bloggang.com mainmenu search

    อาการ “หายใจไม่สะดวก” มีความหมายกว้างมาก และหลายต่อหลายครั้งคนไข้ที่มีอาการเหล่านี้จะมีความรู้สึกหรือมีอาการหายใจผิดปกติที่แตกต่างกัน ทั้งที่บอกหมอด้วยอาการที่มีชื่อเดียวกัน
    อาการ “หายใจไม่สะดวก” อาจจะเป็นเพียงอาการคัดจมูกเพียงเล็กน้อย ทำให้หายใจไม่สะดวก ไปจนถึงอาการหายใจลำบากที่เกิดจากมีลมในช่องอก (ลมรั่วจากปอดเข้าไปในช่องอกจนเบียดและอัดดันปอดให้แฟบลง) ทำให้หายใจไม่สะดวก เป็นต้น

ดังนั้น การตรวจรักษาคนไข้ที่มาหาด้วยอาการ “หายใจไม่สะดวก” จึงจำเป็นต้องสังเกตการณ์หายใจของคนไข้ โดยไม่ให้คนไข้รู้ตัว และการตรวจปอด โดยเฉพาะการฟังเสียงหายใจ (ฟังปอด) ของคนไข้ด้วย

อาการหายใจที่ผิดปกติจะต้องมีลักษณะหนึ่งลักษณะใดหรือหลายลักษณะร่วมกันดังนี้
1. หายใจไม่ออกทันที (choking suffocating) เช่น สำลักชิ้นเนื้อ หรือสิ่งอื่นเข้าอุดคอหอยหรือหลอดลม ถูกบีบคอ รัดคอ เป็นต้น ทำให้หายใจไม่ออก แต่ยังพยายามหายใจอยู่
2. หายใจหยุดเฉียบพลัน (acute respiratory arrest) เกิดจากสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) ถูกกดจากสมองส่วนบน หรือถูกกระแทกจากอุบัติเหตุ ทำให้หยุดหายใจ เพราะสมองไม่สั่งให้หายใจ
3. หายใจช้ากว่า 10 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 20 ครั้ง/นาที ในขณะนั่งพักหรือนอนพักอยู่ (ในเด็กเล็ก ซึ่งหายใจเร็วกว่าในผู้ใหญ่ อาจจะถือว่าผิดปกติ ถ้าหายใจช้ากว่า 15 ครั้ง/นาที หรือเร็วกว่า 30 ครั้ง/นาที) หายใจไม่สม่ำเสมออย่างชัดเจน เช่น
3.1 หายใจเร็วช้าหยุด (Cheyne-Stokes respiration) คือการหายใจที่คนไข้จะหายใจเร็วและลึก (เหมือนหอบ) อยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจะหายใจช้าลงและตื้นขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะหยุดหายใจไปสักครู่หนึ่ง แล้วจึงหายใจใหม่ โดยเริ่มหายใจช้า ๆ และตื้น ๆ ก่อน แล้วจะหายใจเร็วขึ้นและลึกจนหายใจเหมือนหอบอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วจะหายใจช้าลงและตื้นขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุดจะหยุดหายใจอีก สลับกันไปเรื่อย ๆ เช่นนี้



