Group Blog
 
<<
กันยายน 2554
 123
45678910
11121314151617
18192021222324
252627282930 
 
3 กันยายน 2554
 
All Blogs
 

ธรรมรัฐ - ธรรมราชา : ธรรมาภิบาลพุทธ (ตอน ๒)


เรียบเรียงโดย ศ.ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ราชบัณทิต


ฝรั่งเพิ่งมาเห่อเรื่อง Good Governance กันเมื่อ 22 ปี มานี้เอง

เมื่อธนาคารโลกได้มีการวิจัยเนื้อหาว่า

ทำไมธนาคารให้ประเทศทั้งหลายกู้เงินไปพัฒนาประเทศ

มาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1945 โน่น แต่การพัฒนาของประเทศ

ทั้งหลายไม่เท่ากัน บางประเทศพัฒนาไปไกล

บางประเทศก็ยังไม่พัฒนา คณะผู้วิจัยก็สรุปว่าประเทศ

ที่มี Good Governance การพัฒนาก็จะมีถึงคนในประเทศ

แต่ประเทศใดไม่มี Good Governance เงินที่กู้ไป

แทนที่จะตกถึงประชาชน ก็ตกอยู่กับนักการเมือง

และข้าราชการผู้ขี้ฉ้อ ประเทศนั้นก็ยังยากจนไม่พัฒนา

ธนาคารโลกจึงสรุปว่า Good Governance ของผู้ปกครองประเทศ

จะทำให้ประเทศพัฒนาอย่างแท้จริง

และธนาคารโลกจึงส่งเสริมให้เกิด Good Governance

ขึ้นทั่วโลกในปี ค.ศ. 1989

วันนี้ เรานำหลัก Good Governance เข้ามาส่งเสริมในเมืองไทย

แล้วแปลคำดังกล่าวว่า “ธรรมาภิบาล” มาจากคำว่า

“ธรรม” ที่แปลว่า ถูกต้อง ดีงาม

กับ “อภิบาล” ที่แปลว่าการปกครอง ดูแล

ราชบัณฑิต แปลว่า “การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี”

วันนี้ รัฐธรรมนูญ 2550 มาตร 74 วรรคหนึ่ง

รักพี่เสียดายน้อง จึงกำหนดให้ข้าราชการ พนักงาน

และลูกจ้างของรัฐต้องปฏิบัติตามหลัก “ธรรมาภิบาล

และการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี”

เรียกว่า Good Governance ยังไม่พอ

ต้องเป็น very very Good Governance!

เป็นอันว่าหลักธรรมาภิบาลสากลเพิ่งเกิดขึ้นมา 22 ปีนี้เองครับ

แต่ธรรมาภิบาลของพระพุทธเจ้ามีมากว่า 2,500 ปีแล้ว

ตอนที่แล้วผมได้นำเสนอ ธรรมาภิบาลพุทธ

สำหรับผู้ปกครองไปแล้วชุดหนึ่ง ตาม จักกวัติสูตร

ธรรมาภิบาลชุดแรกนี้ เป็นหลักการบริหารประเทศ

ที่จะทำให้คนเป็นจักรพรรดิ จึงเรียกว่า จักกวัติวัตร

แปลว่า ความประพฤติของจักรพรรดิ

ใครอยากเป็นจักรพรรดิ ก็ประพฤติตามหลักธรรมาภิบาลชุดนี้

ก็เป็นจักรพรรดิได้ทันที !

ในครั้งนี้ ผมใคร่จะนำเสนอหลักธรรมาภิบาลพุทธชุดที่ 2

คือ ทศพิธราชธรรม หลักธรรมาภิบาลนี้มี 10 หลัก

จึงเรียกว่า ทศพิธ และเป็นธรรมสำหรับกษัตริย์

ผู้ปกครองแผ่นดิน จึงเรียกว่า ราชธรรม ซึ่งมี 10 หลัก ดังนี้

1. ทาน คือการให้

2. ศีล คือการละเว้นจากการประพฤติผิด

3. บริจาค คือเสียสละประโยชน์ส่วนตัวเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

4. อาชวะ หรือ ความซื่อสัตย์ ซื่อตรง

5. มัททวะ หรือความอ่อนน้อมถ่อมตน ความอ่อนโยน

6. ตบะ คือความขยันหมั่นเพียร

(หมายเหตุเจ้าของบล็อก : คำว่า "ตบะ" นั้น

ตำราบางเล่มแปลว่า "ความเพียรเพื่อเผากิเลส")

