มกราคม 2552
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
25262728293031
 
14 มกราคม 2552
 
 
ฉันจะเรียนอะไรดี

"ครู ครูว่าอย่างหนูนี่จะเรียนอะไรดี"

นี่เป็นคำถามที่ผมได้ยินบ่อยครั้งในช่วงนี้ ที่จริงคำถามลักษณะนี้ดังมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แน่นอนว่านักเรียนที่ถามผมก็คือนักเรียนที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่หกนั่นเอง

คำถามว่า "ผมจะเรียนอะไรดี" "หนูเหมาะกับเรียนอะไร" "เลือกเรียนสาขานี้ครูว่าดีไหมคะ" เป็นคำถามแนวทางเดียวกันที่สะท้อนความจริงข้อหนึ่งที่ว่านักเรียนของผมยังค้นหาตัวเองไม่เจอ

การค้นหาตัวเองเจอแต่เนิ่น ๆ ว่าจะเรียนอะไรต่อ หรือจะไปทำอะไรในอนาคตถือเป็นตัวช่วยให้นักเรียนคนนั้นเลือกทางเดินที่ถูกต้องให้กับตัวเองและมีโอกาสก้าวไปสู่ความสำเร็จในอนาคตได้อย่างรวดเร็ว เปรียบเหมือนนักวิ่งที่ออกตัวจากจุดสตาร์ทได้ดีกว่านักวิ่งคนอื่น ๆ ก็ย่อมได้เปรียบในการวิ่งเข้าเส้นชัยนั่นเอง

แต่ความจริงอีกข้อหนึ่งที่ทุกคนต้องยอมรับก็คือคนที่จะค้นพบตัวเองตั้งแต่ยังเป็นนักเรียนมัธยมปลายมีน้อยมาก ด้วยวัยวุฒิและประสบการณ์ การมองโลกของพวกเขาจึงยังไม่กว้างไกลนัก และถ้าว่ากันตามจริงผู้ใหญ่อย่างเราไม่ว่าจะวัยไหนก็ตามก็อาจยังค้นหาตัวเองไม่เจอด้วยซ้ำได้แต่เดินไปเรื่อย ๆ อย่างไร้จุดหมาย แม้ชีวิตเป็นสุขแต่ก็เหมือนขาดอะไรบางอย่างไป

เพราะฉะนั้นสำหรับผมแล้วคำถามที่สำคัญก็คือ เราจะค้นหาตัวเองเจอได้อย่างไร

ผมมองว่านักเรียนในยุคสมัยนี้ถูกกดดันจากสภาพแวดล้อมให้ค้นหาตัวเองให้ได้โดยเร็วเพื่อความสำเร็จในอนาคต แต่อันที่จริงผมคิดว่าสังคมไม่ได้กดดันให้พวกเขาค้นหาตัวเอง แต่กำลังกดดันให้พวกเขาเดินไปบนเส้นทางที่สังคมอยากเห็นโดยที่สังคมน้อยครั้งที่จะยอมรับฟังเสียงของพวกเขา

ทั้งนี้ต้องเข้าใจว่าสังคมไทยเป็นสังคมที่เน้นเรื่องการเชื่อฟัง ไม่ว่าจะเป็นเชื่อฟังพ่อแม่ เชื่อฟังครูบาอาจารย์ ไปจนถึงการเชื่อฟังผู้บังคับบัญชา

การเชื่อฟังลักษณะนี้ไม่ใช่สิ่งที่ผิดเพราะมีส่วนช่วยควบคุมให้สังคมมีความสงบและเป็นระเบียบ

แต่คำว่าการเชื่อฟังนี้ก็มีขอบเขตหรือก็คือบางช่วงบางเวลาที่ภาวะคำสั่งต้องผ่อนคลายหรือไม่มีอยู่

