bloggang.com mainmenu search

ประวัติความเป็นมา
          เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ.2453 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลคฤหมงคล ณ พระตำหนักใหม่ ซึ่งโปรดเกล้า ฯ ให้สร้างขึ้นเป็นที่ประทับพักร้อนที่ทุ่งนาริมคลองพญาไท ซึ่งเคยเป็นทุ่งนาหลวงทดลองปลูกธัญพืชและประกอบพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอยู่หลายปี

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2453 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี ได้เสด็จย้ายพระราชฐานจากพระบรมมหาราชวังมาประทับ ณ พระตำหนักพญาไทเป็นการถาวรจนตลอดพระชนมายุ การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายหลังที่สมเด็จพระบรมราชชนนีสวรรคตใน พ.ศ.2462 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระตำหนักที่ประทับและอาคารบริวาร คงไว้แต่ท้องพระโรงองค์เดียว คือ พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และโปรดเกล้าฯ ให้สร้างหมู่พระราชมณเฑียรประกอบด้วยพระที่นั่ง 4 องค์ มีพระที่นั่งพิมานจักรีเป็นองค์ประธาน และพระที่นั่งรองอีก 3 องค์ พระราชทานนามว่า ไวกูณฐเทพยสถาน ศรีสุทธนิวาส และอุดมวนาภรณ์ การก่อสร้างแล้วเสร็จในเวลา 2 ปี จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งพระราชพิธีเฉลิมพระราชมณเฑียรตามพระราชประเพณี ในวันที่ 16 และ 17 พฤศจิกายน พ.ศ.2465 ยกขึ้นเป็นพระราชวังเพื่อเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระบรมชนกนาถและพระบรมราชชนนี 
 ณ พระราชวังแห่งนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงนิพนธ์วรรณกรรมชิ้นเอกหลายเรื่อง งานด้านการปกครองที่โดดเด่น คือ ดุสิตธานี เมืองจำลองในพื้นที่ 2 ไร่เศษ ด้านหลังพระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งพระองค์ทรงใช้ประโยชน์ 2 ประการ คือปฏิบัติการทดลองปกครองและสอนระบอบประชาธิปไตย

          หลังจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวังแห่งนี้ไม่ได้ใช้เป็นพระราชฐานที่ประทับอีกต่อไป จึงได้มีการดัดแปลงเป็นโรงแรมชั้นหนึ่ง โฮเต็ลพญาไทเริ่มดำเนินกิจการเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2468 ต่อมาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้ใช้ส่วนหนึ่งของพระราชวังเป็นที่ตั้งของสถานีวิทยุกระจายเสียง ถ่ายทอดกระแสพระราชดำรัสเป็นปฐมฤกษ์เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2473

          เมื่อสถานีแห่งนี้ย้ายออกไปรวมกับสถานีวิทยุกระจายเสียงศาลาแดง ทางราชการจึงได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตใช้เป็นที่ตั้งกองเสนารักษ์จังหวัดทหารบกกรุงเทพฯ และในเดือนมกราคม พ.ศ.2489 ได้แปรสภาพกองเสนารักษ์เป็นโรงพยาบาล ต่อมากรมแพทย์ทหารบกได้อัญเชิญพระปรมาภิไธยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมาสถาปนาเป็นชื่อโรงพยาบาล ในนาม "โรงพยาบาล พระมงกุฎเกล้า" ได้กระทำพิธีเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ.2495 อันเป็นวันคล้ายวันสวรรคต เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ

ไปชมพระราชวังพญาไท
          พระราชวังพญาไทตั้งอยู่ที่ถนนราชวิถี เขตราชเทวี บริเวณเดียวกันกับโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้า ไม่ไกลจากอนุสาวรีย์ชัยฯ เท่าไรนัก เมื่อมองเข้าไปจากถนนราชวิถี จะเห็นพระราชวังสวยเด่นเป็นสง่า เนื่องจากด้านหน้าเป็นสนามหญ้ากว้างจึงไม่มีสิ่งใดมาบดบังความงามของพระราชวัง จะมีก็เพียงต้นไม้ใหญ่ด้านข้างที่มาช่วยเพิ่มความร่มรื่นให้เท่านั้น

เรามาเดินดูรอบ ๆ ภายนอกกันก่อนจะเห็นว่า บริเวณพระราชวังจะประกอบไปด้วยหมู่พระที่นั่ง 5 องค์ คือ พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งพิมานจักรี พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ และพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ (ชื่อคล้องจองกันเลย) ขอให้ดูแผนผังประกอบ

