จะเป็นสายลมที่อบอุ่น คอยโอบอุ้มเธอไว้






Group Blog
 
<<
สิงหาคม 2551
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
31 
 
21 สิงหาคม 2551
 
All Blogs
 
สาปพระเพ็ง : กับความขาดๆเกินๆ จนแทบไม่น่าเชื่อว่า[กิ่งฉัตร]เขียน


สาปพระเพ็ง
โดย กิ่งฉัตร
สนพ.อรุณ
ราคา 315 บาท




เรื่องย่อหลังปก


บาปของเขาถูกปลดเปลื้องไปส่วนหนึ่ง
แต่ยังไม่หมด ไม่หมดทีเดียว...
บางทีพรุ่งนี้ เดือนหน้า ปีหน้า
พระเพ็งจะยอมประทานโอกาสให้เขา
ได้แก้ตัวอีกครั้งและอีกครั้ง
จนกว่าบาปกรรมที่เขาก่อไว้จะถูกลบล้าง...
จนกว่าเขาจะได้รับการอภัยจากผู้คนทั้งหมด
เมื่อถึงวันนั้น ความทุกข์ทรมานของเขาคงยุติลงเสียที




คอมเม้นท์หลังอ่าน


นามปากกานี้เป็นขวัญใจคนทั่วบ้านทั่วเมือง ไม่เว้น
แม้กระทั่งเด็กๆ รอบตัวค่ะงานหนังสืออัมรินทร์ที่ผ่านมา
เจ้าน้องซึ่งอยู่ในวัยทีนเอจก็ซื้อมาเลยจัดการเวียนเทียน
กันอ่านไปทั้งบ้านแล้ว ปกติแล้วคนบ้านนี้อ่านหนังสือจบ
ก็จะให้มาสรุปกันว่าแต่ละคนมีความคิดเห็นยังไง ถือเป็นการ
สานสัมพันธ์ด้วย สำหรับเรื่องนี้เด็กๆ ก็บอกว่าสนุกดี ชอบพี่สาว
นางเอกบ้าๆ บอๆ แจ๋นๆ ขโมยซีนนางเอกผู้เรียบร้อยไปหมด
แต่พอป้าๆ อ่านแล้วก็กลับไม่รู้สึกเหมือนเด็กๆ แถมรู้สึกว่า
เรื่องนี้แปลกๆ มีช่องโหว่เต็มไปหมด เหมือนกับว่าคนเขียน
ไม่ถนัดแนวนี้ และไม่มีที่ปรึกษาสำหรับงานเขียนแนวโบราณด้วย
มันดูไม่ค่อยลงล็อคไปเสียหมด อ่านแล้วไม่อิ่มชอบกล
จุดที่รู้สึกแปลกๆ ประหลาดๆ มีเยอะ เท่าที่จำได้...


เข้าเขตสปอยล์ค่ะ


1.เรื่องนี้มี 3 แนวในเรื่องเดียวกัน ทั้งสืบสวนสอบสวน กุ๊กกิ๊ก
และโบราณข้ามชาติภพ ทีนี้บทกุ๊กกิ๊กระหว่างหนุ่มสาว
โดยเฉพาะพี่สาวนางเอกซึ่งเอาแต่เถียงกับหนุ่ม มันลดความ
ขลังของแนวโบราณ ผสมกันไม่ลงตัว แล้วยิ่งลากสืบสวน
ที่ไม่ค่อยเกี่ยวกันเข้ามา มันเลยแบ่งเป็นส่วนๆ
จนรู้สึกว่า แบ่งพล็อตออกไปเขียนเป็น 2 เรื่องเลยก็ได้นะ


2.คฑารัตน์ พี่สาวนางเอกทำงานหน่วยคุมประพฤติและต้องไป
ช่วยสืบคดี แต่...การแสดงออกของเธอไม่เข้ากับงานที่ทำเลย
คนเรานิสัยยังไงก็ได้แต่เมื่อเป็นงานก็ต้องแยกกับนิสัยที่จะ
แสดงออก เหมือนกับว่าผู้เขียนกลัวคนอ่านไม่รู้ว่ายัยนี่ขี้วีน
เลยต้องขยายอาการวีนไม่เลือกที่ ไม่เลือกกาลเทศะ เช่น
ตอนที่ไปถามจากลุงแก่ๆ เจ้าของบ้าน แล้วไม่ได้เกี่ยวกับคดี
แต่ชวนคุยนอกเรื่องแทน ตอนจะกลับลุงบอกว่า ว่างๆ มาคุย
กันใหม่นะ หล่อนก็ตอบว่า.... “อย่าหวังให้มากเลยค่ะลุง
ไม่เกี่ยวกับงานไม่มีประโยชน์ใครจะมา”
มันดูไร้มารยาทสุดๆ
มากกว่าจะขี้วีนนะ เพราะงานด้านบริการ(ตำรวจก็เป็นหนึ่ง
ในงานบริการ) เธออาจจะต้องกลับมาถามคุณลุงคนนี้ซ้ำอีกก็ได้
เจ้าหน้าที่ที่ทำงานแบบนี้จะถูกฝึกเรื่องจิตวิทยามาสูงกว่าคนปกติ
ถ้าแสดงออกแบบนี้ชาวบ้านจะไม่ให้ความร่วมมือในการสอบสวน
ไม่ใช่นั่งอยู่บนโรงพักแล้วรอชาวบ้านมายัดส่วยขอให้ช่วยนะคะ
มันเลยดูนิสัยไม่เข้ากับอาชีพ

คือในเมื่อมันเป็นนิยายจึงไม่มีความจำเป็นต้องขยายนิสัย
ขี้วีนตอกย้ำซ้ำๆ ทุกกรณี แต่ใช้บรรยายเป็นช่องความคิด
ในใจก็ได้ เพราะนี่ไม่ใช่ละครทีวีที่ต้องขยายนิสัยให้รู้ไปเลยว่า
ตัวไหนตัวดี ตัวไหนตัวร้าย ตัวไหนขี้วีน อย่างที่ผู้เขียนบ่นๆ
ประชดในนิยายนั่นแหละว่าตัวละครในทีวีทำมันแบ๊นแบน
..โง๊โง่...ก็เพราะต้องขยายนิสัยให้ชัด เพื่อละครที่มีเวลาจำกัด
แต่นิยายต่างกัน การอ่านทิ้งให้คนดูทำความเข้าใจได้
เพราะไม่มีกำหนดเวลานี่คะ แล้วพอเอาไปสร้างเป็นละคร
ตัวละครตัวนี้ถูกขยายความวีนเวอร์อยู่แล้ว ก็คงถูกขยาย
มากขึ้นไปอีกจนกลายเป็นติงต๊องไปแน่ๆ เลย


3.ชื่อตัวละครในโลกโบราณ เมืองเดียวกัน แต่มีชื่อทั้งแนว
พม่า(ปรันมา, มรันมา, อเลยา) ล้านนา(อินยา ,ปันแสง)
และชื่อคนภาคกลางประมาณยุคกรุงศรีฯ อย่าง จันทเทวี
ตกลงเมืองนี้ตั้งอยู่ตรงไหน? มีวัฒนธรรมนานาชาติจัง


4.ข้าศึกมาประชิดกำแพงเมือง ถึงขั้นต้องเทน้ำร้อนลงกำแพง
ไล่ข้าศึกแล้ว....แต่ เจ้าหลวงเมืองนี้ก็ยังไม่สั่งยกเลิกงาน
เทศกาล แถมเปิดประตูเมืองให้พ่อค้าต่างถิ่นเข้ามาขายของ
แม้จะบอกว่าตรวจค้นละเอียด แต่....ปกติมีสงครามขนาดนั้น
พ่อค้าแม่ขายคงหลีกเลี่ยงจะไปเมืองนั้นล่ะค่ะ แล้วที่สำคัญ
ถ้าเปิดประตูข้าศึกอาจทะลวงเข้ามาได้ตลอดเวลา ทำไมถึง
ยังเปิดประตูเมืองอีก?

ลองคิดในแง่ปกติอย่างเมืองไทยเจ้าฟ้ากัลยาฯ สิ้นพระชนม์
ยังงดงานรื่นเริงทุกอย่าง แต่ที่นี่ในภาวะสงครามกลับไม่งด
อันที่จริงแค่ไหว้เชงเม้ง เอ้ย บูชาพระเพ็งตามประเพณีก็พอ
งานรื่นเริงเปิดร้านขายของนี่มันออกจะผิดสภาวะบ้านเมืองมากๆ
ประชาชนยังมีอารมณ์ขายของเดินเล่น เผาเทียนเล่นไฟ
กันอีกเหรอ?