7. อักโกธะ คือความไม่โกรธ

8. อวิหิงสา คือ ยึดสันติวิธีไม่รุนแรง

9. ขันติ คือ ความอดทน

10. อวิโรธนะ คือยึดมั่นความถูกต้องเที่ยงธรรม

ผมจะได้วิเคราะห์ทศพิธราชธรรมนี้ต่อไปในตอนข้างหน้า

แต่วันนี้จะขอเสนอความเป็นมาของหลักธรรมาภิบาลข้อนี้ ให้ท่านผู้อ่านทราบ

ทศพิธราชธรรมนี้ มีที่มาจาก พระสุตตันตปิฎก

ขุททกนิกาย อรรถกถา มหาหังสชาดก

ชาดกนี้ มีชื่อว่า มหาหังสชาดก ว่าด้วยหงส์ชื่อ สุมุขะ

ผู้ไม่ละทิ้งพญาหงส์ทองผู้ติดบ่วง ปฐมเหตุที่มา

ของพระพุทธองค์ตรัสเล่าชาดกนี้ก็เพราะพระภิกษุในพระเชตวัน

ต่างก็กำลังพูดถึงวีรกรรมของพระอานนท์ พุทธอุปัฏฐาก

ที่ออกมากางกั้น ไม่ให้พญาช้างนาฬาคีรี

ซึ่งเมามันเข้ามาทำร้ายพระพุทธองค์ เมื่อทรงทราบ

ก็เล่าให้พระภิกษุทั้งหลายฟังว่า

พระอานนท์ เมื่อเสวยชาติเป็นหงส์ชื่อ สุมุขะ

และเป็นเสนาบดีของพญาหงส์ทอง

ชื่อว่า ธตรฐ พญาหงส์ทองได้ถูกจับ แทนที่จะบินหนี

เหมือนหงส์ตัวอื่น ๆ ก็กลับยอมถูกจับและเสนอตัว

เข้าแลกกับนายพรานมาแล้ว จนนายพรานใจอ่อน

และพร้อมจะปล่อยทั้งพระโพธิสัตว์ ธตรฐ และเสนาบดี สุมุขะเสีย

แต่หงส์ทองทั้งสองตัวก็ตอบว่า ถ้านายพรานมาดักจับหงส์เอง

ก็มีสิทธิจะปล่อย แต่ถ้ารับคำสั่งมาจากผู้อื่นให้มาจับก็ไม่มีสิทธิปล่อย

อันที่จริง นายพรานรับคำสั่งมาจากพระเจ้ากรุงพาราณสี

ผู้ทรงพระนามว่า สังยะมะ ซึ่งสั่งให้พรานมาจับหงส์

ไปให้พระมเหสีเขมา ที่ทรงฝันว่าได้ฟังธรรมจากหงส์ทองสองตัว

แต่ฟังยังไม่ทันจบ ก็ตื่นบรรทม จึงอยากฟังต่อ

และแกล้งแพ้พระครรภ์ (แพ้ท้อง) ขอให้พระเจ้าสังยะมะ

ส่งพรานไปจับหงส์มาถวาย พรานก็แนะให้ขุดสระโบกขรณีใหญ่

ล่อหงส์ เพราะการไปจับหงส์ถึงหิมพานต์ ณ ภูเขาจิตตกูฏไกลมาก

พระราชาก็ทำตามจนพญาหงส์โพธิสัตว์และบริวาร 96,000 ตัว

ไปเล่นน้ำในสระที่ขุดล่อไว้ จนติดบ่วง หงส์ทั้งหมดก็บินหนี

มีแต่หงส์สุมุขะ กลับบินเข้ามาจะช่วย พระโพธิสัตว์ตรัสไล่ให้หนีไป

หงส์สุมุขะก็ไม่หนี ยอมตายพร้อมพระโพธิสัตว์

เมื่อพรานปล่อยหงส์ทองสองตัวไม่ได้เพราะรับคำสั่งมา

และหงส์ทั้งสองยอมให้จับไปถวายพระเจ้าสังยะมะ

พรานก็นำไปถวาย และพระราชาก็มีปฏิสันถารกับหงส์ทั้งสอง

ความสำคัญอยู่ตรงคำปฏิสันถาร นี้แหละ

ที่เป็นที่มาของทศพิธราชธรรม กล่าวคือพญาหงส์ธตรฐ

ตั้งคำถามแก่พระราชาดังนี้

“พระองค์ไม่มีโรคาพาธ ทรงสำราญดีอยู่

ทรงปกครองรัฐมณฑล อันสมบูรณ์นี้ โดยธรรม หรือ?”

พระราชาก็ตรัสถามว่า “เรามีความสบายดี

และเราก็ปกครองรัฐมณฑลนี้ โดยธรรม”

“โทษอะไร ๆ ไม่มีอยู่ในอำมาตย์ของพระองค์หรือ?

และอำมาตย์เหล่านี้ไม่อาลัยชีวิตในประโยชน์ของพระองค์หรือ?”

“โทษอะไร ๆ ไม่มีในหมู่อำมาตย์ของเรา

และอำมาตย์เหล่านั้น ก็ไม่อาลัยชีวิต ในประโยชน์ของเรา”

“พระมเหสี ทรงเชื่อฟัง มีพระเสาวนีย์ อันน่ารัก

ประกอบด้วย พระโอรส พระรูปโฉม และพระยศ

เป็นไปตามอัธยาศัย ของพระองค์หรือ?”

