bloggang.com mainmenu search
ตอนแรกผมเลือกที่จะเรียนปริญญาโทสาขาการบริหารจัดการ (master of management) ที่มหาวิทยาลัยอะไรก็ได้ในนิวซีแลนด์

ทำไมถึงต้องเป็นนิวซีแลนด์


นั่นสิ .... ทำไมถึงต้องเป็นนิวซีแลนด์

ประการแรก ก็เพราะนิวซีแลนด์เป็นประเทศที่ใช้ภาษาอังกฤษ เป็นภาษาในชีวิตประจำวัน เป็นภาษาอังกฤษแท้ๆ ไม่ใช่ภาษาอังกฤษ แบบสิงคโปร์ หรืออินเดีย

ประการที่สอง ค่าเรียนที่นิวซีแลนด์ถูกกว่าประเทศอื่นๆ เมื่อเทียบกับ การที่ได้ภาษาอังกฤษแท้ และได้ปริญญาที่มีคุณภาพสูง ทั่วโลกรับรองตามแบบฉบับการศึกษาของอังกฤษ

เอาเป็นว่า จบจากนิวซีแลนด์แล้ว... คุยได้ว่า เป็นของแท้ ไม่มีปริญญาที่มาจากมหาวิทยาลัยห้องแถว หรือ จบมาแล้วไม่แสดงความคิดเห็นเหมือนเด็กยังไม่จบปริญญาตรี

มหาวิทยาลัยในนิวซีแลนด์มี 7 แห่ง กระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ ตั้งแต่เกาะเหนือ (North Island) ยันเกาะใต้ (South Island) ตั้งแต่ Auckland University, Waikato University, Massey University, Victoria University ไปจนถึง Canterbury University, Lincoln University และอีกหลายแห่งในเกาะใต้

ผมส่งใบสมัครหว่านไปจากเมืองไทยไปที่มหาวิทยาลัยทั้ง 7 แห่ง

มีเงื่อนไขเดียวคือ ผมยังไม่ผ่าน TOEFL (Test of English as a Foreign Language) ซึ่งใช้ในระบบอเมริกัน หรือ IELTS (International English Language Testing System) ที่ใช้ในระบบอังกฤษ

พูดง่ายๆคือ ไม่มีอะไรเลย ... ขอไปตายเอาดาบหน้า

ผมใส่ลงไปในจดหมายแนะนำตัวว่า ยินดีที่จะเข้าเรียนภาษาในสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย ก่อนที่จะเข้าเรียนปริญญาโท

หลายแห่งตอบขัดข้อง มีไม่กี่แห่งที่ขอให้ทดลอง

Victoria University of Wellington (มหาวิทยาลัยวิคตอเรียแห่งนครเวลลิงตัน) เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยเหล่านั้น

ผมจึงตัดสินใจว่า ผมจะเรียนที่วิคตอเรียนี่แหละ



วิคตอเรียแห่งเวลลิงตัน


แล้วผมก็เหิรฟ้าข้ามน้ำ ข้ามเส้นศูนย์สูตร ข้ามทะเลทรายที่ยาวสุดลูกหูลูกตาของออสเตรเลีย มุ่งหน้าสู่.....

ดืนแดนแห่งแนวเมฆขาวอันยาวไกล (the land of the long white cloud) หรือ ออเทรัว (Aotearua) ในภาษาเมารี หรือ นิวซีแลนด์ ที่เรารู้จักกันว่า เป็นสวิสเซอร์แลนด์แห่งซีกโลกใต้

จากนั้นก็มุ่งหน้าสู่นครเวลลิงตัน เมืองหลวงของนิวซีแลนด์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย



ภาพนครเวลลิงตันจากมหาวิทยาลัยวิคตอเรียของผม


เมื่อเดินทางไปถึง ผมก็ตรงดิ่งไปที่สถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย (English Language Institute - ELI)

คุยกับเจ้าหน้าที่อยู่นาน เขาเห็นภาษาผมแย่เอาการ จึงแนะนำว่า "อย่างคุณเนี่ย ต้องเรียนภาษาก่อนหนึ่งปี"

หนึ่งปี ... ผมจะเอาเวลามากมายแบบนั้นมาจากไหน

ผมเลยต่อรองว่า ขอครึ่งปีได้ไหม

"จะใช้เวลาเท่าไร ขึ้นอยู่กับว่า คุณสอบสถาบันภาษาผ่านตามเกณฑ์หรือไม่เท่านั้นเอง" เขาตอบ

