กายสบาย...ใจปลอดโปร่ง...โล่งสะอาด...
Group Blog
 
<<
กันยายน 2550
 
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
21 กันยายน 2550
 
All Blogs
 

น่าลองไหม ... สังเกตจากอาการ

"สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ"

ความเป็นจริงอย่างหนึ่งสำหรับทำความเข้าใจในสิ่งที่เราศึกษา ก็คือ แม้เราจะศึกษามามากแค่ไหน แต่หากไม่เคยเห็น ไม่เคยสัมผัสสิ่งเหล่านั้นมาจริง ๆ ที่จะรู้และเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งว่ามันดีไม่ดีอย่างไรนั้น ก็เป็นไปได้ยาก เช่น เรารู้จักคน ๆ หนึ่ง โดยมีคนมาบอกว่านิสัยอย่างนั้น หน้าตาอย่างนี้ ต่อให้เขานั่งบอกจนปากทะลุ แต่เชื่อเถอะว่า ยังไงเราก็ไม่ถึงบางอ้อสักที ต่อเมื่อเราเห็นหน้าคน ๆ นั้นด้วยตัวเองนั่นแหละ เราก็จะร้องอ๋อทันที และเมื่อถึงเวลานั้น เราเองก็อาจจะนั่งเถียงกับคนที่มาบอกด้วยก็ได้ว่า ไม่เห็นเหมือนที่บอกเลย และตราบที่เรายังไม่ได้สนทนากับคน ๆ นั้น ยังไม่ได้คลุกคลีกับคน ๆ นั้น เราก็จะยังไม่ทราบถึงบุคลิกลักษณะนิสัยของคน ๆ นั้นอย่างแจ่มแจ้งเช่นกัน

แต่ความเป็นจริงอันนี้ ก็ทำให้เกิดคำถามขึ้นมาอีกว่า แล้วถ้าสิ่ง ๆ นั้นเป็นสิ่งไม่ดี แล้วเราไปพิสูจน์ ไปทดลอง ไปคลุกคลี มันจะไม่เกิดผลเสียหรือ

ตัวอย่างเช่น มีคนนำยาบ้ามาให้เราทดลอง แล้วก็บอกว่า กินแล้วจะมีความสุขเหมือนได้ขึ้นสวรรค์ แม้เราจะปฏิเสธอย่างไร เขาก็คะยั้นคะยอให้ลอง และบอกว่า ไม่ลองไม่รู้ ลองดูแล้วจะติดใจ ซึ่งถ้าหากเราหลงเชื่อและทดลองไป เราก็ต้องตกเป็นทาสของยาเสพติดจนแก้ไขอะไรไม่ได้นั่นเอง

ทางที่ดีคือเราต้องศึกษาให้รู้ถึงประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นให้ได้ระดับหนึ่งก่อน แต่ของบางอย่างก็ทำความเข้าใจได้ยากเพราะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หาคนรู้ได้น้อย และใช่ว่าเราจะไว้ใจคนเหล่านั้นได้อย่างแท้จริง เพราะใครที่แนะนำเรา เขาก็ย่อมว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดีเสมอ บางสิ่งบางอย่างมีคนให้การยอมรับอย่างมากมายทั้ง ๆ ที่เป็นสิ่งไม่ดี เพราะว่าไม่ได้มีการศึกษาถึงประโยชน์และโทษของมันให้ทุกคนยอมรับและมองเห็นอย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งเราไม่สามารถไว้ใจใครได้ในเรื่องนี้ เพราะแม้แต่คนที่ปรารถนาดีต่อเราที่สุด แต่หากเขาติดยาเสพติด เขาก็ย่อมมีความเห็นผิดว่ายาเสพติดนั้นเป็นของดีและอยากให้เราได้มีโอกาสทดลองนั่นเอง

เพราะอย่างนี้ แม้สิ่งที่ดีจริงแต่ต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง บางคนก็กลัวว่าจะเป็นอันตราย จึงไม่คิดจะพิสูจน์ อย่างเช่น มีคนมาบอกว่ายานี้สามารถรักษาได้สารพัดโรค มีการอวดอ้างสรรพคุณต่าง ๆ นานา สมมติว่ายานี้เป็นยาดีจริง แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่ามันไม่ใช่ยาเสพติดและจะไม่มีผลกระทบที่ร้ายแรงหลังใช้