การเลือกอนาคตของนักเรียนควรได้รับการยกเว้นในจุดนี้ นั่นเพราะยิ่งเราออกคำสั่งให้เขาเลือกอนาคตตามเส้นทางที่เราต้องการมากเท่าไหร่ พวกเขาก็ยิ่งอึดอัด สับสน ไม่แน่ใจมากขึ้นเท่านั้น เพราะพวกเขามีจิตใจคิดเองได้ในระดับหนึ่งแล้วไม่ใช่หุ่นยนต์ที่รอคอยการป้อนคำสั่งตลอดเวลา

นักเรียนของผมหลายคนถูกกดดันจากพ่อแม่ให้เลือกสาขาที่พวกเขาเชื่อว่าดีที่สุดสำหรับลูกเขา ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ศาสตร์ นิติศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ บริหารธุรกิจหรือเศรษฐศาสตร์ แต่ลืมมองไปว่าลูกของพวกเขาเหล่านั้นมีนิสัยอย่างไร มีคุณสมบัติแบบใดอยู่ในตัว ลืมมองไปว่าลูกของพวกเขามีอะไรที่เหมาะสมกับการเรียนสาขาที่ยกมาหรือไม่ บางทีพ่อแม่ไม่ได้รู้จักลูกของตัวเองดีที่สุด แต่พวกเขาคิดว่าสิ่งที่เขาเลือกให้ลูกหรือบังคับเลือกให้ลูกนั้นดีที่สุดแล้ว

หลายครั้งที่ผมถามนักเรียนกลับไปว่า "เธอชอบอะไร" หรือ "เธออยากเรียนอะไร"
พวกเขาส่วนใหญ่ตอบกลับมาว่า "ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเรียนอะไรค่ะ/ครับ"

ข้อนี้ไม่เกี่ยวกับสติปัญญา และก็ไม่เกี่ยวกับว่าพวกเขารู้จักตัวเองหรือไม่ แต่มันเกี่ยวกับว่าพวกเขาชอบหรืออยากทำอะไร

อันที่จริงการได้เข้าไปคลุกคลีกับเด็กในระดับที่ใกล้ชิดมากขึ้นทำให้ผมมองเห็นว่าพวกเขามีความคิดความอ่าน รู้ว่าตัวเองชอบอะไรในระดับหนึ่ง พวกเขาอาจยังไม่เจอตัวเองโดยแท้จริงแต่มีร่างต้นแบบอยู่ในใจแล้วเหลือแต่การทำให้ร่างนั้นชัดเจนขึ้น แต่แล้วก็มีบางสิ่งบางอย่างที่มาขัดขวางกระบวนการร่างที่ว่าไว้ให้หยุดชะงักหรือสลายลง

สิ่งนั้นไม่ใช่สิ่งอื่นใดนอกจากสังคมแวดล้อมนั่นเอง

นักเรียนของผมมักลังเลในการเลือกสาขาวิชาหรือรู้สึกสับสนกับการก้าวเดินเพราะสังคมได้สร้างค่านิยมเรื่องความสำเร็จ และเรื่องของเงินไว้เป็นขั้นต้นซึ่งผมก็เห็นด้วยว่าทั้งสองอย่างนั้นมีความสำคัญมาก แต่ค่านิยมของสังคมไทยนั้นกลับมีกรอบที่กำหนดถึงคำว่าความสำเร็จไว้เพียงแค่ไม่กี่แนวทางเท่านั้น

ในอดีตสังคมไทยมีค่านิยมการสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ไม่แตกต่างไปจากประเทศเกาหลีใต้และญี่ปุ่นในสมัยนี้สักเท่าไหร่ นั่นคือการกำหนดกรอบว่าเด็กมัธยมปลายต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัยอย่างธรรมศาสตร์หรือจุฬาลงกรณ์ฯให้ได้ นอกเหนือไปจากนี้ก็เหมือนเป็นคนชั้นรองลงไป โชคดีว่าแนวคิดนี้ได้จางไปมากแล้วเพราะมหาวิทยาลัยในประเทศไทยได้แข่งขันกันในทางคุณภาพกันขึ้นมากทั้งของรัฐและเอกชน ทำให้นักเรียนมีทางเลือกมากขึ้น

