Blog เพื่อนักธุรกิจรุ่นใหม่ โดยนักธุรกิจรุ่นใหม่ ในกรอบความคิดใหม่
 
ธันวาคม 2551
 123456
78910111213
14151617181920
21222324252627
28293031 
19 ธันวาคม 2551

โอกาสธุรกิจในคุนหมิง และจิ่งหง(เชียงรุ้ง,สิบสองปันนา) 2008/11/20 ตอนที่ 4

เส้นทางสาย R3E ส่วนที่เข้าไปในประเทศจีนจะมีจะแบ่งเป็นหลายช่วง โดยมีระยะทางรวมกันประมาณ 736 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่ผ่านพรมแดนลาว (เมืองบ่อเต็น) จะเข้าสู่เมืองหม่อฮั้น (Mo Han) หรือ บ่อหาน โดยจีนกำลังก่อสร้าง Hi-Way ยกระดับขนานไปกับแม่น้ำและมีการเจาะทำเป็นอุโมงค์ทะลุเขา เส้นทางนี้จะผ่านเมืองเมงเปง (Meng Peng) เมืองลา (Meng La) ซึ่งเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่ง หลังจากนั้นจะผ่านเมืองกวนเล่ย (Guanlei) ซึ่งเป็นเมืองท่าเรือริมแม่น้ำโขง ที่สำคัญของจีนตอนใต้

โดยสินค้าจากท่าเรือเชียงแสนของไทยกว่า 80-90% จะต้องมาขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือแห่งนี้ ซึ่งสร้างตั้งแต่ปี ค.ศ. 1993 ห่างจากด่านชายแดนหม่อฮั้ง (บ่อหาน) ประมาณ 102 กิโลเมตร โดยโครงการแรกลงทุนไป 258 ล้านหยวน ประกอบด้วย หน้าท่ายาวกว่า 300 เมตร เป็นลักษณะลาดเป็นระดับ สำหรับขนถ่ายสินค้า ซึ่งสามารถขนถ่ายสินค้าในปี 2005 มีเรือเข้า-ออกกว่า 2,847 เที่ยวคิดเป็นน้ำหนัก 68,000 เมตริกตัน เป็นมูลค่าประมาณ 460 ล้านหยวน สินค้าเกือบทั้งหมดส่งมาประเทศไทยที่ท่าเรือเชียงแสน จังหวัดเชียงราย แต่บางครั้งเรือจีนก็ไปขนถ่ายนอกท่าเรือเชียงแสน ทางจีนบอกว่าขาดดุลไทยเพียง 550 ล้านบาท (เฉพาะผ่านการขนส่งทางแม่น้ำโขง) ขณะที่ตัวเลขของไทยได้ดุลการค้า 2,041 ล้านบาท แสดงว่าสินค้าบางส่วนคงมีการดำดินเข้าไทย โดยสินค้าที่ไทยส่งออกไปจีนที่สำคัญก็คือน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่ง ป.ต.ท. จะขนน้ำมันส่งไปขึ้นท่าจิ่งหง ปีละ 2,800 เที่ยว หรือประมาณน้ำมัน 150,000 ตัน นอกจากนี้ก็มี ยางแผ่น , มังคุด , ลิ้นจี่ , ทุเรียน , ลำไยแห้ง , น้ำมันพืช ซึ่งจะส่งต่อไปที่นครคุนหมิงและเมืองฮกเกี้ยน ส่วนสินค้านำเข้าจะมีพืชจากจีน ผัก ผลไม้ , กระเทียม ซึ่งส่งมาจากคุนหมิงเมืองหูหนานและเมืองเฉินกง ซึ่งเป็นเมืองปลูกผักกะหล่ำที่สำคัญของยูนาน

