Group Blog
 
<<
มกราคม 2556
 
 12345
6789101112
13141516171819
20212223242526
2728293031 
 
30 มกราคม 2556
 
All Blogs
 

Les Miserable เมื่อความสมจริงบนแผ่นฟิลม์เทียบเคียงกับจินตนาการบนเวทีละค

Les Miserable ฉบับละครเพลงของ Claude-Michel Schönberg และ Alain Boublil เปรียบเหมือนหนังสือภาพเล่าเรื่องย่อวรรณคดีมหากาพย์ หรือดูภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เล่าเฉพาะฉากสำคัญเรื่องและเลือกฉากเล่าที่สำคัญ โดยถือว่าผู้ดูรู้เรื่องทั้งหมดอยู่แล้ว แต่ละฉากอัดแน่นด้วยสีสันทางอารมณ์ที่ฉูดฉาด หลายคนอาจจะไม่คุ้นชิน ถามในใจว่าทำไมตอนต้นของละครจึงมีเส้นเรื่องมันถึงข้ามไปเป็นห้วงใหญ่และมีความบังเอิญเกิดขึ้นมากมาย เช่น วาลชอง หนีทัณฑ์บนลบประวัติเดิมของตัวเองกลายเป็นพ่อเมืองอีกเมืองอย่างรวดเร็ว จาแวรต์เป็นสารวัตรประจำอยู่ที่เมืองเดียวกัน ตามด้วยเหตุบังเอิญอีกมากมายที่ทำให้ วาลซอง ต้องหนีอีกครั้ง ละครข้ามไปอีกสิบปีตัวละครทั้งหมดกลับมาพบกันโดย"บังเอิญ"ที่ปารีสอีกครั้งภายในการแสดง 1 ชั่วโมงแรก

ละครข้ามรายละเอียดของตัวละครสมบทหลายตัวเช่น ตัวละครบาทหลวงในตอนต้นเรื่องมีที่มาที่ไปในการซื้อวิญญาณวาลชอง ไม่ได้เป็นพระผู้ใจดีแบนๆอย่างที่เห็น รวมถึงความสัมพันธ์ตัวละครที่ซับซ้อนเป็นไยแมงมุม เช่นตัวละครในครอบครัว Thenadier มีลูกอีกสองคนที่ไม่ได้กล่าวถึงและลูกของครอบครัวนี้ทุกคนน่าสงสารมาก
ละครอาศัยความเร็วของการเดินเรื่องไม่เว้นเวลาให้คนดูได้ตระหนักถึงความบังเอิญ และความแบนของตัวละครเหล่านั้น หากมองเส้นเรื่องตามวรรณกรรมดั้งเดิมละครเพลงเรื่องนี้ถือว่าสอบตกตั้งแต่ครึ่งแรกไปเรียบร้อย

ในขณะที่ภาคดนตรีของ Claude-Michel Schönberg แต่งสกอร์ดนตรีได้สวยงาม ใช้เปลือกดนตรีคลาสิคให้เพลงป๊อบมาอาศัย ละครร้องทั้งเรื่องชิ้นนี้วางตัวเองอยู่ที่ถนนปากทางเข้าสมาคมโอเปร่าแต่ไม่สามารถเข้าไปในทางสายโอเปร่า จะเรียกว่าละครเพลงพันทางน่าจะใช้คำนี้ได้ แต่ละเพลงล้วนเพราะติดหู ไม่ว่าจะเป็นเพลงอย่าง Do you hear the people sing? ฟังครั้งแรกจำทำนองและคำร้องได้ขึ้นใจ หลายเพลงเป็น theme ของตัวละครที่มีแรงจูงใจ หรือสถานการณ์ในเรื่อง เช่น ทำนองเพลง Who am I? เป็นทำนองประจำตัวของ วาลชอง ที่นำมาใช้ซ้ำอย่างมีพลังในช่วงปิดองก์แรก และปลายองด์สอง