5.เมืองนี้เป็นเมืองประหลาด มีกำแพงเมืองชั้นเดียว
เอาซุงทุบประตูปุ๊บเปิดมาเจอเมืองเลย

ว่ามาถึงตรงนี้เด็กๆ ก็ถามว่าแล้วกำแพงเมืองมีกี่ชั้นคะ?
การเทน้ำร้อนลงกำแพงเพื่อรบนั่นมีจริงหรือเปล่า การอ่าน
นิยายแล้วพูดคุยกันก็ดีเหมือนกันนะคะ ตรงไหนที่หนังสือ
ไม่มีรายละเอียดให้ แล้วเด็กอยากรู้เราจะได้เสริมให้ได้
โดยไม่ไปจำผิดๆ เอาไปเขียนในข้อสอบ ครั้งก่อนก็
เรื่อง ‘จันทราอุษาคเนย์’ มีขำๆ กันเล็กน้อยเกี่ยวกับ
ความเชื่อและตำนานต่างยุคแต่มากระจุกอยู่รวมกันใน
เรื่องเดียวแต่ไม่ฮาเท่าสาปพระเพ็งเล่มนี้

ขอเล่าเกร็ดช่วงนี้เสริมในนี้เลยแล้วกันนะคะ ปกติแล้ว
กำแพงเมืองสมัยโบราณจะมี 3 ชั้น ชั้นแรกอยู่ห่างไกล
ตัวเมืองไปเหมือนดังเป็นขอบรั้วเมือง เรียกว่ากำแพงด่าน
ชั้นที่สองเป็นกำแพงในเมืองประชาชนจะอยู่ในชั้นนี้
และชั้นในสุดเป็นพระบรมมหาราชวังเรียกว่ากำแพงเวียงแก้ว
เปรียบให้ง่ายเข้ากำแพงเมืองชั้นนอกสุดคงเหมือนป้อมยาม
หน้าหมู่บ้าน ชั้นที่สองเป็นรั้วบ้านของเรา ชั้นที่ 3 คือผนัง
กำแพงบ้านเราเลยล่ะค่ะ ซึ่งถ้ากำแพงเมืองชั้นแรกโดนตีแตก
แสดงว่าเมืองอยู่ในขั้นวิกฤตแล้ว ข้าศึกต้องรุกเข้ามาถึง
ชั้นที่สองอย่างแน่นอน ซึ่งถ้าชั้นนี้แตกประชาชนจะเป็น
อันตราย การสู้ศึกยันกำแพงเมืองในชั้นนี้จึงเป็นศึกที่ซีเรียสมาก

ส่วนเรื่องการเทน้ำร้อนลงราดศัตรูที่กำแพงเมืองมีจริงหรือไม่?
มีค่ะ แต่มีข้อแม้ว่าเมืองๆ นั้นต้องเป็นเมืองขนาดเล็กและมี
ทางเข้าออกทางหน้าเมืองด้านเดียว(ไม่รวมถึงทางลับต่างๆ
ของเมือง) และต้องเป็นตรอกแคบ สามารถรับศึกได้ด้านเดียว
ทำให้ได้เปรียบด้านชัยภูมิ ไม่ต้องกังวลว่าจะถูกลอบตีจาก
กำแพงทิศอื่น แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูลักษณะภูมิประเทศด้วย
ว่าเมืองนั้นเป็นเมืองหันหลังชนเขา หรือมีแม่น้ำผ่านกลาง
เมืองหรือไม่ หากไม่มีแม่น้ำแล้ว จะไม่มีใครบ้าใช้น้ำร้อน
มาราดศัตรูหรอกค่ะ เพราะว่าน้ำจะขาดแคลน

เมื่อปิดเมืองห้ามเข้าออกทั้งน้ำและเสบียงอาหารอื่นๆ ก็จะ
ร่อยหรอไปด้วย เนื่องจากไม่สามารถเปิดประตูเมืองให้
ประชาชนออกไปทำนาที่นอกเมือง หรือไปตักน้ำเข้าเมืองได้
เสบียงจึงมีจำกัด บ่อน้ำใช้ในเมืองก็เช่นกันหากศัตรูหาตาน้ำ
หรือท่อนำน้ำพบ อาจจะวางยาพิษตายกันยกเมืองได้(เช่น
เหตุการณ์บ่อสามแสนที่กำแพงเพชร) การใช้สอยน้ำจึง
เป็นไปอย่างประหยัดหากเมืองไม่มีน้ำไหลผ่าน โดยมาก
จะใช้วิธีเอาหิน กรวด ทราย พร้อมกระทะไปคั่วบนกำแพงเมือง
แล้วโยนลงไปเลย หรือหากไม่พอจริงๆ บางทีก็เผาฟาง
หรือติดธนูไฟยิงไปด้วยซ้ำค่ะ การใช้วิธีราดน้ำเป็นวิธีที่ต้องดู
ทรัพยากรของเมือง ไม่ใช่สักแต่จะต้มน้ำราดศัตรูเดี๋ยวน้ำได้
หมดเมืองไม่มีกินกันพอดี

อีกอย่างกำแพงเมืองนั้นสูงราวตึก 2-3 ชั้น การหิ้วน้ำจำนวน
มากขึ้นไปเป็นเรื่องยากพอสมควรที่จะไม่ทำน้ำหก และค่อนข้าง
เป็นวิธีรบแบบแม่บ้าน หรือเมืองที่มีแต่ผู้หญิงในเมืองอย่าง
ท้าวท่านต่างๆ ในประวัติศาสตร์ ซึ่งไร้ซึ่งอาวุธ เลยเอา
เท่าที่หาได้ ทั้งหม้อ ไห กะลา ชาม มาดัดแปลงเป็นอาวุธหมด
และนั่นหมายความว่าทำลายเครื่องมือหุงหาอาหารแล้ว
จนตรอกจริงๆ ยอมตายพร้อมเมือง คล้ายกับตอนที่พระเจ้าตาก
กับศึกสุดท้ายที่ทุบหม้อข้าวทิ้ง ถ้าแพ้ก็ตายไม่ได้กินแล้วแบบนั้น
น่ะค่ะ


6.ในยุคพันปีก่อนตามที่ระบุในท้องเรื่อง แม้จะไม่ใส่ราย
ละเอียดลงไปมากก็ตาม...แบบนั้นเขียนเป็นแฟนตาซีไปเลย
ดีกว่าไหมคะ? ไม่ต้องพะวงเรื่องข้อมูลด้วย พันปีก่อนเป็น
ช่วงรุ่งเรืองของศาสนาพราหมณ์ มีการบูชาตรีมูรติ นับถือเทพเจ้า
ทางฮินดู พระอาทิตย์ พระจันทร์ ดวงดาว เป็นเหมือนศาสตร์
พยากรณ์ทำนายพืชผลการทำนาในปีนั้นๆ และใช้ในงานด้าน
สถาปัตยกรรม เช่น หลักฮวงจุ้ยโบราณ ลำดับขั้นของเทวาลัยชั้น
สูงสุดจะเรียงจากพระอาทิตย์ แสดงวิถีชีวิตคนยุคนั้น
ว่าแสงแดดมีส่วนสำคัญมากๆ ในกสิกรรม ดวงจันทร์และ
ดวงดาว ถือเป็นการเดินทาง ส่วนนาคอันหมายถึงน้ำ
จะรวมอยู่ในหลักฮวงจุ้ยนี่เสมอ เมืองใดที่มีความเชื่อเรื่อง
การบูชานาค ก็จะมีนาคปรากฏให้เห็นตามสถานที่นั้นๆ
เชื่อกันว่านาคก็ปรนนิบัติพระเจ้า จึงสร้างเทวาลัยหรือ
สถาปัตยกรรมเรียงตามอันดับธรรมชาติ แต่ไม่มีการ
เสริมดวงด้วยการบูชาอาทิตย์ จันทร์ ราหู อะไรเหมือน
สมัยนี้ เพราะถือว่าสรรพสิ่งทางธรรมชาติเหล่านี้เทพเจ้าเป็น
ผู้บันดาลให้ และเทพเจ้าเป็นผู้ดูแลดวงดาวเหล่านั้น
อีกที

