bloggang.com mainmenu search














หอมลอยแผ่วแผ่ว ดอกแก้วแสนสวย
สถิตย์ฉมระรวย หอมช่วยชื่นทรวง
ไม้เหนี่ยวเย้าฝน โรยหล่นหาวห้วง
ผ่านทุ่งดาวดวง คิดท้วงสายลม
คลื่นหอมคลี่สะพรั่ง หน้าหลังหอมห่ม
กรุ่นกลิ่นพร่างพรม ใจจมค่ำคืน
หอมลอยไกลใกล้ กวักไกวฉ่ำรื่น
ปีบขาวยังฟื้น คืนฝนอำลา
หอมมาออดอ้อน เคลิ้มค่อนหรรษา
ยามคิดหลับตา หอมมาเย้ายวน
ยามหอมเกยกระซิบ ดาวระยิบแอบสรวล
หริ่งไรพลอยครวญ รัญจวนสู่ใน
น้ำค้างเริงร่าย ฉมฉายชิดใกล้
รอนรอนหัวใจ เคลิ้มใคร่จักคอย














หอมมาเห่กล่อม หันห้อมจนผ็อย
อะเคื้อเวียนฝากรอย อ้อยส้อยเริ่มวาง
ละเลื่อมร้อยหอมหวน เย้ายวนเคียงข้าง
กลบสิ้นอ้างว้าง น้ำค้างร้องเพลง
หอมให้ห้วงฝัน เวียนวันเร้าเร่ง
หอมเข้มต่อเอง คนเก่งแพ้ละเมอ
หอมก่อเคลิ้มครุ่น ไอกรุ่นพลั้งเผลอ
จำยอมเจอะเจอ คิดเสมอรักดอม
ลำธารน้ำใส ไหลไหลอ้อมอ้อม
ห้อยโหนลายล้อม ป่าจ่อมเวียนวน
หอมอบไม้ป่า ปริศนาแกล้งหล่น
ไม้เถาเร้นพ้น เป็นผลล้มละลาย
หอมสร้างแดนล้ำ ดื่มด่ำเริ่มขยาย
ฉมฉ่ำรอระบาย ละมุนอายชื่นเย็น














ล้นลานฉายฉม เคลิ้มชมได้เห็น
หยั่งลึกตรึงเป็น ยากเข็ญจากเลือน
อ่อนไหวกับหอม จิตจ่อมยากเคลื่อน
หอห้วงดวงเดือน ยังเอื้อนแพ้นำ
ลมเบาเผลอผ่าน เล่านานจนค่ำ
ลืมกิจที่ทำ ต้องช้ำเดี่ยวเดิน
หอมมาทั่วทิศ เนรมิตลอยเหิน
ใครดมพาเพลิน หยอกเอินหวานแจง
ขับอวลรู้สึก ไหลลึกเหมือนแกล้ง
หอมร่อนมาแรง เติมแต่งเบิกบาน
ตะวันมาทอแสง ส้มแดงทุกสถาน
แนวทาบตำนาน ทุกบ้านต้องมี
ช่อชื่นไอเอื้อ หอมเหลือทุกที่
สัมผัสท่าที เนินมีหอมแวว










ที่มาของกลอน

กลอนสี่ เป็นคำประพันธ์ประเภทกลอน ใน 1 บท มี 2 บาท 1 บาท มี 2 วรรค วรรคละ 4 คำ

กลอน4 ตามหลักฐานทางวรรณคดีไทย กลอน 4 ที่เก่าที่สุดพบในมหาชาติคำหลวงกัณฑ์มหาพน (สมัยอยุธยา) แต่ต่อมาไม่ปรากฏในวรรณคดีไทยมากนัก มักแทรกอยู่ตามกลอนบทละครต่าง ๆ

กลอน 4 ในวรรณคดีไทยที่พบมี 2 แบบ คือ


กลอน 4 แบบที่ 1

สัมผัส แบบกลอนทั่วไป คือ คำสุดท้ายวรรคหน้าสัมผัสกับคำที่สองของวรรคหลัง และคำสุดท้ายวรรคที่สองสัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่สาม ส่วนสัมผัสระหว่างบทก็เช่นเดียวกัน คือ คำสุดท้ายวรรคที่สี่ของบทแรก สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป

เช่น

เหวยเหวยอีจันทรา ขึ้นหน้าเถียงผัว
อุบาทว์ชาติชั่ว ไสหัวมึงไป

ปล.บทละครครั้งกรุงเก่า เรื่อง สังข์ทอง

กลอน 4 แบบที่ 2

สัมผัสนอก ในทุกบาท คำสุดท้ายของวรรหน้า สัมผัสกับคำที่สองของวรรคหลัง มีสัมผัสระหว่างบาทที่สองกับสาม คือ คำสุดท้ายวรรที่สี่สัมผัสกับคำสุดท้ายวรรคที่หก ส่วนสัมผัสระหว่างบทนั้นจะแตกต่างจากแบบแรก เนื่องจากให้คำสุดท้ายของบทแรกสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สี่ของบทถัดไป

เช่น


จักกรีดจักกราย จักย้ายจักย่อง
ไม่เมินไม่มอง ไม่หมองไม่หมาง


สัมผัสใน ไม่บังคับ แต่กวีมักจัดให้มีสัมผัสระระหว่างคำที่สองและคำที่สามของทุกวรรค




เขียนและอัพโดย......ญามี่///...











Create Date :15 พฤศจิกายน 2557 Last Update :15 พฤศจิกายน 2557 10:48:02 น. Counter : 2838 Pageviews. Comments :23