bloggang.com mainmenu search

การยื่นคำร้องขอสูติบัตรไทยกรณีเกิดในต่างประเทศ

กฎหมายไทยกำหนดให้ "บุคคลที่เกิดโดยบิดาหรือมารดาเป็นผู้มีสัญชาติไทย ไม่ว่าจะเกิดในหรือนอกราชอาณาจักร ย่อมได้สัญชาติไทยโดยการเกิด" ดังนั้น บิดามารดาสามารถแจ้งขอสูติบัตรไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลใหญ่ไทยในต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หากบิดามารดาและบุตรได้ย้ายกลับมาพำนักอยู่ในประเทศไทยเป็นการถาวรแล้ว ก็สามารถดำเนินการเรื่องแจ้งเกิดและขอสูติบัตรไทยได้ที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ ทั้งนี้ กองสัญชาติฯ กรมการกงสุลจะอำนวยความสะดวกโดยจัดส่งเอกสารไปให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่บุตรเกิดดำเนินการออกสูติบัตรไทยให้



เอกสารที่ใช้ประกอบการยื่นขอสูติบัตร

1. ใบเกิด หรือ หนังสือรับรองการเกิดจากทางการท้องถิ่น ที่ผ่านการรับรองจาก สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ของประเทศที่ออกเอกสารนั้นหากเป็นภาษาอื่นซึ่งมิใช่ภาษาอังกฤษ ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย และนำไปให้สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ของประเทศนั้นรับรอง ก่อนที่จะนำมารับรองที่กองสัญชาติและนิติกรณ์กรมการกงสุล (ใช้ชุดต้นฉบับที่รับรองแล้ว)

หมายเหตุ หนังสือรับรองการเกิดที่ออกโดยทางการท้องถิ่นในบางประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกาและจีน ต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศหรือโนตาลี่พับลิกของประเทศดังกล่าวก่อน มิฉะนั้น สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศดังกล่าว จะไม่สามารถรับรองให้ได้

2. บัตรประจำตัวประชาชนของบิดา/มารดา (กรณีเป็นบุคคลสัญชาติไทย)

3. ทะเบียนบ้านของบิดา/มารดา (กรณีเป็นบุคคลสัญชาติไทย)

4. หนังสือเดินทางของบิดา/มารดา (กรณีเป็นคนต่างชาติ)

5. ทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่า (หากจดทะเบียนฯ ตามกฎหมายของประเทศอื่นๆ ต้องนำเอกสารดังกล่าวไปให้สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ของประเทศนั้น รับรองก่อน หากเป็นภาษาอื่นซึ่งมิใช่ภาษาอังกฤษ ต้องแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทย และนำไปให้สถานเอกอัครราชทูต/ สถานกงสุลใหญ่ของประเทศนั้นรับรอง ก่อนที่จะนำมารับรองที่กองสัญชาติและนิติกรณ์ กรมการกงสุล (ใช้ชุดต้นฉบับที่รับรองแล้ว)

หมายเหตุ ทะเบียนสมรสหรือทะเบียนหย่าที่ออกโดยทางการท้องถิ่นในประเทศ สหรัฐอเมริกาและจีน ต้องผ่านการรับรองจากกระทรวงการต่างประเทศหรือโนตาลี่พับลิกของประเทศนั้นๆ ก่อน มิฉะนั้น สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลใหญ่ของประเทศดังกล่าว จะไม่สามารถรับรองให้ได้

6. หนังสือเดินทางของบุตร (หนังสือเดินทางที่ใช้เดินทางเข้าประเทศไทย อาจเป็นหนังสือเดินทางไทยหรือหนังสือเดินทางต่างชาติก็ได้)

หมายเหตุ เอกสารทุกอย่างต้องนำฉบับจริงมาแสดงต่อหน้าเจ้าหน้าที่ พร้อมถ่ายสำเนาอย่างละ 2 ชุด

ระยะเวลาดำเนินการ เนื่องจากต้องส่งเอกสารไปดำเนินการที่สถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ในประเทศที่เด็กเกิด จึงอาจใช้ระยะเวลาดำเนินการนานกว่าการแจ้งเกิดและขอสูติบัตรในประเทศที่เด็กเกิดโดยตรง ดังนั้น จึงควรแจ้งเกิดขอสูติบัตรไทยพร้อมกับยื่นขอหนังสือเดินทางไทยต่อสถานเอกอัครราชทูต/สถานกงสุลใหญ่ไทยในประเทศที่เด็กเกิดในคราวเดียวกัน


การแจ้งเกิดในต่างประเทศ


กรณีที่คนไทยเกิดในต่างประเทศ บิดา-มารดาจะต้องแจ้งการเกิดของบุตรต่อ กงสุลไทยหรือเจ้าหน้าที่สถานทูตไทย ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศแต่งตั้งให้เป็นนายทะเบียนผู้รับแจ้ง ณ ประเทศนั้น ๆ ภายใน 15 วัน นับแต่วันเกิด เมื่อได้รับการแจ้งเกิดแล้วเจ้าหน้าที่สถานกงสุล หรือสถานทูตไทยจะออกสูติบัตรให้บิดา-มารดาเด็ก เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานในการทำหนังสือเดินทางสำหรับเด็กเพื่อเดินทางกลับ ประเทศไทย ในกรณีที่ประเทศนั้นไม่มีกงสุลไทยหรือสถานทูตไทยประจำอยู่ ให้ใช้หลักฐานการเกิดที่ออกโดยรัฐบาลประเทศนั้น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้แปลและรับรองว่าถูกต้องเป็นหลักฐานสูติบัตรได้