ผู้แต่งเพลงแต่งเพลงร้องเดี่ยวให้ตัวละครบรรยายความในใจตัวละคร(Soliloquy)อยู่หลายเพลง ถ้าเป็นละครพูดคงจะเป็นละครที่วางบทพูดคนเดียว (Monologue) มากเรื่องหนึ่ง Claude-Michel Schönberg วางตัวโน็ตที่สามารถถ่ายทอดเบื้องลึกจากใจตัวละครที่เปี่ยมเต็มไปด้วยความรู้สึก คำร้องเองสามารถถ่ายทอดถึงความทุกข์ ทำให้ตัวละครมีเลือดเนื้อจับต้องได้เพราะความทุกข์เป็นสิ่งสากลที่มนุษย์ทุกคนเข้าใจ ทุกฉากที่ละครเพลงแสดงอยู่นั้น แสดงให้เห็นถึงชะตากรรมของตัวละครที่กำลังเผชิญ ขยี้หัวใจคนดูด้วยเนื้อหาในเพลงแทบทุกซอกทุกมุม

จุดนี้เองที่เพลงในละครนำมาเล่นกับใจของคนดู คนดูจึง(ควร)ดูละครเรื่องนี้ด้วยใจ การเล่าเรื่องที่ถูกประเมินว่าสอบตกจึงถูกมองข้ามไป เพราะคนดูเทใจให้ตัวละครในเรื่องไปเรียบร้อย เมื่อละครเปิดแสดงที่ลอนดอนเมื่อปี 1985 ฝ่ายที่ใช้สมองชมละครต่างติละครถึงจุดอ่อนของพล็อตที่ผมได้แจงไว้ ฝ่ายที่ใช้ใจดูต่างชื่นชอบละครเรื่องนี้ ดูเหมือนฝ่ายหลังจะมีจำนวนมากกว่า ละครจึงได้รับความนิยมเปิดการแสดงเรื่อยมาในลอนดอนจนปัจจุบัน นับว่าโปรดิวเซอร์ละคร คาเมรอน แม็คอินทอช วางเดิมพันสูงทีเดียวกับเกมส์ซื้อใจผู้ชม



หากเปรียบละครเพลงเรื่องนี้เป็นศาสตร์แห่งโภชนาการ Les Miserable ฉบับละครเพลงคืออาหารเม็ดที่สกัดจากส่วนผสมที่เป็น ข้าว ผัก ปลา นำมาปรุงและอัดเม็ดเสร็จสรรพ ไม่ต้องเสียเวลาไปเดินหาซื้อ ตระเตรียมและปรุงเป็นวันๆ เช่นเดียวกับวัตถุดิบจากนิยาย 5 ภาค ยาวกว่า 1,900 หน้าในภาษาดั้งเดิมที่ต้องใช้เวลาอ่านเป็นวันๆ ละครเพลงสกัดเอาสาระสำคัญมาเป็นการแสดงภายใน 3 ชั่วโมงซึ่งดูจะเหมาะกับวิถึชีวิตของคนรุ่นใหม่ที่ชอบความด่วน เร็ว และไม่ต้องย่อย ละครจึงได้รับความนิยมในหมู่คนรุ่นใหม่

