bloggang.com mainmenu search
 




อหิวาตกโรคหรือ “โรคห่า” เป็นโรคระบาดประจำถิ่นของประเทศในทวีปอาเซียและทวีปอินเดีย โดยเฉพาะในลุ่มแม่น้ำคงคา ที่เป็นแม่น้ำสายหลักในการดำรงชีวิต ก่อให้การระบาดไปสู่ภูมิภาคอื่นๆ ตามเส้นทางค้าขายทั้งทางบกและทางเรือ

อหิวาตกโรคเป็นโรคที่มีมานานแล้ว เชื่อกันว่าแหล่งของอหิวาตกโรคอยู่ในมณฑล “เบงกอล” ประเทศอินเดีย ระบาดโดยพวกพ่อค้าจากอินเดียนําไปทั้งทางบกและทางเรือ บางครั้งก็เป็นพวกที่ไปแสวงบุญที่เมกกะ

ประวัติการระบาดในประเทศไทยเท่าที่ค้นหาได้มีดังนี้ การระบาดทั่วโลกครั้งที่ 1 (ก่อน พ.ศ. 2360-66) ปรากฏตามพระราชพงศาวดารฉบับพระราชหัตถเลขาของสมเด็จกรมพระยาดํารงราชานุภาพกล่าวไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองขึ้นครองราชย์ได้ 6 ปี เกิดอหิวาตกโรคระบาดในพระนคร จึงย้ายเมืองหลวงจากเมืองอู่ทองมาตั้งราชธานีที่เมืองศรีอยุธยา หลังจากในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 เกิดอหิวาตกโรค หรือไข้ป่วง ระบาดรุนแรงในกรุงเทพฯ และหัวเมือง ชาวบ้านเรียกกันว่า "ห่าลง" อันหมายถึงโรคระบาดรุนแรงที่ทำให้ผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมาก



จากบันทึกของ “เจ้าพระยาทิพากรวงศ์” เล่าถึงการระบาดรุนแรงของอหิวาตกโรคครั้งแรกไว้ว่า ในปี พ.ศ.2363 ที่มีการระบาดจาก
อินเดีย เข้ามาไทย ผ่านทางปีนัง และหัวเมืองฝ่ายตะวันตก เข้ามาถึงสมุทรปราการและพระนคร ระบาด 2 สัปดาห์ ทำให้มีคนตายจำนวนมาก จน
เผาศพไม่ทัน กองอยู่ในวัดต่างๆ ได้แก่ วัดสระเกษ วัดบางลำภู วัดบพิตรพิมุข วัดประทุมคงคาและวัดอื่น ถนนหนทางเกลื่อนกลาดเต็มไปด้วยซากศพ
ประชาชนอพยพหนีออกจากเมืองด้วยความกลัว พระสงฆ์ทิ้งวัด



รัชกาลที่ 2 โปรดฯ ให้ตั้งพิธีขับไล่โรคนี้ขึ้น เรียกว่า "พิธีอาพาธพินาศ" จัดขึ้นที่
พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดคืน อัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่และโปรยพระพุทธมนต์
ตลอดทาง การระบาดครั้งนี้มีคนตายในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียงประมาณ 30,000 คน และมีการระบาดอีกครั้งในปี พ.ศ. 2365 ในกรุงเทพฯ
แต่ไม่ร้ายแรงเท่าการระบาดปี 2363 รัชกาลที่ 2 ทรงประกาศให้ราษฎรหยุดงานทั้งปวง ทำบุญให้ทานและห้ามฆ่าสัตว์ตัดชีวิต มีกำหนด 7 วัน