แต่ค่านิยมเรื่องอาชีพและความสำเร็จกลับยังคุกรุ่นและร้อนแรงขึ้นในแต่ละวันที่ผ่านไป ทำให้นักเรียนต้องเรียนพิเศษกันอย่างเอาเป็นเอาตาย จะว่าเรียนตามเพื่อนหรือเรียนเพราะพ่อแม่ให้มาเรียนก็ล้วนเป็นการสนับสนุนให้นักเรียนเรียนกันแบบไม่ลืมหูลืมตามากขึ้นจนมีสภาพที่เรียกได้ว่าเป็นกระแสนิยมที่ถ้าไม่ทำตามก็ถือว่าแปลกแยกจากสังคมนักเรียนได้เลยทีเดียว

การจำกัดกรอบของความสำเร็จทำให้นักเรียนถูกจำกัดกรอบของจินตนาการตามไปด้วยทั้งที่ในโลกของเรานี้มีสาขาวิชาที่น่าสนใจให้ศึกษาอีกมากมาย แต่สาขาเหล่านั้นถูกจำกัดไว้ด้วยคำว่า "ไม่ทำเงิน" และเเปรเปลี่ยนสภาพหรือสถานะของสาขาเหล่านั้นให้เป็น "ไม่น่าสนใจ" ในที่สุด

เมื่อตัวตนที่กำลังเบ่งบานออกมาถูกจำกัดกรอบ นักเรียนหลายคนจึงไม่สามารถเดินหน้าต่อไปได้เพราะรู้สึกกลัวและกังวล หรืออึดอัดใจต่อแรงกดดันจากรอบข้าง เด็กเหล่านี้หลายคนเป็นเด็กเก่ง มีความสามารถ แต่ไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้ และนั่นอาจทำให้พวกเขาไม่มีความสุขแม้จะยืนในจุดที่สูงสุดในอาชีพของตนในอนาคตก็ตาม

เด็กหลายคนเลือกที่จะยอมทำตามคำสั่งของสังคมแต่โดยดี แต่บางคนก็ขัดขืนแต่วิธีการของพวกเขาอาจผิดไป นั่นเป็นผลให้เรามีเด็กเอาแต่ใจ เกเร ไม่ตั้งใจเรียน หรือมาเล่นไม่ได้มาเรียนเพื่อให้พ้นไปวัน ๆ หนึ่ง

อาจกล่าวได้ว่าการค้นหาตัวเองที่เราชอบพูดกันนั้น แท้จริงก็คือการค้นหาตัวเองให้ตรงหรือใกล้เคียงกับกรอบของสังคมมากที่สุด โดยมีเหตุผลว่าก็เพื่ออนาคตที่ดีที่สุด แต่มันก็เหมือนกับการบีบเด็กนักเรียนจำนวนมากให้เฉือนตัวตนด้านหนึ่งของพวกเขาทิ้งไปตลอดกาล

แล้วหนทางแก้ไขนั่นควรเป็นอย่างไร เรามีคำอธิบายที่จะหาทางออกให้กับเรื่องเหล่านี้มาตั้งแต่อดีตแล้ว แต่นั่นก็เหมือนการพูดในเชิงอุดคมติ เช่น พ่อแม่ต้องเปิดใจให้กว้าง พูดคุยกับลูกของตนให้มาก ส่วนสังคมก็ต้องเปิดกว้าง รัฐบาลต้องสนับสนุนการสร้างงานอาชีพ และอะไรต่อมิอะไร ซึ่งเรื่องเหล่านี้เราพูดกันมาเป็นสิบ ๆ ปีแล้ว แต่ผมก็ยังไม่เห็นว่าจะมีอะไรเปลี่ยนเเปลง

