bloggang.com mainmenu search
ครม.อนุมัติ 1.2 หมื่นล้านช่วยชาวสวนยาง เผยขยายเวลาชดเชยชาวสวนยางไร่ละ 1,000 บาทจากเดิมสิ้นสุด 30 กันยายนไปถึงสิ้นปี

เมื่อวันที่ 3ฤศจิกายน 2558 ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุม ครม.ว่า ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณ 1.2 หมื่นล้านบาท เพื่อชดเชยต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรชาวสวนยาง โดยแบ่งให้เจ้าของสวนยาง 900 บาท คนกรีดยาง 600 บาท คิดเป็นสัดส่วน 60 ต่อ 40 โดยจะชดเชยให้เฉพาะเกษตรกรที่มีเอกสารสิทธิ์เท่านั้น

ส่วนผู้ที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ จะเข้าไปดูแลเพื่อหามาตรการช่วยเหลือต่อไป ขณะเดียวกันเกษตรกรที่ปลูกข้าวโพด ที่มีการบุกรุกที่ดินโดยกลุ่มนายทุน และมีปัญหาผลผลิตล้นตลาด จะให้ลดพื้นที่การปลูก รวมถึงชาวนา ก็ได้ขอความร่วมมือให้ปลูกพืชทดแทนชนิดอื่น เช่น ถั่วเหลือง แต่หากฝ่าฝืน รัฐบาลคงไม่สามารถช่วยเหลือได้ ทั้งนี้ควรชั่งน้ำหนักความสมดุลว่าควรปลูกพืชอะไรที่เหมาะสม

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ปริมาณน้ำในเขื่อนหลักปีนี้ เหลือเพียง 4.4 พันล้านลูกบาศก์เมตร ปล่อยน้ำทั้งระบบได้ไม่ได้เกินวันละ 20 - 30 ล้านลูกบาศก์เมตร ดังนั้นจึงต้องขอร้องเกษตรกรอย่าปลูกพืชในพื้นที่ที่ไม่มีน้ำ ให้เชื่อฟังคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่รัฐ

ส่วนโครงการที่จะปรับเปลี่ยนการปลูกพืชนั้น กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำลังดำเนินการอยู่ รวมถึงกระทรวงพาณิชย์ ต้องมาดูความต้องการของตลาดว่าจะช่วยเหลืออย่างไร

ทางด้าน พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุม ครม. ว่า ครม.มีมติเห็นชอบขยายเวลาโครงการชดเชยรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1 พันบาท ไปจนถึงวันที่ 31 ธ.ค. 58 จากเดิมสิ้นสุดเมื่อวันที่ 30 ก.ย.58 รวมถึงเห็นชอบการขยายจำนวนสินเชื่อค่าชดเชยดอกเบี้ยเพิ่มเติมโครงการสนับสนุนสินเชื่อเกษตรกรชาวสวนยางรายย่อยเพื่อประกอบอาชีพเสริมครัวเรือนละ 1 แสนบาท เนื่องจากมีเกษตรกรสนใจเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก

โดยมอบหมายให้ ธ.ก.ส. กรมส่งเสริมการเกษตร คำนวณวงเงินที่ต้องใช้ในการขยายสินเชื่อ ชดเชยค่าดอกเบี้ยเพิ่มเติม จากนั้นนำเสนอ ครม.อีกครั้งภายในเดือน ธ.ค. 58 ขณะที่โครงการสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนแก่ผู้ประกอบการยาง วงเงิน 1 หมื่นล้านบาท ให้กระทรวงอุตสาหกรรม สรุปผลการดำเนินงาน เพราะเป็นโครงการเก่า และมอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทยรับข้อเสนอของสมาคมน้ำยางข้นไปพิจารณา พ

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่า ส่วนการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรชาวสวนยางนั้น รัฐบาลจะสนับสนุนงบประมาณให้เป็นจำนวน 1.3 หมื่นล้านบาทเศษ แยกเป็น 2 ส่วนคือ

1.งบที่ใช้สร้างความเข้มแข็งกับเกษตรกร จำนวน 1.2 หมื่นล้านบาทเศษ

2. ส่วนที่เหลือจาก 1.2 หมื่นล้านบา เป็นค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ โดยกำหนดหลักเกณฑ์การช่วยเหลือเป็น 60/40 โดยเงินช่วยเหลือ 1,500 บาท/ไร่ แต่ไม่เกิน 15 ไร่ แยกเป็นร้อยละ 60 และร้อยละ 40 จำนวน 850,000 ครัวเรือน แบ่ง 900 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ ให้กับเจ้าของสวนยาง และผู้เช่าสวนยาง

ส่วนคนกรีดยางได้ 40 เปอร์เซ็นต์ คือ 600 บาท/ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 15 ไร่ หากนำสองส่วนมารวมกันจะเป็น 1,500บาท/ไร่/ครัวเรือน เฉพาะเกษตรกรที่ปลูกยางอยู่ในที่ดินที่มีเอกสารสิทธิ์ถูกต้อง แต่พื้นที่บุกรุกไม่สามารถช่วยเหลือได้

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวอีกว่ากระทรวงเกษตรฯ ยังขอความเห็นชอบให้ขยายการดำเนินโครงการที่เกี่ยวกับยางในปี 58 จำนวน 4 โครงการ ที่ทำไม่เสร็จสิ้นในปี 58 ขยายเวลาทำในปี 59 คือ

1.บล็อกยางปูพื้นในสนามฟุตซอล 240 แห่ง

2.บล็อกยางปูพื้นภายนอกอาคารสนามเด็กเล่น 450 แห่ง

3.โครงการแผ่นยางปูพื้นคอกปศุสัตว์อีก 80 แห่ง

4.โครงการจัดหายางรถยนต์ตามชนิด และขนาดต่าง ๆ ในสายการขนส่ง สรรพาวุธของกระทรวงกลาโหม

นอกจากนี้ยังขอความเห็นชอบจาก ครม.ให้หน่วยงานต่างๆ ที่จะเริ่มสร้างถนนใหม่ บำรุงรักษาซ่อมแซมถนนลาดยางมะตอยในปีงบประมาณ 2559 ทุกหน่วยงานปรับแก้โครงการให้มีการนำยางพาราเข้ามาใช้ ร้อยละ 5 ซึ่งกระทรวงเกษตรต้องหารือเรื่องงบประมาณกับสำนักงบประมาณอีกครั้งเพื่อนำน้ำยางมาใช้จำนวน 2 หมื่นตัน จะทำให้เกษตรชาวสวนยางเห็นความตั้งใจของรัฐบาลในการแก้ปัญหาต่าง ๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต และเพิ่มการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น.

 ที่มา thaitribune
Create Date :04 พฤศจิกายน 2558 Last Update :4 พฤศจิกายน 2558 13:08:26 น. Counter : 288 Pageviews. Comments :0