The Seven Thailand Long-term Growth Fund (7thLTG) “In Search of Worry-free Investment Strategies”
ผมได้บทความนี้มาจากเพื้อนๆที่ได้โพสแนะนำการออมหุ้น และการลงทุนระยะยาว 15 ปี เห็นว่าเป็นแนวทางที่ดีมาก และมีหลักเกณฑ์ที่เห็นว่าน่าจะได้ผลจริงในระยะยาว และผมก็ยึดแนวทางนี้อยู่แล้ว เห็นว่าหุ้นหลายๆตัวที่ผู้เขียนแนะนำ ก็เป็นหุ้นตัวที่ผมก็กำลังออมอยู่ จึงขออนุญาตเจ้าของบทความของคุณ นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์ มาเผยแพร่ ณ ที่นี้ ท่านได้เขียนหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนหลายเล่มที่น่าสนใจ เช่น 85 ไอเดียการลงทุนในตลาดหุ้นไทย การวัดมูลค่าหุ้นด้วยตนเอง เป็นต้น
ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูง ณ ที่นี้ด้วยครับ

The Seven Thailand Long-term Growth Fund (7thLTG)
“In Search of Worry-free Investment Strategies”
โดย : นรินทร์ โอฬารกิจอนันต์

เนื่องด้วยผมมีความตั้งใจจะอุทิศทรัพยากรของ ผมส่วนหนึ่งให้กับการค้นหาวิธีลงทุนระยะยาวในตลาดหุ้นไทย ที่ได้ผลตอบแทนที่ดีพอสมควร (above average returns) และต้องง่ายพอที่ average person จะสามารถปฏิบัติได้เอง ผมจึงสร้างพอร์ตลงทุนอันหนึ่งขึ้นมาให้ชื่อว่า The Seven Thailand Long-term Growth Fund หรือ 7thLTG เพื่อการนี้ครับ

เป้าหมายของผมคือการค้นหาวิธีการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่

1. ให้ตอบแทนเฉลี่ยสะสมเกิน 10% ต่อปี และ/หรือเอาชนะดัชนี SET50 ได้ในระยะยาว (อาจจะไม่สูงมากก็ได้แต่อย่างน้อยคุ้มค่ากับความเสี่ยงและ effort ที่ลงไป)

2. average person ต้องสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยาก
3. ไม่ต้องติดตามข่าวหรือตลาดหุ้นอย่างใกล้ชิด (เพื่อให้เงินทำงานให้เรา ไม่ใช่ให้เราทำงานให้เงิน)

วิธีนี้ไม่ได้เน้นการ maximize ผลตอบแทน แต่เน้นการทำให้ผลตอบแทนให้ดีพอสมควรโดยไม่ต้องใช้ effort มาก

นโยบายการลงทุน
คัดเลือกหุ้นไทยจำนวน 7 ตัว ที่เข้าเกณฑ์ทั้ง 3 ข้อต่อไปนี้

1. เป็นกิจการที่ยังเติบโตได้อีกมากในระยะยาว (ข้อนี้ขาดไม่ได้)

2. ต้องเป็นบริษัทที่ established แล้วพอสมควร (ไม่เจ๊งไปง่ายๆ ใน 15 ปีเสียก่อน)

3. ไม่อยู่ใน sector เดียวกันเกิน 3 ตัว

กองทุนจะลงทุนในหุ้น 7 ตัวนี้เท่านั้น โดยรายชื่อสามารถปรับเปลี่ยนได้ในอนาคตเมื่อเห็นว่าหุ้นนั้นไม่เข้าเกณฑ์ ทั้งสามข้ออีกต่อไป หรือไม่สามารถเทรดได้อีก (โดนควบรวม โดนถอน โดยแขวน ไร้สภาพคล่อง ฯลฯ)

ในการลงทุนจะซื้อหุ้นทั้ง 7 ตัว ทุกวันที่ 25 ของเดือน ตัวละ 3,000 บาท (ปัดลงให้เศษหุ้นลงตัว) เป็นเงินรวม 21,000 บาทต่อเดือน ซื้อไปเรื่อยๆ ทางเดียวจนกว่าจะครบ 15 ปี และจะสรุปผลเมื่อครบกำหนด 15 ปีแล้วเท่านั้น

