ต้นทุนชีวิตคือการสะสมความเคยชินที่ดี
เรียนอะไร ทำไม ใน IB World School



ตอนลูกสงสัยว่าบทความ A star is made เกี่ยวข้องกับการเรียนวิทยาศาสตร์อย่างไร คนเป็นแม่ก็สงสัยเหมือนกันว่า แล้ววิชาต่าง ๆ ของลูกเกี่ยวกับการเรียนรู้อะไรอย่างไรบ้าง เพราะฟังลูกเล่าก็เหมือนกับไม่ค่อยได้เรียนอะไรเท่าไหร่ ไม่เหมือนกับสมัยอยู่มอหนึ่งที่เมืองไทย ลูกต้องเรียนตั้งแต่เช้าก่อนเข้าแถวตามประสาเด็ก “โครงการ” (คือโครงการคณิตศาสตร์ ซึ่งทางโรงเรียนแยกสอนต่างหากจากหลักสูตรปกติ) นั่นคือเริ่มเรียนตั้งแต่เจ็ดโมงเช้า และเรียนยาวไปจนถึงห้าโมงเย็น วันจันทร์ถึงศุกร์ และวันเสาร์เช้าถึงเที่ยงบวกวันอาทิตย์ช่วงบ่าย ซึ่งเป็นชั่วโมงเรียนพิเศษที่ครูนัดสอนให้ต่างหากโดยไม่คิดเงิน (ข้อนี้ขอบคุณคุณครูที่ตั้งใจช่วยนักเรียนอย่างมาก แต่พอนึกย้อนกลับไปแล้ว เด็กเรียนก็เรียนกันหัวโตจริง ๆ!!)

ช่วงแรก ๆ เปิดอ่านคู่มือที่โรงเรียนแจกให้ผู้ปกครอง (Middle Years Programme Handbook) อ่านไปหลับไปไม่ค่อยรู้เรื่องเท่าไหร่ เพราะเป็นข้อมูลทางการ (วิชาการนั่นแหละ) แต่ก็ นะ, ความอยากรู้อยากเห็นทำให้อาศัยเรียนร่วมไปกับลูก อย่างน้อยก็ไม่หลับเพราะต้องคอยเถียงกับลูกบ้าง บริการอุปกรณ์ประกอบการเรียนประเภทขนม-นม-น้ำบ้าง เป็นดิกชั่นนารีเคลื่อนที่บ้าง ฯลฯ ด้วยเหตุนี้ หลักสูตรที่นำมาเล่าสู่กันอ่านจึงเป็นความเข้าใจของแม่ผ่านการเรียนและผลการเรียนของลูก อาจมีตกหล่นบ้างเกินมาบ้างตามประสาการตีความ

เรียนอะไรกันบ้างที่โรงเรียน

ตามหลักสูตร IB เด็ก MYP ต้องเรียนทั้งหมดแปดวิชา คือคณิตศาสตร์ (Math) วิทยาศาสตร์ (Science) ภาษาเลือก (Language A อาจเป็นภาษาแม่หรือภาษาอื่นที่มีสอนในโรงเรียน เช่นฝรั่งเศส จีน เยอรมัน ฯลฯ) ภาษาอังกฤษ (Language B) พละและสุขศึกษา (Physical Education: PE) เทคโนโลยีและการออกแบบ (Design and Technology) ดนตรีศิลปะและการแสดง (Music Art Drama: MAD) และเรื่องราวของมนุษย์ (Humanity)

โดยหลักการแล้วทุกวิชามีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้เฉพาะวิชาและมีเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนให้มีพื้นที่การเรียนรู้ร่วมกัน (Area of Interaction: AOI) ห้าอย่าง เปรียบเสมือนเป็นเลนส์ส่องการเรียนรู้ในต่างรูปแบบ ให้เด็กนักเรียนสามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างวิชาที่เรียนกับเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ วิธีการเรียนรู้ (Approach to Learning: ATL) ชุมชนและบริการ (Community and Service) สิ่งแวดล้อม (Environments) ความสามารถและการสร้างสรรค์ของมนุษย์ (Human Ingenuity) และ การศึกษาด้านสังคมและสุขภาพ (Health and Social Education) ใน 8 วิชาเรียนของลูก คุณครูต้องสามารถจัดการเรียนการสอนให้มีการเชื่อมโยงกับเรื่องที่ควรรู้ร่วมกันเหล่านี้ให้ได้ เพราะถือเป็นการเชื่อมวงจรการเรียนรู้ให้สมบูรณ์และสามารถปรับใช้กับการเรียนรู้ในอนาคต ไม่ว่าจะเปลี่ยนย้ายไปเรียนต่อที่ใด

