" The man who does not read a good books has no advantage over the man who can't read them. " -- Mark Twain
Group Blog
 
<<
มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
30 มกราคม 2552
 
All Blogs
 
+++ อ่านสามก๊ก ถกบริหาร ผ่านคมคิดเจ้าสัว CP ALL + ปัญหาการอ่านของสังคมไทย +++


อ่านสามก๊ก ถกบริหาร โดย คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ราคา 185 บาท



เพิ่งอ่านจบเมื่อคืนครับ ขอออกตัวล้อฟรีแต่ต้นก่อนเลยว่า ตัวผมเองนั้นไม่เคยอ่านสามก๊กอย่างเป็นจริงเป็นจังมาก่อน (แม้จะมีทุกสำนวน รวมถึงที่เป็นประวัติศาสตร์ของสามก๊กจริงๆอยู่บนหิ้งดองไว้ที่บ้านก็ตาม) รู้แบบงูๆปลาๆ จากที่เคยผ่านหูผ่านตาตอนเรียนมาบ้าง ทำให้อ่อนด้อยในด้านเนื้อหาของสามก๊กยิ่งนัก..

" ความเขลาเป็นศัตรูที่ร้ายกาจที่สุดในโลก มีเพียงการสร้างปัญญา และความรอบคอบ แยกแยะผิดถูกอย่างมีเหตุผล จึงจะสามารถรักษาวัฒนธรรมอันดีงามให้สามารถต่อยอดสู่รุ่นต่อไป ...พิจารณาหลากหลายมิติ ยึดถือสิ่งดี ละทิ้งส่วนด้อย " ลีกาซิง เจ้าสัวที่ถูกจัดให้รวยเป็นอันดับที่ 11 ของโลก


ผมได้รับการแนะนำหนังสือเล่มนี้อย่างบังเอิญ จากพี่เจริญชัย SIU ที่เป็นผู้สนใจในเรื่องสามก๊กอย่างลึกซึ้งคนหนึ่ง แกถึงกับการันตีว่า " เป็นหนังสือวิเคราะห์สามก๊กที่ชื่นชอบที่สุด " แต่จะดีที่สุดหรือไม่นั้น ผมมิอาจทราบได้..

ผมได้เป็นเจ้าของหนังสือเล่มนี้ในช่วงบ่ายของวันรุ่งขึ้น ก่อนอ่านรวดเดียวจบภายในช่วงค่ำของวันเดียวกัน ความรู้สึกหลังจากหน้าสุดท้ายจบลง ความคิดในสมองน้อยๆของผมผสมปนเปกันไปหมด จะว่ากึ่มๆด้วยฤทธิ์แอลกอฮอล์ก็ไม่น่าใช่ (แม้จะจิบไปไม่น้อยก็ตาม) แต่เป็นความรู้สึกที่แบบกำกึ่ง จะว่าดีธรรมดาก็ได้ หรือจะบอกว่าเยี่ยม ก็ไม่ผิด ..เหมือนความคิดผมยังไม่ตกตะกอนดีพอ...แต่ถ้าตอบตามความรู้สึก ผมชอบนะ (ถ้าได้อ่านอีกรอบ คงจะชอบ และเข้าใจลึกซึ้งมากกว่านี้)

คือ ถ้าพูดในแง่การบริหาร ลักษณะที่คุณก่อฯ บอกไว้มันก็เป็นหลักพื้นฐาน ที่มีหนังสือเล่มอื่นเขียนเอาไว้มากมายอยู่แล้ว เช่น เรื่องคุณธรรมน้ำมิตร การซื้อใจลูกน้อง ภาวะความเป็นผู้นำ การกล้าตัดสินใจ ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ แต่การมีBackground เป็นเรื่องราวตัวละครของสามก๊ก ทำให้เราเห็นผลลัพธ์ที่ตามมาจากการบริหารลักษณะต่างๆนั้น ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ข้อดีของเล่มนี้ที่ผมชอบคือ อ่านง่าย ลื่นดี ใช้ภาษาเป็นกันเอง เหมือนมีคุณก่อฯมาเล่าเรื่องเทคนิคการบริหารของแต่ตัวละครในสามก๊กให้ฟังเป็นการส่วนตัว ที่สำคัญคือ การมองตัวละครแบบ Optimistic perspective ดึงเอาข้อดีของตัวละครแต่ละตัวออกมา อีกทั้ง(ไม่รู้แกตั้งใจรึป่าว?) ยังไม่ได้พยายามป้อนผู้อ่านว่า คุณจะต้องทำอย่างไร เหมือนดังเช่นหนังสือ How to ทั่วๆไป