เมื่อใดที่มีหุ้นตัวใดมีมูลค่าใหญ่เกิน 30% ของพอร์ต หุ้นตัวนั้นจะโดนหยุดซื้อชั่วคราวจนกว่าจะไม่เกิน (เอาเงินในเดือนนั้นเฉลี่ยไปซื้อตัวอื่นๆ ที่เหลือแทน) เพื่อลดการผูกพอร์ตไว้กับหุ้นตัวใดตัวหนึ่งมากไป

หลักการและเหตุผล

ทำไมเลือกหุ้นด้วยการมองการเติบโตในอนาคตเป็นหลัก : เพราะผมได้ตรวจสอบมาแล้วว่าหุ้นเติบโตในตลาดหุ้นไทยเป็นหุ้นที่ถือยาวแล้วได้ผลตอบแทนที่สูงได้จริงๆ และสูงกว่าหุ้นแนวอื่น



ปี 1996 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ประมาณ 1200 จุด ส่วนปี 2008 ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 400 จุด จะเห็นได้ว่าต่อให้ซื้อหุ้นในปีที่ตลาดหุ้นฟองสบู่ แต่ถ้าถือไว้เป็นระยะเวลาที่นานมากพอ แม้จะขายออกในปีที่มีวิกฤต หุ้นเติบโตก็ยังให้ผลตอบแทนที่งดงามและมากกว่า หุ้นคุณค่า เพราะฉะนั้น หุ้นที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาวจึงได้แก่หุ้นเติบโต ไม่ใช่หุ้นคุณค่าหรือหุ้นปันผลอย่างที่เข้าใจกัน ถ้าหากเข้าใจตรงนี้ได้ หุ้นไทยก็สามารถถือยาวได้ครับ ต่อให้เจอวิกฤตก็ไม่น่ากลัว

ส่วนหนึ่ง ที่ผมสร้างพอร์ตนี้ขึ้นมาก็เพื่อ ต่อสู้กับความเชื่อที่ว่า “หุ้นไทยถือยาวไม่ได้” และ “หุ้นที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาวคือหุ้นปันผล” ซึ่งผมมองว่าเป็นความเชื่อที่ผิด ผมเชื่อว่า หุ้นไทยถือยาวได้แต่ต้องถือหุ้นเติบโตเท่านั้น ครับ
ทำไมไม่เลือกหุ้นด้วยพีอีเรโช : ผมไม่เชื่อว่าวิธีอะไรก็ตามที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำแทนได้หมด 100% จะเป็นวิธีที่สามารถเอาชนะตลาดหุ้นได้ ผมเชื่อว่าการลงทุนเป็นศิลปะ ดังนั้นยังไงก็ต้องมีบางส่วนที่เป็น Qualitative อยู่ด้วย และส่วนนี้แหละที่จะทำให้เราเอาชนะตลาดได้ แม้ว่าบางทีเราจะไม่ชอบก็ตาม

ที่จริงผมไม่เชื่อด้วยซ้ำว่าการเลือกหุ้นโดย ดูจากพีอีต่ำเป็นวิธีที่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว เพราะถ้าราคาหุ้นสะท้อนมูลค่าเมื่อไร แต่กำไรไม่เพิ่มต่อไปอีก ถือต่อไปก็จะไม่มีประโยชน์อะไร ต่างกับหุ้นของกิจการที่กำไรเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ ถือไว้นานๆ ย่อมมีประโยชน์

ทำไมต้องเป็น established company ด้วย : เพราะวิกฤตต้มยำกุ้งได้พิสูจน์ให้เห็นว่า เมื่อเกิดวิกฤตขึ้น หุ้นทุกตัวลงแรงเหมือนกันหมด แต่หลังจากนั้น บริษัทที่ไม่มีฐานธุรกิจที่มั่นคงมากพอจะหายไปเลย ในขณะที่พวก established company ส่วนใหญ่มักจะกลับมาได้ในที่สุด ดังนั้น ในการลงทุนระยะยาว ต้องเลือก established company เพราะ ถึงแม้จะลงหนักเมื่อมีวิกฤตเหมือนกัน แต่เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ จะกลับมาเป็นปกติเอง