จากบันทึกของบุคคลที่เคยผ่านเหตุการณ์ในครั้งนั้น เล่าถึงความรุนแรงในการระบาดของโรคว่า ตามบริเวณวัดต่าง ๆ จะมีศพถูกนำมาทิ้งไว้ระเกะระกะ สภาพศพเน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งไปทั่วบริเวณ ศพที่เอาไปทิ้งไว้ในป่าช้าและศาลาดินวัดสระเกศ วัดบางลำพู (วัดสังเวชวิศยาราม) วัดบพิตรพิมุข วัดปทุมคงคา กองกันเป็นภูเขา ศพมีจำนวนมาก วางก่ายกันเหมือนกองฟืนเพราะเผาไม่ทัน ความร้ายแรงของโรคและศพที่กองกันเต็มวัดนี้ ถึงกับทำให้พระสงฆ์ต้องหนีออกจากวัด ราษฎรหนีออกจากบ้าน ตามถนนหนทางไม่มีคนเดิน ตามตลาดที่เคยมีผู้คนคับคั่งก็ว่างเปล่า บ้านเมืองดูเงียบเชียบวังเวง

พระบรมบรรพต หรือ ภูเขาทอง
วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร กรุงเทพฯ
ช่วงที่โรคเพิ่งระบาดใหม่ ๆ โลงศพขายดี แต่เมื่อคนตายกันมาก ๆ คนที่ไม่มีเงินซื้อโลง ก็ต้องใช้เสื่อห่อศพ ไม่ว่าจะเดินไปตามถนนสายใด จะพบคนหามศพห่อด้วยเสื่ออย่างรีบเร่ง มีเสียงร้องไห้โฮออกมาจากบ้านโน้นบ้านนี้เสมอ บางศพไม่มีอะไรจะห่อ ปล่อยทิ้งไว้ตามถนนก็มี



ฝูงแร้งมารอกินซากศพที่ถูกนำมาทิ้งภายในวัดสระเกศ
พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 2 ทรงทราบความหวาดวิตกของพสกนิกร จึงรับสั่งให้ตั้งการ พระราชพิธีอาพาธพินาศ ขึ้น ณ พระที่นั่งดุสิตมหาประสาท
นิมนต์พระสงฆ์ผู้ทรงวิทยาคมจากพระอารามสำคัญ ๆ มาเจริญพระปริตร ทำน้ำพระพุทธมนต์และทรายเสก มีการยิงปืนใหญ่รอบพระนครตลอดรุ่งคืนหนึ่ง แล้วอัญเชิญพระแก้วมรกตและพระบรมสารีริกธาตุออกแห่ มีพระราชาคณะไปในกระบวนแห่โปรยทรายเสกและประพรมน้ำพระพุทธมนต์ทั้งทางบกและทางเรือ อหิวาตกโรคระบาดอยู่ประมาณ 15 วัน จึงเริ่มสงบลง สำหรับศพที่ไม่มีญาตินั้น พระเจ้าอยู่หัวก็พระราชทานเงินค่าจ้างและฟืนให้เก็บเผาเสียจนหมดสิ้น เมื่อสำรวจจำนวนผู้คนที่เสียชีวิต ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใกล้เคียง มีจำนวนถึงสามหมื่นคน


ต่อมา ในปีระกา พ.ศ. 2392 รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 อหิวาตกโรคกลับมาระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง เรียกกันว่า "ห่าลงปีระกา" โรคระบาดจากอินเดีย ระบาดเข้าประเทศไทยโดยผ่านเข้ามาทางปัตตานี สงขลา ประมาณ 3 สัปดาห์ ก็ระบาดโดยทางเรือเข้าสมุทรปราการและกรุงเทพฯ ประมาณว่ามีผู้เสียชีวิตในคราวนั้นมากถึงสองหมื่นคน
ขณะนั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงผนวชอยู่ ได้แนะนำให้เก็บศพไปเผาที่วัดสระเกศ วัดสังเวชวิศยาราม วัดบพิตรพิมุข
ปรากฏจำนวนศพที่นำไปฝังและเผา ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน ถึงวันที่ 15 กรกฎาคม รวม 29 วัน นับเฉพาะที่วัดทั้งสามแห่งนี้ มีจำนวนถึง 5,457 ศพ

โดยเฉพาะวันที่ 23 มิถุนายน วันเดียว มีจำนวนมากถึง 696 ศพ

พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 มิได้ทรงตั้งการพระราชพิธีอาพาธพินาศ เป็นแต่เพียงให้เจ้าพนักงานซื้อสัตว์ที่จะต้องมรณภัยมาปล่อยให้รอดชีวิตทุกวัน
ทรงมีรับสั่งให้ป่าวประกาศให้ราษฎรทำบุญให้ทานและปล่อยสัตว์ที่ขังอยู่ในที่คุมขังให้รอดพ้นจากความตาย ซึ่งพสกนิกรทั้งปวงก็ยินดีทำตาม




