สวัสดีค่ะ ภาระหน้าที่ทำให้ต้องเดินทางไกลมาถึงบัวโนสไอเรส แต่ยังคิดถึงเพื่อนบล็อกทุกคนนะค่ะ

ขอเชิญชาวไทยร่วมส่งเสด็จสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ สู่สวรรคาลัย... ส่งนางฟ้ากลับสวรรค์...




ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้มีการไว้อาลัยงานพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นเวลา 3 วัน คือ วันที่ 14 - 16 พฤศจิกายน 2551 นี้ พร้อมขอความร่วมมือสถานบันเทิงงดจัดกิจกรรมบันเทิง และขอให้สถานีโทรทัศน์ทุกช่อง ดูแลรูปแบบรายการให้มีความเหมาะสมก่อนแพร่ภาพออกอากาศ และให้หน่วยงานราชการลดธงครึ่งเสา และไม่กำหนดให้เป็นวันหยุด


น้อมรำลึก เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา ... เชษฐภคินี แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


ข่าวในพระราชสำนัก รายงานหลังการเสด็จสู่สวรรคาลัยของ พระพี่นาง พระพี่นางเธอ สมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวง นราธิวาสราชนครินทร์ เหล่าพสกนิกรชาวไทย ... อ่าน ข่าว พระพี่นาง ประวัติพระพี่นาง พระพี่นางเธอ สมเด็จพระพี่นาง พระราชประวัติพระพี่นาง พระราชประวัติพระพี่นางเธอ ได้ที่นี่ค่ะ





ตลอดเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา พสกนิกรชาวไทยได้ประจักษ์แก่ใจกันดีว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ได้ทรงปฏิบัติงานถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีด้วยพระวิริยะอุตสาหะยิ่ง เพื่อแบ่งเบาพระราชภาระ ทำให้ทรงคลายพระราชกังวล และวางพระราชหฤทัย นอกจากงานอันเป็นพระราชกิจแล้ว พระกรุณาธิคุณที่ได้พระราชทานแก่ประชาชนทุกหมู่เหล่ายังปรากฏเป็นอเนกอนันต์ จึงนับได้ว่า ทรงเป็นเจ้าฟ้าองค์สำคัญของราชวงศ์ไทย ที่อุทิศพระองค์เพื่อประโยชน์สุขแห่งปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ประสูติเมื่อวันอาทิตย์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2466 ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ทรงมีพระนามในสูติบัตรเมื่อแรกประสูติว่า เมย์ ตามเดือนที่ประสูติ ทรงเป็นพระธิดาพระองค์แรกในสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี อีกทั้งยังทรงมีพระอนุชาเป็นพระมหากษัตริย์ไทยถึง 2 พระองค์ คือ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้พระราชทานนามให้ว่า หม่อมเจ้ากัลยาณิวัฒนา จากนั้นใน พ.ศ.2470 พระบาทสมเด็จ พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงสถาปนาเป็น พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากัลยาณิวัฒนา และใน พ.ศ.2478 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ทรงเฉลิมพระเกียรติเป็น สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยา ณิวัฒนา ครั้น พ.ศ.2538 ในโอกาสที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ 6 รอบ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ สถาปนาพระอิสริยศักดิ์ เป็นเจ้าฟ้าต่างกรมฝ่ายในตามธรรมเนียมราชประเพณีเป็นพระองค์แรกในรัชกาล ทรงพระนามว่า สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์





สืบสานพระราชปณิธาน

สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ทรงปฏิบัติพระราชกิจแทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในหลายวาระ ตลอดจนโดยเสด็จสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อทรงประกอบพระกรณียกิจต่างๆในทุกท้องถิ่นอันทุรกันดารทั่วทุกภูมิภาค ภาพประทับใจที่คุ้นเคยและอยู่ในความทรงจำของประชาชนชาวไทยเรื่อยมา จนถึงทุกวันนี้คือ เมื่อครั้งที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ยังทรงเจริญพระชนม์ชีพ ได้เสด็จฯไปทรงเยี่ยมเยียนราษฎรตามท้องถิ่นทุรกันดารอยู่เสมอ พร้อมกับทรงนำแพทย์อาสาไปให้การรักษาผู้เจ็บป่วย โดยหลายครั้งจะมีสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ตามเสด็จอยู่เคียงข้าง จนเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีได้เสด็จสู่สวรรคาลัยแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ก็ทรงรับช่วงสืบสานพระราชปณิธานเรื่อยมา โดยทรงรับเป็นองค์อุปถัมภ์องค์กรต่างๆ และก่อตั้งองค์กรใหม่ๆของพระองค์เอง รวม 63 มูลนิธิ ล้วนแต่เป็นพระกรณียกิจที่ทรงใฝ่พระทัยทำนุบำรุงเพื่อความเป็นอยู่อันดีของประชาราษฎร์





ด้านการศึกษา

เมื่อสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอฯ เสด็จนิวัตประเทศไทยใน พ.ศ.2493 หลังสำเร็จการศึกษาปริญญาตรี ด้านวิทยาศาสตร์ สาขาวิชาเคมี จากมหาวิทยาลัยโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และทรงศึกษาต่อด้านวรรณคดีกับปรัชญาด้วยความสนพระทัย สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงทราบดีว่า พระธิดาโปรดการเป็นครูมาแต่ทรงพระ เยาว์ ได้รับสั่งแนะนำให้ ทรงงานเป็นอาจารย์ จึงทรง รับงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนภาษาฝรั่งเศส ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ทรงสอนวิชาสนทนาภาษาฝรั่งเศส วิชาอารยธรรมฝรั่งเศส และวิชาวรรณคดีฝรั่งเศส

นอกจากนี้ ยังทรงรับเป็นอาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทรงเป็นผู้อำนวยการภาษาต่างประเทศ กับหัวหน้าสาขาวิชาภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศส ทรงจัดทำหลักสูตรปริญญาตรีภาษาและวรรณคดีฝรั่งเศสจนสำเร็จ ใน พ.ศ.2516 อย่างไรก็ดี เนื่องจากพระภารกิจด้านอื่นๆเพิ่มมากขึ้นตามลำดับในปี พ.ศ.2519 จึงทรงลาออกจากตำแหน่งอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเสด็จเป็นองค์บรรยายพิเศษตามมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วประเทศ

ต่อมา เมื่อทรงทราบว่าคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขต ปัตตานี ขาดแคลนอาจารย์ เพราะอยู่ในจังหวัดห่างไกล มีปัญหาด้านความปลอดภัย ก็ได้พระราชทานพระเมตตาเสด็จสอนวิชาภาษาฝรั่งเศส โดยประทับอยู่ในวิทยาเขตปัตตานี เช่นเดียวกับอาจารย์อื่นๆ