^แผนผังพระราชวังพญาไท^

เดินดูภายนอก
          ลักษณะที่เด่นของพระราชวังพญาไทก็คือ หอคอยสูง หลังคายอดแหลม สถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกยุคเฟื่องฟู เน้นความเรียบง่ายแต่สง่างาม มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทย เห็นได้จากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และพระที่นั่งพิมานจักรีจะมีหน้าต่างเปิดกว้างหลายบาน ซึ่งรับลมได้ทุกด้าน

          เมื่อเรามองจากทางด้านหน้าจะเห็นหมู่พระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมต่อกันทั้งหมด จากด้านซ้ายสุดคือพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีทางเดินเชื่อมต่อในระดับชั้นที่สองของอาคารเข้าสู่พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธาน ต่อด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และต่อไปยังพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระที่นั่งทั้ง 4 องค์เป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 2 ชั้น นอกจากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานซึ่งได้ต่อเติมชั้นที่สามภายหลังเป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ ส่วนด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานจักรี จะเป็นอาคารชั้นเดียวสำหรับเป็นที่เทียบรถพระที่นั่งและที่พักคอยขอเข้าเฝ้า


^พระที่นั่งพิมานจักรี^


^พระที่นั่งพิมานจักรี(ซ้าย) , พระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน(ขวา)^

          ลักษณะที่เด่นของพระราชวังพญาไทก็คือ หอคอยสูง หลังคายอดแหลม สถาปัตยกรรมเป็นแบบตะวันตกยุคเฟื่องฟู เน้นความเรียบง่ายแต่สง่างาม มีการดัดแปลงให้เหมาะสมกับสภาพอากาศของเมืองไทย เห็นได้จากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และพระที่นั่งพิมานจักรีจะมีหน้าต่างเปิดกว้างหลายบาน ซึ่งรับลมได้ทุกด้าน

          เมื่อเรามองจากทางด้านหน้าจะเห็นหมู่พระที่นั่ง 4 องค์เชื่อมต่อกันทั้งหมด จากด้านซ้ายสุดคือพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส มีทางเดินเชื่อมต่อในระดับชั้นที่สองของอาคารเข้าสู่พระที่นั่งพิมานจักรี ซึ่งเป็นพระที่นั่งองค์ประธาน ต่อด้วยพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน และต่อไปยังพระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ พระที่นั่งทั้ง 4 องค์เป็นแบบก่ออิฐฉาบปูน มีความสูง 2 ชั้น นอกจากพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถานซึ่งได้ต่อเติมชั้นที่สามภายหลังเป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ ส่วนด้านหน้าของพระที่นั่งพิมานจักรี จะเป็นอาคารชั้นเดียวสำหรับเป็นที่เทียบรถพระที่นั่งและที่พักคอยขอเข้าเฝ้า

           -หอคอยสูง ของพระที่นั่งพิมานจักรี ที่ถือเป็นลักษณะเด่นของพระราชวังพญาไท ยอดโดมส่วนบนสุดไว้สำหรับชักธงมหาราชในเวลาที่องค์พระประมุขประทับอยู่ในพระราชฐาน พระที่นั่งองค์ประธานของหมู่พระที่นั่ง เป็นอาคารก่ออิฐ ฉาบปูน สูง 2 ชั้น มีจิตรกรรมสีปูนเปียก (fresco secco) บนเพดานและบริเวณด้านบนของผนัง เขียนเป็นลายเชิ้งฝ้าเพดานรูปดอกไม้ สวยงาม บานประตูเป็นไม้สลักลายปิดทอง เหนือบานประตูจารึกอักษรพระปรมาภิไธย ร.ร.๖ ห้องที่น่าสนใจ คือ ท้องพระโรงกลาง ห้องพระบรรทมเดิม ห้องทรงพระอักษร ฯลฯ