    การหายใจแบบนี้ จะพบในคนที่สมองส่วนหน้า (forebrain) ผิดปกติทั้ง 2 ข้าง (รูปสมอง จำแนกเป็นส่วนหน้า ส่วนกลาง ส่วนหลัง และส่วนท้าย) มักพบในคนสูงอายุที่มีความดันเลือดสูง หัวใจล้ม (หัวใจวาย) ไตล้ม (ไตวาย) หรือเส้นเลือดในสมองแตก ตีบหรือตัน (โรคลมปัจจุบัน หรือ stroke)
3.2 หายใจไม่สม่ำเสมอโดยตลอด (ataxic respiration) คือ การหายใจที่ถี่ห่างแรงค่อย (เร็วช้าลึกตื้น) ไม่เท่ากันโดยตลอด นั่นคือ คนไข้อาจหายใจเร็วลึกอยู่เพียง 2-3 ครั้ง แล้วกลับหายใจช้าและตื้น หรือหายใจช้าและลึก หรือหายใจเร็วและตื้น เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดคะเนล่วงหน้าได้ ว่าจะหายใจครั้งต่อไปจะเร็ว จะช้า จะลึก หรือจะตื้น
คนไข้เหล่านี้เมื่อถูกสั่งให้หายใจแรง ๆ เร็ว ๆ ส่วนใหญ่จะยังทำตามคำสั่งได้ แต่ถ้าปล่อยไว้เฉย ๆ คนไข้มักจะหายใจไม่พอ และอาจหยุดหายใจเมื่อใดก็ได้ การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนท้าย (medulla oblongata) ซึ่งอาจเกิดจากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ
3.3 หายใจเป็นช่วง ๆ (chester respiration) คือ การหายใจเป็นช่วง ๆ สลับกับการหยุดหายใจเป็นช่วง ๆ แต่ละช่วงไม่เท่ากัน มักจะหายใจช้า และมักจะแทรกด้วยการหายใจเฮือก (gasping respiration) การหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนพอนส์ (pons) และสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ
3.4 หายใจเฮือก (gasping respiration) คือ การหายใจเข้าลึกเร็ว แล้วหยุดกึกทันที มักจะหายใจช้า และมักจะร่วมกับการหายใจเป็นช่วง ๆ (chester respiration) หรือการหยุดหายใจ (การหายใจเฮือกสลับกับการหยุดหายใจ หรือ Biot’s respiration) หรือการหายใจใกล้ตาย (air hunger)
การหายใจเฮือกอาจเกิดขึ้นเองอย่างสม่ำเสมอก็ได้ แต่ไม่ค่อยพบบ่อยนักการหายใจแบบนี้เกิดจากความผิดปกติที่สมองส่วนพอนส์ (pons) และสมองส่วนท้าย (medulla oblongata) จากเยื่อหุ้มสมองอักเสบ หรืออื่น ๆ
3.5 หายใจใกล้ตาย หรือหายใจพะงาบ ๆ (air hunger) คือการหายใจลึก ๆ มักจะหายใจช้า และในขณะที่หายใจเข้า ปากจะแสยะอ้า ศีรษะและหน้ามักจะผงกเงยขึ้น ตามักจะเหลือกขึ้น หน้าบิดเบี้ยว คล้ายกับว่าต้องใช้กำลังอย่างมากในการหายใจเข้า
คนไข้มักจะมีอาการแสดงอื่น ๆ ของคนไข้ใกล้ตาย เช่น ไม่รู้สึกตัว มือเท้าเย็นซีด เหงื่อแตก ชีพจรเบาเร็วหรือคลำไม่ค่อยได้ เป็นต้น
การหายใจแบบนี้ เข้าใจว่าเกิดจากสมองส่วนต่าง ๆ ขาดเลือด และ/หรือออกซิเจนจากภาวะใกล้ตาย
นั่นเอง

     ภาพแสดงการเคาะปอดทางด้านหลัง



4. หายใจลำบาก (dyspnea) ในที่มีหมายถึงการหายใจที่ต้องออกแรงเพิ่มขึ้น นั่นคือ ต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจ (accessory muscles of respiration) เพื่อช่วยกล้ามเนื้อหายใจ (muscles of respiration) คือกะบังลม(diaphragm) และกล้ามเนื้อซี่โครง (intercostals muscles) ในการหายใจแต่ละครั้งซึ่งสังเกตได้ง่าย ๆ ดังนี้
4.1 มีการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนบนในขณะหายใจเข้าและออก (ในการหายใจปกติ จะมีการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนล่าง และหน้าท้องส่วนบนเพียงเล็กน้อย จนมองเกือบไม่เห็นถ้าใส่เสื้อหลวม ๆ อยู่) ถ้าเมื่อใดมองเห็นการเคลื่อนไหวของทรวงอกส่วนบน และหน้าท้องอย่างชัดเจนในขณะใส่เสื้อหลวม ๆ อยู่แสดงว่าคนไข้หายใจแรง หรือลึกกว่าปกติ ซึ่งมักจะต้องใช้กล้ามเนื้อช่วยหายใจร่วมด้วย
4.2 มีการเคลื่อนไหวของกระดูกไหปลาร้า (clavicle) ไหล่ หรือลูกกระเดือก ขึ้น ๆ ลง ๆ ขณะหายใจเข้าออก แสดงว่าต้องใช้กล้ามเนื้อคอ และไหล่ช่วยในการหายใจ
4.3 ปีกจมูกบานเข้าบานออกหรือหน้าตาบิดเบี้ยว หรือปากแสยะอ้าในขณะหายใจ แสดงว่าใช้กล้ามเนื้อคอและไหล่ช่วยในการหายใจ
4.4 ช่องซี่โครง (Intercostals pace) หรือรอยบุ๋มเหนือกระดูกสันอก (suprasternal notch) ยุบหรือบุ๋มเข้าไปขณะหายใจเข้าตามปกติ (ถ้ายุบหรือบุ๋มเข้าไปขณะหายใจลึก ๆ เร็ว ๆ ไม่ถือว่าผิดปกติ) แสดงว่ามีการอุดตัน หรือตีบตันของทางเดินหายใจ (โดยเฉพาะคอหอย ช่องสายเสียง หลอดลม) ทำให้ลม (อากาศ) เข้าปอดได้ไม่สะดวกในขณะหายใจเข้า