แล้วทางแก้ที่แท้จริงควรทำอย่างไร สำหรับเวลานี้ผมคิดว่าเราได้แต่ "หวัง" หวังว่ามันจะมีทางที่ดีขึ้น หวังว่าพ่อแม่จะเข้าใจลูกตัวเองมากขึ้น หวังว่านักเรียนจะกล้าทำในสิ่งที่ตนเองคิด กล้าเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ ผมไม่สนับสนุนให้เป็นเด็กดื้อที่ไม่เชื่อฟังคำสั่งพ่อแม่ แต่อยากให้เด็กกล้าคิดกล้าตัดสินใจทำในสิ่งที่ถูกต้อง ขอเน้นว่า "ถูกต้อง" เพราะทุกวันนี้เด็กไทยกล้าในสิ่งที่ผิดมากกว่าสิ่งที่ถูก แต่ผมเชื่อว่าการที่เด็กเป็นเช่นนั้นก็เพราะสังคมไทยเรานี่แหละไม่จำเป็นต้องอ้างวัฒนธรรมจากต่างชาติแต่อย่างใดให้เสียเวลา

คำว่าความหวังอาจฟังดูไร้เหตุผลแต่จะให้ทำอย่างไรได้ก็ในเมื่อเราเป็นเพียงแค่มนุษย์คนหนึ่งในสังคมเท่านั้น ผมในฐานะครูคนหนึ่งที่แม้จะไม่ใช่ครูเต็มตัวและก็ยังบกพร่องในหน้าที่อยู่มาก ก็พยายามให้คำแนะนำแก่พวกเขาอย่างเต็มที่เท่าที่สติปัญญาและประสบการณ์ของผมจะให้ได้ สิ่งที่ผมอยากเห็นไม่ใช่การที่พวกเขาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง แต่ผมอยากเห็นพวกเขาได้เรียนในสิ่งที่เหมาะสมกับตนเอง สิ่งที่พวกเขาชอบและมีความสุขที่จะเรียน และแน่นอนว่าอยากเห็นพวกเขาเป็นคนดีของสังคม

เขียนมาถึงตรงนี้ผมก็รู้ดีว่าสิ่งที่ตัวเองเขียนไปนั้นไม่ได้ครอบคลุมปัญหาทั้งหมด และออกจะเป็นข้อเขียนในเชิงลบต่อสังคมซึ่งแน่นอนว่ามีความคิดในแนวทางตรงข้ามที่สามารถโต้แย้งได้ตลอดเวลา เพราะฉะนั้นหากมีใครเห็นต่างก็ไม่ถือเป็นเรื่องผิดปกติแต่อย่างใด และถ้าสิ่งที่ผมเขียนนี้ได้เฉไฉออกนอกลู่นอกทางหรืออ่านแล้วไม่รู้เรื่อง ผมยินดีรับคำตำหนิติเตียนโดยไม่มีข้อโต้แย้งใด ๆ ทั้งสิ้นครับ

และสุดท้ายครับ นักเรียนของผมส่วนใหญ่ก็เป็นแค่นักเรียนธรรมดา ๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นอะไรในการเรียน แต่พวกเขามีความคิดอ่านเป็นของตัวเองและผมก็อยากจะสนับสนุนพวกเขาให้ใช้ความเป็นตัวเองนั้นก้าวไปข้างหน้าเพราะผมเชื่อว่าการพัฒนาของคนเรานั้นเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาและทำได้อย่างไม่มีสิ้นสุดโดยไม่จำกัดเรื่องของอายุแต่อย่างใด

ขอเป็นกำลังใจให้กับนักเรียนทุกคนที่กำลังจะเข้าสอบแอดมิชชั่นในปีนี้นะครับ โชคดีทุกคนครับ ^_^





Create Date : 14 มกราคม 2552
Last Update : 14 มกราคม 2552 21:30:40 น. 9 comments
Counter : 1256 Pageviews.

 
เขียนได้น่าสนใจดีครับ

เป็นอย่างที่ Mr. Learning ว่ามาจริงๆแระ


โดย: โจโฉ IP: 124.121.249.67 วันที่: 20 มกราคม 2552 เวลา:11:05:14 น.  