ทำไมต้อง 7 ตัว : มีการวิจัยพบว่าการกระจายหุ้นเกิน 15 ตัวขึ้นไป ผลของการลดความเสี่ยงโดยหุ้นตัวที่ 16 เป็นต้นไปแทบจะไม่มีนัยสำคัญเลย ดังนั้นจึงไม่ควรกระจายหุ้นเกิน 15 ตัว ในทางตรงกันข้าม การซื้อหุ้นแค่ 2-3 ตัว จะทำให้มีโอกาสเอาชนะตลาดแบบมากๆ ได้ แต่การทำเช่นนั้นจะทำให้วิธีการลงทุนนี้จะต้องพึ่งพาฝีมือของผู้ลงทุนอย่าง มากทันที ซึ่งไม่ใช่เป้าหมาย ดังนั้น จำนวนหุ้นกลางๆ น่าจะเหมาะ แต่ไม่มีกฏตายตัวว่าต้องเท่าไรแน่ บังเอิญ 7 อยู่ตรงกลางพอดี และผมชอบเลข 7 เหอๆ การบังคับให้ต้องลงทุนถึง 7 ตัว จะทำให้ average person กับ expert ทำผลงานได้ไม่ต่างกันมากนักโดยอัตโนมัติ ทำให้วิธีนี้ไม่ต้องขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้ลงทุนมากจนเกินไป

ดังนั้นในการเลือกหุ้นตามวิธีนี้จึงไม่ต้อง กลัวว่าจะเลือกหุ้นไม่เก่งด้วย เพราะสุดท้ายแล้วผลตอบแทนจะไม่ต่างจากของ expert มากนักอยู่ดี เนื่องจากถูกบังคับให้ลงทุนถึง 7 ตัว แต่ข้อสำคัญคือต้องเลือกโดยพิจารณาจากเกณฑ์ 3 ข้อที่กล่าวไปแล้ว ห้ามเลือกเพราะเหตุผลอย่างอื่น เช่น ปันผลสูง พีอีต่ำ โดยเด็ดขาด
ทำไมต้องทยอยซื้อ ทำไมไม่ลงตูมเดียวไปเลย : Feedback ที่ผมได้รับจากนักลงทุนสมัครเล่นส่วนใหญ่ก็คือเขาบอกว่าการหาว่ามูลค่าที่ เหมาะสมของหุ้นเป็นเท่าไรนั้นเป็นส่วนที่ยากที่สุดของการลงทุน และยากเกินไปสำหรับ average person ดังนั้นผมจึงออกแบบวิธีนี้ให้ลงทุนแบบเฉลี่ยต้นทุนในระยะยาว จะได้ไม่ขึ้นอยู่กับความสามารถในการวัดมูลค่าหุ้น การลงตูมเดียวไปเลยอาจได้ผลตอบแทนสูงกว่า แต่ต้องพึ่งพาความสามารถในการวัดมูลค่าหุ้นเป็นอย่างมาก จึงไม่เหมาะกับ average person ครับ

ทำไมต้อง 15 ปี : ถ้าเป็นยุคบัฟเฟตยังหนุ่ม ผมว่าแค่ 7 ปีก็พอ แต่ผมมองว่าตลาดหุ้นยุคนี้ไม่เหมือนสมัยก่อน เพราะเต็มไปด้วยฟองสบู่ ที่เกิดจากความพยายามบิดเบือนปัจจัยมหภาคของธนาคารกลางต่างๆ เช่น การตึงค่าเงิน การลดดอกเบี้ยมากเกินไป เป็นต้น ซึ่งธนาคารกลางมีความสามารถในการบิดเบือนพื้นฐานได้นาน 7-8 ปี เลยทีเดียว ดังนั้นการลงทุนที่มีระยะเวลาลงทุนไม่นานพอจะเสี่ยงต่อวิกฤต การลงทุนติดต่อกันนานถึง 15 ปี จะช่วยทำให้มีการเฉลี่ยต้นทุนครบวัฏจักรอย่างน้อยหนึ่งรอบ จึงเป็นวิธีการลงทุนที่ผลตอบแทนรวมไม่ขึ้นกับวิกฤต (crisis-proof) ข้อดีที่สำคัญอีกอย่างของวิธีการนี้จึงได้แก่ การที่สามารถเริ่มต้นเมื่อไรก็ได้ โดยไม่ต้องพะวงว่าจะเกิดวิกฤตเมื่อไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำนายได้ยากมากอีกเรื่องหนึ่ง

ทำไมต้อง 21000 บาทต่อเดือน : เพื่อประหยัดค่าคอมฯขั้นต่ำเท่านั้นเอง แต่จริงๆ แล้วไม่จำเป็น วิธีนี้จะใช้เงินน้อยกว่านี้ก็ได้ เช่น เดือนละ 7000 บาท (ตัวละพัน) ก็พอแล้ว เป็นต้น การเสียค่าคอมขั้นต่ำทุกเดือนเดือนละ 53.5 บาท ในเวลา 15 ปี คุณเสียค่าคอมไปทั้งสิ้นแค่ 9630 บาทเท่านั้น ดังนั้น ถ้าลงทุนไม่ถึง 24000 บาทต่อเดือน จริงๆ แล้วคุณก็ไม่ได้เสียค่าคอมแพงเกินไปเท่าไรนักหรอก