จึงยังไม่พบว่ามีการบูชาพระเพ็ง หรือกษัตริย์สมมติตนเป็น
พระอาทิตย์มาจุติ ความเชื่อที่ว่ากษัตริย์คือบุตรแห่งดวงอาทิตย์
ในยุคเดียวกันนี้ มีปรากฏในทวีปอื่น เน้นในท้องที่ทะเลทราย
เช่น อียิปต์ ฮิปไทด์ จึงมีพิธีบูชายัญที่ใกล้เคียงกับถิ่นอุษาคเนย์
บ้านเรา ที่เรียกว่า พิธีพ่อข้าว-แม่ดิน ในไทยพิธีที่ใกล้เคียง
ที่สุดคงเป็นพ่อข้าวแม่ดินในยุคของตำนานนางนาค-พระทอง
ซึ่งแท้จริงแล้วเป็นเรื่องทางการเมืองโดยใช้ศาสนามาเป็นเหตุ
เข่นฆ่า ต่อมาพิธีบูชายัญหรือฆ่าพ่อข้าวจึงยกเลิกไป
ถูกแทนที่ด้วยตำนานกษัตริย์สมสู่กับวิญญาณนางนาคทุกคืน
วันเพ็ญ เป็นนัยยะทางการเมืองแสดงให้เห็นว่ากษัตริย์
มีอิทธิพลสูงกว่าฝ่ายศาสนา ต่อมาทางศาสนาจึงได้แต่งตั้ง
นางกัมพุชราชลักษมีหรือนางงามเมืองหลวง รั้งอำนาจฝ่าย
ศาสนา ซึ่งการเมืองแบบนี้ดำเนินมาอีกหลายร้อยปี จน
กระทั่งฝ่ายกษัตริย์แก้ไขด้วยการรวมเอาวิญญาณนางนาค
กับมหาเทวีของตนเองให้ควบตำแหน่งราชินีและนางนาค
ไปพร้อมๆ กับทีเดียว ตำนานนี้จึงแปรไปมาตามการเมือง
ในยุคสมัยนั้น ขึ้นอยู่กับว่าฝ่ายกษัตริย์หรือศาสนาจะมี
อิทธิพลสูงกว่า

ซึ่งตำนานนี้ค่อนไปทางเขมรมากกว่าไทย เมืองไทย
มีความเชื่อเรื่องธิดานาคอยู่ในภาคเหนือ ซึ่งเรารับ
อิทธิพลมาตรงนี้ ส่วนภูมิภาคอื่นๆ ตำนานก็เป็นไปทางอื่น
แต่ไม่มีตำนานสุริยะบุตรมาจุติในไทยหรือประเทศใกล้เคียง
ประเทศที่มีความเชื่อว่ากษัตริย์เป็นบุตรแห่งดวงอาทิตย์ที่อยู่
ในภูมิภาคนี้ที่สุดในเห็นจะเป็นประเทศญี่ปุ่นค่ะ ความเชื่อ
ที่ว่านรสิงห์ สีหบดี เป็นบุตรแห่งดวงอาทิตย์จึงจะเป็น
ความเชื่อที่ขัดแย้งกับยุคสมัยเป็นอย่างมาก


7.ชื่อคนในยุคโบราณ แต่ไหนแต่ไรมีความเชื่อว่าจะไม่ตั้งชื่อลูก
สูงเกินตัว ไม่งั้นผีจะมาเอาไป ชาวบ้านสามัญชนที่ไม่ใช่เจ้า
จึงตั้งชื่อลูกอย่างเรียบง่ายไม่เกินตัว แค่ นางดำ นางแดง ตาขาว
ไปตามเรื่อง ส่วนบุคคลที่เป็นเจ้าเชื้อสายกษัตริย์นั้น ในช่วง
พันกว่าปีก่อนจะไม่นิยมตั้งชื่อลูกเป็น อาทิตย์ จันทร์ ดวงดาว
สายรุ้ง นางฟ้า ตรงๆ ตัว แต่จะใช้วิธีเลี่ยง เช่น สัตตรุจน์
คือแสงทั้ง 7 อันหมายถึงรุ้ง แต่จะไม่ใช้คำว่ารุ้งตรงตัว จะมาในยุค
ประมาณ 6-700 ปีก่อน ชื่อตรงตัวเหล่านี้จึงปรากฏให้เห็นใน
ประวัติศาสตร์ และล้วนแต่เป็นชื่อเจ้าชั้นสูงมิใช่ชื่อสามัญชน
ชื่อเจ้านางจันทเทวีจึงดูจะล้ำยุคไป


8.ผู้เขียนไม่ได้อธิบายคำสาปของพระเพ็งออกมาให้ชัดเจน
รู้แค่ว่าผู้ถูกสาปเป็นอมตะโดนผีเจ้ากรรมนายเวรตามหลอน
เป็นระยะ แต่ไม่ทราบขอบเขตของคำสาปค่ะ


9. โหรสุเลวิน กับ แม่ทัพสีหสา ตอนหลังกลับมาเกิดแล้วคู่กัน
ชาติก่อนทั้งคู่เขม่นกัน ชาตินี้โหรที่เคยขัดคอเลยต้องเป็น
ฝ่ายยอมและหลงรัก เมื่อชาติที่แล้วเค้าแอบ Y กันเมื่อไร
เหรอคะ? (ทำไมอ่านไม่เจอล่ะ~กรี๊ด )


10. เจ้าหลวงปรันมาให้แม่ทัพติสสาซึ่งเป็นเขยหลวง
นำบรรณาการมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับข้าศึก แต่ว่า...
ไม่มีการเจรจาใดๆ ทั้งสิ้น พอกลับไปแล้ว เจ้านรสิงห์
กับพรรคพวกถึงค่อยมาเปิดดูว่าฝ่ายเมืองศรีพิศยา
(ชื่อเมืองเหมือนอยู่แถวภาคกลางใกล้กรุงศรีอยุธยา
มากกว่าภาคเหนือ) นำอะไรมาให้ แบบนี้ให้ทหารไพร่
ชั้นเลวหรือใครก็ได้หิ้วบรรณาการมาให้ก็ได้นี่คะ ไม่จำเป็น
ต้องเป็นเขยหลวง


11.เจ้านรสิงห์ไม่รับบรรณาการ เพราะอยากชนะให้เด็ดขาด
ซึ่งก็น่าพิศวงอีก...การยกทัพบีฑาอีกฝ่ายซึ่งยอมศิโรราบอยู่แล้ว
มันจะเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรมากไปหรือเปล่า เจ้านรสิงห์
นั้นดูจะถูกจำลองมาจากพ่ออยู่หัวบุเรงนอง แต่เบื้องหลังความ
สำเร็จของบุเรงนอง การทัพที่ดีต้องมีเสบียงซึ่งทางเมืองของ
ท่านเองไม่สามารถส่งเสบียงไปได้อย่างต่อเนื่องกับทัพที่ยก
ไม่หยุดไม่หย่อนมาหลายปีหรอก จึงใช้วิธีตีเมืองอื่นๆ แล้ว
บีบเอาเสบียงไปส่งทัพอีกที เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองเสบียงเมือง
ตนเอง เพราะในสมัยโบราณ ไม่สามารถทำนาได้ตลอดปี
ต้องเป็นฤดูกาล และการเก็บเกี่ยวก็ใช้แรงงานมนุษย์และ
สัตว์ล้วนๆ ไม่เหมือนสมัยนี้ ส่วนหนึ่งที่ทำให้บุเรงนองมีภรรยา
เป็นจำนวนมาก ไม่ใช่เพราะเจ้าชู้อย่างเดียว แต่เป็นการเชื่อม
ไมตรี หรือยึดเอาเจ้าหญิงเมืองนั้นมาเป็นตัวประกัน เพื่อให้
ประหยัดเสบียงในการรบ ถ้าเมืองไหนยินดีศิโรราบเช่นเดียวกับ
ศรีพิศยาในเรื่อง แล้วจะไปรบให้เปลืองเสบียงทำไม???