โรงเรียนของลูกจัดเตรียมโครงร่างหลักสูตรของทั้ง 8 วิชาให้ผู้ปกครองศึกษาล่วงหน้าตลอดทั้งปี คงหวังให้ช่วยดูแลลูกหลานเรียนหนังสือที่บ้านด้วยกระมัง ไม่รู้ข้อนี้โรงเรียนหวังมากไปหรือเปล่า..Smiley

ยกตัวอย่างวิชาวิทยาศาสตร์ ตอนแรกทั้งลูกทั้งแม่ไม่รู้หรอกว่าครูจะสอนอะไร และจะวัดผลอะไรอย่างไรบ้าง ก็แหม เป็นเทอมแรก ลูกยังงง ๆ เรื่องภาษา แม่ก็ตามรู้ได้เฉพาะบางส่วนที่ลูกเล่าให้ฟัง จินตนาการดูแล้วกันว่าเด็กเพิ่งหัดใช้ภาษาอังกฤษเรียนครั้งแรกจับความได้กี่เปอร์เซนต์ แล้วจะเหลือมาเล่าต่อถึงแม่กี่เปอร์เซนต์!? (รวมถึงเรื่องที่รู้แต่ไม่อยากเล่าอีกกี่เปอร์เซนต์ อิ อิ)

ลูกเล่าว่าหลังจากอ่านบทความและครูถามนักเรียนตอบในเรื่อง A star is made แล้ว ครูให้นักเรียนแบ่งกลุ่ม เอาไม้บรรทัดที่แต่ละคนมี (ซึ่งมีไม่เหมือนกันเลย) มาช่วยกันวัดโต๊ะเรียนที่นั่งร่วมกันอยู่ โรงเรียนจัดชั้นเป็นโต๊ะเรียนร่วม เหมือนห้องประชุมย่อย ๆ สองสามห้องในหนึ่งห้องเรียน โต๊ะหนึ่งคือหนึ่งกลุ่มมีนักเรียน 5-6 คน ลูกชายบอกว่าสนุกดี ไม่ต้องพูดมาก อาศัยดูเพื่อนทำอะไรก็ทำตามไปด้วยได้ เสร็จแล้วครูก็ให้แต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมารายงานให้เพื่อนทราบว่าโต๊ะของตนความยาวโดยรอบเท่าไหร่ ได้ข้อมูลนี้มาอย่างไร ปรากฏว่าโต๊ะที่ดูเหมือนเท่ากัน (และก็น่าจะขนาดเท่ากันเพราะสั่งมาจากโรงงานเดียวกัน) กลับมีความยาวรอบโต๊ะต่างกันอย่างมาก

ครูให้นักเรียนคุยหรือจะเถียงกันก็ได้ว่าทำไมตัวเลขถึงไม่เท่ากัน ถ้าจะทำให้การวัดถูกต้องเหมือนกันต้องทำอย่างไร…กว่าเด็ก ๆ จะรู้ตัว ครูก็สอนเรื่องเครื่องมือ ตัวแปรต้นตัวแปรตาม การวัด ความไม่แน่นอน และการทดลองซ้ำเพื่อหาคำตอบ พร้อมกับแนะนำรูปแบบการรายงานผลทางวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ แถมด้วยการบ้านให้ทดลองหาคำตอบด้วยตนเอง Smiley