         -ด้านขวาคือพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน เมื่อเริ่มสร้างมีสองชั้น ต่อมามีการต่อเติมขึ้นอีกชั้นสำหรับใช้เป็นห้องพระบรรทมและห้องส่วนพระองค์ งที่น่าสนใจเข้าชม คือ ห้องพระบรรทม และห้องพระสมุด ซึ่งบนเพดานมีภาพจิตรกรรมสีปูนเปียกเป็นรูปเทวดาน้อยสี่องค์ทรงดนตรีสี่ชนิด ดีด สี ตี เป่า ล่องลอยบนท้องฟ้า ในสมัยที่พระองค์ทรงประทับอยู่ ด้านหลังทรงทอดพระเนตรสวนโรมันและเมืองดุสิตธานี (เมืองจำลองประชาธิปไตย) ของพระองค์ได้ ระเบียงด้านหน้าทรงทอดพระเนตรในเขตพระนครได้ไกล

          พระที่นั่งนี้เคยเป็นที่ตั้งสถานีวิทยุกระจายเสียง กรุงเทพฯ ที่พญาไท เมื่อปี พ.ศ.2473 โดยในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2473 ซึ่งตรงกับวันพระราชพิธีฉัตรมงคลในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ได้มีการเปิดการส่งวิทยุกระจายเสียงเป็นปฐมฤกษ์ พิธีเปิดสถานีได้กระทำโดยอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งพระราชทานแก่พระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการฝ่ายหน้าในพระราชพิธีนั้น จากพระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัยในพระบรมมหาราชวัง มีไมโครโฟนตั้งรับกระแสพระราชดำรัสถ่ายทอดไปตามสายมาเข้าเครื่องส่งที่พญาไท แล้วกระจายเสียงสู่พสกนิกรที่มีเครื่องรับวิทยุในสมัยนั้นได้รับฟัง การจัดตั้งสถานีวิทยุดังกล่าวดำเนินไปได้เพียง 2 ปี ก็เกิดเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ.2475 และได้ย้ายไปยังที่ทำการตำบลศาลาแดงแทน


^อาคารเทียบรถพระที่นั่ง^


^พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว , อาคารเทียบรถพระที่นั่ง^


^พระที่นั่งเทวราชสภารมย์^


^พระที่นั่งเทวราชสภารมย์^


^พระที่นั่งเทวราชสภารมย์^


^พระที่นั่งเทวราชสภารมย์^

พระที่นั่งเทวราชสภารมย์ เป็นท้องพระโรงเดิมในรัชสมัยสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งเสด็จมาประทับที่วังพญาไทเมื่อปี พ.ศ.2453 ถือว่าเป็นพระที่นั่งองค์แรกที่สร้างก่อนพระที่นั่งองค์อื่น ๆ ทั้งหมดในหมู่พระที่นั่งของพระราชวังพญาไท เคยใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีทางศาสนาในงานพระราชกุศล เช่น งานเฉลิมพระชนมพรรษา ใช้รับรองแขกส่วนพระองค์ที่มาเข้าเฝ้า บางครั้งเป็นโรงละคร หรือโรงภาพยนตร์แล้วแต่โอกาส

พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ เป็นพระตำหนักที่อยู่ทางทิศตะวันออกของพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน พระที่นั่งนี้มีลักษณะต่างไปจากพระที่นั่งองค์อื่น ๆ คือเป็นอาคารสูง 2 ชั้นที่เรียบง่าย หลังคาเป็นดาดฟ้า (ปัจจุบันสร้างหลังคาคลุม)ไม่มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมภาพเขียนสีปูนเปียกตามเพดานและผนัง แต่พื้นประดับด้วยกระเบื้องลวดลาย เน้นบริเวณประตูทางเข้าที่เป็นลวดลายดอกกุหลาบ และบันไดขนาดใหญ่ตรงกลาง ราวบันไดเป็นเหล็กหล่อทำลวดลายคล้ายกับลายแบบอาร์ต นูโว ห้องชั้นบนมีลักษณะการวางผังเหมือนกันทั้งซ้ายและขวา ชั้นล่างเป็นห้องโถงกว้าง พระที่นั่งองค์นี้เป็นที่ประทับของพระนางเจ้าสุวัทนา พระวรราชเทวี และพระสุจริตสุดาพระสนมเอก มีสะพานเชื่อมในระดับชั้นที่ 2 ไปยังพระที่นั่งไวกูณฐเทพยสถาน

          ขณะนี้ในส่วนพระที่นั่งนี้ ไม่เปิดแบบสาธารณะให้นักท่องเที่ยวเข้าชมภายในได้ทุกห้องทุกมุม เพราะปัจจุบันได้ใช้เป็นสำนักงานที่ทำการของส่วนบังคับบัญชาโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

