bloggang.com mainmenu search
{afp}
ตอนที่แล้ว เป็นการพูดคุยกับเมา ในเรื่องราวที่อยู่ในอดีต ทั้งหมด แต่ตอนที่เหลือต่อไปนี้ จะเป็นเรื่องราวที่อยู่ในปัจจุบัน รวมทั้ง การมองไปข้างหน้าถึงอนาคตของตัวเขาเอง มาอ่านต่อกันครับ

========================================

เมา กับเพื่อนๆ ในคอนเสิร์ต AF 6

ถาม : แล้วตอนนี้ ทำงานอะไรอยู่บ้าง

เมา เสือใหญ่ : เวลาส่วนใหญ่จะใช้ให้กับการซ้อมกับ วงอินโนเซ้นท์ เป็นหลัก แล้วก็มีเล่นคอนเสิร์ตทุกวันเสาร์ ให้กับ AF 6 ซึ่งจะหมด ประมาณกลางเดือนกันยายน โดยปกติก็จะได้โจทย์วันจันทร์ กว่าจะแกะเพลง เช็คเพลง กว่าจะทำ data เสร็จ วันเสาร์ก็เจอกันตั้งแต่ตอนเช้า แต่เวลาที่เหลือแต่ละวัน ก็จะซ้อม ของอินโนเซ้นท์ครับ

ถาม : อย่างAF เมาเตรียมตัวอย่างไร ในแต่ละสัปดาห์

เมา เสือใหญ่ : เพลงที่ได้มาโดยมาก ส่วนมากจะเคยเล่นกันอยู่แล้ว นักดนตรีในวงที่เล่นบนเวทีAF ส่วนใหญ่ก็เล่นกลางคืน เคยเล่นเพลงเหล่านี้มาบ้างแล้ว ก็เลยไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องเวลาไม่ทันในการแกะเพลงแต่ละสัปดาห์

ถาม : แล้วเมาเล่นกลางคืน สัปดาห์ละกี่วัน

เมา เสือใหญ่ : ก็มี อังคาร พฤหัส ศุกร์ อาทิตย์ สี่วันครับ
แต่ของAFนี่ ว่างๆก็จะฟัง เช็ค อะไรที่มันยากๆหน่อย ก็จะเอามาซ้อม

ถาม : โจทย์จะมาถึงเราวันไหน

เมา เสือใหญ่ : วันอาทิตย์ กลางวัน ก็มาถึงแล้ว ก่อนนักล่าฝันนิดนึง แกะวันเดียว แล้ววันจันทร์ก็จะเริ่มซ้อมกัน แต่ของผม ปีนี้จะพิเศษหน่อย ไม่ได้ซ้อมกับใครเลย

ถาม : คนอื่นเค้าซ้อมกัน แต่เราไม่ได้ซ้อมกับเค้าด้วย

เมา เสือใหญ่ : ใช้ เค้าอัดไกด์กันก่อน ส่งให้นักล่าฝันในบ้าน เป็นไกด์ให้เด็ก แล้วเขาก็โปรแกรมกลองกันขึ้นมาก่อน ยังไม่ใช่ของจริง เพื่อให้เด็กได้ซ้อม ของผมก็จะต้องซ้อมเอง แล้วก็ไปซ้อมวงวันเสาร์เลย เราไม่ได้ซ้อมกับวงเค้าก่อน ก็ต้องทำการบ้านหนักกว่าเขาหน่อย

ถาม : แล้วไม่มีปัญหาหรือ

เมา เสือใหญ่ : ก็มีบ้างเหมือนกัน แต่ก็แก้ไขไปได้ เช่นเรื่องความเข้าใจกันระหว่างนักดนตรีในวงด้วยกันเองในเพลงแต่ละเพลง อย่างบางเพลงที่มันลีดกลางเพลง วันเสาร์ก็ต้องมาเช็คกันอีกทีพร้อมเด็ก ว่าจะต้องนับกี่บาร์ๆ เข้า ตรงนี้ยากหน่อย แต่เพลงก็ไม่เท่าไหร่ แต่ถึงเวลาก่อนขึ้นเวทีทุกครั้งก็พร้อมแล้ว

ถาม : ปกติทีมทำงานดนตรีในAF ทำกันมานานแค่ไหนแล้ว

เมา เสือใหญ่ : เฉพาะผม มาทำตั้งแต่AF 1 เลย แล้วก็มา 4 5 6 ส่วน 2 กับ 3 ไป ออกอัลบั้มกับ วงเสือใหญ่ซะ

