bloggang.com mainmenu search
(* ที่มาของการเขียนบทความนี้ ดูที่หมายเหตุด้านล่าง)
-----------------------------------------------------------

พระพุทธองค์ได้บัญญัติพระวินัย [1] ไว้ว่า

ปณฺฑโก ภิกฺขเว อนุปสมฺปนโน น อุปสมฺปาเทตพฺโพ
อุปสมฺปนฺโน นาเสตพฺโพติ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ บัณเฑาะก์
ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย

-----------------------------------------------------------

พระอรรถกถาจารย์ได้อธิบาย [2] ไว้ว่า บัณเฑาะก์ ที่พระพุทธองค์
ห้ามบวชนี้ มุ่งหมายถึง ผู้ที่ไม่มีอวัยเพศปรากฏ (นปุงสกปณฺฑก)
และผู้ที่ถูกตอนแล้ว (โอปกฺกมิยปณฺฑก)

โดย บัณเฑาะก์อาจแบ่งออกได้ ๕ จำพวก คือ
๑ อาสิตฺตปณฺฑก ๒ อุสุยฺยปณฺฑก ๓ โอปกฺกมิยปณฺฑก
๔ ปกฺขปณฺฑก ๕ นปุงสกปณฺฑก

ผมจะสรุปความหมายให้สั้นกระทัดลง ดังนี้นะครับ

๑ อาสิตตบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่มีกิจกรรมทางเพศกับชาย
๒ อุสุยยบัณเฑาะก์ ได้แก่ ชายที่ไม่ถึงกับมีกิจกรรมแต่พอใจที่จะดู
กิจกรรมทางเพศ โดยตัวเป็นชายแต่ก็ไปชอบใจในชายที่ดูอยู่นั้น
๓ โอปักกมิยบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลผู้ที่ถูกตอนไปแล้ว เช่นขันที
๔ ปักขบัณเฑาะก์ ได้แก่ บุคคลบางคนข้างแรมเกิดความกำหนัด
ยินดีกระวนกระวายด้วยอำนาจแห่งอกุศลกรรม เมื่อถึงข้างขึ้น
ความกระวนกระวายนั้นก็หายไป
๕ นปุงสกับบัณเฑาะก์ ได้แก่ ผู้ที่ไม่มีเพศหญิงเพศชายไม่ปรากฏทั้ง ๒ เพศ
มีแต่ช่องที่สำหรับถ่ายปัสสาวะเท่านั้น

ในบัณเฑาะก์ ๕ ชนิดนั้น
อาสิตตบัณเฑาะก์ และอุสุยยบัณเฑาะก์ ไม่ห้ามบรรพชา,
โอปักกมิยบัณเฑาะก์ นปุงสกับบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชา
ส่วน ปักขบัณเฑาะก์ ห้ามบรรพชาแก่เขาเฉพาะปักข์ที่เป็นบัณเฑาะก์เท่านั้น.

ในกรณีของ บัณเฑาะก์ สองประเภทที่ว่าบวชได้นั้น หมายถึง
เป็นบัณเฑาะก์ก็แต่เมื่อก่อนบวช แต่เมื่อมาบวชแล้วต้องรักษาวินัย
และสละความประพฤติเบี่ยงเบนนั้นออกให้หมด

-----------------------------------------------------------

หลายๆท่าน มักจะเข้าใจว่า บัณเฑาะก์ แปลว่า กระเทย, เกย์ หรือ ตุ๋ด
ความเข้าใจเช่นนี้อาจจะยังไม่ตรงซะทีเดียว

อันที่จริง คำว่า บัณเฑาะก์ มาจาก ภาษาบาลีว่า ปณฺฑก ดังวจนัตถะ [3] ว่า

ปฑติ ลิงฺคเวกลฺลภาวํ คจฺฉตีติ ปณฺฑโก

ผู้ที่มีเครื่องหมายแห่งบุรุษและสตรีขาดตกบกพร่องไป
ผู้นั้นชื่อว่า บัณเฑาะก์ ได้แก่บัณเฑาะก์ ๕ จำพวก

สำหรับวจนัตถะนี้ หมายเอาพวก
นปุงสกบัณเฑาะก์ เป็นการแสดงโดยตรง (มุขยัตถนัย)
บัณเฑาะก์ที่เหลือ ๔ พวก เป็นการแสดงโดยอ้อม (สทิสูปจารัตถนัย)

-----------------------------------------------------------

มีคำถามว่า คำว่า "หญิงบัณเฑาะก์" ที่พบในพระไตรปิฎก [4]
ในที่นี้มีหมายความว่าอย่างไร

