bloggang.com mainmenu search


สวัสดีปีใหม่2557
Happy New Year 2014






การแสดงไฟ ปีใหม่ของปีก่อนค่ะ - ภาพจากอินเตอร์เนต




























สวัสดีปีใหม่2557, Happy New Year 2014
1somphong



อัญเชิญเทพบนสวรรค์ทุกชั้นฟ้า
ประสิทธิ์สถาพรชัยให้สุขศรี
ขอให้ชาวร้อยฝันทุกท่านมี
สุขเกษมเปรมปรีดิ์ทุกวี่วัน

สรรพโศกโรคร้ายให้หายหมด
เกียรติยศพร้อมพรั่งบันดาลขวัญ
เกียรติศักดิ์พูนเพิ่มเสริมชีวัน
สบสุขสันต์วันดีปีใหม่เทอญ


คำอวยพร ปีใหม่ และภาพน่ารัก ขอเชิญเปิดอ่านที่นี่ค่ะ


Synchronized Fireworks Show -Armadillo1991 ความยาว 8.59 นาที




สุขภาพดี รับปีใหม่
รศ.นพ. วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
(Assoc. Prof. WEERASAK MUANGPAISAN)



สุขภาพดี รับปีใหม่
ผศ.นพ.วีรศักดิ์ เมืองไพศาล
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital


ในช่วงปีใหม่นี้ ทุกคนคงต้องการให้มีสิ่งดี ๆ เข้ามาในชีวิต ทำให้นึกถึงคำกล่าวที่ว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” เพราะการมีสุขภาพดีนั้นมีคุณค่าเสมอ ฉะนั้นก่อนเริ่มต้นใช้ชีวิตใหม่ปีถัดไป เราหันมาดูแลสุขภาพกันเถอะครับ

สุขภาพดีอยู่แค่เอื้อม

1.เลือกกินอาหารอย่างถูกสุขลักษณะ สะอาด ปลอดภัย ครบ 5 หมู่ คือ โปรตีนจากเนื้อสัตว์ คาร์โบไฮเดรตจากข้าว แป้ง น้ำตาล วิตามินจากผัก แร่ธาตุจากผลไม้ รวมทั้งไขมันจากพืชและสัตว์ในปริมาณที่เหมาะสม ครบถ้วน หากกินได้อย่างนี้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาบำรุงหรืออาหารเสริมแต่อย่างใด ตลอดจนหลีกเลี่ยงอาหารที่มันมาก ๆ หรือหวานจัด นอกจากนี้สุขอนามัยการกินที่ดี อย่าง ไม่กินปลาดิบหรือเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก ล้างผักสด ผลไม้ มือ และภาชนะให้สะอาดก่อนกินอาหารเพื่อป้องกันการติดเชื้อจากพยาธิ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไนเตรทสูง โดยเฉพาะอาหารโปรตีนที่ใช้ดินประสิวเป็นสารปรุงแต่ง เช่น แหนม ไส้กรอก ปลาร้า เพื่อป้องกันโรคมะเร็งตับ หากปฏิบัติตามนี้จะช่วยให้การทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกายเป็นปกติและเต็มประสิทธิภาพ น้ำหนักตัวไม่เกิน อีกทั้งป้องกันโรคได้ ซึ่งถ้าเจ็บป่วยขึ้นมา ร่างกายก็จะไม่ทรุดหนักและสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าคนทั่วไป

2.ออกกำลังกาย ยิ่งมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะเมื่ออายุมากขึ้นระบบการเผาผลาญร่างกายยิ่งลดลง การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ มีประโยชน์มากมายทั้งการป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ

2.1 เริ่มด้วยลดอัตราการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ความดันโลหิต เบาหวาน ไขมันชนิดแอลดีแอล(LDL)ซึ่งเป็นไขมันที่ไม่ดี และเพิ่มเอชดีแอล(HDL)ซึ่งเป็นไขมันที่ดี

2.2 เพิ่มมวลกระดูก ทำให้กระดูกแข็งแรงป้องกันกระดูกพรุนและกระดูกหัก
2.3 ช่วยการทำงานของระบบทางเดินอาหาร รวมทั้งระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้ทำหน้าที่ได้อย่างดี และยังช่วยเพิ่มภูมิต้านทานโรคด้วย

2.4 ทำให้ร่างกายคล่องแคล่ว การทรงตัวดีขึ้น แถมยังช่วยชะลอความแก่และเป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์

2.5 สุขภาพจิตดี ถ้าออกกำลังต่อเนื่องนานพอสมควรประมาณ 20 นาทีขึ้นไป สมองจะกระตุ้นให้เกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินออกมา ทำให้รู้สึกสดชื่นสบายเนื้อสบายตัว อารมณ์ดี สมาธิดี หลับได้ดีขึ้น สุดท้ายอาจป้องกันโรคมะเร็งได้ด้วย

ผลดีเหล่านี้จะอยู่ตลอดถ้าเรายังออกกำลังกาย และจะหมดไปในระยะเวลาอันสั้นเมื่อหยุดฉะนั้นควรออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 วัน ๆ ละ 30 นาที โดยเลือกออกกำลังหรือเล่นกีฬาที่ชอบ แต่ถ้าเป็นผู้สูงอายุก็เลือกให้เหมาะกับวัย เช่น เดินเร็ว รำมวยจีน รำไทเก๊ก ที่สำคัญ ทุกครั้งก่อนออกกำลังกายต้องอบอุ่นร่างกาย(วอร์มอัพ)ด้วยการเคลื่อนไหวอย่างช้า ๆ นอกจากได้กล้ามเนื้อแขนและขามีความยืดหยุ่นแล้ว ยังปรับอุณหภูมิภายในร่างกายไปด้วย