ถาม : มีประสบการณ์ที่ต้องแก้ปัญหาในAFบ้างไหม

เมา เสือใหญ่ : ก็มีทุกซีซั่นแหละครับ โดยเฉพาะเรื่อง การร้องเร่งจังหวะ แต่ก็เป็นเรื่องปกติของเด็กครับ เพราะว่าเค้ายังไม่ใช่มืออาชีพ มันก็ต้องผ่านจุดนี้มาก่อนทั้งนั้น หน้าที่เราก็ต้องช่วย เราก็ต้องเล่นให้มันง่ายๆ ช่วยเด็ก ช่วยทุกคนให้โชว์ของแต่ละคนออกมาดีที่สุด บางทีก็มีร้องก่อน คือร้องเข้ามาก่อนจังหวะ นักดนตรีต้องมองหน้ากันแล้วก็แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ากันไป บางทีต้องเข้าใจกันเลยว่า เราควรจะตามเด็กท่อนไหนๆ ที่ผมผ่านมา มีทุกปีแหละ แต่เราก็เข้าใจเด็กนะ ไม่เคยคิดว่าอะไร การประกวดมันต้องเล่นให้เขาร้องง่ายที่สุด ต้องเหมือนต้นฉบับที่สุด แล้วก็ต้องช่วยเขาได้กลางเพลง กลองมันก็จะเป็นหลักที่จะพาใครไปไหน จะพาไปถึงท่อนไหนๆ การแก้ไข มันก็จะเป็นไปโดยอัตโนมัติ มันเป็นเรื่องของประสบการณ์ล้วนๆเลย แต่สำคัญเลยว่ากลองต้องนำคนอื่นได้ ต้องพาไปให้ได้ หรือไม่ถ้ามันไม่ไหวแล้ว ต้องหาที่ลงหาที่จบให้ได้

ถาม : ในมุมมองของคนทำงาน AF มาหลายซีซั่นแล้ว AF แตกต่างจากงานอื่นอย่างไรบ้าง

เมา เสือใหญ่ : คืองานAF มันเป็นงานประกวด แข่งขัน มันมีการถ่ายทอดสด On air สดๆ มันเป็นเรื่องคิว บางทีเค้าบอกปั๊บ เราต้องเข้าใจเลย แล้วทำได้ทันที พอเราเข้าใจแล้ว ทุกคนก็สบายใจแล้ว ก็คือต้องแม่นคิวมากๆ เท่านั้นเอง

ถาม : ได้ประสบการณ์อะไรจากการงาน AF บ้าง

เมา เสือใหญ่ : ที่ได้ชัดๆเลย คือเรื่องใจ เพราะก่อนที่จะ นับถอยหลัง เพื่อปล่อยคิว ห้า สี่ สาม สอง เนี่ย เรากลัวไม่ได้ ถ้ากลัวปั๊บ พลาด แล้วทุกอย่างจะพลาดหมดเลย งานไม่เริ่มถ้าผมไม่กล้านับเสียคนเดียว ทุกอย่างพังหมด ได้เรื่องใจนี่แหละ คือต้องนิ่งมาก สมาธิต้องดี หมายถึงว่าทุกเพลงที่ปล่อยออกมา เราต้องเป็นคนนับหมด ถ้าเรากลัวผิด ซึ่งมันก็มีเหมือนกันนะ คือเวลาทำงานจะมีคนปล่อยคิวผ่านเมโทรนอมผ่านเข้ามาในหู ถ้าเราไม่ได้ยินเสียงหนึ่งป๊อก ไปฟังเสียงคนกรี๊ดดังๆนี่ตายเลยนะ ต้องสมาธิดี ต้องนิ่ง สังเกตเวลาพิธีกรบอกว่า พบกับวี......... ผมจะนั่งนิ่งๆ รอฟังเมโทรนอมอย่างเดียวเลย คนกรี๊ดนี่ผมไม่ฟังเลย จัดที่วอลุ่มอย่างเดียวเปิดให้ดังไว้ก่อน แล้วก็นับวัน ทู ที โฟร์ นับให้คนอื่น คือต้องนิ่ง อะไรอย่างนี้ อันนี้แหละ พอเราทำบ่อยๆ ก็จะได้อย่างเห็นๆเลย ทีนี้ขึ้นเวทีอะไร ก็จะนิ่ง มีสติ มีสมาธิ

ถาม : แล้วมันต่างกับการเล่นดนตรีทั่วไปยังไง

เมา เสือใหญ่ : มันจะต่างกับเล่นดนตรีกลางคืน ตามผับ ตามร้าน ซึ่งเล่นกลางคืน มันจะผ่อนคลายกว่าเยอะ ซึ่งมันก็แล้วแต่งาน เพลงๆเดียวกัน เล่นคนละที่กัน มันก็เลยไม่เหมือนกัน อยู่ที่ว่าเราจะรู้สึกกับมันยังไง