เมื่อเจ้าของสิทธิ์อนุญาติให้นักเรียนสร้างละครเรื่องนี้ในโรงเรียนได้ Les Miserableในฉบับโปรดักชั่นมือสมัครเล่นในสถานศึกษาก็ได้เปิดแสดงถี่ทุกสัปดาห์ตามโรงเรียนและมหาวิทยาลัยทั่ว อเมริกาเหนือ ยุโรป และ ออสเตรเลียเรื่อยมา
//www.bloggang.com/data/k/kinglear/picture/1359533051.jpg
การสร้างLes Miserable เป็นฉบับหนัง Cameron McIntoshเจ้าของสิทธิ์ตกลงใจเลือกผู้กำกับ Tom Hooper เป็นผู้สร้างงานฉบับหนัง
นับเป็นการเลือกผู้กำกับที่ถูกคน เพราะTom Hooper ไม่ใช้วิธีการสกัดบทภาพยนตร์จากละครเพลงฉบับเดิมหรือแม้แต่รักษาทุกอย่างไว้ตามละครเพลงทุกประการ
ผู้เขียนบทภาพยนตร์เลือกวิธีการนำบทละครเพลงหวนกลับไปหาวรรณกรรณต้นฉบับ ทำให้ฉบับหนังเพลงเล่าเรื่องได้ใกล้เคียงกับวรรณกรรมมากยิ่งขึ้น ความบังเอิญของเรื่องถูกอธิบายมีที่มาที่ไป
ลำดับเหตุการณ์ฉบับหนังต่างไปจากละครค่อนข้างมาก สิ่งที่ปรากฎเป็นภาพในภาพยนตร์มีความสมจริงมุ่งไปที่ทางสัจนิยมตามที่หนังสือบรรยายไว้ตรงทุกประการ

ความบังเอิญในช่วงที่ วาลชองเป็นพ่อเมืองและเป็นเจ้าของโรงงานถูกแก้ไขอย่างมีตรรกะเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การมาถึงของสารวัตรจาร์แวร์ ที่มีหนังสือส่งตัวจากปารีสเพื่อมาดูแลเมืองของวาลชอง
ทำให้เหตุความบังเอิญในการพบกันมีเหตุที่มาที่ไป การสารภาพความผิดของจาร์แวร์ที่เขาบังอาจสงสัยวาลชองว่าเป็นนักโทษแหกคุกเป็นฉากเปิดปมที่ดีเพื่อที่จะบอกข่าวการจับวาลชองผิดตัว

บทหนังฉบับนี้ยังปูความเป็นเหตุเป็นผลเล็กๆน้อยๆที่จะเสริมให้เหตุการณ์ให้มีความน่าเชื่อถือหนักแน่นเช่นการตายของฟองทีน ถ้าดูผ่านๆอาจจะคิดว่าตายง่ายเหลือเกิน แต่ถ้าพิจารณาถึงการถูกถอนฟันอออกไปโดยไม่ได้รับการรักษาแผล การต้องไปขายตัวกับกลาสีเรือ ตบท้ายด้วยเป็นคนร่อนเร่นอนตามถนนท่ามกลางหิมะ สามส่วนนี้ทำให้เธออายุสั้นได้ไม่ยากนัก
เมือวาลชองรับโกแซตเข้าปารีส ทั้งคู่ต้องหนีการไล่ล่าและหลบเข้าไปอาศัยในคอนแวนต์ โดยมีคนสวนของคอนแวนต์เป็นคนช่วยเหลือ การเข้ามาและจากไปของ Eponine และอีกหลายรายละเอียดบทหนังเขียนได้ตรงตามบทประพันธ์ทุกประการ

นอกจากบทหนังจะพาคนดูหวนกลับไปในเข้าทางหนังสือดั้งเดิมแล้ว ในหนังยังมีการตีความสมจริงตรงตามประวัติศาสตร์ด้วย เช่น การต่อสู้ของนักศึกษาและประชาชนในช่วงที่นายพล Lamarque ถึงแก่อัสญกรรม ในฉากขบวนแห่ศพนายพล หนังอิงกับเหตุการณ์จริงตามหลักฐานที่บันทึกไว้*(1) รวมถึงการฉายภาพสภาพแวดล้อมของคนชั้นล่างในฝรั่งเศสที่เผชิญกับความอดอยากและโรคระบาดได้ชัดเจน ในขณะที่ละครเพลงเป็นเพียงท่อนคอรัสพร้อมการตีความจากนักแสดงบนเวที คนดูจินตนาการภาพความเป็นอยู่ของคนสมัยนั้นจากคำร้อง ดนตรี การแสดง อาศัยความมืดว่างเปล่าบนเวทีเป็นที่ฉายภาพในหัวของผู้ชมแต่ละคน

