<<
กรกฏาคม 2549
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
3031 
 
22 กรกฏาคม 2549
 

อาจารย์ มธ.โต้ พันธมิตรฯและ นักวิชาการรัฐศาสตร์การเมืองบางกลุ่ม หยุดหลอกประชาชน

รศ.ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ความขัดแย้งครั้งใหญ่ในสังคมไทยขณะนี้ นอกจากจะเป็นการต่อสู้กันระหว่างรัฐบาล ที่ต้องการปฏิรูปสังคมไทย ตามแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ กับกลุ่มแนวร่วมต่อต้านโลกาภิวัตน์แล้ว ยังมีมิติทางชนชั้นอันแหลมคมคือ เป็นการต่อสู้ครั้งสำคัญระหว่างชนชั้นล่างในเมืองและชนบทที่สนับสนุนผู้นำรัฐบาล และระบอบประชาธิปไตยกับชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมือง ที่ต้องการขับไล่ผู้นำรัฐบาลและฉีกรัฐธรรมนูญ

ชนชั้นล่างในเมืองและชนบทประกอบด้วย ประชาชนระดับรากหญ้าที่ตั้งแต่เกิดจนตายมีชีวิตยากจน ลำบากยากแค้น ไม่แน่นอน ไม่มีการศึกษา ขาดเงินทุน มีแต่หนี้สินและโรคภัยไข้เจ็บ ยาเสพติดในละแวกบ้าน อิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ การข่มเหงรังแกของเจ้าหน้าที่รัฐ ไม่เคยได้รับการเหลียวแลจากผู้ใด ไม่มีปากมีเสียง ถูกละเลยผ่านพ้นรัฐบาลมาทุกยุคทุกสมัย

พวกเขามีข้อได้เปรียบเพียงประการเดียวคือ มีจำนวนคนมากนับสิบล้านคนทั่วประเทศ และระบบการเมืองที่พอจะเปิดโอกาสให้พวกเขาได้มีปากมีเสียงบ้างก็คือ ระบอบประชาธิปไตย เพราะเป็นระบอบที่ทุกคนมี "หนึ่งเสียงเท่ากัน" ไม่ว่ายากดีมีจน การศึกษาสูงหรือต่ำ และยังเป็นระบบเดียวที่ทำให้พวกเขา พอจะส่งอิทธิพลไปยังนักการเมืองได้บ้าง

พวกเขาสนับสนุนผู้นำรัฐบาลอย่างเข้มแข็ง ก็เพราะนี่เป็นรัฐบาลแรกที่หยิบยื่นผลประโยชน์รูปธรรมเฉพาะหน้า ให้กับพวกเขาได้จริง ผ่านโครงการประชานิยมต่างๆ เช่น หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ พักชำระหนี้ กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค บ้านเอื้ออาทร หมู่บ้านเอสเอ็มแอล ขจัดปัญหายาเสพติด ลดอิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ แปลงหนี้นอกระบบเป็นหนี้ในระบบ ฯลฯ

ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองไม่เคยเข้าใจสิ่งเหล่านี้ เพราะพวกเขาไม่ต้องเผชิญกับปัญหาสารพัดที่ชนชั้นล่าง ต้องประสบตลอดชีวิต ชนชั้นกลางมีเงิน การศึกษา ตำแหน่งงาน บ้าน รถยนต์ มีช่องทางเข้าถึงเงินทุนและเงินกู้ในระบบ เจ็บป่วยก็มีเงินรักษา ไม่มีปัญหายาเสพติดในละแวกบ้าน ไม่เคยถูกเจ้าหน้าที่รัฐและอำนาจเถื่อนรังแก ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลและนักการเมืองท้องถิ่น พวกเขาจึงมองชนชั้นล่างอย่างดูถูกดูแคลน ว่า "ถูกซื้อ" โดยรัฐบาล

