bloggang.com mainmenu search
{afp}
เป็นสกู๊ปที่ยังเหลืออยู่ในมือ ที่เป็นบทสัมภาษณ์โดย ตุ้ย ธีรภัทร สัจจกุล
สัมภาษณ์พี่โอม ชาตรี คงสุวรรณ เริ่มตั้งแต่ชีวิตวัยเด็ก ไล่เรียงมาตามวัย และตามความเปลี่ยนแปลงในเส้นทางดนตรีของพี่โอม ตามแต่คุณตุ้ย จะพาไป
จนมาจบที่การจัดรียูเนี่ยนคอนเสิร์ต ของดิอินโนเซ้นท์

การทำสกู๊ปครั้งนี้ ไม่ได้กำหนดคำถามไว้ก่อน ไม่มีพล๊อต ให้คุณตุ้ย ถามได้อิสระที่เกี่ยวกับชีวิตนักดนตรีของพี่โอม

ตามเส้นทางต่างๆที่ผ่านนั้น สำหรับคนคนรักดนตรีแล้ว มีความน่าสนใจมากมาย ไม่สามารถทำตอนเดียวจบ เพราะยาวมาก จึงขอทำการถอดเทปออกมาตามแต่เวลาจะมี เป็นการถอดเทปมาแบบดิบๆ ไม่มีการเรียบเรียง

ขอเริ่มตอนแรกเลยครับ

===============================



ตุ้ย ธีรภัทร : คำถามแรกที่ผมอยากถามพี่ ทำไมถึงตั้งชื่อวงว่า ดิอินโนเซ้นท์ ครับ

พี่โอม : วงอินโนเซ้นท์นี่ จริงๆพี่เข้ามาร่วมงานกับเค้าที่หลังนะ แต่ว่า มันเป็นคำถามที่ทุกคนเค้าถามอยู่แล้ว พี่ก็เลยรู้คำตอบมาก่อนแล้ว อันหนึ่งที่ เวลามันเป็นวงดังนี่ เวลาไปออกรายการต่างๆก็จะถูกถามว่า ทำไมถึงชื่อ อินโนเซ้นท้ ก็เลยเคยฟังเค้าเล่ามา คือวงนี้แรกเริ่มเดิมที เค้าเป็นวงอยู่ในโรงเรียนคริสต์ เป็นวงพวกว่าที่บาทหลวง เป็นเด็กนักเรียนที่เป็นว่าที่คาทอลิค เขาก็จะอยู่ในการเรียนที่จะเตรียมเป็นบาทหลวง ทีนี้วงดิอินโนเซ้นท์เค้าก็ตั้งขึ้นมาในวงที่ยังคงสภาพเป็นเด็กคริสต์อยู่ เขาก็เลยต้องเลือกชื่อที่มันดูสะอาด ก็เป็นบราเดอร์ บาทหลวงตั้งให้ ชื่อดิอินโนเซ้นท์ก็เลยมาด้วยความสะอาดสะอ้านไร้เดียงสาตั้งแต่บัดนั้น

ตุ้ย ธีรภัทร : แสดงว่า วงได้ set มาประมาณหนึ่งแล้วพี่โอมถึงได้เข้ามาอยู่ในวง นานมั๊ยครับกว่าจะเข้ามา

พี่โอม : วงอินโนเซ้นท์ มีอัลบั้มทั้งหมด 9 ชุด พี่เข้ามาอยู่ที่ประมาณระหว่างชุดที่ 3 กับชุดที่ 4 คือ 2 ชุดแรก วงนี้เค้าจะเป็นดนตรีวง 2-3 ชิ้น เป็นวงประเภทโฟล์คซอง

ตุ้ย ธีรภัทร : โฟล์คซอง หมายถึงกีตาร์เด่นใช่หรือเปล่า

พี่โอม : โฟล์คซอง หมายถึงไม่มีกลอง จะเป็นกีตาร์โปร่ง 2 ตัว นักร้องคนนึง หรือว่านักร้องนึกสนุก เอากีตาร์มาเล่นอีกตัว เป็น 3 ตัว โฟล์คซองก็จะเป็นอย่างนี้คือไม่มีกลอง