สำหรับบางคนก็เป็นเช่นนี้จริง ๆ คือวิตกกังวลในทุกเรื่อง เพราะถ้าดีก็ดีไป ถ้าไม่ดีก็แย่เลย ดังนั้น ในเบื้องต้นเราควรดูจากผลของผู้ใช้รายต่าง ๆ ด้วยตัวเอง ไม่ใช่ฟังจากผู้อื่น ก็ทำให้เราพอจะแยกแยะได้ว่ายานั้นดีจริงหรือไม่

ซึ่งถ้าเป็นยาเสพติด เราจะเห็นได้จากอาการที่เพ้อเจ้อ คลุ้มคลั่ง ต่าง ๆ นานา เขาว่ามันรู้สึกเหมือนสวรรค์ก็จริงตอนเสพเข้าไป แต่อาการหลังจากนั้นคือเสียสติ เหม่อลอย เซื่องซึม ไม่มีมนุษย์สัมพันธ์ ร่างกายซูบผอม หน้าตาหม่นหมอง ถ้าเราเคยเห็นอาการของคนติดยามาก่อน แม้จะมีใครมาพูดว่ายาเสพติดนั้นดี เราก็จะไม่เชื่อ อย่างนี้ชื่อว่าพิสูจน์ด้วยตนเอง ไม่ใช่สักแต่ฟังสรรพคุณมาจากผู้อื่น

เรื่องในทำนองเดียวกัน มีการพูดกันมากเกี่ยวกับการทำสมาธิว่าทำให้คนเป็นบ้าหรือสติเสื่อม บางคนก็เลยปฏิเสธการทำสมาธิไปเลยเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นและมีโทษ แต่หากเราเป็นผู้มีปัญญาอย่างแท้จริงแล้ว สมควรจะศึกษาให้ดีก่อนว่าสมาธิคืออะไรกันแน่ และที่เขาทำแล้วเกิดผลแบบนั้นมันเป็นเพราะอะไร

เพราะแม้แต่ยาที่มีคุณมาก แต่ถ้าเขากินผิดวิธีหรือกินเกินขนาด ก็ย่อมส่งผลร้ายได้เช่นกัน แต่จะบอกว่ายานั้นเป็นโทษไม่ได้ เพราะก็ทำให้คนป่วยหายจากโรคร้ายที่ทำให้ทุกทรมานแสนสาหัสมานักต่อนักแล้ว เพียงแต่ไม่ได้ศึกษาการกินยาที่ถูกวิธีมานั่นเอง

วิธีการทำสมาธิก็เช่นกัน เราอาจจะได้ยินมาว่า วิธีนี้ดี วิธีนี้ไม่ดี แต่ลำพังการฟังคำเหล่านี้ ก็ยังไม่สามารถสรุปได้ว่ามันดีจริงหรือไม่ดี ที่ถูกต้องคือเราต้องศึกษาแต่ละวิธีให้ดีก่อน แล้วดูว่าผู้ปฏิบัติเหล่านั้นเขามีอาการเป็นอย่างไร เขาหายจากความป่วยคือทุกข์ได้จริงไหม เขาอาการกำเริบหรืออาการดีขึ้น ทั้งนี้ก็ต้องดูความเปลี่ยนแปลงของตัวเขาเองเพราะแต่ละคนก็มีความทุกข์ไม่เหมือนกัน

หากเราพบเห็นคน ๆ หนึ่งซึ่งทำสมาธิมาอย่างสม่ำเสมอ แล้วเขาเป็นคนสุขุม มารยาทดี เป็นคนมีเหตุผลไม่เจ้าอารมณ์ มีสติไม่หลงลืม แม้ว่าก่อนหน้านี้เขาอาจจะเป็นอีกแบบหนึ่งก็ตาม อย่างนี้ก็มีเหตุผลให้เราพอจะเชื่อได้ว่าสมาธิที่เขาทำนั้น ส่งผลดีได้จริง ๆ