นับว่าเป็นงานภาพยนตร์ที่สร้างจากละครเพลงที่ปราณีตในการตีความด้านภาพเรื่องหนึ่ง

ในส่วนของเพลง สกอร์เดิมของละครยังคงอยู่ครบถ้วน เพียงแต่ปรับระดับความเข้มข้นของการร้องให้ลดการใช้พลังเสียงลง เนื่องด้วยเป็นการแสดงผ่านกล้องที่ต้องการให้มีความใกล้เคียงกับความสมจริงมากที่สุด การร้องและแสดงใหญ่แบบบนเวทีเพื่อเก็บความสนใจจากคนดูทั้งโรงจึงไม่มีความจำเป็น
การร้องให้เป็นธรรมชาติ คล้ายการร่ายเพลงโต้ตอบถูกนำมาใช้ในช่วงสนทนาแทน หลายคนคงจะไม่ชินกับการแสดงที่ตัวละครจะพูดไม่พูด จะร้องไม่ร้องไปทางใดทางหนึ่ง คิดว่านี่เป็นทางของการนำเสนอที่ผู้สร้างหาทางให้เป็น Les Miserableในแบบของตัวเอง และไม่ว่าตัวละครจะร้องหรือจะเอื้อน ผมว่าตัวละครทุกตัวต่างสะอื้นไห้กับสิ่งที่เรียกว่า อคติ ที่มนุษย์สร้างให้กันและกัน ทั้ง วาลชองและ Fantine ต่างเป็นเหยื่อของอคติที่สังคมมีให้ อดีตนักโทษ และ แม่ม่ายลูกติดต่างถูกตัดสินจากสังคมสมัยนั้นเป็นที่เรียบร้อย อคตินี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของวรรณกรรมเรื่องนี้



ในส่วนของการแสดง คนที่ตีบทแตกละเอียดยิบ คงจะเป็น Anne Hathaway ตีความตัวละคร Fantine ในแบบของตัวอย่างเป็นตัวของตัวเอง รวมถึงเพลงเอกของตัวละคร I dreamed a dream ร้องในรูปแบบของการแสดงผ่านกล้องอย่างพอเหมาะเจาะ ทุกจังหวะการร้องในฉากนี้แสดงให้เห็นถึง สิ่งที่ผ่านมาในชีวิต ความทรงจำที่ดี ความหวังที่เคยมี สิ่งเลวร้ายที่เกิดขึ้น สิ่งที่เธอเผชิญอยู่ตอนนี้ และอนาคตที่มืดหม่นที่ยังไม่รู้ชะตากรรม แต่ยังแอบฝันกับความหวังอยู่เล็กน้อย นักแสดงถ่ายทอดความคิดเหล่านี้ออกมาในสีหน้า แววตา และน้ำเสียงในเพลงเดียว แม้เสียงของนักแสดงจะไม่แน่นและไม่มีพลังระดับเดียวกับนักแสดงฉบับละครเวที แต่วิธีการแสดงและร้องผ่านกล้องไม่ต้องการความแน่นของเสียงขนาดบนเวที การแสดงสุดละเอียดของ Anne Hathaway ถือเป็นหนึ่งในฉากที่ดีที่สุดของหนังเพลงในรอบหลายปีนี้