นอกจากจะพระราชทานพระอนุเคราะห์ แก่สถาบันการศึกษาอย่างสม่ำเสมอแล้ว สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังทรงงานด้านวิชาการอันมีคุณูปการ ต่อวงการศึกษาของไทยมากมาย อีกทั้งยังทรงให้ความสำคัญกับการศึกษา วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ตลอดจนสนพระทัยโครงการจัดส่งเยาวชนไทย ไปร่วมแข่งขันโอลิมปิกวิชาการ ทั้งคณิตศาสตร์, ฟิสิกส์, เคมี, คอมพิวเตอร์ และชีววิทยา โดยพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ และเงินกองทุนสมเด็จย่าเพื่อช่วยเหลือเยาวชนไทย จนสามารถนำเหรียญรางวัลกลับมาถวาย สร้างเกียรติประวัติแก่ประเทศชาติ ขณะเดียวกัน ยังทรงมีพระกรุณารับเป็นองค์นายกกิตติมศักดิ์ และองค์อุปถัมภ์ของสมาคม มูลนิธิกองทุนเกี่ยวกับครู สตรี เด็กอ่อน และโรงเรียนหลายแห่ง พร้อมทั้งพระราชทานเงินทุนสำหรับสร้างโรงเรียน และเป็นทุนการศึกษาแก่นักเรียนเสมอมา





ด้านการอ่านและการเขียน

ทรงสนพระทัย การอ่านและการเขียนมาแต่ทรงพระเยาว์ แม้ ขณะทรงศึกษาชั้นประถมปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนราชินี ได้ทรงอ่านหนังสือภาษาไทยเท่าที่จะทรงหาได้ แต่ในเวลานั้นหนังสือสำหรับเด็กยังมีน้อย จึงทรงอ่านหนังสือพิมพ์แทน เมื่อทรงเจริญพระชนมายุก็สนพระทัยหนังสือด้านวรรณคดี, ภาษาศาสตร์, ศิลปวัฒนธรรม, โบราณคดี, ประวัติศาสตร์ และวิทยาศาสตร์

ในด้านการเขียน ขณะพระชนมายุราว 9 พรรษา ได้ทรงชวนพระสหายในวังสระปทุมเขียนเรื่องและออกวารสาร รื่นรมย์ ต่อมาสมเด็จพระบรมราชชนนี ได้ทรงสนับสนุนให้ทรงอ่านนิทานภาษาอังกฤษ แล้วเรียบเรียงเรื่องที่ทรงอ่าน ภายหลังได้จัดพิมพ์ในชื่อเรื่อง นิทานสำหรับเด็ก แจกในงานวันคล้ายวันประสูติในสมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ความสามารถด้านการนิพนธ์เป็นที่ประจักษ์จากผลงานมากมาย อันประกอบด้วย พระนิพนธ์เกี่ยวกับพระราชวงศ์ 11 เรื่อง, พระนิพนธ์แปล 3 เรื่อง, พระนิพนธ์สารคดีเชิงท่องเที่ยว 10 เรื่อง และพระนิพนธ์บทความเชิงวิชาการ 1 เรื่อง


ศิลปวัฒนธรรม

ทรงสนับสนุนศิลปะและการแสดงทางวัฒนธรรมต่างๆ ทั้งของไทยและต่างประเทศ ทั้งยังทรงเป็นแบบอย่างให้ประชาชนเห็นความสำคัญของศิลปวัฒนธรรม โดยโปรดเสด็จเยือนสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์, โบราณคดี, พิพิธภัณฑ์ และแหล่งท่องเที่ยว บ่อยครั้งจะทรงแนะนำเรื่องที่พึงเอาใจใส่ อยู่เนืองๆ อาทิ ทรงแนะนำให้เจ้าหน้าที่เตรียม พร้อมที่จะถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจในประวัติความเป็นมา ความสำคัญ และลักษณะของสถานที่แต่ละแห่งอยู่เสมอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ยังพอพระทัยที่จะเผื่อแผ่สิ่งที่ทรงรู้เห็นแก่ผู้อื่น ทรงใช้กล้องบันทึกภาพที่ทรงสนพระทัยด้วยพระองค์เอง แล้วทรงนำภาพฝีพระหัตถ์มาจัดทำ เป็นพระนิพนธ์เผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน ทั้งในรูปของหนังสือ และวีดิทัศน์ ทรงเป็นครูผู้ชี้นำประชาชนให้เห็นความสำคัญของประวัติ-ศาสตร์ไทย และมรดกโลกเสมอมา


ด้านการแพทย์และสาธารณสุข

จากการตามเสด็จสมเด็จพระบรมราชชนนี ไปทรงเยี่ยมเยียนและพระราชทานความช่วยเหลือแก่ประชาชนในท้องถิ่นห่างไกล โดยเฉพาะในด้านสุขอนามัย ตลอดจนทรงส่งเสริมการพัฒนาการรักษาพยาบาลโรคต่างๆอย่างต่อเนื่อง สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงสืบทอดพระราชปณิธานด้านการแพทย์และสาธารณสุขจากสมเด็จพระ บรมราชชนนีอย่างแน่วแน่ โดยทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ ของโรงพยาบาลหลายแห่ง รวมถึงมูลนิธิการแพทย์ เพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ยากไร้ ไม่ว่าจะเป็น มูลนิธิโรคไตแห่งประเทศไทย, มูลนิธิเด็กอ่อนในสลัม, มูลนิธิเด็กโรค หัวใจ, มูลนิธิขาเทียม รวมถึงกองทุนสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เพื่อพัฒนาการพยาบาล และมูลนิธิแพทย์อาสาสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี

ตลอดเวลาที่เสด็จปฏิบัติพระกรณียกิจ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้ทรงสังเกตความเป็นอยู่ของราษฎร ทรงสอบถามปัญหา และทรงแนะนำให้รู้จักปฏิบัติตนให้ถูกต้องเพื่อป้องกันโรคภัย ทั้งยังทรงมีพระประสงค์ให้เด็กด้อยโอกาสมีพัฒนาการ ทั้งร่างกายและจิตใจ เพื่อให้ประเทศไทยมีประชากรที่มีคุณภาพ ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงตระหนักถึงปัญหาในชุมชนแออัด ได้เสด็จเยี่ยมชุมชนแออัดหลายแห่งในกรุงเทพฯเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อกระตุ้นให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้อง สนใจดูแลและพัฒนาชุมชนนั้นๆอย่างเป็นรูปธรรม