อีกทั้งเหตุผลในการรบ น่าจะจำลองมาจากฝรั่งเข้ายึดเมืองใน
สมัยล้านนา หัวเมืองล้านนาทั้งหมดจึงรวมเข้ากับเชียงใหม่
และยอมสยบให้แก่สยาม เพราะสยามเป็นประเทศเดียวที่ใช้
วิธีเมืองเครือญาติ ไม่ได้ลดเกียรติหรือทำลายประเพณีเมืองนั้น
เมืองเครือญาติศักดิ์ศรีต่างกับเมืองประเทศราชอยู่ไม่ใช่น้อย
เจ้าดารารัศมีจึงเป็นหมากที่เชื่อมสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศ
การเชื่อมเพื่อป้องกันเมืองที่อยู่ห่างไกลอย่างฝรั่ง หรือเมืองใต้
ในเรื่องแต่สิ่งที่นรสิงห์พูดมันดูเป็นข้ออ้างอันขัดแย้ง
และฟังไม่ขึ้นเอาเสียเลย


12.ฝ่ายเมืองศรีพิศยา นอกจากเจ้าหลวง พระนางน้อง
และญาติวงศ์ ดูเหมือนจะไม่มีเสนา อำมาตย์ อื่นๆ เลย
แม่ทัพก็มีคนเดียว???


13.ขวัญเมืองและดวงเมืองในเรื่อง....เป็นจุดที่ทำให้
ประหลาดใจแบบหนักๆ เจ้าหลวงย้ายดวงเมืองไปไว้
ในตัวเจ้านางจันทเทวี แต่จะให้เจ้านางไปแต่งงานกับ
ศัตรู???? แล้วย้ายขวัญเมืองไปไว้ในตัวแม่ทัพติสสา
แล้วแม่ทัพก็ไปรบ???? มันออกจะผิดปกติอยู่ไม่น้อย
แทนที่จะไว้ในที่ปลอดภัยถ้ามันสำคัญถึงขนาดทำให้
เมืองล่มได้ แต่กลับไว้ในมนุษย์???

เรามาดูกันก่อนดีกว่าขวัญเมืองหรือดวงเมืองคืออะไร?

ดวงเมือง...ก็ชะตาบ้านเมืองตอนที่ก่อตั้งเมือง ถ้าเป็น
สมัยนี้คือศิลาฤกษ์ก่อนสร้างตึก คนโบราณจะเก็บซ่อนไว้
ไม่ให้คนอื่นรู้วันเดือนปีเกิดเมือง เพื่อไม่ให้ใครทำคุณไสยฯ
แล้ว...ย้ายไปอยู่ในตัวคนได้ไง? เพราะอาจเป็นแค่แผ่น
จารทอง หรือศิลา???

ข้อสำคัญ ถึงศิลาหรือแผ่นจารทองจะถูกทำลายไป ก็ไม่ได้
หมายความว่า ดวงเมืองจะเปลี่ยนนะคะ ดวงเมืองจะเปลี่ยน
ก็ต่อเมื่อจำลองการตั้งเมืองใหม่ เพื่อเปลี่ยนดวงเมืองต่างหาก

ขวัญเมือง...ในทางประวัติศาสตร์และวรรณกรรม อาจตีได้
หลายอย่าง แต่หากเป็นคนย่อมหมายถึงจิต หรือ สติ
ขวัญเมืองจึงเป็นที่รวมจิตของเมือง ในทางขวัญและกำลังใจ
เช่น ประเทศไทยมีพระสยามเทวธิราชคุ้มครอง หากวันหนึ่ง
พระสยามฯนี้ถูกใครทุบทำลายไป ประชาชนอาจจะขวัญเสีย
วิตกกังวลว่าจะเกิดอาเพศ เป็นต้น

ขวัญเมืองในอีกทางอาจหมายถึงการทำอาคมเมืองลงในขวัญ
(วัตถุสมมติ) เช่น เสาหลักเมือง หรือแก้วมณี ของคู่บ้านเมือง
แล้วมีอาคมป้องกัน บางทีอาจจะมีการเชิญผีหลวง(หมายถึง
ผีบรรพกษัตริย์ปฐมวงศ์) ให้มาสถิตเป็นขวัญเมือง หรือมอบให้
ผีหลวงดูแลขวัญเมือง หรือแม้กระทั่งเชื้อพระวงศ์สักคนเสียสละ
ชีวิตเพื่อเป็นผีเมืองในพิธีเบิกเมืองด้วยซ้ำ ขวัญเมืองนี้จะถูก
เก็บซ่อน ไม่ในหิ้งหับที่ดี มีหออยู่เป็นที่เป็นทาง ก็จะฝังดิน
หรือไว้บนยอดเจดีย์ ไม่ให้ใครพบเห็น หรือทำลายได้
ขวัญเมืองเป็นส่วนหนึ่งของความเชื่อโบราณ ซึ่งหากมีวิบัติ
เกิดขึ้นขวัญเมืองแตกอาจมีพิธีชุบหรือเรียกขวัญกันใหม่
การทำลายขวัญเมืองทำให้อาคมเสื่อมผีหลวง ผีเมือง
ไม่รักษาเมืองนั้นก็เป็นส่วนหนึ่ง หรืออาจจะแตกไปใน
ความเชื่ออื่นตามภูมิภาคที่ตั้งเมืองนั้นค่ะ แต่การย้าย
ขวัญเมืองมาไว้ในคนซึ่งเป็นมนุษย์อายุขัยน้อยกว่า
เมืองเสียอีก ออกจะแหวกแนวและ...ประมาทชอบกล

หลังจากดูรูปการแล้วเมืองนี้อย่างไรเสียคงต้องแตก ด้วยการ
บริหารประหลาดของเจ้าหลวงปรันมานี่แหละ ไม่ต้องให้
นางอินยาไปทำคุณไสยฯ หรอกค่ะ อย่างไรเสียเมืองนี้แตกแน่ๆ


14.นรสิงห์ สีหบดี (คาดว่าแปลงมาจากชื่อ เนเมียว สีหบดี)
บุกเข้ามากวาดดินแดนทางเหนือทั้งหมดอยู่ใต้อาณัติด้วยข้อที่ว่า
เมืองใต้จะบุก เมืองเหนือควรรวมเป็นปึกแผ่น แล้วเจ้านรสิงห์จะ
รีบตีกันเองในภูมิภาค เพื่อเพิ่มโอกาสให้เมืองใต้เหรอคะ?


15.ตอนเป็นลุงนรสิงห์แล้ว เอ็นดูคฑารัตน์มาก ลักษณะการ
แสดงออกเหมือนเอ็นดูลูกหลาน บุคลิกดูแปลกและเปลี่ยน
จากเมื่อแรก หรือว่าเวลาผ่านมาพันปีเลยเปลี่ยนกันหว่า
แต่คนเป็นกษัตริย์ยิ่งระดับในตำนานยิ่งดุและมีบารมีสูง
แม่ทัพให้ความเคารพยิ่งสิ่งบูชาเหนือเศียร แต่นรสิงห์
แสดงออกเหมือนเอ็นดูลูกบุญธรรมมากกว่า แล้วคฑารัตน์
เองก็เล่นหัวลุงจนเหมือนลามปามซึ่งตรงนี้ก็ยกประโยชน์
ให้ผู้เขียนไปว่ากลับชาติมาเกิดนานแล้วจำไม่ได้
คฑารัตน์เลยไม่แปลกแต่ลุงนรสิงห์นี่สิแปลกค่ะ


16.ผู้เขียนไม่ได้ขยายแต่ปล่อยให้คนอ่านสันนิษฐานเอาเองว่า
ผู้กองพัทธยาตั้งใจเรียกคฑารัตน์มาเป็นทีมงาน เพราะไม่
อยากให้งานนี้สำเร็จด้วยบุคลิกไม่รู้จักกาลเทศะของเธอ
น่าจะเป็นอย่างนั้นแต่ผู้เขียนขาดการบรรยายน่ะค่ะ


17.ภาษาในเรื่องดูห้วนขึ้นกว่างานชิ้นก่อนๆ มาก และขาด
การบรรยายบริบทต่างๆ ในเรื่อง ลักษณะเมืองหรือแม้แต่
สาเหตุการเป็นไปของตัวละคร อย่างคำสาปของพระเพ็ง
หรือยกตัวอย่างเช่น บรรยายห้วนๆ ว่า รูปปั้นสิงห์อย่าง
เมืองเหนือ ให้คนอ่านไปเข้าใจเอาเอง แล้วสิงห์เมืองอื่น
รูปร่างหน้าตาอย่างไรเล่าคะ? มันเป็นการยกภาระให้คนอ่าน
ไปจินตนาการเองมากไปหรือเปล่าคะ? โดยมากแล้ว
นักอ่านมักจะได้เกร็ดความรู้ต่างๆ จากการอ่านนิยาย
ที่ผู้เขียนสอดแทรกเข้ามาในเรื่อง