พวกเขาต้องการโค่นล้มผู้นำรัฐบาลและเรียกร้อง "รัฐบาลพระราชทาน" ฉีกรัฐธรรมนูญทิ้งก็เพราะในระยะ 5 ปีมานี้ พวกเขาได้สูญเสีย "สวรรค์ของอภิสิทธิ์ชน" ของตนไปเรื่อยๆ

กลุ่มทุนเก่าที่ผูกขาดระบบเศรษฐกิจไทยมาหลายสิบปี กำลังสูญเสียอำนาจทางเศรษฐกิจไปอย่างรวดเร็ว เพราะการเปิดเสรีการค้าและการลงทุนของรัฐบาล พวกเขาจึงต้องโค่นล้มรัฐบาล เพื่อยุตินโยบายดังกล่าว และฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังไปสู่ระบบทุนนิยมอุปถัมภ์ดังเดิม

ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจต้องการขับไล่รัฐบาล เพราะสูญเสียประโยชน์และสถานภาพ จากการแปลงสภาพรัฐวิสาหกิจ ให้เป็นบริษัทมหาชน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านทุนนิยมต้องการโค่นล้มรัฐบาล เพราะปฏิเสธการพัฒนาเศรษฐกิจให้ทันสมัย ปฏิเสธการค้าการลงทุนจากต่างประเทศ ต้องการฉุดรั้งให้เศรษฐกิจไทยถอยหลังไปเป็นสังคมเกษตรกรรม หมู่บ้านบุพกาลตามลัทธิชุมชนอนาธิปไตยของพวกตน

ข้าราชการเทคโนแครตไม่ต้องการรัฐบาลและรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพราะทำให้พวกเขาสูญเสียอำนาจ เกียรติภูมิและสถานภาพ จากเดิมที่เป็นผู้บริหารประเทศตัวจริงและมีอิทธิพลเหนือรัฐมนตรีนักการเมือง แต่วันนี้ พวกเขาเป็นเพียงคนรับคำสั่งของนักการเมือง

กลุ่มก๊วนการเมืองต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ เพราะทำให้พวกตนไม่มีอำนาจต่อรอง ต้องผูกติดกับระบบพรรค ไม่สามารถข่มขู่รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรีให้แบ่งปันผลประโยชน์แก่พวกตนได้เหมือนในอดีต

นักวิชาการ อาจารย์มหาวิทยาลัย ราษฎรอาวุโสแม้จะเกลียดชังความไม่โปร่งใสในทรัพย์สินของผู้นำรัฐบาล แต่ภูมิหลังคือ พวกเขาเป็นอนุรักษนิยม ไม่ต้องการโลกาภิวัตน์ แล้วยังสูญเสียสถานภาพและความน่าเชื่อถือตลอด 5 ปีมานี้ เพราะรัฐบาลไทยรักไทยเป็นรัฐบาลที่ไม่สนใจนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย ไม่ให้คุณค่าความสำคัญแก่ราษฎรอาวุโส อีกทั้งยังคอยกล่าวตอบโต้รุนแรงอยู่เสมอ

นักวิชาการและราษฎรอาวุโสเหล่านี้ปากพูดว่า "ต้องการประชาธิปไตย" แต่วันนี้ กำลังเรียกร้อง "รัฐบาลพระราชทาน" ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ เอาระบบจารีตนิยมเข้ามากุมอำนาจรัฐ บางคนเรียกร้องอย่างเปิดเผยให้ฝ่ายทหารก่อรัฐประหารยึดอำนาจ เอาเผด็จการทหารกลับคืนมา ทั้งหมดนี้ เพื่อโค่นล้มผู้นำรัฐบาลเพียงคนเดียว ที่น่าสังเวชคือ นักวิชาการเหล่านี้บางคนปากอ้างมาตลอดชีวิต ว่า เป็นทายาททางคุณธรรมของนายป๋วย อึ๊งภากรณ์