สมดังกับที่ทรงเป็น รุ้งงาม แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ผู้ทรงอุทิศพระองค์อย่างมิรู้ เหน็ดเหนื่อยเพื่อปวงประชาราษฎร์


แก้วกัลยา ดอกไม้ พระพี่นาง สื่อพระเมตตาผู้พิการ


แก้วกัลยา ดอกไม้ พระพี่นาง ที่สื่อพระเมตตาผู้พิการ และ แก้วกัลยา เป็นชื่อดอกไม้ตามที่ พระพี่นาง พระพี่นางเธอ สมเด็จพระพี่นาง สมเด็จพระพี่นางเธอ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ ได้พระราชทาน โดย แก้วกัลยา เป็นดอกไม้แห่งสัญลักษณ์แก่คนพิการไทยทั่วประเทศ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการ

"...แก้วกัลยาทรงคุณค่าเหนือจิตใจ

คือดอกไม้แห่งความรักและการแบ่งปัน

องค์พระพี่นางพระราชทานเป็นมิ่งขวัญ

ให้ผองผู้พิการไทยทั้งปวง

...ดอกไม้ฟ้า แห่งกรุณา ประทานลงมาแสนชื่นใจ

ดั่งดอกไม้จากเทวาลัยจากแดนสรวง

ดอกไม้ฟ้า แก้วกัลยา แทนใจทั้งปวง

แทนความรักความเป็นห่วงความชื่นชม

...ขาดแขนขาหรือดวงตามองไม่เห็น

ใช่จะลำเค็ญใช่จะทุกข์หรือตรอมตรม

ยังมีหัวใจสู้ต่อไปอย่างสุขสม

คือชีวิตที่ชื่นชมโลกงดงาม..."





...นี่เป็นเนื้อหาของ "บทเพลง" ที่มีชื่อว่า "แก้วกัลยา" ประพันธ์ เนื้อร้องและทำนองโดย ประภาส ชลศรานนท์ เผยแพร่ครั้งแรกทางทีวีในรายการคุณพระช่วย เมื่อวันที่ 2 พ.ค. 2549 โดยทางบริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ร่วมกับสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยฯ จัดรายการพิเศษเทิดพระเกียรติเนื่องในวันคล้ายวันประสูติของ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ เพื่อนำเสนอเรื่องราวพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทย โดยเฉพาะแก่กลุ่มคนไทยที่เป็น "คนพิการ"

อย่างไรก็ดี "แก้วกัลยา" ใช่เพียงเป็นชื่อบทเพลงเท่านั้น หากแต่ยังเป็นชื่อ "ดอกไม้" ตามที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ได้พระราชทานด้วย โดยเป็นดอกไม้เพื่อใช้เป็นสัญลักษณ์แก่คนพิการไทยทั่วประเทศ และแทนความหมายที่คนพิการใช้รำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา ต่อพสกนิกรผู้ด้อยโอกาส

กับความเป็นมาของ "ดอกแก้วกัลยา" นั้น ข้อมูลในอินเทอร์ เน็ต พ.ต.ศิริชัย ทรัพย์ศิริ แห่งสมาคมคนพิการทางการเคลื่อนไหวสากล อธิบายไว้ว่า...เป็นดอกไม้ประดิษฐ์ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงพระกรุณา โปรดเกล้า พระราชทานนาม เพื่อใช้เป็น "ดอกไม้แห่งสัญลักษณ์ เพื่อเป็นสิริมงคลแก่คนพิการ"

"ดอกแก้วกัลยา" นี้ สุริยัน อริยวงศ์โสภณ ในฐานะประธานกรรมการโครงการดอกแก้วกัลยา ก็บอกไว้ว่า...มิใช่ดอกไม้ที่มีอยู่จริงในธรรม ชาติ หากแต่เป็นดอกไม้ที่เกิดจากจินตนาการ เกิดจากดอกไม้ 2 ชนิดด้วยกัน คือ "ดอกแก้ว" และ "ดอกแก้วเจ้าจอม" ที่มีกลีบดอกสีฟ้าคราม ซึ่งดอกแก้วทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นดอกไม้ เป็นพันธุ์ไม้ยืนต้นที่แข็งแรง ใบสวยงาม ออกดอกเป็นพวง มีความหมายถึงคนเราทุกคนมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียว

ข้อมูลจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระบุไว้ว่า...การคิดค้นประดิษฐ์ "ดอกแก้วกัลยา" ขึ้นนี้ เริ่มจาก พล.อ.สิงหา เสาวภาพ รองประธานสภาสังคมสงเคราะห์ฯ และประธานคณะกรรมการพัฒนาคนพิการขณะนั้น ได้มอบหมายให้ วิไลวรรณ ลายถมยา และ พนิดา ชอบวณิชชา กรรมการจัดงานวันคนพิการ ทำการออกแบบ และให้คนพิการศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ จัดทำเพื่อนำขึ้นทูลเกล้า ถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ เพื่อทรงเลือกรูปแบบ วัสดุ และสีของดอกไม้






มีการยึดหลักสำคัญคือ ความปลอดภัยในการผลิต อุปกรณ์ที่ใช้ต้องราคาถูกและหาง่าย ซึ่งผู้ออกแบบได้เลือกกระดาษสาเป็นกลีบดอกและ ใบ เพราะกระดาษสาสามารถประดิษฐ์เป็นดอกไม้นานาชนิดได้โดยไม่ต้องใช้ เครื่องรีดไฟฟ้า เพียงใช้มือบิดเบา ๆ ก็จะได้รูปที่ต้องการ ซึ่งกระดาษสาผลิตจากเปลือกไม้สาที่มีอยู่มากทางตอนเหนือของประเทศไทย มีราคาถูก จึงมีคุณสมบัติเหมาะสมกว่าการใช้วัสดุอื่น

"ดอกแก้วกัลยา" ถูกประดิษฐ์ขึ้นเพื่อส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ทรงมีพระดำรัสให้ฝึกอบรมคนพิการ เพื่อประดิษฐ์ดอกแก้วกัลยาเป็นอาชีพ รวมทั้งจัดจำหน่ายเพื่อนำรายได้ไปดำเนินงานพัฒนา และส่งเสริมอาชีพคนพิการในองค์กรคนพิการทั่วประเทศ

หลังจากทรงพระราชทานนาม และมีพระดำริให้ดอกแก้วกัลยาเป็นดอกไม้สัญลักษณ์คนพิการ ทรงมีพระดำรัสให้ฝึกอบรมวิชาชีพคนพิการเพื่อประดิษฐ์ดอกแก้วกัลยา ให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว

และเมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2547 ศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการได้มีหนังสือขอพระราชทานพระอนุญาตนำดอกแก้วกัลยาจดลิขสิทธิ์ 2 ฉบับคือ...1.ในนามสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ โดยทรงมอบให้คณะกรรมการส่งเสริมอาชีพฯ เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ และ 2.ในนามศูนย์ส่งเสริมอาชีพและพัฒนาคนพิการ สภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ทั้งนี้และทั้งนั้น "ดอกแก้วกัลยา" ในด้านหนึ่งมีความหมายเชิงเปรียบเทียบประดุจคนไทยเราทุกคนมีน้ำใจเป็นหนึ่งเดียว และในอีกด้าน "ดอกแก้วกัลยา" ยังมีความหมายโดยรวมที่สำคัญยิ่งคือ.....