หากนิยายเรื่องนี้เป็นถนนเข้าหมู่บ้านเพื่อให้ไปรับรู้
ความเป็นไปของคนในหมู่บ้านนั้นๆ ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน...
ก็ดูจะเหมือนถนนที่ผู้เขียนสร้างขึ้นจะเป็นหลุมโพรง
เป็นหล่มเสียเยอะ ผู้อ่านจะเดินทางเข้าไปก็ไม่สะดวกค่ะ

ภาษาผู้เขียนสั้นและห้วนและภาษาบรรยายเขียน
เป็นภาษาพูดไปเสียเยอะจนเหมือนอ่านนิยายแปล
ให้เดาจากที่ผู้เขียนเหน็บๆ ตัวละครและคนรอบตัวผู้เขียน
ลงในนิยาย สงสัยผู้เขียนจะอ่านนิยายแปลแนวชิทลิท
หรือโรมานซ์มากเกินไป เพลาๆ หน่อยแล้วกันค่ะ นิยาย
แต่ละชาติก็มีลักษณะต่างกันไป ยิ่งคนที่มีเอกลักษณ์
ในการเขียนอย่างกิ่งฉัตร ความเปลี่ยนแปลงจึงปรากฏ
ให้เห็นเยอะ ถ้าเทียบกับงานก่อนถือว่าเล่มนี้คะแนน
ลดฮวบฮาบเลยค่ะ

สายลมฯสงสัยว่าผู้เขียนดูละครทีวีมากไปด้วย ทั้งที่
บ่นเอียนๆ แต่ก็เผลอซึมซับมาใช้ในนิยาย(สายลมฯ
ไม่ได้รู้จักกับคุณกิ่งฉัตรเป็นการส่วนตัวแต่ แต่ในนิยาย
ช่วงที่คฑารัตน์บ่นเรื่องตัวละครที่ลุงสิงห์กำลังเล่าว่าน้ำเน่า
เหมือนละครทีวี ทำให้เข้าใจว่าคนเขียนคิดแบบนั้นอยู่)


ด้วยความเคารพในฐานะแฟนประจำนะคะ ลดๆ ลงหน่อย
ก็ดีค่ะ ลักษณะการเขียนประวัติศาสตร์คล้ายจำมา หรือดูมา
จากหนังละครหรือได้ฟังมา แต่ไม่ใช่การหาข้อมูล หรือการ
อ่านหนังสือประวัติศาสตร์โดยตรง ผลมันก็ออกมาอย่างที่
เห็นนั่นแหละค่ะ ลองหาที่ปรึกษาที่มีชำนาญทางด้านนี้
เพื่อให้การเขียนที่แม้จะเป็นเพียงเรื่องในจินตนาการให้มีมิติ
มากขึ้น หากคุณกิ่งฉัตรเป็นนักเขียนใหม่คงไม่ใช่เรื่องแปลก
เรียกว่าอยู่ในช่วงสะสมประสบการณ์ในการเขียน แต่การ
เป็นนักเขียนแถวหน้ายอดนิยม สายลมฯก็อดประหลาดใจ
ไม่ได้ หรืออาจจะเป็นที่ สายลมฯคาดหวังก่อนอ่านมากไป
ก็เป็นได้ เพราะงานเก่าๆ นั้นเป็นที่น่าประทับใจ หลายเรื่อง
เป็นเรื่องโปรดของสายลมฯไม่ว่าจะเป็น ด้วยแรงอธิษฐาน,
พรพรหมอลเวง,มายาตะวัน ฯลฯหรือแม้แต่งานหลังๆ อย่าง
แกะรอยรักก็ยังชอบค่ะ


นิยายเรื่องนี้ไม่ได้เลวร้ายหรอกค่ะ ก็สนุกตามสไตล์
กิ่งฉัตร แต่มันแสดงให้เห็นชัดว่าผู้เขียนไม่ถนัดงานแนว
โบราณหรืออิงประวัติศาสตร์ และไม่มีที่ปรึกษาด้านนี้จึงไม่มี
คนท้วงติงก่อนจะออกมารวมเล่ม รวมไปถึงเป็นขวัญใจของ
คนจำนวนมากก็ยากที่จะมีใครเอ่ยติติงมาตรงๆ เจ้าของบล็อก
จึงขออาสาติเพื่อก่อไว้ในบล็อกนี้ก็แล้วกันค่ะ บ่นมากไปหลาย
คนอาจจะหาว่าจ้องจับผิด ยืนยันว่าหากคุณมีพื้นทางด้าน
ประวัติศาสตร์มาก่อนนี่ไม่ใช่การจับผิดค่ะ ใครอ่านก็เจอก็เห็น
และความประหลาดมันมากเกินกว่าจะมองข้ามไปได้ เยอะจน
สายลมฯ อดไม่ได้นี่แหละค่ะ


เป็นรีวิวที่ยาวที่สุดที่เคยเขียนมา ชี้แจงอย่างละเอียดพร้อม
คำอธิบายแล้ว สายลมฯก็ยังอดลุ้นไม่ได้ว่าจะมีใครมาเกรียน
ในบล็อกไหม? โตๆ กันแล้วคุยด้วยเหตุผลนะคะ ขอร้อง
นิดหนึ่ง ยินดีรับฟังทุกข้อความนะคะ แต่อย่าเขียนประมาณ
ว่า “ก็มันเป็นเมืองในจินตนาการ จะเอาอะไรกับมัน
นักหนา”
จขบ.อุตส่าห์เขียนเสียยาว อย่าตอบแบบกำปั้น
ทุบดินประโยคเดียว เลยนะคะ...


เพราะว่าคนอ่านน่ะโลภเสมอไม่งั้นจะไม่เฝ้ารอผลงาน
ชิ้นใหม่หรอกค่ะ ในฐานะคนอ่านสายลมฯ มีสิทธิ์จะ
หวังใช่ไหมคะ?



=========================================

เขตเพิ่มเติมความคิดเห็น


ขออนุญาตอัพบล็อกเพิ่มเติมเจตนารมณ์ของสายลมฯ
หน่อยนะคะเนื่องจากไม่อยากให้เกิดความเข้าใจผิด
สายลมฯ นั้นมีความรู้สึกสองอย่างในการเขียนบล็อกนี้
หนึ่งคือในฐานะนักอ่านมีความคาดหวัง อีกประการคือ
รู้สึกไม่สบายใจกับสื่อที่ออกสู่คนจำนวนมาก มันจะทำให้
เกิดความเข้าใจผิดๆ จึงเขียนหน้าบล็อกนี้อัพขึ้นมา
มิใช่เพื่อจับผิดหรือทำลายชื่อเสียงของคุณกิ่งฉัตร ทั้งที่
คุณกิ่งฉัตรได้เขียนชี้แจงไว้หน้าคำนำแล้วว่าไม่ชำนาญ
เรื่องโบราณหรือประวัติศาสตร์แล้ว ยังมาโดนแจงสี่เบี้ย
แบบนี้เข้า สายลมฯจึงขอชี้แจงเพิ่มเติมนะคะ

ความไม่ถนัดไม่ชำนาญไม่ใช่ว่าไม่ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม
เหมือนเหมือนที่เวลาอาจารย์สั่งให้นักศึกษาไปทำรายงาน
นักศึกษาก็ไม่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องที่ต้องทำอยู่แล้ว จึงต้อง
ไปค้นหาข้อมูลมาประกอบรายงานยังไงล่ะคะ

"สื่อ" ที่ออกไปสู่มวลชนทั้งมีหลายรูปแบบ นิยายเองก็
ถือเป็นสื่อชนิดหนึ่ง สิ่งที่คุณกิ่งฉัตรเขียนมีคนจำนวนมาก
อ่าน จึงถือได้ว่าเป็นสื่อชนิดหนึ่ง ผู้เขียนอาจไม่ทราบว่า
มีเด็กจำนวนมาก ที่จำข้อมูลประวัติศาสตร์ในนิยายไปตอบ
ในข้อสอบ เพราะนิยายอย่างไรก็น่าอ่านมากกว่าหนังสือวิชาการ
นิยายบางเรื่องก็ถูกใช้เป็นหนังสืออ่านประกอบการเรียนการสอน
โดยที่ผู้สอนบางคนก็ไม่รู้ว่าข้อมูลในนิยายผิดด้วยซ้ำ เหล่านี้
จึงเกิดปัญหาผู้อ่านจำข้อมูลผิดๆ ไป และยิ่งถ้านิยายเรื่องนั้นๆ
ได้เป็นละครทางโทรทัศน์ ข้อมูลผิดพลาดเหล่านี้ยิ่งเผยแพร่
ออกไปมากขึ้นเท่านั้นและมีผลต่อคนจำนวนมาก