ถ้ายังไม่ได้แจ้งเกิด ซึ่งสามารถแจ้งเกิดได้ภายหลังไม่มีปัญหาใดๆ อาจจะเสียค่าปรับตามกฏหมาย ถ้าเป็นบุตรชาย ต้องควรระวังในเรื่อง การเกณฑ์ทหาร เพราะการเกณฑ์ทหารเป็นหน้าที่ของพลเมืองไทย ถ้าถือสัญชาติไทย ถ้าเกินอายุเกณฑ์ต้อง คือ 17 ปีต้องไปขึ้นทะเบียน และอายุ 20 ปี ถ้ามีหมายเรียกตัวก็ต้องไป สามารถยื่นคำร้องขอผ่อนผัน มิฉะนั้นจะเป็นการหนีทหาร การขอผ่อนผันต้องไปขึ้นทะเบียนทหารก่อน ไม่แนะนำให้สละสัญชาติ เพราะเมื่ออายุเกินเกณฑ์ทางกระทรวงมหาดไทยจะดูในเรื่องหน้าที่การงาน และการศึกษา ก็จะไม่มีปัญหาใดๆ


แนวทางการวินิจฉัยสัญชาติของเด็กที่เกิดนอกราชอาณาจักร ที่สถานเอกอัครราชทูตฯ ปฏิบัติอยู่เป็นอย่างไร


* ตามคำพิพากษาศาลฎีกาปีพ.ศ. 2543


หญิงสัญชาติไทยไม่ว่าจะสมรสอย่างถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ก็ตาม บุตรมีสิทธิที่จะได้สัญชาติไทย รวมทั้งเด็กที่เกิดจากมารดาไทยก่อนวันที่ 26 กุมภาพันธ์2535 ไม่ว่าขณะนี้จะมีอายุเท่าใดก็ตามจะได้สัญชาติไทยย้อนหลังด้วยเช่นกัน สำหรับเด็กที่เกิดจากมารดาไทยในอิตาลี ซานมาริโไซปรัส บิดามารดาเด็กสามารถยื่นคำร้องขอสูติบัตรไทยให้กับเด็กได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม โดยมีเอกสารสำคัญคือ

-ใบรับรองการเกิดที่ออกจากอำเภอระบุชื่อบิดามารดาหรือใบแจ้งการเกิดที่ออกจากโรงพยาบาล(ใบรับรองการเกิดจะต้องผ่านการรับรองจาก prefettura ด้วย)

- หลักฐานประจำตัวของบิดามารดา ถ่ายสำเนาอย่างละ 2 ชุด(ในกรณีที่จะทำหนังสือเดินทางไทยให้กับบุตรด้วย) และจะต้องนำเอกสารต้นฉบับมาแสดงด้วย ได้แก่ ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า (หากมี) ทะเบียนบ้าน หนังสือเดินทาง บัตรประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อสกุล (หากมี)รูปถ่ายของเด็ก 1 ใบ

- ในกรณีที่บิดามารดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสและบุตรใช้นามสกุลของบิดา บิดามารดาจะต้องทำบันทึกสอบปากคำในการยินยอมให้เด็กใช้นามสกุลบิดา

เอกสารสำหรับการแจ้งเกิด (สถานทูตไทยในอิตาลี)

เด็กที่เกิดในอิตาลี แอลเบเนีย ซานมาริโน และไซปรัส มีสิทธิได้รับสัญชาติไทยตามบิดามารดา โดยสามารถแจ้งเกิดและรับสูติบัตรไทยได้ที่สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงโรม โดยใช้เอกสารดังนี้


- หนังสือรับรองการเกิดที่ออกให้โดยโรงพยาบาล (Assistenza al Parto หรือ Attestazione di Nascita)


- ใบรับแจ้งการเกิดของเด็กที่ออกให้โดยอำเภอที่ระบุชื่อ สัญชาติ บิดามารดาของเด็ก และต้องนำไปรับรองที่ Prefettura


- รูปถ่ายเด็ก 1 รูป


- ใบสำคัญการสมรส กรณีที่มีการสมรส


- สำเนาทะเบียนบ้านไทย และทะเบียนบ้านในอิตาลี (Stato di famiglia)


- เอกสารสำคัญประจำตัวบิดามารดา ได้แก่ บัตรประชาชน หนังสือเดินทาง


- ใบเปลี่ยนชื่อ ใบเปลี่ยนนามสกุล กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ นามสกุล


- เอกสารการมีถิ่นที่อยู่ในอิตาลี


- แบบฟอร์มคำร้องขอจดทะเบียนคนเกิด กรอกรายละเอียดให้สมบูรณ์


- แบบฟอร์มนิติกรณ์ขอสูติบัตร


กรณีมารดาเป็นคนไทยและไม่ได้จดทะเบียนสมรสบุตรมีสิทธิได้สัญชาติไทยตาม มารดาและเป็นบุตรที่ชอบธรรมของมารดาโดยกฎหมายไทย แต่กรณีบิดาเป็นคนไทย มารดาเป็นคนสัญชาติอื่น ไม่จดทะเบียนสมรส บุตรไม่ได้สัญชาติไทย


เมื่อได้สูติบัตรไทยแล้ว จึงจะสามารถยื่นคำร้องขอหนังสือเดินทางไทยได้ และการจะให้มีชื่อในทะเบียนบ้านไทยเพื่อให้มีสิทธิเต็มที่ในการเป็นประชาชน ไทยนั้น จะต้องนำสูติบัตรเด็กไปยื่นขอนำชื่อเข้าทะเบียนบ้านที่อำเภอหรือเขตเพื่อให้ มีชื่อในทะเบียนบ้านและมีเลขประจำตัวประชาชนต่อไป


Create Date :18 กันยายน 2555 Last Update :18 กันยายน 2555 16:53:03 น. Counter : 4352 Pageviews. Comments :0