3.ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกิน เนื่องจากโรคอ้วนนำมาซึ่งโรคต่าง ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หลอดเลือดตีบ โรคกระดูกและไขข้อ ฯลฯ การควบคุมน้ำหนักตัวที่สำคัญคือ ลดอาหารจำพวกแป้ง ของหวานและของมันจัด กินผักผลไม้ที่ไม่หวานให้เพิ่มขึ้น ร่วมกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งน้ำหนักตัวของคนเรา ควรมีค่าดัชนีมวลกายอยู่ระหว่าง 19-23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ความสำคัญของการรู้ค่านี้เพื่อประเมินหาไขมันส่วนเกินในร่างกาย จะได้รู้ถึงความเสี่ยงในการเกิดโรคและหาแนวทางป้องกัน โดยคิดคำนวณจากน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้งหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง
ดัชนีมวลกาย = น้ำหนักตัว
ส่วนสูง (ม) 2

4.หลีกเลี่ยงการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และการใช้สารเสพติด อันนำมาซึ่งโรคภัยไข้เจ็บทั้งต่อตนเองและครอบครัว


5.หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ต้องรับการรักษาในโรงพยาบาลนานขึ้น เสียค่าใช้จ่ายมากขึ้นและอาจเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะผู้สูงอายุพบว่ามากกว่าร้อยละ 80 มีการใช้ยาหลายขนานร่วมกันเนื่องจากมีความซับซ้อนของโรคหลายชนิด และที่ร้ายสุดคือซื้อยากินเองโดยไม่พบแพทย์

6.ตรวจสุขภาพประจำปี หลายคนมักเข้าใจผิดว่าถ้าแข็งแรงดีก็ไม่จำเป็นต้องตรวจสุขภาพเพราะไม่น่าจะมีโรคอะไร แต่หารู้ไม่ว่าโรคบางโรคอาจไม่แสดงอาการ ถ้าไม่ตรวจจะไม่รู้ เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โลหิตจาง หรือโรคมะเร็งในระยะแรก ๆ ซึ่งหากตรวจพบ ผลการรักษาจะดีมาก บางโรครักษาหายขาดเลยก็มี เช่น มะเร็งปากมดลูก นอกจากนี้ผู้ที่รับการรักษาโรคเป็นประจำก็สมควรได้รับการตรวจสุขภาพเช่นกัน

ความเข้าใจผิดอีกอย่างคือ เมื่อผลการตรวจออกมาปกติ หลายคนจะไม่ค่อยสนใจดูแลสุขภาพกันต่อ เช่น รู้สึกว่ายังสูบบุหรี่หรือดื่มสุราได้ หรือไม่ออกกำลังกาย กินอาหารไม่เหมาะสม ซึ่งจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายตามมา การที่ผลการตรวจว่าปกตินั้นไม่ได้รับประกันว่าท่านมีสุขภาพดี ขอย้ำเรายังจำเป็นต้องดูแลสุขภาพอย่างเหมาะสมเช่นเดิมครับ



7.พักผ่อนเต็มที่ด้วยการนอนหลับอย่างน้อยวันละ 7-8 ชั่วโมง ร่วมกับการพักผ่อนหย่อนใจ คลายความเครียดด้วยการท่องเที่ยว หรือหางานอดิเรกทำ เป็นต้น



8.เข้าร่วมกิจกรรมสันทนาการและสังคม เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนคติ มุมมอง และสร้างความ
สัมพันธ์ที่ดีกับผู้คนรอบข้าง



9.ป้องกันการเกิดอุบัติเหตุและการหกล้ม อุบัติเหตุหลายอย่างป้องกันได้ โดยเฉพาะการหกล้ม เมื่ออายุมากขึ้นจะมีการเปลี่ยนแปลงของร่างกายหลายอย่างที่อาจทำให้เกิดการหกล้มได้ง่าย เช่น การมองเห็นลดลง การทรงตัวไม่ดี ร่วมกับการที่อาจมีโรคต่าง ๆ เกิดร่วมด้วย โดยเฉพาะผู้สูงอายุมีโอกาสหกล้มได้ง่ายและยังเป็นสาเหตุอันดับหนึ่งของอุบัติเหตุที่ทำให้ผู้สูงอายุต้องนอนในโรงพยาบาลถึงร้อยละ 85 ซึ่งเมื่อหกล้มแล้ว อาจทำให้เกิดปัญหาแทรกซ้อนตามมา เช่น กระดูกหัก เลือดออกในกะโหลกศีรษะ หรือบางรายอาจเดินไม่ได้เหมือนเดิม



10.อยู่ในที่ที่มีอากาศบริสุทธิ์ หลีกเลี่ยงบริเวณที่มีมลพิษ ฝึกหายใจลึก ๆ เพื่อให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย

ที่เล่ามานี้ คุ้มยิ่งกว่าคุ้มถ้าลงมือทำ หวังว่าทุกท่านจะมีแต่ความสุข สุขภาพแข็งแรง สวัสดีปีใหม่ครับ


ขอขอบคุณข้อมูลและยูทูป จากอินเตอร์เนต


newyorknurse

Create Date :31 ธันวาคม 2556 Last Update :29 มกราคม 2557 19:25:57 น. Counter : 8088 Pageviews. Comments :24