bloggang.com mainmenu search







การที่เด็กคนหนึ่งจมหายไปกับการ์ตูนเรื่องโปรด หรือกำลังจับตุ๊กตุ่นหุ่นเหล็กมาต่อสู้ปล่อยแสงปราบสัตว์ประหลาด อยู่นั้น ไม่ต้องการตรรกะ เหตุผล หรือนำทฤษฎีอะไรไปจับก็ได้กระมัง

เปิดซีนแรก ได้เห็นหุ่นเหล็กสูง 25 เมตรปะทะกับสัตว์ประหลาดท่ามกลางความกระจุยกระจายของเมืองใหญ่ มันเหมือนการเปิดกล่องของเล่นที่เราคิดถึงและโหยหา ยังไงยังงั้นเลย

โดยเฉพาะเด็กประถมที่โตขึ้นมาพร้อมกับซีรี่ส์ ไอ้มดแดง, จัมโบ้ เอ, ยอดมนุษย์อุลตร้าแมน, การ์ตูนหุ่นยนต์ มาชิงก้า Z , เท็ตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28 ฯลฯ

แม้ต่อมาชีวิตวัยรุ่นที่วุ่นวายด้วยสารพัดฮอร์โมน หรือโตเกินกว่าจะตามดูทีวีที่เรารู้ว่ามีคนใส่ชุดยางต่อสู้กันแล้วก็ตาม แต่ก็ยังเหลือพื้นที่ให้บรรดาฮีโร่จากญี่ปุ่นแวะเวียนเข้ามาทักท่าย ไม่ว่าจะเป็น คอบบร้า, กันดั้ม, แร็คน่า ร็อค

ด้วยพื้นฐานและความฝังใจในวัฒนธรรม “การ์ตูน-หุ่นเหล็ก-สัตว์ประหลาด” เช่นเดียวกันกับผู้กำกับภาพยนตร์ กีเยร์โท เดลโตโร เช่นนี้เอง ทำให้ผมและ แฟนบอย อีกเป็นจำนวนไม่น้อย “ฟิน” เหลือเกินเมื่อได้พบเจอกับ Pacific Rim

โดยไม่ได้พกพาความคาดหวังว่า นี่จะเป็นงานที่ลึกซึ้ง ซับซ้อน ย้อนแย้งในระดับสุดยอดเหมือนที่ กีเยร์โท เดล โตโร เคยฝากฝีมือไว้กับภาพยนตร์สุดแนวที่บดขยี้หัวใจกันมาแล้วจากงาน Pan’s Labyrinth หรืองานแอ็คชั่น-แฟนตาซี ที่ทั้งเท่และเกรียนอย่าง Hellboy

Pacific Rim ถูกวางโปรเจ็กต์ให้เป็นหนังฮิตฟอร์มยักษ์หวังโกยเงิน(บล็อคบัสเตอร์) มาตั้งแต่ต้น เพียงแต่เมื่อผู้รับผิดชอบโปรเจ็กต์ดันชื่อ กีเยร์โท เดล โตโร สิ่งที่ถูกใส่เข้าไปแบบ “จัดเต็ม” ตามงบประมาณที่กองไว้ข้างหน้าถึง 150 ล้านเหรียญสหรัฐไม่ใช่แค่ฉาก CG อลังการหรือการทำลายล้างถล่มเมืองแต่เพียงอย่างเดียว

กีเยร์โท เดล โตโร บรรจงใส่ความลุ่มหลงที่เขามีต่อ “การ์ตูน-หุ่นเหล็ก-สัตว์ประหลาด” อย่างละเอียด พิถีพิถัน ไม่ว่าจะเป็นรูปลักษณ์ กลไก การใช้ระบบจักรกลเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีล้ำสมัยแสนไฮเทค

กลายเป็น เจเกอร์ (Jaeger) หุ่นเหล็กร่างทะมึน แน่นหนัก(พร้อมอาวุธสารพัดทั้ง จรวดมิสไซน์, ปืนพลังแสง, ดาบ ฯลฯ) หากสะท้อนความแข็งแกร่ง โชกโชนด้วยริ้วรอยและเท็กเจอร์โลหะที่แสนเท่ ชวนให้นึกถึง หุ่นเหล็กในตำนานอย่าง เท็ตสึจิน หุ่นเหล็กหมายเลข 28, หุ่นเหล็กนักมวยจาก Real Steel, หุ่นยนต์ล้างโลกใน 20th Century Boy และ หุ่น “ยักษ์” ของ ประภาสน์ ชลศรานนท์

เป็นหุ่นเหล็กที่ไม่คล่องแคล่ว เคลื่อนไหววูบวาบได้อย่างใน Transformers ค่อนไปทางเชื่องช้า เทอะทะ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยบุคลิกภาพ (โดยเฉพาะฉากถือเรือแทนไม้หน้า 3 ไปไล่ฟาดสัตว์ประหลาดนั่น)

ขณะที่ ไคจู (Kaiju) สัตว์ประหลาดก็จัดหนักมาแบบไม่ต้องยั้ง เหมือนเป็นการผสมสูตรสารพัดสัตว์ประหลาดเท่าที่เราเคยเห็นมาเข้ามาไว้ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ก๊อดซิล่า, ปีศาจเขาควายใน The Lord of The Ring, เจ้าเวหาแห่ง Avatar ไปจนถึงตระกูล Alien ที่ทรงอิทธิพลอยู่ในศิลปะภาพยนตร์ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา

เรียกว่าไม่ให้เสียชื่อ กีเยร์โท เดล โตโร ผู้มอบความรักให้สัตว์ประหลาดหมดใจมาแต่เยาว์วัย ถึงขนาดมีสมุดภาพปีศาจที่เขาวาดเก็บไว้เองตั้งแต่เด็ก!


ตัดความมาจาก
คอลัมน์ “หนังช่างคิด” OLDBOY บางคูวัด
มติชนออนไลน์ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2556
ขอขอบคุณ


โสรวารสิริสวัสดิ์ค่ะ
Create Date :10 สิงหาคม 2556 Last Update :10 สิงหาคม 2556 14:32:18 น. Counter : 2229 Pageviews. Comments :0