เกณฑ์ก็คือ ฟัง (Listening) พูด (Speaking) อ่าน (Reading) เขียน (Writing) คะแนนเต็ม 6 ทุกอย่างต้องได้ 4 จึงถือว่าผ่าน

บางคนได้คะแนน Reading - 5 แต่ได้ Listening - 3

ก็ถือว่า ไม่ผ่าน จะเอาคะแนนของแต่ละประเภทมาถัวเฉลี่ยกันไม่ได้

เลือกโท ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ..ชื่อ เท่ห์ ... แต่เรียนยากเหลือกำลัง


พอได้เงื่อนไขจากสถาบันภาษา ผมก็เดินตรงดิ่งไปที่ภาควิชารัฐศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยวิคตอเรีย บอกตรงๆ ว่าตอนนั้น ชักไม่แน่ใจ เพราะตรวจดูแล้ว เห็น Master of Management มีวิชาบัญชีอยู่ด้วย

ตัวผมเองไม่ถนัดคำนวณเอาเสียเลย จึงตัดสินใจเปลี่ยนไปเป็นคณะยอดฮิตของ นร.ไทย คือ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (Master of International Relations)

คนที่ผมได้พบที่คือ Professor Ralph Pettman ผู้ซึ่งเปลี่ยนชีวิตและแนวคิดของผมตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา


ศาสตราจารย์ ราล์ฟ เพ็ทแมน (Professor Ralph Pettman)


Pettman บอกผมว่า ภาษาอังกฤษของผม กระท่อนกระแท่นดีมาก ฟังแทบไม่รู้เรื่องเลย เอาเป็นถ้าผ่านการสอบของสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัยมาได้ ก็ต้องเรียนปีเชื่อมก่อน หนึ่งปี (Bridging year) เพื่อเป็นการปูพื้นด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งเปลี่ยนวิธีการเรียนจากแต่เดิมที่เรียนอยู่เมืองไทย เน้นการจำ มาสู่การวิเคราะห์แบบตะวันตก

ที่สำคัญคือ มีเงื่อนไขอยู่ว่า Bridging year ซึ่งต้องลงเรียน 7 วิชา 2 ภาคเรียน ทุกวิชาต้องได้เกรด บี (B) เท่านั้น ต่ำกว่านี้ เก็บกระเป๋ากลับเมืองไทยไปได้เลย

โอ้โฮ.... วิบากกรรมมันมากมายขนาดนี้เลยหรือนี่

มาถึงตอนนี้ หมดทางเลือกแล้วครับ มีอยู่ทางเดียว.....

ลุยกันให้แหลกไปข้างหนึ่งเลยก็แล้วกัน.....


รถรางจากตัวเมืองเวลลิงตันแล่นขึ้นมาที่มหาวิทยาลัย ถือเป็นสัญญลักษณ์อย่างหนึ่งของเวลลิงตัน


เมื่อตกลงปลงใจอย่างเด็ดขาดแล้ว ก็ลงสมัครเรียนภาษาอังกฤษคอร์สแรก ระยะเวลา 3 เดือน ท่ามกลางความเห็นของทุกคนที่พร้อมใจกันลงมติว่า ไม่รอดแน่

เรียนสถาบันภาษาของมหาวิทยาลัย


เข้าเรียนวันแรก อาจารย์ที่ปรึกษาชื่อ แองเจล่า โจว (Angela Jo) เป็นผู้หญิงจีนที่เกิดในนิวซีแลนด์ มีสามีเป็นกีวี (ที่นิวซีแลนด์ คนเรียกตัวเองว่า คนกีวี)

เธอพูดอังกฤษได้ ช้า และชัดเจนมาก นักเรียนมีประมาณ 15 คน ค่อนข้างจะเป็นนักเรียนโข่งกันทั้งนั้น มีทั้งจากไต้หวัน อินโดนีเซีย เอธิโอเปีย จีน เกาหลี และไทย

เพื่อนจากอินโดนีเซีย เป็นนักเรียนทุน มาเรียนก่อนเข้าปริญญาโทเหมือนกัน บอกว่า ผมเหมือนนกกระจอกเทศ เวลาเขาคุยอะไรกัน จะโผล่หัวขึ้นมา มองซ้าย มองขวา ไม่พูดไม่จาอะไร น่าเอาไปไว้สวนสัตว์