ตุ้ย ธีรภัทร : แต่เดิมก็คือมีสมาชิก 3 คน หรือครับ

พี่โอม : ใช่ครับ ก็จะมี 2 คนที่อยู่ในรุ่น เค้าเรียกรุ่นคลาสสคิคไลน์อัพ รุ่นตัวหลักๆ ก็จะมีคุณพีรสันติ จวบสมัย ที่เป็นมือคีย์บอร์ด หัวหน้าวง แล้วก็คุณสายชล ระดมกิจ เป็นนักร้อง นี่เค้าเป็นรุ่นบุกเบิกเลย ส่วนพี่ แล้วก็พี่ปื๊ด เสนีย์ ฉัตรวิชัย จะเข้ามาเสริม ก่อนชุดที่ 4 เรียกว่า 2 ชุดแรกนี่ยังอยู่ในวงจำกัด ยังไม่ได้ดังเปรี้ยงปร้าง พอชุดที่ 3 ชื่อชุดขวัญใจนักเรียน เค้าก็จะมีเพลงชื่อ สอบตก

ตุ้ย ธีรภัทร : (ร้องเพลง) ดูตำราตั้งตีห้าตีหก นี่หรือครับ ตอนนี้พี่เข้ามาทำหรือยังครับ

พี่โอม : ยังๆ คือวงอินโนเซ้นท์เค้าก็เหมือนแจ้งเกิดในชุดนี้ พอเกิดปั๊บเนี่ย เค้าก็เลยตามพี่มาเสริมทัพ เพราะว่าวงเค้าต้องตะลุยยุทธจักร ต้องท่องยุทธจักรในกรุงเทพ พี่ก็เลยเข้ามาเสริมในฐานะมือกีตาร์โซโล่
ตอนนั้นพี่เป็นนักดนตรีร๊อกอยู่ราชบุรี ก็เลยเข้ามาร่วมวงกับเค้า ก็คือพูดง่ายๆ ชุดที่มีเพลงสอบตกดังเค้าก็ต้องทัวร์ พอทัวร์ปั๊บพี่ก็มาออกทัวร์กับเค้า แล้วพี่ก็เลยเป็นสมาชิกถาวร

ตุ้ย ธีรภัทร : ช่วงออกทัวร์ แสดงว่า ตอนที่ทำอัลบั้มต่างๆ เพลงสอบตก พี่ยังไม่ได้มาร่วมแจมกับเขา

พี่โอม : ยังๆ ตอนพี่เข้ามา เขาดังอยู่แล้ว พี่เข้ามาถึงพี่ก็มาโซโล่เลย โซโล่เพลงดังแล้ว แล้วก็ทำชุดใหม่ต่อไปเลย

ตุ้ย ธีรภัทร : แล้วอยู่ๆพี่มาเจอกันได้ยังไงครับ

พี่โอม : วงนี้กับพี่นี่เป็นนักเรียนอยู่โรงเรียนเดียวกันที่ราชบุรี เป็นคนราชบุรี

ตุ้ย ธีรภัทร : ทั้งวงเลยหรือครับ

พี่โอม : ในรุ่นแรก 3 คนที่พี่เล่าให้ฟังนี่แหละ มีคนนึงที่เค้าแยกตัวออกไปในชุดแรกๆ ชื่อคุณสิทธิศักดิ์ กิจแต่ง เค้าจะเป็นนักร้องในชุดแรกๆ แต่ตอนพี่เข้ามานี่เค้าแยกตัวออกไปแล้ว พี่เข้ามาปั๊บก็จะเจอ 2 คนนี้ เท่านั้นแหละ คุณพีรสันติ กับคุณสายชล พี่ก็จะไม่ทันในรุ่นแรกเค้า

ตุ้ย ธีรภัทร : แต่ว่าพี่ก็เห็นจุดกำเนิดของวงนี้ตั้งแต่แรกแล้ว เพียงแต่ว่ายังไม่มีโอกาสได้มาแจมอย่างนั้นหรือเปล่า

พี่โอม : เอางี้ดีกว่า ต้องเล่าอย่างนี้เลย คืออยู่โรงเรียนเดียวกันนี่นะ แล้วก็เดินสวนกันอย่างเนี๊ยะบ่อยๆ

ตุ้ย ธีรภัทร : ที่ราชบุรีใช่มั๊ยครับ

พี่โอม : ชื่อโรงเรียนดรุณาราชบุรี ก็พอพักเที่ยงก็เจอ อย่างคุณพีรสันติที่เป็นมือคีย์บอร์ดเนี่ย ก็จำได้ว่าเค้าเป็นนักดนตรี เป่าทรัมเปต อะไรอย่างนี้