รายงานครั้งแรกเป็นการทดลองหยดน้ำลงบนเหรียญ ดูว่ากี่หยดจึงจะเต็มเหรียญ (โดยไม่ล้นหล่นออกมานอกเหรียญ) การทดลองนี้ดูเหมือนง่าย ๆ และก็น่าสนุกดี เริ่มจากตั้งสมมติฐานว่าน่าจะเป็นกี่หยด แล้วทดลองทำดู จากนั้นก็เขียนรายงาน ลูกชายพยายามกำหนดตัวเลขหยดน้ำให้ได้มาก (สงสัยจะแข่งกับเพื่อนว่าใครได้มากกว่ากัน) แล้วรายงานผลให้ครูทราบว่าตั้งสมมติฐานอะไรไว้ อะไรเป็นตัวแปรหลัก อะไรเป็นตัวแปรตาม เครื่องมือที่ใช้คืออะไร ผลนี้จะแน่นอนทุกครั้งที่ทำหรือไม่ ลำดับความสำคัญของตัวแปรคืออะไร เพราะอะไรฯลฯ ด้วยเหตุนี้ แม่ซึ่งเคยมีต่อมวิชาวิทยาศาสตร์พิการก็เลยได้โอกาสเรียนหนังสือไปกับลูกใหม่ รู้สึกสนุกตามไปด้วย โดยเฉพาะตอนดูคะแนนและความเห็นของครูผู้สอนในการบ้านลูกแต่ละครั้ง

คะแนนช่วงแรก ๆ ของลูกอยู่ประมาณ 3-4 จากคะแนนเต็ม 6 ทุกหน้าคำตอบจะมีลายมือครูประกบอยู่เกือบทุกช่วง เช่น "ควบคุมวิธีการทำ (ทดลอง) อย่างไร" "ระบุตัวเลขให้ชัดเจนกว่านี้ได้หรือไม่" "ทำไมถึงใช้เครื่องมืออย่างนี้" ไปจนถึง "กราฟนี้ไม่ช่วยอะไรเลย อธิบายมากกว่านี้ได้ไหม" "ดูงานของเพื่อนที่ทำได้ดีเป็นตัวอย่าง (นะ)"

ผ่านไปครึ่งเทอมกว่า การทดลองสนุก ๆ ของลูกขยับเข้าไปเป็นเรื่องที่แม่ไม่อาจตามไปสนุกด้วยได้ เพราะกลายเป็นเรื่องการทดลองกับเครื่องมือและอุปกรณ์จริง ๆ ในห้องแล็ป และหลายครั้งที่แม่ตอบลูกไม่ได้ว่าโน่นนี่นั่นในการทดลองของลูกคืออะไร แต่ก็ยังสนุกกับการอ่านความเห็นของครูที่มีในการบ้านลูก เพราะความเห็นครูเพิ่มมิติในการสอนขึ้นไปเรื่อย ๆ เช่น “ผลการทดลองนี้เชื่อถือได้หรือ” “ยากที่จะอธิบายนะ ถ้าตัวแปรมีคุณลักษณะร่วมกันอยู่” “อธิบายได้ดี (แต่) ดูเพิ่มประเด็นที่ต้องปรับปรุง”

มีอยู่ครั้งหนึ่งลูกชายสรุปงานว่า ผลการทดลองแสดงว่า “I am right” ในความเห็นของลูกคงเป็นว่า คิดได้ถูกต้องแล้วและผลก็ออกมาเป็นไปตามที่คิด แต่ครูกลับกาเส้นวงแดงให้พร้อมเขียนหนังสือตัวโตว่า “เลือกใช้คำได้ไม่ดีเลย” ควรเปลี่ยนเป็นว่า “ผลการทดลองสนับสนุนสมมติฐานของผม” ข้อนี้ครูสอนถึงความละเอียดในการใช้ภาษา ไม่เพียงเป็นภาษาวิทยาศาสตร์ แต่เป็นภาษาอังกฤษและภาษาชีวิตอย่างหนึ่งทีเดียว ลูกชายอาจจะยังเข้าใจไม่ได้มากนักในตอนแรก จึงใช้คำทำนองเดียวกันนี้ซ้ำบ่อย ๆ เช่น “สมมติฐานของผมมันเป็นความจริงนะ” อะไรประมาณนี้ ครูก็จะกากบาทซ้ำในคำเดิม เขียนอธิบายด้วยภาษาวิทยาศาสตร์แบบเดิม..