พระที่นั่งศรีสุทธนิวาส เดิมมีนามว่าพระที่นั่งลักษมีพิลาส ตามพระนามของพระนางเธอลักษมีลาวัณ พระชายาของรัชกาลที่ 6 อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพระที่นั่งพิมานจักรี เป็นพระที่นั่งสูง 2 ชั้น ก่ออิฐฉาบปูน มีโดมขนาดเล็ก ลักษณะอาคารเป็นแบบอิงลิช โกธิค มีทางเชื่อมต่อกับพระที่นั่งพิมานจักรีในระดับชั้น 2 ใช้เป็นที่รับรองแขกของเจ้านายฝ่ายใน ที่ฝาผนังตอนใกล้เพดาน และเพดานมีจิตรกรรมลักษณะแบบ อาร์ต นูโว เป็นลายดอกไม้ และที่ห้องสำคัญเป็นภาพชายหญิงและแกะ ซึ่งเป็นภาพเขียนสีแบบตะวันตก

          ในปัจจุบันที่ชั้นล่างของพระที่นั่งศรีสุทธนิวาส ได้มีการบูรณะและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์การแพทย์ทหารบก ให้ความรู้เกี่ยวกับกิจการแพทย์ทหารบกในสมัยรัชกาลที่ 6 จนถึงปัจจุบัน มีสิ่งของเครื่องใช้ในอดีตมาจัดแสดงโชว์พร้อมข้อมูลให้ความรู้ไว้อย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย สมควรเข้าไปเดินดู และที่สำคัญยังจะได้เห็นการตกแต่งภายใน ลวดลายบนเพดานที่บูรณะแล้ว สวยงามมาก เป็นรูปเถาองุ่น เพราะห้องนี้เคยใช้เป็นห้องพระเสวยมาก่อนลวดลายจึงเป็นรูปเกี่ยวกับผลไม้ พิพิธภัณฑ์เปิดให้เข้าชมวันอังคาร - ศุกร์ เวลา 11.00 - 15.00 น. ปิดวันเสาร์ - จันทร์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์


^พระตำหนักเมขลารูจี^

         เดินออกมาทางบริเวณด้านหลังของหมู่พระที่นั่ง ยังมีจุดที่น่าสนใจให้ชมกันต่ออีกคือ

พระตำหนักเมขลารูจี พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ย้ายพระตำหนักอุดมวนาภรณ์มาจากพระราชวังดุสิต มาตั้งริมคลองอ่างหยกในพระราชวังพญาไท เพื่อเป็นที่ประทับชั่วคราวระหว่างการก่อสร้างพระราชมณเฑียร เป็นเรือนไม้สัก 2 ชั้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา ภายในเป็นห้องโถงต่อเนื่องกัน มีสระสรง ใช้เป็นที่สรงน้ำหลังจากทรงพระเครื่องใหญ่ (ตัดผม) ต่อมา เมื่อการก่อสร้างพระราชมณเฑียรแล้วเสร็จ และมีพระราชประสงค์ให้พระที่นั่งด้านตะวันออกใช้นามว่า พระที่นั่งอุดมวนาภรณ์ จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามพระตำหนักแห่งนี้ใหม่เป็นพระตำหนักเมขลารูจี


^พระตำหนักเมขลารูจี^


^สวนโรมัน^

สวนโรมัน ตกแต่งสวนเป็นลักษณะเรขาคณิต ประกอบด้วยศาลาที่ใช้รูปแบบของสถาปัตยกรรมแบบโรมัน ศาลาทรงกลมตรงกลาง มีหลังคาโดมรับด้วยเสาแบบคอรินเธียน ขนาบด้วยศาลาทรงสี่เหลี่ยมโปร่งไม่มีหลังคา มีการประดับด้วยตุ๊กตาปูนปั้นแบบโรมันบริเวณบันไดทางขึ้น ซึ่งต่อเนื่องกับด้านหน้าที่มีสระน้ำขนาดใหญ่อยู่ในแนวแกนเดียวกับโดม มีทางเดินกว้างโดยรอบสระน้ำเชื่อมต่อกับศาลา ซึ่งศาลานี้ใช้เป็นเวทีการแสดงกลางแจ้งในบางโอกาส


ข้อมูลดีๆ จาก //www.bangkokgoguide.com/
ภาพ KitPooh22

Smileyขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมและติชมครับSmiley

Create Date :12 เมษายน 2555 Last Update :12 เมษายน 2555 12:51:39 น. Counter : Pageviews. Comments :2