<<
กรกฏาคม 2550
1234567
891011121314
15161718192021
22232425262728
293031 
 
12 กรกฏาคม 2550
 

เหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

19 สิงหาคม 2550 ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของประชาชนคนไทยทุกคนที่ต้องออกไปใช้สิทธิในการลงประชามติรับ หรือ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ อย่างไรก็ตามการที่ใครจะรับหรือ ไม่รับนั้นถือเป็นสิทธิส่วนบุคคล ที่จะตัดสินใจเอง . . . แต่สิ่งหนึ่งที่อยากให้รับรู้ว่า คือ การรับ หรือ ไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใช่แค่เรื่องเสี่ยงโชค หรือ เรื่องของความรู้สึก หากแต่เป็นเรื่องของความรู้ หรือความเข้าใจที่คุณควรศึกษาให้ดี เพื่ออนาคตที่ดีของประเทศไทยต่อไป

เหตุผลที่ไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550

1. มาตราที่ 29 ซึ่งเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพของประชาชน จะทำมิได้ แต่ รธน.50นี้ ระบุตอนสำคัญว่า "เว้นแต่โดยอาศัยบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะเพื่อการที่รัฐธรรมนูญนี้กำหนดไว้และเท่าที่จำเป็น โดยตัดคำว่า "เท่านั้น" ออก เพราะ คมช. กำลังผลักดัน พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ออกมาใช้ หาก รธน.50 และพรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ผ่านมติและประกาศใช้ ทหารจะคุมประเทศอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

2. มาตราที่32 เกี่ยวกับการลงโทษด้วยวิธีการโหดร้าย จากเดิมยกเว้นเพียงโทษประหารชีวิตตามคำพิพากษาเท่านั้น แต่ของใหม่ เพิ่มข้อความ "โทษตามคำพิพากษาของศาลหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ...." แสดงว่าโทษอะไรก็ได้ นอกจากนี้มาตรา33 ซึ่งระบุเกี่ยวกับ การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากการยินยอมของผู้ครอบครอง จะกระทำมิได้ โดย เพิ่มข้อความ " เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ " ในขณะที่ของเดิมให้อำนาจศาลเท่านั้น ของใหม่ให้อำนาจ คำสั่ง (ของผู้มีอำนาจใครก็ได้) ,หมายศาล และคำสั่งตามกฎหมายอื่น เมื่อบวกกับ พรบ.ความมั่นคงในราชอาณาจักร ซึ่งให้อำนาจ อำนาจจับกุม คุมขัง สอบสวนกับทหารไว้ ประชาชนก็ไม่มีหลักประกันใดๆเลย

3. มาตราที่64 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมนั้น ได้เพิ่มวรรคสอง "ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐย่อมมีเสรีภาพเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป " ต่อไปนี้ใครได้อำนาจรัฐ จัดม็อบชนม็อบได้เลย ถูกกฎหมาย ใช้งบหลวงดำเนินการ ประชาชนที่รวมกลุ่มมาเรียกร้องจะถูกต่อต้านด้วยอำนาจรัฐทุกรูปแบบ กฎระเบียบวินัยข้าราชการ ต้องยกเลิก เพราะขัด รธน.มาตรานี้ ม็อบข้าราชการจะยิ่งใหญ่ เพราะได้เงินเดือน สั่งได้ ใช้ของหลวงมาดำเนินการได้

4. มาตรา 68 บุคคลจะใช้สิทธิและเสรีภาพตาม รธน.นี้ ล้มล้างการปกครองมิได้ แต่เพิ่ม วรรคสี่ กรณีถูกศาลรธน.พิพากษาให้ยุบพรรค โดยให้ตัดสิทธิ์ทางการเมืองแก่ หัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค การเมืองนั้นห้าปี เป็นบทลงโทษเดียวกับการลงโทษย้อนหลังใน คำสั่ง คปค. ซึ่งตุลาการรธน. ใช้ในการลงโทษยุบพรรคไทยรักไทย และยังระบุไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา300 ว่า ให้ ตุลาการ รธน.ที่แต่งตั้งโดยคณะผู้ยึดอำนาจนั้น ทำหน้าที่ตุลาการศาล รธน.ต่อไป อย่างถูกต้อง คือฟอกตัวให้ตุลาการ รธน. และ ออกใบรับรองคำพิพากษาของเดิม ในคราวเดียวกัน