 
ก่อนอื่น ก้อต้องขอขอบคุณ กับกำลังใจดี ๆ นะค่ะ
คือตอนนี้หนูอยุ่ม.4 เเต่รุ้สึกเครียดมากเลยค่ะ เพราะคิดว่าตนเองยังทำตัวเมินเฉยกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป หนูเป็นอีกคนหนึ่งที่ยังไม่สามารถค้นหาตนเองได้ว่าตนชอบอะไร รักที่จะทำอะไร ทั้ง ๆ ที่ทางครอบครัวก้อได้สนุบสนุนการเยนของหนูทุกอย่าง ไม่ว่าหนุจะไปเรียนพิเศษที่ไหนก้อตาม ตอนนี้หนุเรียนพิเศษเเทบเรียกได้ว่า ไม่มีวันหยุดเลิกเรียนถึง3ทุ่มกว่าจะกลับมาถึงบ้านก้อดึกค่ะ ปิดเทอมนี้เเม่ก้อยังให้โอกาสหนุได้ไปเรียนภาษาเพิ่มเติมที่ต่างประเทศ เเต่หนุคิดว่ายิ่งเรียน ๆๆ มากเท่าใด มันก้อเหมือนเป็นเเรงกดดันหนุ ถ้าในวันข้างหน้าหนุไม่ประสบความสำเร็จในชีวิตหบ่ะ หนุจะต้องทำให้พ่อ เเละ เเม่ เสียใจมากเพียงใด
ขอขอบคุณกับข้อความดี ๆ ที่ทำให้หนุมีกำลังใจมากขึ้นนะค่ะ ขอบคุณค่ะ FREEDOM_D12@hotmail.com


โดย: เดีย IP: 118.173.203.119 วันที่: 6 มีนาคม 2552 เวลา:21:23:52 น.  

 
ตอนนี้หนูอยู่ม.6แล้วจะแอดมิชชั่นในปี53นี้...แต่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ...พ่อแม่ให้อิสระในการเรียนการตัดสินใจทุกอย่าง แต่หนูกลับรู้สึกเหมือนถูกบังคับจากอะไรซักอย่างอยู่ตลอดเวลา--ยังไม่เข้าใจตัวเองเลยค่ะ อย่างไรก็ตาม หนูก็ขอบคุณมากๆๆนะคะ หนูมีความกล้าและกำลังใจมากขึ้นเลยล่ะค่ะ...
^^


โดย: AOM IP: 118.173.41.238 วันที่: 30 พฤษภาคม 2552 เวลา:14:43:34 น.  

 
ตอนนี้หนูเรียนสายอาชีพ จะจบ ปวช 3แล้ว
อยากเรียนต่อในมหาวิทยาลัย
ไต่ไม่รู้ว่าจะเรียน สาขาวิชา อะไรดี
ถึงจะเหมาะกับสังคม และเศรษฐกิจในปัจจุบัน
กลัวเรียนจบแลวไม่มีงานทำ
พ่อแม่ก็ไม้ได้บังคับ กลับให้อิสระในการเรียนด้วยซ้ำ
แต่หนูไม้รู้จริง ๆ ว่าจะเรียนอะไร

โอ๊ย.....ปวดหัวจัง


โดย: pj IP: 127.0.0.1, 61.19.108.125 วันที่: 10 กันยายน 2552 เวลา:11:21:33 น.  

 
หนูยังหา ความฝันไม่เจอเลย


โดย: ฟาอีดะ IP: 192.168.10.19, 118.175.86.72 วันที่: 26 มกราคม 2553 เวลา:14:36:44 น.  