ซึ่งตอนแรกที่อ่านจบ ก็มานั่งคิดว่า ทำไม ทุกตัวมันก็มีข้อดีหมด ขนาดเล่าเสี้ยน (บุตรของเล่าปี่) ที่มีแต่คนค่อนขอดว่าไม่ค่อยเอาไหน คุณก่อฯก็ยังดึงเอาจุดดีออกมาให้ได้เห็น…สรุป อ่าว! แล้วจะให้ทำอย่างไร โจโฉก็ดี ขงเบ้งก็เก่ง เล่าปี่ก็เลิศ สุมาอี้ก็เยี่ยม.. ???

คิดไปคิดมา คุณก่อฯอาจจะตั้งใจบอกแบบเซ็นก็ได้ “สอนเหมือนไม่สอน บอกเหมือนไม่ได้บอก” ฮ่าๆ (อันนี้ผมคิดเอาเองนะครับ) คือ ไม่ได้ไป judge ว่า คุณควรจะต้องทำอย่างไร แต่บอกเหตุและผลที่จะตามมาในการกระทำของแต่ละตัวละคร เช่น ถ้าคุณบริหารแบบโจโฉ ที่ยึดหลัก "แมวสีอะไรก็ได้ ขอให้จับหนูได้เป็นพอ" คุณก็ต้องยอมรับว่า ระยะสั้นอาจได้ผลดี มีการแข่งขันกันในองค์กร เพราะวัดคนที่ผลงาน แต่ในระยะยาวอาจเสียหายได้ เพราะแต่ละคนจะเน้นเป้าหมายระยะสั้น ลูกน้องไม่มีความจงรักภักดีต่อองค์การอย่างแท้จริง ยึดเรื่องผลประโยชน์ตอบแทนเป็นหลัก เป็นต้น

ดังนั้น เมื่อเราเห็นข้อดี ข้อเสีย ของแต่ละตัวละครแล้ว (ซึ่งตรงนี้เราจะค่อยๆซึมซับมุมมองของแต่ละตัวละครเอง เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ แม้จะไม่มีพื้นจากการอ่านสามก๊กมาก่อนเช่นผมก็ตาม) เราก็สามารถนำเอาวิธีบริหารนั้นๆมาปรับใช้ในแต่ละสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้..

อ่านจบแล้วหนังสือเปรอะไปด้วยเลือด โดนประโยคคมๆบาด เต็มไปหมด..แต่ถึงอย่างนั้น คุณก่อฯก็ได้เตือนไว้ว่า อ่านสามก๊ก ให้ศึกษาเรื่องของการอ่านใจคน วิธีการบริหารคน อย่าได้หลงนำเอา กลยุทธ์ ที่ใช้ในสามก๊ก ไปใช้วางแผนจริง เพราะส่วนใหญ่ล้วนแต่งขึ้นทั้งสิ้น เช่น อุบายเมืองร้าง ใครขืนเอาไปใช้จริงนี่เจ๊ง ครับเจ๊ง!!..