5. มาตรา 94 ให้เลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ คือแต่ละเขตมีสิทธ์เลือกได้ตั้งแต่หนึ่งถึงสามคน และประชาชนก็มีสิทธิ์เลือกได้ตามจำนวนผู้สมัครแต่ละเขต โดยสรุปแต่ละเขตคือเลือกได้ไม่เท่ากัน ทำลายพื้นฐานประชาธิปไตย หนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงลงอย่างสิ้นเชิง นอกจากนี้ในข้อย่อย6 วรรคสอง ยังให้นับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง เพราะหัวคะแนนตรวจสอบได้ว่าซื้อไปกี่เสียง และได้คะแนนมากี่เสียง เป็นระบบที่ย้อนยุคถอยหลังไปอีกยี่สิบสามสิบปี

6. มาตรา 95 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ กลับไปแบ่งตามพื้นที่กลุ่มจังหวัด โดยแบ่งเป็นแปดกลุ่มๆ ละ 10 คน ซึ่งเป็นผู้แทนราษฎรที่มาจากสัดส่วนท้องถิ่นไม่ต่างจากการได้มาของผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขต ในขณะที่รัฐธรรมนูญเดิมสามารถใส่รายชื่อตามลำดับความสำคัญและความรู้ความสามารถของสมาชิกพรรค โดยทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว อีกทั้งให้การนับคะแนนที่หน่วยเลือกตั้ง เป็นการสนับสนุนการซื้อเสียงและการควบคุมเสียง เช่นเดียวกับข้อข้างต้น

7. มาตรา 101 คุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้ง(ทั้งแบ่งเขตและบัญชีรายชื่อ) กำหนดคุณสมบัติกีดกันพรรคใหม่ อย่างน่าเกลียด เช่น มีทะเบียนบ้านอยู่ในจังหวัดนั้นไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 1 ปี) เคยศึกษาในสถานศึกษาในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี(เดิม 2 ปี) เคยรับราชการในจังหวัดนั้น ไม่น้อยกว่า5ปี (เดิม 2 ปี) ในบทเฉพาะกาล ลดให้เหลือ 1ปี 2 ปี 2 ปี ตามลำดับ เฉพาะสำหรับครั้งแรกที่มีการเลือกตั้ง จะเห็นได้ว่า พรรคการเมืองใหม่ จะสรรหาสมาชิกใหม่ได้ยากขึ้น แม้นบทเฉพาะกาลลดระยะเวลาลง แต่หากรัฐบาลใหม่จาก รธน.นี้ ล้มลงเร็วกว่ากำหนดไม่ว่าเหตุใดก็ตาม พรรคซึ่งก่อตั้งใหม่ ก็จะประสบปัญหาการสรรหาผู้สมัครเพื่อลงแข่งขันรับเลือกตั้ง ในขณะที่พรรคเก่าแก่ มีสมาชิกและสร้างฐานในพื้นที่มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน ย่อมได้เปรียบ อีกทั้งการกำหนดคุณสมบัติบางอย่างโดยไม่ดูข้อเท็จจริงเช่น การที่เคยศึกษาในจังหวัดนั้นสูงถึง5ปี เพราะหากต้องการผู้มีวุฒิปริญญาตรี โดยส่วนใหญ่ก็จบการศึกษาไม่เกินสี่ปี หากต้องการ ปวส. ก็สองปี ปวช.ก็ สามปี เท่านั้น แสดงว่าหากเราอยู่กรุงเทพ ไปเรียนที่เชียงใหม่ จบ ป.ตรี แล้วกลับมาทำงาน กรุงเทพ พออายุครบและญาติพี่น้องที่เชียงใหม่ก็สนับสนุนให้ลงสมัคร ก็ทำไม่ได้ ทั้งๆที่มีความรู้ และเคยอยู่ในพื้นที่กว่าสี่ปี

8. มาตรา 111 ถึง 118 กำหนดให้ วุฒิสภามีสมาชิกได้ 150คน มาจากเลือกตั้งจังหวัดละ 1คน รวม76คน และแต่งตั้ง 74 คน นี่เป็นการทำลายสิทธิพื้นฐาน 1สิทธิ์หนึ่งเสียงอย่างร้ายแรง เพราะกรุงเทพมีคนอาศัยอยู่ 6 ล้านคน แต่มี สว.ได้คนเดียว ในขณะที่ระนอง มีผู้อาศัยอยู่ 2แสน ก็มีสว.ได้หนึ่งคนเช่นกัน นอกจากนี้ สว.ที่มาจาก รธน.ชุดนี้ ยังมีอำนาจมาก กล่าวคือ 1. พิจารณากฎหมาย และพรบ.งบประมาณ 2. อภิปรายทั่วไปการทำงานของรัฐบาลได้ 3.แต่งตั้งองค์กรอิสระต่างๆ 4.ถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5.ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎร ด้วยเหตุผลข้างต้น หาก สว.กลุ่มที่มาจากการแต่งตั้งรวมตัวกันแล้วต้องการชี้นำสิ่งใด ก็ทำได้โดยดึง สว.มาเพิ่มอีก 2คน ก็ชนะโหวตได้ทันที เช่นหากต้องการล้มรัฐบาล โดยล้ม พรบ.งบประมาณ ก็สามารถทำได้โดยง่าย