ยกตัวอย่าง เช่น นิยายเรื่อง "เจ้ากรรมนายเวร" ผู้เขียนผิดพลาด
เขียนว่าบางระจันอยู่อยุธยา(ซึ่งความจริงอยู่สิงห์บุรี) คนที่รับสื่อนี้
เข้าไปก็เชื่อตามนั้น ไม่ต้องห่างไกลหรอกค่ะเด็กที่บ้านนี่แหละค่ะ
แพ้ ป.4 ไปแล้ว ทั้งที่เรื่องบางระจันมีอยู่ในตำราเรียนประถมด้วยซ้ำ
แต่เมื่อเราเรียนไปนานๆ ก็หลงลืมได้ เพราะไม่ได้ใช้ในชีวิตจริง
และบางระจันสื่อออกมาตอกย้ำคนไทยทุกคนว่า ตีบางระจันได้
จึงเข้าตีกรุงศรีอยุธยาได้ จึงกลายเป็นบางระจันน่าจะอยู่ก่อน
ถึงพระราชวัง เป็นต้น และข้อมูลผิดๆ นี้ถูกส่งผ่านหน้าจอ
ไปทั่วประเทศยังมีผลกระทบ ทั้งที่ความจริงแล้วนิยายเรื่อง
เจ้ากรรมนายเวรสนุกมาก และมีธีมสอนใจอีกด้วย แต่ความ
ผิดพลาดเพียงเล็กน้อยกลายเป็นจุดด่างของนิยายเรื่องนี้ไปเลย

ผู้เขียนจึงต้องพยายามเขียนให้ข้อมูลถูกต้องที่สุด เพราะนี่
คือการรับผิดชอบต่อสังคม การที่จะบอกผู้อ่านจะบอกว่าอ่าน
โดยไม่เอาความถูกต้องขอแค่เรื่องสนุกเป็นใช้ได้ นั่นเพราะ
คุณเป็นคนอ่าน ความรับผิดจึงไม่เท่าผู้เผยแพร่สื่อค่ะ
แล้วก็มีคนมักง่ายขี้เกียจอ่านหนังสือเรียน ใช้เรียนลัดจาก
นิยาย หรือการ์ตูน มากเหมือนกันค่ะ

การเขียนติติงขึ้นมา มีด้วยเหตุผลประการนี้ การรักชอบ
นักเขียนไม่ใช่เรื่องแปลก การอ่านนิยายเรื่องหนึ่งแล้วชอบ
หรือไม่ชอบก็เป็นเรื่องปกติ คนเราย่อมต่างรสนิยมกัน
แต่การที่ข้อมูลในนิยายผิดพลาด มันเป็นคนละเรื่องกันค่ะ
ถ้าเขียนตามจินตนาการของตนเอง ไม่อิงสิ่งใดเลย
แล้วปล่อยเป็นแนวแฟนตาซีไป น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ดี
กว่าค่ะ ไม่อย่างนั้นแล้วอยากจะเขียนสิ่งที่มีจริงในเวลา
ของประวัติศาสตร์ แต่ไม่ดูเหตุผลและข้อมูล มันอาจส่งผล
กระทบกับสังคมอย่างคาดไม่ถึง โดยเฉพาะกับนักเรียน
นักศึกษาที่ต้องเรียนประวัติศาสตร์ค่ะ และคงมีแฟนคลับ
ของคุณกิ่งฉัตรเป็นจำนวนมากที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียน
อีกด้วย

ทั้งนี้สายลมฯ พูดด้วยเหตุผล ไม่ได้เกลียดชังหรือต้องการ
เหยียบย่ำซ้ำเติมนักเขียนนะคะ แต่เขียนขึ้นมาด้วยความ
นิยมคุณกิ่งฉัตรเป็นการส่วนตัว หวังจะให้นิยายของคุณกิ่งฉัตร
มีความสมบูรณ์มากขึ้น ทั้งเป็นเครดิตที่ดีแก่ตัวผู้เขียนและเป็น
ความบันเทิงที่มากขึ้นกับผู้อ่านอีกด้วย ยังไงสายลมฯ ก็จะติดตาม
ผลงานเรื่องอื่นๆ ต่อไปด้วยค่ะ

หวังว่าผู้ที่เข้ามาอ่านบล็อกนี้ จะเข้าใจสายลมฯ มากขึ้นนะคะ
ขอบคุณมากค่ะ ที่กรุณาอ่านจนมาถึงบรรทัดนี้



Create Date : 21 สิงหาคม 2551
Last Update : 24 สิงหาคม 2551 18:11:25 น. 17 comments
Counter : 1635 Pageviews.

 
จขบ.ความรู้ดีจังเลยค่ะ



โดย: ~:พุดน้ำบุศย์:~ วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:7:57:19 น.  

 
ง่า ผมกลับเห็นว่าการอ่านนิยายเป็นเรื่องประเทืองอารมณ์มากกว่าประเทืองสมองอยู่แล้ว

ไม่อยากให้คาดหวังอะฮะ ถ้าคาดหวังก็จะผิดหวัง หากมันเพี้ยนไปจากที่เราคิดเราคาด



โดย: Boyne Byron วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:10:44:41 น.  

 
ประทับใจคำอธิบายของ จขบ มากเลยค่ะ


โดย: กุลธิดา (kdunagin ) วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:11:23:20 น.  

 
เรื่องนี้ก็ขอสารภาพว่าอ่านแล้วแอบผิดหวังนิดหน่อยเหมือนกัน เพราะรู้สึกว่ามันสรุปง่ายเกินไป

ในแง่ข้อผิดพลาดทางประวัติศาสตร์นี่เราเฉยๆ นะคะ เพราะเราอ่านนิยายแบบไม่คาดหวังความถูกต้องอะไรอยู่แล้วง่ะ แต่พอมาเห็นรายละเอียดของ จขบ. ก็เหวอไปเหมือนกัน วิเคราะห์ได้ละเอียดมากๆ เลย

แล้วก็เห็นด้วยกับข้อ 17 ค่ะ ว่าเรื่องนี้ภาษาดูห้วนๆ กว่าเรื่องก่อนๆ นี้ ทำให้ไม่ประทับใจเท่าที่ควร พออ่านจบแล้วก็ อืมม์ ... จบแล้วนะ แค่นั้นเอง

ปกติเวลาอ่านนิยายจบแล้ว เราจะชอบเลือกตอนที่น่ารักๆ หรือซึ้งๆ มาอ่านซ้ำอีก แต่เรื่องนี้ไม่ได้รู้สึกอยากอ่านซ้ำค่ะ (แต่ก็หยิบมาอ่านซ้ำตอนที่บรรยายถึงชุดนอนพร้อมเข็มขัดลดพุงของพี่สาวนางเอกนะ)


โดย: lalabel วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:15:20:42 น.  

 
อ่า..ได้แต่อ่านรีวิว จึงไม่สามารถมีความเห็นได้ค่ะ

แต่ที่ผ่านมา ก็มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบนะคะ


โดย: สาวไกด์ใจซื่อ วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:17:27:51 น.  

 
กำลังอ่านนิยายอยู่พอดี
ก็เลยไม่ได้อ่านรีวิวทั้งหมด

ดูเหมือนว่าจะมีคำแก้ตัวอยู่ในคำนำแล้วว่า
ผู้เขียนไม่สันทัดแนวโบราณ จึงต้องสร้างเมืองสมมุติให้ยุคโบราณขึ้นแทน

อ่านนิยายจบจะกลับมาอ่านใหม่ค่ะ


โดย: นัทธ์ วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:20:07:07 น.  

 
รีวิวอย่างยาวมากกกก
ร่ายังไม่เคยอ่านเรื่องนี้เลยค่ะ แถมกลับมาเรียนก่อนเรื่องนี้พิมพ์รูปเล่มด้วย

เป็นแฟนนิยายของคุณกิ่งฉัตรเหมือนกันฮับ อย่างเช่นเรื่องสูตรเสน่หา, แกะรอยรัก, สืบลับรหัสรัก แล้วก็เรื่องของสามสาวทหารเสือด้วย ตอนนี้ร่ารออยากรู้เรื่องที่กำลังลงสกุลไทยด้วยค่ะ เสียดายว่ากลับมาเรียนแล้ว กระซิกๆ


โดย: Flora-Rara วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:20:33:06 น.  