ในรัชกาลที่ 4 ได้เกิดการระบาดขึ้นปี พ.ศ. 2403 ตรงกับการระบาดทั่วโลกครั้งที่ 3 คราวนี้โรคเกิดขึ้นที่เมืองตากแล้วจึงลุกลามถึงกรุงเทพฯ การระบาดครั้งนี้ไม่รุนแรงนัก
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
อหิวาตกโรคยังคงระบาดเรื่อยมา เดือน 7 ปีระกา พ.ศ. 2416 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เกิดอหิวาตกโรค
ระบาดในกรุงเทพฯ และหัวเมืองริมแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำแม่กลอง ผู้คนตื่นตกใจเป็นอันมากเพราะผู้สูงอายุที่เคยผ่านเหตุการณ์
สะเทือนขวัญเมื่อคราวที่อหิวาตกโรคระบาดในสมัยรัชกาลที่ 2 และรัชกาลที่ 3 ยังมีอยู่มาก ผู้ที่ไม่เคยผ่านเหตุการณ์ แต่ได้ฟังคำบอกเล่า ก็พลอยตกใจกันตามไปด้วย


พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงร่วมประชุมกับเหล่าเสนาบดี
พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มิได้ตั้งการพระราชพิธีทางศาสนาอย่างเช่นที่เคยทำมา แต่ให้จัดการรักษาพยาบาล โดยปรุงยารักษาโรคขึ้นใหม่ 2 ขนาน

เอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยผสมกับแอลกอฮอล์ ทำเป็นยาหยดในน้ำขนานหนึ่ง และเอาการบูรทำเป็นยาหยดเรียกว่ายาน้ำการบูรอีกขนานหนึ่ง

สำหรับรักษาอหิวาตกโรค และแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเพื่อป้องกันเชื้อโรคควบคู่ไปด้วย



ทรงมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ รับยาหลวงไปตั้งเป็นโอสถศาลา รับรักษาราษฎรทั่วพระนคร อหิวาตกโรคที่เกิดขึ้นใน

ครั้งนั้น ระบาดอยู่ประมาณหนึ่งเดือนก็สงบลง เมื่อสงบแล้ว โปรดให้สร้างเหรียญที่ระลึกทำด้วยทองสำริด ด้านหนึ่งเป็นรูปเทวดาถือพวงมาลัย อีก

ด้านหนึ่งเป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ผู้ที่ได้ช่วยจัดตั้งโอสถศาลาในครั้งนั้นโดยทั่วกัน โรเบิร์ต ค็อก ได้พบเชื้อโรคที่ทําให้เกิดอหิวาตกโรค จึงทําให้มีความรู้ในการป้องกันดีขึ้น โรคในยุโรปและอเมริกาจึงเบาบางลง แต่เนื่องจาก

อหิวาตกโรคยังคงมีประปรายอยู่ในเอเชีย ได้แก่ พม่า, มลายู, จีน, ญี่ปุ่น, ฟิลิปปินส์ และไทย



หลังจากนั้นมา มีการระบาดใหญ่ อีก 5 ครั้ง ได้แก่

การระบาดครั้งที่ 1 (ตั้งแต่ พ.ศ.2461- 2463) เกิดขึ้นที่จังหวัดตาก มาจากประเทศพม่า ลุกลามลงมาทางล่างตามลำน้ำปิงและแม่น้ำเจ้าพระยา มีการระบาดไปยังจังหวัดใกล้เคียงทางเหนือถึงจังหวัดเชียงใหม่ ทางใต้ถึงจังหวัดปัตตานี ระนอง ทางตะวันออกเฉียงเหนือถึงอุบลราชธานี ระบาดรวม 51 จังหวัด มีคนตาย 13,918 คน

