“สมเด็จพระบรมราชกุมารี”
“สมเด็จพระบรมราชกุมารี”


เขียนโดย ... รอยใบลาน (อยู่ในระหว่างแก้ไขข้อมูล)


“... อนึ่ง ทรงพระราชดำริว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ทรงพระเจริญเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติ ปฏิบัติพระองค์ตามขัตติยราชกุมารี สนองพระเดชพระคุณในพระราชภารกิจที่ทรงมอบหมายแทนพระองค์ สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี กอปรทั้งมีพระหฤทัยเปี่ยมไปด้วยความรักชาติ ศาสนาและมีพระหฤทัยจงรักภักดีเป็นอย่างยิ่ง ในมหามงคลสมัยการพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษานี้ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เพื่อเป็นเกียรติประวัติตามโบราณราชประเพณีในมหามงคล สมัยเฉลิมพระชนมพรรษา...”


วันที่ 5 ธันวาคม 2520 ในงานพระราชพิธีเสด็จออกมหาสมาคมเพื่อรับการถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระบรมมหาราชวัง ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชกุมารี ดังปรากฎในประกาศสถาปนาความว่า

“... สมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์นี้ กอปรด้วยพระจรรยามารยาทเพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติขัตติยราชกุมารีทุกประการ เป็นที่รักใคร่นับถือ ยกย่องสรรเสริญพระเกียรติคุณกันอยู่โดยทั่วไป บัดนี้ทรงพระเจริญวัยสมบูรณ์ด้วยพระเกียรติคุณดังกล่าวมา สมควรได้รับพระราชทานสถาปนาพระอิสริยยศและพระอิสริยยศักดิ์ให้สูงขึ้น ให้ทรงรับพระราชบัญชาและสัปตปฎลเศวตรฉัตร เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบไปตามโบราณขัตติยราชประเพณี

จึงมีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ เฉลิมพระนามตามที่จารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร สยามบรมราชกุมารี…”


ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของราชวงศ์จักรีที่เจ้านายฝ่ายในชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพิเศษ ให้ดำรงพระอิสริยยศสูงสุดถึง “สมเด็จพระ”ในตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชกุมารี อันมีพระเกียรติยศรองลงไปจากตำแหน่งสมเด็จพระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร

หากเราย้อนกลับไปดูในประวัติศาสตร์การสถาปนาพระอิสริยยศเจ้านายฝ่ายในในสมัยรัตนโกสินทร์ เราจะพบว่าพระอิสริยยศสูงสุดที่เจ้านายชั้นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้า เคยได้รับ คือ "กรมหลวง" เช่น สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงศรีรัตนโกสินทร์ พระราชธิดาพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 5 เป็นต้น ส่วนพระบรมวงศ์ผู้ใหญ่ฝ่ายในชั้นเจ้าฟ้าเคยได้รับพระอิสริยยศสูงสุดเป็นที่ "กรมสมเด็จพระ"หรือ "กรมพระยา" ได้แก่ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้าฯ กรมพระยาเทพสุดาวดี พระเจ้าพี่นางเธอพระองค์ใหญ่ในรัชกาลที่ 1 และสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร

สำหรับพระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" นั้น มีขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 เมื่อครั้งที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จเจ้าฟ้าหญิงบุญรอดขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระศรีสุริเยนทรามาตย์"ในตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมกันนั้นโปรดให้เปลี่ยนพระนามกรมสมเด็จพระพันปีหลวงในรัชกาลก่อนๆ เป็น "กรมสมเด็จพระ" ด้วยทุกพระองค์

พระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" นี้ นอกจากจะเป็นพระอิสริยยศสำหรับตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงแล้ว รัชกาลที่ 4 ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยศสูงสุดสำหรับเจ้านายฝ่ายหน้าด้วย โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมพระยศกรมขุนเดชอดิศร พระเชษฐาขึ้นเป็น "กรมสมเด็จพระเดชาดิศร" ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระเจ้าราชวรวงศ์เธอ กรมพระสุดารัตนราชประยูร ซึ่งได้ถวายการอภิบาลพระองค์มาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ และทรงเคารพเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี ขึ้นเป็นพระองค์เจ้าต่างกรมผู้ใหญ่ฝ่ายในในพระบรมมหาราชวัง เฉลิมพระนามว่า "พระเจ้าบรมมหัยยิกาเธอ กรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร" ครั้นเมื่อกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูรสิ้นพระชนม์ ทรงมีพระราชดำริว่าแม้จะทรงยกย่องให้มีพระอิสริยยศเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี แต่พระเกียรติยศบางอย่างยังเว้นอยู่มิได้พระราชทาน จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พระราชทานสัตปฎลเศวตรฉัตร และใช้คำว่า "สวรรคต" ในบาดหมายราชการทั้งปวง แต่กระนั้นในงานถวายพระเพลิงพระศพก็ต้องถวายต่อจากพระบรมศพสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

จนกระทั่งในสมัยรัชกาลที่ 6 ทรงมีพระราชดำริให้เปลี่ยนพระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" เป็น "กรมพระยา" จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ออกพระนามพระบรมวงศานุวงศ์ซึ่งเคยดำรงพระอิสริยยศ "กรมสมเด็จพระ" เป็น "สมเด็จกรมพระยา" ทุกพระองค์ เช่น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเดชาดิศร สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาสุดารัตนราชประยูร เป็นต้น ส่วนพระอิสริยศแห่งสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงนั้น โปรดให้เปลี่ยนจาก "กรมสมเด็จพระ" เป็น "สมเด็จพระ" ในคราวที่ทรงเฉลิมพระนามาภิไธยสมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระบรมราชินีนาถ เป็นสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พร้อมกันนั้นโปรดให้เฉลิมพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมราชชนนีในรัชกาลก่อนๆ ซึ่งเคยทรงศักดิ์เป็นพระอัครมเหสีขึ้นเป็น "สมเด็จพระ" แล้วเปลี่ยนคำว่า "มาตย์" ในท้ายพระนามเป็น "บรมราชินี" ทุกพระองค์ ได้แก่ สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี เว้นแต่กรมสมเด็จพระศรีสุลาลัยเพียงพระองค์เดียว ที่ได้รับการเฉลิมพระนามเป็น "สมเด็จพระศรีสุลาลัย" ในตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชชนนี อีกทั้งยังได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เฉลิมนามอัฐิของเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม พระชนนีในสมเด็จพระศรีพัชรินทราฯ เป็น "สมเด็จพระปิยะมาวดีศรีพัชรินทรมาตา"

มาในรัชกาลปัจจุบันได้ทรงพระราชทานพระอิสริยยศ "สมเด็จพระ" ให้กับเจ้านายฝ่ายหน้าเป็นครั้งแรกเมื่อครั้งที่ทรงเฉลิมพระนามพระอัฐิสมเด็จพระราชบิดา เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงสงขลานครินทร์ ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมราชชนก เฉลิมพระนามว่า สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก มีพระเกียรติยศเสมอด้วยสมเด็จพระบวรราชเจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ทุกประการ และได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาสมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาลย์ ขึ้นเป็น "สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี" ในคราวเดียวกันนั้นด้วย จนกระทั่งในมหามงคลสมัยที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 50 พรรษา และเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติได้หมื่นวันเศษ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรฯ ให้มีพระอิสริยยศเป็นที่ "สมเด็จพระ" ในตำแน่งสมเด็จพระบรมราชกุมารี ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี"

ตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชกุมารีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาขึ้นใหม่ในครั้งนี้ ผู้รู้หลายๆ ท่านให้ความเห็นว่าพระอิสริยยศของสมเด็จพระเทพฯ นี้เทียบเท่ากับ "กรมสมเด็จพระ" ในสมัยโบราณ เพราะสมเด็จพระเทพฯ ก็ทรงรับสัตปฎลเศวตรฉัตร และได้เครื่องประกอบพระอิสริยยศเสมอด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เช่นเดียวกับการเฉลิมพระยศของกรมสมเด็จพระสุดารัตนราชประยูร (ภายหลังเป็น "กรมพระยา") ซึ่งทรงรับสัตปฎลเศวตรฉัตร และทรงมีพระเกียรติยศเสมอด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี แต่หากนำไปเปรียบเทียบกับพระยศสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาเทพสุดาวดี ซึ่งมีความตอนหนึ่งในประกาศสถาปนากรมสมเด็จพระบำราบปรปักษ์ ว่าทรงมีพระยศเป็น "กรมสมเด็จพระ" นั้น จะเห็นว่าสมเด็จพระเทพฯ ทรงมีพระยศสูงกว่า แต่หากนำไปเปรียบเทียบว่าตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมราชกุมารี" เทียบเท่ากับ "กรมสมเด็จพระ" ของสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงที่มิได้เป็นพระอัครมเหสีในรัชกาลก่อนๆ นั้นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะพระเกียรติยศหลายอย่างมิได้พระราชทานให้ทรงสูงศักดิ์ถึงเพียงนั้น แต่หากจะเปรียบเทียบการเฉลิมพระอิสริยศักดิ์ในครั้งนี้น่าจะคล้ายคลึงกับเมื่อครั้งที่รัชกาลที่ 7 ให้เฉลิมพระอิสริยยศสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช ขึ้นเป็นพิเศษให้ทรงศักดิ์สูงกว่าสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรมธรรมดา โดยโปรดให้เฉลิมพระนามว่า "สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธ์วงศ์วรเดช" ทรงศักดินา 100,000 เสมอด้วยกรมพระราชวังบวรฯ แต่ยังคงรับฉัตร 5 ชั้น เช่นเดียวกับสมเด็จเจ้าฟ้าฯ กรมพระยา เหมือนเดิม เมื่อสิ้นพระชนม์ก็โปรดให้ใช้ "ทิวงคต" เช่นสมเด็จเจ้าฟ้าที่ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพิเศษ

ดังนั้นตำแหน่ง "สมเด็จพระบรมราชกุมารี" จึงเป็นการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพิเศษเฉพาะพระองค์ ให้ทรงศักดิ์สูงกว่าเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในธรรมดา และน่าจะมีพระยศสูงกว่า "กรมสมเด็จพระ" หรือ "กรมพระยา" ฝ่ายใน เพราะความแจ้งอยู่ในประกาศสถาปนาแล้วว่า นอกจากจะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานสัตปฎลเศวตรฉัตร ประกอบพระเกียรติยศแล้ว ยังโปรดให้สมเด็จพระเทพฯ ทรงรับพระราชบัญชา เสมอด้วยคำสั่งของกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข(วังหลัง) อีกด้วย

สำหรับเครื่องยศของสมเด็จพระเทพฯ ที่ระบุไว้ในหมายกำหนดการพระราชพิธีมีดังนี้

1. พานพระศรีทองคำลงยา เครื่องพร้อม 1 ชุด

2. หีบพานพระศรีทองคำลงยา ตราพระจุลมงกุฎประดับเพชรเครื่องพร้อม 1 ชุด (รับพระราชทานจากพระหัตถ์)

3. พานทองรองหีบพระศรี 1 ชุด

4. พระสุพรรณศรีทองคำลงยา

5. ทองคำรูปกระบอกมีถาดรอง

6. ขันน้ำเสวยทองคำลงยา มีจอกทอง

7. ขันสรงพระพักตร์ทองคำลงยา พร้อมพานรอง

ซึ่งเครื่องประกอบพระอิสริยยศนี้เสมอด้วยสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี นอกจากนี้ยังได้รับพระราชทานพระที่นั่งกงด้วย

สำหรับตำแหน่งสมเด็จพระบรมราชกุมารี อันเป็นพระอิสริยยศของสมเด็จเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในที่ได้รับการเฉลิมพระอิสริยยศเป็นพิเศษนี้ ทรงมีพระเกียรติยศบางประการที่ยกเว้นมิได้พระราชทานให้เสมอด้วยเจ้านายที่ทรงสัตปฎลเศวตรฉัตร ดังมีรายละเอียดดังนี้