------------------------------




พอดีวันนี้ได้นัดคุยกับพี่(ผู้กว้างขวางในยุทธจักร)ท่านหนึ่ง มีอยู่ช่วงหนึ่งได้คุยกันถึงเรื่อง วัฒธนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทย กับ ปัญหาการอ่านของสังคมไทย คือ ผมก็จำไม่ได้แน่ชัดว่า มันเริ่มต้นจากตรงไหน ถึงได้วกเข้ามาสู่ประเด็นนี้

อันที่จริงตอนคุยกันมันก็ไม่ใช่ประเด็นใหญ่โตอะไร (และพี่เค้าอาจจะไม่คิดว่ามันเป็นpointนี้ก็ได้) แต่หลังจากที่แยกกันแล้ว ประเด็นนี้มันก็แว๊ปเข้ามาในหัว ผมจึงเก็บเอามาคิดต่อเองคนเดียวถึงปัญหาข้อนี้ ( จะเรียกว่าเป็น interior monologue ก็ได้มั้ง... ฮ่าๆๆ)

อ๋อ! จำได้หละ(โทษทีครับพิมพ์สด..ไม่ได้ร่างไว้ก่อน) ประเด็นคือ เรื่องของวัฒนธรรมการวิจารณ์ในเมืองไทย นอกจากคนที่มีความสามารถพอจะเป็น Critic จริงๆจะหายากแล้ว พอจะยกตัวอย่างได้ก็เช่น อ.นพพร ประชากุล(ซึ่งท่านก็ได้เสียไปแล้ว) อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์.. อีกทั้งยังมีรูปแบบของวัฒนธรรมการวิจารณ์งานที่แบบสุภาพ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ต่องานเขียนของนักเขียนไทย เอาง่ายๆ ถ้าเกิดมีนักวิจารณ์คนหนึ่ง อยู่ดีๆลุกขึ้นมาวิจารณ์ว่า งานของ ศรีบูรพา ยาขอบ มนัส จรรยงค์ ห่วย! ไม่ได้เรื่อง! ดีแล้วที่ตายไปจะได้ทำให้วงวรรณกรรมบ้านเราสูงขึ้น โดยให้เหตุผล1-2-3-4 ลองสมมุติเล่นๆนะครับ ว่าจะเกิดเป็น Talk of the town ในวงการวรรณกรรมบ้านเราแค่ไหน(อย่างเช่นที่อ๊องเดร เบรอตง กับ หลุยส์ อารากง ได้สาบส่งสามนักเขียนผู้รุ่นใหญ่ของฝรั่งเศสในสมัยนั้นหลังจากที่ตายไปได้ไม่นาน ก่อนทั้ง2จะเป็นหัวขบวนก่อตั้งแนวคิดแบบ เซอร์เรียลิสต์ขึ้น-อ้างจาก Underground Buleteen#14)

ด้วยความที่สังคมไทยเป็นสังคมที่ขี้เกรงใจ เคารพผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้เกิดการวิจารณ์ที่หลากหลายได้ยาก เมื่อไม่เกิดการวิจารณ์ ก็ไม่เกิดองค์ความรู้ เพราะความรู้จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อผ่านการวิพากษ์ วิจารณ์ถึงข้อดี ข้อด้อย วิเคราะห์จนตกผลึกทางความคิด หาได้มาจากการยกยอปอปั้นไม่ ... สังเกตหรือไม่ว่าทำไมประเทศฝรั่งเศส ถึงมีนักคิด นักเขียน เป็นศูนย์กลางของความคิดต่างๆมากมาย ก็เนื่องจากว่าฝรั่งเศสเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมของการวิพากษ์ วิจารณ์สูงมาก คนฝรั่งเศสวิจารณ์ตั้งแต่ตื่นยันหลับ มีCritical thinking อยู่ตลอดเวลา(เสียอย่างเดียวขี้เกียจ) ดังนั้นจึงก่อให้เกิดเป็นสังคม Cultural intelligence ขึ้นมา

ซึ่งนี่ก็อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง ที่ทำให้วงการวรรณกรรมบ้านเราพัฒนาไปได้ไม่ถึงไหน(แน่นอนว่ายังมีปัจจัยอื่นๆอีกมากเช่น การเมือง ฯลฯ ฯลฯ) เพราะต้องยอมรับว่า คำวิจารณ์ โดยเฉพาะจากผู้ที่เป็น Critic นั้นมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้อ่านอย่างยิ่ง ถ้ามีการวิจารณ์ที่หลากหลาย ก็น่าจะช่วยยกระดับของคนอ่านทั่วไปให้มีมุมมองที่หลากหลายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย เท่าที่เห็นตอนนี้ก็มีเจ๊แขก คำ ผกา พาตัวเองแหวกขึ้นมาจากวังวนเดิมๆ แม้จะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดแกทั้งหมด แต่ก็นับได้ว่าเป็นการเปิดมิติใหม่ที่ดีของการ กล้า ที่จะวิจารณ์