ตุ้ย ธีรภัทร : วงประจำโรงเรียนหรือ

พี่โอม : อยู่ในโรงเรียนนี่แหละ เมื่อก่อนมันไม่มีวงสตริงอะไรอย่างนี้ไง เราก็ต้องอาศัยเป็นวงดุริยางค์ พี่ก็เป็นนักดนตรีเป่าคาริเนท เป่าแซกโซโฟน เป่าทรัมเปต คุณพีรสันตินี่เค้าก็จะเป่าทรัมเปตอยู่อีกวงหนึ่ง เป็นวงของฝั่งที่เค้าเรียกว่า ฝั่งบ้านเณร พี่ก็จะเป็นอีกฝั่งนึง คือโรงเรียนเป็นโรงเรียนคริสต์ เค้าก็จะเรียกกันว่า เด็กนอก กับเด็กคริสต์ โรงเรียนจะแบ่งเป็นสองครึ่งเลย มีเสาธงกั้นกลาง โรงเรียนเดียวกัน ที่ราชบุรีเค้าเป็นสังฆมณฑล หมายถึงที่ๆเป็นคริสตจักร โรงเรียนที่พี่เรียนเค้าจะมีสังฆราชของคริสต์เค้าอยู่ ก็จะเป็นที่ๆเป็นสำนักเรียนของพวกเด็กที่มีว่าที่เป็นบาทหลวง โรงเรียนเค้าจะแบ่งเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งเป็นเด็กคริสต์ที่เขาเรียนกันก็จะไฮโซหน่อย เป็นว่าที่บาทหลวงอะไรทำนองนี้ เวลาเรียนต้องสงบ ห้ามเด็กฝั่งนอกไปรบกวน

ตุ้ย ธีรภัทร : Conservative หน่อย อนุรักษ์นิยมหน่อย

พี่โอม : ใช่ ถ้าเด็กทางฝั่งเราเข้าไป ก็จะโดนจับ ทำโทษ คือห้ามไปรบกวน พวกอินโนเซ้นท์เค้าก็จะเป็นเด็กฝั่งบ้านเณร พี่ก็จะเป็นฝั่งไปกลับ

ตุ้ย ธีรภัทร : แสดงว่าพี่ไม่ได้อยู่ประจำ

พี่โอม : ใช่แล้วเราก็เดินสวนกันไปสวนกันมาอย่างนี้แหละ แต่ก็ไม่ได้เล่นดนตรีด้วยกัน

ตุ้ย ธีรภัทร : แสดงว่าที่พี่บอกว่าเป็นดุริยางค์ประจำโรงเรียนเนี่ย ไม่ใช่ต้องเป่าเพลงทุกเช้า ไม่ใช่ใช่มั๊ยครับ หรือว่าในอยู่ในวงดุรยางค์วงเดียวกันมั๊ย

พี่โอม : คือพี่เนี่ย เป็นเด็กไปกลับ เค้าเรียกเด็กนอก ดูเหมือนเด็กต่างประเทศ ไม่ใช่นะ คือไม่ได้ค้างในโรงเรียน ส่วนของบ้านเณรเค้าก็จะมีวงของเค้า วงของเค้าก็จะไปเป่าตามงานใหญ่ๆของพวกสำนักสงฆ์อะไรอย่างนี้ ส่วนวงของพี่ก็จะเป่าตามงานโรงเรียนทั่วๆไป จนไปถึงงานกฐิน แมสกว่า ก็ประมาณนี้ ความจริงมันก็แตรวงนั่นแหละ เหมือนเป่าแตรวงงานบวช แต่ว่างานเราดีหน่อย ก็เป็นเพลงมาร์ช บางทีโรงเรียนเค้าก็จะไปรับ งานกฐิน ช่วยๆกัน แล้วก็เอาวงโรงเรียนไปเป่า

ตุ้ย ธีรภัทร : พี่ก็จะเป่าคาริเนต

พี่โอม : ก็ไปร้อยเอ็ดเจ็ดย่านน้ำเลย เป่าคาริเนตตัวยาวๆสีดำนั่นแหละ บางงานก็เป่าทรัมเปต บางงานก็ทรัมโบน บางงานก็เป่าไอ้ตัวใหญ่ๆเลย ที่เป็นงวงช้างใหญ่ๆก็มี พี่ก็จะใช้เวลาอยู่ในวงดุรยางค์ซะเป็นส่วนมาก ก็จะสวนกันไปสวนกันมา รู้จักกันแต่ก็แค่คุ้นหน้ากัน ตอนนั้นเค้ายังไม่ได้เป็นในนามอินโนเซ้นท์ด้วยซ้ำ เป็นเพื่อนร่วมโรงเรียนกันเฉยๆ

