bloggang.com mainmenu search












ผ่อนหมดก่อนกำหนด

เรียกคืนเงินประกันได้นะ รู้ยัง?

..............






ใครที่กำลังผ่อนบ้าน เร่งโปะหนี้บ้าน เพื่อปิดหนี้ให้เร็วที่สุด

นั่นเป็นความคิดที่ถูกต้องแล้วเพราะหนี้บ้านนั้น

ยิ่งนานดอกเบี้ยก็ยิ่งเพิ่มขึ้น ดังนั้นการผ่อนบ้านให้หมดโดยเร็ว

จึงสามารถลดดอกเบี้ยลงได้อย่างเห็นได้ชัดเจน

ซึ่งเป็นที่ทราบกันดี ดังตัวอย่างที่เราเคยนำมา

เปรียบเทียบกันให้ชมไปแล้วระหว่างการผ่อนสั้นหมดเร็ว

และผ่อนยาวสบายๆ แต่สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยังไม่ทราบก็คือ

ถ้าเราผ่อนหมดก่อนกำหนด ยังสามารถเวนคืนประกันชีวิต

คุ้มครองสินเชื่อ MRTA ที่ทำไว้ได้อีกด้วยนะ

  ซึ่งมีขั้นตอนและรายละเอียดอย่างไร

โปรดอ่านบทความครั้งนี้จาก DDproperty ครับ












ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA คืออะไร

ประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ หรือ MRTA นั้น

คือชื่อเรียกอย่างเป็นทางการที่คุณอาจไม่คุ้นเคย

เท่ากับ ประกันหนี้บ้าน หรือประกันบ้าน 

 ประกันฯ ประเภทนี้มีลักษณะบางส่วนที่คล้ายคลึงกับประกันชีวิต

 แต่มีจุดประสงค์ที่แตกต่างออกไปจากประกันชีวิต

ตรงที่มีจุดมุ่งหมายในการประกันความเสี่ยง

ในการชำระหนี้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย

  ทำให้จุดเด่นของประกันชนิดนี้จะอยู่ที่การให้ความคุ้มครอง

ผู้กู้สินเชื่อบ้าน โดยประกันจะผ่อนชำระหนี้บ้านให้แทนผู้กู้

ในกรณีที่ผู้กู้เสียชีวิตหรือทุพพลภาพสิ้นเชิงเป็นการถาวร

ตามระยะเวลาที่ระบุเอาไว้ในกรมธรรม์ประกันชีวิตฯ

 และตามทุนประกันที่ระบุเอาไว้ในประกันชีวิตฯ

  การทำประกันฯ เอาไว้จะเกิดประโยชน์ต่อธนาคารในฐานะเจ้าหนี้

 เพราะจะเกิดความเชื่อมั่นว่าไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับผู้กู้ก็ตาม

ธนาคารจะได้รับการชำระหนี้จากกรมธรรม์

ที่ทำไว้กับบริษัทประกันชีวิต 

 ฝ่ายผู้กู้เองก็จะได้รับประโยชน์จากการประกันความเสี่ยง

ที่จะเกิดขึ้นกับตัวเอง โดยไม่ว่าผู้กู้จะเป็นอะไรไป

ก็จะมีกรมธรรม์โดยบริษัทประกันจะเป็นผู้ชำระหนี้บ้านให้

ทำให้บ้านที่อยู่ระหว่างการผ่อนชำระนั้น

ไม่ตกไปเป็นภาระของครอบครัว

และไม่โดนธนาคารยึดไปเนื่องจาก

ไม่สามารถชำระหนี้สินเชื่อบ้านได้ 

 ทำให้หลายคนที่เล็งเห็นประโยชน์นี้เลือกที่จะทำประกันชนิดนี้เอาไว้

  แม้แต่ธนาคารซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์

ก็มักจะรวมการประกันเอาไว้ด้วยเป็นรูปแบบหนึ่งของสินเชื่อ

โดยจะคิดอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่ากรณีที่ไม่ทำประกันชีวิต