จะสังเกตได้ว่า ผมออกแบบวิธีการนี้ให้พึ่งพาทักษะเพียงแค่อย่างเดียวเท่านั้นคือ ทักษะในการเลือกหุ้น ไม่ต้องใช้ทักษะในการกระจายหุ้น วัดมูลค่าหุ้น หรือ market timing เลย จึงเป็นวิธีที่ง่ายมาก นักลงทุนส่วนใหญ่มีความเชื่อว่าการจะได้ผลตอบแทนมากกว่าตลาดต้องอาศัย market timing เป็นสำคัญ (ซื้อก่อนลง ขายก่อนขึ้น) แต่ถ้าสังเกตดูกองทุนรวมในบ้านเราทุกวันนี้ มี managed fund ที่ไม่จ่ายปันผลอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ไม่มีกองทุนไหนมี NAV สูงเท่ากับ TMBSET50 ได้เลย แสดงว่าที่จริงแล้ว market timing อาจช่วยทำให้ชนะตลาดในระยะสั้นได้บ้าง แต่ในระยะยาวแล้ว มันคือต้นเหตุสำคัญที่ทำให้นักลงทุนแพ้กองทุนที่เลียนแบบดัชนี การที่ผู้ จัดการกองทุนพยายามซื้อๆ ขายๆ จะทำให้พลาดโอกาสสำคัญๆ ในระยะยาวและพ่ายแพ้กองทุนเลียนแบบดัชนีในที่สุด
โดยส่วนตัวผมเชื่อว่า การเอาชนะตลาดในระยะยาวต้องอาศัยการ Focus มากกว่า ซึ่งหมายถึง การลงทุนในหุ้นจำนวนน้อยตัวกว่าตลาด โดยคัดเลือกตัวที่คิดว่าน่าจะเติบโตดีกว่าตลาดโดยรวม ซึ่งเป็นวิธีที่ชนะ ตลาดในระยะยาวได้ง่ายกว่าการพึ่ง Market Timing ครับ

อย่างไรก็ตาม ขอเน้นย้ำอีกครั้งว่า วิธีนี้ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะ maximize return แต่เป็นการค้นหาวิธีการลงทุนที่ง่ายที่สุด เฝ้าตลาดน้อยที่สุด แล้วยังได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่ากับความเสี่ยงของการลงทุนในหุ้นทุนด้วย ตามคอนเซ๊ปต์ให้เงินทำงานให้เรา มิใช่ให้เราทำงานให้เงิน ผลตอบแทนอาจไม่สูงสุด แต่มีเวลาสำหรับด้านอื่นๆ ของชีวิต

สำหรับหุ้น 7 ตัวแรกที่จะเริ่มลงทุนในวันที่ 25 กันยายน 2552 เป็นต้นไปมีดังนี้
หุ้น เหตุผลที่เลือก ณ ขณะนั้น



จะเห็นได้ว่าเป็นการมอง Big Picture เป็นหลัก ไม่ได้คิดอะไรซับซ้อน ไม่ต้องรู้บัญชีมาก ไม่ต้องกังวลว่าจะมองอนาคตพลาด เพราะต้องมีพลาดบางตัวอย่างแน่นอน แต่เรามีตั้ง 7 ตัว จะไปกลัวอะไร เราต้องการภาพรวมดี ถ้าการลงทุนคือการทำธุรกิจ มีนักธุรกิจคนไหนบ้างที่ชัวร์ร้อยเปอร์เซ็นต์ว่าจะต้องประสบความสำเร็จตอน เริ่มต้นทำธุรกิจครับ อีกอย่างหนึ่ง จริงๆ แล้ว ตั้งแต่เกิดมา ผมยังไม่เคยเจอใครเลือกหุ้นได้ถูกต้องทุกครั้งเลยครับ (นอกจากคนที่ชอบ claim ว่าตัวเองเลือกถูกแต่ตัวที่ผ่านไปแล้ว แต่พวกนี้พอให้เลือกไปข้างหน้า ไม่เห็นจะเลือกถูกเลย) ที่จริงแล้ว ผมว่าคนที่เก่งมักเป็นคนที่เวลาเลือกผิดแล้ว เขามักขาดทุนไม่มาก เพราะว่าไม่ดันทุรัง ส่วนเวลาเลือกถูกก็กล้า let profit run มากกว่า
คำเตือน : 7thLTG เป็นเพียงแค่การทดลองที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่าได้ผล (กว่าจะรู้ผลก็อีก 15ปี) ผมจึงไม่แนะนำให้ทำตามนะครับ ถ้าใครทำตามแล้วเจ็งก็เป็นความผิดพลาดของผู้นั้นเองที่รู้ว่าวิธีการที่ยัง ไม่ได้รับการพิสูจน์แต่นำไปใช้