อาศัยวจนัตถะที่แสดงไว้ในบทก่อน
ว่าโดยนัยยะโดยตรง (มุขยัตถนัย) โดยทั่วไปจะหมายถึง
"หญิงที่ไม่ปรากฏอวัยวเพศ"
ส่วนกรณีหญิงชอบหญิง ก็จัดเข้าเป็นบัณเฑาะก์ได้โดยอ้อม (สทิสูปจารัตถนัย)



-----------------------------------------------------------
ต่อมา จะเป็นการอธิบายเรื่อง อุภโตพยัญชนกะ
-----------------------------------------------------------

ในกรณีของ อุภโตพยัญชนกะ มีแค่ ๒ จำพวก
และทั้ง ๒ จำพวกนั้นไม่สามารถบวชได้เลย

พระพุทธองค์ได้บัญญัติพระวินัย [6] ไว้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนุปสัมบัน คือ อุภโตพยัญชนก
ภิกษุไม่พึงให้อุปสมบท ที่อุปสมบทแล้วต้องให้สึกเสีย.


จากอรรถกถา [7]และฎีกา [3] สรุปใจความได้ดังนี้

วจนัตถะของ อุภโตพฺยญฺชนโก ได้แก่

อุภโต ปวตฺตํ พฺยญฺชนํ ยสฺส อตฺถีติ = อุภโตพฺยญฺชนโก

องคชาตทั้ง ๒ ชนิดที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยกรรมทั้ง ๒ มีแก่บุคคลใด
ฉะนั้นบุคคลนั้นชื่อว่า อุภโตพยัญชนก



บุคคลที่เป็นพวกอิตถีอุภโตพยัญชนกนั้น คือมีรูปร่างสัณฐานลักษณะ
อาการเป็นหญิงตลอดจนอวัยวะเพศอย่างธรรมดา ต่อเมื่อเวลาพอใจ
ในหญิงอื่นๆเกิดขึ้นแล้ว จิตใจที่เป็นอยู่ก่อนนั้นก็หายไป เปลี่ยนสภาพ
เป็นจิตใจของผู้ชายขึ้นมาแทน ในเวลาเดียวกันนั้นอวัยวเพศชายก็เกิดขึ้น
อวัยวเพศหญิงก็หายไปสามารถสมสู่ร่วมกับหญิงนั้นได้

บุคคลที่เป็นพวกปุริสอุภโตพยัญชนก นั้น คือมีรูปสัณฐานลักษณะ
อาการเป็นชายอวัยวะเพศก็เป็นชายอย่างธรรมดา ต่อเมื่อเวลาที่แล
เห็นผู้ชายมีความพอใจรักใคร่เกิดขึ้น แล้วจิตใจที่เป็นชายอยู่ก่อน
ก็หายไป เปลี่ยนสภาพเป็นจิตใจของหญิงขึ้นแทน และในเวลาเดียวกัน
นั้นอวัยวเพศหญิงก็ปรากฏขึ้น อวัยวเพศชายก็หายไปสามารถสมสู่
ร่วมกับชายนั้นได้

ความแตกต่างกันระหว่างอิตถีอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้นมีดังนี้ คือ

อิตถีอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองก็มีครรภ์กับบุรุษทั้งหลายได้
ทำหญิงอื่นทั้งหลายให้มีครรภ์กับตัวก็ได้

สำหรับปุริสอุภโตพยัญชนกบุคคลนั้น ตัวเองไม่สามารถบังเกิดครรภ์ได้


-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย เรื่อง ปฏิสนธิจิตของ บัณเฑาะก์ และ อุภโตพยัญชนกะ ตามนัยพระอภิธรรม
-----------------------------------------------------------------------

การจัดแบ่งบุคคลตามประเภทของ
ปฏิสนธิจิต-ภวังคจิต-จุติจิต แบ่งออกได้เป็นสาม

สุคติอเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก" (ไม่มีกุศลเหตุเลย)
ทวิเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "มหาวิบากญาณวิปปยุต" (มี อโลภเหตุ อโทสเหตุ)
ติเหตุกบุคคล จะมาปฏิสนธิด้วย "มหาวิบากญาณสัมปยุต" (มี ทั้ง อโลภเหตุ อโทสเหตุ อโมหเหตุ)

นปุงสกบัณเฑาะก์ และ อุภโตพยัญชนกะ จะเป็นผู้ที่เกิดด้วย "อุเบกขาสันตีรณกุศลวิบาก"
และจัดเป็น สุคติอเหตุกบุคคล [3]