แต่หากมีคนมาบอกว่า นั่งแล้วสามารถไปนรกไปสวรรค์ได้ สามารถแสดงฤทธิ์อะไรได้ แต่ตัวเขากลับเป็นคนเจ้าอารมณ์ ขาดเหตุผล ไม่มีสติยั้งคิด ใจร้อน เย่อหยิ่ง พูดจาเลอะเทอะกลับไปกลับมา เลอะเลือนขี้ลืม อย่างนี้เราก็ควรจะรู้แล้วว่า สมาธิที่เขาทำแม้จะวิเศษวิโสแค่ไหน แต่ดูแล้วเขาก็ยังไม่พ้นทุกข์ เป็นผู้ไม่สงบ เป็นผู้วุ่นวาย เป็นผู้ไม่พ้นจากการครอบงำของอารมณ์ต่าง ๆ เช่นนี้ ก็เชื่อได้เลยว่า แม้ตัวเราหากทำตามวิธีเขา ก็คงไม่พ้นเป็นแบบเขาเช่นกัน ซึ่งควรแน่ใจด้วยว่า ไม่มีคนอื่นนอกจากเขาที่ทำแล้วได้ผลเสียมากกว่าผลดีเช่นนี้

เพราะความสุขที่แท้จริงนั้น ควรจะเป็นความสุขที่ปราศจากโทษ ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นโทษ อย่างบางคนเจ้าชู้ มีแฟนหลายคน เหมือนจะน่าอิจฉา แต่จริง ๆ แล้วใจของเขาไม่เคยพบกับคำว่าสงบสุขเลย เพราะวัน ๆ ต้องคิดถึงแต่เรื่องสับราง คิดแต่เรื่องที่ทำให้ร้อนใจ หรือกังวลว่าใครจะจับได้ เป็นต้น ดีไม่ดีอาจถึงขั้นลงไม้ลงมืออย่างที่เราเห็นประจำในหน้าหนังสือพิมพ์กันเลยทีเดียว

สมาธิจึงเป็นเรื่องหนึ่งที่น่าพิสูจน์ และน่าทดลองอย่างยิ่ง เพราะความสุขที่เกิดจากสมาธินั้น เป็นความสงบสุขที่ไม่จำเป็นต้องซื้อหา ไม่มีผลข้างเคียงที่เป็นโทษ แต่เพราะสมาธิไม่ใช่เรื่องที่เราสามารถเข้าใจเอาเองด้วยความคิดได้ จึงจำเป็นต้องศึกษาแต่ละวิธีให้ดีว่าผู้ปฏิบัติในวิธีเหล่านั้น มีผลเป็นเช่นไร มีอาการที่บ่งบอกถึงความสงบ ความสุข ที่ไม่วุ่นวายหรือไม่ เป็นผู้อมทุกข์ เป็นคนเจ้าอารมณ์หรือไม่ เป็นคนมีสติหรือเป็นคนหลง เป็นคนมีปัญญาหรือขาดเหตุผล

เพราะถ้าเราดูแต่วิธีการหรือผลการปฏิบัติที่เขาว่ากันมา แม้จะวิเศษวิโสหรือดูน่าเชื่อถือแค่ไหน แต่เราอยากจะมีอาการแบบไหน ก็ดูจากผู้ที่ปฏิบัตินั่นเอง แม้จะบอกอะไรไม่ได้มาก แต่อย่างน้อยก็พอจะทำให้เห็นได้ว่า สมาธิแบบนั้นมีผลทางจิตใจต่อผู้ปฏิบัติเช่นไร อย่าดูแต่เพียงเนื้อหาทางวิชาการ และไม่ควรตัดสินเพียงแค่เคยฟังมาจากคนอื่น

... อย่างน้อยก็เป็นวิธีคัดกรองได้ระดับหนึ่ง ดีกว่ามานั่งคิดเอาเอง ...




 

Create Date : 21 กันยายน 2550
1 comments
Last Update : 8 ตุลาคม 2550 8:17:57 น.
Counter : 848 Pageviews.

 



อยากทำสมาธิมาเพราะอยากให้ใจสงบค่ะ พิจารณาหาวิธีที่ถูกกับวิสัยตัวเองอยู่ ทำไมยากจังน้อ....

 

โดย: ลูกแมวขี้อ้อน 10 ตุลาคม 2550 11:04:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


พักผ่อน
Location :
กรุงเทพ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




คนธรรมดา
Friends' blogs
[Add พักผ่อน's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.