9. มาตรา 270 ให้ประชาชนเพียง 2 หมื่น สามารถเข้าชื่อถอดถอนนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีได้ และให้วุฒิสมาชิก เพียงสามในห้า หรือ เพียง 90 คน ลงมติและถอดถอนได้ทันที สรุปคือจะล้มรัฐบาลก็แค่หา สว.มาเพิ่มแค่ 16 คน

10. การแต่งตั้งบุคคลไปดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระอันได้แก่ ศาลรัฐธรรมนูญ ศาลปกครอง , คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ, คณะกรรมการเลือกตั้ง, ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, องค์กรอัยการ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, ต้องให้วุฒิสภาเห็นชอบทั้งสิ้น ลองคิดดูว่า สว.ที่มาจากการแต่งตั้ง จะเลือกพรรคพวกตัวเองหรือไม่

11. แต่ในกรณี สว. ต้องถูกถอดถอน ต้องส่งเรื่องให้ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)พิจารณาก่อน ซึ่งคงไม่ลืมว่าใครคือผู้แต่งตั้ง ปปช. และต้องส่งกลับพิจารณาให้วุฒิสภาลงมติอีก เรียกว่า ชงเองกินเอง ทั้งสิ้น สรุปง่ายๆ คือ วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง อาจจะครองแผ่นดินเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

12. มาตรา 171 วรรคสี่นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินกว่าแปดปีมิได้ ปัญหาที่ตามมาคือ รัฐบาลชุดต่อมาอาจไม่สามารถสานต่องานรัฐบาลชุดเก่าได้

14. มาตรา 300 ให้ ตุลาการรัฐธรรมนูญ (ที่ คมช.แต่งตั้ง) เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ทันทีที่รธน.ประกาศใช้

15. มาตรา 309 รับรองการกระทำทั้งก่อนหน้า และ หลัง 19 กันยายน 2549 ทุกกรณี ทุกวาระ หากผิดกฎหมาย ให้ถือว่าถูกกฎหมาย และยังมีการนิรโทษกรรมการกระทำของ คมช. ถือเป็นเรื่องเสียหายมาก เพราะเมื่อทำอะไรผิดกฎหมายไว้ก็ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การนิรโทษอย่างนี้จึงเท่ากับเป็นการรับรอง ยอมรับการรัฐประหาร

16. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไม่ได้เป็นการส่งเสริมการปกครองระบอบประชาธิปไตย ตรงกันข้ามเป็นการส่งเสริมระบอบเผด็จการและอำมาตยาธิปไตย เพราะเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญจะทำให้ ส.ส.หรือผู้แทนประชาชนทำหน้าที่ได้น้อยมาก ขาดความเชื่อมโยงกับประชาชน เนื่องจากมีการแบ่งเขตกว้างขึ้น นอกจากนี้มีการห้ามนักการเมืองเข้าไปก้าวก่ายการทำงานของข้าราชการประจำ ขณะที่รัฐบาลมีอำนาจในการบริหารประเทศน้อยมาก แต่อำนาจที่แท้จริงกลับไปอยู่ที่ศาล สมาชิกวุฒิสภา ( ส.ว.) และข้าราชการ ซึ่งไม่มีความเชื่อมโยงกับประชาชนเลย

17. การโหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นการยกระดับการต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยในทางอุดมการณ์ ในทางคุณค่า ซึ่งจะเป็นรากฐานที่สำคัญอย่างยิ่ง ในการทำให้ประเทศไทยเดินไปในวิถีทางที่นานาอารยประเทศยอมรับ

18. ถ้าโหวตไม่รับ หรือ โหวตรับ ก็ต้องมีการเลือกตั้งแน่นอน ถ้าโหวตไม่รับผลที่เกิดตามมาคือ ครม. และ คมช. มีหน้าที่ ต้องไปหยิบเอารัฐธรรมนูญฉบับใด ฉบับหนึ่งที่ประกาศใช้ในอดีตมาแก้ไขปรับปรุงแล้วประกาศใช้ และจัดการการเลือกตั้ง และ คมช. หรือ ผู้มีอำนาจคงไม่กล้าเอารัฐธรรมนูญฉบับที่มีเนื้อหาแย่ยิ่งกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 มาประกาศใช้เป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแน่นอน

19. การโหวตไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นทางออกของสังคมไทย ไม่ให้เกิดความตีบตันในวันข้างหน้า อย่างน้อยที่สุดในวันข้างหน้าสังคมไทย จะไม่ต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณค่าว่า "เรารับรัฐธรรรมนูญที่มีที่มาอันไม่ชอบ"

20. ไม่รับ รธน. ปี 50 แต่ ให้เอารัฐธรรมนูญปี 2540 เอามาใช้บังคับเพื่อจัดการเลือกตั้ง แล้วหลังจากที่มีการเลือกตั้งแล้ว วาระสำคัญในทางการเมืองอย่างนี้จะเป็นวาระระดับชาติ อำนาจในการกำหนดเนื้อหาของตัวรัฐธรรมนูญจะกลับมาอยู่ในมือประชาชน มีการต่อรองของกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ อย่างถูกต้อง อย่างครบถ้วน แล้วก็ใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 ซึ่งอย่างน้อยในแง่ของที่มาซึ่งมีความชอบธรรมอยู่เป็นฐานของการปฏิรูปการเมืองต่อไป

21. รัฐธรรมนูญ 50 คือ ทำให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอในทางการเมือง มีรัฐบาลผสมหลายพรรค เช่นเดียวกับสภาพการเมืองไทยก่อนหน้าที่จะใช้รัฐธรรมนูญ 40 การเมืองในระบบกลับไปสู่การฮั้วกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ

22. ในรัฐธรรมนูญ 2550 จะทำให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ไม่สามารถทำหน้าที่อันเป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทยหรือจะทำได้น้อยมาก เพราะใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตในลักษณะที่ย้อนกลับไปสู่อดีต ส่วนการตรวจสอบหน่วยราชการก็ทำไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญนี้บอกว่าห้าม ส.ส. ก้าวก่ายแทรกแซงการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการประจำ การก้าวก่ายแทรกแซงอาจทำให้พ้นจากตำแหน่งได้ด้วย ส่วนพรรคการเมืองก็จะอ่อนแอลงมากโดยเสนอนโยบายอะไรไม่ได้เนื่องจากนโยบายส่วนใหญ่กำหนดไว้หมดแล้วในแนวนโยบายแห่งรัฐ

23. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 มีจุดบกพร่องในเรื่องของที่มา กระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญมีผลประโยชน์ทับซ้อน และเนื้อหาของรัฐธรรมนูญขาดเอกภาพ รวมทั้งขัดแย้งต่อหลักความเป็นกฏหมายสูงสุดด้วย เนื่องจาก "ที่มา" ของร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 มาจากการทำรัฐประหาร นี่จึงไม่ใช่รัฐธรรมนูญที่มาอย่างถูกต้องชอบธรรม เมื่อศึกษาจากประวัติศาสตร์จะพบว่ารัฐธรรมนูญซึ่งมีที่มาโดยไม่ถูกต้องชอบธรรมนั้น มักก่อให้เกิดปัญหาในเรื่องของเนื้อหาตามมาเสมอ

24. ร่างรัฐธรรมนูญ ปี 2550 อ้างถึงเรื่องจริยธรรมเอาไว้มาก มีการพูดถึงจริยธรรมของนักการเมือง แต่ไม่ได้พูดถึงจริยธรรมของผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบางส่วนก็มาจากองค์กรที่มีผลประโยชน์โดยตรงจากการร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่น ผู้ร่างรัฐธรรมนูญบางคนจะกลับมาเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการลงประชามติด้วย

25. กรอบกฎหมายของร่าง รธน. 50 อาจทำให้เกิดรัฐบาลผสมมากมาย ระบบตัวแทนมีน้อยลง ปัญหาการฮั้วทางการเมืองจะเกิดมากขึ้น และเป็นการเปิดช่องทางให้ระบบราชการทั้งหลายเข้ามาครอบงำการตัดสินใจของรัฐบาล ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะไม่มีอำนาจในการตัดสินใจปัญหาบางเรื่องได้ พร้อมกันนี้ ข้อบัญญัติที่ให้องค์กรอิสระอยู่ภายใต้อำนาจของตุลาการ จะเป็นการทำให้ฝ่ายตุลาการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาผลเสียต่อศาลระยะยาว และการแทรกแซงอำนาจอธิปไตยระหว่างกัน

26. รัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้อำนาจตุลาการทำหน้ามากเกินไป คือ ให้อำนาจของศาลและองค์กรอิสระสามารถยื่นกฎหมายเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรได้ โดยไม่ให้ผ่านคณะรัฐมนตรี ซึ่งตรงนี้จะทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะอาจทำให้เกิดการการวิ่งเต้นกับเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้โดยตรง ซึ่งเชื่อว่าต่อไปเราจะเห็นภาพของศาลขององค์กรอิสระเดินทางไปวิ่งเต้น หรือต่อรองกับกลุ่มก๊วนต่างๆ เอง

27. ประเด็นเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เพิ่มเข้ามาใน รธน. 50 ไม่จำเป็นต้องเพิ่มเข้ามา เนื่องจาก ประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาเรื่องการบัญญัติรัฐธรรมนูญ แต่เป็นปัญหาของการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ มากกว่า คือ ถึงแม้ว่าจะเพิ่มสิทธิของประชาชนในเรื่องการออกกฎหมายได้ แต่ถ้าบังคับใช้ไม่ได้จริงๆ ก็ไม่มีประโยชน์

28. ระบบการเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญปี 2550 ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจว่าทำไมต้องแบ่งระบบสัดส่วนออกเป็น 8 บัญชี อย่างกรณีที่แบ่งจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ ไปอยู่กลุ่มเดียวกับจังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีวิถีชีวิตคนละแนวทาง รวมถึงการเลือกตั้งส.ส.แบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ไม่เกินเขตละสามคน ซึ่งทำให้ประชาชนจำยาก

29. เนื้อหาของรัฐธรรมนูญที่มีปัญหา คือ ไม่เป็นประชาธิปไตย ผู้ที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอำนาจ แต่อำนาจจะไปอยู่ที่ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง การปกครองแบบนี้ประชาชนจะไม่มีทางเสนอความต้องการและไม่มีใครมารับเอาความต้องการของประชาชนไปแก้ปัญหาประเทศ ยิ่งวิกฤติจะยิ่งลำบากเพราะว่ากลไกที่บริหารปกครองประเทศไม่ต้องฟังประชาชน โดยรวมแล้วรัฐธรรมนูญจึงเป็นส่วนหนึ่งของกลไกอีกหลายอย่างที่จะสร้างเสริมทำให้เกิดความมั่นคงของระบอบเผด็จการ ระบอบอมาตยาธิปไตย ก็คือข้าราชการหรือผู้ที่ไม่มาจากการเลือกตั้งเป็นใหญ่ในการปกครองบริหารประเทศ เพราะฉะนั้นจึงไม่ควรรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

30. รัฐธรรมนูญ 50 ตั้งโจทย์ไว้แคบเกินไป แคบทั้งแง่คำถาม และดึงเอาประสบการณ์ของคนจำนวนน้อยคือเฉพาะชนชั้นกลางในเมืองเท่านั้นมาตอบปัญหา ไม่ได้มองประสบการณ์ทางการเมืองของชนชั้นล่าง

31. ทำให้การเมืองในระบบย่อมกลับไปสู่การฮั้วกันแบบที่เคยเกิดขึ้นก่อนหน้าปี 40 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หมายความว่า มีการจัดตั้งรัฐบาลเมื่อไหร่ พรรคนี้ที่มาร่วมรัฐบาลก็ได้โควต้ากระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป พรรคนี้ได้กระทรวงนี้ไป โดยที่พรรคที่เป็นแกนกลางไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายยุ่มย่ามอะไรได้เลย ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า ระบบราชการไม่สามารถแยกเป็นส่วนๆ อย่างนั้นได้ จำเป็นต้องประสานงานกัน แต่นายกฯ กลับไม่มีอำนาจหรือหน้าที่ประสานงานในระบบราชการได้ เมื่อเป็นเช่นนี้ ระบบราชการจะคุมรัฐบาล ถ้าเมื่อไหร่ที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอ่อนแอ เมื่อนั้นระบบราชการจะคุมตัวนักการเมืองหรือระบบการเมืองแทนเสมอ
32. องค์กรบางองค์กรที่เกาะเกี่ยวกับอำนาจทางการเมือง เช่น ผู้สรรหาองค์กรอิสระ หรือผู้ที่จะแต่งตั้ง ส.ว.กลับไม่ต้องมีการตรวจสอบแต่อย่างใด ซึ่งที่จริงแล้ว ทั้งสองฝ่ายควรอยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน




Create Date : 12 กรกฎาคม 2550
Last Update : 14 สิงหาคม 2550 14:43:51 น. 0 comments
Counter : 577 Pageviews.  
 

~ Passer By ~
 
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ~ Passer By ~'s blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com