bloggang.com mainmenu search




ในสมัยรัชกาลที่ ๔ ราวปี พ.ศ. ๒๓๙๙ มีเรือสินค้าจากต่างชาติเข้ามาทอดสมอที่กรุงเทพ จำนวนมากถึง ๑๐๓ ลำ เรือของไทยเองมีเพียง ๓๗ ลำ พวกต่างชาติเข้ามาซื้อสินค้าแต่ละครั้งเป็นจำนวนเงินที่สูงมาก ลำละห้าพัน หนึ่งหมื่น หรือสองหมื่นก็มี ไม่มีเงินบาทไทยเพียงพอที่จะใช้จ่ายกันขนาดนั้น พ่อค้าในกรุงเทพก็ไม่อยากรับเงินเหรียญต่างประเทศ



เรือสเปน ๒๔๑๐


บริษัทที่เป็นตัวแทนการค้าพวกอังกฤษ ฝรั่งเศส อเมริกัน ที่อยู่ในกรุงเทพ ต้องเอาเงินเหรียญเงินต่างประเทศไปวานให้ช่างที่คลังมหาสมบัติหลอมใหม่เป็นเงินตราของไทยหรือเงินพดด้วง พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าทรงพระกรุณากับพ่อค้าเหล่านั้น คิดค่าใช้จ่ายตามที่เป็นจริง โดยไม่คิดกำไรจากการบริการนี้เลย เงินที่ฝรั่งเอามาให้ช่วยทำใหม่นี้มีถึง ๒๖๘,๘๒๘ เหรียญ ก็ยังไม่พอ ยังค้างอยู่ในมือพ่อค้าอีกหลายหมื่นเหรียญ ช่างหลวงมีน้อย ทำได้เพียงวันละ 30 ชั่งเศษ หรือประมาณ ๑,๔๐๐ เหรียญเศษ (คิดจากอัตราแลกเปลี่ยน ๕ เหรียญนกเท่ากับ ๓ บาท)



เงินพดด้วงหรือเงินบาท


ขณะนั้นกงศุลอังกฤษ (Mr. Char Bell) ทำหนังสือทูลเกล้าว่า ถ้าการซื้อขายมากกว่าสิบชั่งขึ้นไปให้ใช้เงินเหรียญนอกแทน ถ้าต่ำกว่าให้ใช้เงินบาท
อัตราแลกเปลี่ยนสมัยนั้น ในตลาดทั่วไปคิดเหรียญละหกสลึงเจ็ดสตางค์ หรือ ๑.๕๗ บาท หรือเงินร้อยเหรียญแลกเงินไทยได้สองชั่งตำลึงสามบาทสองสลึง หรือ ๑๖๓.๕๐ บาท ถ้าแลกที่ท้องพระคลังเงินเหรียญร้องเหรียญแลกเงินไทยได้สองชั่งตำลึงสามบาท หรือ ๑๖๓ บาท กงศุลอังกฤษเสนอว่าขอใช้อัตราเงินร้อยเหรียญแลกเงินไทยได้สองชั่งตำลึงกึ่ง หรือ ๑๖๒.๐๐ บาท

จึงทรงมีพระราชดำริว่า เงินเข้ามามากมีคุณกับประเทศ ราษฎรก็มั่งคั่งร่ำรวยขึ้น อีกทั้งบ้านอื่นเมืองอื่น ที่ฝรั่งค้าขายด้วย หรือเมืองในภาคใต้ของเราก็ใช้เงินเหรียญต่างประเทศกันมานานแล้ว จึงสนับสนุนให้ราษฎรใช้เงินเหรียญของฝรั่งจับจ่ายใสสอยแทนเงินบาทได้โดยไม่มีความผิดแต่อย่างใด แล้วจึงให้พระคลังมหาสมบัติไปใคร่ครวญไตร่ตรอง เจ้าพนักงานพระคลังฯซึ่งมีความเห็นพร้องกับกงสุลอังกฤษในการที่จะทำให้การแลกเปลี่ยนมีอัตราเดียว จึงประกาศให้ราษฎรใช้เงินเหรียญได้ทั่วไป หรือส่งเงินเหรียญแทนเงินบาทต่อนายภาษีอากรก็ได้ การรับเงินเหรียญเป็นรายได้เข้าคลังนั้น ทางการพบว่าเงินเหรียญอาจมีน้ำหนักไม่เท่ากัน จึงจะขอจะหลอมและชั่งออกมาเป็นมาตราเงินไทยแทนโดยหักค่าเชื่อเพลิงเล็กน้อย