 
โห รีวิวได้ดีมากๆเลยค่ะ อ่านแล้วเชื่อว่า จขบ.ติเพื่อก่อจริงๆ เสียงสะท้อนแบบนี้เราว่านักเขียนชอบนะคะ เพราะว่าเป็นไปในทางสร้างสรรค์
คนอ่านอย่างเราก็ชอบค่ะ เพราะนักเขียนที่รักจะได้ผลิตงานดีๆมีคุณภาพออกมาสม่ำเสมอ

ส่วนตัวแล้วชอบเรื่องนี้น้อยกว่าเรื่องอื่นๆของกิ่งฉัตรเหมือนกันค่ะ แต่ด้วยความลำเอียงส่วนตัว ก็เลยยังรักกิ่งฉัตรต่อไปอยู่ดี 555


โดย: kitnan วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:22:33:25 น.  

 
ภาษาผู้เขียนสั้นและห้วนและภาษาบรรยายเขียน
เป็นภาษาพูดไปเสียเยอะจนเหมือนอ่านนิยายแปล
ให้เดาจากที่ผู้เขียนเหน็บๆ ตัวละครและคนรอบตัวผู้เขียน
ลงในนิยาย สงสัยผู้เขียนจะอ่านนิยายแปลแนวชิทลิท
หรือโรมานซ์มากเกินไป เพลาๆ หน่อยแล้วกันค่ะ นิยาย
แต่ละชาติก็มีลักษณะต่างกันไป ยิ่งคนที่มีเอกลักษณ์
ในการเขียนอย่างกิ่งฉัตร ความเปลี่ยนแปลงจึงปรากฏ
ให้เห็นเยอะ ถ้าเทียบกับงานก่อนถือว่าเล่มนี้คะแนน
ลดฮวบฮาบเลยค่ะ


เห็นด้วยกะประโยคนี้มากที่สุดคะ หลานคิดว่าเรื่องนี้ผิดหวังมากๆๆ อุตส่าห์ตั้งหน้สรอคอย แต่เรื่องมันแปร่งๆๆ หลานน่ะงงตั้งแต่ตอนที่อยู่ดีๆผู้กองพัทธ์ก็เด่นขึ้นมาตอนที่ผู้เขียนกำลังพูดถึงประวัติเมืองโบราณอยู่ (ขอโทษที่หวังว่ามันจะมีอะไรมากกว่านี้นะคะ) เหมือนถูกน็อคกลางอากาศ


โดย: karnkraw วันที่: 22 สิงหาคม 2551 เวลา:22:37:11 น.  

 
โห ข้อติเยอะเชียว ถ้าในเรื่องประวัติศาสตร์ คุณกิ่งฉัตรออกตัวไว้ก่อนแล้วค่ะว่าไม่ถนัดเลยสมมติเอา ส่วนตัวแล้วเราอ่านหนังสือแบบไม่คาดหวังอะไรปล่อยความคิดและอารมณ์ตามตัวอักษร (ความจริงไม่มีความรู้ด้านวรรณศิลป์น่ะค่ะ) เรื่องสาปพระเพ็งเรามองว่าเด่นตรงพล็อตที่เอาสามประเด็นมารวมเอาไว้ในเรื่องเดียว ซึ่งความยาวของเรื่องคงน้อยไปเลยทำให้ความผสมกลมกลืนของเรื่องสะดุดและห้วน บางประเด็นขาดเหตุผลไป แต่ถ้าอ่านเอาเนื้อเรื่องโดยรวมก็สนุกดี

เท่าที่อ่านนิยายของคุณกิ่งฉัตรมา เราสัมผัสได้อย่างนึงคือคุณกิ่งฉัตรพยายามหาพล็อตที่แหวกแนวออกไปไม่ค่อยเน้นบทกุ๊กกิ๊กแต่คนอ่านเข้าใจได้เอง สาปพระเพ็งเท่าที่อ่านจากที่คุณกิ่งฉัตรเกริ่นไว้ น่าจะเป็นเรื่องที่คุณกิ่งฉัตรลองเขียน ซึ่งเมื่ออ่านจบแล้วเรายังคิดๆเลยว่าน่าจะยากนะเขียนเรื่องนี้ ยังไงก็ตามอ่านผลงานของคุณกิ่งฉัตรต่อไปค่ะ


โดย: Chulapinan วันที่: 23 สิงหาคม 2551 เวลา:10:59:38 น.  

 
โอ...ยิ่งอ่านรีวิวยิ่งอยากอ่านหนังสือค่ะ ชอบอ่านนิยายของคุณกิ่งฉัตรเหมือนกันแต่ไม่ถึงกับเป็นแฟนพันธุ์แท้...มีหลายเล่มที่ชอบ แต่ก็มีหลายเล่มที่เฉย ๆ เล่มนี้ที่อยากอ่านเพราะชื่อน่ะค่ะ ตั้งได้ฟังดูขลัง ๆ ดี...

เดี๋ยวถ้าได้อ่านแล้วจะดูว่าคิดเหมือนจขบ.หรือเปล่านะคะ


โดย: แม่ไก่ วันที่: 23 สิงหาคม 2551 เวลา:14:33:33 น.  

 
อ่านรีวิวของ จขบ.แล้วรู้สึกว่า ละเอียดดีจังเลย เราอ่านแล้วก็จับไม่ได้ทุกจุดอย่างนี้ค่ะ

แต่ส่วนตัวแล้ว ไม่ได้คาดหวังอะไรมากเท่าไร เพราะเหตุที่เป็นเมืองสมมุติ (มิได้มีเจตนาจะเกรียนแต่อย่างใดนะคะ) จะใส่ให้เป็นอย่างไรก็ได้ เราไม่เห็นถึงความจำเป็นว่าจะต้องถูกต้องตามหลักการณ์ตามที่ จขบ. กล่าว เพราะไม่ใช่เรื่องอิงประวัติศาสตร์ที่ต้องมีความถูกต้องตามบันทึก อย่างเช่นบางระจันตามที่ยกตัวอย่างมานั้น เราเห็นด้วยว่าไม่สมควร

เรื่องข้อมูลเราไม่ค่อยใส่ใจเท่าไร แต่ยอมรับว่าหลาย ๆ อย่างอ่านแล้วขัด ๆ อาจเป็นเพราะความรู้ดั้งเดิมของเราที่ได้รับมาเป็นอย่างหนึ่ง แต่ในหนังสือเป็นอีกอย่างหนึ่ง


แต่ยังคงคิดว่าเป็นเรื่องที่อ่านสนุกอีกเรื่องนึงค่ะ อ่านแบบไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะมันคือนิยายน่ะนะ (ในความคิดเรา) ไม่ได้อ่านสารคดีอยู่นี่น้า

ไม่ได้จะต่อว่าหรือคัดค้านแต่อย่างใด นี่ก็เป็นเพียงความเห็นของเราเท่านั่นนะคะ เป็นอีกคนที่เป็นแฟนนิยายของกิ่งฉัตร ได้อ่านความคิดเห็นหลากหลายก็เปิดความคิดเราดี

อ่านแล้วแอบขำกับข้อ 9
ก็ไม่เห็นจำเป็นต้องแอบ Y กันนี่คะ เรื่องของการกลับชาติมาเกิด แค่ความผูกพันก็ทำให้มาเจอกันได้แล้ว


โดย: กระปุกกลิ้ง วันที่: 25 สิงหาคม 2551 เวลา:12:02:04 น.  

 
ผมชอบเรื่องาปพระเพ็งครับ อิอิ แล้วจะมาบอกทำไมเนอะ ...


โดย: เมฆชรา วันที่: 27 สิงหาคม 2551 เวลา:15:56:00 น.  

 
เราชอบเรื่องนี้น่ะคะ
อ่านสนุกดี รวดเดียวจบ
แต่เราก็วิเคราะห์ละเอียดไม่เป็นค่ะ
แต่ว่ารู้สึกว่า กิ่งฉัตรอาจจะเขียนแนวนี้ได้ ไม่ลื่นไหลเท่ากับแนวปกติแบบทันสมัย


โดย: MIKIkaa วันที่: 7 กันยายน 2551 เวลา:10:57:39 น.  