ผมเรียนไปเรื่อยๆ พยายามดูโฆษณาในทีวี ที่มันฉายย้อนไปย้อนมา เริ่มจำศัพท์ใหม่ๆ ได้ขึ้นทีละนิด ทีละหน่อย

มาถึงตอนนี้ พบว่า ปัญหาของเด็กไทยคือการฟัง และการพูด

เราคุ้นกับภาษาอังกฤษสำเนียงไทย แบบเดียวกับประเภท คนจีนพูดไทยไม่ชัด

ผมไปสั่งแมคโดนัลด์ ขอเกลือ ออกเสียง ซอล (salt) มันให้ซอสมะเขือเทศมาเฉยเลย

ลองกี่ครั้งก็ได้แต่ซอส ครั้งนึงใจเริ่มกล้า บอกคนขายว่าไม่ใช่ซอส ซอล (salt) ต่างหาก

คนขายร้องอ๋อ พร้อมกับพูดว่า โซ้ล-ทึ

มันไม่ใช่ ซ้อล ซะหน่อย เรียนมาจากเมืองไทยได้แค่เนี้ยเอง

ตัว ที ที่อยู่ท้าย salt คนไทยไม่เคยออกเสียง ทึ เลย ฝรั่งเลยไม่เข้าใจ

มีอยู่ครั้ง ผมเจอฝรั่งนิวซีแลนด์ มีภรรยาคนไทย พอพูดไทยได้บ้าง นั่งคุยกัน เรื่องคนโรคจิต แกพูดเป็นภาษาไทยว่า "ซัมซูลึง"

ผมก็งง ... อะไรของเขา ... ซัมซูลึง .....

ภรรยาคนไทยเห็นผมงง ก็เลยพูดว่า "อ๋อ.... เขาพูดว่า สามสลึง คือไม่เต็มบาทน่ะ"

ผมเลยถึงบางอ้อว่า เวลาที่เราออกภาษาอังกฤษ แล้วออกเสียงไม่ชัด ก็คงเหมือน ....ซัมซูลึง.... สามสลึง...... นั่นเอง


นครเวลลิงตันยามค่ำคืน สวยงามจับตา


ผมเรียนสถาบันภาษา โดยอาศัยลูกล่อลูกชนไปตามเรื่องตามราว จนถึงวันสอบปลายภาค ผมคิดว่าต้องผ่านในคอร์สแรกนี้ให้ได้ จึงจะไม่ต้องเสียเวลาอีกหนึ่งปี

สอบสถาบันภาษา ....ผ่าน.....


ถึงการสอบวิชา พูด (Speaking) ผมนั่งท่อง นอนท่อง เรื่องราวที่จะเป็นหัวข้อที่คาดว่าผมจะต้องพูดเป็นอาทิตย์ ทุกหัวข้อ ผมท่องอย่างกับท่องอาขยาน

ไม่ว่าจะทานข้าว อาบน้ำ นั่งรถไฟ ท่องเป็นนกแก้วนกขุนทอง เอ แอน เดอะ ไม่มีตกไม่มีหล่น ตัว ที ที่อยู่ท้ายคำ ออกเสียง ทึ จนน้ำลายกระเด็นเซ้นซ่าน

วันสอบการพูด เป็นการสอบเดี่ยว อาจารย์จะเรียกเข้าไปทีละคน จะเจออาจารย์จากส่วนกลาง ไม่ได้มาจากสถาบันภาษา โดยอาจารย์จะซักถาม แล้วให้เราอธิบาย

พอถึงคิวผม อาจารย์เรียกเข้าไป ให้เล่าประวัติศาสตร์ไทย ผมสังเกตุว่าคนนิวซีแลนด์ มักจะเป็นพวกนักสิทธิมนุษยชน ประเภท ความเสมอภาค เท่าเทียมกันของมนุษย์ต้องมาก่อน ผมเลยเทียบชนเผ่าพื้นเมืองเมารีกับคนขาว ว่ายังไม่เท่าเทียมกันเลย

อาจารย์ชาวนิวซีแลนด์ชักฉุนผม แกอธิบายให้ผมฟังเสียยืดยาว ถึงความเท่าเทียมกันของคนที่นิวซีแลนด์