ส่วนเรื่อง ปัญหาการอ่านของสังคมไทยนั้น ส่วนตัวผมมองว่า ประเด็นมันไม่ได้อยู่ที่คนไทยอ่านหนังสือน้อย อย่างที่ชอบอ้างกันหรอกครับ แต่ประเด็นมันคือ รสนิยมการเสพของคนไทยมันย่ำอยู่กับที่ต่างหาก

แม้มหาวิทยาลัยจะผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด คนจบปริญญาตรีเป็นว่าเล่น หรืออย่างน้อยก็ต้องจบม.ปลายในหลักสูตรบังคับ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น วุฒิการศึกษาก็ไม่ได้ช่วยยกระดับของการเสพขึ้นเลย

ผมจะยกตัวอย่างง่ายๆ ยามที่คอนโดผม ก็เป็นนักอ่านตัวยง เขาอ่านสตาร์ซอกเกอร์ทั้งวัน หรือยามอีกคนก็อ่านแต่หนังสือมวย กับ หนังสือพระ ถามว่า นี่เรียกว่าเป็นนักอ่านได้มั๊ย? ได้สิ ทำไมจะไม่ได้ แต่คือ เขาก็จะอ่านอยู่แค่นั้น กี่วันๆผมก็เห็นเขาอ่านอยู่แค่นั้น... หรือไม่ว่าจะเป็นเจ้านายที่จบตรี โท เอก กับคนใช้ ที่จบป.4 ต่างก็เสพหนังสือนิยายรักหวานแหวว พ่อแง่แม่งอนเหมือนกัน เสพข่าวฉาวดารา ลิงโผล่ นมหลุด เล่มเดียวกัน อ่านขวัญเรือน คู่สร้างคู่สม เหมือนกัน ดูนางเอก โดนนางร้ายตบช่องเดียวกัน...ซึ่งถามว่าผิดมั๊ย? บอกได้เลยว่า ไม่ผิดแน่นอนครับ

แต่เป็นปัญหาที่ความบกพร่องอย่างยิ่งยวดของระบบการศึกษาไทย เพราะแทนที่การศึกษา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมหาวิทยาลัย จะเป็นตัวเปิดโลก ช่วยยกระดับของการอ่านให้สูงขึ้น หลากหลายแนวขึ้น ลึกขึ้น แต่เปล่าเลย..รสนิยมของคนส่วนใหญ่ยังคงย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม

แล้วจะไปหวังอะไรกับการเสพวรรณกรรมชั้นยอด ที่เรียกร้องให้คุณต้องขบคิดทุกแง่ทุกมุม เรียกร้องให้คุณต้องมีความรู้อย่างสหสาขา ทั้งประวัติศาสตร์ ดนตรีคลาสสิก ปรัชญา โครงสร้างภาษา ฯลฯ ฯลฯ ฯลฯ หรือแม้กระทั่งเรียกร้องให้คุณตั้งคำถามกับความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม อาจรวมถึงความเชื่อที่คุณยึดมั่นถือมั่นมาตลอดด้วย ...


ซึ่งก็ไม่รู้ว่า เป็นการเรียกร้องที่มากเกินไปรึป่าว? คนส่วนใหญ่จึงหันไปเสพนิยายเกาหลีกันหมด ... ตอนนี้รู้แค่ว่า ง่วงสุดๆเลยค๊าบ



ปล. ถึงคุณพี่grappa ..กลับมาที่บ้านเปิดดูเพิ่งสังเกตเห็น ความหนากว่า 700 หน้าที่ว่าน่ากลัวแล้ว เจอตัวหนังสือเล็กๆจำนวนมหาศาลในแต่ละหน้ายิ่งกว่ากลัวกว่าหลายเท่านักครับพี่.. แล้วทำไมมติชนใจร้ายจัง ไม่ใส่ชื่อพี่ หรือเวลาเป็นบก.พี่ใช้นามปากกา???