แม้จะมีประกาศเป็นทางการแล้ว แต่ผู้คนประชาชนทั่วไปที่ทำมาค้าขายก็ยังไม่สนิทใจที่รับเงินเหรียญต่างประเทศไว้ในครอบครอง ต้องการแต่เงินบาท แม้เวลาจะผ่านไปอีกหลายปี ความเชื่อมั่นต่อเงินเหรียญต่างชาติก็ไม่ดีขึ้น ทางการจึงต้องประกาศให้ใช้เงินเหรียญ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๐๐ และ พ.ศ. ๒๔๐๗

ประกาศดังกล่าวกำหนดอัตราแลกเปลี่ยน



๓ เหรียญนก เป็นเงินไทย ๕ บาท



เงินรูปีของอินเดีย ๗ รูปี เป็นเงินไทย ๕ บาท





เงินเหรียญวิลันดาขนาดใหญ่ ๑๓ เหรียญ เป็นเงินไทย ๕ ตำลึง หรือ ๒๐ บาท


เงินเหรียญจากเมืองนอก มีเนื้อเงินค่อนข้างมาตรฐานเป็นที่น่าเชื่อถือ เพื่อให้คนยอมรับยิ่งขึ้น ทางการจึงได้ประทับตราลงบนเหรียญเหล่านั้น (ตราจักร-มงกุฏ) เหรียญที่ตีตรานี้ ส่วนมากเป็นเหรียญแม็กซิโก หรือเหรียญนกที่ผลิตในปี ค.ศ. ๑๘๔๕-๑๘๕๗

ปี พ.ศ. ๒๔๔๕ สมัยรัชกาลที่ ๕ ราคาโลหะเงินตกต่ำมาก จึงมีพระราชบัญญัติ ประกาศยกเลิกกฎหมายเกี่ยวกับเงินตราในบางมาตรา ทำให้เหรียญต่างประเทศชนิดต่างๆ หมดความสัมพันธ์กับเงินตราไทยนับแต่นั้นมา ถ้าจะนับเวลาที่เหรียญต่างประเทศใช้ในไทยเป็นเวลาเกือบครึ่งศตวรรษ ยาวนานไม่ใช่น้อย เป็นยุคที่รายได้จากเงินตราต่างประเทศโบยบินมาสู่สยามประเทศของเราจนตั้งรับไม่ทัน

บัดนี้ เงินเหรียญเหล่านั้นยังกระจัดกระจายให้เห็นอยู่บ้างในร้านรับซื้อเครื่องเงินเพื่อรอการหลอมทำเครื่องประดับ ของใช้อื่นๆ หรือบรรดานักสะสม เหรียญส่วนหนึ่งจมในก้นแม่น้ำสายหลักที่ไหลออกสู่อ่าวไทย ซึ่งเคยเป็นเส้นทางเดินเรือมาก่อน หวังว่าความกว้างใหญ่ของพื้นที่ใต้น้ำยังคงรับฝากเหรียญเหล่านี้ไว้ให้ลูกหลายได้ศึกษาต่อไป หากไม่เจอกับนักประดาน้ำชาวบ้านที่งมขึ้นมาขายเพื่อประทังชีวิตซะก่อน

ที่จริงเหรียญโบราณเหล่านี้ขายในอินเตอร์เน็ตมากมาย จะหาซื้อเมื่อไรก็ได้ เหรียญที่ได้จากอินเตอร์เน็ตจะไม่มีที่มาที่ไปของเหรียญ เป็นของสะสมของเก่าทั่วไป แต่จะมีความหมายอะไรเล่า ถ้าเหรียญเหล่านั้นไม่ได้พบในเมืองไทย ซึ่งมีประวัติยาวนานนับร้อยปี และมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์ของชาติเรา



ตราประทับรูปมงกุฎและจักรบนเหรียญนก

 photo perucoin.jpg

 photo perucoin2.jpg

ตราประทับรูปมงกุฎและจักรบนเหรียญเปรู

เหรียญเงินต่างประทศ หรือเหรียญเงินนก ที่มีการประทับตรานั้น ที่เหลือมาถึงเดี๋ยวนี้มีจำนวนน้อย จึงเป็นที่นิยมในการสะสมทั้งไทยและเทศ อันที่สวยๆราคาเกินครึ่งแสน แต่ตราประทับนั้นต้องเกิดขึ้นในยุคนั้น หรือร้อยกว่าปีมาแล้ว หากมีการปลอมแปลงตราประทับขึ้นมาในภายหลัง คงสับสนไม่น้อย ใครคิดจะเก็บของแท้คงต้องตาถึงจริงๆ
Create Date :25 ธันวาคม 2554 Last Update :7 กันยายน 2557 12:28:47 น. Counter : Pageviews. Comments :27