 
เพิ่งอ่านจบแล้วรีวิวไว้ที่บล็อกเราค่ะ อ่านแล้วไม่ค่อยชอบเหมือนกัน มันขาดๆ เกินๆ ในความรู้สึกยังไงไม่รู้

เพิ่งมานึกออกว่ามันไม่ match ตรงไหนก็ตอนมาอ่านคอมเม้นท์ของ จขกบ. ข้างบนนี่ล่ะค่ะ

ปล.แอบไม่ชอบเรื่องนี้ค่ะ ถ้าเทียบกะเรื่องอื่นๆ ของคุณกิ่งฉัตร อย่าง ด้วยแรงอธิษฐานหรือตามรักคืนใจ



โดย: หมวยแก้มป่อง วันที่: 10 กันยายน 2551 เวลา:19:03:40 น.  

 
เพิ่งได้อ่านสาปพระเพ็ง ของคุณกิ่งฉัตรจบ ก็เลยเข้ามาดูว่ามีใครพูดถึงเรื่องนี้ว่ายังไงบ้าง ขออนุญาตคิดต่างจาก จขบ. เพราะว่าเรากลับชอบความมีมิติของเรื่องนี้มิติในการผนวกกันของอดีต ปัจจุบัน ผ่านตัวละครที่ได้รับมอบบทบาทต่างวาระ ต่างกรรมกัน นี่ขนาดว่าเราไม่ใช่เด็ก ๆ แล้ว ยังอมยิ้มไปกับความเป็นคฑารัตน์เลยค่ะ อาจจะเพราะเราชอบเรื่องสูตรเสน่หาด้วยมั้งคะ เราว่าคนแบบนี้แหละค่ะถึงจะอยู่ในสังคมแบบนี้ได้ไม่แคร์ว่าใครจะชอบหรือไม่ชอบ เอาไปนินทาลับหลังน่ะได้ แต่อย่าให้รู้นะ แม่เอาตาย!!!

จขบ.รีวิวได้ละเอียดดีมากเลยค่ะ เราอ่านแล้วยังคิดเลยว่าตอนเราอ่านนี้ทำไมมองข้ามประเด็นที่คุณแจงมาไปหมดเลยหว่า อิอิ อาจจะเพราะเรามองสิ่งที่เกิดขึ้นเป็นลักษณะของ “เมืองสมมุติ” จากที่คุณกิ่งฉัตรได้ออกตัวไว้ตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว และเราก็ “เข้าใจ” เมืองสมมุติที่เป็นที่มาของเรื่องราวต่าง ๆ แอบคิดตามจขบ.ว่า เอ...ชื่อต่างชาติต่างวัฒนธรรมแบบนี้นี่ถ้ามารวมกันได้นี่คงได้สร้างประวัติศาสตร์กันใหม่แน่ ๆ เลยค่ะ ดีนะคะว่ามันเป็นแค่ “เมืองสมมุติ” เลยไม่ได้มีอยู่จริง ๆ ส่วนเรื่องความเชื่อนั้นว่ากันไม่ได้ค่ะจริง ๆ เราก็อาจให้คุณกิ่งฉัตรอธิบายอีกนิดเกี่ยวกับคำสาปแต่อ่านไปอ่านมา เรากลับได้ข้อคิดว่าถึงจะอยู่ใกล้กันแค่ข้ามฝั่งความเชื่อในเรื่องเดียวกันยังต่างกันเลยค่ะ ความเป็น “เมืองสมมุติ” นี่ช่วยได้เยอะ ใครจะบอกได้ละคะว่าแท้ที่จริงมันต้องเป็นยังไงจากสิ่งที่ “สมมติ” ขึ้นมา จุดที่มีมิติของเรื่องนี้คือตรงนี้แหละค่ะ ความที่สิ่งที่เกิดไม่สามารถใช้มาตรฐานปกติวัดได้ใครจะไปรู้ได้ว่า ณ เวลานั้น ตอนนั้น สิ่งที่เกิดขึ้นคืออะไร และอะไรเป็นจุดให้ต้องตัดสินใจเช่นนั้น

จะด้วยความเข้าใจในเรื่อง “เมืองสมมติ” หรือเพราะว่าเราไม่มีพื้นทางประวัติศาสตร์เท่าไหร่นักก็ไม่รู้นะคะเลยไม่ได้คิดว่ามันต้องสมจริงสมจัง มีกำแพงเมืองกี่ชั้น อิอิ ทั้งที่จริง ๆ แล้วยังแอบคิดเร้ยว่าเมืองสมมติของพระเจ้าปรันมาน่าจะมีปืนใหญ่เนอะ ไว้สู้กับข้าศึก

นิยายก็เป็น “สื่อ” อย่างที่คุณบอกจริง ๆ นั่นแหละค่ะ สื่อนั้นจะสื่ออะไรไปถึงใครได้ก็ต่อเมื่อคนรับสื่อหยิบเอาสิ่งนั้นขึ้นมาใช้ ขนาดหลานน้อยเรานะคะชอบดูจังเลยการ์ตูนเนี่ย พอถามเค้าว่า “น้องพีครับ ดูแต่อุลตร้าแมนจนจะแปลงร่างให้ป้าดูได้แล้วนะลูก” น้องพีกลับตอบว่า “ป้านี่ อุลตร้าแมนมันเป็นการ์ตูนนะพีจะแปลงร่างเหมือนการ์ตูนได้ไง” แหะๆ โดนหลานย้อนซะอึ้งเลยค่ะป้าอย่างเรา เด็กสมัยนี้ฉลาดค่ะเขาเลือกที่รับสิ่งต่าง ๆ ที่ได้เห็นได้ยินได้ฟัง แม้แต่การศึกษาประวัติศาสตร์จากนิยายก็เช่นกัน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น “ความฉลาด” ในการเลือกของเด็กแต่ละคนย่อมขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดูด้วยเช่นกัน อ้าวคุยไปคุยมา เอาหลานมาเผาซะแล้วเรา

ความจริงเข้ามาหาเพื่อนที่ชอบนิยายคล้าย ๆ กันจุดประสงค์ที่อ่านนิยายคืออยากสร้างความบันเทิงคลายเครียดให้กับตัวเองน่ะค่ะ ไม่อย่างนั้นคงไปนั่งดูสารคดี หรือไปดูหนังแล้วจับประเด็นมาวิจารณ์ที่เฉลิมไทยแทนแล้วล่ะค่ะ ความมีเหตุมีผลขึ้นอยู่กับการกำหนดและวางมาตรฐานใจของแต่ละคนค่ะ แต่ละคนมีจุดสมดุลไม่เท่ากัน
ดั้งนั้นขึ้นอยู่กับเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของคนรอบตัวนั่นแหละค่ะ

ขอบคุณจขบ.นะคะที่เปิดมุมมองในแบบที่เราไม่เคยได้มองมาก่อน คุณละเอียดดีมาก ๆ เลยค่ะตีแผ่แบบทุกประเด็นนี่ถ้าคุณไม่ออกตัวว่าคุณติเพื่อก่อ คุณมีเหตุมีผลสนับสนุนในความไม่สมเหตุสมผลทางความคิดของคุณเราต้องคิดว่าคุณต้องไม่ใช่แนวนักอ่านนิยายของคุณกิ่งฉัตรแน่ ๆ เลยค่ะ

ปล. ด้วยความเคารพเราไม่รู้สึกว่า สาปพระเพ็ง มัน “ขาด” หรือ “เกิน” ตรงไหนคงไม่แปลกไปใช่ไหมคะ



โดย: พ่อมดน้อยหัวใจมอมแมม วันที่: 6 ตุลาคม 2551 เวลา:17:56:04 น.  

 
สนุกดี ได้ความรู้ด้วย วิจารณ์ได้ดีนะครับ ไม่ต้องกลัวว่าเราโจมตีนักเขียนหรอก บางทีคนเขียนได้มาอ่านอาจต้องขอขอบคุณคุณก็ได้ แล้วเรื่องใหม่ของเขาในแนวนี้ก็อาจจะดีขึ้น


โดย: c (chaiwatmsu ) วันที่: 26 มิถุนายน 2552 เวลา:22:24:22 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

สายลมที่พริ้วไหว
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




เป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด
แต่ชีพจรรองเท้าทำให้ต้อง
เดินทางบ่อยๆ ตั้งแต่มาเรียน
ป.ตรีที่เชียงใหม่ แล้วไปต่อ
ป.โท ไกลบ้านถึงออสซี่ กลับมา
ก็ยังไม่ได้ปิ๊กเจียงฮายบ้านเกิด
แต่มาทำงานที่กรุงเทพมาเป็น
สิบปีแล้ว ความฝันสูงสุด คือ
กลับไปอยู่เชียงราย แล้วเมื่อไร
จะได้ไปฟะ...



Friends' blogs
[Add สายลมที่พริ้วไหว's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.