 
สวัสดีค่ะ
ขอบคุณสำหรับบทความดีๆค่ะ
หนูก็เป็นอีกคนหนึ่งที่กำลังถามตัวเองอยู่ว่าจะเรียนอะไรดี
เพราะกรอบของเส้นทางเดินมันมีมากเหลือเกินค่ะ
หนูรักศิลปะ อยากเป็นนักเขียน ชอบเรียนเคมี และชอบภาษาอังกฤษค่ะ

หลายคนบอกให้หนูเลือกนสิ่งที่ถนัดจริงๆ แต่หนูเลือกไม่ได้ค่ะก็มันถนัดไปซะทุกอย่าง บางคนอ่านถึงตรงนี้อาจจะหมั่นไส้ เลยอยากบอกว่าแค่อยากแลกเปลี่ยนให้ใครบางคนที่มีปัญหาเดียวกันได้รับทราบว่ายังมีใครอีกหลายคนมีปัญหาเหมือนๆกัน

อ้อ อีกอย่างที่เป็นสาเหตุให้เลือกเรียนต่อไม่ได้เสียที เป็นเพราะหนูเป็นลูกคนเดียวค่ะ เติบโตมาแบบเด็กต่างจังหวัดทั่วไปนี่แหละ พอโตขึ้นเลยคิดว่าอยากทำงานในบ้านเกิด เพราะมีแม่ให้ต้องดูแล ลำพังจะให้แม่ย้ายมาอยู่กะเราแล้วทิ้งทรัพย์สมบัติของแกไว้ข้างหลังคงไม่ได้

เฮ้อ เคยคิดอยากจะให้หมอดูฟันธงให้ว่าเราจะเรียนไปทางด้านไหนดีถึงจะรุ่งแต่ก็นะ ชีวิตเรานี่คะ จะให้ใครไม่รู้มาฟันธงได้ยังไงกัน

เฮ้อ กลุ้ม


โดย: แอ้ IP: 222.123.177.214 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:14:43:05 น.  

 
ผมอยากเรียนดนตรีอะคับ

แต่ว่าด้วยการกำจัดของความคิดของผมก็คือ

จบไปจะทำอะไรถ้าไม่ได้เป็นนักดนตรี ซึ่งมันทำให้อนาคต

เราไม่แน่นอน แต่ผมอยากเรียนมาก ๆ แต่มันติดตรงนี้อะ

อีก 1 เทอมก็จาจบแล้ว จะทำไงดีหล่ะนี่


โดย: ............ IP: 182.232.237.22 วันที่: 25 ตุลาคม 2553 เวลา:0:47:23 น.  

 
ตอนนี้ก็เรียนในระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ปี1 คณะวิจิตรศิลป์ แต่รู้สึกว่าไม่ชอบเลยควรทำอย่างไรดี ว่าจะย้ายคณะอยู่ แต่ไม่รู้จะเรียนอะไรดดีล่ะเนี้ยะ ตอนนี้สับสนและว่นวายเอามากเลยปวดหัวมากด้วย ******แค่รู้สึกอยากทำแบบทดสอบเพื่อวัดตัวเองว่าชอบอะไรกันแน่???????????


โดย: เก๋ฬู้ IP: 202.28.249.180 วันที่: 14 ธันวาคม 2553 เวลา:11:10:01 น.  

 
หนูไม่รู้ว่าจะเรียนต่ออะไรดีเพราะ สิ่งที่อยากทําจริงๆคืออยากมีธุรกิจสวนตัวเป็นของตนเอง เเต่กลัวว่ามันจะไม่ลงตัวก็เลยยังไม่รู้ว่าจะเรียนต่ออะไรดีคะ


โดย: กลาน คะนงจิตร IP: 180.180.7.109 วันที่: 19 พฤษภาคม 2556 เวลา:13:44:50 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

Mr.Learning
Location :
นนทบุรี Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




บางครั้งคนเราก็มีความคิดอยู่ในสมองมากเกินไป บางครั้งบางคราวก็ปลดปล่อยมันออกมาให้คนอื่น ๆ รู้จักตัวเราเสียบ้างน่าจะดี
[Add Mr.Learning's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com pantip.com pantipmarket.com pantown.com