Huge Jackman แสดงเป็น วาลชอง ในช่วงต้นถึงกลางเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ฉากเดี่ยวเพลง What Have I Done? ในตอนต้นเรื่อง ถ่ายทอดได้เต็มเปี่ยมอารมณ์ระดับเดียวกับที่ Anne Hathaway ทำไว้ในเพลงของเธอ แต่เมื่อเรื่องเดินไปในครึ่งท้าย พลังการแสดงของHugh ดูจะตกไป โดยเฉพาะในฉากเพลง Bring him home Hugeตีความในรูปแบบของตัวเอง ปรับโน๊ตต่ำกว่าฉบับดั้งเดิม ลากเสียงน้อยลง ทำให้ความไพเราะของเพลงนี้ลดลงไปอย่างน่าเสียดาย หลังจากที่วางชองพา Marius หนีจากการสังการหมู่ วาลชองยังดูแข็งแรง(หล่อ)ไม่แก่เท่าไหร่ ด้วยวิธีการเล่นหรือการกำกับไม่แน่ใจ ฉากวาลชองสารภาพความจริงอดีตของตัวกับMarius และตัดสินใจระเห็ดไปอยู่ลำพังยังไม่เกิดความสะเทือนใจ เพราะในฉบับเวทีคนดูเห็นวาลชองที่แก่หง่อม เดินออกจากชีวิต Cossette ไปอยู่ลำพังเป็นภาพที่สะเทือนใจมาก ที่เราเห็นบนจอในฉากวาระสุดท้าย ของวาลชอง ที่แสดงโดย Hugh Jackman ยังดูหนุ่ม แข็งแรงไม่น่าไปสู่อ้อมกอดของพระเจ้าได้ ช่วงท้ายของหนังจึงขาดความสะเทือนใจในภาพ”พ่อผู้แก่เฒ่ายอมเสียสละเพื่อลูกจนวาระสุดท้าย”ไปเพราะความหล่อดูดีทำพิษหรือเปล่า น่าจะใช่

Eponine แสดงโดย Samantha Barks ทำได้น่าชมเชย เธอรับบทเดียวกันนี้ในฉบับละครเวที ที่เห็นในหนังเธอยังปล่อยพลังการแสดงออกมาไม่หมด พลังเสียงราวค่อนปอดถูกกักไว้ในเพลงเดี่ยวของเธอ เนื่องจากการแสดงผ่านกล้องไม่ต้องการพลังเท่าขนาดแสดงบนเวทีใหญ่ จะเห็นการกักพลังการแสดงเป็นบางช่วง กระนั้นเธอยังเสนอความละเอียดของตัวละครทางสายตาสีหน้าผ่านกล้องได้ดีทีเดียว
เช่นเดียวกับ Marius แสดงโดย Eddie Redmayne ถือเป็นเซอร์ไพรส์ เพราะเขารับบทเด็กหนุ่มไม่ประสีประสาโลกใน My week with Marilyn ในเรื่องนี้ Eddie Redmayne สร้างตัวละครตัวนี้ได้มีเสน่ห์ พร้อมแสดงทักษะการร้องและแสดงในระดับดีเยี่ยม ผัวเมีย Thenadier รับบทโดย Sacha Baron Cohen และ Helena Bonham Carterรับส่งกันอย่างพอเหมาะ เป็นสีสันไม่แพ้ฉบับที่นักแสดงบนเวที (ทั้งคู่เคยเจอกันใน Sweeney Todd )
Enjolras หัวหน้านักศึกษา แสดงโดย Aaron Tveit เสียงร้องและการแสดงยังไม่มีพลังและน่าเชื่อพอในบทผู้นำ Enjolras ในฉบับละครเวทีที่เคยผ่านตามักมีความเป็นผู้นำและหล่อเหลาพ่วงแถม ในฉบับหนังความสง่าไม่ค่อยมี เพลงเอกของตัวละคร Do you hear the people sing ? ยังทำได้ไม่มีพลังศรัทธาเท่าใด แถมช่วงที่ต้องปลุกปลอบขวัญเพื่อนนักศึกษา ด้วยRepriseเพลงเดียวกันนี้โดนเด็กน้อย Gavroche แย่งไปร้องแทนอีก เป็น Enjolras ฉบับที่ดูอ่อนรสไปอย่างน่าเสียดาย
ส่วน Amanda Seyfried ทำได้ดีตามมาตราฐานเพราะเคยเห็นเธอแสดงใน Mamma Mia! มาเรื่องนี้เธอสอบผ่านไปสบายๆ

