อการขออนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ (Residency Visa) สำหรับคนต่างด้าว (Ex-pats)


------------------------------------------------

วีซ่าประเภทเยี่ยมเยียน (Visit Visa)


มีอายุ ๓๐ วัน โดยมีค่าธรรมเนียม ๕๐๐ ดีแรมห์ วีซ่าชนิดนี้ไม่สามารถต่ออายุใหม่ได้
ทั้งนี้ ผู้ที่ประสงค์ที่จะอยู่ต่อจำเป็นต้องได้รับวีซ่าประเภทเยี่ยมเยียนที่มีอายุ ๙๐ วัน
ซึ่งมีค่าธรรมเนียมจำนวน ๑,๐๐๐ ดีแรมห์

สำหรับพลเมืองของประเทศที่มีรายนามดังต่อไปนี้ สามารถขอวีซ่าเยี่ยมเยียนแบบอายุ ๓๐ วันได้โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมเมื่อเดินทางมาถึง ซึ่งให้สิทธิในการอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นระยะเวลา ๖๐ วัน ได้แก่ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมัน เนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก สวิสเซอร์แลนด์ ออสเตรีย สวีเดน นอร์เวย์ เดนมาร์ก โปรตุเกส ไอร์แลนด์ กรีก ไซปรัส ฟินแลนด์ มัลต้า สเปน โมนาโค นครรัฐวาติกัน ไอซ์แลนด์
แอนดอร์รา ซาน มาริโน ลิกเทนสไตน์ สหรัฐอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น บรูไน สิงค์โปร์ มาเลเซียและฮ่องกง


เมื่อครบกำหนดเวลา ผู้เดินทางสามารถขยายระยะเวลาในการอยู่ต่อได้อีก ๒ เดือน
ด้วยการเดินทางออกนอกประเทศและเดินทางกลับมาใหม่อีกครั้ง
ซึ่งสามารถทำเช่นนี้ได้เพียง ๒ ครั้งเท่านั้น เมื่อวีซ่าเยี่ยมเยียนที่ได้รับการต่อเป็นครั้งที่ ๓ หมดอายุลง บุคคลนั้นจำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
อย่างน้อยเป็นระยะเวลา ๑ เดือน จึงจะสามารถเดินทางกลับเข้าประเทศได้อีก


สำหรับพลเมืองในประเทศอื่นๆ (นอกเหนือจากที่กล่าวมาข้างต้น) วีซ่าจะต้องได้รับอุปถัมป์จากบุคคลผู้ซึ่งเป็นญาติหรือสถาบัน ใบสมัครเพื่อขอวีซ่าต้องได้รับการจัดส่งโดยผู้อุปถัมป์
พร้อมกับเอกสารที่จำเป็นต้องใช้ประกอบการยื่นขอวีซ่าทั้งหมด

-----------------------------------------------

วีซ่าประเภทท่องเที่ยว (Tourist Visa)


เป็นวีซ่าสำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับบริษัททัวร์หรือโรงแรม
มีอายุ ๓๐ วัน และมีค่าธรรมเนียมจำนวน ๑๐๐ ดีแรมห์
ทั้งนี้ ผู้ขอวีซ่าต้องเสียค่าธรรมเนียมการจัดส่งอีกคนละ ๑๐ ดีแรมห์
และวีซ่าประเภทนี้สามารถต่ออายุได้เพียงครั้งเดียวเท่านั้น

-----------------------------------------------


วีซ่าเยี่ยมเยียนประเภทนักเรียน (Student Visit Visa)

ค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ ดีแรมห์ ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ต้องได้รับการลงทะเบียนเรียนในมหาวิทยาลัยที่อยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
พร้อมทั้งมีการประกันสุขภาพ นอกจากนี้ ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ต้องชำระเงินจำนวน ๑,๐๐๐ ดีแรมห์เป็นค่ามัดจำ โดยจำนวนเงินดังกล่าวสามารถรับคืนได้ในภายหลัง

-------------------------------------------------


วีซ่าประเภทการติดต่อธุรกิจ (Special Mission Entry Visa)

ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถพักอยู่ในประเภทสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ ๑๔ วัน
โดยไม่สามารถยื่นขอเพื่อต่ออายุได้อีกและมีค่าธรรมเนียมจำนวน ๒๒๐ ดีแรมห์
และค่าธรรมเนียมการจัดส่งอีก ๑๐ ดีแรมห์ วีซ่าประเภทนี้รู้จักกันทั่วไปว่าเป็นวีซ่าเดินทางผ่าน
ซึ่งผู้ถือวีซ่าชนิดนี้จะได้รับต่อเมื่อเดินทางมาถึง
วีซ่าเดินทางผ่านมีไว้เพื่อนักธุรกิจและนักท่องเที่ยวผู้อยู่ภายใต้การอุปถัมป์ของบริษัท
สถาบันหรือโรงแรมที่ดำเนินการอยู่ในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

-------------------------------------------------


วีซ่าการทำงานชั่วคราว (Mission Visa)

วีซ่าประเภทนี้เป็นวีซ่าแบบใหม่ที่จะออกให้แก่ผู้ที่เข้ามาทำงานในประเทศเป็นเวลาชั่วคราว
ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถอยู่ในประเทศได้ ๑๘๐ วัน
โดยมีค่าธรรมเนียมในการขอวีซ่า ๑,๘๐๐ ดีแรมห์ โดยค่าธรรมเนียมแบ่งออกเป็น ๖๐๐ ดีแรมห์สำหรับ ๓ เดือนแรก และต้องจ่ายอีก ๑,๒๐๐ ดีแรมห์สำหรับอีก ๓ เดือนที่เหลือ

วีซ่าประเภทนี้ได้ออกมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นโนบายการออกใบอนุญาตการทำงาน
ชั่วคราวของกระทรวงแรงงานประจำสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทั้งนี้
ผู้ที่จะสามารถถือวีซ่าประเภทนี้ได้ต้องได้รับใบอนุญาตจากกระทรวงแรงงาน
ก่อนเป็นอันดับแรกก่อนที่จะมีการดำเนินการขอวีซ่า


---------------------------------------------------


วีซ่าเดินทางผ่าน (Transit Visa)

วีซ่าประเภทนี้ออกให้สำหรับนักเดินทางที่ต้องแวะพักที่สนามบินของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
สำหรับการเดินทางต่อไปยังประเภทอื่น มีอายุ ๙๖ ชั่วโมง
และผู้ถือวีซ่าประเภทนี้ต้องได้รับการอุปถัมป์จากสายการบินที่ประกอบกิจการในประเทศ
และต้องมีตั่วเครื่องบินที่ใช้ในการเดินทางต่อไปยังประเทศที่สามแสดงด้วย
ค่าธรรมเนียมของวีซ่าประเภทนี้อยู่ที่ ๑๐๐ ดีแรมห์

---------------------------------------------------


วีซ่าประเภทธุรกิจเข้าออกได้หลายครั้ง (Multiple Entry Visa)


วีซ่าประเภทนี้ออกให้เฉพาะกับนักธุรกิจที่เดินทางมายังประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์บ่อยครั้ง
ผู้ซึ่งมีการติดต่อธุรกิจกับบริษัทที่มีชื่อเสียงเท่านั้น
วีซ่าประเภทนี้มีอายุการพำนักเป็นระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ได้รับวีซ่า
โดยมีค่าธรรมเนียม ๑,๐๐๐ ดีแรมห์ อย่างไรก็ตาม ในการพำนักแต่ละครั้งต้องมีระยะเวลาไม่เกิน ๓๐ วัน โดยที่ผู้ขอวีซ่าต้องเดินทางเข้ามายังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
โดยใช้วีซ่าเยี่ยมเยียนและดำเนินการขอวีซ่าประเภทธุรกิจเข้าออกได้หลายครั้งในขณะที่พำนักอยู่ที่นี่


-------------------------------------------------


วีซ่าเพื่อการขออนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ (Residence Visa)


วีซ่าประเภทนี้สามารถขอได้เฉพาะผู้ที่ประสงค์จะเข้ามาอาศัยในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
กับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
โดยมักออกให้กับญาติผู้ใกล้ชิดของผู้มีถิ่นที่อยู่เป็นระยะเวลา ๓ ปี
โดยมีค่าธรรมเนียมจำนวน ๓๐๐ ดีแรมห์
วีซ่าประเภทนี้จะสิ้นสุดลงทันทีที่ผู้มีถิ่นที่อยู่ได้เดินทางออกนอกประเทศ
เป็นระยะเวลานานกว่า ๖ เดือน