"ดอกไม้จากนางแก้วที่มีน้ำพระหฤทัยสดใส ให้แสงสว่างอบอุ่น กับมวลหมู่คนพิการในแผ่นดินไทย ดั่งน้ำพระหฤทัยจากสมเด็จพระเจ้า พี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์"


วันพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพฯ

งานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ จะเริ่มต้นในวันศุกร์นี้ และจะมีพระราชพิธีต่อเนื่องไปทั้งสิ้น 6 วัน คือตั้ง แต่วันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2551 โดยในวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 เป็นวันงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ซึ่งจะจัดขึ้นอย่างสมพระเกียรติ ในโอกาสนี้ประชาชนชาวไทยจะหลั่งไหลมาร่วมงานกันอย่างคับคั่งเพื่อน้อมรำลึกถึงพระกรุณาธิคุณที่พระองค์ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยมาโดยตลอดพระชนม์ชีพ ซึ่งงานพระราชพิธีจะมีการปิดการจราจรหลายเส้นทางในรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ดังนั้นประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมงานหรือสัญจรผ่านไป-มา ควรศึกษาเส้นทางจราจรเพื่อความสะดวกก่อนออกเดินทาง

โดย พล.ต.ต.ภาณุ เกิดลาภผล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กำกับดูแลงานจราจร แนะว่า ถนนที่ปิดการจราจรทั้งหมดไม่อนุญาตให้รถทุกชนิดผ่านเข้าออก ตั้งแต่เวลา 00.01 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 จนกว่าจะเสร็จพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ มีจำนวน 16 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ถนนราชดำเนินใน 2.ถนนราชินี 3.ถนนหน้าพระธาตุ 4.ถนนจันทร์ 5.ถนนมหาราช 6.ถนนหน้าพระลาน 7.ถนนหับเหย 8.ถนนหลักเมือง 9. ถนนสนามไชย 10.ถนนกัลยาณไมตรี 11.ถนนสราญรมย์ 12. ถนนท้ายวัง 13.ถนนพระพิพิธ 14.ถนนเจริญกรุงตั้งแต่แยกถนนสนามไชยถึงถนนอัษฎางค์ 15.ถนนเชตุพน และ16.ซอยเศรษฐการ โดยเส้นทางนี้ส่วนใหญ่จะเป็นสถานที่ราชการและวัด มีบ้านเรือนประชาชนเฉพาะบริเวณท่าเตียนและท่าพระจันทร์เท่านั้น ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งจะออกบัตรผ่านให้ประชาชนที่ต้องเข้า-ออก บริเวณดังกล่าว

นอกจากนั้นหลังเวลา 05.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกายน 2551 ยังมีการปิดการจราจรบนถนนเพิ่มอีก 18 เส้นทางแต่อนุญาตให้รถเมล์ผ่านเข้า-ออกได้ ประกอบด้วย 1.ถนนราชดำเนินกลาง 2.ถนนราชดำเนินนอกตั้งแต่แยกผ่านฟ้าจนถึงแยกวิสุทธิกษัตริย์ (แยก จปร.) 3. สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า 4.ถนนสมเด็จพระปิ่นเกล้า ตั้งแต่สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้าแยกถนนอรุณอมรินทร์ 5.ถนนจักรพงศ์ 6.ถนนตะนาว 7.ถนนดินสอ 8.ถนนประชาธิปไตย 9.ถนนสามเสน ตั้งแต่ ถนนวิสุทธิกษัตริย์ (แยกบาง ขุนพรหม) ถึงแยกถนนพระสุเมรุ (แยกบางลำพู) 10. ถนนพระสุเมรุ 11.ถนนอัษฎางค์ ตั้งแต่แยกถนนราชดำเนินกลางถึงแยกถนนเจริญกรุง 12.ถนนเฟื่องนคร 13.ถนนพระอาทิตย์ 14.ถนนนครสวรรค์ตั้งแต่แยกจักรพรรดิพงษ์ถึงแยกผ่านฟ้า 15.ถนนหลานหลวงตั้งแต่แยกจักรพรรดิพงษ์ (แยกหลานหลวง) ถึงแยกผ่านฟ้า 16.ถนนมหาไชย ตั้งแต่ถนนราชดำเนินกลางถึงแยกถนนบำรุงเมือง (แยกสำราญราษฎร์) 17.ถนนบริพัตร ตั้งแต่แยกถนนบำรุงเมืองถึงแยกถนนดำรงรักษ์และ 18.ถนนดำรงรักษ์ ตั้งแต่แยกผ่านฟ้าถึงแยกถนนจักรพรรดิ พงษ์ โดยปิดจนกว่างานพระราชพิธีจะเสร็จพระราชพิธี พล.ต.ต.ภาณุ กล่าว

พร้อมกับแนะว่า สถานที่จอดรถของประชาชนที่มีบัตรจอดนั้น มีทั้งสิ้น 10 จุด ประกอบด้วย 1.พระบรมวงศานุวงศ์ องคมนตรี คณะรัฐ มนตรี ทูตานุทูต และระดับ วีไอพี จอดในพระบรมมหาราชวัง 2.สมาชิกราชสกุลมหาสาขาต่าง ๆ จอดในถนนเจริญกรุง ถนนเศรษฐการ, ถนนเชตุพน 3.ผู้แต่งเครื่องแบบเต็มยศมาโดยรถบัส จอดในถนนหับเหย, ถนนหลักเมือง 4.รถขนส่งทหาร/เจ้าหน้าที่ร่วมในขบวนแห่ จอดในถนนราชินี, วัดราชบพิธฯ 5.คณะกรรม การ/เจ้าหน้าที่/ผู้สื่อข่าวจอด รถ ในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 6.ข้าราชการที่สังกัดกระทรวง กรมใดที่ใกล้เคียงบริเวณท้องสนามหลวงให้จอดในกระทรวงหรือกรมนั้น ๆ 7.เจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง จอดในถนนมหาราช 8.ผู้บังคับบัญชาสำนักงานตำรวจแห่งชาติและผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำศูนย์ปฏิบัติการร่วมจอดในถนนพระจันทร์ 9.เจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติหน้าที่ จอดในถนนสราญรมย์ และ 10.เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจจอดในจุดใกล้เคียงกองรักษาการณ์ และที่รวมพลที่กำหนด นอกจากนี้ จะไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นที่ไม่มีบัตรผ่านนำรถเข้ามาจอดในบริเวณดังกล่าว ด้วย