สรุปว่า เวลาสอบพูด 15 นาที ผมพูดแค่ 5 นาที ที่เหลืออาจารย์อธิบายให้ผมฟังเสียเป็นคุ้งเป็นแคว

เข้าทางผมพอดี (วิธีนี้ไม่แนะนำให้ใช้ในบางประเทศ เพราะอาจเจอข้อหา หมั่นไส้ อาจตกได้เอาง่ายๆ)

วิชาเขียน (writing) คนไทยขอบเขียนคำขยาย ขยายกันจนคนตรวจงง ผมเล่นเขียนแบบเบบี้ ประโยคพื้นๆ ไม่ซับซ้อน อ่านง่ายๆ เรื่องวิวิศมาหราเอาไว้ทีหลัง แต่จะเน้นคำศัพท์ ที่ไม่ธรรมดา เมื่อประโยคธรรมดา แต่คำศัพท์ไม่ธรรมดา มันก็ทำให้ประโยคไม่ธรรมดาไปด้วย

อย่างเช่น ประโยคง่ายๆ this is a boy ถ้าใช้ศัพท์หวือหวาก็จะเป็น this is sovereignty. ดูดีมีชาติตระกูลขึ้นเยอะเลยครับ

ฟัง (Listening) ดูจะมีปัญหามากที่สุดสำหรับผม เขาจะเปิดเทปให้เราฟัง แล้วตอบคำถาม

รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ตอบให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้

การอ่าน (Reading) เป็นวิชาที่เด็กไทยทำได้ดีแทบทุกคน เพราะเรียนอ่านภาษาอังกฤษกันมากตอนอยู่เมืองไทย ท่องศัพท์กันได้แบบเป็นบ้าเป็นหลัง

การอ่านจึงไม่เป็นปัญหา

สอบเสร็จ ผลออกมา ผมได้ 4 ทุกวิชา

ผ่านแบบเส้นยาแดงผ่าแปด ผ่านด้วยยุทธวิธีแบบสามก๊ก ไม่ได้ผ่านด้วยความสามารถแบบเต็มร้อย

แต่เป็นความสามารถครึ่งนึง เล่ห์เหลี่ยมครึ่งนึง

ตอนผ่านดีใจมาก ทุกคนในห้องมองผมแบบไม่น่าเชื่อว่า ไอ้นกกระจอกเทศจากเมืองไทยนี่ มันผ่านได้ยังไง

เจอของจริงกับ Professor Pettman


วันที่ผลสอบสถาบันภาษาออกมา ผมดีใจมาก รีบไปหา Ralph Pettman ที่ภาควิชารัฐศาสตร์ Pettman มองดูผมเหมือนตัวประหลาด เพราะไม่เชื่อว่า เจ้าหมอนี่จะผ่านมาได้

พอ Pettman ตั้งสติได้ ก็วางแผนการเรียนปีเชื่อม (bridging year)ให้ผม โดยเทอมแรก ให้ผมเรียนรวมกับ นักศึกษานิวซีแลนด์ที่เรียนปริญญาตรี ในชั้นปี 3

วิชาที่ลงเรียนก็เช่น

International Relations & New Zealand - นิวซีแลนด์กับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ

Comparative Politics : New Zealand - การเมืองเปรียบเทียบ :นิวซีแลนด์

International Political Economy - เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ

อย่างที่บอกแต่แรกว่า ทุกวิชาที่ลง มีเงื่อนไขคือ ต้องได้เกรด บี เท่านั้น ถึงจะผ่านไปเรียนปริญญาโทในปีต่อไปได้

เทอมแรก หนักหนาสาหัสมาก


มหาวิทยาลัยวิคตอเรีย ซ้ายมือคือ Kelburn park


โดยเฉพาะวิชาการเมืองนิวซีแลนด์ ลองคิดดูว่า ฝรั่งสักคนมาเมืองไทย แล้วเราถามเขาว่า รู้จัก ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมชหรือเปล่า ฝรั่งมันคงงงเป็นไก่ตาแตก

สภาพฝรั่งคนนั้น คงไม่ต่างไปจากผม ที่ไม่มีความรู้เกี่ยวกับการเมืองนิวซีแลนด์มาเลยแม้แต่น้อย