ที่เป็นเช่นนั้นเนื่องจากธนาคารประเมินความเสี่ยงของผู้กู้

ที่ทำประกันเอาไว้ต่ำกว่าผู้กู้ที่ไม่ทำประกัน

ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA เอาไว้หรือไม่

หากคุณผ่อนบ้านมานาน จนไม่แน่ใจหรือลืม

ว่าได้ทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเอาไว้หรือไม่

  ประกันชนิดนี้มักจะทำควบคู่ไปกับการขอสินเชื่อบ้าน 

 ซึ่งธนาคารไม่ได้บังคับให้ผู้กู้ทุกรายต้องทำสินเชื่อ

แต่มักจะมีข้อเสนอให้ดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านที่ต่ำกว่า

ในกรณีที่ผู้กู้เลือกทำประกันชีวิตคุ้มครองเงินฝากด้วย 

 โดยเบี้ยประกันนี้จะจ่ายเพียงครั้งเดียวในตอนที่เริ่มต้นทำประกัน

โดยที่เบี้ยประกันจะไปรวมอยู่ในยอดหนี้หรือวงเงินกู้ของเรา 

 ถ้าหากคุณมีการทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อเอาไว้

ก็จะมีเอกสารกรมธรรม์ที่แสดงรายละเอียดของประกันฯ

 วงเงินประกัน เงื่อนไขการชดเชย รายชื่อผู้เอาประกัน

ซึ่งเป็นรายละเอียดเดียวกับประกันเหมือนประกันชีวิต

หรือประกันภัยทั่วไป หรือถ้าหากหากรมธรรม์ไม่พบ

ก็สามารถตรวจสอบกับธนาคารหรือบริษัทประกันได้โดยตรง

ซึ่งบริษัทประกันที่จะเลือกใช้นั้นจะเป็นบริษัทที่อยู่ในเครือ

ของธนาคารที่เราใช้บริการสินเชื่อนั่นเอง
















ผ่อนหมดก่อน ขอเวนคืนประกันชีวิต

คุ้มครอบสินเชื่อ MRTA ได้หรือไม่

ถ้าหากผู้กู้เลือกทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA เอาไว้

ให้คุ้มครองวงเงินจำนวนหนึ่ง และเลือกความคุ้มครอง

ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ต่อมาเมื่อผ่อนชำระสินเชื่อบ้าน

ไปช่วงระยะเวลาหนึ่งแล้ว 

 ผู้กู้สามารถผ่อนชำระได้มากกว่าจำนวนเงินขั้นต่ำ

ที่จะต้องผ่อนชำระต่องวด ทำให้ผู้กู้สามารถผ่อนชำระหนี้

ได้หมดสิ้นก่อนกำหนดที่ตั้งไว้และที่สำคัญ

ก็การผ่อนชำระนั้นเสร็จสิ้นลงก่อน

ที่ช่วงเวลาคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันชีวิต

คุ้มครองสินเชื่อ MRTA ที่ผู้กู้ทำเอาไว้จะหมดลง

ในกรณีนี้ผู้กู้สามารถเวนคืนเบี้ยประกัน

ในช่วงเวลาที่เหลืออยู่คืนได้

  เนื่องจากไม่มียอดหนี้คงค้างแล้ว จึงไม่มีความจำเป็น

ที่จะต้องคงความคุ้มครองของประกันเอาไว้ต่อไป

ยกตัวอย่าง

ผู้กู้เพศชาย อายุ 30 ปี วงเงินกู้ 3 ล้านบาท

ขอสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นเวลา 30 ปี 

 ผู้กู้ตัดสินใจทำประกัน โดยมีวงเงินประกัน 100%

ของวงเงินกู้หรือเท่ากับ 3 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 20 ปี