     ภาพแสดงการเคลื่อนไหวของปอด กะบังลม และซี่โครง ในการหายใจเข้าและออก



4.5 หายใจลำบากเมื่อนอนลง จนต้องลุกขึ้นนั่งจึงจะหายใจได้สะดวก
4.6 หายใจลำบากขณะหลับ จนต้องตื่นขึ้นเพื่อหายใจ มักเกิดจากโรคของสมองที่ไม่สั่งงานให้หายใจขณะหลับ หรือเกิดจากหัวใจล้ม (heart failure) ที่ทำให้นอนหลับไป 3-4 ชั่วโมงแล้วเกิดอาการแน่นอึดอัด หายใจไม่สะดวก ต้องลุกขึ้นนั่ง หรือเดินไปเปิดหน้าต่างแล้วสักพัก ( -1 ชั่วโมง) อาการจึงดีขึ้น หรือเกิดจากโรคหลอดลมตีบ เช่น หอบหืด ทำให้เกิดอาการหอบหืดตอนดึก ๆ หรือใกล้รุ่งเวลาอากาศเย็นลง คนไข้ที่หายใจไม่สะดวก และมีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังกล่าวข้างต้น จึงจะถือว่าคนไข้หายใจไม่สะดวกจากโรคทางกาย

    ถ้าคนไข้คนใดมาหาด้วยอาการหายใจไม่สะดวก หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ทัน หายใจไม่เต็มปอด หายใจขัด หายใจไม่พอ หรืออื่น ๆ โดยไม่มีลักษณะการหายใจผิดปกติดังกล่าวข้างต้น ให้ถือว่า คนไข้ยังหายใจได้ปกติ แต่คนไข้รู้สึกไปเองว่าหายใจผิดปกติ ซึ่งอาจเกิดจากสภาวะทางจิตใจ เช่น ความ เครียด ความห่วงกังวล ความกลัว ความตื่นเต้น หรืออื่น ๆ



    การตรวจรักษาคนไข้ประเภทนี้ ควรจะตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ ด้วย เช่น ดูว่าคนไข้ซีดไหม เหลืองไหม ตาโปน (ตาดุ) ไหม มือสั่นไหม ผอมมากไหม อ้วนมากไหม บวมมากไหม มีไข้ (ตัวร้อน) ไหม มีอาการอักเสบ (ปวด บวม แดง ร้อน) ตรงส่วนใดหรือไม่ เพราะความผิดปกติเหล่านี้ อาจทำให้คนไข้รู้สึกหายใจไม่สะดวก หรือหายใจไม่ทัน หรือเหนื่อยง่ายได้ด้วย
    นอกจากนั้น ควรจะฟังเสียงหายใจ (ฟังปอด) ว่าเสียงหายใจดังดีเท่ากันทั้งสองข้างหรือไม่ ถ้าเสียงหายใจดังดีและเท่ากันทั้งสองข้าง และไม่มีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติ ลักษณะหนึ่งลักษณะใดดังกล่าวไว้ในข้อ 1-4 และไม่มีความผิดปกติในการตรวจร่างกายระบบอื่น ๆ จึงจะถือว่าการหายใจไม่สะดวกของคนไข้นั้นเกิดจากภาวะทางจิตใจ