ในทีมนักแสดงทั้งหมดผมเห็นใจRussell Crowe มากที่สุด หากมองในการตลาด ชื่อของเขาขายได้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่เขาได้กลายเป็นส่วนที่ด้อยที่สุดในหนังโดยเฉพาะ การร้องช่วงเพลงเดี่ยวทั้งสองเพลง ทั้ง Star และ Soliloquy (Javert's Suicide) เสียงของRussell Crowe ยังไม่เหมาะกับบุคลิคตัวละครสารวัตรจาร์แวร์ที่เป็นคนที่แข็ง ตรงเป็นไม้บันทัด ห้าวหาญ ซื่อตรงต่อหน้าที่ เสียงของRussell Crowe แม้จะมาทางแนวPop-rock แต่พื้นเสียงของเขามีความนุ่มนวล ไม่สามารถกระแทกเสียงร้องให้เกิดความกระด้างได้ ผนวกกับการแสดงของRussell Crowe เขาสร้างภาพของสารวัตรที่ซื่อสัตย์ในหน้าที่ ช่างสังเกต และดูฉลาด แต่ยังขาดความห้าวหาญมั่นใจว่าโลกนี้มีเพียงขาวกับดำ น่าจะเกิดจากการตีความทางการแสดงหรืออาจจะเป็นได้ที่ผู้กำกับอยากจะเพิ่มความมีเลือดเนื้อให้กับตัวละครตัวนี้ (นึกถึงความเข้มข้นทางการแสดง Geoffrey Rush แสดงในบทเดียวกัน ในเวอร์ชั่นของ Bille August Geoffrey Rush สร้างตัวละครเป็นสารวัตรจาร์แวร์ที่ แข็งกระด้าง พลังของตัวละครตัวนี้คุมหนังทั้งเรื่องเลยว่าได้) ช่วงที่เขาต้องร้องดวลเสียงกับ Huge เขาดูด้อยไปอย่างน่าเห็นใจ

ในฉากสุดท้ายของจาร์แวร์กับการกระโดดลงแม่น้ำ Seine นั้น หนังเสนอภาพอัตวินิบาตกรรมดูสมจริงจนน่าตกใจ เสียงร่างกระแทกสันฝายน้ำทำลายจินตนาการที่มีจากการแสดงบนเวทีจนหมดสิ้น จุดจบของตัวละครตัวเดียวกันนี้ เมื่อแสดงบนเวที เราเห็นร่างจาร์แวร์ลอยจากราวสะพานและแสงสีฟ้าสาดพื้นเวทีเป็นลายสายน้ำ คลอกับดนตรีสื่อถึงเสียงน้ำอลังการ เป็นการจมน้ำตายที่งามราวภาพวาด บ่งบอกถึงตัวละครตัวนี้กลับไปสู่อ้อมกอดของธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่
แต่วิธีที่ในหนังนำเสนอด้วยภาพและเสียงประกอบที่เน้นความสมจริงจนน่าอนาถ เป็นชนิดภาพจากหนังสยองขวัญ หรือวิดีโออุบัติเหตุจากเหตุการณ์จริงที่นำมาฉายในรายการทีวีที่เน้นความบันเทิงแนวตื่นเต้นแทน