ส่วนสถานที่ห้ามรถจอดทุกชนิด ตั้งแต่เวลา 05.00 น. ของวันที่ 15 พฤศจิกา ยน 2551 จนกว่าพระราชพิธีจะแล้วเสร็จ ทางรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กำกับดูแลงานจราจร กล่าวว่า จะมีถนนที่ห้ามจอดรถทุกชนิดจำนวน 22 เส้นทาง ประกอบด้วย 1.ถนนอัษฎางค์ตลอดสาย 2.ถนนพระพิทักษ์ 3.ถนนบ้านหม้อ 4. ถนนเฟื่องนคร 5.ถนนตะนาว 6.ถนนเจริญกรุง ตั้งแต่แยกถนนอัษฎางค์ถึงแยกถนนตรี เพชร 7.ถนนบำรุงเมือง ตั้งแต่แยกถนนอัษฎางค์ถึงแยกถนนจักรพรรดิพงษ์ 8.ถนนบุญศิริ 9.ถนนดินสอ 10.ถนนมหาไชย ตั้งแต่ถนนราชดำเนินกลางถึงแยกถนนหลวง 11. ถนนพระสุเมรุ 12.ถนนจักรพงศ์ 13. ถนนสามเสน ตั้งแต่แยกพระสุเมรุถึงแยกถนนวิสุทธิกษัตริย์ 14.ถนนประชาธิปไตย 15. ถนนบวรนิเวศน์ 16.ถนนสิบสามห้าง 17.ถนนนครสวรรค์ ตั้งแต่แยกผ่านฟ้าจนถึงแยกถนนกรุงเกษม 18. ถนนหลานหลวงตั้งแต่แยกผ่านฟ้าถึงแยกถนนกรุงเกษม 19.ถนนวิสุทธิกษัตริย์ 20.ถนนจักรพรรดิพงษ์ 21.ถนนวรจักร และ 22.ถนนตีทอง

สำหรับวันที่ 14 และ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2551 งานพระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุและงานพระราชพิธีพระราชกุศลพระอัฐิ ณ พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และเชิญพระโกศพระอัฐิ ประดิษฐาน ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท จะไม่มีการปิดถนน ส่วนพระราชพิธีเก็บพระอัฐิวันที่ 16 พฤศจิกา ยน 2551 จะปิดถนนราชดำเนินในและถนนหน้าพระลาน ตั้งแต่เวลา 08.00 น. โดยหลังเสร็จพระราชพิธีรถจะผ่านได้ตามปกติ และวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 เวลา 16.30 น. พระราชพิธีบรรจุพระสรีรางคาร ณ อนุสรณ์สถานรังสีวัฒนา วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม จะปิดเฉพาะถนนราชดำเนินใน ถนนสนามไชยและถนนราชบพิธหลังเสร็จพิธีจะเปิดให้รถวิ่งได้ตามปกติ.

ขสมก.จัดรถเมล์บริการฟรี 6 จุด

การอำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่จะเดินทางไปร่วมงานพระราชพิธีวางดอกไม้จันทน์ตามซุ้มต่าง ๆ รอบบริเวณท้องสนามหลวงนั้นทาง ขสมก.ได้จัดรถโดยสารประจำทางเพื่อให้บริการประชาชนฟรี จำนวน 6 จุด ประกอบด้วย

จุดที่ 1 อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ด้านภัตตาคารพงหลี

จุดที่ 2 วงเวียนอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) ด้านถนนลาดหญ้า

จุดที่ 3 สนามศุภชลาศัย บริเวณหน้าอาคารนิมิบุตร

จุดที่ 4 สนามม้านางเลิ้ง

จุดที่ 5 ต่างระดับราชพฤกษ์ตัดถนนบรมราชชนนี

จุดที่ 6 สถานีรถไฟหัวลำโพง

รถโดยสารประจำทางที่ให้บริการทั้ง 5 จุดจะบริการรับ-ส่งตามทางไปจนกระทั่งสุดปลายทางที่ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ยกเว้นจุดที่มาจากทางต่างระดับราชพฤกษ์ตัดถนนบรมราชชนนี จะสิ้นสุดที่บริเวณสะพานพระปิ่นเกล้า


ครม.ถวาย 'พระกัลยาณมิตราจารย์' สมัญญาพระพี่นางเธอฯ

ครม.ได้ให้ความเห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอถวายพระสมัญญาแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า “พระกัลยาณมิตราจารย์” ซึ่งหมายความว่าพระอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตร ที่ประเสริฐ ล้ำเลิศด้วยคุณธรรมความเป็นครู เพื่อให้ครูได้ใช้เป็นแนวทางยึดมั่นในการประกอบวิชาชีพและเทิดพระเกียรติให้ปรากฎ และเพื่อสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณด้านการศึกษา ที่ทรงมีต่อประเทศและปวงชนชาวไทย


เปิดชื่อวัดถวายดอกไม้จันทน์

กรมศิลป์เร่งจัดทำดอกไม้จันทน์ 7 ช่อ สำหรับ"ในหลวง-ราชินี" และพระบรมวงศานุวงศ์ สมเด็จพระเทพฯเสด็จฯ 13 พ.ย.ทรงร่วมแทงหยวกและร้อยตาข่ายดอกไม้ ประดับยอดองค์พระจิตกาธานถวายสมเด็จพระเจ้าพี่นางฯ รัฐบาลถวายพระสมัญญาพระพี่นางฯ "พระกัลยาณมิตราจารย์" อ่านสดุดี 14 พ.ย. เปิดจำหน่ายวันแรกชาวบ้านแห่จอง เปิดรายชื่อวัดทั่วประเทศให้ประชาชนถวายดอกไม้จันทร์