ไม่รู้ว่าครูคิดอย่างไรขณะพยายามอธิบายให้เด็กเข้าใจ แต่คนเป็นแม่คิดว่าคงอีกสักพัก กว่านักเรียนจะเริ่มเข้าใจความแตกต่างที่แท้จริงของความจริงและความถูกต้อง ทั้งในเรื่องการใช้ภาษา ความถูกต้องของผลจากการกระทำสิ่งหนึ่งที่มีต่อสิ่งหนึ่ง และความถูกต้องของ “คน ๆ หนึ่ง”

เมื่อกลับมาเปิดดูโครงร่างหลักสูตรที่ครูเขียนเป็นครั้งที่สอง (หลังจากครั้งแรกอ่านไม่จบเพราะข้อมูลชวนง่วงหลับไปเสียก่อน) ก็เริ่มเข้าใจว่าครูต้องการสอนอะไร วัตถุประสงค์ของวิชาวิทยาศาสตร์ภายใต้ MYP แบ่งออกเป็นการเรียนรู้ที่เกี่ยวเนื่องกันใน 6 เรื่อง คือ โลกเดียวกัน การสื่อสารในวิทยาศาสตร์ ความรู้และความเข้าใจในวิทยาศาสตร์ การค้นหาทางวิทยาศาสตร์ การประมวลผลข้อมูล และทัศนคติในวิทยาศาสตร์

การเรียนหน่วยที่ 1 ของครึ่งเทอมแรกครูกำหนดว่า เป็นการปูพื้นฐานเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ทั้งหกด้านของการเรียนวิทยาศาสตร์ ตั้งแต่เข้าใจว่าวิทยาศาสตร์คืออะไร มีรูปแบบและวิธีการสื่อสารในเชิงวิทยาศาสตร์อย่างไร เข้าใจข้อมูลทางวิทยาศาสตร์และมีข้อมูลสนับสนุนได้อย่างไร สามารถเข้าใจและอธิบายถึงวิธีการที่ใช้ รวมไปถึงความถูกต้องและตรงประเด็นของข้อมูล สามารถประมวลผลข้อมูลที่ได้และนำเสนอได้ ฯลฯ ครูผู้สอนตั้งชื่อบทไว้ว่า “ฉันจะมั่นใจได้อย่างไร” แนวคิดที่สำคัญคือ “มีหลายทางที่เราสามารถทำเพื่อลดความไม่แน่นอนลงได้” โดยมีคำถามประจำหน่วยว่า “เธอสามารถมั่นใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้เป็นจริง”

อ่านถึงตรงนี้ก็เข้าใจการบ้านของลูกมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อเห็นคะแนนการบ้านที่ครูส่งกลับมาพร้อมความเห็นและข้อแนะนำของครู

ตามกำหนดการในปฏิทินโรงเรียนระบุว่า หลังการประเมินผลการเรียนกลางภาคจะมีวันประชุมร่วมสามฝ่าย (Three Ways Conference: 3WC) คือฝ่ายครูผู้สอน นักเรียน และ ผู้ปกครอง เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่า การเรียนในแต่ละวิชานั้น นักเรียนทำได้ดีมากน้อยเพียงใด มีจุดอ่อนตรงไหนที่นักเรียนควรปรับปรุงและผู้ปกครองสามารถจะช่วยเหลือได้อย่างไร นักเรียนทุกคนจะต้องมีเวลานัดพบ 3WC กับครูประจำชั้นประมาณสิบถึงสิบห้านาที แต่กับครูประจำวิชานั้น แล้วแต่ครูจะพิจารณาว่าต้องการคุยร่วมกับนักเรียนและผู้ปกครองหรือไม่

ลูกชายเอารายงานการเรียนกลางภาคมาให้พร้อมใบนัดเวลา 3WC นอกจากการพบกับคุณครูประจำชั้นแล้ว ไม่มีกำหนดนัดจากครูวิทยาศาสตร์ แต่กลายเป็นครูวิชาเทคโนโลยีแทน ไม่เป็นไร ครูไม่นัด แม่นัดครูแทนก็ได้ ประชุมสามฝ่ายครั้งแรก-ของปี คุณแม่คนนี้นัดพบคุณครูของลูกครบทุกวิชา (แล้วพบกันใหม่วันประชุมค่ะ) Smiley Smiley



Create Date : 16 มิถุนายน 2555
Last Update : 22 กรกฎาคม 2555 11:09:33 น. 4 comments
Counter : 2437 Pageviews.