การรักษาคนไข้ที่หายใจไม่สะดวกจากภาวะทางจิตใจคือ
    1. ให้กำลังใจแก่คนไข้ ให้คนไข้เข้าใจปอดและหัวใจของคนไข้ยังทำงานได้ดี ไม่มีอันตราย ไม่มีโรคอะไรที่ต้องวิตกกังวล และอาการที่เกิดขึ้นจะหายหรือทุเลาได้โดยเร็ว
    2. ถ้าคนไข้มีปัญหาเกี่ยวกับครอบครัวหรืออื่น ๆ ควรให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีแก้ปัญหานั้น ๆ ทั้งในระยะสั้น และระยะยาวถ้าทำได้
    3. ถ้าคนไข้ยังห่วงกังวลมาก ควรให้ยาไดอะซีแพมเม็ดละ 2 มิลลิกรัมครั้งละ -1 เม็ดหลังอาหารเช้า และ 1-2 เม็ดก่อนนอน
    4. ถ้าคนไข้มีอาการโศกเศร้ามาก ควรให้ยาอะมิทริบตีลีน (amitripyline) เม็ดละ 10 มิลลิกรัม 1 เม็ดก่อนนอน

    ถ้าคนไข้มีลักษณะการหายใจที่ผิดปกติลักษณะหนึ่งลักษณะใด หรือหลายลักษณะดังกล่าวข้างต้น ให้การตรวจรักษาดังนี้
    1. ถ้าหายใจไม่ออก (chocking suffocating) ให้ขจัดสาเหตุที่ทำให้คนไข้หายใจไม่ออกโดยเร็ว เช่น
    ถ้าถูกบีบคอ รัดคอ ต้องช่วยให้พ้นภาวะถูกบีบคอ รัดคอ โดยเร็ว
    ถ้าถูกรมด้วยควันไฟ แก๊สพิษ หรืออื่น ๆ ให้นำคนไข้ออกจากสถานที่ที่มีควันไฟหรือแก๊สพิษโดย เร็วที่สุด ถ้าสำลักอาหารชิ้นใหญ่เข้าไปปิดกั้นคอหอย ช่องสายเสียง หรือหลอดลมทันที ซึ่งรู้ได้เพราะคนไข้กำลังกินอาหารอยู่แล้วหยุดกิน หยุดพูด หรือหยุดคุยทันที ถึงแม้จะพูดก็ไม่มีเสียงออกจากปาก คนไข้มีท่าทีตกใจเอามือล้วงคอและพยามยามไอ แต่ไอไม่ออก พยายามอาเจียนแต่อาเจียนไม่ออก ต่อมาจะเอามือกุมคอหน้าและปากเขียว หมดสติ และตายในเวลาไม่กี่นาที ดังนั้นจึงต้องช่วยคนไข้โดยเร็วที่สุด โดยการอัดยอดอก (ดูรูปที่ 1-2)



    ถ้าผู้ป่วยยังพอรู้ตัวอยู่ เข้าทางด้านหลัง ใช้มือโอบรอบเอว ให้กำปั้นของมือหนึ่ง ซุกเข้าไปในท้องระหว่างสะดือกับลิ้นปี่ แล้วใช้มืออีกข้างหนึ่งกุมกำปั้นนั้นไว้ แล้วออกแรงรัดและยกตัวผู้ป่วยขึ้นทันที เพื่อให้กำปั้นนั้นถูกอัดเข้าไปในยอดอกและยกขึ้น (รูปที่ 1)ถ้าผู้ป่วยไม่รู้สึกตัว อาจให้อยู่ในท่านอนหงาย แล้วใช้ฝ่ามือทั้งสองดันบริเวณหน้าท้องด้านบนเข้าและขึ้นข้างบนทันที เพื่อให้เกิดแรงดันกะบังลมขึ้นไปในช่องอก ผลักดันให้ก้อนที่ปิดกั้นทางเดินหายใจหลุดออก (รูปที่ 2)
    ถ้าหายใจไม่ออกเพราะจมน้ำ รีบช่วยให้สิ่งอุดกั้นทางเดินหายใจหลุดออก (รูปที่ 3-6) แล้วช่วยหายใจ ด้วยการเป่าปาก (mouth to mouth respiration) โดยหายใจเข้าให้เต็มที่ แล้วประกบปากลงกับปากของคนไข้ ใช้มือข้างหนึ่งบีบจมูกของคนไข้ ส่วนอีกข้างหนึ่งช้อนคอของคนไข้ขึ้นเพื่อให้ศีรษะของคนไข้เงยขึ้น และปากอ้าออก แล้วเป่าลมเข้าไปในปากของคนไข้จนหมด ขณะเป่าลมจะต้องชำเลืองดูหน้าอกของคนไข้ว่ายกขึ้นหรือไม่ ถ้าหน้าอกยกขึ้น จึงแสดงว่าลมเข้าปอดคนไข้ คนไข้จะหายใจออกเอง แล้วผู้ช่วยหายใจจึงหายใจเข้าเต็มที่ใหม่ แล้วเป่าปากคนไข้ใหม่ สลับกันเรื่อยไปเช่นนี้ ถ้ามีลูกโป่งหายใจ (self inflating bag) เช่น ลูกโป่งแอมบู (ambubag) ก็ให้ใช้ลูกโป่งนี้ช่วยหายใจให้คนไข้แทนการเป่าปากได้