อาจารย์บุญชัย ทองเจริญบัวงาม เจ้าหน้าที่บริหารงานในพระองค์ ระดับ 5 ฝ่ายพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง ผู้ควบคุมเครื่องสด และดูแลช่างเครื่องสด ประกอบพระจิตกาธาน ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ให้สัมภาษณ์ เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 11 พฤศจิกายน ว่าขณะนี้งานช่างเครื่องสดดำเนินการไปแล้ว 20% และในวันที่ 13 พฤศจิกายนนี้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จะเสด็จฯที่สโมสรข้าราชบริพารเป็นครั้งแรก เพื่อทอดพระเนตรความเรียบร้อยของเครื่องสดต่างๆ ที่จะนำไปประดับพระจิตกาธาน พร้อมกันนี้จะทรงร่วมแทงหยวก และจะทรงร้อยตาข่ายดอกไม้สำหรับประดับยอดองค์พระจิตกาธานด้วยพระองค์เองด้วย

ทั้งนี้ อาจารย์บุญชัยกล่าวอีกว่า สำหรับช่างแทงหยวกจะเป็นช่างจากจังหวัดเพชรบุรี 28 คน เดินทางมาพร้อมกับต้นกล้วยตานี 84 ต้น ที่จะใช้แกะสลัก มาถึงที่สโมสรข้าราชบริพารในเวลา 07.00 น. ซึ่งเมื่อมาถึงแล้ว ช่างแทงหยวกจะเข้าสักการะพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท จากนั้นจะทำพิธีไหว้ครู ก่อนที่จะแกะสลักหยวกกล้วย โดยลวดลายจะเน้นลวดลายลูกฟักช่องกระจกเป็นหลัก เพื่อให้ถูกต้องตามราชประเพณี

อาจารย์บุญชัยยังกล่าวถึงงานเครื่องสดเพิ่มเติมอีกว่า เครื่องสดทั้งหมด ประกอบด้วย 3 แผนก คือ 1.งานช่างแทงหยวก 2.ช่างแกะสลักของอ่อน 3.ช่างดอกไม้สด โดยเจ้าหน้าที่ที่เป็นช่างเครื่องสด มาจากหลายหน่วยงาน ได้แก่ เจ้าหน้าที่ฝ่ายพัฒนาบุคลากรด้านศิลปะ กองศิลปกรรม สำนักพระราชวัง เจ้าหน้าที่เขตพระราชฐานฝ่ายใน คณะอาจารย์ นักเรียน ทั้งใหม่และเก่า จากวิทยาลัยในวังชาย วิทยาลัยในวังหญิง รวมทั้งข้าราชการจากกระทรวงศึกษาธิการที่เกษียณอายุ รวมประมาณ 120 คน

"งานช่างเครื่องสดกำหนดเสร็จสิ้น 100% ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 05.00 น. เพื่อนำทั้งหมดไปประกอบที่พระจิตกาธาน พระเมรุ ท้องสนามหลวง ในเวลา 11.00 น. และต้องเสร็จภายในเวลา 18.00 น. นอกจากนี้ ยังนำดอกแก้วกัลยาสำหรับปักที่ฐานพระจิตกาธาน ประดิษฐ์จากดอกกล้วยไม้สีขาวนำมาดูดสีฟ้า ต่อช่อกับก้านมันสำปะหลัง และมีใบแก้วเป็นใบเลี้ยง จำนวน 1,200 ดอก ขณะนี้แล้วเสร็จ 800 ดอก"

"เครื่องสลักของอ่อน ได้แก่ มะละกอดิบ สำหรับแกะสลักใบไม้ ฟักทองแก่ สำหรับแกะสลักเป็นพระนามย่อ ก.ว. สำหรับประดับที่หน้าพระโกศจันทน์ ดอกกุหลาบ สัตว์ใหญ่แห่งป่าหิมพานต์ตัวแทน 3 โลก ประกอบด้วย พญานาค ช้าง และปักษี รวมกันอยู่ในลูกเดียวกัน เรียกว่า คชปักษีนาคา แครอต สำหรับแกะสลักเป็นดอกรวงข้าว และเครื่องประกอบพระจิตกาธานอื่นๆ ได้แก่ ฉัตรทองฉลุลายกระดาษทองอังกฤษ 5 ชั้น จำนวน 201 คัน สำหรับประดับพระจิตกาธานบริเวณชั้นรัดเกล้า จำนวน 7 ชั้น, นรสิงห์ ตกแต่งด้วยกลีบบานไม่รู้โรยย้อมสีแดง จำนวน 12 ตัว และเทวดาอัญเชิญเครื่องสูง 4 ชนิด จำนวน 4 องค์ ซึ่งทั้ง 3 สิ่งนี้ เสร็จเรียบร้อยแล้ว"

อ.บุญชัยกล่าวด้วยว่า เครื่องสดทุกอย่างคัดเลือกจากแหล่งที่มีคุณภาพมากที่สุด โดยเฉพาะดอกไม้สด เพราะต้องเก็บไว้หลายวัน แครอตจากโครงการหลวง จ.เชียงใหม่ มะละกอดิบจาก จ.ราชบุรี และฟักทองแก่จาก อ.แปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา เมื่อแกะสลักออกมาแล้วจะสวยงามสมพระเกียรติมากที่สุด สำหรับการดูแลรักษาหลังจากที่นำเครื่องสดทั้งหมดประดับที่พระจิตกาธาน บนพระเมรุ ท้องสนามหลวงแล้ว จะมีเจ้าหน้าที่ฉีดน้ำเย็นทุกๆ 4 ชั่วโมง

สำหรับหมายกำหนดการพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ทางสำนักพระราชวังแจ้งว่า ในวันที่ 14 พฤศจิกายน เวลา 17.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะเสด็จพระราช ดำเนินไปยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง เพื่อทรงประกอบพระราชพิธีพระราชกุศลออกพระเมรุ

ส่วนในวันที่ 15 พฤศจิกายน เวลา 07.00 น. สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จฯยังพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง ทรงประกอบพระราชพิธีเชิญพระโกศออกพระเมรุ และในเวลา 16.30 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ เสด็จพระราชดำเนินเพื่อทรงประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ โดยทั้งสองพระองค์จะเสด็จขึ้นพระเมรุ พระราช ทานเพลิงพระศพ ก่อนเสด็จพระราชดำเนินกลับ จากนั้นเวลา 22.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ จะเสด็จฯพระราชทานเพลิงพระศพจริง

ด้าน น.อ.อาวุธ เงินชูกลิ่น ประธานคณะออกแบบและจัดสร้างพระเมรุ ในงานพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กล่าวถึงการจัดทำดอกไม้จันทน์ว่า มอบหมายนายนิยม กลิ่นบุบผา และนายพิจิตร นิ่มงาม นายช่างศิลปกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จัดทำดอกไม้จันทน์สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ทรงใช้ในการพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ ในเวลา 22.00 น. ซึ่งจะจัดทำในรูปแบบเหมือนครั้งงานถวายพระเพลิงพระบรมศพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 12 พฤศจิกายนนี้