“มเหสีของเรา เป็นผู้เชื่อฟัง มีถ้อยคำอ่อนหวาน

ประกอบด้วย โอรสอันมีพระรูปโฉม และพระยศ

เป็นไปตามอัธยาศัยของเรา”

“พระองค์มิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตราย

แต่ที่ไหน ๆ โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม

โดยความสม่ำเสมอ ละหรือ?”

“เรามิได้เบียดเบียนชาวแว่นแคว้น ปกครองให้ปราศจากอันตราย

โดยความไม่เกรี้ยวกราด โดยธรรม โดยสม่ำเสมอ”

“พระองค์ทรงยำเกรงสัตบุรุษ ทรงเว้นอสัตบุรุษ

พระองค์ ไม่ทิ้งธรรม ไม่ทรงประพฤติคล้อยตามอธรรมหรือ?”

“เรายำเกรงสัตบุรุษ เว้นอสัตบุรุษ

ประพฤติคล้อยตามธรรม ละทิ้งอธรรม”

“ข้าแต่พระองค์จอมกษัตริย์ พระองค์พิจารณาเห็นชัด

ซึ่งพระชนมายุยืนยาวอยู่หรือ ทรงมัวเมาในอารมณ์

อันเป็นที่ตั้งแห่งความมัวเมา ไม่สะดุ้งกลัวปรโลกหรือ?”

“เราพิจารณาเห็นชัดซึ่งอายุ อันเป็นอนาคต ยั่งยืนยาวอยู่

เราตั้งอยู่แล้วใน ธรรม 10 ประการ จึงไม่สะดุ้งกลัวปรโลก

เราเห็นกุศลธรรม ที่เราดำรงอยู่นี้คือ ทาน ศีล บริจาค อาชวะ

ความซื่อตรง มัททวะ ความอ่อนโยน ตบะ ความเพียร

อักโกธะ ความไม่โกรธ อวิหิงสา สันติ ความไม่เบียดเบียน

ขันติ ความอดทน อวิโรธนะ ยึดมั่นในความถูกต้องเที่ยงธรรม

แต่นั่นมีปีติและโสมนัส ไม่ใช่น้อยเกิดแก่เรา”

เมื่อจบ พญาหงส์โพธิสัตว์ ก็ถวายอนุโมทนา

แล้วพระราชาก็ทรงปล่อยหงส์ ทั้ง 2 ตัว กลับไปยังเขาจิตตกูฏ ต่อไป

ในท้ายที่สุด แห่งชาดกนี้ ทรงเฉลยว่า พระพุทธองค์เอง

ทรงเป็นพญาหงส์ ธตรฐ พระอานนท์ เป็นหงส์ สุมุขะ

นายพรานคือ พระฉันนะ พระราชาคือ พระสารีบุตร

พระนางเขมาเป็นภิกษุณีเขมา

เราจะเห็นได้ว่าในชาดกนี้ พญาหงส์โพธิสัตว์เป็นผู้สอบสวน

ทวนความ การเป็นผู้ปกครองที่ดี ของกษัตริย์พาราณสี

และพระราชาก็ตอบคำถาม ทุกด้านของพญาหงส์ทอง

โดยเน้นธรรม 10 ประการ และผลต่อประชาชน

ต่ออำมาตย์ ต่อพระมเหสี และพระโอรส เรียกว่า สอบสวนทุกแง่ทุกมุม

ด้วยเหตุนี้เอง ที่เรือพระที่นั่งสำคัญที่สุดของพระมหากษัตริย์ไทย

คือ เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ ซึ่งเป็นบุคลาธิษฐานเตือนพระทัย

พระมหากษัตริย์ไทย ผู้ประทับเรือดังกล่าวให้รำลึกถึง

พญาหงส์ธตรฐ และธรรมะ 10 ประการ


ที่พระมหากษัตริย์ทรงประพฤติเพื่อให้เกิดความสุขสถาพร

แก่ประชาชน อำมาตย์ และพระบรมวงศานุวงศ์

ผมขอทิ้งคำถามให้ท่านผู้อ่านช่วยกันคิดว่า

เหตุใดพระเจ้ากรุงพาราณสีผู้มีอำนาจล้นเหลือ

และให้จับพญาหงส์มาได้ จึงตอบคำถามของพญาหงส์

ที่เป็นสัตว์เชลย? ทั้ง ๆ ที่โดยปกติ

ผู้ชนะต้องเป็นผู้สอบสวนผู้แพ้ ผู้ถูกจับ!.


คัดจาก หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ฉบับ วันพุธที่ 31 สิงหาคม 2554

............................................

อ้างอิงจาก //www.dailynews.co.th/newstartpage/index.cfm?page=content&categoryID=630&contentID=160282




 

Create Date : 03 กันยายน 2554
0 comments
Last Update : 19 พฤษภาคม 2556 12:08:40 น.
Counter : 1024 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 


ART19
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 8 คน [?]





ความเสมอภาคที่แท้จริง คือ
การที่ทุกคนต้องมีหน้าที่
การทำหน้าที่ของตนเอง
จะเป็นสิ่งที่กำหนดว่า
เราควรได้รับอะไร แค่ไหน
Friends' blogs
[Add ART19's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.