การระบาดครั้งที่ 2 (พ.ศ.2468-2472) เกิดขึ้นในท้องที่อำเภอป้อมปราบและปทุมวัน แล้วระบาดไปในพระนคร-ธนบุรี มีคนตาย 14,902 คน เกิดจากมีคนป่วยที่เดินทางมากับเรือที่มาจาก ประเทศจีน ถูกกักตรวจที่ด่านกักโรค มีผู้โดยสารบางคนหนีขึ้นบกทำให้เกิดการระบาดขึ้น มีคนป่วยจำนวนมากจนมีการตั้งโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยด้วยอหิวาตกโรคขึ้นที่วังเก่าสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ที่ วงเวียน 22 กรกฎา หลังวัดเทพศิรินทร์และที่สุขศาลาบางรัก

การระบาดครั้งที่ 3 (พ.ศ.2478-2480) ครั้งนี้เกิดที่อำเภอวังกะ กาญจนบุรี ระบาดมาจากประเทศพม่า แพร่กระจายไปยังจังหวัดต่างๆ ที่อยู่ริมแม่น้ำแม่กลอง ท่าจีน เช่น ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร เพชรบุรี แพร่เข้ามายังพระนครธนบุรี และระบาดไปตามจังหวัดต่าง ๆ ใน 40 จังหวัด มีคนตาย 10,005 คน ทำให้มีการเกณฑ์นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 จากศิริราช มาช่วยฉีดวัคซีนตามสถานีรถไฟและท่าเรือต่าง ๆ

การระบาดครั้งที่ 4 (พ.ศ.2486-2490) เริ่มที่กิ่งอำเภอสังขละบุรี จังหวัดกาญจนบุรี เกิดจากเชลยศึกพม่าที่ทหารญี่ปุ่นเกณฑ์มาสร้างทางรถไฟสายมรณะจากบ้านโป่ง ผ่านกาญจนบุรีเพื่อเข้าสู่ประเทศพม่า ระบาดจากต้นแม่น้ำแม่กลองไปตามจังหวัดต่าง ๆ โดยทางน้ำ ได้แก่ ราชบุรี เพชรบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร และพระนคร ระบาดในท้องที่ 50 จังหวัด มีคน ตาย 13,036 คน

การระบาดครั้งที่ 5 (พ.ศ.2501-2502) เริ่มในท้องที่อำเภอราษฎร์บูรณะ ธนบุรี ระบาดในจังหวัดธนบุรี พระนครและจังหวัดอื่น ๆในภาคกลาง ที่มีเขตติดต่อกับธนบุรีเป็นลำดับ อันเนื่องมาจากการคมนาคมที่สะดวกทำให้โรคระบาดไปสู่ภาคใต้ถึงจังหวัดสุราษฎร์ฯ ภาคเหนือถึงจังหวัดตาก และบางจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 38 จังหวัด มีคนตาย 2,372 คน หลังจากการระบาดครั้งนี้แล้ว อหิวาตกโรคไม่ได้สาบสูญไปจากไทย

ยังคงพบผู้ป่วยอยู่ประปราย และไทยได้มีการยกเลิกการรายงานโรคอหิวาตกโรคในปี 2532 โดยเปลื่ยนชื่อเป็น โรคอุจจาระร่วงอย่างแรง



การระบาดที่ผ่านมา เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่มาคราวนี้ เกิดมาจากเชื้อไวรัส โดนมีวิธีการติดต่อโรคหลักในมนุษย์คือการติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งโดยทั่วไปจะเกิดจากละอองสารคัดหลั่งจากระบบการหายใจของบุคคลที่ติดเชื้อ ซึ่งมีอาการไอ หรือจาม มีระยะฟักตัวของโรคระหว่าง 2 ถึง 14 วัน




ป.ล.ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจากอินเตอร์เน็ตค่ะ




วิธีป้องกันไม่ให้ติดเชื้อนั้นง่ายที่สุด คือ "นอนดูทีวีอยู่กับบ้าน" อยู่ที่ว่าจะทำได้หรือไม่ แค่นั้นเอง

 
 













 
Create Date :19 มีนาคม 2563 Last Update :21 มีนาคม 2565 10:36:23 น. Counter : 3132 Pageviews. Comments :14