นายพิจิตร นิ่มงาม กล่าวว่า ได้ออกแบบดอกไม้จันทน์ให้มีลักษณะเป็นช่อ รูปแบบลายซ้อนไม้ ซึ่งเลียนแบบการซ้อนไม้จากการสร้างพระโกศจันทน์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ โดยจัดทำทั้งหมด 7 ช่อ เรียงลำดับขนาดจากใหญ่ไปเล็ก แบ่งเป็นช่อใหญ่ 2 ช่อ สำหรับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และขนาดช่อเล็ก จำนวน 5 ช่อ สำหรับพระบรมวงศานุวงศ์

ส่วนบรรยากาศพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ในพระบรมมหาราชวัง ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มีประชาชนเข้าสักการะพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ ตั้งแต่เวลา 08.30-16.00 น. จำนวนมากจนแถวยาวไปถึงบริเวณหน้าพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท โดยเวลา 11. 00 น. นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี นักดนตรีชื่อดังได้นำขลุ่ยไม้นางพญางิ้วดำซึ่งใช้เวลาประดิษฐ์และค้นหานาน 9 ปี มาบรรเลงเพลง "แผ่นดินสะอื้น" ซึ่งแต่งขึ้นสดๆ

สำหรับยอดเงินที่ประชาชนร่วมถวายโดยสำนักพระราชวังนำเข้าบัญชี "ทุนสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์" ในวันนี้รวม 730,583.25 บาท รวมยอดเงินทั้งหมดจำนวน 160,749,356.67 บาท

วันเดียวกัน เวลา 14.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาลชั่วคราว ท่าอากาศยานกรุงเทพ นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า เห็นชอบตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอถวายพระสมัญญาแด่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ว่า "พระกัลยาณมิตราจารย์" หมายถึง พระอาจารย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรที่ประเสิรฐ เนื่องจากทรงเป็นผู้มีคุณูปการด้านการศึกษาของคนในประเทศอย่างหาที่สุดไม่ได้

ทั้งนี้ นายธงทอง จันทรางศุ เลขาธิการสภาการศึกษาแห่งชาติ ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมว่า ประเพณีปฏิบัติที่ผ่านมาในการถวายสมัญญา มี 2 แบบ คือ ถวายตามพระกรณียกิจ เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะได้รับถวายสมัญญานามหลายสมัญญานาม เช่น องค์อัครศิลปิน พระบิดาแห่งฝนหลวง เป็นต้น ซึ่งพระสมัญญาของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เป็นลักษณะดังกล่าว อีกประ เภทคือ ตั้งเป็นการทั่วไป เช่น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้รับพระสมัญญาพระปิยมหาราช ทั้งนี้ นายธงทองบอกด้วยว่า หาก ครม.เห็นชอบ ในวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ สถาบันการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการจะได้อ่านสดุดีพระสมัญญานามนี้ด้วย

ด้านนางปริษา ปานะนนท์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารการตลาด บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เปิดเผยถึงบรรยากาศการจำหน่ายแสตมป์ที่ระลึกพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนาฯ เป็นวันแรก ว่า ประชาชนให้ความสนใจสั่งซื้อจำนวนมาก ทั้งนี้ ไปรษณีย์ได้จัดพิมพ์แสตมป์ที่ระลึกดังกล่าวรวม 3 ล้านแผ่น โดยนำพระฉายาลักษณ์ที่ชาวไทยประทับใจทั้ง 4 ช่วงชันษามาพิมพ์คละแบบลงบนแสตมป์แผ่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังสร้างความพิเศษบนแผ่นแสตมป์ ด้วยการนำภาพลายเส้นของพระเมรุที่มีสถาปัตยกรรมไทยตามแบบโบราณราชประเพณีมาเป็นพื้นหลังของแผ่นแสตมป์ด้วย โดยแสตมป์มีทั้งหมด 4 ชุด ซึ่งชุดที่ได้ขายดีที่สุดคือ ชุดดวงตราไปรษณียากรที่มีภาพพระเมรุและภาพพระมหาพิชัยราชรถประกอบ

นางปริษากล่าวว่า ไปรษณีย์ยังรับจำหน่าย "สายรัดข้อมือสีขาวและสีน้ำเงิน" เพื่อให้ประชา ชนสวมใส่เป็นสัญลักษณ์แสดงความอาลัยในพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ พร้อมไปรษณียบัตรแสดงความอาลัย ที่จัดทำเป็นพิเศษ เพื่อส่งไปยังตู้ ปณ.666 ปณ.ราชดำเนิน 10200 จำนวน 1 แผ่น โดยไม่ต้องติดแสตมป์ ราคาชุดละ 100 บาท


รายชื่อวัด-สถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ทั่วประเทศ

ที่กระทรวงวัฒนธรรม นายสด แดงเอียด อธิบดีกรมการศาสนา (ศน.) กล่าวถึงรายชื่อวัดและสถานที่ถวายดอกไม้จันทน์ภาคประชาชนทั่วประเทศ ในงานพระราชทานเพลิงพระศพ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ ในเขตกรุงเทพมหานคร มีทั้งหมด 46 แห่ง ประกอบด้วย วัดคลองเตยใน เขตคลองเตย,วัดอนงคารามวรวิหาร เขตคลองสาน,วัดคู้บอน เขตคลองสามวา,วัดบุญศรีมุนีกรณ์ เขตคันนายาว,วัดเสมียนนารี เขตจตุจักร,วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร เขตจอมทอง,วัดดอนเมือง เขตดอนเมือง,วัดพรหมวงศาราม เขตดินแดง,วัดรัชฎาธิษฐาน เขตตลิ่งชัน,วัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา,วัดทุ่งครุ เขตทุ่งครุ,วัดเวฬุราชิณวรวิหาร เขตธนบุรี,วัดเจ้าอาม เขตบางกอกน้อย,วัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่, วัดเทพลีลา เขตบางกะปิ,วัดเลา เขตบางขุนเทียน,วัดพระศรีมหาธาตุวรวิหาร เขตบางเขน,วัดราชสิงขร เขตบางคอแหลม,วัดมัชฌันติการาม เขตบางซื่อ

