*~กายกระทบ ใจไม่กระเทือน~*
 
พฤศจิกายน 2555
 
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
8 พฤศจิกายน 2555
 
 
ย้อนวันวาน กับการเมืองไทย ๑

(หมายเหตุ: บล็อคนี้เขียนขึ้นเพื่อรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ ซึ่งมีความสำคัญทางประวัติศาสตร์อย่างมาก รำลึกถึงเหล่าวีรชนที่ต่อสู้เพื่ออิสรภาพและความถูกต้อง ระลึกถึงเหล่าทรราช ซึ่งป่านนี้คงได้รับผลกรรมอยู่ที่ไหนสักแห่งแล้ว)

เหล่า ผู้มีอำนาจในช่วงก่อนเหตุการณ์วันมหาวิปโยค 14 ตุลา 2516 ได้แก่ จอมพลถนอม กิตติขจร,จอมพลประภาส จารุเสถียร และ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร โดย พ.อ. ณรงค์ นั้น เป็นลูกของจอมพลถนอม และเป็นลูกเขยของจอมพลประภาส หรือที่เรารู้จักกันดีในนาม 3 ทรราช

การปกครองในยุคของ ถนอม–ประภาส นั้นเรียกกันโดยทั่วไปว่า เป็นยุคของ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" คือเป็นระบอบเผด็จการนั่นเอง และมีการวางทายาททางการเมืองกันอย่างชัดเจน

--ปัจจัยที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างรัฐบาล กับ ประชาชน--
รัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร รับช่วงบริหารประเทศตามธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ. ๒๕๐๒ สืบต่อจากรัฐบาลจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตั้งแต่ปลายปี ๒๕๐๖ มาจนถึงปี ๒๕๑๑ จึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญเป็น กฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ รัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวร่างโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งร่างมาตั้งแต่สมัย รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์เมื่อปี๒๕๐๒ นับเป็นรัฐธรรมนูญที่ใช้เวลาร่างยาวนานมาก และต้องเสียค่าใช้จ่ายในการร่างมาก ที่สุดยิ่งกว่าธรรมนูญฉบับใด ๆ ที่เคยมีมาในประเทศไทย ( จ่ายเป็นเงินเดือนสมาชิกสภาร่าง ฯ )


เมื่อประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงกำหนดให้วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๒ เป็นวันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จอมพลถนอมตั้งพรรค "สหประชาไทย" เพื่อส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. โดยตัวเองรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค มีจอมพล ประภาส จารุเสถียร ซึ่งขณะนั้นยังมียศเป็นพลเอก และนายพจน์ สารสินเป็นรองหัวหน้าพรรค พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรค ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า พรรคของจอมพลถนอมได้ที่นั่งในสภา ๗๕ ที่นั่งขณะ ที่พรรคประชาธิปัตย์ได้ ๕๐ กว่าที่นั่ง นอกนั้นเป็น ส.ส. สังกัดพรรคเล็กพรรคน้อย และ ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรค การเมืองใด

หลังการเลือกตั้ง จอมพล ถนอม กิตติขจร ได้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง เข้าบริหารประเทศในบรรยากาศ "ประชาธิปไตยครึ่งใบ" ที่นายกรัฐมนตรีไม่ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอยู่นานสองปีกว่าจึงตัดสินใจปฏิวัติรัฐบาลของ ตัวเองเมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ โดยอ้างเหตุผลถึงภัยจากต่างชาติบางประเทศที่เข้ามาแทรกแซงและยุยง ส่งเสริมให้ผู้ก่อการร้ายกำเริบเสิบสานในประเทศ นอกจากนั้นสถานการณ์ ภายในประเทศก็เต็มไปด้วยความยุ่งเหยิง นานาประการ ซึ่งคณะปฏิวัติเห็นว่าหากปล่อยให้มีการแก้ไขไปตามวิถีทางของรัฐธรรมนูญแล้ว จะเป็นการล่าช้า จึงตัดสินใจปฏิวัติเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ของประเทศได้ผลอย่างรวดเร็ว

เมื่อทำการปฏิวัติแล้ว จอมพลถนอมได้จัดตั้งสภาบริหารคณะปฏิวัติขึ้นเพื่อปกครองประเทศ โดยจอมพลถนอม ดำรงตำแหน่งเป็นประธานสภาบริหารคณะปฏิวัติ มีผู้อำนวยการสี่ฝ่ายคือ ๑. พล.อ. ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการ ฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ ๒. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและ การคลัง ๓. พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจขณะนั้น เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข

ในการปฏิวัติ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ นี้ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและเป็นลูกเขย จอมพลประภาส ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ช่วยเลขาธิการคณะปฏิวัติ เมื่อการปฏิวัติเสร็จสิ้นลง เขาได้ดำรงตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิวัติราชการ ( กตป. ) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากมายในการตรวจตราการปฏิบัติงานของข้าราชการในช่วงที่คณะปฏิวัติขึ้นบริหารประเทศนั้น ตลอดเวลาได้มีเสียง เรียกร้องจากประชาชนอยู่เสมอ ให้คณะปฏิวัติรีบประกาศใช้รัฐธรรมนูญและจัดตั้งรัฐบาลบริหารประเทศ ให้ถูกต้องตามขั้นตอน ประจวบกับในปี ๒๕๑๕ เป็นปีที่สถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ ๒๐ พรรษาขึ้นสมเด็จพระบรมโอรสสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้อง ตามธรรมเนียมนิยม เพราะจะจัดให้มีพระราชพิธีในขณะที่ประเทศชาติบ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะปฏิวัติไม่ได้

ด้วยเหตุนี้จึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองแห่งราฃอาณาจักรเมื่อ วันที่ ๑๕ ธันวาคม ๒๕๑๕ ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิน ๒๓ มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี " สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว โดยประกอบด้วยสมาชิกมีสิทธิ์ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ห้ามอภิปรายหรือซักถามเพิ่มเติม ที่สำคัญคือ สมาชิกไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี ส่วนรับมนตรีนั้นรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดว่าห้ามเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติ

สภานิติบัญญัติแห่งชาติตามรัฐธรรมนูญการปกครองฉบับนี้มีมติเลือก พล.ต. ศิริ สิริโยธิน เป็นประธานสภา นิติบัญญัติแห่งชาติ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้า แต่งตั้งจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้จอมพลถนอมจะเปลี่ยนฐานะจากหัวหน้าคณะปฏิวัติมาเป็นหัวหน้ารัฐบาลที่มีประกาศพระบรมราชโองการ แต่งตั้ง ก็ตาม ก็ไม่ได้ช่วยให้วิกฤตการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นคลายความตึงเครียดลงไปแต่อย่างใด ในทางการเมืองเกิดความขัดแย้งระหว่างกลุ่มอำนาจต่าง ๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจกับกลุ่มของจอมพลถนอมและจอมพลประภาสซึ่งเหตุการณ์ที่ชี้ให้เห็นความขัดแย้งกัน อย่างรุนแรงก็คือ กรณีการบุกพังป้อมตำรวจ ซึ่งข่าวลือระบุว่าเป็นการกระทำของคนของ พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร นอกจากนั้นยังไม่มีการต่ออายุราชการให้พล.ต.อ. ประเสริฐ เมื่อครบเกษียณแล้วทั้งที่ก่อนหน้านั้น ได้มีการต่ออายุราชการให้จอมพลถนอม

ในทางเศรษฐกิจ สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลจอมพลถนอมไม่สามารถ " บำบัดทุกข์บำรุงสุข " ของประชาชนได้ คือ การขาดแคลนข้าวสารจนถึงขนาดประชาชนต้องเข้าแถวรอคิวกันอย่างยาวเหยียดตั้งแต่เช้าตรู่ เพื่อซื้อข้าวสาร ปันส่วนที่ทางราชการนำมาจำหน่ายในราคาควบคุมและซื้อได้คนละไม่เกิน ๑๐ กิโลกรัม มิหนำซ้ำตามมาด้วยขาดแคลน น้ำตาลทรายอีก

นอกจากนี้ ได้เกิดกรณีเฮลิคอปเตอร์ตกที่ทุ่งใหญ่นเรศวร จังหวัดกาญจนบุรี คณะนายทหารและนายตำรวจ ชั้นผู้ใหญ่พากันเข้าไปล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ โดยใช้อาวุธในราชการสงครามทั้งปืน เอ็ม. ๑๖ รถจี๊ป แม้กระทั่งเฮลิคอปเตอร์ เป็นอุปกรณ์ในการล่าสัตว์ ความได้แตกขึ้นในเที่ยวกลับ เฮลิคอปเตอร์หนึ่งในสองลำเกิดอุบัติเหตุตกลงกลางทุ่งนา อำเภอบางเลน จังหวัด นครปฐม ซากสัตว์ป่าที่บรรทุกมากระจายเกลื่อนทุ่ง เรื่องจึงเป็นข่าวฉาวโฉ่ขึ้น มีการวิพากษ์ วิจารณ์ให้มีการสอบสวนเอาผิดกับคณะบุคคลดังกล่าว

แต่เนื่องจากในระยะนั้นนายพลเนวิน ประธานสภาปฏิวัติของ ประเทศพม่า เดินทางมาเยือนประเทศไทย จอมพลประภาส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในขณะนั้น จึงพูดในทำนองว่าคณะบุคคลดังกล่าวไม่ได้เข้าไปล่าสัตว์ หากแต่เข้าไปราชการลับเพื่อให้การอารักขาแก่นายพลเนวิน