บิดามารดาของผู้มีถิ่นที่อยู่ในประเทศจะได้รับการออกวีซ่าประเภทนี้เมื่อได้รับความเห็นชอบเป็นพิเศษ พร้อมค่าธรรมเนียมการต่ออายุเป็นจำนวน ๑๐๐ ดีแรมห์ต่อปี
โดยที่บิดามารดาของผู้มีถิ่นที่อยู่ต้องเสียเงินคนละ ๕,๐๐๐ ดีแรมห์เพื่อใช้เป็นค่ามัดจำ
โดยที่เงินจำนวนดังกล่าวสามารถเรียกคืนได้ในภายหลัง


------------------------------------------------


วีซ่าสำหรับนักลงทุน (Investor Visa)


วีซ่าประเภทนักลงทุนจะออกให้แก่นักลงทุนต่างด้าวที่มีการดำเนินธุรกิจกับนักลงทุนภายในประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยนักลงทุนต่างด้าวนี้ต้องถือหุ้นน้อยที่สุด
คิดเป็นมูลค่า ๗๐,๐๐๐ ดีแรมห์ โดยเสียค่าธรรมเนียมวีซ่า ๓๐๐ ดีแรมห์
เช่นเดียวกันกับผู้ถือวีซ่าเพื่อการขออนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ภายในประเทศ


------------------------------------------------


วีซ่าประเภททำงานตามสัญญาจ้าง (Employment Visa)


หรือหนังสืออนุญาตการทำงานออกโดยกองการตรวจคนเข้าเมือง
ให้แก่ต่างด้าวผู้ประสงค์จะเดินทางเข้าไปเป็นลูกจ้างของบริษัทในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ภายใต้ความเห็นชอบของกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม
ผู้ถือวีซ่าประเภทนี้สามารถเดินทางเข้ามาในประเทศได้ครั้งหนึ่งเป็นระยะเวลา ๓๐ วัน
และมีอายุ ๒ เดือนนับแต่วันที่ได้รับวีซ่า

เมื่อผู้ถือวีซ่าประเภททำงานตามสัญญาจ้างได้เดินทางเข้ามาในประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
บริษัทผู้อุปถัมป์จะดำเนินการเพื่อขอประทับตราสภาพการพำนักของลูกจ้างต่างด้าวดังกล่าว


-------------------------------------------------


วีซ่าการแพทย์ (Visit visa for medical purposes)


ออกให้แก่ผู้ที่เดินทางเข้ามาพำนักเพื่อการรักษาตัวในประเทศ มีระยะเวลา ๙๐ วัน
โดยต้องเสียค่าธรรมเนียมจำนวน ๑,๐๐๐ ดีแรมห์และสามารถต่ออายุได้ทุกๆ ๙๐ วัน
โดยมีค่าธรรมเนียมการต่ออายุ ๕๐๐ ดีแรมห์


-------------------------------------------------


วีซ่านิทรรศการและการประชุม (Visit Visa for Events)

ออกให้สำหรับผู้ที่เดินทางมาเข้าร่วมงานนิทรรศการหรืองานประชุม
โดยมีค่าธรรมเนียมจำนวน ๑๐๐ ดีแรมห์





 

Create Date : 09 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 10 กรกฎาคม 2551 0:34:27 น.   
Counter : 2649 Pageviews.  


Blood Money มันคืออะไร มาดูกัน

Blood Money in Islamic Law






 

Create Date : 08 กรกฎาคม 2551   
Last Update : 8 กรกฎาคม 2551 0:20:06 น.   
Counter : 1362 Pageviews.  


1  2  

CoolDubaiChic
 
Location :
Dubai United Arab Emirates

[Profile ทั้งหมด]

ให้ทิปเจ้าของ Blog [?]
ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]


ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




○ สงวนลิขสิทธิ์ ตามพระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. ๒๕๓๙
ห้ามผู้ใดละเมิด ไม่ว่าการลอกเลียน หรือนำส่วนหนึ่งส่วนใดของรูปภาพ และ ข้อความใน blog แห่งนี้ไปใช้ ทั้งโดยเผยแพร่และเพื่อการอ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร จะถูกดำเนินคดี ตามที่กฏหมายบัญญัติไว้สูงสุด ○

○ All rights reserved. No part of this blog may be reproduced or used in any form without written permission from the blog owner ○

[Add CoolDubaiChic's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com