    ถ้าผู้ป่วยตัวเล็ก อาจจับพาดกับเข่า แล้วตบกลางหลังระหว่างสะบักแรง ๆ หลายครั้ง (รูปที่ 3) ถ้าผู้ป่วยโต อาจให้ยืนงอตัว (รูปที่ 4) หรือพาดกับโต๊ะ (รูปที่ 5) หรือจับนอนตะแคงกับพื้นให้เข่าของผู้รักษาซุกเข้าไปในท้องของผู้ป่วย (รูปที่ 6) แล้วตบกลางหลังแรง ๆ หลายครั้ง
    ในคนไข้ที่ถูกงูพิษ เช่น งูเห่า หรืองูจงอางกัด และคนไข้เริ่มมีอาการง่วงซึม หายใจช้าและตื้น ต้องคอยปลุกคนไข้ให้ตื่น และให้คนไข้หายใจลึก ๆ ไว้จนกว่าจะสามารถฉีดเซรุ่มแก้พิษงูให้คนไข้หรือสามารถใช้เครื่องหายใจ (mechanical respirator) ช่วยหายใจให้แก่คนไข้ได้ มิฉะนั้นคนไข้จะตายเพราะหยุดหายใจ คนไข้ที่มีโรคทางสมอง จนทำให้หยุดหายใจขณะหลับ ก็ต้องคอยปลุกคนไข้ให้ตื่น และให้หายใจลึก ๆ จนกว่าจะสามารถพาคนไข้ไปโรงพยาบาล และใช้เครื่องหายใจให้
    3. หายใจช้า (bradypnea) เช่น ในคนไข้ที่ได้รับยานอนหลับเกินขนาด (ได้รับยามากเกินไป) คนไข้ที่ได้รับฝิ่น มอร์ฟีน เฮโรอีน คนไข้ที่มีโรคทางสมองหรือกล้ามเนื้อ หรือได้รับพิษต่อระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น พิษงูเห่า เป็นต้น
    คนไข้ที่หายใจช้า ควรให้การรักษาโดยการปลุกหรือกระตุ้นให้คนไข้หายใจลึก ๆ จนกว่าจะใช้เครื่องหายใจช่วย ในกรณีที่หายใจช้าจากพิษผื่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีน ถ้ามียานาล็อกโซน (naloxone) ให้ฉีดเข้าเส้น จะช่วยพิษจากฝิ่น มอร์ฟีน หรือเฮโรอีนได้
    4. หายใจเร็ว (tachypnea) เกิดจากสาเหตุมากมาย เช่น ออกกำลังกาย โกรธ ตื่นเต้น เป็นไข้ (ตัวร้อน) ปอดอักเสบ ปอดบวมน้ำ หัวใจล้ม เป็นต้น



    อาการหายใจเร็ว ถ้าเป็นมาก จะทำให้รู้สึกหายใจไม่ทัน หรือเหนื่อย ความรุนแรงของอาการหายใจไม่ทัน (เหนื่อย) อาจแบ่งออกเป็นระดับต่าง ๆ ได้ดังในตารางที่ 1 ยิ่งรุนแรงมากยิ่งต้องรีบให้การตรวจรักษาโดยเร็ว เช่น
    ถ้ามีอาการหายใจไม่ออก ให้รีบกำจัดสาเหตุ (ดูเรื่องหายใจไม่ออกในข้อ 1)
    ถ้ามีอาการหายใจหยุด ให้รีบช่วยหายใจ (ดูเรื่องหายใจหยุด ในข้อ 2)
    ถ้ามีอาการหายใจเร็ว หายใจไม่ทัน หรือหอบ เหนื่อย ให้รีบช่วย โดย