ตุ้ย ธีรภัทร : พี่กำลังเล่าว่านั่นคือในยุคที่กำลังเป็นสมัยมัธยม ถูกมั๊ยครับ แสดงว่าในช่วงมัธยมต้นและปลายใช้ชีวิตอยู่ที่ราชบุรี ช่วงที่พี่เล่นเครื่องเป่าต่างๆนี่ เริ่มเล่นกีตาร์หรือยัง

พี่โอม : พี่หัดเครื่องเป่า ตอนที่พี่อยู่ ป.6 สมัยก่อนเป็น ป.6 ป.7 แล้วก็ ม.ศ. 1 พี่ก็จะเริ่มตั้งแต่ป.6 พอม.ศ.1 เราก็หัดกีตาร์แล้ว เพราะว่าปลายๆ ป.7 เราก็เริ่มฟังเพลงฮาร์ดร๊อก เพลงพวก Deep Purple , Highway Star, Smoke On The Water อะไรอย่างนี้ หรือ Santana โอ้ย เสียงดนตรีมันเย้ายวนมาก พอขึ้นม.ศ.1 เราก็หัดกีตาร์แล้ว เริ่มฝึกดนตรีรํอกอะไรงี้แล้ว

ตุ้ย ธีรภัทร : เริ่มต้นฝึกดนตรีร๊อก ฝึกกีตาร์ไฟฟ้าเลยหรือเปล่า หรือว่าเริ่มจากกีตาร์อย่างอื่นมาก่อน ขั้นตอนเป็นอย่างไรครับ

พี่โอม : กีตาร์ไฟฟ้านี่ลืมได้เลย เพราะว่า เราไม่มีกำลัง ก็ต้องเริ่มต้นด้วยกีตาร์โปร่งสถานเดียว แล้วก็เป็นกีตาร์โปร่งประเภท ตามมีตามเกิดด้วยนะ

ตุ้ย ธีรภัทร : ยังไงครับ

พี่โอม : เริ่มต้นด้วยที่บ้านไม่มีกีตาร์ก่อนเลย พอเราอยากจะหัด เราก็อืม..... ตัวที่จุดประกายพี่จริงๆ ตอนนั้นที่บ้านพี่ที่ราชบุรี คุณแม่เค้าทำร้านอาหาร ก็จะมีนักดนตรี โฟล์คซองมาเล่น สมัยนั้นก็จะมีพวกวงมาเล่นเอ็นเทอร์เทนแขก มีกีตาร์ 2 ตัว โฟล์คซองฮิตมาก เพราะว่าจ้างกันไม่แพงด้วยไง แล้วไม่ต้องเป็นวงใหญ่ แล้วเป็นที่นิยม เพลงโฟล์ค John Denver ก็ฮิต เค้าก็มาเล่นที่ร้านทุกวัน ทีนี้เราก็นั่งดูทุกวัน ก็ว่าเล่นดีจัง ยังเอิญนักดนตรีที่เล่นที่ร้านพี่เค้าเป็นนักดนตรีร๊อก แต่เค้าต้องมาเล่นประจำกลางคืน เพราะว่าเค้าต้องหาสตางค์ เล่นประจำร้านอาหาร พอเค้าเล่นเสร็จเค้าก็ลงมาคุยกันเรื่องเพลงร๊อก เราก็ไปขลุกอยู่กับเค้า ไปประจบเค้า จนวันหนึ่งเค้าเห็นเราเป็นลูกเจ้าของร้าน เขาก็ เอ้าน้องโอมลองหัดเล่นกีตาร์ดู เค้าก็เอากีตาร์ใส่มือ แล้วก็สอนให้จับเป็นที่ๆบ้าง เราก็เริ่มหัดเอง เช่น Samba Party ของ Santana อะไรงี้ พอหัดได้ เค้าก็บอกโอ้โห มีแววมาก เล่นดี เราก็เลยอยากเป็นนักกีตาร์มาตั้งแต่บัดนั้น แต่ว่าไม่มีกีตาร์ ด้วยความที่ไม่ได้เตรียมตัวจะเป็นนักกีตาร์ ก็ไม่ได้ซื้อไว้ ไม่ได้อะไร แล้วสำหรับเด็กๆ มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะไปเอากีตาร์มาเลย จากวันนั้นก็เลยทำทุกวิถีทางที่จะให้ได้เจอกีตาร์ตัวเป็นๆ