โดยอัตราค่าขนส่งสินค้าจะมีการคิดทั้งแบบเป็นน้ำหนักคือขาล่องไปไทยประมาณ 220 หยวนต่อเมตริกตัน แต่ขากลับจากไทยมาจีนอัตราไม่แน่นอน มีตั้งแต่ 250-350 หยวน ขึ้นอยู่กับขนส่งช่วงฤดูไหน หรืออาจมีการคิดเหมาเป็นคันรถ หากรถขนขนาดกลางก็เหมาไปคันละ 1,000 หยวน โดยการขนถ่ายลงเรือก็ยังเป็นระบบดั้งเดิมคือกรรมกรแบกสินค้าขึ้น-ลง จากเรือ โดยอาศัยไม้กระดานแผ่นเดียวที่เรียกว่า “เทียว์” จากการสอบถามตารางการเข้า-ออกของเรือไม่แน่นอนไม่มี Schedule เรือเข้ามาก็ขนลงและก็ขนขึ้นสินค้าเต็มลำเรือก็ออก ระบบขนส่งด้วยเรือสินค้าในแม่น้ำโขงจะเป็นเรือเหล็ก แบบเปิดระวาง ที่เรียกว่า “เรือฮั่วฉวน” หรือบ้างก็เรียกว่า “เรือจือหาน” แปลว่าเดินได้เอง แต่เรือประเภทนี้คนจีนในไทยจะเรียกว่า “เรือโป๊ะจ๊าย” ทั้งหมดอยู่ในมือนักธุรกิจของจีน หากเป็นเรือขนาด 300 ตัน จะมีห้องโดยสารอยู่ท้ายเรือบางลำดัดแปลงให้เป็นห้องนอนรวมไว้บริการนักท่องเที่ยวประเภทฝรั่งแบกเป้ ทั้งนี้ การควบคุมการจอดเพื่อขนถ่ายสินค้า ยังไม่มีการควบคุม ทำให้มีสินค้าหนีภาษีมาก โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พบว่ามีการขนจากท่าเรือกวนเล่ย แต่กลับไม่มีรายการเมื่อขนมาที่ท่าเรือในประเทศไทย ซึ่งไม่ใช่เป็นปัญหาเฉพาะกับไทยเท่านั้น ทาง สปป.ลาวก็มีปัญหาและต้องการให้มีการควบคุม เพราะมีการจอดเรือตาม “หัวโขง” โดยนำของหนีภาษีเข้าไปในลาว และขนไม้ของลาวออกมา

ทางท่าเรือกวนเล่ย มีโครงการที่ 2 ในการขยายท่าเรือให้เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์ (Container) โดยจะมีหน้าท่ากว้าง 120 เมตร รองรับ Container ได้ 15,000 TEU ต่อปี และจะขยายเป็น 28,000 TEU ในปี ค.ศ. 2008 โดยจีนใช้งบประมาณกว่า 36 ล้านหยวน โดยการระเบิดภูเขาเป็นลูกๆ ซึ่งเรื่องอย่างนี้ จีนเขาคิดก็ทำเลย โดยมี Gantry Crane หรือเครนหน้าท่า ที่จีนเรียกว่า “หลงเมินเกียว” แปลว่า ที่ยกมังกรยักษ์ แบบที่ใช้ขนถ่ายสินค้าที่ท่าเรือฉงซิ่งริมแม่น้ำแยงซีเกียง ทางภาคตะวันตก โครงการจะเสร็จในต้นปี 2007 ทั้งนี้ จีนได้ต่อเรือสำหรับบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 300 ตันลำแรกของแม่น้ำโขง ชื่อเรือ“เจียไค่” (HeHai) เป็นการร่วมลงทุนของบริษัทยูนานซือเหมาเดินเรือจำกัด โดยวิ่งขนส่งออกจากท่าเรือจิ่งหงมาท่าเรือเชียงแสน สินค้าส่วนใหญ่จากไทยจะมาสิ้นสุดที่ท่าเรือกวนเล่ยและจะถูกขนส่งทางถนนต่อไปยังนครคุนหมิงระยะทาง 650 กิโลเมตร ซึ่งเป็นศูนย์กระจายสินค้าสินค้าเข้าสู่ประเทศจีน จากการสอบถามการขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์บนเส้นทางแม่น้ำโขงยังเป็นลักษณะ Domestice Container ไม่ใช่ Oversea คือเป็นการขนส่งภายในประเทศ เพราะเส้นทางขนส่งทางแม่น้ำโขงยังไม่เป็นเส้นทางเดินเรือสากล ระบบการประกันภัยสินค้ายังไม่มี ซึ่งทางจีนให้ความสำคัญกับการขนส่งทางแม่น้ำโขงมาก ขณะที่ไทยดูว่าจะไม่ค่อยสนใจนัก