สถานะของพอร์ต
First Year : 24 Sep 2010 ATC


/24sep20101.gif
Second Year : 23 Sep 2011 ATC




25/9/09 ADVANC, BANPU, BGH, CPALL, CPN, PS, MINT
24/9/10 PTTEP, BANPU, BGH, CPALL, CPN, PS, MINT
24/3/11 BANPU, BANPU, BGH, HMPRO, CPN, PS, MINT





7thLTG Extended Version(ต่อ)

by Narin Olankijanan Posted on December 28, 2010

7thLTG ช่วยให้นักลงทุนได้หุ้นดีๆ ที่ต้นทุนระดับเฉลี่ยเสมอ และยังช่วยให้นักลงทุนรอคอยโอกาสได้โดยไม่รู้กังวลกระวายมากเกินไปด้วย เพราะช่วยชะลอไม่ให้นักลงทุนลงทุนเต็มตัวในช่วงที่หุ้นแพง ดังนั้นเพื่อนำข้อดีของ 7thLTG มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและมากขึ้นไปอีก ขอแนะนำ 7thLTG Extended Version ครับ

แนวคิดของ Extended Version คือ ในช่วงเวลาที่ตลาดหุ้นแพงหรือแม้แต่มีราคาปกติ เราก็ซื้อเฉลี่ยไปเรื่อยๆ ด้วย 7thLTG ธรรมดาก่อน (ได้ซื้ออะไรบ้างมือจะได้ไม่คัน) เมื่อไรก็ตามที่ SET ตกลงจากจุด Recent High ของมันเกิน 25% ก็ให้ซื้อเพิ่มสักครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ดีขึ้นไปอีก เพราะซื้อมากกว่าปกติแต่ช่วงที่เกิด market correction เท่านั้น) สุดท้ายแล้วเราก็จะได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ดียิ่งกว่า 7thLTG แบบธรรมดาเสียอีก
สรุปวิธีการลงทุนแบบ 7thLTG Extended Version เป็นดังนี้ครับ

1. เริ่มต้นด้วยการประเมินความสามารถในการออมในระยะยาวของตัวคุณเองก่อนว่า คุณสามารถออมเงินได้สูงสุดเท่าไรต่อเดือนโดยไม่เดือดร้อนหรือยากจนเกินไป เมื่อเทียบกับรายได้และค่าใช้จ่ายของคุณเอง

2. คัดเลือกหุ้นที่จะลงทุนโดยคำนึงถึงโอกาสเติบโตของธุรกิจนั้น และความแข็งแกร่งทางธุรกิจเป็นหลัก (ไม่ใช่เงินปันผล หรือราคาหุ้นที่ต่ำ) ประมาณ 7 ตัว เพื่อให้ง่ายอาจลงทุนผ่าน “โปรแกรมออมหุ้น” ของโบรกเกอร์ เพราะจะทำให้เราซื้อหุ้นเป็นเศษได้ แล้วลงทุนตามไปโปรแกรมโดยอัตโนมัติ [การลงทุนผ่านโปรแกรมออมหุ้น 7 ตัว ต้องออมอย่างน้อย 7000 บาทต่อเดือน ถ้ามีเงินน้อยกว่านี้ ก็อาจเลือกตัวหุ้นน้อยลง แต่ต่ำสุดไม่ควรจะน้อยกว่า 4 ตัว เพื่อให้มีการกระจายที่พอควร]

3.รายชื่อหุ้นที่ออมทุกเดือนอาจเปลี่ยนแปลงได้เป็นระยะ ไม่จำเป็นต้องลงทุนกับหุ้นชุดเดิมไปตลอดกาล หากเห็นว่าหุ้นตัวเดิมไม่เข้าข่ายหุ้นที่เติบโตในระยะยาวได้อีกต่อไป ก็เปลี่ยนได้