แม้แต่อดีตฝ่ายซ้ายและนักต่อสู้กับเผด็จการทหารในอดีต มาวันนี้กลับขึ้นเวทีร้องเพลงเพื่อชีวิต วิงวอนร้องขอ "รัฐบาลพระราชทาน" ให้ฉีกรัฐธรรมนูญ ฟื้นระบอบจารีตนิยม

แม้เฉพาะหน้าจะเป็นประเด็นความไม่โปร่งใสของผู้นำรัฐบาล แต่พื้นฐานความขัดแย้งคือ รัฐธรรมนูญฉบับนี้ และผู้นำรัฐบาลทำให้ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองสูญเสียประโยชน์และสถานภาพอภิสิทธิ์ ทำให้ชนชั้นล่างทั้งในเมืองและชนบทได้มีสิทธิมีเสียงทัดเทียมกัน

แม้คำขวัญเบื้องหน้าคือ "กู้ชาติ" "ปฏิรูปการเมือง" และชื่อกลุ่มลงท้ายด้วยคำว่า "เพื่อประชาธิปไตย" แต่เนื้อแท้คือ ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญและทำลายระบอบประชาธิปไตย ที่แบ่งอำนาจให้กับชนชั้นล่างมากเกินไป และเปิดช่องให้มีการปฏิรูปทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ฉะนั้น วาระของพวกเขาจึงเป็นปฏิกิริยาและถอยหลังเข้าคลอง

สิ่งที่ชนชั้นนำและชนชั้นกลางในเมืองต้องการไม่ใช่ประชาธิปไตย ที่ "หนึ่งคนหนึ่งเสียงเท่ากัน" แต่เป็นระบอบคณาธิปไตยที่ชนชั้นนำ และชนชั้นกลางในเมืองมีอำนาจอภิสิทธิ์ และมีเสียงเหนือชนชั้นล่าง เป็นระบอบที่คนส่วนน้อยในเมืองจำนวนหนึ่งมีเสียงเหนือกว่า สามารถ "สั่ง" และขับไล่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญด้วยคะแนนเสียงข้างมากของประชาชนชั้นล่างนับสิบล้านคนได้

ประชาธิปไตยไทย จึงไม่มีวันเป็น "ประชาธิปไตย" ไปได้ เป็นได้แค่คณาธิปไตยจารีตนิยม

หากเปรียบประวัติศาสตร์เป็นเหมือนละครโรงใหญ่ ก็เป็นละครที่มีความสลับซับซ้อน แยกถูกผิดไม่ชัด เต็มไปด้วยตัวละครที่มีบุคลิกก้ำกึ่งดีเลว ดูไม่ออกว่า ใครเป็นพระเอกนางเอก ใครเป็นผู้ร้าย บางครั้งประวัติศาสตร์ก็เลือกตัวละครที่ดูเหมือนเป็นผู้ร้าย หรือคนชั่วมาเป็นผู้ผลักดันจุดประสงค์หลักของเรื่อง ให้สำเร็จได้ในตอนจบ พร้อมด้วยผู้คนที่ล้มตายคณานับ

ประวัติศาสตร์ไม่ใช่ละครไทยน้ำเน่าในทีวีตอนหัวค่ำ ซึ่งแยกถูกผิดขาวดำชัดเจน มีฝ่ายความดีของพระเอกนางเอกที่ขาวสะอาดบริสุทธิ์ผุดผ่อง กับฝ่ายความชั่วของผู้ร้ายนางอิจฉาที่เลวทรามสุดขั้ว คนดูละครรู้ได้ทันทีตั้งแต่ต้นว่า ใครดีใครชั่ว และมั่นใจได้ว่า ความดีจะชนะความชั่ว

แต่ผู้คนก็อดไม่ได้ที่จะเอาจินตนาการละครไทยไปยัดใส่ประวัติศาสตร์ให้กลายเป็นเรื่องสองขั้ว ขาวสู้กับดำ ความดีสู้กับความชั่ว ธรรมะสู้กับอธรรม