อีกนิด..มีใครรู้ข่าวคราวงานขายหนังสือของ ห้องสมุด Nelson Hays บ้างครับ ปกติเขาจัดต้นปีกับ กลางปีไม่ใช่เหรอ... หรือมีไปแล้ว ผมตกข่าว???


Create Date : 30 มกราคม 2552
Last Update : 30 มกราคม 2552 5:31:08 น. 13 comments
Counter : 2199 Pageviews.

 
มีสิชื่อพี่ หนังสือหนา 700 กว่าหน้านั่นะ
อยู่ตรงหน้าเครดิต บนสุด คู่กับ บอ กอ ของมติชน

ส่วนคำนำให้บอ กอ มติชนเขียนน่ะดีแล้ว
พี่ไม่ค่อยชอบการเขียนคำนำหนังสือเท่ารไนัก อ่านตรงคำชี้นำของผู้แปล ด้วยดิ

เขียนยาวจริงๆ เอาประเด็นเรื่องวัฒนธรรมการวิจารณ์หนังสือบ้านเรา
พี่ว่ารากวัฒนธรมของเรามีคำว่า "ขี้เกรงใจ" อยู่ การวิจารณ์หนังสือบ้านเราจึงยังไม่พัฒนาไปเท่าไรนัก และต้องยอมรับว่า"วัฒนธรรมการวิจารณ์" ไม่ได้เกิดในสังคมไทย มันเป็นวัฒนธรรมตะวัน กาีรที่มันจะฝังรากลงในถิ่นที่ไม่ใช่มันเกิด ก็คงต้องใช้เวลา

นิตยสาร "อ่าน" คงเป็นตัวจุดประกายที่ดีในการทำสิ่งเหล่านี้

ใครบอกว่าการอ่านบ้านเราย้ำอยู่ที่กับที่ มันเคลื่อนไหวนะ อย่างช่วงหนึ่งแจ่มใส่ก็มาเปิดกระแส K-pop
ช่วงนี้การทำศานาพุทธให้กลายเป็น how to ง่าย ๆ อย่างเข็มทิศชีวิตก็มาแีรง พี่ว่าน่าตั้งคำถามว่าสังคมไทยเป็นแบบไหนถึงทำให้การอ่านในลักษณะง่ายๆ แบบนี้เติบโต

ป.ล.1 นอนเช้าเลยใช่ไหมนี่เต้นท์

ป.ล.2 ว่าจะอัพบล็อกเหมือนกันแต่วันนี้คงต้องนั่งไล่ลงโปรแกรมสำหรับคอมใหม่



โดย: grappa IP: 58.9.184.183 วันที่: 30 มกราคม 2552 เวลา:6:42:32 น.  

 
สามก๊กเล่มนี้เห็นในเซเว่นใกล้บ้านหลายวันแล้วค่ะแต่ยังไม่ได้ซื้อมาอ่านเลย เราว่าเราชอบงานแท็กทีมเขียนของคุณก่อศักดิ์นะ เล่มมหาอาณาจักรฮั่นกับรัฐศาสตร์ถังไท่จง อ่านเพลินดี


โดย: แพนด้ามหาภัย วันที่: 30 มกราคม 2552 เวลา:11:13:29 น.  

 



คลายเครียดยามบ่ายค่ะ


โดย: bow_relax วันที่: 2 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:12:25:25 น.  

 
ชอบสามก๊กฉบับคนกันเองครับ
ลองอ่านที่
https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=amp-atom&month=12-2008&date=31&group=3&gblog=111


โดย: คนขับช้า วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:02:47 น.  