       4.1 ให้คนไข้อยู่ในท่าที่สบายที่สุด ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นที่นั่งพิง หรือนั่งก้มไปข้างหน้า หรือท่าครึ่งนั่งครึ่งนอน
       4.2 เอาฟันปลอมหรือสิ่งของ รวมทั้งเสมหะและน้ำมูกในปาก จมูก และคอออก ทำให้ทางเดินหายใจโล่ง
4.3 ให้ออกซิเจนถ้ามีออกซิเจนอยู่ ใช้พัดหรือพัดลมโบกลม ให้คนไข้เพื่อให้หายใจสะดวกขึ้น และช่วยให้ร่างกายเย็นลง
       4.4 ช่วยหายใจ ถ้าจำเป็น (ดูวิธีช่วยหายใจในเรื่องหายใจในข้อ 2)
       4.5 ให้การรักษาตามอาการอื่น ๆ เช่น ถ้ามีไข้สูงให้ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตัวคนไข้ ถ้าคนไข้ไม่หนาว (ถ้าคนไข้หนาว อาจใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น เช็ดตัวคนไข้แทน)



        4.6 รักษาสาเหตุ สาเหตุของอาการหายใจไม่ทันหรือหอบ เหนื่อย (จำแนกตามความเร็วช้าของการเกิดอาการ) ได้แสดงไว้ในตารางที่ 2 สาเหตุส่วนใหญ่จำเป็นจะต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาลนอกจากสาเหตุ เช่น การสำลักอาหารชิ้นใหญ่หรือภยันตรายต่าง ๆ ซึ่งต้องได้รับการรักษาทันที ดังได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว หลังจากนั้นจึงจะนำส่งโรงพยาบาล ถ้ายังมีอาการอยู่

     ภาวะทางจิตใจ ได้กล่าวไว้ข้างต้นแล้วเกี่ยวกับวิธีตรวจรักษาคนไข้ที่หายใจไม่สะดวก จากภาวะทางจิตใจ  โรคหอบหืดและหลอดลมตีบ มักรู้ (วินิจฉัย) ได้โดยมีประวัติเป็น ๆ หาย ๆ มานาน เวลาอากาศเปลี่ยนจากร้อนเป็นหนาว หรือหนาวเป็นร้อน หรือมีประวัติแพ้อาหาร หรือแพ้ฝุ่นละออง หรืออื่น ๆ หรือมีประวัติสูบบุหรี่เรื้อรัง และตรวจร่างกาย จะได้ยินเสียงหวีด (wheeze) จากปอดทั้ง 2 ข้าง รักษาโดยให้ยาขยายหลอดลม เช่น ยาอะมิโนฟิลลีน (aminophylline) เม็ดละ 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน และเวลาที่มีอาการ หรือยาทีโอฟิลลีน (theophylline) เม็ดละ 200 มิลลิกรัม กินครั้งละ 1 เม็ดหลังอาหารเช้า-กลางวัน-เย็น และก่อนนอน และเวลามีอาการ
    5. หายใจไม่สม่ำเสมอ (irregular respiration) ให้ช่วยหายใจแล้วรีบส่งโรงพยาบาล
    6. หายใจลำบาก (dyspnea) รักษาแบบอาการหายใจเร็วหรือหายใจไม่ทัน ดังในข้อ 4 แล้วส่งโรงพยาบาล อาการหายใจไม่สะดวก จึงมีความหมายแตกต่างกันได้มากมายดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่การตรวจรักษาคนไข้เหล่านี้ไม่แตกต่างกันมากนัก โดยเฉพาะการช่วยหายใจ และการกำจัดสาเหตุ ถ้าทำได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้คนไข้พ้นจากความตายและความพิการได้อย่างถาวร
การตรวจรักษาอาการหายใจ ไม่สะดวกอาจสรุปเป็นขั้นตอนได้ดังแผนภูมิ 1


ที่มา : //www.doctor.or.th

Smiley ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยมครับ Smiley

สัญญาอนุญาตของครีเอทีฟคอมมอนส์

Create Date :20 ธันวาคม 2555 Last Update :4 สิงหาคม 2558 9:17:31 น. Counter : 80574 Pageviews. Comments :6