เหตุการณ์ล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯนี่เอง ที่ทำให้เรื่องราวเลยเถิดออกไปจนถึงการคัดชื่อนักศึกษามหาวิทยาลัย รามคำแหงจำนวนเก้าคนออกจากบัญชีนักศึกษา เหตุเพราะพวกเขาได้รวมกลุ่มกันออกหนังสือของชมรมคนรุ่นใหม่ชื่อ "มหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคำตอบ" ซึ่งทางมหาวิทยาลัยรามคำแหงตั้งข้อหาพวกเขาว่า ตั้งชมรมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากมหาวิทยาลัย ใช้สถานที่ในมหาวิทยาลัยเป็นชุมนุมเป็นครั้งคราวโดยพลการ เขียนหนังสือก้าวร้าวผู้อื่นด้วยถ้อยคำ อันหยาบคาย กล่าวถึงมหาวิทยาลัยรามคำแหงในทางที่ทำให้ผู้อื่นเกลียดชัง ตำหนินักศึกษาที่ตั้งหน้าเล่าเรียน ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัวด้วยเหตุนี้ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหงขณะนั้นจึงสั่งลบชื่อ นักศึกษาจำนวนเก้าคนออก ทั้ง ๆ ที่สาเหตุสำคัญที่สุดที่ทำให้นักศึกษาเก้าคนถูกลบชื่อออก ก็ คือข้อความลอย ๆ สี่บรรทัดในหน้า ๖ ของหนังสือที่ว่า

" สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก ๑ ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่ไว้ใจ"


ข้อความลอย ๆ ดังกล่าวนี้เองที่ถือว่าเป็นการถากถางรับบาลขณะนั้นต่อกรณีล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่ฯ และการต่ออายุราชการ ของจอมพลถนอม ในฐานะผู้บัญชาการทหารสูงสุด และจอมพลประภาส ในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการอายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว

จากกรณีลบชื่อนักศึกษาออกนี่เอง ที่ทำให้นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงรวมตัวประท้วงคำสั่งของ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี และศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยได้เข้าร่วมสนับสนุนด้วย

การประท้วงจึงมีนิสิต นักศึกษาทุกสถาบันประมาณ ๕ หมื่นคนเข้าร่วมขบวนประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเมื่อวันที่ ๒๑-๒๒ มิถุนายน ๒๕๑๖ การเรียกร้องในระยะแรกเพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงรับนักศึกษาทั้งเก้าคนเข้าเป็นนักศึกษาดังเดิม และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่ต่อมาได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองแก่ประชาชน และ เรียกร้อง ให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายในหกเดือนผลลงเอยที่ฝ่ายนักศึกษาชนะ โดยนักศึกษาทั้งเก้าคนได้กลับเข้าเรียนตามปกติ ดร. ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ ลาออกจากตำแหน่งอธิการบดี แต่ข้อเรียกร้องของศูนย์ฯ ที่ต้องการให้มีรัฐธรรมนูญ ภายในหกเดือนนั้นไร้ผล

จากเหตุการณ์นี้เองที่ทำให้กลุ่มผู้นำของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาฯ ตลอดจนอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ ร่วมกันก่อตั้ง " กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น นำทีมโดย นายธีรยุทธ บุญมี ซึ่งขั้นต้นมีอยู่ ๑๐๐ คน และในวันศุกร์ที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๑๖ กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญได้นัดสื่อมวลชน เพื่อแถลงข่าวเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ การดำเนินงานของกลุ่ม ว่าต้องการเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยเร็วที่สุดด้วยสันติวิธี ให้การศึกษาทางการเมืองเกี่ยวกับเรื่องรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตยแก่ประชาชน และเพื่อกระตุ้นให้ประชาชนเกิดความสำนึกและหวงแหนในสิทธิเสรีภาพของตน โดยจะใช้เวลาติดต่อกันสองเดือน ในการรณรงค์ และในระยะแรกจะแจกหนังสือและใบปลิวตามย่านชุมชนต่าง ๆ ตลอดเวลาสองวัน

พล.ต.ท. ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจ ฝ่ายกิจการพิเศษ ได้แถลงว่า " หากการเรียกร้องครั้งนี้ ทำให้เกิดการการเดินขบวนขึ้น ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมทันทีเพราะเป็นการผิดกฎหมาย คณะปฏิวัติที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองในสาธารณะเกินห้าคน " ในขณะเดียวกัน พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร ได้ให้ สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ว่า "มีอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักการเมืองบางคนกำลังดำเนินการให้นักศึกษาเดินขบวนในเร็ว ๆ นี้ และหากมีการให้นักศึกษาเดินขบวนแล้วไม่ผิดกฎหมายอีก ผมก็จะนำทหารมาเดินขบวนบ้าง เพราะทหารก็ไม่อยาก จะไปรบเหมือนกัน

(โปรดติดตาม Blog ถัดไป) ......(มันจะยาวไปไม่ใช่อะไร)
เครดิต ทั้งเนื้อหา และรูปภาพจะอยู่ที่ blog สุดท้ายค่ะ




Create Date : 08 พฤศจิกายน 2555
Last Update : 8 พฤศจิกายน 2555 18:31:14 น. 0 comments
Counter : 549 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 
 

ทางช้างเผือกมีดาวสีชมพู
Location :


[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ทางช้างเผือกมีดาวสีชมพู's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com
pantip.com pantipmarket.com pantown.com