 
จะว่าไป...เราก็ไม่เคยได้อ่านสามก๊กแบบ "เรื่อง" จริงๆ ซะทีนะ
แต่อ่าน "สามก๊ก" ที่ย่อยมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น ฉบับวณิพกของยาขอบ ฉบับของคุณชายคึกฤทธิ์ รึว่าฉบับของเล่าชวนหัว
แต่ละฉบับที่อ่าน ก็เป็นแนว หยิบชีวิตตัวละคร มาเล่าถึง ที่ละตัว
พออ่านจบชุด ก็ "เหมือนจะ" รู้สามก๊กตั้งแต่ต้นจนจบเช่นกัน

มียุคหนึ่งก่อนหน้านี้นานแล้ว สามก๊กในแนวบริหาร ออกมาเยอะมา
ช่วงนั้นทำงานใหม่...ก็เห่อซื้อมาอ่านอีกแหละ...

มาช่วงนี้ ก็เป็น "สามก๊ก" กลับมาเห่อกันอีก
เพราะหนังด้วย เพราะวิกฤติการณ์บ้านเมืองด้วย
ทำให้คน โดยเฉพาะผู้บริหาร และนักศึกษาด้านบริหาร หันมาสนใจกลยุทธการบริหารผ่านนิยายเรื่องนี้

จากที่คุณเล่ามา หนังสือเล่มนี้ก็เป็นแนวบริหารที่น่าสนใจเช่นกัน...
ขนาดไม่หนาเกินไป ...เหมาะสำำหรับผู้ถูกบริหาร (อย่างเรา)อ่านไว้ศึกษาวิธีบริหาร
กลยุทธบางอย่าง แม้จะเป็นเรื่องแต่ง แต่เราว่า มันปรับใช้ได้นะ...


มาถึงเรื่องการวิจารณ์ ...เราก็เป็นพวกไม่ชอบ "วิจารณ์" ค่ะ
ไม่รู้หลักการวิจารณ์ ซึ่งต้องผ่านกระบวนการวิเคราะห์ก่อน ...
ส่วนใหญ่ ผ่านตาเรื่องอะไร เราจะตัดสินด้วย "ใจ"
ชอบ หรือ ไม่ชอบ
เท่านั้น

ก็เห็นด้วยกับที่คุณว่า ...งานเขียนของคุณบัณฑิต จบบริบูรณ์แล้วตั้งแต่เล่มแรก
แต่ที่เรายังซื้ออ่านอยู่เนี่ย ...เหมือนเป็นการทำซ้ำค่ะ..จะได้ปรับพฤติกรรมตัวเองบ่อยๆ ตามคำแนะนำในหนังสือ
อ่านเล่มเีดียว ก็เหมือนกันแค่รอบเดียว...มันไม่จำอ่ะ




โดย: นัทธ์ วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:22:03:41 น.  

 
^_^ ตรงดิ๋งซื้อตั้งแต่ไปอ่านที่ร้านหนังสือแล้วค่ะ ก็หน้าปก เห็นๆ ซะขนาดนั้น ขงเบ้ง ถือ labtop logo "Seven" แม่เจ้า! ถูกใจค่ะ เคยอ่านวิเคราะห์ของคุณก่อศักดิ์ อยู่หลายครั้ง เขาก็มีทัศนคติที่ดี กับแนวคิดนะคะ

ยังอ่านไม่จบเลยค่ะ ต้องค่อยๆ กระดิ๊บ ^_^

ส่วนเรื่องราวของสามก๊ก ฉบับวรรณกรรม ที่จริง ก็มีคุณค่าในตัวของฉบับเอง อยู่ที่ใครจะมองที่จุดไหน หรือซึมซับที่จุดไหน เพราะแท้จริง จุดจบของทุกฝ่ายก็ เป็นเส้นวงกลม

มีอยู่บทหนึ่งที่คุณก่อศักดิ์บอกว่า ยังไม่เข้าใจว่า ทำไมขงเบ้งถึงเสนอให้เล่าปี่ รับเกงจิ๋วไว้
แต่ในคิดและความรู้สึกของเรา สำหรับฉบับวรรณกรรม ก็คือ ขงเบ้ง ศึกษาตามหลักของ confuciansim ด้วย ซึ้งมีอิทธิพลต่อแนวคิด และหลักการของปราญช์ในยุคฮั่น