วัดบุณยประดิษฐ์ เขตบางแค,วัดบางนาใน เขตบางนา,วัดนินสุขาราม เขตบางบอน,วัดวิมุตยาราม เขตบางพลัด,วัดมหาพฤฒาราม เขตบางรัก,วัดนวลจันทร์ เขตบึงกุ่ม,วัดปทุมวนาราม เขตปทุมวัน,วัดกระทุ่มเสือปลา เขตประเวศ,วัดไผ่ตัน เขตพญาไท,วัดวชิรธรรมสาธิตวรวิหาร เขตพระโขนง,วัดจันทร์ประดิษฐาราม เขตภาษีเจริญ,วัดบำเพ็ญเหนือ เขตมีนบุรี,วัดปริวาส เขตยานนาวา,วัดดิสหงษาราม เขตราชเทวี,วัดราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บูรณะ,วัดสุทธาโภชน์ เขตลาดกระบัง,วัดสาครสุ่นประชาสรรค์ เขตลาดพร้าว,วัดบึงทองหลาง เขตวังทองหลาง,วัดธาตุทอง เขตวัฒนา,วัดยาง เขตสวนหลวง,วัดราชโยธา เขตสะพานสูง,วัดยานนาวา เขตสาทร,วัดอยู่ดีบำรุงธรรม เขตสายไหม,วัดอุดมรังสี เขตหนองแขม,วัดหนองจอก เขตหนองจอก,วัดหลักสี่ เขตหลักสี่,วัดอุทัยธาราม เขตห้วยขวาง

ขณะที่ในส่วนภูมิภาคทั้ง 75 จังหวัด ทางจังหวัดได้จัดสถานที่ให้ประชาชนได้ถวายดอกไม้จันทน์ตามวัดหลักในเขตอำเภอเมือง ดังนี้ วัดแก้วโกรการาม จ.กระบี่,วัดไชยชุมพลชนะสงคราม จ.กาญจนบุรี,วัดประชานิยม จ.กาฬสินธุ์,หน้าที่ว่าการอำเภอเมือง จ.กำแพงเพชร,วัดหนองแวง จ.ขอนแก่น,วัดไผ่ล้อม จ.จันทบุรี,วัดปิตุลาธิราชสังสฤษฎิ์ จ.ฉะเชิงเทรา,วัดเขาบางทราย จ.ชลบุรี,วัดศรีวิชัยวัฒนาราม จ.ชัยนาท,วัดทรงศิลา จ.ชัยภูมิ,วัดชุมพรรังสรรค์ จ.ชุมพร,วัดสวนดอก จ.เชียงใหม่,ศาลากลาง จ.เชียงราย,วัดกะพังสุรินทร์ จ.ตรัง,วัดไผ่ล้อม จ.ตราด,วัดเขาแก้ว จ.ตาก,วัดอุดมธานี จ.นครนายก,วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร จ.นครศรีธรรมราช,หน้าศาลากลาง จ.นครราชสีมา,วัดนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์,วัดเฉลิมพระเกียรติวรวิหาร จ.นนทบุรี,วัดพระธาตุช้างค้ำ จ.น่าน,วัดกลาง จ.บุรีรัมย์,วัดเสด็จ จ.ปทุมธานี,วัดเสด็จ จ.ประจวบคีรีขันธ์,วัดคลองวาฬ จ.ปราจีนบุรี,วัดนิกรชนาราม จ.ปัตตานี

วัดพนัญเชิงวรวิหาร จ.พระนครศรีอยุธยา,วัดศรีโคมคำ จ.พะเยา,วัดประพาสประจิมเขต (วัดถ้ำพุงช้าง) จ.พังงา,วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง,วัดท่าหลวง จ.พิจิตร,วัดคงคารามวรวิหาร จ.เพชรบุรี,วัดมหาธาตุ จ.เพชรบูรณ์,วัดพระธาตุช่อแฮวรมหาวิหาร จ.แพร่,วัดคูหาสวรรค์ จ.พัทลุง,วัดวิชิตสังฆาราม จ.ภูเก็ต,วัดมหาชัย จ.มหาสารคาม,วัดป่าศิลาวิเวก จ.มุกดาหาร,วัดจองคำ จ.แม่ฮ่องสอน,วัดศรีธรรมาราม จ.ยโสธร,วัดพุทธภูมิ จ.ยะลา,วัดบึงพระลานชัย จ.ร้อยเอ็ด,วัดสุวรรณคีรีวิหาร จ.ระนอง,วัดป่าประดู่ จ.ระยอง,วัดมหาธาตุวรวิหาร จ.ราชบุรี,วัดเสาธงทอง จ.ลพบุรี,วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม จ.ลำปาง,วัดพระธาตุหริภุญไชยวรมหาวิหาร จ.ลำพูน,วัดศรีสุธาวาส จ.เลย,วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ,วัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร,วัดแหลมทราย จ.สงขลา,วัดชนาธิปเฉลิม จ.สตูล,ศาลากลาง จ.สมุทรปราการ,วัดเพชรสมุทรวรวิหาร จ.สมุทรสงคราม,วัดเจษฎาราม จ.สมุทรสาคร,วัดสระแก้ว จ.สระแก้ว,วัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี,วัดหนองโว้ง จ.สุโขทัย

วัดป่าเลไลย์วรวิหาร จ.สุพรรณบุรี,วัดกลางใหม่ จ.สุราษฎร์ธานี,วัดศาลาลอย จ.สุรินทร์,วัดโพธิ์ชัย จ.หนองคาย,วัดพิศาลอัญญาวาส จ.หนองบัวลำภู,วัดอ่างทองวรวิหาร จ.อ่างทอง,วัดสำราญนิเวศ จ.อำนาจเจริญ,สนามทุ่งศรีเมือง จ.อุดรธานี,วัดคลองโพธิ์ จ.อุตรดิตถ์, วัดมณีสถิตกุฏิฐาราม (วัดทุ่งแก้ว) จ.อุทัยธานี, วัดสุปัฐนารามวรวิหาร จ.อุบลราชธานี


ขอขอบคุณข้อมูลจากเดลินิวส์และ Kapook









 

Create Date : 12 พฤศจิกายน 2551
1 comments
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 15:39:36 น.
Counter : 1465 Pageviews.

 


ขอร่วมน้อมถวายความอาลัย
และร่วมส่งเสด็จพระองค์ท่านสู่สวรรคาลัย

ปล.ขอบคุณสำหรับรายละเอียดต่างๆ ค่ะ

 

โดย: นวลกนก 12 พฤศจิกายน 2551 11:56:42 น.  

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 


kobnon
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 92 คน [?]




.
สาระน่ารู้ประจำวัน
1.โรคข้อสันหลังอักเสบติดยึด
2. บุหรี่ ทำนมยาน หูตึง
3. Upside down pineapple cake


music
Group Blog
 
<<
พฤศจิกายน 2551
 1
2345678
9101112131415
16171819202122
23242526272829
30 
 
12 พฤศจิกายน 2551
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kobnon's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friend

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.