ถาม : เข้าเรื่องการซ้อมของดิอินโนเซ้นท์บ้าง คุณได้รับโจทย์เพลงมานานแค่ไหนแล้ว

เมา เสือใหญ่ : ผมได้ยินเพลงของอินโนเซ้นท์มาตั้งแต่อายุประมาณ 13 -14 ปี แต่ก็ไม่ได้แกะเพลงของเขา แต่พอมาเล่นจริง ไม่นึกว่ามันจะยากอย่างนี้ เราเคยฟังอย่างเดียว แต่ไม่คิดว่า อู้หู ทำไมมันเยอะแยะขนาดนี้ (หัวเราะ) ถ้าฟังจะดูเหมือนไม่มีอะไร แต่เล่นจริงๆน่ะ ยากเลย

ถาม : เคยได้ยินบ่นกันหลายคนแล้ว มันยากตรงไหนน่ะ

เมา เสือใหญ่ : ยาก เรื่องคอร์ด เรื่องสัดส่วน คือมันไม่ธรรมดาน่ะ มันไม่เหมือนปกติ ซึ่งเวลาเราฟังเพลง โอ๊ย เพราะๆ นิ่มๆ อย่างนี้ อย่างเอาง่ายๆเลย เพลงเพียงครึ่งใจเนี่ย เราฟังโอ๊ย เพราะมากเลย เพลงไม่มีอะไร กลองก็ไม่เห็นมีอะไร พอไปเล่นจริงๆ มันจะทำให้มันเพราะแบบเพียงครึ่งใจนี่มันยากมาก ต้องซ้อมกันเยอะมาก เราก็จีงอยากให้มันได้อารมณ์นั้นน่ะ

ถาม : คุณเคยเล่นเพลงพวกนี้มาก่อนหรือเปล่า

เมา เสือใหญ่ : เคยเล่นมาบ้างบางเพลง แต่ส่วนมากจะฟังตั้งแต่เด็ก ตั้งแต่ เพลงสอบตก นั่นมาเลย ได้ยินมาตั้งแต่เด็ก เพราะเราฟังเพลงไทยเยอะ พอจะมาเล่นก็ยังคิดว่า โอ้โห สบาย แต่พอมาเล่นจริงๆ มันไม่ใช่อย่างนั้น ไม่สบายอย่างที่คิด มันยาก(หัวเราะ)

ถาม : จริงๆแล้วเพลงที่เขาจะเล่นคอนเสิร์ต เขาเล่น Pattern เดียวกับต้นฉบับเลยหรือเปล่า

เมา เสือใหญ่ : เปลี่ยน Groove แต่ว่าหลักๆโครงสร้างยังอยู่เหมือนเดิมหมดเลย เพื่อให้คนที่เคยได้ยิน ก็จะได้ยินอย่างนั้นแหละ เพียงแต่ว่าปรับเปลี่ยนให้มันใหม่ขึ้น บางเพลงก็ให้มันสนุกขึ้น กระชับขึ้นอะไรอย่างนี้

ถาม : จากที่ซ้อมมานี่ คิดว่าเพลงอะไรที่ยากมาก

เมา เสือใหญ่ : ถ้าเพลงเร็ว ก็เพลงเมืองอะไร ถ้าเพลงช้า ก็เพียงครึ่งใจ
ถาม : ถึงเวลานี้ ปลายเดือน สิงหาคม ซ้อมกันค่อนข้างลงตัวแล้วหรือยัง

เมา เสือใหญ่ : ก็ใกล้แล้วครับ ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์ ยังไงพี่เค้าก็ต้องจัดการให้เนี้ยบที่สุด


นี่ไง หลักฐาน รอรับสัญญาณจากพี่โอม

ถาม : เวลาซ้อมกันแล้วถ้าจะบอกว่าลงตัว ใครจะเป็นคนบอก ใครเป็นคนตัดสินใจ

เมา เสือใหญ่ : มันอยู่ที่ทุกคนในวง ซึ่งก็คือพี่ๆทั้ง 4 คน เค้าก็ช่วยๆกัน ซ้อมเสร็จก็ฟัง แล้วก็ปรับ เพิ่มโน่น เปลี่ยนนี่ไป จนกว่าจะลงตัว ซ้อมแล้วฟังด้วยครับ แล้วก็ปรับไม่ใช่แค่พยายามทำตามต้นแบบ

ถาม : เห็นมืเครื่องฟังเสียบหูไว้ตลอดเวลาที่เล่น มันคืออะไร

เมา เสือใหญ่ : เป็นสิ่งที่ผมเอาไว้ใช้ฟังเสียงเคาะจังหวะจากเมโทรนอมครับ ระยะหลังๆมือกลองจะใช้เครื่องมือนี้ช่วย เพราะว่ามันต้องใช้ซีเควนซ์ แต่มันสำคัญนะ บางทีเล่นสดผมก็ใส่ เพราะว่าบางงาน อย่างคอนเสิร์ตพี่โอม Into The Light น่ะ เล่นสดหมดทุกเพลง แต่ผมก็ใส่ คอนเสิร์ตใหญ่ขนาดนั้น ไทม์มิ่งมันต้องเป้ะ คลาดเคลื่อนไม่ได้ ผมจะกลัวมากเรื่องไทม์มิ่งเคลื่อนมาก