1) การบiรเลงเพลงรับเสด็จ

สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี และสมเด็จพระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร จะเสด็จฯ ไปในงานพิธีใด ไม่ว่าจะแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหรือไม่ จะใช้เพลงสรรเสริญพระบารมี บรรเลงรับและส่งเสด็จฯ ส่วนสมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้เพลงมหาชัย รับและส่งเสด็จฯ แต่หากเสด็จฯ แทนพระองค์เมื่อถึงที่ประทับเรียบร้อยแล้ว จึงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เป็นการเปิดงาน และปิดงาน

2) ธงพระอิสริยยศ

สมเด็จพระบรมราชินี ทรงใช้ธงราชินี เป็นธงประจำตำแหน่ง

สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงใช้ธงบรมราชวงศ์ เป็นธงประจำตำแหน่ง

สมเด็จพระยุพราช สยามมกุฎราชกุมาร ทรงใช้ธงเยาวราช เป็นธงประจำตำแหน่งรัชทายาท

สมเด็จพระบรมราชกุมารี ทรงใช้ธงราชวงศ์ฝ่ายใน เป็นธงประจำตำแหน่งเสมอด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอ เจ้าฟ้า

3) คำสั่ง

พระราชเสาวนีย์ ใช้กับสมเด็จพระบรมราชินีนาถ, สมเด็จพระบรมราชินี, สมเด็จพระบรมราชชนนี

พระราชบัณฑูร, พระราชดำรัสสั่ง ใช้กับสมเด็จพระยุพราช เสมอด้วยสมเด็จพระมหาอุปราช กรมพระราชวังบวรสถานมงคล

พระราชบัญชา, พระราชดำรัสสั่ง ใช้กับสมเด็จพระบรมราชกุมารี เสมอด้วยกรมพระราชวังบวรสถานพิมุข

4) การใช้คำเนื่องในงานบำเพ็ญกุศลวันเกิด

สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ใช้ว่า "วันเฉลิมพระชนมพรรษา"

สมเด็จพระบรมราชินี สมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระยุพราช ใช้ว่า "บำเพ็ญพระราชกุศเฉลิมพระชนมพรรษา" หรือ "บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ"

ส่วนสมเด็จพระบรมราชกุมารี ใช้ว่า "บำเพ็ญพระราชกุศลฉลองพระชนมายุ" ได้เพียงอย่างเดียว



+++ บทความนี้เป็นลิขสิทธิ์ของเว็บไซท์รอยใบลาน +++

ปรับปรุงครั้งล่าสุด 09/09/06



Create Date : 05 กันยายน 2549
Last Update : 31 ตุลาคม 2549 13:42:15 น.
Counter : 4101 Pageviews.

4 comments
  


รออ่านต่อค่ะ
โดย: แม่สลิ่ม วันที่: 11 กันยายน 2549 เวลา:21:02:59 น.
  
โห ได้ความรู้เพิ่มขึ้นเยอะเลยค่ะ แต่ต้องค่อยๆ อ่านแบบใจเย็นๆ ขอบคุณนะคะ เดี๋ยวจะแวะมาอ่านใหม่เรื่อยๆ ค่ะ
โดย: the Vicky วันที่: 12 กันยายน 2549 เวลา:5:51:56 น.
  
.. มารับความรู้ดีดีค่ะ
โดย: hayashimali วันที่: 5 พฤศจิกายน 2549 เวลา:9:27:27 น.
  
ขอบพระคุณมาก ๆ ค่ะ ชอบอ่านมากค่ะ
โดย: biebie999 วันที่: 20 ตุลาคม 2550 เวลา:15:58:31 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

รอยใบลาน
Location :
  

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 35 คน [?]



สโมสรของอัศวินแห่งอินทรนคร
กันยายน 2549

 
 
 
 
 
1
2
3
4
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
 
All Blog