เชื่อหรือไม่ว่า วันหนึ่ง ผมนั่งฟังอาจารย์สอนสองชั่วโมง โดยที่ไม่รู้เรื่องอะไรเลย จดโน๊ตได้สองบรรทัด

บรรทัดแรก เป็นชื่อวิชา

บรรทัดที่สอง เป็นชื่ออาจารย์

ได้เท่านี้จริงๆ

รู้สึกตัวเองโง่มาก นึกสภาพเหมือนวัวตัวใหญ่ๆ ตัวนึง นั่งอยู่แถวหน้าสุดของห้อง ที่ต้องนั่งหน้าสุด เพราะต้องการมองปากของอาจารย์ ประกอบการฟังเลคเชอร์

แต่อาจารย์ดันไว้เคราคลุมจนมองปากไม่เห็น แถมไม่นั่งกับที่ เดินเพ่นพ่านอธิบายไปรอบห้อง ...ซวยจริงๆ ....

วันนั้น วัวตัวใหญ่มีนมาก ออกมาจากห้องเลคเชอร์ เดินมีน โซเซ เอาเขาขวิดโน่น ขวิดนี่ไปทั่ว ทั้งตู้หยอดเหรียญขายโค๊ก บอร์ดหน้าห้อง แล้วไปหยุดที่ตู้หยอดเหรียญขายชอคโกแลต

เคยได้ยินว่า เวลามีนมากๆ ให้หาอะไรหวานๆ ทาน เลยไปหยอดเหรียญ เอาชอคโกแลต มาร์ส (Mars) มาหนึ่งแท่ง แล้ววัวตัวนั้นก็เคี้ยวเอื้องชอคโกแลต แก้มึนจนหมดแท่ง

เกิดมาไม่เคยรู้สึกว่าตัวเองโง่แบบนี้มาก่อนเลย น่าจะเป็นเพราะ ดันสอบผ่านสถาบันภาษามาแบบไม่แน่น ผลก็เลยเป็นแบบนี้

แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร มาถึงขั้นนี้แล้ว ก็ต้องถูไถไปต่อละครับ



มีอีกวิชาหนึ่ง ที่ผมจำไม่มีวันลืมเลยคือ วิชา เศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศ ที่ Pettman เป็นคนสอนเอง

ยากสุดหินกับ Pettman


แกมีวิธีการสอนคือ วันจันทร์เข้าห้องเรียน แจกรายชื่อหนังสืออ้างอิง ในห้องสมุด 3 เล่ม พร้อมคำถาม 1 คำถาม ให้ไปเขียนคำตอบมา ความยาวหนึ่งหน้าเท่านั้น ห้ามเกินกว่านี้ เพราะหน้าที่เกิน แกจะไม่อ่าน แถมขีดค่าทั้งหน้าที่เกินและไม่ได้คะแนนในหน้านั้น เสร็จแล้วเอามาส่งในวันพฤหัส

คำถามจะหาไม่เจอในหนังสืออ้างอิงที่ให้มา เช่น มีหนังสืออ้างอิง 3 เล่ม คือ

1. หนังสือประวัติและแนวคิดของคาร์ล มาร์ก

2. หนังสือเรื่อง Das Kapital ของ คาร์ล มาร์ก และ

3. หนังสือเรื่องเศรษฐศาสตร์โลกปี 2000

คำถามคือ ถ้าคาร์ล มาร์กมีชีวิตอยู่ถึงยุคปี 2000 คาร์ล มาร์ก จะคิดอย่างไรกับเศรษฐศาสตร์การเมืองระหว่างประเทศยุคนี้

ตอบได้แค่หนึ่งหน้าเท่านั้น ผมเคยเขียนไปสองหน้า Pettman ขีดค่าหน้าที่สอง แล้วเขียนว่า One page please - แปลว่า "โปรดเขียนหน้าเดียว" คือ เขาไม่อ่านหน้าสองเลย คะแนนก็ให้คะแนนจากหน้าแรกหน้าเดียว ทำไปสองหน้า หน้าสองดีมาก สรุปเฉียบ ขมวดครบถ้วน ก็เปล่าประโยชน์ ไม่ได้คะแนน

ได้โจทย์วันจันทร์ วันพฤหัสให้ส่ง พร้อมทั้งจับกลุ่มสนทนาในคำถามดังกล่าว กลุ่มไหนได้ผมไปร่วมกลุ่มสนทนา