ถาม : วางแผนชีวิตตัวเองกับความเป็นนักดนตรีไว้อย่างไรบ้าง

เมา เสือใหญ่ : บทสรุปของชีวิตการทำงานดนตรีของผมที่ผมคิดไว้ ผมตั้งใจจะกลับไปเป็นครูที่โรงเรียนที่น่านที่ผมเคยอาศัยเค้าฝึกดนตรีมาก่อน ทุกวันนี้ก็ยังคุยกันอยู่ เค้าก็ถามว่าเมือไหร่กลับมา พร้อมเมื่อไหร่ มาได้เลย

ถาม : ไปเป็นครูสอนดนตรีเลยหรือ

เมา เสือใหญ่ : คืออยากไปช่วยเค้าสอนเด็กๆนะครับ ก็คือกลับไปเพื่อเอาประสบการณ์ทั้งหมดที่เล่ามา กลับไปให้เด็ก ตัวผมเองก็มีความรุ้สึกผูกพันอยู่ที่นั่น

ถาม : อายุคุณเพิ่ง 34 ยังมีทางเดินอีกไกล คิดเรื่องเหล่านี้ไว้แล้วหรือ

เมา เสือใหญ่ : ก็คือจนเรารู้สึกว่า มันที่สุดของเราแล้ว อย่างในสายนักดนตรีแบ๊คอัพเนี่ย สำหรับคอนเสิร์ตอินโนเซ้นท์นี่ ผมถือว่า ผมขึ้นมาไกลที่สุดแล้วนะ ถือเป็นเกียรติประวัติของชีวิต ผมก็จะเก็บไว้ตรงนั้นเลย ผมจะไม่ทำอะไรกับอย่างนี้อีกแล้ว อาจจะเล่นกลางคืนแบบสนุกสนาน ออกอัลบั้มหรืออะไรอย่างนี้ แต่ผมจะไม่ทำแบ๊คอัพอีกแล้ว เพราะผมถือว่าผมเข้ามากรุงเทพด้วยเหตุผลนี้ เรามาถึงสุดทางของมันแล้ว ถือเป็นความภูมิใจ เก็บไว้บนหิ้งเลย เราจะไม่ดึงลงมาอีก พอเล่นได้อีกซักพัก ก็จะไปเลือกประกอบอาชีพ จะกลับไปเอาประสบการณ์ทั้งหมดไปถ่ายทอดให้เด็กอย่างที่บอกนี่แหละ ที่นั่นมันมีคนรู้น้อยมาก ผมต้องพยายามเอง ผมถึงจะได้อย่างนี้ ไม่มีคนไปสอนว่า ต้องทำอย่างไร ต้องเล่นยังไง

ถาม : บอกอีกที ชื่อโรงเรียนอะไรนะ

เมา เสือใหญ่ : โรงเรียนน่านคริสเตียน ครับ ก่อนหน้านั้น ผมเคยคุยกับนักดนตรีเก่งๆ อย่างจั๊ก ชวิน อะไรอย่างนี้ ว่าจะไปเวิร์คชอป จั๊กเค้าเอาด้วยเลยนะ คิดไว้ว่าเราจะเชิญเพื่อนๆเก่งๆคนอื่นๆไปด้วย เชิญแต่ละภาควิชาดนตรีของแต่ละอำเภอมาดู มีประกวดดนตรีอะไรก็ว่าไป ให้เขาจัดการกันเอง แต่เราไปเล่นฟรีเลย ไม่เอาสตางค์ เสียค่ารถไปเองด้วย เวลาเวิร์คชอปก็แยกกันทำไปเลย ใครสนใจกลอง ก็จะมีห้องกลอง แล้วก็มีห้องเครื่องดนตรีอื่นด้วย ความมุ่งหมายคือการไปถ่ายทอดความรู้ให้เด็ก เพราะจังหวัดมันอยู่ไกลไง เราสงสารเด็กน่ะ ถ้าสมัยนั้นเรามีคนสอนอย่างนี้ เราก็จะเก่งกว่านี้ ก็เลยอยากเอาประสบการณ์ไปสอนอีกที


====================================

ไม่ต้องมีบทสรุปใดๆ สำหรับนักดนตรี Size XXXL คนนี้ นอกจากอยากจะบอกว่า หนทางยังยาวไกล ยังมีทางเดินที่ต้องผ่านไปอีกมากมาย


Create Date :08 กันยายน 2552 Last Update :9 กันยายน 2552 13:29:02 น. Counter : Pageviews. Comments :14