 
รีบตามมาอ่านเลยเนี่ย ไม่ใช่เพราะจะมาคอมเมนต์แบบอดีตครูนา พีี่พีต้องผิดหวังแน่ๆ อยากมาอ่านว่าเด็กอินเตอร์เขาเรียนกันอย่างไร ครูมีเป้าหมายและการวิธีการที่ชัดเจนมากชอบค่ะ แบบนี้จะทำให้เห็นพัฒนาการของผู้เรียนในการคิดได้ชัดเจน
แต่ประเด็นอยู่ที่ว่า ห้องเรียนต้องมีขนาดเล็กที่ครูสามารถดูแลได้ทั่วถึง ไม่ใช่ห้องเรียนแบบในเมืองไทย ที่ไม่ว่าจะระดับชั้นเรียนไหน เน้นปริมาณเข้าไว้ก่อน เพราะสถานศึกษาต้องทำเงิน
และเจ้า3WC นี่เหมือนที่ลูกเล่าให้ฟัง ว่าที่เยอรมัน เธอก็ต้องเจอผู้ปกครองแบบนี้เหมือนกัน ดูออกจะเป็นงานที่หนักมากสำหรับครู ที่ต้อง"ถก"เรื่องพัฒนาการและปัญหา รวมถึงการร่วมมือกันเพื่อพัฒนาการที่ดีขึ้นของเด็กๆทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปกครองที่เขาไม่ได้สนใจลูกเขาจริงๆ แค่ส่งให้ไปเรียน แถมผู้ปกครองบางรายยิ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เด็กเสียหายด้วยซ้ำไป เธอว่า พอเห็นพ่อแม่แล้วรู้เลยว่า ทำไมเด็กนักเรียนต้องเป็นไปแบบนั้น(ตอนฟังเธอเล่า แมลงแอบคิดในใจ เออเนาะ เรื่องคนอื่นมองเห็นได้ง่าย เรื่องตัวเองมองเห็นยาก ฮิฮิ)
อ่านย่อหน้าสุดท้ายแล้ว เป็นห่วงครูจริงๆค่ะ โดนๆๆ
มาเล่าต่อนะคะ ว่าเจอครูแล้วเป็นอย่างไรบ้าง


โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 16 มิถุนายน 2555 เวลา:20:23:02 น.  

 
รีบมาตอบก่อนไม่มีโอกาส (เพราะถูกลูกแย่งแอร์การ์ด อิ อิ)

คุณแมลงรู้ไหมว่าอยู่นี่เจอครูคนหนึ่งที่เหมือนคุณลูกของคุณแมลงในเชิงภูมิหลังครอบครัว แต่เธอกลายมาเป็นครูที่น่ารักมาก และเธอเข้าใจทั้งเด็กและผู้ปกครอง เชื่อว่าคุณลูกของคุณแมลงต้องเป็นคุณครูที่ดีแน่ ๆ โดยเฉพาะเมื่อประตูใจเธอเปิดแล้ว

เห็นด้วยเรื่องขนาดของห้องเรียนและความใส่ใจที่ครูจะสามารถมีให้นักเรียนได้ แต่ขนาดของห้องถูกกำหนดมาจากสิ่งอื่นนะ ถ้าเรามองปัญหาเฉพาะสิ่งที่เรามองเห็นแต่พยายามไม่มองสิ่งที่รู้แต่ไม่เห็น เราก็ยังแก้อะไรไม่ได้อยู่เหมือนเดิม..... อดีตคุณครูว่าไงคะ :)


โดย: พี่พี IP: 202.137.132.12 วันที่: 17 มิถุนายน 2555 เวลา:8:12:58 น.  