ระหว่างทาง



โดยเฉพาะทางจีนเข้าครอบครองแม่น้ำโขง ทั้งในด้านคมนาคมขนส่งและการควบคุมระดับของแม่น้ำ โดยจีนได้สร้างเขื่อนเพื่อกั้นน้ำของเสร็จเรียบร้อยแล้ว 4 เขื่อน เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรก คือ เขื่อนมานวาน (Manwan) ซึ่งมีความสูง 126 เมตรสร้างเสร็จในปี พ.ศ.2539เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำแห่งที่ 2 คือเขื่อน ต้าเฉาชาน (Dachaoshan) เขื่อนแห่งที่ 3 คือ เขื่อนเซี่ยวหลาน (Xiaowan) ซึ่งเป็นเขื่อนที่มีขนาดใหญ่ สันเขื่อนสูงถึง 300 เมตร เขื่อนที่ 4 คือ เขื่อนจิงหง (Jinghong) มีความสูง 118 เมตร เป็นเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงแห่งที่สี่ในเขตจังหวัดยูนานของประเทศจีน ตั้งอยู่ในเขตสิบสองปันนา กำลังผลิตติดตั้ง 1,500 เมกกะวัตต์ โดยกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้คาดว่าจะขายให้กับประเทศไทย เมื่อเริ่มกักเก็บน้ำทำให้แม่น้ำโขงตลอดทั้งสายโดยเฉพาะที่ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย มีระดับน้ำลดลงอย่างเป็นประวัติการณ์ และการระเบิดแก่งหินทำให้ตะกอนทรายจากทางเหนือของแม่น้ำไหลมาทับถมพื้นน้ำทำให้แม่น้ำโขงตอนใต้มีการตื้นเขิน และยังก่อให้เกิดการพังทลายของตลิ่ง ซึ่งเกิดขึ้นที่อำเภอเชียงของ , อำเภอเวียงแก่นที่บ้านปากอิ่งและบ้านห้วยลึก จังหวัดเชียงราย นอกจากนี้ปีที่ผ่านมายังพบว่าระดับน้ำบนแม่น้ำโขงขึ้นลงไม่เป็นธรรมชาติ ส่งผลกระทบต่อการประมง เกษตรริมน้ำ และวิถีชีวิตของประชาชนที่พึ่งพาแม่น้ำจำนวนมาก ทั้งนี้ การที่มีเขื่อนถึง 4 เขื่อนของแม่น้ำโขง ทำให้มีการกักน้ำและ ปล่อยน้ำเป็นช่วงเวลาทำให้น้ำในแม่น้ำของที่เคยไหลอย่างอิสระกลายเป็นแม่น้ำที่ขึ้น–ลงไม่เป็นไปตามธรรมชาติ แต่เป็นไปตามความต้องการไฟฟ้าบางเดือนน้ำขึ้น 3 วัน น้ำลง 2 วัน บางเดือนน้ำลง ๔ วัน น้ำขึ้น ๒ วัน ปรากฎการณ์เช่นนี้ไม่เคยมีในอดีต เพราะโดยปกติน้ำจะค่อยๆ ลดลง และลดลงเต็มที่ในช่วงเดือนเมษายนจนถึงเดือนพฤษภาคมของทุกปีเท่านั้น ทั้งนี้ จีนกำลังมีโครงการสร้างเขื่อนแห่งที่ 5 ที่เมืองสามหลั่นป้า หรือ กาหลันป้า (แปลว่ามะขามป้อม) อยู่ตรงกลางระหว่างเมืองเชียงรุ่งกับท่าเรือกวนเล่ย เขื่อนแห่งนี้ทางจีนแจ้งว่าจะ เริ่มสร้างในปี 2007 เมื่อสร้างเสร็จต้องใช้เวลากักน้ำ 5 ปี จึงจะเต็มเขื่อนและที่เชียงรุ่งจะมีโครงการสร้างทะเลสาบขนาดใหญ่ ชักน้ำจากแม่น้ำโขงเป็นโครงการขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร อย่างไรก็ตาม หลายฝ่ายทั้งไทยและจีนก็ยืนยันว่าจะไม่กระทบกับระดับของน้ำสำหรับการขนส่งแต่กลับทำให้สามารถขนส่งได้ทั้งปี ส่วนการก่อสร้างเขื่อนกาหลั่นป้า จีนกำลังทบทวนการก่อสร้างก็อาจจะไม่ดำเนินการก็ได้