ความขัดแย้งทางการเมืองในหลายเดือนมานี้ ได้ถูกนักเคลื่อนไหวมวลชน นักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน สมาชิกวุฒิสภา กระพือให้เข้าใจว่า เป็นการต่อสู้ระหว่างผู้นำรัฐบาลที่เป็นเผด็จการ ทุจริตคอร์รัปชัน ขายชาติ กับขบวนการมวลชนที่รักเอกราช รักชาติ รักประชาธิปไตย กระทั่งเอาเหตุการณ์ในวันนี้ไปเทียบกับกรณี 14 ตุลาคม 2516 และพฤษภาคม 2535

แต่การเมืองไทยไม่ใช่ละครน้ำเน่าที่ความดีสู้กับความชั่ว หากเป็นการต่อสู้สองแนวทางที่ชี้ขาดว่า สังคมไทยจะเดินไปทางไหน ไปสู่แนวทางทุนนิยมพัฒนาแล้วภายใต้ระบอบโลกาภิวัตน์ หรือจะถอยหลังไปเป็นทุนนิยมล้าหลัง ด้อยพัฒนาทางการผลิต เทคโนโลยี และคุณภาพมนุษย์เหมือนเดิม เป็นการปะทะกันระหว่างรัฐบาลกับฝ่ายต่อต้านโลกาภิวัตน์

แม้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลจะชูประเด็นเฉพาะหน้าเรื่องทุจริตคอร์รัปชันและ "จริยธรรม" ของผู้นำรัฐบาล แต่เบื้องหลังคือ การต่อต้านนโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมในแนวทางทุนนิยมทั้งชุดของผู้นำรัฐบาล ได้แก่ การปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ การเปิดเสรีการค้าและการลงทุนผ่านองค์การการค้าโลกและเอฟทีเอ การปฏิรูปกฎหมายให้มีการแข่งขันทางธุรกิจทั้งภายในประเทศและจากต่างประเทศ การปฏิรูปการศึกษา นโยบายประชานิยมที่หว่านเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทลงสู่ระดับรากหญ้า กระตุ้นทั้งการบริโภค การลงทุน และการประกอบธุรกิจในระดับล่าง

ผู้นำรัฐบาลคนปัจจุบันเป็นตัวอย่างของขีดจำกัดทางประวัติศาสตร์ เพราะแม้ว่าผู้นำจะมีวิสัยทัศน์ที่ค่อนข้างชัดเจน และเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันสังคมไทยไปในแนวทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์ แต่ผู้นำก็เติบโตมาด้วยธุรกิจผูกขาดและไม่โปร่งใส เข้าสู่อำนาจด้วยธนกิจการเมือง ยึดติดระบบเครือญาติคนใกล้ชิด และจำต้องร่วมมือกับกลุ่มการเมืองในพรรคที่ทุจริต

เนื้อแท้ที่ต่อต้านโลกาภิวัตน์ของกลุ่มพันธมิตรเห็นได้จาก "วาทกรรม" ของพวกเขาที่ผูกโยงนิยามของ "ทุจริตคอร์รัปชัน" เข้ากับ "การขายชาติ" ซึ่งหมายถึง การเปิดเสรีการค้าการลงทุน การทำเอฟทีเอ และการแก้กฎหมายเปิดประตูให้ทุนต่างชาติเข้ามามีบทบาทแข่งขันในเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

แม้แต่องค์ประกอบของพันธมิตรก็เป็นแนวร่วมของกลุ่มทุนเก่าที่สูญเสียประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล ผู้นำแรงงานรัฐวิสาหกิจ กลุ่มครูบางส่วน นักการเมืองฝ่ายค้าน องค์กรพัฒนาเอกชนที่ต่อต้านทุนนิยม นักวิชาการบางกลุ่ม ทั้งหมดร้องตะโกนแสดงความ "รักชาติ" คัดค้าน "การขายชาติ" กันอย่างสุดเสียง

กลุ่มคนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นกลุ่มเดียวกับที่เคยเคลื่อนไหวกรณีพฤษภาคม 2535 และปัจจุบันก็ยังคงจมอยู่ใน "วาทกรรม" ดั้งเดิม สร้างจินตนาการรวมหมู่ว่า พวกตนเป็นขบวนการรักชาติประชาธิปไตยที่กำลังเคลื่อนไหวโค่นล้ม "เผด็จการทุนขายชาติ" เช่นเดียวกับเมื่อ 14 ปีก่อน ที่เคลื่อนไหวโค่นล้ม "เผด็จการ รสช."