..... ถีอว่า ซวยที่สุดในชีวิตการเรียนมหาวิทยาลัย

รายงานประจำสัปดาห์ รายงานชี้เป็น ชี้ตาย


Pettman เรียกกระดาษตอบรายงานคำถามนี้ว่า Weekly briefing paper ทุกแผ่นมีคะแนน

คะแนนสอบทั้งเทอมเต็ม 100 คะแนน เป็นคะแนนของคำถามรายอาทิตย์หรือ weekly briefing paper นี้ถึง 60 คะแนน คะแนนสอบมีแค่ 30 คะแนน และรายงานประจำภาคอีก 10 คะแนน

เอกสารรายอาทิตย์จึงสำคัญมาก ทุกคนทำกันหน้าดำคร่ำเครียด ทำกันตลอดทั้งเทอม จะมาขยันปลายภาค เสร็จแน่ๆ เพราะคะแนนช่วงต้นไม่มี ส่วนนักเรียนไทยภาษาอังกฤษถูลู่ ถูกังอย่างผม นอกจากหน้าดำคร่ำเครียดแล้ว ยังปวดหัวจิ๊ดตลอดเวลา ที่ปวดหัวก็เพราะ คำศัพท์ มันวิ่งเพ่นพ่านไปทั้งหัวสมอง ชนโน่น ชนนี่ วุ่นวายไปหมด

หลักปรัชญาที่เป็นภาษาไทย ก็อ่านแทบไม่รู้เรื่องอยู่แล้ว ไปเจอหลักปรัชญาที่เป็นภาษาอังกฤษเข้าให้ .....ใบ้กินเลยผม..... ไปไม่เป็นเอาเลย

หนังสือขนาดพ๊อคเก็ตบุ๊ค หนึ่งหน้า ผมใช้เวลาอ่านเกือบชั่วโมง หนึ่งชั่วโมงจริงๆ ไม่เว่อร์นะครับ ผมอ่านทีละคำ ทีละประโยค แปลทุกคำที่ขวางหน้า ใช้ talking dic นี่แหละ

บางทีแปลได้ทั้งประโยค แต่พอมารวมคำทั้งประโยค ไม่รู้ว่ามันหมายความว่าอย่างไร นั่งงงเพราะไปต่อไม่ได้ พยายามมั่ว ก็มั่วไม่ถูก

ผมส่ง briefing paper ฉบับแรก ได้คะแนนกลับมา 50 คะแนน ..ตกใจมาก.. เพราะไม่เคยได้คะแนนต่ำเรี่ยดินแบบนี้มาก่อน

กลับมาที่พัก ตั้งอกตั้งใจทำฉบับที่สอง กะว่าฉบับนี้จะทำให้เนี้ยบเลย ปรากฏว่า ฉบับที่สองกลับมา ไม่ได้คะแนนเลย แต่มีลายมือของ Pettman เขียนมาว่า คุณอธิบายได้ดีมาก แต่ไม่ได้ตอบคำถามที่ถาม.....

มึนหนักเลย เดินโซซัดโซเซจากมหาวิทยาลัย ไปขึ้นรถไฟกลับที่พักที่ Lower Hutt ระหว่างทางมองดูวิวของเวลลิงตันที่มีทิวทัศน์สวยงาม บ้านเรือนตั้งอยู่เชิงเขา เหลื่อมกันไปมา นกนางนวลบินตีคู่ไปกับรถไฟ ภาพที่สวยงามเหล่านี้ ไม่ได้ทำให้ผมเพลิดเพลินไปกับทิวทัศน์เหล่านั้นเลย

ใครที่คิดว่า ไปเรียนเมืองนอก แล้วได้ขึ่จักรยานผ่านสายหมอกยามเช้า มีเสื้อไหมพรมคล้องคอ ใบไม้หล่นเป็นสีน้ำตาลตลอดทาง พอถึงห้องเรียน ก็มีสาวๆ ผมทองมาทัก ส่งการบ้านก็แสนง่าย ขีดๆเขียน เดี๋ยวเดียวก็เสร็จ ..... ฝันไปหรือเปล่าครับ .....



ในใจผมตอนนั้น นึกแต่เพียง ...ตายแน่เรา... สงสัยจะเป็นแค่ คนที่เคยผ่านมาเรียนที่วิคตอเรียแน่ๆเลย แค่ผ่านนะ แต่ไม่จบ .... จอดตั้งแต่ปีแรก....