ในขณะที่ฉากสังหารหมู่ ในละครเวทีออกแบบการเคลื่อนไหวง่ายๆจากการคิดที่แยบยล แสดงภาพความพ่ายแพ้ของนักศึกษาแบบชี้นำให้คนดูสร้างภาพว่าเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขาเกิดขึ้นในหัวคนดูเองอย่างเศร้าหม่น
ขณะชมภาพยนตร์ไปถึงฉากชาวบ้านช่วยกันสร้าง barricade ในใจผมระทึกและนึกว่าฉบับหนังจะเสนอภาพช่วงสังหารหมู่ได้สมจริงจนน่าสลดหดหู่เพียงไหนเพราะ ตั้งแต่ต้นเรื่องหนังเสนอภาพอย่างสมจริงโดยใช้การถ่ายภาพแบบ candid เป็นภาพแทนสายตาผู้อยู่ในเหตุการณ์อยู่มากช่วง ซึ่งถึงเวลาจริงฉากสังการหมู่ที่ว่าภาพไม่รุนแรงจนเกินรับได้ ขอบคุณผู้สร้างที่ยังไม่เน้นความสมจริงจนเกิดความอนาถแบบการตายของสารวัตรจาร์แวร์

ผมตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การนำเสนอบนเวทีฉบับละครเพลงไม่เน้นความสมจริง แต่ให้ความจริงไปเกิดเป็นภาพในหัวของผู้ชมดูจะถูกจริตผม และเป็นสิ่งที่พึงปราถนามากกว่าเสพภาพและเสียงที่แสดงภาพสมจริงทุกกระเบียดนิ้ว

ในช่วงที่เป็นเพลงร้องเดี่ยวไล่มาตั้งแต่ What I ‘ve done?, I dreamed a dream, Who am I?, Star, On my own, Empty Chairs at empty tables การนำเสนอบนเวทีผู้ชมจะดูตัวละครร้องเพลงที่ว่าอยู่คนเดียวบนเวทีที่รอบข้างตัวละครมืดสนิท หรือว่างเปล่า ภาพบนเวทีที่บรรยายมาเปรียบได้กับวิธีการนำเสนอภาพขนาดใกล้ ในฉบับหนังเมื่อถึงช่วงเพลงร้องเดี่ยวภาพบนจอเป็นภาพใบหน้าตัวละครขนาดใกล้(close up) คนดูจะเห็นอารมณ์นักแสดงเต็มๆ ซึ่งอิงมาจากการนำเสนอบนเวทีที่แจงมานั่นเอง

//www.bloggang.com/data/k/kinglear/picture/1359533002.jpg

เมื่อนำโปสเตอร์ฉบับหนังและละครมาเทียบ จะเห็นว่าทั้งคู่ใช้หน้าของCossetteเหมือนกัน ฉบับละครมีลักษณะนามธรรมมากกว่า ในขณะที่โปสเตอร์หนังมีความสมจริง ซึ่งตัวหนังสามารถเติมเต็มความสมจริงได้ปราณีตตามที่โปสเตอร์สื่อไว้

Les Miserable ฉบับ Tom Hooper เป็นภาพยนตร์เพลงที่ดัดแปลงจากละครเวทีได้ดีมาก ตัวงานจัดให้อยู่ในหมวดหนังเพลงจากละครเพลงรุ่นหลังๆที่ทำได้ดีเช่นเดียวกับ Hairspray, Chicago, Sweeney Todd, Evita และ The Little shop of Horrors


ปล.
เสียดายที่เพลง Suddenly เพลงที่แต่งเพิ่มเข้าไปใหม่ยังไม่ลงตัวทั้งท่วงทำนอน คำร้อง และการอยู่ในเรื่องยังไม่เนียนนัก คาดว่าคงพลาดรางวัลออสการ์สาขาเพลงยอดเยี่ยมไปอย่างน่าเสียดายแทน ทั้งๆที่ตัวงานควรจะได้ในสาขาเพลงก็ตาม


อ้างอิง *(1) จากสาราณุกรม wikipedia หัวเรื่อง Jean Maximilien Lamarque




 

Create Date : 30 มกราคม 2556
0 comments
Last Update : 31 มกราคม 2556 14:14:51 น.
Counter : 3440 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


kinglear
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add kinglear's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.