แต่เงื่อนไขประวัติศาสตร์นั้นแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การเคลื่อนไหวในวันนี้เป็นได้เพียง "ละครลอกเลียนแบบ" ของเหตุการณ์พฤษภาคมเท่านั้น

ประการแรก รัฐบาลนี้และผู้นำเป็นผลพวงโดยตรงของรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปการเมือง คือมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่เกิดจากอำนาจนอกสภาที่ร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อสืบทอดอำนาจในกลุ่มตน

ประการที่สอง ผู้นำรัฐบาลยังคงได้รับความนิยมอย่างเข้มแข็งจากประชาชนในหัวเมืองและชนบท โดยเฉพาะระดับรากหญ้าที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายประชานิยมของรัฐบาล

ประการที่สาม ความขัดแย้งใหญ่ในอดีตอยู่ที่คำถามว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าต่อไปเป็นประเทศเสรีประชาธิปไตย หรือจะถอยหลังไปเป็นประเทศกึ่งเผด็จการกึ่งประชาธิปไตยต่อไป แต่ความขัดแย้งใหญ่ในปัจจุบันคือ ประเทศไทยจะก้าวเดินไปบนหนทางทุนนิยมโลกาภิวัตน์หรือจะถอยหลังไปสู่เศรษฐกิจทุนนิยมด้อยพัฒนาในอดีต

ประการที่สี่ การเคลื่อนไหวในวันนี้ ไม่ใช่พลังมวลชนประชาธิปไตยเป็นกำลังหลัก แต่เป็นการผสมผเสของกลุ่มมวลชน เข้ากับนายทุนหนังสือพิมพ์ที่ทุจริตและไม่ได้ประโยชน์จากรัฐบาล รวมกับบรรดากลุ่มการเมืองและธุรกิจนอกสภาที่เสียประโยชน์ ใช้วิธีการทุกอย่างที่อยู่นอกเหนือรัฐธรรมนูญเพื่อ "แก้แค้น" ด้วยการโค่นล้มรัฐบาล

ประการสุดท้าย ฝ่ายต่อต้านมีจุดร่วมประการเดียวคือ โค่นล้มผู้นำรัฐบาลด้วยวิธีการนอกสภาและนอกรัฐธรรมนูญ ไม่มีวิสัยทัศน์ถึงอนาคตของเศรษฐกิจการเมืองไทย บางส่วนชูคำขวัญ "ปฏิรูปการเมืองรอบสอง" ที่คลุมเครือและส่อแววย้อนยุคไปสู่การเมืองที่รัฐบาลอ่อนแอ แต่กลุ่มก๊วนการเมืองเข้มแข็งในอดีต

ส่วนในด้านเศรษฐกิจ ก็มีเพียงอารมณ์คลั่งชาติที่เกลียดกลัวทุนต่างชาติและต่อต้านเปลี่ยนแปลง ไม่มีข้อเสนอรูปธรรมที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจสังคมไทยให้พัฒนาก้าวหน้าและมีความเป็นธรรม ในแง่นี้ ฝ่ายต่อต้านจึงมีลักษณะถอยหลังเข้าคลอง

จากคุณ : เท้าติดดิน
//www.pantip.com/cafe/rajdumnern/topic/P4501032/P4501032.html




 

Create Date : 22 กรกฎาคม 2549
0 comments
Last Update : 22 กรกฎาคม 2549 16:36:31 น.
Counter : 458 Pageviews.

 

~ Passer By ~
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ~ Passer By ~'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com