เขารู้อยู่ว่า ฮั่นล้มสลาย ระบบการปกครองเหลวแหลก และเล่าปี่ เป็นคนเดียวของเชื้อสายวงศ์ฮั่น ที่มีคุณธรรม แต่อาภัพ เขาจึงใช้ความพยายาม อยากมากที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงชะตากรรมให้เล่าปี่

เกงจิ๋วเป็นจุดที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ต่อชีวิตของเล่าปี่ ด้วย เพราะเกงจิ๋ว เป็นชนวนสำคัญในการเกิดศึกในภายหลัง ขงเบ้งถึงกับพูดกับเล่าปี่ว่า อนาคตลำบากแน่.. นโยบายของขงเบ้ง ที่เสนอให้เป็นมิตรเป็นซุนกวน ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ป้องกันความสูญเสียที่เกิดในภายหน้า ซึ่งเป็นสิ่งที่ขงเบ้งไม่อาจจะ ฝืนชะตาของเล่าปี่ ไปในจุดนี้ได้


โดย: แม่นางเตียว วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:13:45 น.  

 
ส่วนเรื่อง กลอุบายในสามก๊ก ท่านประธานเหมาเจ๋อตง ได้แรงบันดาลใจไปเยอะนะคะ ^_^ แม้กระทั่งคัมภีร์เต๋าเต็กเก็งของท่านเล่าจื้อ ท่านประธานเหมา ยังเขียนไว้ว่า
เป็นภูมิปัญญาชั้นยอดของพิชันสงคราม ^_^


โดย: แม่นางเตียว วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:19:25 น.  

 
ขอโทษค่ะ พิมพ์ผิดไปหลายคำเลย


โดย: แม่นางเตียว วันที่: 8 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:16:24:14 น.  

 
เต้นท์
พี่ดู Into the wild แล้ว ถึงกับนอนไม่หลับเอาทีเดียวเชียว


โดย: grappa วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:8:09:17 น.  

 
เดอะ รีดเดอร์ เข้าวันที่ 12 นี้จ้า
พี่ไปโหลดมาดู เพราะหนังมันต้องตัดแน่ๆ
ถ้าอยากดูบอกนะ เด๋วไรท์แผ่นส่งไปให้
( ไม่มีซับ-และต้องดูในคอม)

into thin air นี่เป็นหนังสือเล่มโปรดของพี่เสก-เสกสรรค์ ประเสริฐกุลด้วย รู้สึกจะมีภาษาไทยแล้ว


โดย: grappa IP: 58.9.186.127 วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:13:52:10 น.  

 
^
^
^

ผมก็อ่านจากฉบับแปลนั่นแหละพี่ ซื้อตอนมติชนเอามาลดด้วย 50 กว่าบาทเองมั้ง คุ้มสุดๆของสุดๆ ... แต่ไอ่อีกสองเล่มของ Krakauer ฉบับอิ๊งที่ซื้อราคาเต็มดันไม่ค่อยโดนซะอย่างงั้น...


ปล.ช่วงนี้อ่านหนังสือไปได้หลายเล่ม อยากอัพบล๊อคเหมือนกัน แต่...เออ ขี้เกียจ ฮ่าๆ


โดย: Tentty วันที่: 9 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:19:31:03 น.  

 
ขอบคุณสำหรับความคิดดีๆที่มีส่งให้ถึงกัน ผู้ผ่านมาเลยได้อานิสงไปด้วย ไงก็ขอให้มีแต่สิ่งดีๆที่เป็นประโยชน์ส่งให้ถึงกัน เผื่อเยาว์ชนผ่านมา จะได้ปลูกฝังสิ่งดีๆ ให้กับเด็กๆ


โดย: ขอเป็นแค่เสี้ยวมังกรหลับก็ยังดี IP: 124.121.181.249 วันที่: 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:21:28:53 น.  

 
อ่านมาหลายสำนวน

ทั้งไทยและเทศ รวมทั้งการ์ตูนด้วย

ชอบของมั่น พัธโนทัยที่สุด

มีลูกล่อลูกชนดี


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 9 พฤศจิกายน 2552 เวลา:23:08:59 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Petrus85
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




I am a fallible human creature.

Friends' blogs
[Add Petrus85's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.