นั่งทอดถอนหายใจอยู่พักนึง หยิบตำรามาอ่าน แต่เพราะไม่รู้ขอบเขต ไม่รู้ภาพรวมของวิชาเรียน มันก็เลยมั่วไม่ถูก ไปทางไหนก็ตันไปหมด

รุ่งขึ้นผมตัดสินใจ ไปหา Pettman ที่ห้องพักอาจารย์หลังเลิกเรียน พอเจอ Pettman เขาก็เอานิ้วชี้มาเคาะศรีษะผมเบาๆ แล้วก็พูดว่า

"คุณเป็นคนมีความพยายามมากนะ แต่ความพยายามอย่างเดียวช่วยอะไรคุณไม่ได้"

เชื่อมั้ยครับว่า ประโยคนี้ เป็นประโยคที่ดังก้องอยู่ในโสตประสาทของผมมาจนถึงทุกวันนี้ มันเป็นประโยคที่ผมได้ยินครั้งแรก แทบจะเก็บของกลับเมืองไทยเลย แต่นั่งคิดแล้ว คิดอีก ผมกลับมองว่า ผมต้องทำให้ได้ ถ้าความพยายามอย่างเดียวยังไม่พอ มันต้องมีอย่างอื่นอีก

ตั้งแต่วันนั้นมา ผมจะแวะเวียนไปหา Pettman ให้บ่อยที่สุดที่ผมทำได้ เขาจะแนะนำผมสั้นๆ ว่า เรื่องนี้มันเป็นแบบนี้นะ จุดศูนย์กลางของเรื่องคืออะไร

จากคนที่ปิดตา เดินหลงอยู่กลางทุ่งกว้าง ก็กลายมาเป็นคนปิดตาเดินหลงอยู่ในห้อง แล้วห้องก็เริ่มแคบลง แคบลง จนกระทั่งกลายเป็นปิดตานั่งอยู่ที่โต๊ะ เริ่มจับ เริ่มคลำอะไรต่อมิอะไรได้


ภาพธงชาตินิวซีแลนด์


จนในที่สุด ผ้าปิดตาของผม มันก็หลุดออกไปโดยที่ผมไม่รู้ตัว ... เคยมีคนถามผมว่า เริ่มเรียนรู้เรื่องเมื่อไหร่ ....เชื่อมั้ย.... ผมตอบไม่ได้ และผมก็เชื่อว่า นักเรียนไทยที่ไปเรียนเมืองนอกก็ตอบไม่ได้เหมือนกัน มันไม่ใช่ ต้องสามเดือน พอเดือนที่สี่ คุณจะรู้เรื่องทันที มันไม่ใช่ แต่มันตอบไม่ได้ว่า มันรู้เรื่องเมื่อไหร่

ก่อนถึงวันสอบ ผมท่องทุกอย่าง นั่งเขียนทฤษฎีการเมืองแต่ละทฤษฏี บนกระดาษเปล่า จากหนึ่งแผ่น เป็นหนึ่งเล่ม สองเล่ม สามเล่ม นั่งเขียน นั่งท่องไปเรื่อยๆ

กะว่า ไม่ว่าคำถามจะถามอะไรมา ผมจะตอบอย่างที่ผมท่องไปนี่แหละ แล้วจะบวกกับความเข้าใจที่อธิบายด้วยภาษาอังกฤษง่ายๆ ของผม

<<br>

พืพิธภัณฑ์ เท ปาป้า (Te Papa) กลางเมืองเวลลิงตัน


ผมเข้าสอบทีละวิชา แต่ละวิชา ตั้งหน้าตั้งเขียนตามที่ท่องมา ถามอะไรไม่รู้ ตอบพื้นฐานที่ท่องมาก่อน ผมเขียนคำตอบไม่หยุด เขียนแบบไม่คิด เพราะท่องมาเป็นเดือน

พอสอบเสร็จ เพื่อนชาวนิวซีแลนด์ที่นั่งสอบข้างๆผม ถามว่า คุณไม่หยุดคิดเลยเหรอ เห็นก้มหน้าก้มตาเขียนเอา เขียนเอา ผมอยากจะตอบว่า ท่องมานาน แต่นึกภาษาไม่ออก เลยได้แต่ยิ้มๆ

เกรดออกมา ผมได้ บี หนึ่งตัว บี บวกอีกสองตัว ..... ผมกระโดดตัวลอย... ทำได้แล้วโว้ย ....