 
ชอบนะคะ แนวคิดการเรียนการสอนที่ชัดเจนแบบนี้
เพราะคงไม่มีเด็กมาตั้งคำถามกับแม่ทีหลัง ว่า ไม่เข้าใจว่าจะให้เรียนอ่านทำนองเสนาะไปทำไม หรือจะให้คำนวณภาคตัดกรวยไปเพื่ออะไร เป็นต้น

เสียดายแทนพี่พีที่ถอดใจกับการทำครัวไปจังเลย ถ้ายังคงทิ้งไว้ไม่กำจัดไป สักวันก็อาจได้หยิบขึ้นมาทำอีก ไม่ตัดโอกาสตัวเองนา

แต่ไม่เป็นไรค่ะ มากรุงเทพเมื่อไหร่ นัดเจอกันพร้อมยัยแมลง แล้วมาสุมหัวทำอะไรเล่นที่บ้านเราก็ได้เนาะๆ

เอาใจช่วย(ครู?) ในการประชุม 3WC ครั้งนี้ค่ะ อิอิ


โดย: Secreate (secreate ) วันที่: 17 มิถุนายน 2555 เวลา:11:36:00 น.  

 
พี่พี...ปัญหาในห้องเรียนนั้น มันมีมากกว่าที่ตาเราดูอยู่ เหมือนภูเขาน้ำแข็ง มันเป็น socio-economic-politic problem ที่เป็นหนักในบ้านเมืองของเรา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกตะวันตกเขาไม่มี เขาอยู่ใกล้ชิดมากกว่า เขามองเห็นและก็บ่นเหมือนกัน เหมือนเวลาคนไทยไปเที่ยวยุโรปกลับมาชื่นชม แต่แมลงไปเที่ยวเหมือนคนบ้านเขากับคนบ้านเขา ก็เลยเห็นเหมือนกับเขา เหมือนที่เราเห็นเรื่องราวในบ้านเมืองเราแหละค่ะ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แมลงเช่ือว่าห้องเรียนที่ดีที่สุดของเด็ก รวมถึงผู้ใหญ่ที่ต้องการเรียนตลอดชีวิต ก็คือครอบครัวนั่นแหละค่ะ ถ้าเด็กเขาไม่อยากรู้ ครูเก่งแค่ไหนก็ช่วยอะไรเขาไม่ได้ ถ้าเขาอยากรู้ เขาจะหาทางเอง ..ตรงนี้ขอหยอด เหมือนคนชอบทำกับข้าว เล่นดนตรี เล่นกีฬา ไม่ต้องไปคอยกระตุ้น คอยเชียร์ เขาก็พร้อมจะหาวิธีทำเองอยู่แล้ว ถ้าเขาไม่อาววว ยังไงๆก็ไม่อาววว ทั้งพ่อแม่และครูเหนื่อยฟรี
แค่เราสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและประคับประคองเท่านั้นเอง เหมือนปลูกต้นไม้ เขาโต และออกดอกออกผลของเขาเอง เราแค่คอยจัดสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสม คุ้มเคยพูดว่าห้ามไม่ให้แมลงพูดเรื่องการเลี้ยงดูเด็กๆกับพ่อแม่คนไหน เพราะแมลงไม่มีลูกของตัวเอง แต่แมลงเถึยงว่า ฉันพูดในฐานะที่ฉันเคยเป็นลูกย่ะ ไม่ได้ในฐานะคนเป็นแม่..ไม่อาวอยู่แล้วการเป็นแม่น่ะ ความรับผิดชอบไม่สูงพอ ฮี่ๆ


โดย: แมลงจ่่่่อย (Bug in the garden ) วันที่: 17 มิถุนายน 2555 เวลา:19:35:29 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

kangsadal
Location :
เวียงจัน Laos

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 10 คน [?]






พระจันทร์เต็มดวงคนมองเห็นได้บางวัน
เช่นกันกับวันที่เห็นพระจันทร์เสี้ยว
แต่ทุกวัน....
พระจันทร์เต็มดวง
online
Group Blog
 
 
มิถุนายน 2555
 12
3456789
10111213141516
17181920212223
24252627282930
 
16 มิถุนายน 2555
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add kangsadal's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.