ส่วน บัณเฑาะก์ที่เหลือนั้นไม่แน่นอน อาจจะเป็นทวิเหตุกบุคคล หรือ ติเหตุกบุคคลก็ได้



-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย เรื่อง ปุริสินทรีย์ อิตถินทรีย์ ของ อุภโตพยัญชนกะ ไม่ได้เกิดขึ้นพร้อมกัน
-----------------------------------------------------------------------

ท่านพระสัทธัมมโชติกะได้ อธิบายไว้ [3] ว่า

อุภโตพยัญชนกะ เป็นบุคคลที่มีด้วยกันทั้ง ๒ เพศ
แต่เพศทั้ง ๒ นี้หาใช่ปรากฏทีเดียวพร้อมกันไม่

เวลาใดปุริสภาวรูปปรากฎขึ้น เวลานั้นอิตถีภาวรูปก็ไม่ปรากฏ
และเมื่อเวลาใดอิตถีภาวรูปกำลังปรากฏขึ้น เวลานั้นปุริสภาวรูปก็ไม่ปรากฏ

ดังมีพุทธภาษิตแสดงไว้ในอินทริยยมกพระบาลี [8] ว่า
“ยสฺส อิตฺถินฺทริยํ อุปฺปชฺชติ, ตสฺส ปุริสินฺทฺริยํ อุปฺปชฺชตีติ?”
”โน”
ซึ่งแปลความว่าอิตถินทรีย์กำลังเกิดขึ้นแก่บุคคลใด
ปุริสินทรีย์กำลังเกิดขึ้นแก่บุคคลนั้นใช่ไหม? ตอบว่าไม่ใช่! ดังนี้

-----------------------------------------------------------------------
อธิบาย ความหมายของ ปุริสินทรีย์ อิตถินทรีย์
-----------------------------------------------------------------------

จาก อรรถกถา[9] และ อภิธัมมัตถสังคหะ[10] ได้แสดงไว้ว่า

ในรูปปรมัตถ์ ๒๘ นั้น ประกอบไปด้วย ภาวรูป ๒

ภาวรูปมี ๒ คือ
๑. อิตถีภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นหญิง (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)
๒. ปุริสภาวรูป รูปที่เป็นเหตุแห่งความเป็นชาย (เป็นรูปที่เกิดจากกรรม)


(บทความนี้ยังไม่เสร็จสมบูรณ์ จะมาเขียนต่อภายหลังครับ)




-----------------------------------------------------------------------


อ้างอิง

[1] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕] (link)
[2] อรรถกถาปัณฑกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๒๕])
[3] มหาอภิธัมมัตถสังคหฎีกา วิถีมุตตสังคหะ เล่ม ๑
[4] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗ จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ [๕๗๓] (link)
[5] พระวินัยปิฎก มหาวรรค เล่ม ๔ ภาค ๑ - หน้าที่ 333 (จากฉบับมหามกุฏฯ)
[6] พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๔ มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒] (link)
[7] อรรถกถาอุภโตพยัญชนกวัตถุ (อธิบาย มหาวรรค ภาค ๑ ข้อ [๑๓๒])
[8] พระอภิธรรมปิฎก เล่มที่ ๖ ยมกปกรณ์ ภาค ๒ (link)
[9] อรรถกถาอิตถินทริยนิทเทส, อรรถกถาปุริสินทริยนิทเทส
ในอัฏฐสาลินีอรรถกถา (คู่กับพระอภิธรรมปิฎกเล่มที่ ๑)
[10] คู่มืออภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉท ๖

-----------------------------------------------------------------------

*หมายเหตุ:
บทความนี้ ได้เขียนขึ้น เนื่องจากต้องการสรุปเนื้อหาที่สำคัญ
ที่เกิดจากการสนทนาธรรมกันระหว่างเพื่อนสมาชิกหลายๆท่าน
//topicstock.pantip.com/religious/topicstock/2011/04/Y10435225/Y10435225.html
ซึ่งได้แก่ คุณปล่อย คุณฮิมาวาริซซัง คุณชาล้นถ้วย คุณระนาด
คุณเอิงเอย คุณฐานะฐานะ โดยในส่วนของข้อ [4],[5],[7],[9] เป็นข้อมูลที่
คุณปล่อยได้ช่วยยกมาให้ได้วิเคราะห์กัน
Create Date :16 เมษายน 2554 Last Update :10 กรกฎาคม 2554 20:46:04 น. Counter : Pageviews. Comments :19