4.ในปีถัดๆ ไป ถ้าคุณมีรายได้สูงขึ้น ก็อาจปรับเพิ่มจำนวนเงินที่จะออมต่อเดือนเพิ่มขึ้นตามก็ได้ แต่ควรเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ไม่ฮวบฮาบ และถ้าหากระหว่างที่ลงทุนอยู่ คุณเกิดได้เงินออมพิเศษมา (เช่น ได้โบนัส ถูกหวย ฯลฯ) ขอให้เก็บเงินส่วนเกินนี้ไว้ในธนาคารก่อน เมื่อใดก็ตามที่ตลาดหุ้นตกหนักๆ เช่น 30% ค่อยนำเงินส่วนเกินที่สะสมไว้นี้ (ไม่ว่าจะมีมากเท่าไรก็ตาม) มาซื้อหุ้นชุดเดิมเพิ่มเข้าไปสักครั้ง เพื่อทำให้ได้ต้นทุนเฉลี่ยที่ดีขึ้นไปอีก เนื่องจากเป็นการเพิ่มน้ำหนักการลงทุน หลังตลาดหุ้นเกิด correction ใหม่ๆ ต้นทุนเฉลี่ยโดยรวมก็จะยิ่งต่ำลง ผลตอบแทนในระยะยาวก็จะสูงขึ้นไปอีก

5. ลงทุนให้ได้ต่อเนื่องอย่างน้อย 15 ปีครับ
(ในพอร์ตสาธิตของผม จะไม่ใช่ Extended version เนื่องจากจำนวนเงินซื้อเพิ่มของแต่ละคนย่อมไม่แน่นอน ขึ้นกับเงินเก็บของแต่ละคน จึงสาธิตให้ดูได้ยาก ให้ถือว่า 7thLTG แบบธรรมดาที่สาธิตให้ดูนี้เป็นกรณี worst case ของ 7thLTG ก็แล้วกัน)

ที่มา //dekisugi.net/7thltg
//dekisugi.net/archives/17260




Create Date : 08 กุมภาพันธ์ 2555
Last Update : 8 กุมภาพันธ์ 2555 18:34:17 น.
Counter : 5860 Pageviews.

3 comments
  
ขอบคุณมากค่ะ
โดย: สายพิน IP: 192.168.200.105, 171.96.21.174 วันที่: 12 พฤษภาคม 2555 เวลา:11:51:41 น.
  
ขอบคุณมากค่ะ สำหรับสาระดี ๆ แบบนี้
บทความนี้ทำให้หนูรู้ว่าหนูจะเดินทางยังไงบนเส้นทางสายการลงทุนใน SET
โดย: ผักหอม IP: 110.77.174.90 วันที่: 16 ตุลาคม 2555 เวลา:22:06:27 น.
  
สวัสดีครับคุณwild rabbit

ผมสนใจเรื่องการออมหุ้นมากๆครับ ก่อนหน้านี้เริ่มออมหุ้นกับชิกโก้มาได้ระยะหนึ่งแล้วครับ ผมมีข้อข้องใจอยากจะสอบถามดังนี้ครับ :

1. ผมจัดพอตการออมหุ้นไว้ดังนี้ : CPF, CPALL, CPN, DELTA, RATCH คุณwild rabbit คิดว่าเหมาะสมไหมครับ

2. ณ. เวลานี้ผมจะลงทุนเพิ่มอีก 3 ตัวครับ : KTB, HMPRO, PTTGC แต่เท่าที่ศึกษาข้อมูลมาการออมหุ้นไม่เหมาะกับหุ้นที่เป็นคอมมูนิตี้ และหุ้นวัฏจักร อย่างPTTGC จะเสี่ยงเกินไปหรือไม่ครับ ผมคิดว่าจะถือยาวๆ เป็น10ปีขึ้นไปทุกๆตัวครับ

3. การออมหุ้นกับบ.ซิกโก้ ผมได้ให้หักภาษีกับTDSไปแล้ว และในข้อมูลการปันผลได้เขียนว่าเป็นเงินสุทธิหลังหักภาษีนั่นแสดงว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีผมเป็นเงินที่ไม่ต้องนำมาคำนวนภาษีอีกใช่ไหมครับ

ขอบคุณครับ
โดย: pon IP: 223.204.115.68 วันที่: 23 ตุลาคม 2555 เวลา:13:15:55 น.
ชื่อ :
Comment :
 *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Wild Rabbit
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]



กุมภาพันธ์ 2555

 
 
 
1
2
3
4
5
6
7
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29