เส้นทางจากเมืองกวนเล่ย สามารถไปนครจิ่งหงหรือที่คนไทยรู้จักว่าเชียงรุ่ง ซึ่งจีนจัดให้เป็น Hub สำหรับขนส่งสินค้า พืช ผัก ผลไม้ และสินค้า ซึ่งใช้การขนส่งทางแม่น้ำโขง โดยเมืองกวนเล่ย จะเป็นเส้นทางสำคัญที่จะเชื่อมโยงไปสู่นครคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนาน เส้นทางจะผ่านเมืองสิ่ง (Meng Xing) ซึ่งเป็นชุมทางสามารถเชื่อมโยงกับแขวงพงศาลีของลาวทางทิศตะวันตก และเชื่อมโยงกับเมืองสิงห์ใน แขวงหลวงน้ำทาทางทิศตะวันออก จากนั้นเส้นทางจะตัดตรงไปเข้าเมือง กาหลั่นป้า และเข้าสู่เมืองจิ่งหงหรือเชียงรุ่ง ซึ่งอยู่ในเขตปกครองตนเอง สิบสองปันนา โดยเป็นระยะทางในช่วงนี้ 320 กิโลเมตร เส้นทาง Hi-Way นี้จีนกำลังก่อสร้าง โดยสามารถเชื่อมโยงไปสู่นครคุนหมิง ซึ่งเป็นเมืองหลวงของมณฑลยูนานระยะทาง 650 กิโลเมตร ปัจจุบันสร้างไปแล้ว 60-70% เหลือเพียงระยะทางช่วงเมืองซือเหมา (Simao) กับเมืองเสี่ยวเมินหยาง (Xiaomenyang) ความยาว 98 กิโลเมตร ซึ่งกำหนดให้คุนหมิงเป็น Hub เชื่อมโยงกับประเทศไทย และเป็นเมืองยุทธศาสตร์ส่งออกผัก ผลไม้ และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปเข้าไทยและอาเซียน โดยใช้เส้นทางสาย R3E ขณะที่ไทยยังไม่มียุทธศาสตร์ที่จะใช้ประโยชน์อะไร จากเส้นทางนี้แต่หลายจังหวัด เช่น เลย , อุตรดิตถ์ , น่าน ทำยุทธศาสตร์ของเชื่อมโยงกับเส้นทาง R3E ซึ่งไทยต้องเตรียมการรองรับมูลค่าเพิ่มจากเส้นทางเพราะนอกจากสินค้าแล้วจะเป็นการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมหาศาลจากจีนที่จะใช้การท่องเที่ยว



Create Date : 19 ธันวาคม 2551
Last Update : 19 ธันวาคม 2551 1:14:49 น. 3 comments
Counter : 1354 Pageviews.  

 


โดย: wbj วันที่: 20 ธันวาคม 2551 เวลา:16:52:11 น.  

 
ไม่ทราบพอจะมีเบอร์ อีเมล + ชื่อ ผู้ติดต่อที่ท่าเรือกวนเหล่ยมั้ยครับผม ขอความอนุเคราะห์ด้วยครับ ...Boncorleone@hotmail.com


โดย: Ballacovski IP: 58.137.30.240 วันที่: 11 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:10:41:14 น.  

 
ขอบคุณสำหรับการนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับสิบสองปันนาดินแดนแห่งอารยธรรมไทลื้อ และโชว์พาราณสีอันเลื่องชื่อ


โดย: Royter วันที่: 13 มีนาคม 2554 เวลา:19:44:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

adamus
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 13 คน [?]




นักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่ค้นหาโอกาสด้วยตัวเอง เพื่อสังคม
[Add adamus's blog to your web]