ตุ้ย ธีรภัทร : ก็ต้องไปนั่งที่ร้านทุกวัน

พี่โอม : คือที่ร้านเนี่ย ไปนั่งประจบๆเค้า แต่มันไม่ได้จับ เพราะมันไม่ใช่กีตาร์เราไง หลังจากนั้นที่ร้านไม่ได้มีวงมาเล่นประจำแล้ว เราก็อยากเล่น เราก็อาศัยไปยืมเพื่อนเล่นเอา เริ่มต้นก็ต้องไปดูว่าใครมีกีตาร์ คนไหนมี เราก็หาทางไปเที่ยวบ้านเค้า ก็จะมีอยู่คนหนึ่งที่ค่อนข้างมีฐานะหน่อย เราก็ไปตีซี้ ไปเที่ยวบ้านเค้าเรื่อยๆ พอไปถึงก็ไปยืมกีตาร์เค้าเล่น จนพักนึงเค้าจับไต๋ได้ว่าเราจะไปเล่นกีตาร์เค้าอย่างเดียว เค้าก็ไม่ค่อยชวนเราไปแล้ว เนี่ย เราก็จะพยายามหากีตาร์ไปทุกวิถีทาง จนช่วงหนึ่งก็ประสพความสำเร็จ เราก็ไปอยู่กับวง ก็ตั้งวงขึ้นมา ตั้งวงกับพี่ชายแท้ๆเล่นดนตรีด้วยกัน แล้วเราก็มีวงของตัวเองวงแรก โดยที่มือกีตาร์คอร์ด เค้ามีฐานะหน่อย เค้าก็มีกีตาร์ของเค้า

ตุ้ย ธีรภัทร : คนเดียวกับที่เราไปเล่นบ้านเค้าหรือเปล่าครับ

พี่โอม : ไม่ใช่ๆ อีกคนหนึ่ง เราก็ไปรวมวงกับเค้า เขาเป็นเพื่อนพี่ชายก็ไปอยู่วงนี้ด้วยกัน เวลาเราไปเล่นกับวงนี้เค้าก็จะเอากีตาร์ของเขาให้เราเล่น ส่วนตัวเขาก็จะไปเล่นกีตาร์ของเครื่องเช่า เพราะว่าเราเป็นมือโซโล่ นั่นแหละที่เป็นครั้งแรกที่พี่ประสพความสำเร็จ ได้เล่นกีตาร์ดีๆ

ตุ้ย ธีรภัทร : เดี๋ยวนะครับ ที่พี่เล่ามาถึงจุดนี้ ตอนนั้นพี่เรียนอยู่ชั้นอะไรแล้ว

พี่โอม : น่าจะซัก ม.ศ.2 หรือ ม.ศ.3 แล้ว (เทียบกับสมัยนี้ คือ ม.3 หรือ ม.4 อายุอยู่ระหว่าง 14-15 ขวบ)

ตุ้ย ธีรภัทร : ถ้าผมย้อนกลับไปตั้งแต่ ป.6 หรือ ป.7 จนมาถึงเริ่มเล่นวง ม.ศ.3 เริ่มเล่นวง กี่ปีครับ ประมาณ 3 ปีได้มั๊ย

พี่โอม : ตอนพี่เริ่มหัดเครื่องเป่า ประมาณ ป.6 หรือ ป.7 ยังเล่นกีตาร์ไม่เป็น ม.ศ.1 นี่อยาก เริ่มจับกีตาร์แล้ว ต้องไปยืมกีตาร์คนอื่นมาเล่น พอ ม.ศ.2 นี่เล่นวงได้แล้ว จำได้เพราะว่าเล่นงานโรงเรียนแล้ว

ตุ้ย ธีรภัทร : ในตำแหน่งกีตาร์โซโล่

พี่โอม : ใช่ กีตาร์โซโลนี่แหละ

ตุ้ย ธีรภัทร : สรุปก็คือในความชอบและความสนใจ ใช้เวลาจากช่วงที่จับกีตาร์วันแรก ไปจนถึงขั้นรวมวง แล้วเล่นตำแหน่งกีตาร์โซโล่ได้ พี่ใช้เวลาฝึกฝนอะไร อย่างไร ทำให้อยู่ๆก็เล่นโซโล่ได้เลย