เทอมที่สอง กับความมั่นใจ


ผ่านเทอมแรกมาได้ เทอมที่สองไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ตอนนั้นผมคิดว่า อย่างน้อยผมก็คงผ่านปี bridging year นี้ได้ ถ้าผ่าน ผมจะได้ Diploma of Arts (international relations) ติดมือกลับเมืองไทยเป็นอย่างน้อย

ถ้าทำได้เกรด บี ผมจะได้เข้าเรียนโทต่อในปีหน้า ผมมาไกลกว่าที่ผมคิดไว้มากแล้ว

มาถึงตอนนี้ ... ผมมีแต่กำไร ไม่มีขาดทุน

เทอมสอง ผมลงวิชาอีก 3 วิชา คือ

International system change

International Relations theory

และ English for Acedemic Purposes

เชื่อหรือไม่ว่า ในเทอมสอง ผมต้องออกไปพูดหน้าห้องเกี่ยวกับการเมืองเปรียบเทียบ แต่เพราะรู้ตัวว่าภาษาอังกฤษยังไม่แข็ง พูดไป ฝรั่งกีวี ก็ได้แต่นั่งตาปริบๆ ฟังไม่รู้เรื่อง

ผมก็เลยทำบทที่ผมจะพูด จำนวนสามหน้ากระดาษ A4 แล้วสำเนาแจกเพื่อนๆ ทุกคนในห้อง เผื่อเขาฟังไม่รู้เรื่อง ก็จะได้อ่านจากเอกสารที่แจก พอถึงเวลาพูด ผมเป็นคนสุดท้าย เวลาหมด อาจารย์ให้ผมพูดสั้นๆ เพราะมีเอกสารแจกอยู่แล้ว ผมออกไปสรุปสั้นๆ .... หมดชั่วโมง....

ผลออกมา ผมได้ เอ (A) ในการพูดหน้าห้อง ...... แถมได้รับคำชมจากอาจารย์ว่า มีเอกสารประกอบการพูดที่ดีมาก

เหลือเชื่อจริงๆ ... โชคบวกกับความบังเอิญ และบวกกับการเตรียมตัว และความตั้งใจ



มาถึงตอนนี้ ผมเชื่อว่า ผมทำได้ทุกอย่าง ผมกล้าที่จะพูด กล้าที่จะถาม กล้าที่จะเขียนรายงาน กล้าที่จะแสดงความคิดเห็น เพราะที่นิวซีแลนด์ คุณสามารถแสดงความเห็นได้ทุกความเห็น แม้ความเห็นหรือคำถามนั้น จะเป็นความเห็นหรือคำถามโง่ๆ (stupid questions) ก็ตาม

นี่คือสิ่งที่ผมประทับใจมาก และเป็นหนึ่งแนวความคิดที่ผมได้รับจากการศึกษาที่นี่ เป็นแนวคิดที่ผมนำติดตัวกลับมาบ้านเรา ผมจะไม่มองใครว่าแสดงความเห็น หรือถามคำถามโง่ๆ อีกต่อไป

เพราะคุณไม่มีสิทธิตัดสินว่า ความเห็นของคุณฉลาด ความเห็นของคนอื่น โง่ ไร้สาระ เพราะไม่เช่นนั้น คนอื่น ก็อาจตัดสินความคิดเห็นเช่นเดียวกับที่คุณตัดสินคนอื่นก็ได้

พูดง่ายๆ ก็คือ คุณว่าเขาโง่ เขาก็ว่าคุณโง่ได้เหมือนกัน

นักเรียนไทยมักติดคำว่า หน้าแตก เสียฟอร์ม .....

หน้าแตก กับเสียฟอร์มนี่แหละ ทำให้เด็กไทยอายที่จะแสดงความเห็น ผลก็คือ ไม่กล้าที่จะแสดงออกในที่สุด



(ติดตามตอนต่อไป "ชีวิตนักเรียนนอก ม.วิคตอเรีย นิวซีแลนด์" ตอนที่ 2)

Create Date :12 ตุลาคม 2551 Last Update :19 กันยายน 2553 8:55:23 น. Counter : Pageviews. Comments :50