ซึ่งคำนวณเบี้ยประกันออกมาได้เท่ากับ 155,550 บาท 

 ซึ่ง 155,550 บาทนี้จะจ่ายเพียงครั้งเดียวตอนเริ่มต้นประกัน

หรือจะรวมเข้ากับยอดหนี้ของสินเชื่อบ้านไปเลย

อีก 10 ปีต่อมาพบว่าผู้กู้สามารถผ่อนบ้านหมดลง

  ในขณะที่กรมธรรม์ผู้กู้ซื้อความคุ้มครองไว้ 20 ปี

ยังคงเหลือระยะเวลาที่คุ้มครองอยู่อีก 10 ปี

  ในกรณีนี้ผู้กู้สามารถเวนคืนประกันเพื่อเรียกเบี้ยประกัน

ในช่วงเวลา 10 ปีที่เหลือคืนได้

จากตัวอย่างจะพบว่าเบี้ยประกันเป็นจำนวนเงิน

ที่ค่อนข้างเยอะพอสมควร ซึ่งเบี้ยประกันจะมากน้อย

ขึ้นอยู่กับทุนประกันมากหรือน้อย

  และระยะเวลาคุ้มครองประกันสั้นหรือยาว

ยิ่งทุนประกันสูงและระยะเวลานาน

ก็จะคำนวณออกมาเป็นเบี้ยประกันที่สูงตามไปด้วย  

เวนคืนประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA ได้อย่างไร

วิธีการในการเวนคืนประกันคุ้มครองสินเชื่อ MRTA นั้น

ไม่ยุ่งยากและไม่ซับซ้อนเลย

 โดยผู้กู้สามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง 

 ด้วยการนำกรมธรรม์ประกันชีวิต MRTA ฉบับที่ผู้กู้ถืออยู่

ไปที่บริษัทประกันที่ทำประกันอยู่

  เจ้าหน้าที่จะให้กรอกแบบฟอร์มขอเวนคืนประกัน 

 จากนั้นจะคำนวณเบี้ยประกันที่จะได้รับคืนจากการเวนคืนประกัน

ให้ทราบ แล้วจึงจ่ายเบี้ยประกันส่วนที่เหลือให้ผู้กู้

ก็เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการ

หากไม่เวนคืนประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อจะเกิดผลอย่างไร

ในกรณีที่ผู้กู้ไม่ได้เวนคืนประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ

ความคุ้มครองของประกันก็จะดำเนินต่อไปจนกระทั่งสิ้นสุด

ระยะเวลาคุ้มครองตามระบุในกรมธรรม์

ความคุ้มครองที่ผู้กู้จะได้รับจะมีลักษณะที่คล้ายกับประกันชีวิต

คือถ้าหากผู้กู้เสียชีวิตในช่วงระยะเวลาดังกล่าว

 ผู้เอาประกันตามรายชื่อในกรมธรรม์ก็จะสามารถ

ยื่นขอเอาประกันได้เท่ากับจำนวนเบี้ยประกันที่ยังเหลืออยู่

ณ ช่วงเวลานั้น

การทำประกันชีวิตคุ้มครองสินเชื่อ MRTA นั้น

นอกจากจะมีประโยชน์ต่อผู้กู้

และธนาคารในด้านการประกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นต่อตัวผู้กู้เอง

 แล้วก็ยังมีประโยชน์ในทางภาษีอีกด้วยครับ

 โดยสำหรับการทำประกันที่มีระยะเวลาเอาประกันตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป

 ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้

 ฉบับที่ 172 ที่ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2551

 อนุญาตให้นำเบี้ยประกันภัยของความคุ้มครองชีวิต

ไปใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาได้อีกด้วยครับ

เรื่องข้างต้นนี้เขียนโดย เชษฐพล มานิตย์

 นักเขียนออนไลน์ประจำ DDproperty.com

หากมีคำถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่

chetapol@ddproperty.com



ขอบคุณที่มา DDproperty.com

ขอบคุณภาพแบบบ้านสวยๆจากกทม.ค่ะ





Create Date :22 มิถุนายน 2558 Last Update :18 ธันวาคม 2558 12:01:19 น. Counter : 979 Pageviews. Comments :0