พี่โอม : นึกย้อนไปแล้วมันนานมากนะ มันเป็นช่วงทีเราขวนขวายทั้งๆที่ไม่มีเครื่องมือ คือบางช่วงมันก็มีการยืมกีตาร์เขาสำเร็จเพื่อเอามาเล่นที่บ้านบ้าง เราก็ฝึกใหญ่เลย แล้วก็ซ้อมเยอะ คือหาทางที่ทุกๆวันหยุด เราก็ลงขันกันไปเช่าเครื่องแล้วก็ซ้อม

ตุ้ย ธีรภัทร : ในห้องซ้อมสมัยก่อนเป็นอย่างไรครับ เครื่องดนตรีครบมั๊ย

พี่โอม : ก็เหมือนสมัยนี้แหละ ก็มีเครื่องดนตรี แต่ต่างจังหวัดมันก็สภาพแย่หน่อยเท่านั้น ห้องซ้อมดีๆก็ต้องบุเครื่องเก็บเสียงอะไรอย่างนี้ บางทีเราไปเช่าตามห้องซ้อมที่ราคาไม่แพง มันก็จะไม่เก็บเสียง (หัวเราะ) คือก็เป็นบ้านพี่คนโน้น คนนี้บ้าง เราก็ไปเล่นเลย บางทีโดนเขวี้ยงบ้านบ้างก็มีจริงๆ ในต่างจังหวัดจะมีอย่างนี้แหละ ก็เป็นไปตามมีตามเกิด

ตุ้ย ธีรภัทร : แสดงว่า ช่วงเวลาที่ยังไม่มีกีตาร์เป็นของตัวเอง ต้องยืมเขาบ้าง แล้วมาฝึกกีตาร์ ซึ่งการจะเล่นกีตาร์โซโล่ โอ้โห ต้องใช้การฝีกฝนยังไงครับ

พี่โอม : อันนี้จะเล่าข้ามไปไม่ได้เลย พอซักช่วงหนึ่งเราก็เริ่มมุมานะเก็บสตางค์ซื้อกีตาร์เป็นของตัวเองแล้วไง ไอ้ช่วงไม่มีกีตาร์นี่คือช่วงแรก พอช่วงนึง ก็เลยคุยกับพี่ชายว่า ต้องซื้อกีตาร์แล้วหละ ก็ไปร้านศึกษาภัณฑ์ ก็คือร้านขายเครื่องเขียนนี่แหละ

ตุ้ย ธีรภัทร : ที่ร้านศึกษาภัณฑ์ ที่ราชดำเนินนี่เหรอครับ

พี่โอม : ไม่ใช่ๆ ศึกษาภัณฑ์นี่รู้สึกว่าจะมีอยู่ทุกจังหวัดแหละ ที่ราชบุรีก็มีร้านนี้ พี่ก็ไปยืนดูก็มีกีตาร์ Kimus ตัวละสามสี่ร้อยบาท

ตุ้ย ธีรภัทร : Kimus เหรอฮะ ยี่ห้อนี้ เป็นกีตาร์ตัวแรกของผมเหมือนกัน

พี่โอม : คือชื่อมันพอมียี่ห้อ ก็ใช้ได้แล้วหละ เราก็ไปยืนดู แล้วก็เก็บตังค์ซื้อ ก็ยังเก็บไม่ได้ซักที เราก็ต้องเอาจากค่าขนม

ตุ้ย ธีรภัทร : เป็นแบบไซด์มาตรฐานเหรอครับ

พี่โอม : ใช่ขนาดมาตรฐานเลย แต่จำสภาพไม่ได้แล้ว มันนานมากแล้ว เราก็ยังเก็บตังค์ไม่ได้ซักที จนวันหนึ่งแม่พี่เค้าคงแอบเชียร์อยู่ เค้าก็สงสาร ก็เลยแกล้งเรียกออกไป ตอนที่มีเพื่อนเค้ามาเยี่ยมที่บ้าน มาทานข้าวกัน เค้าก็บอกว่า เอ้าโอมมานี่ ไหนเล่นกีตาร์ให้พี่คนนี้เค้าฟังหน่อย ตอนนั้น ยังยืมกีตาร์พี่ๆเค้ามาซ้อมอยู่ เราก็อายไม่กล้าเล่นให้แขกฟัง แม่ก็บอกว่าถ้าเล่นแล้วเดี๋ยวพี่เค้าจะให้ตังค์ไปซื้อกีตาร์ที่ยังขาดอยู่ เราก็เอาเลย จำไม่ได้แล้วว่าเพลงอะไร รู้แต่ว่าตั้งใจเล่นเลย

ตุ้ย ธีรภัทร : ร้องด้วยหรือเปล่าครับ

พี่โอม : ไม่น่าจะร้องนะ สมัยนั้นพี่ขี้อายมาก ไม่กล้าร้องเพลง วันนั้นก็เลยประสพความสำเร็จ แม่ก็ให้สตางค์เท่าที่ยังขาดอยู่ วันนั้นพี่ก็ไปซื้อกีตาร์เลย นั่นแหละก็ได้กีตาร์มาตัวแรก ในเวลาไล่ๆ กับที่จะตั้งวงพอดี เราก็เลยมีกีตาร์มาฝึกได้อยู่ตลอด

ตุ้ย ธีรภัทร : ผมอยากรู้ว่า ช่วงแรกๆที่ฟอร์มวง เพลงที่พี่เล่นช่วงนั้น เป็นเพลงอะไร สไตล์ร๊อกใช่มั๊ยครับ

พี่โอม : แรกๆนี่ก็เล่นเพลงฝรั่งอย่างเดียวเลย คือในยุคนั้น เพลงที่มันดัง มันจะแบ่งเป็น 2 ประเภท คือพวกเพลง Pop กับ พวกเพลง Rock เพลง Jazz อะไรพวกนี้เรายังไม่รู้จัก เพราะเรายังเด็กเกินไป เพลง Pop ก็จะเป็นพวกนี้เลย Sha la la la la

ตุ้ย ธีรภัทร : (ปรบมือ แปะ แปะ แปะ รับกับเพลงแล้วหัวเราะ)

พี่โอม : แต่เป็นเวอร์ชั่นของ The Wynner สมัยก่อนจะดังมาก แล้วก็ อีกเยอะแยะมากมาย ถ้าพูดถึงนี่ต้องเลือกเพลงที่ยุคนี้ยังรู้จักอยู่ ก็เช่น Beautiful Sunday นี่แหละพวกนี้ก็ยังเล่นอยู่ แต่ในฝั่งเพลง Rock นี่จะพูดง่ายกว่า อย่างพวก Highway Star - Deep Purple นี่หละ เพลงพวกนี้จะเป็นเพลงครูเลย Santana อย่าง Black Magic Woman, Oye Como Va อะไรนี่แหละ

ตุ้ย ธีรภัทร : แล้วเวลาอย่างพี่ไปซ้อมนี่ ในวงมีสมาชิกเยอะมั๊ยครับ

พี่โอม : ก็เราต้องรวมให้ได้ครบวง ก็มีพี่ มีพี่ชายพี่เล่นเบส แล้วก็เพื่อนพี่ชายพี่เล่นคอร์ดที่เป็นเจ้าของกีตาร์ไฟฟ้าในวงนี้แหละ แล้วก็มีมือกลอง ก็รวมจากสมาชิกในโรงเรียน

ตุ้ย ธีรภัทร : แล้วเวลาที่พี่โซโล่ มันก็ต้องเป็นกีตาร์ไฟฟ้าซี่ครับ

พี่โอม : ก็ตอนนี้เรามีกีตาร์ไฟฟ้าแล้วนี่ เพียงแต่ไม่มีอยู่ในครอบครองเท่านั้นเอง(หัวเราะ)

ตุ้ย ธีรภัทร : เรียกว่ามีอาวุธละ

พี่โอม : เวลาไปซ้อม มือกีตาร์คอร์ด ก็จะเอากีตาร์ไฟฟ้ามาให้พี่เล่น (หัวเราะ) ตัวเค้าก็จะตีคอร์ดก๊องแก๊ง ตามมีตามเกิด นั่นคือ ในวัยเริ่มต้น

================================

อ่านต่อตอนหน้าครับ
Create Date :27 สิงหาคม 2552 Last Update :27 สิงหาคม 2552 13:15:21 น. Counter : Pageviews. Comments :1